แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
Expressway ของ "ทางด่วนกรุงเทพ" มองจากมุม "พเยาว์ มริตตนะพร" บอสคนใหม่

Expressway ของ "ทางด่วนกรุงเทพ" มองจากมุม "พเยาว์ มริตตนะพร" บอสคนใหม่

"นโยบายของเราจะเน้นทำธุรกิจสัมปทานทั้งหมด...การที่เราอยู่ในธุรกิจสัมปทานทางด่วน ทำให้เราเห็นถึงจุดดี นั่นคือ ไม่มีคู่แข่ง ยกเว้นจุดด้อยเพียงอย่างเดียว ต้องใช้เงินลงทุนสูงในช่วงแรก"



เบื้องหลังธุรกิจสัมปทาน..ที่เป็นเสมือนเครื่องจักรปั๊มกระแสเงินสด (Cash Cows) ของ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) กลับมี "จุดอ่อน" ที่ทำให้ผู้บริหารคนใหม่ "พเยาว์ มริตตนะพร" ต้องตอบข้อซักถามจากผู้ถือหุ้น ถึง Expressway ของ BECL ว่าจะมีจริงหรือไม่

-------------------------------------------

แม้รอบปีที่ผ่านมา บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ทางด่วนพิเศษศรีรัช จะสามารถรักษาฟอร์ม โชว์ตัวเลขรายได้ที่ 7,012 ล้านบาท เติบโต 4.1% และมีกำไรสุทธิ 1,543 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7%

แต่ "ไส้ใน" ปัญหาการขาดทุนต่อเนื่องของ "บริษัทย่อย" บจก.ทางด่วนกรุงเทพเหนือ (NECL) ที่มีผลขาดทุนสะสม ณ สิ้นปี 2549 รวม 4,337 ล้านบาท ก็กลายเป็นหนึ่งใน "จุดอ่อน" ที่ผู้บริหารถูกผู้ถือหุ้นตั้งกระทู้ "ซักถาม" อย่างเอาจริงเอาจัง

ขณะที่การคงอัตราจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 1 บาท ติดต่อกันเป็นปีที่สอง คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 4.27% คงไม่ทำให้บรรดาผู้ถือหุ้น BECL ปลาบปลื้ม "กระชุ่มกระชวย" เท่าใดนัก

ปัจจุบัน BECL มีการลงทุนใน 4 บริษัท ประกอบด้วย 1.บจก.ทางด่วนกรุงเทพเหนือ (NECL) ก่อสร้างและบริหารทางพิเศษอุดรรัถยา โดยถือหุ้น 53.33% 2.ลงทุน 11.93% ใน บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าใต้ดิน 3.ลงทุน 12.50% ใน บจก.เซาท์อีสท์ เอเชีย เอเนอร์จี (SEAN) ก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 ที่ประเทศลาว และ 4.ลงทุน 12.50% ใน บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาค

ในจำนวน "ลูก" ทั้ง 4 บริษัทที่ BECL เข้าไปลงทุน มีเพียง บมจ.น้ำประปาไทย เพียงแห่งเดียว ที่สามารถ "เก็บเกี่ยว" ผลตอบแทนการลงทุนกลับคืนมาให้เห็น

ขณะที่อีก 3 บริษัทที่เหลือ โอกาส "เก็บเกี่ยว" สำหรับ BMCL และโครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ของ SEAN ยังไม่ถึงเวลา "สุกงอม" ส่วนบริษัทย่อย "ทางด่วนกรุงเทพเหนือ" ยังอยู่ในสภาพ "ติดหล่ม"

ดังนั้น ไม่เพียงแต่เป็น "แม่ลูกสี่" แต่ BECL ยังเป็นเหมือน "แม่ลูกอ่อน" ที่อยู่ในขั้นต้องลงทุนฟูมฟัก "ลูกๆ" เพื่อรอคอยการเก็บเกี่ยวในระยะยาว

"เราทำทางด่วนขั้นที่สอง มีรายได้ดี มีกำไร ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี แต่รายได้บริษัทลูกไม่ค่อยดี ยังขาดทุนอยู่ 2 บริษัท คือ NECL กับ BMCL ส่วนตัว "น้ำประปาไทย" มีกำไร ขณะที่โรงไฟฟ้าน้ำงึม อยู่ระหว่างก่อสร้าง แต่ถ้าโครงการเสร็จแล้ว ตัวนี้ผลตอบแทนจะดีมาก" พเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการคนใหม่ของ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) อธิบาย

