bloggang.com mainmenu search

กระแสทัศน์
มติชนรายวัน 3 ก.ย. 2555
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์







มีหนังสือดีๆ มากองอยู่ตรงหน้าหลายเล่ม เล่มหนึ่งชื่อ "เรื่องเล่าของข้าวของ" เขียนโดย แอนนี่ เลียวนาร์ด แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ เป็นหนังสือเล่มค่อนข้างหนาประมาณห้าร้อยกว่าหน้า เนื้อหาก็เป็นเรื่องที่โลกแบกรับอยู่ทุกวันจนหนักอึ้ง แต่อ่านได้อย่างลื่นไหลไปได้เรื่อยๆ

หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวของ "ข้าวของ" ทั้งหมดที่เราใช้ในชีวิตประจำวันทุกวัน ตั้งแต่น้ำขวด โทรศัพท์มือถือ กางเกงยีนส์ ฯลฯ ผลิตและจำหน่ายอย่างไร และมันไปอยู่ที่ไหนเมื่อเราโยนมันทิ้งไป เป็นการมองปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบจากคนที่มีประสบการณ์ในด้านนี้มากว่า 20 ปี

รวมทั้งการนำเสนอวิธีการแก้ไขที่ต้นทางมาก กว่าการแก้ปลายเหตุ

รายละเอียดคงจะไปหาอ่านกันเอาได้จากหนังสือ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อได้อ่านแล้วอาจจะเกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนวิถีชีวิตกระบวนทัศน์ของคุณไปเลยก็ได้ เพราะส่วนที่ผมกำลังจะหยิบมาให้อ่านป็นส่วนที่

ผู้เขียนเกริ่นนำพาดพิงถึงตัวเลขจีดีพีที่เป็นแนวคิดอันศักดิ์สิทธิ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยึดกันเป็นสรณะสำหรับผู้ปกครองและนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

ที่จริงการวิพากษ์จีดีพีนั้นมามีมานานแสนนานแล้ว ว่ามันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายที่แท้จริงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าไปด้วย ไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายที่ใช้การแก้ไขและเยียวยาผลกระทบที่ตามมา ไม่ได้สะท้อนการกระจายรายได้ที่แท้จริง

ผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากการเติบโต ไม่ได้ถูกนำไปหักออกจากจีดีพี ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จอะไรเลย นอกจากเป็นภาพลวงตาที่นักเศรษฐศาสตร์ นักการเมือง นักการเงิน นักเล่นหุ้น รวมถึงนักธุรกิจเอาไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจของพวกเขา

ทว่า ตัวอย่างที่แอนนี่ไปหยิบมาอีกทีจากหนังสือ Deep Economy ของ บิลแมค กิบเบน เป็นตัวอย่างของจริงในการชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของการใช้

จีดีพีเป็นเครื่องวัด เป็นตัวอย่างที่ผมอ่านแล้วชอบ มันทำให้เราเข้าใจได้อย่างง่ายๆ เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ

หลายปีมาแล้วที่แอฟริกาเผชิญกับปัญหาผักตบชวาซึ่งไม่ใช่พืชท้องถิ่นที่ไปอุดตันทางน้ำ สารเคมีก็ทำอะไรมันไม่ได้ ขอให้นึกถึงปัญหาผักตบชวาในบ้านเราเทียบเคียงเอาก็ได้

จากนั้นใครบางคนก็ค้นพบว่าผักตบชวาตากแห้ง เป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับเพาะเห็ด และเมื่อเห็ดทะลุเส้นใยในผักตบชวาก็เปิดโอกาสให้ไส้เดือนเข้ามา ไส้เดือนกินผักตบชวาจนเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยชั้นดีและตัวมันเองก็กลายเป็นอาหารไก่ แน่นอนว่าไก่ออกไข่ให้คน ส่วนขี้ไก่เป็นเชื้อเพลิงให้บ่อหมัก

ก๊าซชีวภาพผลิตพลังงาน พลังงานที่ได้ไปลดความจำเป็นที่ต้องตัดไม้จากป่าซึ่งเสื่อมโทรมอยู่แล้วมาทำฟืน

แต่เนื่องจากการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การซื้อปุ๋ยลดลง วิธีแก้ปัญหาแบบนี้จึงปรากฏตามเครื่องชี้วัดอย่างจีดีพีว่าเป็น "การเติบโต" ที่ลดลง

"ทั้งๆ ที่หากใครมีตา สมอง และหัวใจ วิธีแก้ปัญหาแบบผักตบชวา-เห็ด-ไส้เดือน-ไก่นี้คือความก้าวหน้าอย่างแท้จริง ทั้งดีต่อสุขภาพและสมเหตุสมผล"

นี่เป็นเพียงส่วนนิดเดียวของตัวอย่างที่รับประกันได้ว่า หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าน่าอ่านจริงๆ




ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
กระแสทัศน์
คุณศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

สิริสวัสดิ์ภุมวารค่ะ
Create Date :04 กันยายน 2555 Last Update :4 กันยายน 2555 11:04:30 น. Counter : 1457 Pageviews. Comments :0