เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย

ติดตามข้อมูลเว็บทาง Google+ กด
FaceBook สาว ๆ เซ็กซี่

ทุ่ม 600 ล้าน! แก้บีทีเอส หั่นสถานี “สะพานตากสิน” คุ้มสำหรับใคร?


ทุ่ม 600 ล้าน! แก้บีทีเอส หั่นสถานี “สะพานตากสิน” คุ้มสำหรับใคร?

ยุบ-ไม่ยุบ ยุบ-ไม่ยุบ ตัดสินใจแกว่งไปแกว่งมาอยู่หลายรอบ ล่าสุด ดูเหมือนว่าทางบีทีเอสจะตัดสินใจขาดแล้ว ตั้งงบ 600 ล้าน เตรียมยุบสถานีสะพานตากสิน แล้วแปลงให้เป็น Sky Walk ราคาสูงเพื่องดดรามา มั่นใจว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ต้องการให้รถไฟฟ้าวิ่งเร็วขึ้นอย่างปลอดภัย
       ทั้งยังหวังว่าชุมชนสะพานตากสินจะพอใจกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุ่มให้ บวกกับผลประโยชน์ที่เคยได้จากสถานีชั่วคราวแห่งนี้ก็มากมาย บอกเลยถึงเวลาต้องเสียสละเพื่อส่วนรวมแล้ว!!?





“สถานีชั่วคราว” สร้างทำไม ถ้าคิดจะรื้อ?

(สภาพการใช้งานรางเดี่ยว ที่เดียวที่สถานี "สะพานตากสิน" ทำให้เสียเวลาการเดินทาง)

“เรากะสร้างสถานีนี้เอาไว้เป็นสถานีสุดท้ายและตั้งใจสร้างเป็นสถานีชั่วคราวมาตั้งแต่แรกแล้วครับ” ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศเจตนารมณ์เอาไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องที่หลายคนกำลังสนใจ

ถามว่าในเมื่อรู้ว่าจะต้องทุบ จะสร้างทำไมตั้งแต่ทีแรก? ผู้ดูแลโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (BTS) จึงช่วยอธิบายรายละเอียดในเชิงลึกให้เข้าใจว่า เป็นเพราะทาง กทม.ต้องการสร้างส่วนต่อขยาย สร้างสถานีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่ม จึงทำให้สถานีนี้ไม่ใช่สถานีสุดท้ายอีกต่อไป แต่กลายเป็นสถานีตรงกลางที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ระบบขนส่งเกิดความล่าช้า เพราะสถานีนี้เพียงสถานีเดียวที่ไม่สามารถใช้ระบบรางคู่ เปิดให้รถ 2 ขบวนสวนกันไปมาได้ แต่ดันมีแค่รางเดียวให้บริการ การรอเพื่อจะสับรางบริเวณนี้จึงทำให้เละไปทั้งระบบและกลายเป็นปัญหาจนถึงเวลาต้องแก้ไข!

“จะเห็นได้ว่าระยะห่างระหว่างสถานีสุรศักดิ์กับสถานีสะพานตากสิน ก็เลยจะสั้นกว่าระยะห่างระหว่างสถานีอื่น คือห่างกันแค่ 700 เมตร จากที่สถานีอื่นจะห่างกันประมาณ 1.2 กม. เป็นเพราะวางไว้แล้วตั้งแต่ต้นครับว่าจะให้สถานีเป็นแค่สถานีชั่วคราว แต่พอสร้างไปสักพักหนึ่งประชาชนก็เริ่มติดเพราะเป็นสถานีริมแม่น้ำ แต่ตัวสถานีมันสร้างคร่อมอยู่บนรางที่สองของรถไฟฟ้า เพราะเนื้อที่ตรงนั้นถูกสะพานตากสินบีบทำให้เหลือที่ไม่มากนักในการสร้างสถานี จึงจำเป็นต้องวางตัวสถานีคร่อมเอาไว้บนรางรางหนึ่ง แล้วให้เหลือแค่รางเดียวที่ให้บริการได้


(รางเดี่ยว วิ่งได้เลนเดียว สถานีสะพานตากสิน)

เมื่อก่อนก็ไม่ค่อยมีปัญหามาก จนกระทั่งจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับระยะเวลาการเดินทางของรถก็เริ่มติด เพราะรถไฟฟ้าที่วิ่งผ่านสถานีนี้ต้องรอสับรางใช้รางเดียวที่สถานีนี้เสมอ ทำให้เสียช่วงเวลาเร่งด่วนไปถึงประมาณ 110 เปอร์เซ็นต์ของความสามารถในการขนส่งต่อเที่ยว หมายความว่าจะมีผู้โดยสารที่ขึ้นไม่ได้ประมาณ 10 คนต่อเที่ยวเมื่อรถมาถึง ทำให้ต้องรถขบวนหน้าและความล่าช้าก็สะสมไปเรื่อย

ยิ่งสถานีนี้มาอยู่สถานีตรงกลางของสาย ยิ่งส่งผลต่อความล่าช้าที่เกิดขึ้น ปกติแล้วสถานีอื่นๆ จะใช้เวลาประมาณ 3 นาทีในการเดินทาง แต่พอมาผ่านจุดนี้ปุ๊บ จะกลายเป็น 5 นาที เพราะต้องรอใช้ราง ทำให้เวลาโดยรวมเสียไป ปัญหาหลักที่ต้องการจะรื้อสถานีชั่วคราวนี้ก็มาจากเรื่องนี้นี่แหละครับ ที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเพราะว่ารถไฟฟ้าได้รับความนิยม คนใช้กันมากขึ้นแล้วก็เรียกร้องให้รถมาเร็วๆ หน่อย อย่าให้รอนานโดยเฉพาะเวลาเร่งด่วน แต่ถ้าจะปรับให้รถวิ่งเร็วขึ้นก็จะไม่ปลอดภัย และถึงยังไงถ้าไม่แก้ไขตรงนี้ ก็จะมาช้าตรงสถานีสะพานตากสินอยู่ดี

