แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
การสอบทานภาษี : และหมายเหตุ (ภาษี) ประกอบงบการเงิน (2)

การสอบทานภาษี : และหมายเหตุ (ภาษี) ประกอบงบการเงิน (2)

อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์ amornsak@tax-thai.com
การหมายเหตุ (ภาษี) (Tax Notes from Tax Consultant) เป็นเพลงดาบที่ผู้เขียนเพิ่งคิดค้นขึ้นมา เพื่อสนองตอบต่อบริษัทที่มีธรรมาภิบาลสูง (Good governance) ซึ่งคงไม่ต้องการเสียภาษีผิดพลาดใดๆ ให้เกิดเป็นคดีความกับกรมสรรพากร ซึ่งเป็นเรื่อง ‘Sad Movie’ ที่ใครๆ ก็รู้ดี!



ดังตัวอย่าง กรณีศึกษาของการซื้อขายหุ้น Shin Corp ซึ่งส่งผลกระทบกว้างไกลอย่างสุดคาดคำนวณ เพระแม้เพียงเพิ่งเริ่มปฐมบทของการตรวจสอบภาษี ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การรัฐประหาร การรื้อสัญญาสัมปทานมาทบทวน รวมถึงการไล่ออก 5 ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมสรรพากร (ซึ่งไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของกรมสรรพากรมาก่อนในรอบ 100 ปี) ฯลฯ (ขณะนี้ผู้เขียนกำลังเขียน “กรณีศึกษา : คดีภาษีการซื้อขายหุ้น ‘ชินคอร์ป - Temasak’ อภิมหาดีลแห่งประวัติศาสตร์ประเทศไทย”…ใกล้เสร็จแล้วจ้า!)

ข้อเขียนในวันนี้จะเริ่ม kick off ปฐมบทแห่งกรณีศึกษาในลักษณะ “หมายเหตุ (ภาษี) ประกอบงบการเงิน - บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน)” ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของตลาดหลักทรัพย์ (SET) ซึ่งมีแง่มุมทางภาษีที่น่าสนใจศึกษามากมายเชียวครับ!…

1. หมายเหตุ (ภาษี) ประกอบงบการเงิน - บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน)

พิจารณาจากงบการเงินรวมปี 2548 และ 2547 ของบริษัท และบริษัทย่อยของบริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) (SUC) มีแง่มุมทางภาษีอากรที่น่าศึกษาดังนี้ครับ

1.1 ข้อมูลทั่วไป (back ground) .

บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) (ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “บริษัทฯ”) จัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทย และได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2537 บริษัทฯ ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมีธุรกิจหลักคือการลงทุนและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทในกลุ่มประเภทสิ่งทอ รองเท้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ยางและโลหะ บริษัทฯ มีที่อยู่จดทะเบียนตั้งอยู่เลขที่ 1828 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ

1.2 หมายเหตุภาษี - ประกอบงบการเงิน .

Decision Making for tax come from the leader!

สำหรับงบกำไรขาดทุนของ SUC ปี 2547-2548 เฉพาะในส่วนที่สำคัญ เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นภาพคร่าวๆ เป็นดังนี้ครับ

(กราฟฟิคงบกำไรขาดทุน)

2548 (ล้านบาท) 2547 (ล้านบาท)

รายได้จากการขาย 17,377 16,791

รายได้อื่น 1,211 842

ต้นทุนขาย 15,372 14,989

ค่าใช้จ่ายและบริหาร 1,955 1,768

ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ 13 156

ดอกเบี้ยจ่าย 109 66

ภาษีเงินได้นิติบุคคล 256 266

กำไรสุทธิ 856 425

แง่มุมภาษีอากรของ SUC สามารถสรุปเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงใช้ประกอบการวางแผนภาษี/ กลยุทธ์ภาษี/หรือแก้ปัญหาภาษี พอสังเขปได้ดังนี้

