Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
12 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
การตัดไม้ในลาวเพื่อ ‘ขจัดความยากจน’ ?



ไอเซล มาซาร์ด

สิงหาคม 2550





ต้นปี 2550 สมาชิกระดับสูงในคณะกรรมการกลาง (โปลิตบูโร) ของพรรคคอมมิวนิสต์ลาวกล่าวกับสื่อมวลชนว่า พวกเขาอยากเห็นการตัดไม้ในเขตอนุรักษ์ของลาวหมดไปโดยสิ้นเชิง นี่เป็นการเรียกร้องอย่างนุ่มๆ ให้มีการเปลี่ยนนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสนับสนุนการตัดไม้ การทำการเกษตรและการปลูกป่าเชิงอุตสาหกรรมใน “เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ” ของลาว



ทว่าเหตุผลเบื้องหลังข้อกังวลนี้ (ที่มีการแถลงข่าวอย่างต่อเนื่องและรายงานโดยสื่อของรัฐบาลเอง) ไม่ใช่เรื่องการอนุรักษ์เสียทีเดียว ดูเหมือนว่าการตัดไม้ในเขตอนุรักษ์ภู Khao Kuay นี้จะหนักหนามากเสียจนทำให้ระบบการไหลเวียนของน้ำในบริเวณนั้นลดน้อยลงไป ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนผลิตไฟฟ้าสามแห่งภายในอุทยานลดต่ำกว่าการคาดการณ์



ระดับน้ำที่ลดต่ำลงนี้ทำให้การผลิตไฟฟ้าลดลงไปด้วย ไม่เพียงแต่กำไรหดหายไปเท่านั้น แต่ยังทำให้การชำระหนี้ที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนต้องฝืดเคืองไปด้วย ดังนั้น ในประเทศที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพาการส่งออกไม้มาตลอดตั้งแต่หลังสงคราม การเรียกร้องให้มีการอนุรักษ์ป่าไม้จึงมาจากภายในรัฐบาล ด้วยเหตุผลของการผลิตไฟฟ้าและภาวะการเงินของรัฐ



ความย้อนแย้งน่าขันนี้ไม่ใช่เรื่องจงใจ ไม่ว่าต้นไม้จะยืนหรือล้มไป คุณค่าของพวกมันก็ยังคงวัดเป็นดอลลาร์



ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ ข้อเสนออีกอันหนึ่งที่ให้รักษาป่าไม้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การนึกถึงคนอื่นก็ได้รับการตีพิมพ์ใน Juth Pakai วารสารภาษาอังกฤษของสหประชาชาติ เป็นบทความชื่อ “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ทางเลือกสำหรับการปลูกยางพาราบนพื้นที่สูงในเขตอนุรักษ์ Nam Ha, หลวงน้ำทา”( Juth Pakai, Issue 8, April 2007) สตีเวน ชิพานี ชี้ว่า จนถึงปี 2548 รัฐบาลลาวได้อนุมัติการตัดไม้เป็นพื้นที่ถึง 4,580 เฮคตาร์ภายในเขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเพียงแห่งเดียวเพื่อที่จะทำการปลูกยางพารา ผลลัพธ์เห็นได้ชัดว่าเป็นที่พอใจของรัฐบาล จึงมีการอนุมัติให้ตัดไม้เพิ่มอีก 3,000 เฮคตาร์ในปี 2549



ชิพานีรวมตัวเลขรายได้จากต้นยาง เปรียบเทียบกับรายได้ปัจจุบันและที่คาดการณ์ว่าจะได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แล้วตั้งคำถามที่เห็นได้ชัด เขาบอกว่า เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ได้รับความนิยมและทำเงินแห่งหนึ่งในเมืองสิงต้องปิดตัวลงหลังจากป่าไม้ถูกตัด เผา แล้วแทนที่ด้วยกล้ายาง โดยทั้งหมดเป็นพื้นที่ภายในเขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เขารายงานว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อื่นๆ ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อหาพื้นที่ป่าบริสุทธิ์ โดยที่การปลูกยางและการทำการเกษตรแผ่ขยายไปเรื่อยๆ ผมได้ยินคำบอกเล่าในเรื่องนี้จากบริษัท “เดินป่า” ด้วยเช่นกัน



