นิทรรศการหมุนเวียนผลงาน ครูจักรพันธุ์ โปษยกฤต ครั้งที่ ๒ ![]() ไทยบันเทิง ThaiPBS มีนิทรรศการดี ๆ มาบอกข่าวอีกแล้วค่า เมื่อปีที่แล้ว ครูจักรพันธุ์ โปษยกฤต จัดนิทรรศการหมุนเวียนครั้งแรกไป ปีนี้จัดอีก เริ่มงานไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคมที่ผ่านมา หนนี้จัดแสดงหุ่นกระบอกตอน "โจโฉแตกทัพเรือ" ยังไม่ได้ไปชม แต่พอรู้ข่าวก็อัพบล็อกบอกข่าวก่อนเลย ไหน ๆ อัพบล็อกเกี่ยวกับครูจักรพันธุ์ทั้งที ก็ต้องจัดเต็มทั้งภาพและข้อมูล บล็อกเลยยาวได้ใจตามระเบียบ ไว้ไปชมนิทรรศการแล้วจะอัพบล็อกให้ชมภาพอีกรอบค่ะ เขียนบล็อกยังไม่ทันเสร็จดีก็ได้ข่าวการจากไปของคุณชายถนัดศรี สวัสดิวัตน์ อยากเขียนบล็อกไว้อาลัยเพราะชอบเพลงของท่านมากถึงมากที่สุด แต่ยังไม่มีเวลา ช่วงนี้งานกลับมายุ่งอีกแล้ว ต้องขออนุญาตลากิจสักสองสามอาทิตย์ จะพยายามทำตัวให้ว่างแล้วกลับมาอัพบล็อกอีกไว ๆ อากาศเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพื่อน ๆ ดูแลสุขภาพกันนะคะ ![]() บล็อกนิทรรศการหมุนเวียนผลงาน ครูจักรพันธุ์ โปษยกฤต
![]() ![]() ร่วม ๓๐ ปีที่หุ่นกระบอกดุจมีชีวิตของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี ๒๕๓๒ รวบรวมไว้แล้วบางโอกาสนำออกมาจัดแสดงและเชิดให้ชมอยู่ระยะ ล่าสุดตัวศิลปินพร้อมลูกศิษย์ลูกหา ได้ปลุกหุ่นกระบอกให้มีชีวิตอีกครั้ง คราวนี้มาในรูปแบบนิทรรศการหมุนเวียนครั้งที่ ๒ ชุด หุ่นกระบอก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ นับเป็นการแสดงนิทรรศการครั้งสําคัญ ที่รวบรวมผลงานจากการแสดงหุ่นกระบอกเรื่อง สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ เมื่อครั้งปี ๒๕๓๒ ที่จะครบรอบ ๓๐ ปีในปีนี้ไว้ได้อย่างครบถ้วน โดยใช้โอกาสวันคล้ายวันเกิดครบ ๗๖ ปี อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ เป็นวันแถลงข่าวการจัดนิทรรศการ ![]() ถ้าพูดถึงผลงานทางด้านศิลปะของอ.จักรพันธุ์ เราทุกคนก็จะทราบกันดี ว่าความถนัดของอาจารย์นั้น เริ่มมาจากการวาดภาพเหมือน (Portrait) มาก่อน ก่อนที่จะมีความสนใจในศิลปะแขนงอื่น ๆ ตามมา เช่นประติมากรรม และการสร้างหุ่นกระบอก โดยเฉพาะเรื่องราวความสนใจเกี่ยวกับหุ่นกระบอกของอาจารย์นั้น เรียกได้ว่าเกินครึ่งหนึ่งของชีวิตท่านเลยทีเดียว อ.จักรพันธุ์ สนใจหุ่นกระบอกมาตั้งแต่เด็ก โดยในขณะที่อายุประมาณ ๑๑ ปี ท่านได้มีโอกาสชมการแสดงหุ่นกระบอกครั้งแรกทางโทรทัศน์ เรื่อง พระอภัยมณี ของคณะครูเปียก ประเสริฐกุล ครั้นพออายุ ๑๒ ปี ท่านได้ลองทำหุ่นกระบอกเองเล่น ๆ จากวัสดุใกล้ๆตัวท่าน ไม่ว่าจะเป็นเปลือกหอย เปลือกไข่ ด้ามพู่กันที่เสียแล้วบ้าง พร้อมทั้งทำฉาก มีประตูเข้า-ออก เรียกได้ว่าเป็นโรงหุ่นละครเล็ก ๆ สำหรับเด็กอย่างท่านได้เลย ![]() ![]() ล่วงเลยไปหลายปี แต่ความชอบ ความสนใจในหุ่นกระบอกของท่านหาได้ลดน้อยลงไม่ เมื่ออาจารย์ได้เข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านก็ได้เริ่มทำหุ่นกระบอกตัวเล็ก