26.11 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬสุญญตสูตร [พระสูตรที่ 21]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
26.10 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬสุญญตสูตร [พระสูตรที่ 21]

ความคิดเห็นที่ 6-117
GravityOfLove, เมื่อวานนี้ เวลา 20:26 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
             ๓๐. เทวทูตสูตร ว่าด้วยเทวทูต
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6750&Z=7030&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
             สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
             เราย่อมมองเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี
มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์
             ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมได้ว่า สัตว์ผู้ประกอบด้วย
กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ
เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็มี
บังเกิดในหมู่มนุษย์ก็มี
             สัตว์ผู้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ
เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึง
ปิตติวิสัยก็มี เข้าถึงกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานก็มี เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต
นรกก็มี
             เหล่านายนิรยบาล (ผู้คุมนรก, ผู้ลงโทษสัตว์นรก) จะจับสัตว์นั้น
ไปแสดงแก่พระยายมว่า
             บุรุษนี้ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ในสมณะ ในพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อม
ต่อผู้ใหญ่ในสกุล ขอพระองค์จงลงอาชญาแก่บุรุษนี้เถิด
             พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามสัตว์นั้นว่า
             ๑. เทวทูตที่ ๑ (เด็กแรกเกิด)
             ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ
             สัตว์นั้นทูลว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า
             พระยายมถามว่า ท่านไม่ได้เห็นเด็กแดงๆ ยังอ่อนนอนแบ
เปื้อนมูตรคูถของตนอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ
             สัตว์นั้นทูลว่า เห็น เจ้าข้า
             พระยายมถามว่า ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้คิดไหมว่า
             แม้ตัวเรา ก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้
ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ
             สัตว์นั้นทูลว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้า
             พระยายมกล่าวว่า
             ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้
เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจะลงโทษโดยอาการ
ที่ท่านประมาทแล้ว (จะลงโทษเจ้าตามฐานะที่ประมาท)
             บาปกรรมนี้ ไม่ใช่ใครๆ ทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้
ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้
             ๒. เทวทูตที่ ๒ (คนแก่)
             พระยายมถามว่า ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ
             สัตว์นั้นทูลว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า
             พระยายมถามว่า ท่านไม่ได้เห็นคนแก่ ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้เท้า
งกเงิ่น เดินไป กระสับกระส่าย ล่วงวัยหนุ่มสาว ฟันหักผมหงอก หนังย่น
ศีรษะล้าน เหี่ยว ตัวตกกระ ในหมู่มนุษย์หรือ
             สัตว์นั้นทูลว่า เห็น เจ้าข้า
             พระยายมถามว่า ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้คิดบ้างไหมว่า
             แม้ตัวเรา ก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ
             สัตว์นั้นทูลว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า
             พระยายมกล่าวว่า ... ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้
             ๓. เทวทูตที่ ๓ (คนเจ็บ)
             พระยายมถามว่า ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ
             สัตว์นั้นทูลว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า
             พระยายมถามว่า ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ผู้ป่วย ทนทุกข์
เป็นไข้หนัก นอนเปื้อนมูตรคูถของตน มีคนอื่นคอยพยุงลุกพยุงเดิน ในหมู่มนุษย์หรือ
             สัตว์นั้นทูลว่า เห็น เจ้าข้า
             พระยายมถามว่า ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้คิดบ้างไหมว่า
             แม้ตัวเรา ก็มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้
ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ
             สัตว์นั้นทูลว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า
             พระยายมกล่าวว่า ... ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้
             ๔. เทวทูตที่ ๔ (คนถูกลงราชทัณฑ์)
             พระยายมถามว่า ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ
             สัตว์นั้นทูลว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า
             พระยายมถามว่า ท่านไม่ได้เห็นราชาทั้งหลายในหมู่มนุษย์จับโจร
ผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดบ้างหรือ คือ
             โบยด้วยแส้บ้าง ฯลฯ  ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง
             สัตว์นั้นทูลว่า เห็น เจ้าข้า
             พระยายมถามว่า ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้คิดบ้างไหมว่า
             จำเริญละ เป็นอันว่า สัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้นั้นๆ ย่อมถูกลงกรรมกรณ์
ต่างชนิดเห็นปานนี้ในปัจจุบัน จะป่วยกล่าวไปไยถึงชาติหน้า ควรที่เราจะทำความดี
ทางกาย ทางวาจา และทางใจ
             สัตว์นั้นทูลว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า
             พระยายมกล่าวว่า ... ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้
             ๕. เทวทูตที่ ๕ (คนตาย)
             พระยายมถามว่า ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๕ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ
             สัตว์นั้นทูลว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า
             พระยายมถามว่า ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายที่ตายแล้ววันหนึ่ง
หรือสองวัน หรือสามวัน ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม ในหมู่มนุษย์หรือ
             สัตว์นั้นทูลว่า เห็น เจ้าข้า
             พระยายมว่า ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้คิดบ้างไหมว่า
             แม้ตัวเรา ก็มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ
             สัตว์นั้นทูลว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า
             พระยายมกล่าวว่า
             ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้
เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจะลงโทษโดยอาการ
ที่ท่านประมาทแล้ว
             บาปกรรมนี้ ไม่ใช่ใครๆ ทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้
ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้
             พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๕
กับสัตว์นั้นแล้ว ก็ทรงดุษณีอยู่ (นิ่งเฉย)
             คำว่า เทวทูต
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=เทวทูต
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=เทวทูต

