bloggang.com mainmenu search

 

 

เว่ย กวงเปียว ผู้เขียน “กำเนิดแพนด้ายักษ์” กำลังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจีนเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่หนังสือได้รับรางวัลหนังสือวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม (ภาพ เอเจนซี)

 

 

ASTVผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซี--แพนด้ายักษ์ ที่เป็น “สมบัติล้ำค่าของชาติจีน” ในปัจจุบัน ทว่า...เคยเป็นอาหารจานโปรดของเหล่ามนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ หรือมนุษย์วานร นี่มิใช่เรื่องลักลอบ เปิบพิสดารตามกระแสปัจจุบัน หากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และแพนด้าที่มีวิวัฒนาการเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาย้อนยุคไปถึง 8 ล้านปี...!
       
       นักวิทยาศาสตร์จีนผู้เชี่ยวชาญฟอสซิลมนุษย์ 2 ท่าน ได้เผยความลับอันน่าเหลือเชื่อนี้ ไว้ใน “กำเนิดแพนด้ายักษ์” ( 《大熊猫的起源》/Origins of Giant Pandas) ที่เพิ่งคว้ารางวัลจากการประกวดหนังสือแนววิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม ครั้งที่ 1 จัดโดยสมาคมนักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน (China Science Writers' Association)

โดยเป็นผลงานเขียนแนววิทยาศาสตร์ร่วมของนักวิทยาศาสตร์ 2 ท่าน คือ เว่ย กวงเปียว ผู้อำนวยการแห่ง สถาบันมานุษยวิทยาดึกดำบรรพ์แห่งพิพิธภัณฑ์ซันซย่าในนครฉงชิ่ง และ หวง วั่งปัว นักวิจัยแห่งสถาบันมานุษยวิทยาดึกดำบรรพ์และสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังยุคดึกดำบรรพ์
       
       หลังจากที่หนังสือ “กำเนิดแพนด้ายักษ์” ได้รับรางวัลฯไม่กี่วัน ในวันอาทิตย์ (14 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวจีนก็ได้ไปสัมภาษณ์ผู้เขียนร่วม เว่ย กวงเปียว เกี่ยวกับสัมพันธภาพของมนุษย์และแพนด้ายักษ์เมื่อ 8 ล้านปีก่อน ที่ไม่มีใครเคยรู้ได้ยินมาก่อน
       
       แพนด้าเคยเป็นอาหารจานโปรด
       เว่ย กวงเปียว กล่าวว่า “มนุษย์และแพนด้ายักษ์มีวิวัฒนาการเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาร่วมกันมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ โดยผู้เชี่ยวชาญได้ศึกษาฟอสซิลกระดูกแพนด้าป่า(Ailuropoda melanoleuca baconi) ที่ขุดค้นพบตามแหล่งที่อยู่อาศัยมนุษย์บรรพกาลในเขตนครฉงชิ่ง อย่างในเมืองของผม คือ เมืองเฟิ่งเจี๋ย หรืออูซาน และที่อื่นๆ
       
       “มนุษย์และแพนด้ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จากยุคแรกเริ่มมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน บางช่วงแพนด้ายักษ์ก็เป็นอาหารโอชะของมนุษย์ และกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยง”
       
       ในช่วง หนึ่งหมื่นปี ถึง หนึ่งล้านปีก่อน ในเขตที่เป็นนครฉงชิ่งปัจจุบัน มีแพนด้าป่ามากมายเพ่นพ่านให้เห็นทั่วไป ซึ่งในยุคนี้เป็นช่วงที่มนุษย์มีพัฒนาการความรู้ระดับสูงแล้ว
       
       “พวกเราพบร่องรอยของแพนด้าในแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์หลายแห่ง และหลายร่องรอยเหล่านี้เป็นซากที่มนุษย์สังหารทิ้งไว้ ในยุคนั้นเป็นยุคขาดแคลนทรัพยากร มนุษย์จะไม่สังหารสัตว์ที่ไม่มีประโยชน์แก่พวกเขา”
       