พเยาว์ยังตอบคำถามถึงทางโตของ BECL ว่า วางแผนเติบโตเป็น 2 สาย ทางหนึ่ง คือ โตในธุรกิจผู้รับสัมปทานทางด่วน

"ธุรกิจหลักยังไงก็โต เมื่อไหร่ที่มีโครงการเปิดทางด่วนใหม่ๆ เราสนใจและพร้อมจะลงทุนแน่นอน ถ้าให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ซึ่งจริงๆ มีแผนลงทุนหลายโครงการ แต่ภาครัฐยังไม่มีนโยบายเปิดประมูลออกมา"

ขณะที่ทางโตสายที่สอง คือ จะขยายเข้าไปลงทุนในธุรกิจสัมปทานด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น ประปา ไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ฯลฯ

"นโยบายของเราจะเน้นทำธุรกิจสัมปทานทั้งหมด บริษัทย่อยที่เราเข้าไปทุกตัวเป็นธุรกิจสัมปทานหมด การที่เราอยู่ในธุรกิจสัมปทานทางด่วน เราเห็นจุดดีของธุรกิจสัมปทาน นั่นคือ ไม่มีคู่แข่ง ยกเว้นจุดด้อยเพียงอย่างเดียว ต้องใช้เงินลงทุนสูงในช่วงแรก แต่ถ้าสามารถจัดการเรื่องเงินลงทุนที่สูงในช่วงแรกได้ดี ระยะเวลาที่เหลือก็ไม่มีปัญหา"

พเยาว์บอกว่า การลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ต้องมองให้ยาวๆ อย่างกรณีของ BMCL (รถไฟฟ้าใต้ดิน) ถึงจะยังขาดทุนในปี 2549 อยู่กว่า 1,669 ล้านบาท แต่เปรียบเทียบแล้วผลประกอบการดีขึ้นเป็นลำดับ การขาดทุนในช่วงปีแรกๆ ถือว่าเป็นลักษณะปกติของการลงทุนในธุรกิจสัมปทานสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงในช่วงเริ่มต้น เช่นเดียวกับ BECL ที่เคยผ่านจุดนี้มาก่อน และต้องอาศัยเวลากว่าจะแข็งแกร่งอย่างทุกวันนี้

สำหรับการลงทุนใน BMCL พเยาว์คาดว่า ต้องรอถึงปีที่ 7 ของการลงทุน หรือราวๆ ปีค.ศ. 2012 (ปี 2555) ถึงจะได้รับผลตอบแทนในรูปของ "เงินปันผล" แต่หากมีโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าของรัฐบาลเข้ามาเชื่อมต่อ คาดว่าจะช่วยร่นระยะเวลา "รอเก็บเกี่ยว" สำหรับ BMCL ให้สั้นลง

"ศักยภาพลูกๆ ถ้าเรียงแล้ว น้ำประปาไทย "ดี" โอเคมากเลย ดีมานด์ชัวร์แล้ว เมื่อเทียบกับทางด่วนกรุงเทพเหนือ และ BMCL ที่ดีมานด์ยังไม่ชัวร์ ส่วนเซาท์อีสท์ เอเชีย เอเนอร์จี (SEAN) ตัวนี้โอเคมาก เพียงแต่อยู่ในช่วงระหว่างก่อสร้าง"

แม่ทัพหญิง BMCL อธิบายว่า ต้องเข้าใจว่าการเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นใน บมจ.น้ำประปาไทย เราเข้าไปซื้อในราคา "พรีเมียม" หมายถึงซื้อในราคาที่สร้างเสร็จแล้ว โอเปอเรทแล้วกำไรเลย ต่างจาก SEAN ที่เราเข้าไปในช่วงลงทุนก่อสร้าง เข้าไปตอนแรกๆ ในราคาพาร์

" SEAN ถ้าเสร็จแล้วจะเป็นหุ้นที่ราคาดีมาก อย่าว่าแต่ใครอยากจะหาซื้อ ก็หาไม่ได้" พเยาว์กล่าวอย่างมั่นใจ