             เหล่านิรยบาล
             ๑. จะให้สัตว์นั้นกระทำเหตุชื่อการจำ (จะลงกรรมกรณ์ชื่อ
เครื่องพันธนาการ) ๕ ประการ คือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือ ๒ ข้าง ที่เท้า ๒ ข้าง
และที่ทรวงอกตรงกลาง
             ๒. จะจับสัตว์นั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่งถาก ฯลฯ จะจับสัตว์นั้น
เอาเท้าขึ้นข้างบนเอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไปในหม้อทองแดง ที่มีไฟติดทั่ว
             ๓. จะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรก ซึ่งมี ๔ มุม ๔ ประตู
มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ มีเปลวไฟลุกโพลงทุกด้าน
             บางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านใดด้านหนึ่ง
ของมหานรกเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว เป็นต้น
แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที (อวัยวะที่ถูกแยกออกแล้ว
จะกลับคงรูปเดิมทันที) และในขณะที่สัตว์นั้น ใกล้จะถึงประตู ประตูนั้นจะปิด
             ๔. บางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรก
นั้นเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว เป็นต้น
แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที สัตว์นั้นจะออกทางประตูนั้นได้
             แต่ว่ามหานรกนั้น มีนรกเต็มด้วยคูถใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน
สัตว์นั้นจะตกลงในนรกคูถนั้น และในนรกคูถนั้น มีหมู่สัตว์ปากดังเข็ม
คอยเฉือดเฉือนผิว เป็นต้น แล้วกินเยื่อในกระดูก
             ๕. นรกคูถนั้น มีนรกเต็มด้วยเถ้ารึงใหญ่ ประกอบอยู่รอบด้าน
(คือ ถ่านที่ติดไฟคุมีขี้เถ้าปิดข้างนอกอยู่รอบด้าน) สัตว์นั้นจะตกลงไปใน
นรกเถ้ารึงนั้น (กุกกุลนรก)
             ๖. นรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน ต้นสูงชลูดขึ้นไป
โยชน์หนึ่ง มีหนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดทั่ว เหล่านายนิรยบาลจะบังคับให้สัตว์นั้น
ขึ้นๆ ลงๆ ที่ต้นงิ้วนั้น
             ๗. ป่างิ้วนั้น มีป่าต้นไม้ใบเป็นดาบใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน
สัตว์นั้นจะเข้าไปในป่านั้น จะถูกใบไม้ที่ลมพัด ตัดมือ เป็นต้น
             ๘. ป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น มีแม่น้ำใหญ่ น้ำเป็นด่าง ประกอบอยู่รอบด้าน
สัตว์นั้นจะตกลงไปในแม่น้ำนั้น จะลอยอยู่ในแม่น้ำนั้น
             เหล่านายนิรยบาลพากันเอาเบ็ดเกี่ยวสัตว์นั้นขึ้นวางบนบก แล้วถามว่า
เจ้าต้องการอะไร ถ้าสัตว์นั้นตอบว่า ข้าพเจ้าหิว เจ้าข้า
             เหล่านายนิรยบาลจะเอาขอเหล็กร้อน มีไฟติดทั่ว เปิดปากออก
แล้วใส่ก้อนโลหะร้อนมีไฟติดทั่ว เข้าในปาก ก้อนโลหะนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง
ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง
ออกมาทางส่วนเบื้องล่าง
             ถ้าสัตว์นั้นตอบว่า ข้าพเจ้าระหาย เจ้าข้า
             เหล่านายนิรยบาลจะเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว เปิดปากออก
แล้วเอาน้ำทองแดงร้อนมีไฟติดทั่ว กรอกเข้าไปในปาก น้ำทองแดงนั้นจะไหม้
ริมฝีปาก เป็นต้น
             สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนา อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น
และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด
             เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรกอีก
             เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริอย่างนี้ว่า
             เป็นอันว่า เหล่าสัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้ในโลก ย่อมถูกนายนิรยบาล
ลงกรรมกรณ์ ต่างชนิดเห็นปานนี้
             โอหนอ ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์
             ขอพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธพึงเสด็จอุบัติในโลก
             ขอเราพึงได้นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
             ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงทรงแสดงธรรมแก่เรา
             และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เรื่องนั้น เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ
แล้วจึงบอก ก็เราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น
             ครั้นแล้วตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีก มีใจความว่า
             นรชนเหล่าใด อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ยังประมาทอยู่
จะเข้าถึงหมู่สัตว์เลว เศร้าโศกสิ้นกาลนาน
             ส่วนนรชนเหล่าใด อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาท
ในธรรมของพระอริยะ เห็นภัยในความถือมั่นอันเป็นเหตุแห่งชาติและ
มรณะแล้ว ไม่ถือมั่น หลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นชาติและมรณะได้
             นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทในปัจจุบัน
ล่วงเวรและภัยทั้งปวงและเข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้
[แก้ไขตาม #6-118]