ๆ ที่มีหน้าเป็นยักษ์ โดยส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ซาง ต่อมาในปี ๒๕๑๗ อาจารย์มีโอกาสได้พบกับครูชื่น สกุลแก้ว (ลูกสาวครูเปียก) เจ้าของคณะหุ่นกระบอกนายเปียก ท่านจึงขอซื้อหุ่นเก่าจากครูชื้น (ซึ่งเป็นหุ่นกระบอกที่สร้างตั้งแต่ปี ๒๔๔๒ ดังนั้นหุ่นกระบอกของคณะจักรพันธุ์ โปษยกฤต จึงเป็นการสืบทอดศิลปะแขนงนี้โดยตรง) แล้วนำมาซ่อมแซมจนสามารถใช้งานได้ ![]() ![]() ทั้งนี้เมื่อท่านยิ่งได้อยู่ใกล้ชิดกับหุ่นกระบอกมากเท่าไหร่ อ.จักรพันธุ์ก็ยิ่งเกิดความชอบ ความประทับใจมากยิ่งขึ้นไป และนั่น ทำให้ครูชื้น เห็นถึงความสนใจจริงของท่าน จึงได้ถ่ายทอดวิชาการเชิดหุ่นให้กับอาจารย์อีกด้วย ถัดมาในปี ๒๕๑๘ หุ่นกระบอกสมัครเล่นคณะจักรพันธุ์ โปษยกฤต และคณะ ก็สามารถเปิดการแสดงจริงได้สำเร็จ โดยเป็นการเปิดแสดงให้แก่มูลนิธิแม่บ้านอาสารับชมเป็นครั้งแรกในเรื่อง พระอภัยมณี ตอน หนีนางผีเสื้อ ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) ![]() ![]() ผลจากการแสดงครั้งนั้น ทำให้คนไทยหันมาให้ความสนใจในศาสตร์การแสดงแขนงนี้กันมากขึ้น หลังจากนั้นครูชื้นจึงได้มอบหัวหุ่นที่เหลือเกือบทั้งหมด ให้กับอ.จักรพันธุ์ และหลังจากนั้นอ.จักรพันธุ์ และคณะ ก็ได้เปิดการแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน นางลอย เป็นเรื่องที่ ๒ ในปี ๒๕๒๑ อ.จักรพันธุ์ และคณะ ได้เริ่มทำหุ่นกระบอกขึ้นอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นตัวละครที่สวมชุดนาฎศิลป์จีนโบราณ ในหุ่นกระบอกเรื่อง สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชาการปักผ้ามาจาก อ.เยื้อน ภาณุทัต ปรมาจารย์ผู้ชำนาญการปักผ้า ซึ่งการแสดงในชุดนี้ ได้นำมาแสดงในปี ๒๕๓๒ ณ. ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ![]() ![]() หลังจบการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก ในขณะที่อ.จักรพันธุ์ กำลังเลี้ยงอาหารขอบคุณทีมงานอยู่นั้น ในช่วงนี้ อ.ต๋อง วัลลภิศร์ สดประเสริฐ ศิษย์เอกของอ.จักรพันธุ์ และรองประธานมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เปรียบเสมือนมือขวาของอาจารย์เล่าว่า อ.บุญยงค์ เกตุคง (นักดนตรี / ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้เข้ามาพูดคุยด้วยว่า อยากให้ทำเรื่องอื่นอีก ที่พูดนี่ไม่ใช่เพราะผมอยากได้เงินนะ แต่มันมีความสุขมากที่ได้เล่น จังหวะนั้นคนตีตะโพนชื่อจ่าประยงค์ กิตติเทศ หรือที่พวกเราเรียกกันว่าจ่าไก่ แกคงได้ยินที่พวกเราพูดคุยกันอยู่ ก็เลยพูดขึ้นมาว่า "เล่นเรื่องตะเลงพ่ายสิ ผมว่าน่าสนุกนะ มีทั้งภาษามอญ และภาษาพม่าด้วย ผมได้ยินแล้วก็คิดว่าน่าสนใจดี เพราะเราศรัทธาในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอยู่แล้วด้วย ก็เลยเขียนบทขึ้นมาใหม่ ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณเดือนนึงครับ ![]() ![]() นิทรรศการหมุนเวียนครั้งแรกอาจารย์คัดเลือกภาพวาดมาจัดแสดงเป็นหลัก