       แพนด้าตัวเล็กเท่าสุนัขพันธุ์ทิเบต
       จากซากกระดูกแพนด้าที่พบ ส่วนศีรษะเล็กมาก แสดงว่าในยุคสองล้านปีแล้ว แพนด้าป่าไม่ใช่สัตว์ที่มีขนาดใหญ่ยักษ์เช่นในปัจจุบัน ที่เราเรียกแพนด้ายักษ์ แต่มีขนาดเล็ก เท่ากับสุนัขพันธุ์ ทิเบตัน มาสทิฟฟ์ (Tibetan mastiffs)เท่านั้น ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงเรียกแพนด้าในยุคนั้นว่า “แพนด้าพันธุ์ตัวเล็ก” ซึ่งเป็นบรรพบุรุษสายตรงของแพนด้ายักษ์ปัจจุบัน
       
       ขณะนี้ไม่มีร่องรอยแพนด้าตัวเล็กอีกแล้ว แต่ในปัจจุบันลูกแพนด้าแรกเกิด ก็ดูจะเป็นเบาะแสได้รางๆ เว่ย กวงเปียว กล่าว “หลายคนคงไม่ทราบว่า แพนด้ายักษ์เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ออกลูกแรกเกิดขนาดเล็กมาก ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้มีอยู่น้อยมากๆ
       
       “น้ำหนักแพนด้าวัยผู้ใหญ่ ราว 100 กิโลกรัม แต่ในวัยแรกเกิดนั้นมีขนาดเพียงฝ่ามือเท่านั้น มีน้ำหนักระหว่าง 70 กรัม-180 กรัม เทียบกับสัดส่วนของตัวแม่ เท่ากับ 1 ใน 10,000 ถึง ไม่กี่ส่วนใน 1,000 แค่หนูตัวเล็กตัวหนึ่งเท่านั้น”
       
       การค้นพบใหม่...ชี้หลายร้อยปีที่แล้ว ฉงชิ่งอุมดมไปด้วยแพนด้า
       ปัจจุบันไม่มีใครพบแม้เงาแพนด้ายักษ์ตัวเดียวให้เห็นในนครฉงชิ่ง แต่พวกคุณรู้ไหมว่า เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว เขตที่เป็นตั้งเมืองฉงชิ่งนี้ เป็นถิ่นของแพนด้ายักษ์ ตามเขตที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล เต็มไปด้วยแพนด้ายักษ์เป็นฝูง นอกจากนี้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยังได้พบซากกระดูกแพนด้ายักษ์ยุคเมื่อ 6,000 ปีก่อน ในเขตฉงชิ่ง
       
       “ต่อมา การขุดค้นใหม่ๆทำให้เราต้องกลับไปแก้ไขประวัติศาสตร์กันใหม่อีก เมื่อไม่นานมานี้ เราได้พบกระดูกแพนด้ายักษ์ชิ้นใหม่ และกำลังตรวจสอบเพื่อประมาณอายุ และยุคที่พวกมันมีชีวิตอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงหลายร้อยปีก่อนหน้า หากการสันนิษฐานนี้ถูกต้อง ก็สามารถกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาอย่างน้อยหลายร้อยปีก่อน ในเขตนครฉงชิ่งอุดมไปด้วยแพนด้ายักษ์”
       
       แล้วทำไมแพนด้ายักษ์ถึงหายไปจากฉงชิ่ง
       เว่ย กวงเปียว กล่าวว่า น่าจะเป็นเพราะสภาพอากาศ ที่ทำให้แหล่งอาหารของแพนด้ายักษ์ คือ ไผ่ หมดไป ทำให้พวกแพนด้ายักษ์ต้องอยพยพกันไปอยู่ที่อื่น อย่างเช่น ในมณฑลซื่อชวน หรือเสฉวน ที่ใครต่อใครต่างกล่าวว่า เสฉวนเป็นบ้านเกิดของแพนด้ายักษ์ไปแล้ว.

ขณะนี้ แพนด้ายักษ์เป็น "สมบัติล้ำค่าแห่งชาติ" ของจีน เป็นสัตว์ในบัญชีสัตว์ป่าใกล้ญพันธุ์ เหลือราว 1,000 กว่าตัวในป่าเมืองจีน และอีกราว 300 ตัว ตามศูนย์วิจัยเพื่อการอนุรักษ์ทั่วโลก (ภาพ รอยเตอร์)

ขอบคุณ
ผู้จัดการออนไลน์
เอเจนซี่
รอยเตอร์
 
สิริสวัสดิ์ภุมวารค่ะ
Create Date :16 ตุลาคม 2555 Last Update :16 ตุลาคม 2555 7:56:21 น. Counter : 1280 Pageviews. Comments :0