ความคิดเห็นที่ 6-118
ฐานาฐานะ, 21 ชั่วโมงที่แล้ว

GravityOfLove, 2 ชั่วโมงที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
             ๓๐. เทวทูตสูตร ว่าด้วยเทวทูต
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6750&Z=7030&bgc=whitesmoke&pagebreak=0
8:25 PM 2/17/2014

             ย่อความได้ดีครับ.
             ขอเพิ่มลิงค์ในย่อความดังนี้ :-
             คำว่า เทวทูต
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=เทวทูต
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=เทวทูต

ความคิดเห็นที่ 6-119
ฐานาฐานะ, 21 ชั่วโมงที่แล้ว

             คำถามในเทวทูตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6750&Z=7030&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             2. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ คำว่า เทวทูต มีความหมายอย่างไร?
อธิบายตามความเข้าใจของคุณ GravityOfLove. (พอสังเขป)
             3. ในเทวทูต 5 ประการนี้ คุณ GravityOfLove เห็นว่า
             3.1 เทวทูตข้อใด เตือนให้ทำความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ
มากที่สุด เพราะอะไร?
             3.2 เทวทูตข้อใด เตือนให้เห็นภัยในวัฏฏะ ให้เกิดฉันทะอุตสาหะ
ในการศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพื่อให้พ้นไปจากวัฏฏะ
มากที่สุด?

ความคิดเห็นที่ 6-120
GravityOfLove, 14 ชั่วโมงที่แล้ว

             ตอบคำถามในเทวทูตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6750&Z=7030&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ๑. พระยายมถามสัตว์นรกถึงเทวทูต ทั้ง ๕ คือ
             เกิด แก่ เจ็บ การถูกลงโทษ ตาย
             ๒. พระยายมปรารถนาความเป็นมนุษย์ ฯลฯ ขอให้รู้ทั่วถึงธรรมของ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
             ๓. การลงโทษในนรกโดยละเอียด
             ๔. พญายม หมายถึงพญาเวมาณิกเปรต ซึ่งบางครั้งเสวยสมบัติในวิมานทิพย์
บางคราวเสวยวิบากกรรม และพญายมนั้นมิใช่มีตนเดียว แต่มีถึง ๔ ตนประจำประตูนรก ๔ ประตู
            ๕. ผู้ที่ไปเกิดในนรก ถ้ามีบาปกรรมนิดหนึ่ง ย่อมระลึกกุศลกรรมที่เคยทำ
ได้ตามธรรมดาของตน แล้วไปบังเกิดในเทวโลก
             ถ้าระลึกตามธรรมดาของตนไม่ได้ พระยายมจะถามถึงเทวทูต ๕ ให้ระลึกได้
             ถ้ายังระลึกไม่ได้ พระยายมจะบอกเอง (ถ้ามี)
             ๖. เทวทูตสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงเว้นเลย
---------------------
             2. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ คำว่า เทวทูต มีความหมายอย่างไร?
อธิบายตามความเข้าใจของคุณ GravityOfLove. (พอสังเขป)
             สิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนใจให้ระลึกถึงคติธรรมดาของชีวิตอันมีความตายเป็นที่สุด
เพื่อจะได้เกิดความสังเวชและเร่งขวนขวายทำความดี ด้วยความไม่ประมาท
             (เข้าใจตามที่พจนานุกรมอธิบายเลยค่ะ)
             ตอนที่ได้อ่านครั้งแรกในกระทู้
//topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2011/12/Y11442477/Y11442477.html
             เคยเข้าใจว่า เทวทูต หมายถึงเทวดามาบอกว่า ท่านกำลังจะตาย หรือท่านจะตายวันไหน
---------------------
             3. ในเทวทูต 5 ประการนี้ คุณ GravityOfLove เห็นว่า
             3.1 เทวทูตข้อใด เตือนให้ทำความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ
มากที่สุด เพราะอะไร?
             การถูกลงโทษค่ะ เพราะถ้าทำความชั่ว นอกจากจะมีคติไม่น่าปรารถนา
ในปรโลกแล้ว ยังถูกลงโทษในปัจจุบันด้วย
             เมื่อเห็นคนถูกลงโทษอย่างรุนแรง อย่างทรมาน ก็รู้สึกสังเวช
ตัวเองก็ย่อมไม่อยากโดนอย่างนั้นบ้าง
             เคยเเห็นอุปกรณ์ทรมานนักโทษการเมืองของประเทศหนึ่งในสมัยก่อน
             เคยอ่านประวัติศาสตร์ประเทศหนึ่ง ที่ว่าลงโทษคนโดยการเฉือนเนื้อทีละชิ้น
ให้ครบ ๑,๐๐๐ ชิ้น ท่ามกลางสาธารณะชนจนกว่าจะตาย ถ้ายังไม่ครบ ก็ฉีดยาให้มีชีวิต
อยู่ก่อน จนกว่าจะครบ
            เคยอ่านการประหารนักโทษโดยการยิงเป้า ตั้งแต่นำออกจากห้องขังไปจนถึง
มัดกับหลักประหาร แล้วลั่นไกยิง วินาทีที่เขาเสียชีวิต
           ฯลฯ
            อ่านแล้วสังเวชกับชีวิตมาก
- - - - - - - - - - - -
             3.2 เทวทูตข้อใด เตือนให้เห็นภัยในวัฏฏะ ให้เกิดฉันทะอุตสาหะ
ในการศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพื่อให้พ้นไปจากวัฏฏะ
มากที่สุด?
             คนเจ็บค่ะ คนเจ็บป่วยที่ทรมานมากๆ

ความคิดเห็นที่ 6-121
ฐานาฐานะ, 8 ชั่วโมงที่แล้ว

GravityOfLove, 4 ชั่วโมงที่แล้ว
             ตอบคำถามในเทวทูตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6750&Z=7030&bgc=whitesmoke&pagebreak=0
...
9:28 AM 2/18/2014

             ตอบคำถามได้ดีครับ.
             เทวทูตแต่ละข้อ สามารถที่จะเตือนให้ทำความดีหรือสุจริต 3 ได้
แก่ผู้รู้จักพิจารณาโดยแยบคาย.
             แต่สุจริต 3 หรือการทำความดีทางกายวาจาและใจ ตามที่
พระยายมกล่าวไว้นั้นเป็นโลกียภูมิเท่านั้น กล่าวคือ ยังไม่อาจจะพ้นไป
จากทุคติได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะในบางชาติอาจมัวเมาในชาติกำเนิด
มัวเมาในทรัพย์ที่มี หรือคบคนพาลเป็นมิตร ก็อาจทำให้กระทำทุจริต 3 ได้อีก
อันทำให้ต้องเกิดในอบายทุคติได้อีก.
             ส่วนเนื้อความในคาถาประพันธ์นั้น เป็นระดับโลกุตตรภูมิ
พ้นจากชาติชรามรณะ ไม่ต้องเวียนในวัฏฏะทุกข์นี้อีก.