แล้วยังมีหุ่นพระอภัยมณี หุ่นสามก๊กหุ่นตะเลงพ่ายและหุ่นโบราณ ครั้งนี้คณะกรรมการมูลนิธิฯ และศิษย์ตัดสินใจจัดแสดงหุ่นกระบอกชุดสามก๊กเรื่องเดียวเพราะมีหุ่นกว่า ๘๐ หุ่น ยังมีม้า ๕ หุ่นไม่ได้ตั้งแสดง เพราะบ้านพื้นที่จำกัด แล้วยังมีฉากใหญ่สองผืน เรือมังกรโจโฉและเรือรบ เรือเสบียง เรือประทุนและเครื่องประกอบฉากที่เคยใช้ในการแสดงปี ๒๕๓๒ มาให้ได้ชม โดยเฉพาะฉากจิตรกรรมจีนยืนเรื่องยาว ๗ เมตรกว้าง ๓ เมตร เป็นฝีมือของอาจารย์คนเดียว เขียนสด ๆ ไม่มีภาพร่าง แสดงถึงความแม่นยำและความมหัศจรรย์ เป็นสมบัติของชาติที่รังสรรค์ไว้ ย้อนไปเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วอาจารย์จักรพันธุ์อยากกลับมาเล่นหุ่นกระบอกอีกครั้งหลังจากทิ้งไปนาน ๒ ปี ผมแนะนำเล่นเรื่องสามก๊ก เพราะคิดว่าจะทำง่าย แต่ท้ายสุดกลับใช้เวลาทำหุ่นชุดสามก๊กถึง ๑๐ ปีเพราะเครื่องแต่งกายจีนของแต่ละตัวละครไม่ซ้ำกันเลย อาจารย์ทำงานอย่างละเอียดจนมีหุ่นเกิดขึ้นใหม่ในประเทศไทย เป็นหุ่นมนุษย์ ๗๐ หุ่นและหุ่นม้า ๑๕ หุ่น เครื่องประกอบฉากทุกชิ้นศึกษาค้นคว้าลึกซึ้ง ![]() ![]() นิทรรศการครั้งนี้เกิดจากการที่ อ.จักรพันธุ์ ได้สร้างและเคยทำการแสดงหุ่นต่าง ๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พระอภัยมณี ตะเลงพ่าย สามก๊ก เป็นต้น รวมถึงภาพเขียนมากมาย อยากนำมาจัดแสดงอีก โดยเฉพาะหุ่นสามก๊กนั้นมีร่วม ๘๐ ตัว จึงมีการปรึกษาหารือกันแล้วลงเอยที่ สามก๊ก ซึ่งเดิมทีจะจัดตั้งโชว์หุ่นธรรมดา ๆ แต่ด้วยสามก๊กตอน โจโฉแตกทัพเรือ มีฉากไฟไหม้เรือด้วยจึงได้สร้างฉากไฟไหม้เพิ่มขึ้นมา อีกทั้งทำทะเล และคลื่นด้วย เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ สามก๊กชุดนี้มีหุ่นคน ๗๐ ตัว หุ่นม้าอีก ๑๕ ตัว เรืออีกหลายลำ นอกจากนี้ยังมีงานฉากที่เป็นจิตกรรมขนาดใหญ่ที่ อ.จักรพันธุ์ สร้างสรรค์ไว้ ทรงคุณค่ามากเพราะท่านเขียนคนเดียวจนเสร็จ หรืออย่างตัวละครเอกอย่าง บิฮูหยิน นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่ผมเคยบวชอยู่วัดบวรฯ เมื่อหลายสิบปีก่อน แล้วไปเจอตุ๊กตาผู้หญิงจีนใส่หมวกอยู่ในวัด ซึ่งไม่เหมือนตามภาพเขียนทั่วไป จึงชวนท่านอ.จักรพันธุ์ ไปดูแล้วท่านชอบมาก น่าจะนำมาใช้เป็นชุดเดินทางในหุ่นกระบอกได้ ท่านจึงถ่ายรูปไว้แล้วมาใช้เป็นต้นแบบใบหน้าของนางบิฮูหยิน นอกจากนี้ยังมีหุ่นกระบอกอื่น ๆ อีก ๒๐ ตัวที่อาจารย์ทำเอง ใช้เวลานานมากกว่าจะเสร็จ ถือว่านิทรรศการครั้งนี้มีคุณค่ามาก เป็นมรดกที่ควรอนุรักษ์ไว้ ![]() ![]() หุ่นตัวนางบิฮูหยินได้แรงบันดาลใจจากตุ๊กตาจีนแกะสลักในวิหารเก๋งวัดบวรฯ เป็นผู้หญิงหน้าเล็ก สวมหมวก สวมชุดสวยงามไม่เหมือนรูปเขียนจีน ผมชวนอาจารย์ไปดู อาจารย์ชอบถ่ายภาพไว้และเขียนภาพลายเส้น จากนั้นมาออกแบบลวดลายปักเสริม จากตุ๊กตาหินกลายเป็นหุ่นมีชีวิตเคลื่อนไหวได้ ส่วนหุ่นตัวละครอื่น ๆ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับอาจารย์ทำตามหนังสือสามก๊กและรูปเขียนจีนในหนังสือศิลปะ ศิษย์เอกบอก เป็นครั้งแรกที่ปลุกหุ่นสามก๊กที่หลับไหลมานาน ๓๐ ปีจัดแสดง หุ่นกระบอกคือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยลมหายใจและวิญญาณจากมนุษย์เป็นกำลัง หุ่นเป็นงานศิลปกรรมร่วมรวมเอาสรรพศิลปวิทยาทุกแขนงทั้งจิตรกรรม ประติมากรรมสถาปัตยกรรม มัณฑณศิลป์ ประณีตศิลป์ดุริยางคศิลป์ วรรณศิลป์ และนาฏศิลป์อาจารย์รังสรรค์ด้วยความประณีตงดงามและลงทุนมหาศาล โดยไม่คิดถึงว่าแสดงแล้วจะได้รับกำไร อาจารย์ทุ่มเทเพื่อให้เกิดผลงานศิลปะของชาติ พี่ต๋องย้ำคุณค่า ![]() ![]() ที่น่าชมไม่แพ้หุ่นกระบอกเป็นภาพถ่ายและข้อมูลเบื้องหลังการเตรียมงานแสดงอันสำคัญที่หาชมได้ยาก ทั้งภาพร่าง การออกแบบ ลายปัก ผังการแสดงมีตำแหน่งยืน ระยะห่าง แนวกำกับหุ่น ซึ่งไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน การชมนิทรรศการหมุนเวียนครั้งนี้นอกเหนือจากตะลึงกับผลงานของศิลปินแห่งชาติที่เปี่ยมคุณค่าแล้วยังเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้สนใจศึกษาวิชาความรู้ทางศิลปะ ได้เห็นร่องรอยแบบอย่างการสร้างงานของบรมครูศิลปินแห่งชาติ ได้สืบทอดความรู้ และสำคัญสูงสุดระลึกคือพระคุณครู อาจารย์จักรพันธุ์เป็นศิษย์กตัญญูรู้คุณ และเป็นครูที่เปี่ยมเมตตา เมื่อท่านทำงานก็ได้รับความรู้จากครูบาอาจารย์ทั้ง อาจารย์เยื้อน ภาณุทัต ปรมาจารย์งานปัก ครูชู ศรีสกุลแก้ว นักเชิดหุ่นกระบอก เวลาอาจารย์อยากจะทำงานเรียกระดมพลลูกศิษย์ก็ช่วยอย่างเต็มที่ อยากให้มาชมนิทรรศการจะจัดแสดงไปอีกอย่างน้อย ๖ เดือน ![]() ![]() ผลงานหุ่นกระบอกชุดนี้ล้วนมีความวิจิตรอลังการ ถือเป็นศิลปกรรมล้ำค่าที่หาชมได้ยากยิ่งและไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน ผลงานที่อยู่ในความทรงจํา เป็นความประทับใจอันงดงามซึ่งมูลนิธิฯ ได้นํามาตั้งแสดงในครั้งนี้ ได้แก่ หุ่นกระบอก ๘๐ หุ่น อาทิ หุ่นกระบอกสามพี่น้องร่วมสาบานคือกวนอู, เล่าปี่, เตียวหุย, จิวยี่นายทัพใหญ่จูล่ง, หุ่นตัวนางบิฮูหยิน, ไต้เกี้ยว, เสียวเกี้ยว ตลอดจนกลุ่มนางระบํานางกํานัลทรงเครื่องศิราภรณ์ ฉากใหญ่สองผืนเรือมังกรโจโฉและเรือรบเรือเสบียง เรือประทุนรวม ๖ ลําที่คิดค้นกลไกขณะไฟกําลังลุกไหม้เป็นเรือทะเลเพลิงได้อย่างสมจริง มีซุ้มประตูม่านปักลาย มังกรหงส์ รวมทั้งเครื่องประกอบฉากทุกชิ้นที่ใช้ในการแสดงครั้งนั้น อีกทั้งขบวนม้า ฉากจิตรกรรมจีนยืนเรื่อง ขนาดใหญ่ฝีมือเขียนของอาจารย์จักรพันธุ์เพียงท่านเดียวทั้งผืน นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายและข้อมูลเบื้องหลังการ เตรียมงานแสดงอันสําคัญที่หาชมยาก อาทิภาพร่าง การออกแบบลายปัก ผังการแสดง ที่เก็บรักษาไว้ไม่เคยนํา ออกมาเผยแพร่มาก่อน ![]() ![]() อ.ต๋อง ยังเล่าต่อว่า ปกติเวลามีใครมาขอสัมภาษณ์เรื่องตะเลงพ่าย ผมก็จะเล่าที่มาแบบนี้ทุกครั้ง จนกระทั่งวันนึง เป็นวันที่มีการนัดซ้อมเรื่องนี้กัน จ่าไก่มาเจอผมแล้วก็ถามว่า อ.