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา บจก.ทางด่วนกรุงเทพเหนือ (NECL) บริหารทางพิเศษอุดรรัถยา ที่รายได้ต่ำกว่าประมาณการ จน NECL ต้องขาดทุนต่อเนื่อง เธอบอกว่า บริษัทนี้มีแผนจะควบกิจการระหว่าง BECL และ NECL เพื่อควบรวมรายได้ สินทรัพย์ และหนี้สินให้แก่บริษัทแม่ จะส่งผลดีด้านการเสียภาษีลดลง

"หลังการควบรวม คงไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการบริษัทแม่ เนื่องจากในทางบัญชีได้ทยอยหักขาดทุน 4 พันกว่าล้านมาหลายปีแล้ว โดยที่ไม่ได้กระทบตัวแม่ ซึ่งเรายังมีกำไรสะสมถึงปีละ 2,600 ล้านบาท นอกจากนี้ NECL ก็สามารถส่งเงินเข้ามาที่เราทุกวัน วันละ 1.6 ล้านบาท แม้จะมีปัญหาการแข่งขัน ขณะที่ตัว EBITDA ก็ยังเป็นบวก แต่ที่ขาดทุน เพราะมีสินเชื่อสูง ทำให้ต้องแบกภาระดอกเบี้ย"

ความคืบหน้าแผนการควบรวมกิจการ เดิมผ่านความเห็นชอบจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และรอ ครม.พิจารณา แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้ต้องส่งเรื่องกลับไปยัง กทพ.อีกครั้ง

"หากถึงที่สุดแล้วยังไม่มีความคืบหน้า เราอาจต้องใช้อีกวิธีหนึ่ง คือ การทางพิเศษฯ ต้องซื้อคืนไปตามราคาบัญชีมูลค่าประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท หากการควบรวมยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ"

พเยาว์กล่าวว่า ในปีนี้ BECL คงยังไม่มีการลงทุนในโปรเจคขนาดใหญ่ เพราะท่าทีของภาครัฐ ยังคงนิ่งๆ แต่จะมีการลงทุนใน 4 บริษัทย่อย โดยเฉพาะในปีนี้ น้ำหนักการลงทุนใหญ่จะเป็นการใส่เงินลงทุนใน เซาท์อีสท์ เอเชีย เอเนอร์จี (SEAN) ประมาณ 280 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่องปีที่สอง จากระยะเวลาลงทุนก่อสร้างทั้งหมด 5 ปี โดยในส่วน BECL ต้องร่วมใส่เงินลงทุนทั้งหมดรวม 1,100 ล้านบาท และจะเริ่มเก็บเกี่ยวรายได้เต็มปี ในปี 2554

อย่างไรก็ตาม พเยาว์ยืนยันแม้จะมีนโยบายสร้างการเติบโตแตกแขนงเป็น 2 สาย แต่ปัจจุบันธุรกิจสัมปทานก่อสร้างและบริหารทางด่วน ก็จะยังเป็นธุรกิจที่มีบทบาททำรายได้หลักมากถึง 90% ส่วนบริษัทย่อยเป็นแค่รายได้ตัวเสริมที่จะเข้ามา

"พวกนี้อย่างต่ำก็ต้องอีก 5 ปี ถึงจะเห็นหน้าเห็นหลัง" กรรมการผู้จัดการ BECL กล่าว

-----------------------------------------------


วิธีปราบ "ม้าพยศ" หนี้ และ ดอกเบี้ยจ่าย

-------------------------------

งานประชุมสามัญผู้ถือหุ้น BECL เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา น่าจะถือเป็นเวทีเปิดตัว "พเยาว์ มริตตนะพร" กรรมการผู้จัดการคนใหม่ของ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) วัย 50 ปี

ภายหลังเจ้าตัวซึ่งเป็นลูกหม้อบริษัทมากว่าสิบปี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง "แม่ทัพใหญ่" แทน "สุวิช พึ่งเจริญ" ที่เกษียณอายุ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 ที่ผ่านมา

พเยาว์ตอบคำถามถึงวิชั่นผู้บริหารใหม่ว่า "ที่นี่เราทำงานกันเป็นทีมมากกว่า และยึดเรื่องบริการเป็นหลัก"

ทางโตของ BECL แน่นอนว่าจะยังปักหลักผูกขาดอยู่ในธุรกิจสัมปทาน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อย ในยามที่เศรษฐกิจผันผวน

จากประสบการณ์ของพเยาว์ ธุรกิจสัมปทานบริหารยาก และปราบเซียนที่สุด ก็ตอนเริ่มต้นโครงการนี่แหละ!