กรุงเทพธนาคมกับบีทีเอส ผู้ประกอบการ คุยกับทาง กทม.แล้วว่า จำเป็นจะต้องทำให้ตรงนี้เป็นรางคู่เหมือนเดิม พอเป็นรางคู่ ตัวสถานีที่มันตั้งอยู่บนรางรางนึงก็ต้องเอาออก ก็มีโจทย์ว่าจะทำยังไงดี ระหว่างไปสร้างตัวสถานีสะพานตากสินใหม่โดยให้ไปเกาะสะพาน คือขยับตัวสถานีเดิมหลบออกไปไม่ให้มาตั้งอยู่บนราง หรืออีกวิธีคือทำให้สถานีนี้ยังเปิดใช้อยู่ แต่ให้ไปใช้บริการสถานีสุรศักดิ์ซึ่งอยู่ห่างออกไป 700 เมตรแทน เพื่อให้รถยังวิ่งต่อไปได้อย่างสะดวก และลดเวลาวิ่งต่อขบวนลงให้ได้ โดยปล่อยให้ทั้งระบบเป็นรถไฟรางคู่ทั้งหมด ไม่ใช่แค่รางเดี่ยวเฉพาะแค่จุดนี้อย่างที่เป็นอยู่



ถ้าสร้างสถานีมาชั่วคราวแล้วจะทำทำไม? คำตอบก็คือสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนต่อเรือได้อย่างสะดวก ถามว่า กทม.หรือทางเราจะได้ประโยชน์อะไรในการเอาสถานีสะพานตากสินออก ไม่ได้เลยครับ การอำนวยความสะดวกในโครงการนี้มีแต่จะเสียเงินเพิ่มขึ้น แถมยังถูกคนด่าด้วย แต่เราแค่ต้องการให้คนที่ใช้บริการทั้งระบบมีความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการมากขึ้น ไม่ต้องมารอนาน 2-3 ขบวนถึงจะได้ขึ้นจากสถานีสะพานตากสิน

สิ่งที่ผมอยากจะย้ำก็คือ โครงการนี้มันไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนเลย ทางขึ้นลงและบันไดเลื่อนก็เหมือนเดิม แถมจะดีขึ้นด้วย ถามว่าจู่ๆ เราอยากทำมั้ย ไม่มีใครอยากจ่ายเงินเพิ่มเลยครับ แต่ทำเพื่อให้ได้บริการที่ดีขึ้น

คนที่มองว่าการสร้างสถานีสะพานตากสินชั่วคราวนี้ เป็นการผลาญงบประมาณเกินไป มันเปลืองไปมั้ย? ผมก็ต้องตอบว่าตรงนี้ได้ให้บริการมา 10 กว่าปีแล้วนะครับ มันได้เอื้อประโยชน์กับผู้คนที่จะเดินทางจากรถไฟฟ้ามาต่อเรือ หรือเรือมารถไฟฟ้า หรือมาลงพื้นที่ธุรกิจตรงนั้นเพื่อเข้าโรงแรมมานานแล้ว ที่สร้างชั่วคราวก็ถือว่าคุ้มแล้วครับ ตอนนี้ที่ตัดสินใจรื้อก็เพื่อให้ได้บริการที่ดีขึ้นต่อคนใช้ทั้งระบบ

ถ้าถามว่าการรื้อต้องจ่ายเงินมั้ย จริงๆ แล้วไม่ต้องจ่ายเลยก็ได้ครับ ถ้าแค่จะรื้อก็แค่ปิดสถานีไปเลยง่ายๆ ไม่ต้องเปลืองเงินอะไรเลย แต่ทาง กทม.ซึ่งเป็นเจ้าของโปรเจกต์และกรุงเทพธนาคม เราคิดอะไรมากกว่านั้นครับ เรามองเรื่องการอำนวยความสะดวกให้คนที่คุ้นเคยกับตรงนี้ด้วยให้ทำทุกอย่างได้เหมือนเดิม และลงทุนทำทางเลื่อนอีก 700 เมตร นี่แหละครับคือเหตุผลที่ว่าทำไมต้องผลาญงบประมาณ ก็เพื่อจะเอามาสร้างทางเลื่อนอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและชุมชนบริเวณสะพานตากสินยังไงล่ะครับ”




ไม่เคยหรอก วางแผนระยะยาว!

(วงสีแดง สถานีที่กำลังจะหายไป)

ลองให้มองจากสายตาคนนอก ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโครงสร้างดูบ้าง พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอออกตัวก่อนว่ายังไม่รู้รายละเอียดโครงการในเชิงลึกว่าตอนที่เสนอเป็นแผนแม่บท ระบุเอาไว้ว่าให้สถานีตากสินเป็นสถานีชั่วคราวมาตั้งแต่แรกแล้วหรือไม่ และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ มองผลกระทบในระยะยาวให้มากกว่านี้

“เท่าที่ผมได้เคยได้ยินมา ก็เคยได้ข่าวว่าสถานีนี้สร้างไว้แค่ชั่วคราวนะครับ เพียงแต่ชั่วคราวที่เราเห็นๆ กันอยู่ก็ถือว่าใช้กันมาได้นานพอสมควรจนทำให้คนเคยชินไปแล้ว พอคนใช้ไปนานๆ ถ้าจะยกเลิกสถานีตรงนี้แล้วเปลี่ยนไปใช้สถานีสุรศักดิ์ซึ่งห่างออกไปอีก 700 เมตร ก็อาจจะทำให้คนที่ใช้บริการเป็นประจำได้รับผลกระทบหรือรู้สึกว่าชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายน้อยลง ถ้าให้วัดจากความรู้สึก ถามว่าไกลมั้ย 700 เมตร ก็ไกลอยู่เหมือนกันนะ ยิ่งถ้าคนที่เคยขึ้นที่สะพานตากสิน จากเคยเดิน 500 เมตรจากบ้านมาถึงสถานี ต่อไปก็ต้องบวกระยะทางเพิ่มขึ้นไปอีก กลายเป็นต้องเดินเป็นกิโลฯ เพื่อไปต่อสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ ก็ไม่รู้ว่าผู้ใช้บริการที่เคยชินกับสถานีแบบเดิมไปแล้วเขาจะรับได้กันมากน้อยแค่ไหนนะครับ

ทำงานด้านนี้มา เข้าใจดีครับว่าการจะสร้างอะไรๆ ในเมืองแห่งนี้มันยากจริงๆ มีข้อจำกัดหลายอย่างมากเพราะเป็นเมืองที่มีความแออัดสูง จะสร้างทางรถไฟฟ้าตัดผ่านที่ไหนขึ้นมามันไม่ใช่การร่างแบบในกระดาษแล้วสร้างตัดเนื้อที่เดิมได้เลย แต่ต้องพิจารณาจากหลายอย่างว่า ถ้าขึ้นสถานีตรงนี้ มองเรื่องระยะทางแล้วอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้ามองเรื่องผลกระทบและความเป็นไปได้แล้ว มันต้องเวนคืนที่ชาวบ้านถึง 1,000 หลังคาเรือน เทียบกับอีกเส้นนึงที่อาจจะต้องเวนคืนน้อยกว่า อาจจะแค่ 300 หลังคาเรือน สุดท้าย ก็ต้องเลือกที่จะเกิดผลเสียน้อยที่สุดแล้วครับ


(สถานีที่กำลังจะถูกใช้งานแทน สะพานตากสิน)

ผมเลยมองว่าการวางสถานีสะพานตากสินเอาไว้ตั้งแต่ตอนนั้น น่าจะเป็นหนทางที่ผู้สร้างพอจะทำได้ดีที่สุด ณ ขณะนั้น เขาคงไม่อยากให้รถไฟฟ้าที่ตั้งใจสร้างให้รางคู่ กลายเป็นแบบรางเดี่ยวอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ที่จำเป็นต้องให้เป็นแบบนั้น คงเพราะมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ หรือจะยังพอมีทางออกอื่นๆ อีกบ้างมั้ยที่ไม่ใช่แค่เลือกว่าจะรื้อสถานีสะพานตากสินหรือไม่รื้อ เรายังสามารถทำให้สถานีนี้เป็นรางคู่ได้อยู่หรือไม่

การตัดสินใจบางอย่างมันอาจจะดีแค่ในช่วงเวลานั้น มันขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปครับ อย่างสถานีสะพานตากสินก็ตั้งมาได้หลายสิบปีแล้ว ถ้าสมมติว่า 20 ปีก่อนเรามีแบบแผนแม่บทระบุเอาไว้อีกแบบหนึ่ง แต่พอ 20 ปีให้หลังอะไรๆ มันเปลี่ยนไป สิ่งที่เคยคิดไว้ว่ามันเวิร์กในอดีต มาดูอีกที มันอาจจะไม่ได้เวิร์กกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันแล้วก็ได้ ถ้าถึงตอนนั้นก็คงต้องตัดสินใจกันให้ดีๆ ครับว่าจะเลือกแบบไหน”

ส่วนงบประมาณ 600 ล้านบาทที่วางงบประมาณกันเอาไว้ว่าจะเปลี่ยนจากสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน สร้างเป็นทางเลื่อน Sky Walk ไปยังสถานีสุรศักดิ์แทนนั้น ถามว่าเป็นเรตที่สูงเกินไปหรือไม่เพื่อแลกกับความสะดวกรวดเร็วในการใช้รถไฟฟ้า นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ตอบว่า คงวัดความคุ้มจากตัวเงินกันไม่ได้ วัดกันยาก แต่ถ้าให้มองในภาพรวมแล้ว ก็ถือว่าน่าจะทำให้ความสะดวกสบายของชีวิตคนเมืองเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเวลาที่ต้องเสียไปกับการนั่งหรือยืนรอ มันสามารถเอาไปทำอะไรๆ ได้อีกตั้งหลายอย่าง แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ ควรชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจนและวางแผนระยะยาวกันให้มากกว่านี้


“เรื่องการวางแผนระยะยาวเกี่ยวกับเรื่องสถาปัตย์, ผังเมือง เป็นปัญหามานานแล้วครับในประเทศเรา ต้องบอกว่าส่วนใหญ่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะกับสุภาษิตที่ว่า “วัวหายล้อมคอก” ก็เลยชอบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือสร้างอะไรขึ้นมาโดยที่อาจจะไม่ได้คำนึงถึงผลระยะยาวเท่าไหร่ อาจจะเหมาะสมแค่ช่วงเวลานั้นๆ แต่พอวันเวลาเปลี่ยนไปก็ค่อยมารื้อสร้างกันใหม่ อันนี้เห็นกันได้บ่อยๆ ไม่ใช่แค่โครงการรถไฟฟ้า

หรือถ้าจะให้พูดถึงกรณีรถไฟฟ้าที่ผมเห็น คงต้องพูดถึงรถไฟฟ้าสถานีบางนาครับ จะเห็นว่าทางออกที่เชื่อมรถไฟฟ้าตรงนั้นจะไปลงตรงที่ กรมอุตุนิยมวิทยา พอดี มันก็ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมไม่สร้างสถานีให้ไปลงตรง ไบเทคบางนา ที่น่าจะมีรถสัญจรไปมาและมีคนใช้หนาแน่นกว่า มันก็อาจจะคล้ายๆ กับถ้าเทียบสถานีสะพานตากสินกับสถานีสุรศักดิ์ สถานีสะพานตากสินเป็นจุดเชื่อมรถต่อเรือ น่าจะมีคนใช้ตรงนั้นมากกว่าอยู่แล้ว

เวลาจะทำตัดสินใจสร้างโครงการอะไรแบบนี้ อยากจะให้พิจารณาความคิดเห็นของประชาชนและการทำประชาพิจารณ์ ด้วยครับว่า ผู้ใช้เขาต้องการแบบไหน เพราะสิ่งที่ผู้สร้างตัดสินใจให้บางทีอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์คนใช้จริงๆ ก็ได้”




มีแต่ได้กับได้ ถ้าชุมชน “สะพานตากสิน” ยอม?

