bloggang.com mainmenu search
โดย อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล
ประชาชื่น
มติชน 6 มีนาคม 2556





ทีมงานดรีมเมคเกอร์ ผู้ให้คำปรึกษากับนักเขียน




รูปแบบการออกแบบปกนิยายของ ดรีมเมคเกอร์





ปกนิยายแปลเรื่อง สามชาติสามภพ ป่าท้อสิบหลี่
ในนามสำนักพิมพ์ สุรีย์พร ของ สุรีย์ พฤกษานุศักดิ์





"ไม่ต้องรองานสัปดาห์หนังสือ...ไม่ต้องง้อร้านหนังสือ...ไม่ต้องง้อสำนักพิมพ์...."

นี่เป็นเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นในแวดวงการอ่านการเขียน หลังจากที่อินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีนี้

และเป็นที่มาของทางเลือกใหม่ ให้นักเขียนหันมาพิมพ์หนังสือจำหน่ายเอง แบบไม่ง้อสำนักพิมพ์

พณิตพิชา มีแก่น สาววัย 23 ปี เจ้าของนามปากกา "D.Luv" เล่าให้ฟังว่า มีผลงานกับสำนักพิมพ์มาแล้ว 2 เรื่อง เป็นแนววัยรุ่นใสๆ ถือเป็นครั้งแรกที่พิมพ์หนังสือเองและเปลี่ยนมาเขียนนิยาย "ฟิกวาย" ที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ข้อดีคือ ไม่ต้องรอเวลาผ่านพิจารณาและขั้นตอนต่างๆ ตลอดจนการทำสัญญาที่ยุ่งยาก แค่ให้คนอ่านตัดสินว่าเขาอยากซื้อของหรือไม่เท่านั้น

การพิมพ์หนังสือ ต้องศึกษารายละเอียดรวมถึงค่าใช้จ่ายกับโรงพิมพ์ ก่อนจะประกาศราคาหนังสือบนเว็บไซต์สาธารณะที่ลงเนื้อหาไว้ให้ทดลองอ่าน สุดท้ายก็อยู่ที่คนอ่านจะตัดสินซื้อหรือไม่

ซึ่งผู้อ่านจะต้องโอนเงินค่าหนังสือมาให้ ก่อนจะสั่งพิมพ์ตามจำนวนเล่มที่มีการสั่งจอง ซึ่งเป็นวิธีลดความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ทำให้การทำธุรกิจครั้งนี้ไม่มีขาดทุน

"กำไรที่ได้ก็ประมาณห้าสิบเปอร์เซ็นต์ คือทุนครึ่งหนึ่งกำไรอีกครึ่งหนึ่ง ต้นทุนส่วนใหญ่ก็มาจากการพิมพ์ รองลงมาจะเป็นค่าเดินทางและค่าขนส่งไปยังปลายทาง แต่การเปลี่ยนมาเขียนนิยายเฉพาะกลุ่มและยังเป็นการเริ่มต้นครั้งแรกทำให้ยอดการสั่งซื้อไม่สูงนัก รวมถึงผู้อ่านจำนวนมากสั่งจองไม่ทัน

แต่ส่วนตัวถือว่าประสบความสำเร็จในขั้นหนึ่งแล้ว ตอนแรกไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะมีคนสั่งเกิน 10 เล่ม ทั้งตอนนี้ก็เปิดจองเป็นรอบที่ 2 แล้ว" พณิตพิชาบอก

เจ้าของนามปากกา D.Luv ให้ความเห็นอีกว่า ธุรกิจการทำหนังสือแบบไม่พึ่งสำนักพิมพ์เป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักเขียน ที่สามารถทำทุกอย่างได้ดั่งใจโดยไม่ต้องผ่านใคร แม้จะไม่ได้เงินก้อนใหญ่เหมือนการทำสัญญากับสำนักพิมพ์ แต่สบายใจและสนุกกว่ามากเหมาะสำหรับคนที่ไม่ได้หวังเรื่องเงินก้อนโตเป็นหลักแต่อยากที่จะทำด้วยใจรัก

ด้าน สุรีย์ พฤกษานุศักดิ์ นักเขียนและนักแปลเจ้าของนามปากกา "หลินโหม่ว" และ "ซีเรีย" ผู้มีผลงานตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เล่าว่า เริ่มต้นพิมพ์นิยายแต่งเองเมื่อปี 2546 และตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นมาตอนพิมพ์หนังสือเล่ม 2

ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องรายรับ คือได้เงินจากสายส่งช้ามากจึงตัดสินใจหยุดพิมพ์เรื่องที่เขียนแล้วหันมาทำงานแปล แต่สุดท้ายกลับมาพิมพ์หนังสือเองอีกครั้ง

"การพิมพ์นิยายขายเองเป็นทางเลือกหนึ่งของนักเขียน และสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ต้องปิดกิจการไปเพราะต้นทุนและสายส่ง ปัจจุบันมีนักเขียนจำนวนมากหันมาพิมพ์หนังสือเอง โดยใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ ซึ่งอนาคตจะมีนักเขียนหันมาขายหนังสือด้วยตัวเองมากขึ้น แบบที่ตัวเองทำอยู่ทุกวันนี้

"ปัจจุบันมีนิยายในรูปแบบไฟล์ e-book ออกมาจำหน่ายจึงไม่ต้องพิมพ์ออกมาเป็นเล่มก็ได้" สุรีย์กล่าว

เพื่อเป็นการตอกย้ำความนิยมของบรรดานักเขียน ที่หันมาพิมพ์หนังสือเอง "ดรีมเมคเกอร์" (Dreammaker) ซึ่งเป็นทีมงานที่รับปรึกษาและแนะนำตลอดจนประสานงานให้เกิดหนังสือเล่มออกมา สะท้อนปรากฏการณ์นี้ได้อย่างน่าฟัง

ชวัลญา คุรุเสถียรพงศ์ ผู้จัดการทั่วไปดรีมเมคเกอร์ เล่าว่า เคยทำงานกับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง แต่มีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่จ่ายเงินตามสัญญา รวมถึงได้เห็นการทำงานของสำนักพิมพ์บางแห่งเอาเปรียบนักเขียนเป็นอย่างมาก

จึงตั้งกลุ่มดรีมเมคเกอร์ให้เป็นช่องทางช่วยนักเขียน ที่ต้องการจะมีหนังสือเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องเผชิญกับความรู้สึกลำบากใจในการทำงานกับสำนักพิมพ์

"เราสามารถออกแบบปก จัดหน้าหนังสือได้ และรู้จักกับโรงพิมพ์อยู่แล้วจึงชวนน้องๆ ที่รู้จักและสนใจเรื่องหนังสือมารวมทีมกันให้คำปรึกษากับนักเขียนที่ต้องการมีหนังสือเป็นของตัวเองทั้งแบบรูปเล่มและไฟล์ E-book รวมถึงพิสูจน์อักษร จัดวางเนื้อหาและออกแบบปกให้ฟรี รวมถึงประสานงานส่งไปยังโรงพิมพ์

"ส่วนขั้นตอนที่มีเงินมาเกี่ยวข้อง เจ้าของหนังสือจะจัดการเองโดยไม่ผ่านดรีมเมคเกอร์ เช่น โอนค่าพิมพ์ไปยังโรงพิมพ์ ตลอดจนการจำหน่ายหนังสือหลังพิมพ์แล้ว ตลอด 2 ปีเต็มมีผลงานมากกว่า 30 เล่ม

ซึ่งทั้งหมดก็ไม่ได้มีต้นทุนอะไร ตั้งใจทำให้ฟรีไม่คิดเงิน อาจจะมีปัญหาบ้างเรื่องเวลา เพราะทุกคนในทีมก็มีหน้าที่มีการงานที่ต้องรับผิดชอบ" ชวัลญากล่าว

เธอมั่นใจว่า อนาคตนักเขียนจะหันมาทำหนังสือเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เพราะวันนี้ช่องทางการวางหนังสือก็มากขึ้น ทั้งร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ตลอดจนหน้าร้านหนังสือทั่วไป

ทราบถึงปรากฏการณ์ของวงการหนังสืออย่างนี้ สำนักพิมพ์หลายแห่งคงต้องเริ่มปรับตัวกันยกใหญ่



ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
ประชาชื่
คุณอรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล

สิริสวัสดิ์ภุมวาร
Create Date :11 มีนาคม 2556 Last Update :11 มีนาคม 2556 11:46:51 น. Counter : 3107 Pageviews. Comments :0