ต๋อง ผมเป็นคนแนะนำให้เล่นเรื่องตะเลงพ่ายจริง ๆ เหรอ ผมไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลยนะ เพิ่งจะรู้จักครั้งแรก ก็ที่มาซ้อมกันวันนี้แหละ ผมได้ยินแล้วก็รู้สึกตกใจ มันคงเหมือนมีอะไรมาดลใจให้จ่าไก่พูดอย่างนั้นให้เราทุกคนได้ยินกัน ![]() ![]() เวลาล่วงเลยมาถึงปี ๒๕๔๖ ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ได้มีการจัดงานนิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยว ศิลปกรรมเชิดชูเกียรติจักรพันธุ์ โปษยกฤต เนื่องในวาระครบรอบ ๖๐ ปีคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร" สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯมาเป็นประธานในพิธีด้วย โดยในงานนี้ ถือเป็นงานแสดงผลงานเดี่ยวของศิลปินเพียงคนเดียว โดยมีผลงานจัดแสดงมากที่สุดถึง ๒๑๑ ชิ้น ทั้งภาพเขียนชิ้นใหญ่ที่หาชมได้ยาก และงานฝีมืออื่น ๆ และไฮไลท์สำคัญ คือการเปิดตัวหุ่นกระบอกชุดใหม่จากเรื่อง ตะเลงพ่าย ตอน พระนางสุพรรณกัลยาไปพม่า โดยมีการแสดงทั้งหมด ๑๒ นาทีด้วยกัน ![]() เว้นช่วงมาอีก ๑๐ กว่าปี ในที่สุด การแสดงรอบเบิกโรงปฐมฤกษ์ของเรื่อง ตะเลงพ่าย ก็ได้จัดแสดงอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๒ ณ โรงมหรสพสาธิต จักรพันธุ์ โปษยกฤต พิพิธภัณฑ์ ถนนสุขาภิบาล ๕ โดยในการแสดงครั้งนี้ มีด้วยกัน ๙ รอบ ทั้งนี้เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทอดพระเนตร ในรอบพิเศษ ที่จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย และสำหรับหุ่นกระบอกเรื่องตะเลงพ่ายนี้ ถือเป็นผลงานที่อ.จักรพันธุ์และลูกศิษย์ ตั้งใจจะสานต่อให้เสร็จสิ้นภายในรั้วบ้านย่านเอกมัยของอาจารย์ ซึ่งทุกวันนี้ นายช่างหลายคน ยังคงเตรียมงานหุ่นกระบอกกันอย่างเต็มที่ แม้ในวันนี้ จะเป็นวันที่อ.จักรพันธุ์ ไม่ได้ลงมือเองในทุกขั้นตอนเหมือนเดิมแล้ว แต่สิ่งที่อ.ท่านได้สั่งสอนลูกศิษย์ไว้ ก็ยังคงอยู่ในผลงานของบรรดานายช่างที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์จักรพันธุ์โดยตรงมาตลอด ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมานั่นเอง ![]() การจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนครั้งนี้ จึงนับเป็นการธํารงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและสืบทอดความรู้ให้แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจจะได้รับประโยชน์จากการศึกษาวิชาความรู้ทางศิลปะ ตลอดจนแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปกรรมของครูบาอาจารย์ผู้ได้ยกย่องเป็น ๑ ใน ๕๒ นายช่างเอกในรอบ ๒๐๐ ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดอาจารย์ในปีนี้ ทางมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต สุขุมวิท ๖๓ (เอกมัย) ได้มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียน ผลงานของ อ.