bloggang.com mainmenu search


คำถามในรายการเกมโชว์รายการหนึ่งมีว่า ชื่อวัดพระเจดีย์ซาวหลังที่จังหวัดลำปาง มีเจดีย์กี่องค์ ผู้ที่รู้คำเมืองหรือภาษาไทยถิ่นเหนือก็จะตอบได้ทันทีโดยไม่ต้องเดาว่า มี ๒๐ องค์


การนับจำนวนในภาษาไทยถิ่นเหนือส่วนใหญ่ตรงกับภาษาไทยกรุงเทพ มีแตกต่างกันบ้างไม่มากนัก เริ่มที่ หนึ่ง ในภาษาไทยถิ่นเหนือใช้เหมือนกับในภาษาไทยกรุงเทพ แต่ออกเสียงเป็นเสียงโทว่า [นึ่ง] จำนวนนับที่ใช้คำเดียวกันและออกเสียงตรงกัน ได้แก่ สอง สาม สี่ และแปด จำนวน ห้า และ เก้า ในภาษาไทยกรุงเทพเป็นเสียงวรรณยุกต์โท แต่ภาษาไทยถิ่นเหนือออกเสียง ห้า และ เก้า เป็นเสียงวรรณยุกต์ซึ่งอยู่ระหว่างเสียงโทและเสียงตรี ซึ่งเป็นเสียงวรรณยุกต์ที่ไม่มีในภาษาไทยกรุงเทพ จำนวน หก เจ็ด และสิบ ในภาษาไทยกรุงเทพเป็นเสียงเอก ภาษาไทยถิ่นเหนือออกเสียงเป็นเสียงจัตวา คือ [ห๋ก] [เจ๋ด] และ [สิ๋บ] จำนวน ยี่สิบ ภาษาไทยถิ่นเหนือใช้คำต่างออกไป คือ ใช้ว่า ซาว จำนวน สิบเอ็ด ในภาษาไทยถิ่นเหนือออกเสียงว่า [สิ๋บเอ๋ด] ยี่สิบเอ็ด ออกเสียงว่า [ซาวเอ๋ด] จำนวน ร้อย ใช้เหมือนกัน แต่ออกเสียง ร เรือ เป็น ล ลิง เช่น จำนวนร้อยยี่สิบหก ในภาษาไทยถิ่นเหนือออกเสียงว่า [ล้อยซาวห๋ก] จำนวน ๑๐๐ ภาษาไทยถิ่นเหนือพูดว่า [ล้อยนึ่ง] ถ้าจำนวน ๑๐๑ จะพูดว่า [ล้อยเอ๋ด] จำนวน พัน ออกเสียงว่า [ปัน] จำนวน ๑,๐๐๐ พูดว่า [ปันนึ่ง] จำนวน ๑,๐๐๑ พูดว่า [ปันป๋ายนึ่ง] จำนวน ๑,๑๐๐ พูดว่า [ปันเอ๋ด] จำนวน สองพัน ออกเสียงว่า [สองปัน] คำว่า เศษ ภาษาไทยถิ่นเหนือจะใช้ว่า ป๋าย เช่น สิบเศษ พูดว่า สิ๋บป๋าย ยี่สิบเศษ พูดว่า ซาวป๋าย ร้อยเศษ พูดว่า ล้อยป๋าย จำนวน หมื่น แสน ล้าน โกฏิ ใช้คำเดียวกันและออกเสียงเหมือนกันกับภาษาไทยกรุงเทพ จำนวน ร้อยล้าน ในภาษาไทยถิ่นเหนือใช้ว่า ตื้อ หรือ กือ ในวัดสวนดอกที่จังหวัดเชียงใหม่ มีพระพุทธรูปชื่อว่า พระเจ้าเก้าตื้อ คำว่า พระเจ้า ในภาษาไทยถิ่นเหนือ หมายถึง พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป ก็ได้ เก้าตื้อ ตรงกับ เก้าร้อยล้าน เป็นการพูดเชิงเปรียบว่า ในการสร้างพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานของวัดแห่งนี้ ใช้โลหะเป็นจำนวนมาก

แสงจันทร์ แสนสุภา
credit : dailynews
  • Comment
    * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก