เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย

ติดตามข้อมูลเว็บทาง Google+ กด
FaceBook สาว ๆ เซ็กซี่

Thailand Only! ล่าสินบนจราจร คนจ่ายถูกจับ ตำรวจรับทรัพย์ 1 หมื่น

Thailand Only! ล่าสินบนจราจร คนจ่ายถูกจับ ตำรวจรับทรัพย์ 1 หมื่น

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
Thailand Only! ล่าสินบนจราจร คนจ่ายถูกจับ ตำรวจรับทรัพย์ 1 หมื่น
พล.ต.ต. อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) มอบเงิน 1 หมื่น ให้แก่ ร.ต.ต.เสรี ไตรวงษ์ รอง สว.จร.สน.วัดพระยาไกร และ ด.ต. นรินทร์ ฟักบำรุง ผบ.หมู่จร.สน.วัดพระยาไกร (ชุดสายตรวจอินทรี) ตามโครงการจับในข้อหาให้สินบนเจ้าหน้าที่

ต่อไปนี้ ใครให้สินบนเรื่องใบสั่งแก่เจ้าพนักงานจะต้องถูกจับดำเนินคดีทันที เพราะมีนโยบายใครยัดเงินให้ตำรวจจะถูกบันทึกภาพเก็บไว้แบล็กเมล์ ส่วนตำรวจคนไหนจับได้ รับไปเลย 10,000 บาท กลายเป็นเรื่องฮือฮาท่ามกลางกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงภารกิจล่าสินบนจราจรว่าจะแก้ปัญหาได้จริง หรือก็แค่ไฟไหม้ฟาง...

เอาจริง! ปฏิบัติการล่าสินบนจราจร

เป็นที่ฮือฮาเมื่อปรากฏพาดหัวข่าวใหญ่โตพร้อมภาพแถลงขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์หลายฉบับ กรณีแจก 1 หมื่นให้ตำรวจที่ไม่รับสินบนเรื่องใบสั่งตามโครงการ พร้อมประกาศล่าสินบนจราจร ต่อไปนี้ใครให้เงินตำรวจเจอข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่ทันที เชือดไก่ให้ลิงดูแล้วเป็นรายแรกตามโครงการล่าสินบนจราจร เป็นช่างจิวเวลรี่ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ ลงจากสะพานกรุงเทพ ฝั่งขาเข้า แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยเจริญกรุง 80 ในจุดห้ามเลี้ยว ซึ่งมีป้ายบังคับอย่างชัดเจน

ทันทีที่ตำรวจจราจรพบเห็น จึงเรียกตรวจ และดำเนินการออกใบสั่งตามหน้าที่ แต่ผู้ขับขี่ได้ยื่นเงินให้ 100 บาท เพื่อขอไม่ให้ออกใบสั่ง เจ้าหน้าที่จึงถ่ายรูปเป็นหลักฐานและส่งตัวดำเนินคดี สำหรับรายนี้ เบื้องต้นมีรายงานว่า ผู้ต้องหาได้ประกันตัวออกไปในวงเงิน 70,000 บาทแล้ว

กลายเป็นที่มาของข่าวใหญ่โตตามสื่อต่างๆ กับภาพ พล.ต.ต. อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) แจก 1 หมื่น ให้แก่ ร.ต.ต.เสรี ไตรวงษ์ รอง สว.จร.สน.วัดพระยาไกร และ ด.ต. นรินทร์ ฟักบำรุง ผบ.หมู่จร.สน.วัดพระยาไกร (ชุดสายตรวจอินทรี) ตามโครงการจับในข้อหาให้สินบนเจ้าหน้าที่

ตามมาติดๆ เป็นรายที่ 2 คนขับปิกอัพรายหนึ่ง ฝ่าฝืนเครื่องหมายห้ามกลับรถที่แยกผังเมือง กีดขวางการจราจรรถติดขัดเป็นอย่างมาก งานนี้ ร.ต.ต.ราชันต์ ชมสุวรรณ รองสารวัตรจราจร สน.มักกะสัน 6011 นายตำรวจนักปลูกต้นไม้ให้สังคม ซึ่งจัดการจราจรที่แยกผังเมือง จึงได้เดินเข้าไปจับกุม แต่ผู้ขับขี่คนดังกล่าวกลับยื่นเงินให้ 50 บาท พร้อมทั้งขอให้ช่วยกันหน่อย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการถ่ายภาพและจับกุมดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายห้ามกลับรถ และให้สินบนเจ้าพนักงาน ขณะปฏิบัติงานตามหน้าที่ นำตัวส่งเข้าห้องขัง และส่งฟ้องศาลต่อไป

สำหรับคดีการให้สินบนเจ้าพนักงาน พล.ต.ต.อดุลย์ ให้ความรู้ว่า มีความผิดอาญาตามมาตรา 144 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท และจะต้องนำตัวส่งศาลเพื่อสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งคดีดังกล่าวไม่สามารถยอมความกันได้ ดังนั้นจึงอยากเตือนประชาชนว่าอย่าพยายามให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หากถูกดำเนินการจับกุมก็ควรจะเสียค่าปรับตามโทษที่กระทำความผิด

หากเป็นกรณีที่ตำรวจเรียกเก็บค่าปรับกับประชาชนโดยไม่มีการออกใบสั่งนั้น หากประชาชนพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าวสามารถโทร.ร้องเรียนได้ที่หมายเลข 1997 จากนั้นผู้บังคับบัญชาจะมีการสอบสวนและดำเนินการตามระเบียบของตำรวจซึ่งหากพบว่ากระทำความผิดจริงจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 149 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาทหรือประหารชีวิต

ส่วนเงินสำหรับเงินรางวัลที่ บช.น. มอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรนั้น ตามข่าวระบุว่า เป็นเงินจากกองทุนสวัสดิการตำรวจจราจร ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2556 เป็นเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งเงินในกองทุนจะใช้สำหรับส่งเสริมกิจการกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานจราจรเพื่อดำเนินการในด้านต่างๆ ทั้งบุคลากร และอุปกรณ์เพื่อใช้ในงานจราจรของบช.น.

ชาวเน็ต วิพากษ์โครงการล่าสินบนจราจร

ทันทีที่ข่าวแพร่สะพัดออกไป โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ หลังจากมีการแชร์ข่าวนี้ตามเพจเฟซบุ๊กต่างๆ มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นการแก้ปัญหาที่หลายเหตุ

"แก้ปัญหาไม่ได้หรอกครับท่าน ถึงได้ก็แค่เสี้ยวติ่ง มันต้องแก้ที่จิตสำนึกของคน ประชาชนไม่โง่ครับ ถ้าถูกถามให้จ่ายสินบนประชาชนก็แค่อัดคลิปแล้วก็ไม่จ่ายก็จบ สุดท้ายคลิปก็ประจานตำรวจที่ไถอยู่ดี" Attapon Sopa


"สามัญสำนึกของตำรวจสร้างเองไม่ได้ ต้องใช้เงินจ้าง แล้วที่ ปชช.ถ่ายคลิป ตร.เรียกรับเงินเป็นร้อยๆ คลิป ไม่อายเหรอ ปชช.เขาก็ไม่ได้ขอรางวัลด้วย แค่อยากให้พวกชั่วๆ หมดไป" Pom Hatyai

"แค่ทำตามหน้าที่ไม่เห็นสมควรต้องได้รางวัลอะไร เพราะทุกเดือนก็ได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนอยู่แล้ว" สุทธา ศรีคุ้มวงษ์

อย่างไรก็ดี ยังมีบางความเห็นที่เห็นด้วย เพราะช่วยส่งเสริมตำรวจในด้านดี

"ถ้าจะส่งเสริมตำรวจ ขอให้ลงข่าวแบบนี้มากๆ ครับ ที่สังคมเป็นแบบนี้เพราะมีคนทำผิดแล้วคิดว่า ใช้เงินซื้อความถูกต้องได้ แล้วถ้าตำรวจไม่รับ และให้คนที่ทำผิดทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย สังคมไทยจะได้มีมาตรฐานทางสังคมที่สูงขึ้น" คนธรรมดา

แต่นโยบายนี้ หลายคนมองมุมกลับว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกสินบนเสียเอง จะมีเงินรางวัลให้ประชาชนเท่าไร แถมมีบางความเห็นมองไปถึงประเด็นตำรวจรังแกประชาชน ในขณะที่บางคนยังบอกอีกว่า การนำเงินมาล่อในลักษณะแบบนี้ ไม่ได้ปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามอะไรเลย

"ผมสงสัยครับ ถ้าตำรวจเรียกเองล่ะ จะมีรางวัลให้ประชาชนเท่าไรเหรอครับ" ขยันไม่มีจน

"แล้วถ้าประชาชนจับได้ว่าตำรวจขอรับเงินสดมีรางวัลให้ประชาชนบ้างไหมครับ จะได้เท่าเทียมกัน" Kchai Charachit

"เคยทำอะไรใสสะอาดให้ประชาชนไว้ใจบ้างไหมครับ ยัดข้อหาก็มี ข้อหาหมั่นไส้ก็ยังมี" Sumet Seesuk

"งดรับสินบนเล็กน้อย ไปรับสิ่งคลายสินบนที่ใหญ่กว่า เห็นด้วยกับการไม่ให้มีการรับสินบน (ผมเองก็ไม่เคยให้สินบน พนง.เช่นกัน) แต่ไม่ควรนำเงินมาล่อ ไม่ได้ปลูกฝังค่านิยมที่ดี หรือพัฒนาจิตใจใด ๆ เลย" ZAd Thiti

ล่าสินบนจราจร แก้ปัญหาได้จริงหรือ

เมื่อถามความเห็นไปยัง รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นักวิชาการท่านนี้มองว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ได้ผลแค่ระยะสั้น และที่สำคัญ การให้สินบนเจ้าพนักงานมีความผิดอยู่แล้ว และเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องดำเนินคดี ไม่จำเป็นต้องได้รับผลประโยชน์อะไรตอบแทน ส่วนเงินรางวัลที่ให้ตำรวจ ต้องตอบสังคมให้ชัดว่าดึง หรือเอาเงินส่วนไหนมาให้

"การให้รางวัลกับตำรวจที่ไม่รับสินบน มันสะท้อนปัญหาของระบบตำรวจว่ามันเต็มไปด้วยการรับสินบน ส่วนตัวคิดว่า โครงการแบบนี้มันยิ่งทำให้สินบนมีราคาแพงขึ้น เอาเงินไปให้ทหารที่ไปรบดีกว่า เพราะตามหน้าที่แล้ว คุณมีหน้าที่เอาผิดคนให้สินบนเจ้าพนักงานอยู่แล้ว เหมือนกับอาจารย์ถ้าบอกว่า สอนหนังสือเป็นประจำแล้วได้รางวัล ถามหน่อยครับว่า จะได้รางวัลไปทำไม ในเมื่อคุณมีหน้าที่สอนหนังสือ ถ้าคุณไม่สอนหนังสือนี่สิ เป็นปัญหา

เช่นเดียวกับตำรวจ คุณถูกจ้างมาให้รักษากฎหมาย หรือบังคับใช้กฎหมาย คุณก็ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลอะไร แต่ในกรณีที่ตำรวจทุจริตเสียเองแล้วประชาชนมีหลักฐาน ประชาชนเขาควรจะได้รับรางวัลมากกว่า เพราะเขาพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่รักษากฎหมาย และทำการฉ้อฉลเสียเอง"

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ รศ.ดร.สังศิต บอกว่า ความเละเทะของโลกตำรวจยังคงจะมีอยู่ต่อไป ถ้ายังไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจไทยอย่างจริงจัง และไม่มีการกระจายอำนาจของตำรวจออกไปเพื่อทำให้เกิดการตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"คือระบบตำรวจบ้านเรามันใหญ่โตมากเลย จนกระทั่งระบบการตรวจสอบมันไม่สามารถทำงานได้ แต่สำหรับตำรวจในต่างประเทศ เราจะพบว่าทำไมพวกเขาไม่ขี้โกง ก็เพราะว่าหลายประเทศมีระบบการตรวจสอบที่ดี องค์กรมีขนาดเล็ก เขาจึงไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาด้วยวิธีแบบนี้ เพราะองค์กรตำรวจในต่างประเทศมันเป็นระบบท้องถิ่น ขนาดขององค์กรจึงเล็ก การตรวจสอบจึงทำได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ตำรวจไทยจะต้องเป็นตำรวจของท้องถิ่นนะครับ เพียงแต่บอกว่าองค์กรขนาดเล็ก มันทำให้การตรวจสอบทำงานได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

ยกตัวอย่าง ใครอยู่ๆ ไปซื้อรถราคาแพงๆ เขาก็ตรวจสอบแล้วว่า คุณไปเอาเงินที่ไหนมา ถ้าคุณอธิบายไม่ได้ก็มีปัญหา หรืออยู่ๆ ไปปลูกบ้านราคาสิบล้าน ยี่สิบล้านทั้งที่มีเงินเดือนแค่ 5-6 หมื่น ก็จะถูกถามแล้วว่า ไปเอาเงินจากไหนมาปลูกบ้าน ส่วนประเทศเรา มีองค์กรเดียวคุมทั้งประเทศ มันไม่มีทางตรวจสอบได้หรอกครับ" นักวิชาการคนเดียวกันขยายความถึงสาเหตุปัญหาของเรื่อง

ดังนั้น ในความเห็นของนักวิชาการท่านนี้ เขาย้ำทิ้งท้ายว่า "โครงการนี้ เป็นโครงการที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย วันหนึ่งมันก็จะหายไป คนก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องขำขัน ถ้าหากว่าเป็นข่าวไปถึงต่างประเทศ ส่วนตัวคิดว่า คนที่อยู่ในประเทศที่เจริญแล้วคงจะอมยิ้มกัน"