("ทางเลื่อน" แบบเดียวกันที่ใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ที่นี่จะยาว 700 เมตร ทุ่ม 600 ล้าน แก้ปัญหาที่ต้องยุบสถานี)

ถามว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะกระทบต่อพฤติกรรมและความเคยชินของประชาชนมากน้อยแค่ไหน ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้คำตอบว่า “ไม่เปลี่ยนแปลงครับ ทางขึ้นลงต่างๆ จะยังเหมือนเดิม แต่จุดขายตั๋ว จุดขึ้นลงรถจะขยับไปอีก 100 เมตร หมายความว่าสถานีสะพานตากสินยังเป็นจุดขึ้นลงได้เหมือนเดิม แต่แทนที่จะขึ้นมาถึงแล้วสามารถซื้อตั๋วได้เลย ก็เปลี่ยนเป็นต้องต่อ “ทางเลื่อน” ระยะประมาณ 700 เมตรแทน เป็นทางเลื่อนแบบในสนามบินที่เรียกว่า “Walkalator” ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางไปถึงจุดขึ้นรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ประมาณ 3-5 นาทีขึ้นอยู่กับว่าจะเดินเร็วหรือช้าแค่ไหน ทั้งหมดลงทุนประมาณ 600 ล้าน แต่จะทำให้ระบบไหลเวียนรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

รายละเอียดโครงการตรงนี้ คนจะกลัวว่าเราจะไปยกเลิกสถานีสะพานตากสิน ไปทุบทิ้ง ไม่ใช่อย่างนั้นครับ เพราะทางขึ้นลงและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เคยมีอยู่เดิมก็จะยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่ที่จะเกิดขึ้นคือทางเชื่อมที่คล้ายๆ แถวสถานีชิดลมกับสถานีสยามตรงไปต่อเชื่อมที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ แต่แทนที่จะเป็นทางเดินใต้รางรถไฟฟ้า ก็จะเป็นทางเลื่อนเพิ่มให้ด้วย ใครอยากเดินบนทางปกติหรือทางเลื่อนก็แล้วแต่จะเลือก

คนจะคิดกันไปว่าพอเปลี่ยนเป็นไปใช้สถานีสุรศักดิ์แล้ว ทางโรงแรมหรือพ่อค้าแม่ค้า ผู้อยู่อาศัยละแวกสถานีสะพานตากสินจะมีปัญหา มันไม่ใช่เลยครับ เพราะระบบทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่จุดขายตั๋วกับจุดจอดรถจะขยับไป 700 เมตรเท่านั้นเอง แล้วก็จะเชื่อมระหว่าง 2 จุดนี้ด้วยทางเลื่อน


(ทางขึ้นสถานียังคงมีอยู่ แต่ด้านบนกลายเป็นทางเชื่อมแทน)


ที่ผ่านมาก็มีประชาชน ผู้ประกอบการ กลุ่มร้านค้า-โรงแรม กลุ่มคนที่คิดว่าทางเราจะรื้อสถานี รวมตัวกันเดินทางมาคัดค้านไม่ให้ทำโครงการนี้ เราก็อธิบายรายละเอียดไปและพยายามทำความเข้าใจกันอยู่ว่า นี่ไม่ใช่โครงการสร้างรถไฟฟ้าขนาดใหญ่อะไรครับ เป็นโครงการขนาดเล็ก เอาตัวสถานีออกและเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปให้ ตอนนี้ก็ยังต้องอธิบายกันครับว่า คนที่มาเรือต่อรถไฟฟ้า หรือมารถไฟฟ้าต่อเรือ ก็ยังทำได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องใช้ทางเลื่อนเข้ามาช่วยเท่านั้นเอง ทางเดินจะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำครับ

เป็นไปได้มั้ยที่จะยังให้มีตัวสถานีสะพานตากสินอยู่และทำให้เป็นรางคู่ไปด้วยได้ คำตอบคือ “ทำได้” ครับ แต่ทำได้ในตอนไหน ทำได้ที่ต้นทุนเท่าไหร่ก็อีกเรื่องนึง ถ้าจะเลือกทางนี้ก็จะพอมีวิธีคือให้ขยับตัวสถานีไปพิงหรือไปเกาะกับโครงสร้างสะพานตากสิน แต่จะเป็นการเกาะไว้ข้างเดียวซึ่งอาจจะทำให้สะพานขาดความสมดุล ทำให้เกิดปัญหาต่อไป ถ้าจะทำต่อไปให้ปลอดภัยก็ต้องแก้ด้วยการเพิ่มน้ำหนักสะพานอีกข้างนึงเข้าไปให้มันสมดุลกัน งบประมาณที่ใช้ก็จะเกินกว่า 600 ล้านอีกเยอะทีเดียว

ถามว่าจะทำแบบนู้นแบบนี้แทนได้มั้ย วิศวกรเขาก็บอกว่ามันทำได้ทั้งนั้นแหละ แต่ทำได้ที่ราคาเท่าไหร่ ก็ต้องคิดพิจารณากันอีกเยอะแยะเลย และสะพานตากสินตรงนั้น ทางกรมทางหลวงชนบทเขาเป็นคนสร้างมา และถ้าเราต้องเอาน้ำหนักของสถานีไปพิงไว้กับสะพานของเขา ถ้าสะพานเขาเกิดทรุดก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาว่าใครจะรับผิดชอบงบประมาณตรงนั้น


(อนาคต สถานีสะพานตากสิน จะเป็นระบบรางคู่เหมือนสถานีอื่นๆ)

ผมก็ได้แต่ให้ข้อมูลทั้งหมด ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่ ก็คงต้องให้ประชาชนช่วยกันคิดวิเคราะห์ดูครับ ส่วนทางเรา กรุงเทพธนาคม ในฐานะผู้ดำเนินการ จริงๆ แล้ว ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ เราไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 600 ล้าน แล้วก็ไม่ต้องถูกด่าด้วย คนที่ใช้บีทีเอสทั้งระบบวันละมหาศาลเองก็จะไม่รู้หรอกครับว่าทำไมรถมันวิ่งช้า ทำไมวิ่งให้เร็วขึ้นไม่ได้ ซึ่งจริงๆ สามารถวิ่งให้เร็วขึ้นได้ครับถ้าแก้ปัญหาความล่าช้าที่สถานีสะพานตากสินตรงจุดนี้นี่แหละครับ

อยากให้รู้ว่า การให้บริการอะไรก็แล้วแต่ ทางผู้ให้บริการก็ไม่อยากจะทำให้เกิดผลกระทบ แต่ในเมื่อต้องเลือก เราก็พยายามจะทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และเป็นประโยชน์ที่สุดต่อส่วนรวม”

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2557   
Last Update : 24 ธันวาคม 2557 8:22:32 น.   
Counter : 14246 Pageviews.  

