แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
เปิดคำวินิจฉัย "แอร์เอเชีย" คืนหรือไม่คืนใบอนุญาตการบิน !

เปิดคำวินิจฉัย "แอร์เอเชีย" คืนหรือไม่คืนใบอนุญาตการบิน !

ก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางอากาศ ได้มีหนังสือด่วน ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หารือด่วนเรื่องคุณสมบัติของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด หลังจากมีการขายหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด ในช่วงตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2549 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ จากการขายหุ้นดังกล่าว ทำให้สัดส่วนหุ้นของตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ที่ถือไว้ทั้งหมดจำนวนร้อยละ 49.6 ของหุ้นทั้งหมดกลายเป็นของบริษัท ซีดาร์ โฮลดิงส์ จำกัด และบริษัท แอสแพน โฮลดิงส์ จำกัด และอาจทำให้บริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด ขาดคุณสมบัติของผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการค้าขาย ในการเดินอากาศตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (ปว. 58) และขาดคุณสมบัติของผู้จดทะเบียนอากาศยานทั้ง 9 ลำ ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497

กรมการขนส่งทางอากาศ ตั้งประเด็นหารือว่า หากพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด ขาดคุณสมบัติจริง จะเริ่มนับตั้งแต่เวลาใด โดยกรมการขนส่งทางอากาศมีความเห็นว่า เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ได้รับอนุญาตไว้ รัฐมนตรีในฐานะผู้ออกคำสั่งทางปกครองสามารถสั่งให้ผู้ได้รับอนุญาตแก้ไขเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ก่อนที่จะพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือเมื่อคุณสมบัติของผู้ได้รับอนุญาตเปลี่ยนแปลงไป ใบอนุญาตจะเป็นอันใช้ไม่ได้ทันที เป็น automatic void ใช่หรือไม่

และหากใบอนุญาตใช้ไม่ได้ทันที จะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด เนื่องจากบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ต้องดำเนินการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการ (tender offer) ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ดังนั้น จะถือว่าการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้จะมีผลเมื่อได้ดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว (หรือกระบวนการอื่นที่อาจมี) แล้วเสร็จใช่หรือไม่ หรือถือว่ามีผลนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศซื้อขายกัน คือ 23 มกราคม 2549

ประเด็นต่อมา เรื่องใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยานนั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น มีบุคคลธรรมดาถือหุ้นอยู่ไม่ถึงร้อยละ 51 จะมีผลให้บริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้จดทะเบียนในทันที เป็น automatic void และจะทำให้ไม่สามารถนำอากาศยานขึ้นลงได้ และในการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ จะถือว่ามีการซื้อขายอันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผู้ถือหุ้น ณ เวลาใด

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางอากาศมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 บริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นและจดทะเบียนใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยมีบริษัท เอเซีย เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นร้อยละ 51 มาถือหุ้นในบริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด แทนบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีผลทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเป็นไปตามกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางอากาศยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานะของบริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่มีการประกาศขายหุ้นชินคอร์ปฯ จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 เนื่องจากกรมการขนส่งทางอากาศได้รับการสอบถามและมีข้อสงสัยจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ได้แก่ คณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของวุฒิสภาและสาธารณชนว่ากรมการขนส่งทางอากาศ จะพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อมิให้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) ได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจนเพียงพอ จึงเห็นสมควรให้ความเห็นในประเด็นเฉพาะข้อกฎหมาย ซึ่งกรมการขนส่งทางอากาศต้องนำไปปรับเข้ากับข้อเท็จจริงในกรณีนี้เอง

ทั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) มีความเห็นแยกเป็นสองกรณี ดังนี้

(1) กรณีของใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยานตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) เห็นว่า ตามมาตรา 32 (2) แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศฯ กำหนดให้ใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยาน เป็นอันใช้ไม่ได้เมื่อผู้จดทะเบียนอากาศยานขาดคุณสมบัติตามมาตรา 31

ดังนั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้จดทะเบียนอากาศยานมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่มาตรา 31 กำหนดไว้ ใบสำคัญการจดทะเบียนย่อมเป็นอันสิ้นผลทันทีโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ผู้จดทะเบียนอากาศยานต้องส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียนแก่พนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้าตามมาตรา 32 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศฯ และเมื่อใบสำคัญการจดทะเบียนเป็นอันใช้ไม่ได้ ผู้จดทะเบียนอากาศยานจึงไม่สามารถนำอากาศยานทำการบินได้ เพราะจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศฯ อันจะมีโทษตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศฯ ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในการสั่งให้ ผู้จดทะเบียนอากาศยานเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนดได้

(2) กรณีของใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) เห็นว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้อย่างชัดเจนให้ใบอนุญาตสิ้นผลเมื่อใด ต่างจากบทบัญญัติตามมาตรา 32(2) แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศฯ ดังกล่าวข้างต้น

ดังนั้น หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศมีคุณสมบัติแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์คุณสมบัติที่รัฐมนตรีกำหนด ย่อมไม่ทำให้

ใบอนุญาตนั้นสิ้นผลในทันที แต่จะสิ้นผลเมื่อถูกเพิกถอนหรือ สิ้นผลโดยเงื่อนเวลา

ตามมาตรา 42 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

พ.ศ. 2539

เนื่องจากการออกใบอนุญาตเป็นคำสั่งทางปกครองอย่างหนึ่ง การสิ้นผลของใบอนุญาตจึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสิ้นผลของคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ แต่เมื่อพิจารณาบทกำหนดโทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตประกอบกิจการในการเดินอากาศ ในข้อ 17 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 แล้ว พบว่ามีเพียงโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และปรับต่อเนื่องตลอดเวลาที่ยังทำการฝ่าฝืนอยู่ ไม่เกินวันละ 1 พันบาท

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะให้โอกาสแก่ผู้รับใบอนุญาต ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการที่จะแก้ไขหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขเสียให้ถูกต้องและสามารถกลับเข้ามาดำเนินกิจการต่อไปได้ สำหรับในช่วงเวลาที่ผู้รับใบอนุญาตมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์คุณสมบัติที่รัฐมนตรีกำหนดนั้น กรมการขนส่งทางอากาศสามารถอาศัย ข้อ 17 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ดำเนินการเอาโทษต่อผู้รับใบอนุญาตนั้นได้


Create Date : 14 กันยายน 2549
Last Update : 14 กันยายน 2549 16:31:00 น. 0 comments
Counter : 513 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com