(1) ช่องทางประหยัดภาษีในภาพรวม

๐ การแตกหน่วยภาษี (บริษัทแม่และบริษัทลูก) ถึง 39 บริษัท โดยตั้งฐานผลิตในต่างประเทศ 11 บริษัท (ในจีน ฮ่องกง และอเมริกา) นั้น จะมีข้อเสีย คือไม่อาจนำขาดทุนสุทธิ 248 ล้านบาท และ 507 ล้านบาท ในปี 2548 และ 2547 มาลดยอดกำไรสุทธิของบริษัทแม่ และบริษัทในเครือ ทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นยังแบก operation costs ที่สูงกว่าการมีบริษัทในเครือน้อยๆ

๐ บริษัทในเครือในต่างประเทศ 11 แห่งนั้น ตั้งอยู่ในจีนถึง 7 แห่ง (ฮ่องกง 3 แห่ง และอเมริกา 1 แห่ง) สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (tax inventives) ได้หลายทาง อาทิเช่น การจดทะเบียนจัดตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เช่น ที่เซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้น ฯลฯ ก็จะได้ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่า 33% (อัตราปกติ) ยิ่งถ้าเป็นโครงการที่รัฐบาลจีนสนับสนุน ก็อาจได้ลดอัตราภาษีเงินได้เหลือเพียง 15% (หรืออาจยกเว้นทั้งจำนวนถึง 5 ปี)

นอกจากนั้น อาจใช้สิทธิประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อน ซึ่งขณะนี้ได้ทำกับทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวแล้ว เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ค่าสิทธิ (Royalty fee) เหลือ 5%, 10% เป็นต้น สำหรับประเด็นเงินปันผลซึ่งได้รับจากบริษัทในเครือในต่างประเทศนั้น นอกจากจะได้รับการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 10% แล้ว ยังอาจได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยทั้งจำนวนอีกด้วย หากเข้าเงื่อนไขตามนัยแห่ง พ.ร.ฎ.#442

๐ ผลจากสนธิสัญญา FTA ไทย-จีน, Asian-จีน และไทย-อเมริกา (ในอนาคต) จะทำให้ได้สิทธิปรับลดอากรขาเข้า สำหรับสินค้าซึ่งมีแหล่งกำเนิดสินค้า (ตาม rule of origin) ในประเทศคู่สัญญา ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนภาษีลงมาได้ ซึ่งหากรู้จักปรับ structure การผลิต/การค้า/หรือการลงทุน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของภาระภาษีของแหล่งผลิต/ประเทศที่เป็นผู้จัดจำหน่าย/และประเทศลูกค้า ฯลฯ ได้อย่างเหมาะสม ก็จะยิ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น

(2) การได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) .

แม้การได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย เช่น การยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักรกึ่งหนึ่ง ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี (ไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุน) เป็นต้น แต่ในกรณีของธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ จะต้องระมัดระวังว่าการได้ BOI (ลด/ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล) นั้น ผิดกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) เพราะถือเป็นการ subsidy โดยรัฐบาล ซึ่งจะเป็นผลให้ประเทศคู่ค้าไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ MFN (Most Favored Nations) รวมถึงอาจถูกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) ได้ด้วย

(3) รายการค้าระหว่างวิสาหกิจในเครือเดียวกัน (related parties transactions) ไม่ว่าจะเป็นกรณีการซื้อขายสินค้า (ใช้วิธีตั้งราคาโดยราคาทุนบวกกำไรส่วนเพิ่ม) การให้กู้ยืม (อิงตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์) เป็นต้น นั้น

ตามแนวการตรวจสอบภาษี (Tax Audit Guidelines) มักเพ่งเล็งเป็นพิเศษในกรณีของธุรกรรมระหว่างกันของวิสาหกิจในเครือเดียวกัน เพราะเป็นช่องทางหนึ่งของการตั้งราคาโอน (transfer pricing) ทำให้ related parties transactions ทุกกรณีทุกรายการมักถูกจัดเป็นประเด็นภาษี (tax issues)