"เพราะตอนต้นคุณต้องลงเงินไปก่อน โดยที่ไม่มีรายได้ ดังนั้น ช่วงต้นๆ คุณต้องคุมระยะเวลาก่อสร้าง โปรเจค แมเนจเมนท์คุณต้องดู และต้องคุมต้นทุนให้ได้ วิธีหนึ่งก็คือ Lump sum Turnkey เมื่อนั้นเราจะคุมต้นทุนได้"

ปีนี้ แม่ทัพหญิง BECL ตั้งเป้าไว้ว่า รายได้จากค่าผ่านทางด่วนจะเติบโตขึ้นเป็น 4% จาก 3.41% ในปีที่แล้ว ภายหลังสามารถรับรู้รายได้จากการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิแบบเต็มปี ทั้งนี้ ยอดปริมาณรถยนต์ผู้ใช้ทางด่วนโดยรวมในปีนี้ น่าจะขยับขึ้นเป็น 9.3 แสนคัน จาก 8.9 แสนคันในปีที่แล้ว ขณะที่การย้ายจากสุวรรณภูมิกลับไปใช้สนามบินดอนเมืองบางส่วน ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยยอดรถยนต์ลดลงไปประมาณ 3,000 คัน

"ภาระหนักของเรา ก็คือเรื่องดอกเบี้ยจ่าย แต่เราได้ป้องกันโดยฟิกซ์อัตราดอกเบี้ยไว้คงที่ ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงที่ฟิกซ์ไว้ 5% สองปี ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจจะไม่มีผลกระทบกับ BECL ถือว่าโชคดีที่เราควบคุมค่าใช้จ่ายไว้ได้ คุมยอดผ่านทางไว้ได้ จึงไม่น่าห่วง คิดว่าปัจจัยความเสี่ยงทุกตัวที่ควบคุมได้ เราปิดความเสี่ยงเอาไว้ได้หมดแล้ว"

ทั้งนี้ หลังจากพ้นช่วงตรึงอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ไว้ 2 ปี หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นอัตราลอยตัวที่ MLR-2% โดยพเยาว์ให้สัมภาษณ์ว่า แผนขณะนี้มีอยู่ 2 ทางเลือก คือ ออกตราสารหนี้ในรูปหุ้นกู้ ซึ่งเคยได้รับไฟเขียวอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อนหน้านี้ ให้สามารถออกหุ้นกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท

"ตอนนี้เรามีหนี้ 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการออกหุ้นกู้ คงเป็นทยอยออกเป็นระยะสั้น กลาง ยาว อาจจะเป็นหลักพันล้านบาท แล้วแต่เงื่อนไขและสภาพตลาดจะรับได้แค่ไหน การออกหุ้นกู้มาชำระหนี้ ตัวดอกเบี้ยอาจไม่ได้ดีกว่าสักเท่าไหร่ ในเชิงบริหารความเสี่ยง ถ้าสามารถฟิกซ์อัตราดอกเบี้ยไว้ 5-5.5% เอาไว้ได้ ดอกเบี้ยจ่ายเราจะอยู่ที่ปีละประมาณ 1,400 ล้านบาท"

ขณะที่แนวทางเลือกที่สอง คือ เจรจากับเจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์เดิม อาทิเช่น ธนาคารกรุงไทย, กรุงเทพ, ไทยพาณิชย์, ทหารไทย และนครหลวงไทย เพื่อขอปรับโครงสร้างการเงิน จากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมาเป็นอัตราคงที่ จากจำนวนหนี้ทั้งหมดประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งกำหนดต้องชำระหนี้ให้หมดภายในปี 2559 โดยจะนำผลการเจรจากับเจ้าหนี้เสนอต่อที่ประชุมบอร์ดในเดือนพฤษภาคมนี้




Create Date : 12 กรกฎาคม 2550
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 20:15:23 น. 0 comments
Counter : 1534 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com