จักรพันธุ์ ครั้งที่ ๒ ขึ้น ซึ่งหนึ่งในผลงานอาจารย์ที่จะนำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ก็คือ นิทรรศการ หุ่นกระบอกเรื่อง สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ นับเป็นการธํารงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและสืบทอดความรู้ให้แก่เยาวชนและผูกที่สนใจจะได้รับประโยชน์จาก การศึกษาวิชาความรู้ทางศิลปะ ![]() ปัจจุบัน อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ได้ก่อตั้งมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ขึ้น พันธกิจสําคัญคือเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไทยสู่ประชาชนให้กว้างขวาง โครงการสําคัญได้แก่ พิพิธภัณฑ์จักรพันธุ์โปษยกฤต เพื่อการเรียนรูเทางศิลปะ ตั้งอยู่ ณ เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์เพื่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ถาวรที่ รวบรวมศิลปวัตถุสําคัญของชาติ รวมถึงโรงละครจัดแสดงหุ่นกระบอกด้วยระบบเวที แสง สี เสียง อย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการระดมทุนสนับสนุนเป็นเวลาหลายปี ![]() พิพิธภัณฑ์จักรพันธุ์ โปษยกฤตที่กำลังก่อสร้าง ขณะนี้การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ใกล้เสร็จสมบูรณ์ การระดมทุนครั้งสําคัญเมื่อต้นปี ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา คือการจัดแสดงหุ่นกระบอก ตะเลงพ่าย รอบปฐมทัศน์แก่ผู้สนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ รวม ๑๑ รอบ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เทิดไว้เหนือเกล้าฯ แด่อาจารย์จักรพันธุ์โปษยกฤตและคณะฯ ที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรการแสดงในรอบสุดท้าย เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒ อันเป็นขวัญและกําลังใจแก่ทีมงานรวมถึงบุคคลที่มีส่วนร่วมอย่างหาที่สุดมิได้การจัดแสดง หุ่นกระบอก ตะเลงพ่าย ครั้งนี้ได้รับคําชื่นชมและประสบผลสําเร็จอย่างดียิ่ง นับเป็นการสะท้อนความมุ่งมั่นสมดังเจตนารมณ์ของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ในการสืบทอดศิลปกรรมอันงดงามทรงคุณค่าแขนงนี้ให้กับเยาวชน รุ่นหลัง อีกทั้งเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ดํารงอยู่อย่างมั่นคงต่อไป นิทรรศการจะจัดแสดง ตั้งแต่วันอาทิตย์ ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ วันเสาร์ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ โดยจัดแสดงทุกวัน ไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. ๑๖.๓๐ น. ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ถนนสุขุมวิท ๖๓ (ซอยเอกมัย) ท่านผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ เบอร์โทร ๐๒-๓๙๒-๗๗๕๔ หรือ ๐๘๗-๓๓๒-๕๔๖๗ ![]() ![]() ข้อมูลจาก thaipost.net komchadluek.net เพจ The Arts Club Bangkok ![]() ![]() บีจีจาก xmple.com กรอบจากคุณ KungHangGerman Free TextEditor |
บทความทั้งหมด
|