ภาพเน่าตำรวจไทย กลิ่นเหม็นต้องสะสาง

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ภาพเน่าตำรวจไทย กลิ่นเหม็นต้องสะสาง
พล.ต.ต.อภิชัย ธิอามาตย์

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สภาพจิตใจตำรวจไทยในตอนนี้น่าจะตุบๆ ต่อมๆ ใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวสักเท่าไหร่

       โดยเฉพาะในสังกัด “กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง”และ “กองบัญชาการตำรวจนครบาล”ข่าวว่าจะผ่าตัดใหญ่ตั้งแต่หัวยันหางโดยเฉพาะ “สอบสวนกลาง”เห็นว่า พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงมาควบคุมเองอย่างใก้ลชิด เรียกว่า ขุดรากถอนโคนอำนาจเก่ากันเลยทีเดียว

       กวาดทั้งระดับ รองผบก. ผกก. สารวัตร ตลอดจนพวกนักบิน พวกเดินสายเก็บส่วยไม่มีเอาไว้ ส่วน "นครบาล" เจอพิษป้ายโฆษณาจอแอลอีดี เห็นว่าเกือบ 30 โรงพัก มีนายตำรวจระดับ ผกก.เส้นดีบางคนโดนเบิ้ล 2 กระทง เหตุผลเพราะพวกนี้อยู่ในท้องที่ป้ายโฆษณาเถื่อนตลอด

       หวังว่า พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. คงเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่แค่หาเหตุย้ายกันแล้วก็แล้วๆกันไป

       2 กองบัญชาการหลักกำลังทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ที่เหลือไม่มีข่าวคราวอะไรน่าสนใจ แต่ที่โผล่มาให้เห็นเป็นกระแสบ้างก็คือกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ของ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน มีการติดป้ายประกาศชัดๆ ว่า “ภาค 1 ไม่มีวิ่งเต้น”ก็อยากจะเชื่ออยู่แต่จะ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ อันนี้เป็นความเชื่อ

ส่วนบุคคลเพราะวงการตำรวจอย่าว่าแต่ “อมพระ”มาพูดเลย “อมโบสถ์” ทั้งหลังก็ไม่มีใครเชื่อว่าไม่มีวิ่งเต้น เว้นกฎ ดันก้นให้กับเด็กตัวเองหรือพรรคพวก

       เอาเป็นว่าในสังคมอุปถัมภ์ สังคม“นกมีขน คนมีพวก” ถ้าไม่ช่วยคนใก้ลชิด ไม่ดูแลพรรคพวกเพื่อนฝูงมันก็คงกระไรอยู่ ขอเพียงอย่างเดียวอย่าให้มันแหวกกฎ แหกกติกา ชนิดเหาะเหินเดินอากาศราวกับผู้วิเศษ ขาดไอ้คนนี้แล้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเสียโอกาส จะไม่เจริญ ใครเป็นใครลองย้อนกลับไปดู เห็นว่าเป็นผลงานของ “บิ๊กตำรวจ”ทั้งนั้น คือห้ามคนอื่นทำแต่ตัวอย่างโทนโท่ไอ้พวกตัวเบิ้มๆทั้งนั้นที่มันทำให้เห็น

       เขียนถึงกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บังเอิญมีเรื่องเกี่ยวข้องกับกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว เข้ามาเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับพฤติการณ์ของตำรวจไทยบางคน ไปทำเรื่องเสื่อมเสียกับนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียจนสื่อหนังสือพิมพ์ “The Sydney Morning herald "ลงข่าวเตือนให้ชาวออสเตรเลีย ระมัดระวังตัวถ้าคิดจะมาเที่ยวเมืองไทยในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ เขาเตือนว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยบางคนข่มขู่ รีดไถนักท่องเที่ยวที่ไม่พกพาสปอร์ต หรือจับตัวไปตรวจปัสสาวะหากพบสารเสพติดจะถูกตบทรัพย์

       นอกจากนั้น ยังระบุด้วยว่า จุดเกิดเหตุบ่อยที่สุด มีคนร้องเรียนมากที่สุดคือ ย่านถนนสุขุมวิท มีทั้งตรวจพาสปอร์ต และพาเข้าห้องน้ำเพื่อตรวจปัสสาวะ มีการรีดไถเงิน..บทความสื่อออสเตรเลีย ระบุว่า อาจเป็นเพราะช่วงนี้เจ้าหน้าที่ไทยมีอำนาจพิเศษตามประกาศกฎอัยการศึก จึงสามารถทำอะไรก็ได้

       แน่นอนว่า ข่าวงามหน้าอย่างนี้ ตำรวจใหญ่หลายคนโดยเฉพาะที่รับผิดชอบกับตำรวจท่องเที่ยว คงนั่งกันไม่ติด พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผบ.ตร. -โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรักษาการณ์ ผบช.ก. (3 ตำแหน่งใหญ่) บอกกับนักข่าวว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวจริงหรือไม่ หากมีเหตุจริง และมีหลักฐานทางตำรวจจะสอบว่าบุคคลที่ปรากฏในหลักฐานนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงหรือไม่ และจะแจ้งไปยังสถานทูตออสเตรเลีย อีกครั้งเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยมาก

       ส่วนพล.ต.ต.อภิชัย ธิอามาตย์ ผบก.ตำรวจท่องเที่ยว บอกว่า ยังไม่ได้รับรายงานหรือร้องเรียนในเรื่องลักษณะดังกล่าว .....ยืนยันว่าต้นสังกัดไม่มีนโยบายส่งเสริมผู้กระทำความผิด และหากตรวจสอบพบจะดำเนินการจนถึงที่สุด ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ สามารถตรวจสอบหนังสือเดินทางนักท่องเที่ยวได้ และนักท่องเที่ยวเอง ก็สามารถนำมาแสดงย้อนหลังได้