สำหรับกรณีของราคา (pricing) ระหว่างกันนั้น แนวปฏิบัติ (Revenue Ruling) ได้ยึดหลักเกณฑ์ของราคาตลาด (market price) ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4), 88/2 (3) (4) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเกณฑ์ ดังนั้น รายการค้าใดที่มิใช่ราคาตลาด จึงมักเกิดกรณีโต้แย้งกับเจ้าพนักงานฯ อยู่เสมอๆ

(4) การค้ำประกันแก่กิจการที่เกี่ยวข้องกัน (

กรณีที่บริษัทฯ ได้เข้าค้ำประกันวงเงินสินเชื่อแก่บริษัทย่อยในประเทศและต่างประเทศนั้น หากไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมหรือผลตอบแทน หรือคิดค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด กรณีอาจเกิดข้อโต้แย้งกับเจ้าพนักงานตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีดังกล่าวจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3.3% ของรายรับ ตามนัยมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร (การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์) (เทียบเคียงกับหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากร เลขที่ กค 0706(กม)/2498 ลว.4 ส.ค.2546 และ กค 0706/12555 ลว.16 ธ.ค.2546 ตามลำดับ)

(5) เจ้าหนี้ตามสัญญาเช่าทางการเงิน (

สัญญาเช่าทางการเงิน (Financial Lease) ตามมาตรฐานทางบัญชี จะถือว่าผู้ซื้อขายตกลงที่จะมุ่งโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้า กรณีจึงให้ผู้ซื้อ (lessee) เป็นผู้บันทึกซื้อสินทรัพย์และตัดค่าเสื่อมราคาได้ แต่ในแง่กฎหมายภาษีอากรนั้น วินิจฉัยให้การทำสัญญาแบบ financial lease เป็นการเช่าทรัพย์ (ตามมาตรา 537 แห่ง ปพพ.) เช่นเดียวกับสัญญาเช่าดำเนินงาน (operating lease) ดังนั้น กรณีจึงยังถือว่าสินทรัพย์ยังคงอยู่ในกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า (lessor) และ lessor เป็นผู้ตัดค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์

(6) รายได้ (GAAP) ซึ่งไม่ถือเป็นรายได้ตามประมวลรัษฎากร (

จากงบการเงินของบริษัทฯ จะมีรายได้บางลักษณะซึ่งไม่ถือเป็นรายได้ตามนัยมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร อาทิเช่น

๐ เงินปันผลรับ อาจได้รับการยกเว้นหรือนำมารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงกึ่งหนึ่งตามนัยมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

๐ ค่าความนิยมรอตัดบัญชี มิใช่รายได้จากกิจการและเนื่องจากกิจการตามนัยมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

๐ ส่วนแบ่งกำไรตามวิธีส่วนได้เสีย โดยประมวลรัษฎากร จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิแต่ละบริษัทแยกต่างหากจากกันในลักษณะ separate entity

(7) รายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร (

มีรายจ่ายทางบัญชีหลายรายการ ซึ่งถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามนัยมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร อาทิเช่น

๐ เงินสำรองต่างๆ เช่น สำรองจากการด้อยค่าของสินทรัพย์/เงินลงทุนในบริษัทอื่น สำรองเผื่อชดเชยและเงินบำเหน็จพนักงาน ส่วนแบ่งขาดทุนตามวิธีส่วนได้เสีย การประมาณทางบัญชี เป็นต้น เพราะเป็นรายจ่ายที่ยังไม่เกิดขึ้นและยังมิได้มีการจ่ายจริง (ม.65 ตรี (1))

๐ หนี้สูญ (ม.65 ทวิ (9) และกฎกระทรวง #186) วางหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขไว้เข้มข้นจนยากที่จะมีบริษัทใดเข้าตามหลักเกณฑ์ได้

๐ ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (ม.65 ตรี (9)) เป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง

(ท่านผู้อ่านที่สนใจการวิเคราะห์ที่ละเอียดลึก โปรดติดตามได้จากนิตยสาร Tax & Business Review)



Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2550 16:19:36 น. 0 comments
Counter : 824 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com