ความคิดเห็นที่ 6-122
ฐานาฐานะ, 7 ชั่วโมงที่แล้ว

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า เทวทูตสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6750&Z=7030

              พระสูตรหลักถัดไป คือภัทเทกรัตตสูตร [พระสูตรที่ 31].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              ภัทเทกรัตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7031&Z=7114
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=526

              อานันทภัทเทกรัตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7115&Z=7222
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=535

              มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7223&Z=7493
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=548

              โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7494&Z=7622
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=565

              จูฬกัมมวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7623&Z=7798
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=579

              มหากัมมวิภังคสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7799&Z=8027
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=598

ความคิดเห็นที่ 6-2
GravityOfLove, 18 กุมภาพันธ์ เวลา 21:07 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
             ๓๑. ภัทเทกรัตตสูตร ว่าด้วยผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7031&Z=7114&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
             สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มี
ราตรีหนึ่งเจริญ แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้คือ
             (อุทเทส ในที่นี้หมายถึงบทมาติกาหรือหัวข้อธรรม
             วิภังค์ ในที่นี้หมายถึงการจำแนกเนื้อความให้พิสดาร
             ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ หมายถึงผู้ใช้เวลากลางคืนให้หมดไปด้วยการเจริญ
วิปัสสนากัมมัฏฐานเท่านั้น ไม่คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ)
             คำว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ผู้มีราตรีเดียวเจริญ&detail=on

             บุคคลไม่ควรคำนึงถึง (ในที่นี้หมายถึงไม่ปรารถนาด้วยตัณหาและทิฏฐิ)
สิ่งที่ล่วงแล้ว (ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ ในอดีต) ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง
             ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรม (ด้วยอนุปัสสนา ๗) ปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น
ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด
             พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่าความผัดเพี้ยน (เจรจาต่อรอง) กับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น
ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
             พระมุนี (พระพุทธเจ้า) ผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้
มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
             (อนุปัสสนา ๗ คือ อนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนา อนัตตานุปัสสนา
นิพพิทานุปัสสนา วิราคานุปัสสนา นิโรธานุปัสสนา ปฏินิสสัคคานุปัสสนา)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อุเทศ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=มาติกา
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=วิภังค์
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ขันธ์_5#find1
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ภาวนา_2

             บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร
             คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
             บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร
             คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
             บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร
             คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต
             บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร
             คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต
             บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร
             คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ
             ย่อมเล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง
             ย่อมเล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง
เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง
             ย่อมเล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง
เล็งเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง
             ย่อมเล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง
เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง
             ย่อมเล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง (สักกายทิฏฐิ ๒๐)
             บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร
             คือ อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ
ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ
             ย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ไม่เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

[แก้ไขตาม #6-3]

ความคิดเห็นที่ 6-3
ฐานาฐานะ, 20 กุมภาพันธ์ เวลา 00:16 น.

GravityOfLove, วันอังคาร เวลา 21:07 น.
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
              ๓๑. ภัทเทกรัตตสูตร ว่าด้วยผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7031&Z=7114&bgc=whitesmoke&pagebreak=0
...
9:07 PM 2/18/2014

              ย่อความได้ดีครับ.
              เพิ่มลิงค์ในย่อความ ดังนี้ :-
              คำว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ผู้มีราตรีเดียวเจริญ&detail=on

ความคิดเห็นที่ 6-4
ฐานาฐานะ, 20 กุมภาพันธ์ เวลา 00:20 น.

             คำถามในภัทเทกรัตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7031&Z=7114

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?

ความคิดเห็นที่ 6-5
GravityOfLove, 20 กุมภาพันธ์ เวลา 10:18 น.

ขอบพระคุณค่ะ
             ตอบคำถามในภัทเทกรัตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7031&Z=7114

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ๑. บุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเป็นอย่างไร
             ๒. บุคคลคำนึงหรือไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว, บุคคลมุ่งหวังหรือไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
คืออย่างไร โดยจำแนกตามขันธ์ ๕
             ๓. บุคคลง่อนแง่นหรือไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน คือมีหรือไม่มีสักกายทิฏฐิ ๒๐

ย้ายไปที
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=gravity-of-love&month=12-03-2013&group=1&gblog=1



Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 13:49:21 น.
Counter : 644 Pageviews.

0 comments
สักกายทิฐิ **mp5**
(8 เม.ย. 2567 11:07:04 น.)
คิดดี พูดดี ทำดี นาฬิกาสีชมพู
(6 เม.ย. 2567 17:52:38 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 28 : กะว่าก๋า
(5 เม.ย. 2567 04:10:07 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 27 : กะว่าก๋า
(4 เม.ย. 2567 05:11:37 น.)

Gravity-of-love.BlogGang.com

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด