bloggang.com mainmenu search
คอลัมน์ วัฒน์ วรรลยางกูร


คลอง เป็นทางน้ำที่เล็กกว่าแม่น้ำ แต่แม่น้ำก็เกิดจากลำคลองหลายๆ คลองมาไหลรวมกัน


นี่ยังไม่ได้เชื่อมโยงลึกเข้าไปอีก ในแบบนิรุกติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เช่นว่า แม่น้ำโขง อีกชื่อหนึ่งคือน้ำของ ของน่าจะมาจากคลอง หรือกอง

เรื่องแบบนี้ผมก็อ่านมาจากคอลัมน์ของ คุณพี่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ในมติชนรายวัน


น้ำแม่กลอง ที่ไหลจากกาญจนบุรี ไปสมุทรสงคราม แล้วแม่กลองนี้เป็นกลองตีเสียงดัง หรือว่ามาจากกอง เนื่องจากต้นน้ำแม่กลองคือแควน้อยและแควใหญ่ ก็ไหลรวมมาจาก "กอง" คือลำคลองลำห้วยนานาในภาษากะเหรี่ยง

ตั้งแต่แม่สอด มายันศรีสวัสดิ์ ทองผาภูมิ จะมีหมู่บ้านและห้วยลำธารของชุมชนกะเหรี่ยง มีชื่อว่าแม่กองนั่น แม่กองนี่ น้ำแม่กองแถวบ้านกะเหรี่ยงเหล่านี้ก็ไหลไปรวมลงแม่น้ำแควน้อย แควใหญ่ แล้วรวมเป็นแม่กลอง

"สายชลแม่กลอง เหมือนดังละอองน้ำตก ใสดังกระจก เปรียบได้ดังใจเจ้าของ"

เพลงว่าอย่างนั้น ย่อมเป็นแม่กลองสมัยห้าสิบปีที่แล้ว ส่วนแม่กลองวันนี้ก็ยังพอดูได้

เห็นโครงการ 35 ปี ฟื้นฟูประเทศไทย ของบริษัทมติชน จะเริ่มจากบูรณะคลองเปรมประชากร ที่ยาว 50 กิโลเมตร และมีแรงสนับสนุนอย่างอบอุ่น

ผมก็เลยนึกถึงเพลงที่เกี่ยวกับลำคลอง และความทรงจำเกี่ยวกับคลองเปรมฯ

ลำคลองที่มีโอกาสถูกนำไปแต่งเป็นเพลง ต้องถือว่าคลองนั้นไม่ธรรมดา เพราะว่าปกติเพลงจะแต่งเกี่ยวกับแม่น้ำมากกว่า แม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง แม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูน แม่น้ำตาปี

ถ้าจะเขียนเรื่องเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำ คงเขียนต่อเนื่องได้เป็นปี

เพลงเกี่ยวกับคลองที่นึกออกตอนนี้ก็เช่น คลองดำเนินสะดวก เช่นเพลง โอ้ดำเนิน, ดำเนินที่รัก ร้องโดยสุรพล สมบัติเจริญ คลองบางกอกน้อย ร้องโดย ชัยชนะ บุญนะโชติ คลองจินดา ในเพลง สาวคลองจินดา ร้องโดย เพชร โพธาราม แล้วก็ไม่ระบุคลอง เช่น ชายคลอง ร้องโดย ระพิน ภูไท คลองบางหลวง ร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร

ฉากคลองในเพลงทั้งหมดนี้อยู่ในภาคกลางล้วนๆ เพราะภาคกลางมีการขุดคลองมากที่สุด การขุดคลองในภาคกลางก็ไม่ยาก เพราะเป็นดินเลน ขุดไปไม่เจอหินอย่างในภาคเหนือ ภาคอีสาน

ส่วนคลองเปรมประชากร เป็นลำคลองที่อยู่ในความทรงจำ

ท้องทุ่งฝั่งตะวันออกของคลองเปรมฯ เป็นทุ่งนาล้วนๆ เป็นนาของเจ้าที่ดินใหญ่ในเมืองกรุง แต่ละถิ่นจะมี "นายกองนา" คอยดูแลแทนเจ้านายบางกอก

ต่างจากฝั่งตะวันตกของคลองเปรมฯ ก็คือทุ่งเชียงราก เป็นชุมชนชาวสยามดั้งเดิม มีทั้งทำนา ปลูกพืชผัก ปลูกอ้อย

วัยเด็กผมเคยติดเรืออ้อยของญาติผู้ใหญ่ ไปขายอ้อยแถบคลองเปรมฯ

การเดินทางเข้าไปในคลองเปรมฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคันคลองสูง หน้าแล้งเรือเข้าไม่ได้ ยกเว้นเข้าทางประตูน้ำเชียงราก แต่ถ้าเป็นหน้าน้ำหลากระดับน้ำจะปริ่มกับคันดิน ก็สามารถเข็นเรือหนักๆ ที่บรรทุกอ้อยเต็มลำข้ามไปได้

วิธีขายอ้อยทำยังไงจะขายได้มากๆ เพราะการกินอ้อยแค่ปอกกินลำเดียวก็แทบจะเกิดอาการลิ้นแตก จนกินเผ็ดไม่ได้

เขาขายโดยวิธีเล่นเกมพนัน เอาอ้อยเป็นมัดวางสูง ท้าพนันฟันอ้อยกัน นักเลงลูกทุ่งต่างมั่นใจในดาบคมของตนเองทั้งนั้น ขาด-ไม่ขาด พนันกัน

เรื่องพรรค์นี้ท้าทายกันไม่ได้ครับ เสียตังค์เท่าไรไม่ว่า ขอให้รู้ว่าดาบของข้าคมกว่าใคร

ถ้าฟันอ้อยมัดเล็กขาด ก็เพิ่มมัดอ้อยใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อ้อยเต็มลำเรือสำปั้นใหญ่ ขายหมดชั่วคืนเดียว

ลำบากก็คนพนันฟันอ้อย เสียตังค์แล้วหอบอ้อยมากมายกลับบ้าน กินกี่วันจะหมด เผลอๆ ได้เอาอ้อยไปถมที่-ฮา
credit : khaosod
  • Comment
    * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก