26.9 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬสุญญตสูตร [พระสูตรที่ 21]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
26.8 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬสุญญตสูตร [พระสูตรที่ 21]

ความคิดเห็นที่ 6-93
ฐานาฐานะ, 11 กุมภาพันธ์ เวลา 20:33 น.

             สรุปถูกต้องครับ.

ความคิดเห็นที่ 6-94
GravityOfLove, 11 กุมภาพันธ์ เวลา 20:38 น.

ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-95
GravityOfLove, 11 กุมภาพันธ์ เวลา 20:58 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
             ๒๘. อุปักกิเลสสูตร ว่าด้วยอุปกิเลส
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6017&Z=6311&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารโฆสิตาราม เขตพระนครโกสัมพี
             สมัยนั้น พวกภิกษุในพระนครโกสัมพีเกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกัน
เสียดสีกันและกันด้วยฝีปากอยู่
             ภิกษุรูปหนึ่งจึงเข้าไปทูลพระผู้มีพระภาค ขอพระองค์เสด็จไปอนุเคราะห์
             เมื่อเสด็จไปถึงแล้ว ได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า
             อย่าเลย อย่าขัดใจ อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย
             ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า
             ขอพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเจ้าของธรรม ทรงยับยั้งก่อน
ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ทรงประกอบเนืองๆ แต่สุขวิหารธรรมใน
ปัจจุบันอยู่เถิด พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ ทะเลาะ แก่งแย่ง
วิวาทกันเช่นนี้ (พวกนั้นทะเลาะกันแล้ว จะรับผลของการทะเลาะนั้นเอง)
             พระผู้มีพระภาคตรัสเช่นเดิมอีก ๒ ครั้ง ภิกษุรูปนั้นก็ทูลเหมือนเดิมทั้ง ๒ ครั้ง
             ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครโกสัมพีในเวลาเช้า
เสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว ทรงเก็บเสนาสนะ
กำลังประทับยืนอยู่นั่นแหละ ได้ตรัสพระคาถามีใจความว่า
             เมื่อสงฆ์แตกกัน ต่างก็มิได้สำคัญตัวว่าเป็นพาล พากันหลงลืม
ปรารถนาแสดงฝีปาก
             ชนเหล่าใดผูกโกรธ เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ
ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกโกรธ เวรของชนเหล่านั้นย่อมเข้าไปสงบได้
             เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวรเลย ในกาลไหนๆ แต่จะระงับได้
ด้วยไม่มีเวรกัน นี้เป็นธรรมดามีมาเก่าแก่
             ก็คนพวกอื่น (พวกที่ไม่ใช่บัณฑิต) ย่อมไม่รู้สึกว่า พวกเราจะย่อยยับในที่นี้
แต่ชนเหล่าใดในที่นั้นรู้สึก (ว่าพวกเราจะย่อยยับในที่นี้) ความมาดร้ายกันย่อมสงบ
แต่ (จาก) ชนเหล่านั้นได้
             คนพวกอื่นตัดกระดูกกัน ผลาญชีวิตกัน ยังมีคืนดีกันได้ เหตุไร พวกเธอจึงไม่มีเล่า
             ถ้าบุคคลได้สหายที่มีปัญญารักษาตัว ร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์
พึงชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
             ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญารักษาตัว ร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์
พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป การเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกัน
ในคนพาล พึงเป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไป และไม่พึงทำบาป
             ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แล้ว ได้เสด็จไปยังบ้านพาลกโลณการ
             พระภคุอยู่ในบ้านพาลกโลณการนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระภคุว่า
             พอทน พอเป็นไปได้หรือ เธอไม่ลำบากด้วยเรื่องบิณฑบาตบ้างหรือ
             ท่านพระภคุกราบทูลว่า
             พอทน พอเป็นไปได้ และข้าพระองค์ไม่ลำบากด้วยเรื่องบิณฑบาตเลย
พระพุทธเจ้าข้า
             ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสนทนากับท่านพระภคุทรงชักชวนให้อาจหาญ