ท่าทีของท่านประวุฒิ กับท่านอภิชัย ในฐานะประชาชนคนเสพข่าวก็น่าพอใจในระดับหนึ่ง คือ ออกมาเร็ว แสดงความเห็นแบบกลางๆและแข็งกร้าวอยู่ในที...แต่ในสายตาสื่อมันเหมือนท่องแม่สูตรคูณ ยังไงไม่รู้

       อ่านเชิงท่านโฆษกฯ ที่ดักคอไว้ว่า อาจจะมีจริงแต่ไม่รู้ใช่ตำรวจหรือเปล่า...อันนี้ไม่ค่อยเท่ห์ เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่าเบื้องหลังโจรมันคือใครล่ะที่รู้ช่องกฎหมาย รู้ช่องตบทรัพย์ แต่เวลาพลาดก็มีไอ้พวกลิ่วล้อมาเป็นแพะ ทำนอง “ลิงตายฤาษีชุบ”

       ส่วนเชิงผู้การท่องเที่ยว ถ้าท่านกำลังอธิบายต่อสังคมว่า ตำรวจท่องเที่ยวไม่มีนโยบายรีดไถ ไม่มีนโยบาย “ตบทรัพย์”อันนี้ถือว่าหน่อมแน้มไป แต่ถ้ากำลังขยายความไปว่า ตำรวจท่องเที่ยวไม่มีนโยบายเข้มงวดเรื่องการตรวจหนังสือเดินทาง (อย่างเอาเป็นเอาตาย) แต่ในทางกฎหมายสามารถทำได้ ตรงนี้สังคมพอเข้าใจและยอมรับ

       ขอบอกตามตรงว่า ที่ท่านพูด “ต้นสังกัดไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมผู้กระทำผิด”อันนี้ไม่รู้ว่าจะพูดไปทำไม อย่าว่าแต่ส่งเสริมเลยแค่ทำไม่รู้ไม่เห็น ไม่ดูแล ไม่ใส่ใจ ลูกน้องก็มีความผิดแล้ว

       เรื่องที่เกิดขึ้นขอแนะว่า พูดน้อยๆ ทำเยอะๆ จะดีที่สุด เพราะว่าไปแล้วสื่อออสเตรเลีย มันก็ชอบหาเรื่องวนๆ เวียนๆ อยู่ที่สยามบ้านเรานี่แหละ และแต่ละเรื่องก็มีเค้า มีทั้งจริงๆ ปลอมๆ ปนๆ กันไป ตัวอย่างเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาสถานทูตออสเตรเลีย ออกมาตรการเตือนพลเมืองของเขาที่พำนักหรือท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆว่า อาจจะงดการช่วยเหลือชาวออสซี่ด้วยเรื่องไร้สาระอีกต่อไป

       เรื่องไร้สาระที่ว่าก็คือเที่ยวจนเพลินพอหมดตูดก็ไปไถเอาจากสถานทูต

แต่ที่เจ็บจี๊ดๆ ก็คือ เขาระบุว่าที่สยามเมืองยิ้มเกิดกรณีนักท่องเที่ยวไปเสพสุขกับโสเภณีไทย แล้วไม่มีเงินจ่าย ต้องไปขอยืมจากสถานทูต อันนี้เหมือนจะฮา แต่ไม่ฮา...เราจะปฏิเสธ หรือเราจะยอมรับ..เรียกว่าแสบๆ คันๆ ทั้งขึ้นทั้งล่อง

       นี่ไงคือวิธีคิดและมุมมองของพวกฝรั่งหัวแดงบางประเทศที่มีต่อเรา...แต่เราเองก็อย่าจับเป็นประเด็นทำหูทวนลม เพราะเรื่องเน่าเหม็น เรื่องทุเรศๆ ในแวดวงตำรวจ หรือสังคมไทยแลนด์แดนเรา ก็มีอยู่มาก และรอวันถูกชำระสะสาง

       ตำรวจในฐานะผู้รักษากฎ คำตอบทั้งหมดจึงอยู่ที่พวกท่าน ไม่ต้องไปอาย ไม่ต้องไปห่วงภาพลักษณ์บ้าบออะไรหรอก เพราะความจริงก็คือความจริง “ภาพลักษณ์”ที่ดีจึงอยู่ที่ท่านจะทำอย่างไร ลองนักท่องเที่ยวมันออกไปโพนทะนาปากต่อปาก ทั้งปัญหาอาชญากรรม ปัญหาตำรวจทำตัวเยี่ยงโจรเสียเอง มันก็คงเหมือนกับที่เราเสพข่าว เสพภาพในเมืองต่างๆ ทั่วโลก หากไม่มีความปลอดภัย ต้องเสี่ยงภัยโจรผู้ร้ายแถมตำรวจกับโจรยังแยกกันแทบไม่ออก มันจะเหลืออะไร

       และที่ฝรั่งมันบอกว่า “กฎอัยการศึก” ทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจมากมายสามารถทำอะไรก็ได้ เกรงว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพียงองค์กรเดียวก็คงเอาไม่อยู่ เพราะเรื่องกฎอัยการศึก มันเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ท่านก็ต้องไปบอกนักท่องเที่ยว ส่วนคนไทยจะกระทบไม่กระทบพระเดชพระคุณท่านยังเถียงกันไม่จบ

เอาเป็นว่าถ้าฝรั่งยังคิดว่าเป็นปัญหา กระทรวงการต่างประเทศ ต้องช่วยเหลืออีกแรงแล้วล่ะ




 

Create Date : 21 ธันวาคม 2557   
Last Update : 21 ธันวาคม 2557 10:34:18 น.   
Counter : 1200 Pageviews.  

