วิธีแก้ปัญหาฉุกเฉินช่วงน้ำท่วม
สมุนไพร ยาฉุกเฉินช่วงน้ำท่วม
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร

วิกฤตที่สุดของประเทศในขณะนี้ คือน้ำท่วม และตามมาด้วย “น้ำขัง” ทำให้ประชาชนไม่น้อยต้องติดอยู่ที่บ้าน และเผชิญกับโรคมากมายที่มาพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคผิวหนัง โรคท้องร่วง หรือแม้กระทั่งโรคหวัด จะออกไปซื้อยาลำบาก ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรจึงฝากคำแนะนำว่า “ยา” สามารถหาได้จากสมุนไพรในครัวของเรา

สำหรับผู้ที่มีอาการคันและผิวหนังอักเสบ เนื่องจากน้ำกัดเท้า ให้ใช้ใบพลูตำกับเหล้าทาบ่อยๆ บริเวณที่คัน หรืออักเสบ หากไม่มีพลู ใช้ข่าแก่ๆ จะตำผสมเหล้า หรือผสมน้ำสะอาด และใส่เกลือลงไปนิดหน่อย ตำทาบริเวณที่อักเสบก็ได้เช่นกัน หรือหากมีชุมเห็ดเทศใกล้ๆ มือ ก็ใช้ตำกับเหล้าทาก็ได้

ส่วนอาการปวดท้อง ท้องร่วง ให้เคี้ยวยอดใบฝรั่ง หรือต้มใบทับทิมกับน้ำ ก็พอช่วยได้ และสำหรับอาการหวัดนั้น ให้ต้มตะไคร้ หรือใบกะเพราะกับน้ำ ดื่มแทนน้ำเปล่า แถมตะไคร้และใบกะเพรานี้ มีฤทธิ์ช่วยรักษาท้องและแก้เครียดได้ด้วย ส่วนใบบัวบกนั้น ต้มน้ำกิน หรือกินสด ออกฤทธิ์แก้อาการเครียดได้





ส้วมฉุกเฉิน ยามน้ำท่วม




สถานการณ์น้ำท่วมในหลายๆ พื้นที่ ประชาชนเดือดร้อน ลำบากกันไปทั่ว ทั้งที่อยู่ อาหาร และที่สำคัญ คือ ส้วม ปัญหาการขับถ่าย โดยเฉพาะในสภาวะที่น้ำท่วม หากปวดท้อง ก็ไ่ม่สามารถอดทนได้ จำต้องปล่อยไปตามกระแสน้ำ อาจทำให้เกิดโรคระบาดตามมา

ดังนั้น เพื่อสุขอนามัยที่ดีและป้องกันโรคระบาด นอกจาก “ส้วมลอยน้ำ” ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สร้างขึ้นแจกจ่ายให้กับประชาชนซึ่ง ไม่เพียงพอและผลิตไม่ทัน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมอนามัย จึงแจกถุงดำกว่า 360,000 ใบ ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อนำไปเป็นส้วมชั่วคราวไว้สำหรับใช้ในครัวเรือน

นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย อธิบายวิธีประดิษฐ์ส้วมฉุกเฉินอย่างง่ายๆ 2 แบบ คือแบบส้วมกล่อง กับส้วมเก้าอี้ ซึ่งเป็นการน้ำของใช้รอบตัวมาประดิษฐ์ หากเป็นเก้าอี้พลาสติกก็ให้เจาะรูตรงกลาง จากนั้นใช้ถุงดำที่ได้รับแจกสวมเข้ากับเก้าอี้ หรือหากมีกล่อง เช่น กล่องกระดาษ ลังเบียร์ ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ก็สามารถเจาะรูสำหรับทำเป็นส้วมชั่วคราวได้ตามต้องการ หากเป็นเด็กเล็ก ก็อาจใช้กระดาษแข็งเจาะรูแล้วประกอบเข้ากับกล่องเพิ่มเติมเพื่อให้ให้มีขนาดอย่างเหมาะสมได้

หลายคนอาจยังสงสัยว่า แล้วส้วมฉุกเฉินที่ว่านี้จะต้องใช้งานอย่างไร จึงจะปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ นพ.สมยศ บอกว่า กรมอนามัยได้เตรียมคำแนะนำไว้เสร็จเรียบร้อย สามารถจดจำไปใช้ได้ 6 ข้อสั้นๆ ได้แก่

1.ตรวจสอบลักษณะถุงพลาสติกสีดำให้อยู่ตรงกลางของช่องส้วม
2.ขับถ่ายให้ลงตรงกลางช่องของส้วม
3.ใช้กระดาษชำระทำความสะอาดหลังการขับถ่าย
4.กระดาษชำระที่ใช้แล้วให้ทิ้งในถุงพลาสติก
5.หลังจากใช้งานแล้วให้มัดปากถูกพลาสติกให้มิดชิด และ
6.รวบรวมถุงพลาสติกที่ใช้งานแล้วทิ้งลงถุงใบใหญ่อีกชั้น แล้วมัดปากถุงเพื่อนำไปกำจัดหลังน้ำลด โดยอาจใช้วิธีการขุดหลุมฝัง เนื่องจากถุงดำที่แจกนั้นสามารถย่อยสลายเองได้ในธรรมชาติ หรืออาจใช้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัด เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรค

หากทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ก็จะสามารถใช้งานส้วมชั่วคราวได้อย่างปลอดภัย และช่วยลดปัญหาพฤติกรรมการขับถ่ายลงน้ำ อันเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อโรค ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนได้

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากกรมอนามัย ยังฝากบอกเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เสริมไอเดียสุดเก๋ นี้ว่า เลือกใช้กระดาษที่มีสีสันสวยงามห่อหุ้มกล่องให้ดูน่าใช้ หรืออาจวาดลวดลายเพิ่มเติมลงไปทั้งในส่วนของตัวกล่อง หรือฝาปิด ได้

ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมแบบนี้ มีเรื่องเครียดมากพออยู่แล้ว บางทีการใช้หัวคิดในแนวสร้างสรรค์ อาจมีส่วนช่วยผ่อนคลายอารมณ์กังวลก็อาจเป็นได้ และระหว่างรอส้วมฉุกเฉินที่ทางกรมอนามัยจะแจกจ่ายในเร็วๆ นี้ ก็ลองทำตามคำแนะนำของ สธ.ไปก่อน เพื่อสุขภาวะที่ดีในการใช้ส้วมของทุกคน

โดย...จารยา บุญมาก





Create Date : 29 ตุลาคม 2553
Last Update : 24 กันยายน 2554 13:11:17 น.
Counter : 2440 Pageviews.

0 comments

Imaginer.BlogGang.com

ใจรัก Jairuk Channel
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 91 คน [?]

บทความทั้งหมด