ชิพานีบอกกล่าวอย่างนิ่มนวลที่สุดว่า การปลูกยางนั้นขัดกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 164 ปี 2536 ที่กำหนดความเป็นเขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ แน่นอนว่า ไม่ได้หมายความว่าการปลูกยางเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ก็เหมือนกับในประเทศอื่นๆ นั่นล่ะ คือ รัฐบาลจะทำอะไรก็ล้วนถูกกฎหมายเสมอ



ข้ออ้างในเชิงเศรษฐศาสตร์ล้วนแล้วแต่ฟังไม่ขึ้นทั้งนั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่เห็นต่างอาจจะพูดถูกที่ว่า ในระยะยาวแล้วเขื่อนผลิตไฟฟ้าจะสร้างรายได้มากกว่าการตัดไม้ และชิพานีอาจจะพูดถูกว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์จะสร้างรายได้มากกว่ายางพาราเกรดต่ำ



อย่างไรก็ตาม ที่แน่ชัดก็คือตัดไม้วันนี้ จะมีคนได้เงินวันพรุ่งนี้ ผลประโยชน์ระยะสั้นของคนเหล่านี้จากการตัดสินใจที่ “ผิดพลาด” ตัดข้อพิจารณาอื่นๆ ไปเสียทั้งหมด



มาตรฐานการปฏิบัติที่บุกเบิกโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ก็คือ การสร้างถนนที่จะเชื่อมต่อลาวให้เป็น “ระเบียงทางเศรษฐกิจ” สำหรับจีนนั้นบรรลุได้โดยการมอบสิทธิในการทำไม้ให้แก่บริษัทก่อสร้าง ถนนไปถึงไหน ต้นไม้ก็เรียบตรงนั้น



ในระยะปัจจุบันนี้ ป่าถูกเผาทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายเดือนก่อนฤดูมรสุมของปี 2550 ยิ่งมีการเร่งเผาทำลายป่าอย่างมโหฬารในภาคเหนือของลาวและไทย เพื่อ “จัดการให้เสร็จ” ก่อนซุงจะเปียก ผมเองได้เห็นต้นไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกินหนึ่งเมตร สูงกว่าห้าเมตรจำนวนมาก ที่ถูกเผาทิ้ง เนื่องจากต้องเร่งรีบเคลียร์พื้นที่จนไม่ทันได้ชักลากออกมาขาย



การสูญเปล่าอย่างนี้อยู่พ้นตรรกะของทุนนิยม มันเป็นผลจากการผลักดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแต่ละปีเพื่อนำไปสู่ “เป้าหมายการพัฒนา” ของสหประชาชาติที่ตั้งไว้สำหรับปี 2663 (2020) สื่อของรัฐก็ย้ำเตือนตลอดเวลาว่า การ “เคลียร์พื้นที่” นี้ (บางทีก็มีการย้ายชุมชนออกไปด้วย) เป็นส่วนหนึ่งของแผนระดับชาติที่จะ “ขจัดความยากจน” ที่พัฒนาขึ้นมาโดยบรรดาที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายของสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดและระดับชาติปักเครื่องหมายบนพื้นที่ป่าว่าเป็นพื้นที่ที่ “ไม่มีการใช้ประโยชน์” และมีการเก็บภาษีพิเศษรายปีสำหรับเจ้าของที่ดินที่ปล่อยให้ผืนดิน “ไม่มีการใช้ประโยชน์” ถ้าปล่อยให้ถูกปรับไปต่อเนื่องหลายปี รัฐบาลก็จะยึดที่ดินนั้น การถือครองที่ดินของเอกชนค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ในแถบนี้ โดยรัฐมีโครงการหลากหลายในการทำที่ดินให้เป็นสินค้า ตามโครงการ “ออกโฉนด(land titling)”ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกและออสเตรเลีย หลังจากการปฏิวัติเป็นต้นมา ไม่มีการถือครองที่ดินโดยเอกชนในชนบทของลาว ดังนั้นแรงผลักดันจากภายนอกทำให้ป่าบริสุทธิ์กลายเป็นทุนทรัพย์สำหรับชาวบ้าน ทุกคนพากันรีบเร่งที่จะทำลายแหล่งอาหาร ไม้ฟืนและสัตว์ป่าที่ตนต้องพึ่งพา



แน่นอน ไม้ “มีราคา” ถูกนำออกไปแล้ว ก่อนที่จะมีการเผา แต่สิ่งที่ผมได้เห็น ขณะปั่นจักรยานท่องไปบริเวณทางเหนือสุดคือ ภูเขาไหม้เกรียมดำเป็นลูกๆ บางทีก็ยังเหลือไม้สูงยี่สิบเมตรยืนตายอยู่ต้นสองต้น



ควันจากการเผาป่ามีความหนาทึบเสียจนต้องมีการยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดระหว่างเวียงจันทน์และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของลาว (ห้วยไซ) เป็นเวลาประมาณสองเดือน และกระทั่งเที่ยวบินมาหลวงพระบางของเหล่านักท่องเที่ยวก็ยังต้องรวนเรไปด้วย บางกอกโพสต์รายงานว่าสนามบินบางแห่งในภาคเหนือของไทยที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงต้องใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำขึ้นไปในอากาศเพื่อล้างควัน



ในจังหวัด Xaiñabouli and Bokeo ที่อยู่ทางภาคเหนือได้มีการปลูกข้าวโพดพันธุ์อเมริกันมาเป็นเวลาแค่สี่ปี แต่มันก็ได้กลายเป็นผลผลิตอันดับหนึ่งและสินค้าส่งออก(ที่ถูกกฎหมาย)ของพื้นที่แถบนี้ไปแล้ว เนื่องจากไม้ซุงมีปริมาณลดลง สองจังหวัดนี้เป็นถิ่นฐานของช้างป่าทุกขนาดที่อาจจะยังเหลือเป็นที่สุดท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างจังหวัดน่านของไทยไปจนถึงแถบชายแดนตะวันออกของรัฐฉานในพม่า สิ่งเดียวที่เคยปกป้องคุ้มครองพวกมันก็คือการไม่สามารถเข้าถึงและความยากจนของพื้นที่แถบนั้นนั่นเอง



นักนิเวศวิทยา (และนักประกอบการ) ชาวฝรั่งเศสสองคนได้จัดการแสดงช้างและแห่ช้างในเมืองหงสาเมื่อต้นปี 2550 เพื่อเรียกร้องให้มีการตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปกป้องแหล่งอาศัยของพวกมัน หงสาเป็นเมืองที่อยู่ใจกลางแหล่งช้างที่กระจายอยู่รายรอบ มีช้างเลี้ยงที่เคยชักลากไม้แต่ตอนนี้ไม่มีงานทำอยู่จำนวนหนึ่ง



งาน “คาราวานช้าง” นั้นประสบความสำเร็จ แต่ทฤษฎีที่ว่านักท่องเที่ยวจะช่วยรักษาช้างได้นั้นพิสูจน์ให้เห็นอย่างรวดเร็วว่าไม่เป็นจริง รัฐบาลลาวเริ่มป่าวประกาศแทบจะพร้อมๆ กันกับงานนั้นว่า จะต้องมีการโยกย้ายอพยพชาวนาจำนวนมากออกจากเมืองหงสา เนื่องจากจะต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเอกชน คำประกาศเน้นย้ำว่าผู้ลงทุนมีข้อตกลงที่จะสร้างถนนและวางระบบน้ำใหม่ให้กับเมือง (ที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว และ แน่นอน เพื่อ “ขจัดความยากจน”) เพื่อแลกกับสัมปทานการใช้ที่ดิน การพัฒนาอย่างหลังนี้จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของช้างมากกว่าเสียยิ่งกว่าควันไฟในอากาศ โรงไฟฟ้าจะเผาถ่านหินลิกไนต์คุณภาพต่ำ นำเข้าข้ามชายแดนจากไทย มันเป็นเชื้อเพลิงสกปรกเสียจนกระทั่งข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมอันน่าขันของไทยยังห้ามไม่ให้ใช้ในประเทศ



ตัวอย่างของ “การพัฒนา” เห็นได้ในภาคอีสานของไทย คนส่วนใหญ่ในภาคอีสานของไทยมีเชื้อสายลาว ภาษาที่ใช้พูดกันคือลาว แม้ว่าจะได้เรียนอ่านเขียนไทย ข้อแตกต่างสำคัญก็คือ อีสานเป็นที่ที่อเมริกันสร้างสนามบินเพื่อขนระเบิด และลาวก็คือที่ที่นักบินหย่อนระเบิดลงไป ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างย่อยยับกว่า 35 ปีมาแล้ว และส่งผลให้เกิดความแตกต่างทางเศรษฐกิจมาจนถึงทุกวันนี้



นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมคนหนึ่งบอกผมว่า ตอนนี้ภาคอีสานมีพื้นที่ป่า “ไม่ถึง 2%” จากประสบการณ์ตรงของผมเอง ก็ยืนยันได้ว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นและคาดว่าลาวในอนาคตก็จะเหลือเท่านี้ด้วย อันที่จริง โครงการของรัฐบาลลาวนั้นเป็นการทำลายป่าหมดทั้ง 100% แต่สื่อของรัฐบาลบอกว่ารัฐบาลกำลังเพิ่มพื้นที่ป่า ลูกเล่นก็แค่ว่านิยามให้ “ป่า” เท่ากับ “ต้นไม้อะไรก็ได้” ผมว่าคงไม่ต้องนอกเรื่องไปถึงว่าการปลูกต้นไม้(ที่ไม่ใช่พื้นเมือง)อย่างยางและมะละกอนั้นไม่ได้เท่ากับเป็นการปลูกป่า ที่แน่ๆ ไม่ใช่สำหรับช้าง



เมื่อมองเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับอีสานในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันในลาวแสดงให้เห็นว่า การจำแนก “คอมมิวนิสต์” กับ “ทุนนิยม” นั้นไม่เป็นประเด็นแล้วในยุควิกฤตทางนิเวศยุคนี้ ผมเคยเห็นคนแต่งชุดประจำเผ่าแบกยาฆ่าแมลงบนหลัง เดินตีนเปล่าเข้าไปยังทุ่งนา เพื่อฉีดสารพิษเหล่านั้นลงบนพืชที่พวกเขาปลูกเป็นครั้งแรก การเพาะปลูกแบบอินทรีย์ที่ดำเนินมานับพันปีจึงจบลง ในเบื้องลึก พวกเขามองไม่เห็นว่ามันเป็นจะเป็นปัญหาอะไร มันเป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลตามความคิดที่ว่า “ไล่ให้ทันประเทศไทย”



ผมคงจะโทษรัฐบาลลาวไม่ได้สำหรับสถานการณ์ที่กำลังเป็นไป มองลงไปตามลำน้ำโขง ผมมองไม่เห็นประโยชน์ของระบอบฉ้อฉลที่สหประชาชาติสถาปนาขึ้นในกัมพูชา หรือทั้งนึกไม่ออกว่าระบอบเผด็จการทหารจำแลงที่ปกครองไทยอยู่ในเวลานี้จะน่าพิสมัยมากกว่า เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอื่นของลาว (จีน พม่า เวียดนาม) แล้ว ก็ยังนับว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่นี่ดีกว่า ถึงเป็นเหตุผลว่าทำไม UNDP จึงกระตือรือร้นที่จะยัดเงินเข้ามานัก คุณงามความดีแบบแปลกๆ ของรัฐบาลลาวสามารถสรุปในสำนวนของสหประชาชาติได้ว่ามี “ศักยภาพสูง” ที่จะ “ดูดซับความช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิผล” แปลได้ว่า ถ้าคุณให้เงินแก่พวกเขา มันก็จะไม่หายไปดื้อๆ หรอก



แนวการพัฒนาในปัจจุบันนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและวางแผนภายใต้ความอุปถัมภ์ของ UNDP และองค์กรทั้งหลายของสหประชาชาติ ด้วยคาถา “ขจัดความยากจน” จริงๆ แล้ว พวกเขากำลังขจัดทรัพยากรธรรมชาติต่างหาก



อิทธิพลของสหประชาชาติที่นี่ทั้งกว้างขวางและลึกซึ้ง ผมถามเจ้าหน้าที่ลาวแทบทุกคนที่เจอว่าพวกเขาเชื่อว่าการปลูกอ้อยได้ขจัดความยากจนที่ไหนมาบ้างแล้วหรือยัง



ผมพูดถึงอะไร? ก็ ที่เฮติ ที่นั่นมีประสบการณ์ปลูกอ้อยมา 300 ปีแล้ว ทั้งรัฐบาลและองค์กรพัฒนาต่างๆ พากันสนับสนุนการปลูกอ้อยเพื่อ “ขจัดความยากจน” ในลาว แต่ความยากจนที่นั่นถูกขจัดไปหรือเปล่า หรือที่ไหน? คงยากที่จะพูดให้เกินจริงเรื่องความแปลกแยกหลุดโลกของแนวคิดนี้ที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลของที่นี่ พวกเขาไม่มีการประเมินเปรียบเทียบหรือพิจารณาเชิงประวัติศาสตร์เลยในเรื่อง “การพัฒนา” อย่าว่าอย่างนั้นเลย เอกสารสหประชาชาติก็ไม่มีพูดถึงเรื่องแบบนี้เลยเท่าที่ผมเห็นสำหรับประเทศลาว แค่ทึกทักเอาดื้อๆ เลยว่ายาง, อ้อย, กาแฟ ฯลฯ จะขจัดความยากจนได้ เพราะสหประชาชาติบอกอย่างนั้น ในบรรดาประเทศรายการยาวเหยียดที่ปลูกพืชเหล่านี้แล้ว ซึ่งโดยมากมักจะมีสาเหตุจากการเป็นอาณานิคม ความยากจนไม่ได้ถูกขจัด แต่โดยมากสร้างสภาพคล้ายทาสให้เป็นไปอย่างยั่งยืนเสียมากกว่า ประวัติศาสตร์ดังกล่าวไม่เป็นที่รู้จักหรือไม่ก็เห็นว่าไม่เป็นประเด็น การดำเนินการในปัจจุบันถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะว่าเป็นการดำเนินการภายใต้มนุษยธรรมของสหประชาชาติ ไม่ใช่ลัทธิล่าอาณานิคม



ธงวิเศษสีน้ำเงิน(ของสหประชาชาติ)นั้นจะป้องกันไม่ให้การปลูกยางและอ้อยย้อนกลับไปสู่ความไม่เท่าเทียม(ระหว่างเจ้าของที่ดินและคนที่ทำงานในไร่) ดังที่เคยเกิดตั้งแต่ศตวรรษที่ 17ได้หรือไม่?



บางทีข้อวิจารณ์ต่อ UNDP ที่ผ่านตาผู้คนมากที่สุดในลาวมาจากลูกจ้างคนหนึ่งของพวกเขาเองในปี 2540 และสร้างความฮือฮาขึ้นมาระยะสั้นๆ ในเวียงจันทน์



บทความ "The Laos Logos" ของเบอร์ลินสกีในเนชันแนลรีวิว เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและข้อสังเกตส่วนตัวเกี่ยวกับความตอแหลทั้งใหญ่และเล็ก แต่ผมไม่เห็นด้วยกับทิศทางของบทความโดยพื้นฐาน ประเด็นหลักของเธอดูเหมือนจะเป็นว่า องค์กรต่างๆ ของสหประชาชาติไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่น่าชื่นชมได้ เบอร์ลินสกียกสถิติทางสังคมต่างๆ มากมายขึ้นมาแสดง ซึ่งดูน่ากลัวหากยกออกมานอกบริบท เปรียบเทียบกับความสมบูรณ์พูนสุขของลูกจ้างสหประชาชาติเองในท่ามกลางความข้นแค้น อันที่จริง การยกระดับในสถิติทางสังคมต่างๆ นั้นเป็นการพิสูจน์ถึงการลงทุนของ UNDP จากมุมมองเสรีนิยมอันจำกัดตามแบบฉบับบทบรรณาธิการที่พบได้บ่อยๆ ในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน ในระหว่างปี 2538 ถึง 2548 อายุขัยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 10 ปี และจำนวนบ้านที่มีไฟฟ้าเพิ่มมากกว่าสองเท่าจาก 25% เป็น 57% พร้อมกันกับสัดส่วนประชากร “ในเมือง” เพิ่มจาก 17% เป็น 27.1%



การสำรวจประชากรทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความคุ้มต่อการลงทุนลงแรงของสหประชาชาติ ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในลาว และได้ผลตามอย่างที่ต้องการ กรรมกรในเมืองแทนที่พรานล่าสัตว์และคนหาของป่า การเกษตรยังชีพพื้นเมืองถูกแทนที่โดยวิธีการใหม่ คำถามที่ทั้งเบอร์ลินสกีหรือเดอะการ์เดียนดูเหมือนจะไม่ได้ถามก็คือ เป้าหมายอย่างที่ว่านั้นน่าปลื้มจริงหรือไม่ หรือว่ามันจะกลายเป็นการสร้างชุมชนสลัมขึ้นมาตามฝั่งลำน้ำโขงแทน



ตัวแบบ “การพัฒนาเศรษฐกิจ” ของสหประชาชาตินั้นมองความยากจนเป็นปัญหาสังคมที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการอุตสาหกรรมโดยการลงทุนจากต่างชาติ สมมติฐานนี้จะไม่มีวันได้รับการตั้งคำถามจากรัฐบาลใดๆ เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ของรัฐที่ต้องยืนยันว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นทรัพย์สมบัติของรัฐ นั่นคือ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในอำนาจของพวกเขา ไม่สำคัญว่าจะมีมนุษย์หรือสัตว์ใดๆ ที่อาจขวางทางเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้อยู่ ท่วงทีเสแสร้งมีมนุษยธรรมของนักปฏิวัติต่างๆ ตั้งแต่อัฟริกาใต้จนถึงอินเดีย ต้องพังพาบไปด้วยสาเหตุผลประโยชน์ส่วนตัวง่ายๆ นี้



การ “ขจัดความยากจน” ของ UNDP นี้จริงๆ แล้วเป็นการสร้างความยากจนขึ้นมาใหม่ ตามแบบที่ชาวตะวันตกเคยเป็นมาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม รายงานเกี่ยวกับประเทศลาวของเอดีบีในปี 2544 สรุปตัวเลขสถิติเหล่านี้ด้วยถ้อยความห้วนๆ อย่างน่าประหลาดใจว่า ความมั่งคั่งใหม่ที่เกิดในทศวรรษที่แล้วนั้นตกอยู่กับชนชั้นนำ มากกว่าที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากจน (ที่มีจำนวนมากขึ้น) ซึ่งไม่มีใครประหลาดใจเลย



นี่คือการตัดไม้ทำลายป่าในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้คนที่ไม่เคยได้รู้จักความร่ำรวยหรือความยากจนมาก่อน ตอนนี้ถูกจัดจำแนกเข้าไปอยู่ในระบบการขูดรีดที่ไม่คุ้นเคย ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาเคยพึ่งพาถูกฉกฉวยไปเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับคนอื่น



รายงานปี 2547 ของคริส ลิตเติลตัน(Watermelons, Bars and Trucks…) แสดงกระบวนการนี้อย่างเห็นภาพชัดเจน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เขาเรียกว่า “การทำให้เป็นกรรมาชีพ (proletarianization)” และ "การทำให้เป็นสินค้า (commodification)" ที่กระทำต่อคนพื้นเมือง ป่าไม้สูญไปพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของแรงงานในโรงงานสิ่งทอในเมือง การลงทุนจากต่างชาติหมายความว่าทั้งเสื้อผ้าและกำไรจะต้องถูกส่งไปนอกประเทศ นี่ผมต้องพูดอะไรอีกไหม?