“ในหลวง” รับสั่งให้ราชเลขาฯต่อสายให้กำลังใจ “ช้างศึก” ช่วงพักครึ่ง

“ในหลวง” รับสั่งให้ราชเลขาฯต่อสายให้กำลังใจ “ช้างศึก” ช่วงพักครึ่ง
แข้งไทยได้รับ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง กุนซือช้างศึก เปิดเผยว่า ทัพ “ช้างศึก” ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับสั่งให้ราชเลขาฯโทรศัพท์มาให้กำลังใจถึงถิ่นเสือเหลืองในช่วงพักครึ่ง ก่อนจะกลายเป็นพลังฮึดกลับลงไปยิง 2 ประตู คว้าแชมป์เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014 ได้สำเร็จ

       ทัพนักเตะทีมชาติไทย ตุนสกอร์นัดแรก 2-0 บุกไปโดน มาเลเซีย ยิงแซง 3 ประตูรวดในนัดสอง ก่อนที่จะได้ลูกฮึดจาก ชาริล ชัปปุยส์ และ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ในช่วง 10 นาทีสุดท้าย เผด็จศึกคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014 ได้สำเร็จ ด้วยสกอร์รวม 4-3

       หลังจบเกม “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง กุนซือช้างศึก เปิดเผยว่า ในช่วงพักครึ่งขณะที่สกอร์ตามหลังอยู่นั้น ทัพนักเตะไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านทรงรับสั่งให้ราชเลขาฯของพระองค์โทรศัพท์มาให้กำลังใจนักเตะ ทำให้ทุกคนมีกำลังใจอย่างเต็มที่ในการเล่นจนทีมไทยทำประตูได้และเป็นแชมป์ในครั้งนี้

       พร้อมกันนี้ เทรนเนอร์เจ้าอาเซียน วัย 41 ปี ยังกล่าวชื่นชมนักเตะชุดนี้ว่าเหนือกว่าสมัยชุดดรีมทีมในยุคของตน เนื่องจากครบเครื่องทั้งความฟิต เทคนิค และทีมเวิร์ก พร้อมยกแชมป์นี้ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนชาวไทย




 

Create Date : 21 ธันวาคม 2557   
Last Update : 21 ธันวาคม 2557 10:32:26 น.   
Counter : 1330 Pageviews.  

ผลวิจัยชี้ชัด “ไฟข้ามถนนอัจฉริยะ” สุดอันตราย ลุ้น ตาย 47.7 เปอร์เซ็นต์ เพราะรถไม่ยอมหยุด


ผลวิจัยชี้ชัด “ไฟข้ามถนนอัจฉริยะ” สุดอันตราย ลุ้น ตาย 47.7 เปอร์เซ็นต์ เพราะรถไม่ยอมหยุด

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ผลวิจัยชี้ชัด “ไฟข้ามถนนอัจฉริยะ” สุดอันตราย ลุ้น ตาย 47.7 เปอร์เซ็นต์ เพราะรถไม่ยอมหยุด

เผย “ไฟเขียว - แดง อัจฉริยะช่วยคนข้ามถนนมีปัญหา ผลวิจัยชี้ชัดไม่ช่วยให้สะดวก - ปลอดภัย - รวดเร็ว ซ้ำเกือบครึ่งไม่ยอมหยุดรถเมื่อเจอสัญญาณไฟแดง ขณะที่ กทม. เจ้าของโครงการยังเดินหน้าจัดงบ 11 ล้าน ทำไฟเขียว - ไฟแดง พูดได้หวังช่วยเหลือคนพิการตาบอด

       อุบัติเหตุชวนสลดใจกรณี วิเวียน กาณจน์ภัสร์ ศิริประทุม ครีเอทีฟรายการ 2 สาวเล่าเรื่องของบริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะโลกโซเชียล ที่แสดงความเห็นทำนองเดียวกันว่าระบบสัญญาณไฟคนเดินข้ามถนนอัจฉริยะ น่าจะไม่ปลอดภัย และไม่เหมาะสมกับสังคมเมืองไทยอีกต่อไปแล้ว และเมื่อย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของโครงการสัญญาณไฟคนข้ามถนนดังกล่าว พบว่าเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 สมัย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.กทม.) เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กันยายน ปีเดียวกัน บริเวณหน้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ถนนราชดำริ กทม. ยังเชิญผู้แทนจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เข้าร่วมทดสอบการใช้งานด้วยเพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ

       หลังการติดตั้งระบบไฟอัจฉริยะทั่ว กทม. ไปกว่า 100 จุด มีการประเมินผลโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ถึงความพึงพอใจในการใช้งาน 3 ตังอย่าง พบว่า 1. ผู้เดินข้ามถนน 56 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าระบบไม่ได้ช่วยให้มีความปลอดภัยจากการถูกรถชนขณะเดินข้ามถนน 2. คนเดินข้ามถนน 63 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าระบบไม่ได้ช่วยให้มีความสะดวกสบายในการข้ามถนน 3. คนเดินถนน 74 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าระบบไม่ได้ช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการรอข้ามถนน

       นอกจากนั้น ผลการวิจัยยังระบุถึงประสิทธิภาพของระบบในการช่วยคนเดินข้ามถนนด้วยตัวชี้วัดประสิทธิภาพ 8 ตัว ซึ่งจากการศึกษาพบว่า 1. มีการใช้งานระบบอย่างเต็มรูปแบบวันละ 1,050 นาที (คิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมดในแต่ละวัน) 2. ช่วงเวลาเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีคนต้องการข้ามถนนมาก 3. มีคนเดินข้ามถนนบริเวณทางข้ามที่ออกแบบไว้มาก คือ 27.7 เปอร์เซ็นต์ ของกรณีเปิดใช้ระบบอย่างเต็มรูปแบบ และ 72.5 เปอร์เซ็นต์ ของกรณีเปิดใช้ระบบบางส่วน

       4. ระยะเวลาในการรอข้ามถนนของกรณีเปิดใช้งานระบบอย่างเต็มรูปแบบ คือ 9.3 วินาที มีค่ามากกว่ากรณีที่เปิดใช้งานระบบบางส่วน คือ 6.7 วินาที 5. ระยะเวลาในการข้ามถนนของกรณีเปิดใช้งานระบบอย่างเต็มรูปแบบ คือ 13.0 วินาที มากกว่ากรณีที่เปิดใช้งานระบบบางส่วน คือ 10.7 วินาที 6. คนข้ามถนน 59 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ใช้งานระบบตามที่ออกแบบ 7. ในกลุ่มของคนที่ใช้ระบบในการช่วยข้ามถนนมีเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้ระบบในการช่วยข้ามถนนทุกครั้ง 8. เมื่อเปิดใช้งานระบบเต็มรูปแบบพบว่า 47.7 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนรอบการข้ามทั้งหมดมีผู้ขับขี่ไม่หยุดรถเมื่อได้รับสัญญาณไฟแดงเพื่อให้คนเดิน