ส่วนในมุมของ ผศ.ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด ประธานหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่าเป็นโครงการที่ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมได้ ถ้าทำอย่างจริงจัง

"การทุจริตคอร์รัปชันในเรื่องการให้สินบนจราจร เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน แก้ไม่ได้สักที เพราะระหว่างผู้ให้กับผู้รับเขามีการตกลง และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน แล้วถ้าพูดถึงกฎหมาย ต้องบอกว่าเป็นกฎหมายที่แปลก ลงโทษผู้ให้น้อยกว่าโทษผู้รับ คือผู้รับถ้ารับสินบน ต้องระวางโทษตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต แต่ถ้าผู้ให้ จะโดนลงโทษเต็มที่ก็แค่จำคุกไม่กี่ปี

แต่พอวันนี้มาเบี่ยงประเด็นแทรกกลางว่า โอเค ผู้รับก็คือตำรวจไม่รับ แล้วให้ผู้รับเป็นคนแจ้งเบาะแสเสียเอง ซึ่งก็เหมือนกับเป็นการลงโทษผู้ให้ไปในตัว วันนี้ใครติดนิสัยให้สินบนก็คงต้องระวังแล้วล่ะว่า ถ้าให้ไปจะต้องถูกลงโทษหนักแล้วนะ เพราะวันนี้ตำรวจได้เปรียบกว่า เห็นปุ๊บจับปั๊บได้เงิน 10,000 บาททันที ดังนั้นต่อไปก็ต้องขับรถอย่างระวัง อย่าให้ผิดกฎจราจร เพราะถ้าทำผิดก็จะถูกจับและปรับ สินบนก็ให้ไม่ได้แล้วด้วย

เมื่อเป็นแบบนี้ มันก็ดีค่ะ ปรับพฤติกรรมคนได้เหมือนกัน ถ้าคนรับไม่รับซะอย่าง คนให้ไม่ให้มันก็จบอ่ะค่ะ ถามว่าจะแก้ปัญหาได้ระยะยาวไหม ถ้าทำอย่างจริงจังได้ตลอดมันก็ดีค่ะ เพราะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมติดสินบน ถ้าไม่มีผู้ให้ ผู้รับก็รับไม่ได้ ถูกไหมค่ะ"

ส่วนประเด็นที่ใครหลายคนบอกว่า ถ้าจับได้ว่าตำรวจเรียกสินบนเสียเอง ควรจะมีเงินรางวัลให้ประชาชนบ้างไหม ตรงนี้ ผศ.ดร.ศรีสมบัติ บอกว่า เอาเข้าคุกไปเลยไม่ดีกว่าหรือ

"โครงการนี้ช่วยระงับยับยั้งคนไม่ให้กระทำความผิดค่ะ เพราะคนทำความผิดก็เริ่มรู้แล้วว่าตัวเองถูกจับจ้อง และไม่มีการเอื้อกันเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เนื่องจากถ้าให้ฉัน ฉันไม่รับ แถมยังได้เงินอีกด้วย ผิดกับเมื่อก่อนที่คนให้ก็ให้กันไป คนรับก็รับ ไม่มีการเปิดโปงกันและกัน แต่ตอนนี้คนรับซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่คงต้องเปิดโปง เพราะได้เงินรางวัล ซึ่งโครงการนี้กำลังจะสอนว่า เลิกนิสัยติดสินบนได้แล้ว เพราะถ้าให้อาจนำภัยมาสู่ตัวเอง" ศ.ดร.ศรีสมบัติให้ทัศนะ ก่อนจะฝากทิ้งท้ายถึงตำรวจไทย (บางคน) ว่า "ควรทำตัวให้ดีจริงๆ ไม่ใช่วันนี้ไม่มีคนให้สินบนแล้วมาหาเรื่องประชาชนนะ"

จริงๆ แล้วเรื่องนี้แบบนี้ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่ให้ แล้วอีกฝ่ายก็ไม่สนอง ก็คงไม่ต้องมีโครงการแบบนี้ แต่ในเมื่อมันมีขึ้นมาแล้ว คงก็ต้องตามดูกันต่อไปว่าปฏิบัติการล่าสินบนจราจรจะสามารถเปลี่ยนนิสัยคนไทยได้หรือไม่...

สกู๊ปข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live



Create Date : 10 ตุลาคม 2557
Last Update : 10 ตุลาคม 2557 7:54:08 น. 0 comments
Counter : 1470 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

karnoi
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 57 คน [?]




เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add karnoi's blog to your web]