ความยากจนไม่ใช่อุบัติเหตุอัคคีภัยที่สามารถ “ดับได้” อย่างที่สหประชาชาติมักจะบอกเสมอมา ความยากจนเป็นรากฐานของความมั่งคั่งของโลกใบนี้ ทั้งสองสิ่งนี้เป็นปฏิภาคกัน คนรวยสร้างความยากจน ขณะเดียวกันคนจนก็สร้างความร่ำรวย การพัฒนาสร้างความมั่งคั่ง และสร้างความยากจนด้วย ยากที่จะเชื่อได้ว่าแรงงานที่จะทำงานในไร่อ้อยหรือสวนยางของลาวในอนาคตจะ “ไม่ยากจน” เทียบกับสังคมชนเผ่าที่หาเลี้ยงชีพกับผืนป่าที่ยังหลงเหลืออยู่ กระนั้นนี่ก็เป็นพื้นฐานของ “การพัฒนา” และสื่อกระแสหลักก็ดูจะกระตือรือร้นในการสื่อเรื่องนี้อย่างผิดๆ ว่า เป็นเรื่องผิวเผิน เป็นเรื่องการกุศลที่โลกจะต้องให้การสนับสนุน





-----------------------------

แปลจากบทความ 100% Deforestation in Principle and Practice: Lao P.D.R., South-East Asia โดย Eisel Mazard


เกี่ยวกับผู้เขียน



‘ไอเซล มาซาร์ด’ เป็นนักวิชาการภาษาบาลี มีเว็บไซต์ //www.pali.pratyeka.org เขาเคยทำงานในชนบทลาว สอนภาษาอังกฤษให้กับนักพัฒนาการเกษตร ขณะนี้ไม่ได้ทำงานที่ลาวแล้ว จึงสามารถเผยแพร่บทความชิ้นนี้ได้ (เขียนร่วมกับนักศึกษาปริญญาเอกรายหนึ่ง) และกำลังหางานอาสาสมัครที่เกี่ยวกับผู้อพยพ (จากรัฐฉาน) ตามแนวพรมแดนไทย-พม่า หากหาไม่ได้ก็ตั้งใจจะไปทำงานที่กัมพูชา




ที่มา : ประชาไท วันที่ : 12/10/2550




Create Date : 12 ตุลาคม 2550
Last Update : 12 ตุลาคม 2550 11:46:49 น. 2 comments
Counter : 1568 Pageviews.

 


โดย: My life in Japan. วันที่: 12 ตุลาคม 2550 เวลา:12:08:12 น.  

 
ความยากจนเป็นรากฐานของความมั่งคั่งของโลกใบนี้ ทั้งสองสิ่งนี้เป็นปฏิภาคกัน คนรวยสร้างความยากจน ขณะเดียวกันคนจนก็สร้างความร่ำรวย

ขอเสริม ดังนี้....
เวลาเรามองคนรวย เรามองแบบ outside in แต่คนรวยเวลามองตัวเอง จะมองแบบ inside out และมักมองไม่เห็นความรวยของตัวเอง คือไม่ยอมเชื่อว่าตัวเองรวย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างความร่ำรวยต่อไป เพื่อที่จะพยายามเป็นคนรวยให้ได้
เรื่องยุ่งๆ จึงเกิดขึ้น
ความรวย หรือความจน จึงเป็นเพียงความรู้สึก และอยู่ในกฏของไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
บางที มี100 บาทก็อาจรวยได้ ถ้ารู้จักพอ
มีแสนล้านก็อาจจน ถ้ารู้สึกว่ายังจนอยู่


โดย: เนื่อง มาจากเหตุ วันที่: 17 ตุลาคม 2550 เวลา:4:44:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.