       มีรายงานด้วยว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายสุธน อาณากุล ผอ.สจส.กทม. ได้เปิดโครงการ “เพิ่มไฟเขียวไฟแดง มีเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตาเดินข้ามถนนจำนวน 220 ทางข้าม” หนึ่งในนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับบริษัทเอกชน 2 - 3 แห่ง เพื่อพัฒนาตรวจสอบระบบให้สามารถเข้าเชื่อมศูนย์ควบคุมไฟจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สัญญาณกดปุ่มที่มีตัวเลขนับถอยหลังติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ กทม. จำนวน 216 ตัว แต่โครงการไฟเขียวไฟแดงมีเดสียงพูดจะติดตั้งทั้งหมด 220 จุด โดยจะทดสอบที่แยกตึกชัย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นจุดแรกพร้อมเสนองบประมาณในปี 2558 เป็นเงิน 11 ล้านบาท เพื่อดำเนินการต่อไป




 

Create Date : 19 ธันวาคม 2557   
Last Update : 19 ธันวาคม 2557 22:15:20 น.   
Counter : 1632 Pageviews.  

รับศพครีเอทีฟสาวเอ็กแซ็กท์สุดเศร้า สามีเผยตั้งใจกลับบ้านด้วยกันช่วงปีใหม่

รับศพครีเอทีฟสาวเอ็กแซ็กท์สุดเศร้า สามีเผยตั้งใจกลับบ้านด้วยกันช่วงปีใหม่
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รับศพครีเอทีพสาวค่ายเอ็กแซ็กท์โดนรถชนหน้าตึกแกรมมี่สุดเศร้า ญาติและเพื่อนร่ำไห้ สามีที่เพิ่งแต่งงานเผยตั้งใจชวนกันกลับบ้านปีใหม่วันที่ 26 นี้ แต่ต้องกลายนำศพกลับขอนแก่นบ้านเกิดแทน ด้านแม่สามีเผยลูกสะใภ้ไม่ได้ตั้งท้องตามที่เป็นข่าว



       วันนี้ (19 ธ.ค.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางทองปัน โฮงคำอุด มารดา พร้อมด้วยนายณัฐวัฒน์ ภาอเนกพันธุ์กุล สามีของ น.ส.กาณจน์ภัสร์ ศิริประทุม หรือวิเวียน อายุ 28 ปี ชาว จ.ขอนแก่น ครีเอทีฟรายการ 2 สาวเล่าเรื่อง ของบริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตรถบรรทุกเล็กยี่ห้ออีซูซุ สีฟ้า ทะเบียน บม 9367 สระบุรี ชนที่หน้าตึกแกรมมี่ ถนนอโศก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา เดินทางมารับศพ น.ส.กาณจน์ภัสร์ โดยมีญาติและเพื่อนกว่า 20 คนร่วมแสดงความอาลัย บรรยากาศเป็นไปอย่างเศร้าโศก ก่อนนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดประชาสามัคคี อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น บ้านเกิด โดยตั้งสวดอภิธรรมก่อนกำหนดฌาปนกิจในวันที่ 21 ธ.ค. ทั้งนี้ แพทย์นิติเวชระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าสมองฟกช้ำและปอดฉีกขาด

       นายณัฐวัฒน์กล่าวว่า ตนกับ น.ส.กาณจน์ภัสร์เพิ่งแต่งงานกันเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา เคยได้ยินว่าถนนอโศกบริเวณที่ทำงานของภรรยาเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนบ่อยครั้ง รถวิ่งเร็ว ข้ามถนนแล้วอันตราย แต่ภรรยาก็ไม่เคยเล่าให้ฟัง ทั้งนี้จะนำศพภรรยากลับไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดที่ จ.ขอนแก่น โดยก่อนหน้านี้วางแผนกันว่าในวันที่ 26 ธ.ค.จะกลับบ้านที่ จ.ขอนแก่นด้วยกัน ครั้งนี้จึงจะพาภรรยากลับบ้าน

       ด้านนางอิสรีย์ ภาอเนกพันธุ์กุล แม่สามีของผู้เสียชีวิตกล่าวว่า อยากฝากถึงระบบการจราจรที่เห็นว่าป้ายแจ้งสัญญาณไฟข้ามถนนคนข้ามนั้นอยู่สูงเกินไป คนขับรถอาจมองไม่เห็น อยากให้ช่วยแก้ไขจะได้ไม่มีใครตกเป็นเหยื่อ และจากกรณีนี้ต้องฝากถึงนายจ้างที่ให้ลูกจ้างขับรถ ควรตรวจสอบให้ดีว่าลูกจ้างนั้นติดยาเสพติดหรือไม่ หากปล่อยมาขับรถเช่นนี้เป็นภัยกับผู้อื่นอย่างมาก

       อย่างไรก็ตาม มีการเสนอข่าวว่าลูกสะใภ้ของตนตั้งครรภ์นั้น ญาติที่ฟังข่าวก็ตกใจ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด น.ส.กาณจน์ภัสร์ยังไม่ตั้งครรภ์ เป็นความเข้าใจผิด

รับศพครีเอทีฟสาวเอ็กแซ็กท์สุดเศร้า สามีเผยตั้งใจกลับบ้านด้วยกันช่วงปีใหม่


รับศพครีเอทีฟสาวเอ็กแซ็กท์สุดเศร้า สามีเผยตั้งใจกลับบ้านด้วยกันช่วงปีใหม่


รับศพครีเอทีฟสาวเอ็กแซ็กท์สุดเศร้า สามีเผยตั้งใจกลับบ้านด้วยกันช่วงปีใหม่




 

Create Date : 19 ธันวาคม 2557   
Last Update : 19 ธันวาคม 2557 22:14:43 น.   
Counter : 1647 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  

karnoi
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 57 คน [?]




เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add karnoi's blog to your web]