ร่าเริงด้วยกถาประกอบด้วยธรรมแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปประทับนั่งยัง
ป่าปาจีนวงส์
             สมัยนั้น ท่านพระอนุรุทธ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ อยู่ในป่านั้น
             พระเถระทั้ง ๓ ได้ต้อนรับพระองค์ๆ ตรัสกับท่านพระอนุรุทธว่า
             เธอพอทน พอเป็นไปได้หรือ พวกเธอไม่ลำบากด้วยเรื่องบิณฑบาตบ้างหรือ
             ท่านพระอนุรุทธกราบทูลว่า
             พอทนได้ พอเป็นไปได้ พวกข้าพระองค์ไม่ลำบากด้วยเรื่องบิณฑบาตเลย
พระพุทธเจ้าข้า
             พวกเธอพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้ดังนมสดและน้ำ
มองดูซึ่งกันและกันด้วยนัยน์ตาที่น่ารักอยู่หรือ
             ท่านพระอนุรุทธกราบทูลว่า แน่นอน พระพุทธเจ้าข้า
             ตรัสถามว่า อย่างไร
             ท่านพระอนุรุทธกราบทูลว่า
             ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเรา เราได้ดีแล้วหนอ
ที่อยู่กับเพื่อนภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันเห็นปานนี้
             ข้าพระองค์นั้นเข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา
ในท่านผู้มีอายุเหล่านี้ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ และมีความดำริว่า
             ไฉนหนอ เราพึงวางจิตของตนให้เป็นไปตามอำนาจจิตของท่านผู้มีอายุเหล่านี้
             ข้าพระองค์จึงวางจิตของตนให้เป็นไปตามอำนาจจิตของท่านผู้มีอายุเหล่านี้
(เก็บความนึกคิดของตนแล้วประพฤติตามอำนาจความนึกคิดของท่านเหล่านี้)
             พวกข้าพระองค์ต่างกันแต่กายเท่านั้น ส่วนจิตคงเป็นอันเดียวกัน
             แม้ท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมพิละ ก็กราบทูลอย่างเดียวกัน
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ดีละๆ อนุรุทธ ก็พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรม
(อุทิศกายและใจ) อยู่บ้างหรือ
             ท่านพระอนุรุทธกราบทูลว่า แน่นอน พระพุทธเจ้าข้า
             ตรัสถามว่า อย่างไรเล่า
             ท่านพระอนุรุทธกราบทูลว่า
             พวกข้าพระองค์รูปใดกลับจากบิณฑบาตก่อน รูปนั้นย่อมแต่งตั้งอาสนะ
ตั้งน้ำฉันน้ำใช้และกระโถนไว้
             รูปใดกลับทีหลัง ถ้ามีภัตที่ฉันเหลือ ยังปรารถนาอยู่ ก็ฉันไป ถ้าไม่ปรารถนา
ก็เทเสียในที่ปราศจากหญ้า หรือทิ้งเสียในน้ำที่ปราศจากตัวสัตว์ รูปนั้นจะเก็บอาสนะ
เก็บน้ำฉันน้ำใช้และกระโถน กวาดโรงฉัน
             รูปใดเห็นหม้อน้ำฉันหรือหม้อน้ำในวัจจกุฎีว่างเปล่า รูปนั้นจะตักใส่ไว้
ถ้ารูปนั้นไม่อาจ พวกข้าพระองค์จะกวักมือเรียกรูปที่สองมาแล้ว ช่วยกันตั้งหม้อน้ำฉัน
หรือหม้อน้ำใช้ไว้ โดยช่วยกันหิ้วคนละมือ
             พวกข้าพระองค์จะไม่ปริปากเพราะเหตุนั้นเลย
             และพวกข้าพระองค์จะนั่งประชุมสนทนาธรรมกันคืนยังรุ่งทุกๆ ห้าวัน
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ดีละๆ อนุรุทธ ก็พวกเธอผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้
ย่อมมีคุณวิเศษคือ ญาณทัสสนะอันประเสริฐ สามารถกว่าธรรมของมนุษย์อันยิ่ง
เป็นเครื่องอยู่สบายอันได้บรรลุแล้วหรือ
             ท่านพระอนุรุทธกราบทูลว่า
             พวกข้าพระองค์ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่
ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูป
             แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นย่อมหายไปได้
พวกข้าพระองค์ยังไม่แทงตลอดนิมิตนั้น
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             พวกเธอต้องแทงตลอดนิมิตนั้นได้แน่ แม้เราก็เคยมาแล้ว
             เมื่อก่อนตรัสรู้ ยังไม่รู้เองด้วยปัญญาอันยิ่ง ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่
             ๑. ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูปเหมือนกัน แต่ไม่ช้าเท่าไร
แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้
             เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นเช่นนั้น
             เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็วิจิกิจฉาเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและ
การเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉาขึ้นแก่เราได้อีก
             อมนสิการ (การไม่ใส่ใจ) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม)
ความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป
ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน
(นานัตตสัญญา) ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไป (รวม ๑๑ ประการ) ตรัสทำนองเดียวกัน
             เรารู้ว่า อมนสิการ ฯลฯ ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไป เป็นเครื่องเกาะจิต
ให้เศร้าหมอง (อุปกิเลส) จึงละเสีย
             ๒. เรานั้นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่
ย่อมรู้สึกแสงสว่างอย่างเดียว แต่ไม่เห็นรูป เห็นรูปอย่างเดียว แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง
ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง
             เรานั้นจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เป็นอย่างนั้น
             เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า สมัยใด เราไม่ใส่ใจนิมิตคือรูป ใส่ใจแต่นิมิต
คือแสงสว่าง สมัยนั้น เราย่อมรู้สึกแสงสว่างอย่างเดียว แต่ไม่เห็นรูป
             ส่วนสมัยใดเราไม่ใส่ใจนิมิตคือแสงสว่าง ใส่ใจแต่นิมิตคือรูป
สมัยนั้น เราย่อมเห็นรูปอย่างเดียว แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง ตลอดกลางคืนบ้าง
ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง
             ๓. เรานั้นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่
ย่อมรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย และรู้สึกแสงสว่าง
อย่างหาประมาณมิได้ เห็นรูปอย่างหาประมาณมิได้
             ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง
             เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เป็นเช่นนั้น
             เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า สมัยใด เรามีสมาธินิดหน่อย สมัยนั้น เราก็มีจักษุ
นิดหน่อย ด้วยจักษุนิดหน่อย เรานั้นจึงรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย
             ส่วนสมัยใด เรามีสมาธิหาประมาณมิได้ สมัยนั้น เราก็มีจักษุหาประมาณมิได้
ด้วยจักษุหาประมาณมิได้ เรานั้นจึงรู้สึกแสงสว่างหาประมาณมิได้ และเห็นรูป
หาประมาณมิได้
             ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้างตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง
             เพราะเรารู้ว่าวิจิกิจฉา ฯลฯ ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไป เป็นเครื่องเกาะจิต
ให้เศร้าหมองแล้ว ละได้แล้ว เรานั้นจึงได้มีความรู้ดังนี้ว่า เครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองนั้นๆ
ของเรา เราละได้แล้ว ดังนั้น เราจึงเจริญสมาธิโดยส่วนสามได้ในบัดนี้
             ๔. เรานั้นได้เจริญสมาธิมีวิตกมีวิจารบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจารบ้าง
ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง
             ได้เจริญสมาธิมีปีติบ้าง ได้เจริญสมาธิไม่มีปีติบ้าง ได้เจริญสมาธิสหรคต
ด้วยสุขบ้าง ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง
             เพราะสมาธิชนิดที่มีวิตกมีวิจารบ้าง ชนิดที่ไม่มีวิตกมีแต่วิจารบ้าง
ชนิดที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง ชนิดที่มีปีติบ้าง ชนิดที่ไม่มีปีติบ้าง ชนิดที่สหรคต
ด้วยสุขบ้าง ชนิดที่สหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง เป็นอันเราเจริญแล้ว
             ฉะนั้น ความรู้ความเห็นจึงได้เกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ
ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้ความเกิดใหม่ย่อมไม่มี
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอนุรุทธจึงชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
[แก้ไขตาม #6-96]

ความคิดเห็นที่ 6-96
ฐานาฐานะ, 12 กุมภาพันธ์ เวลา 13:43 น.

GravityOfLove, 35 นาทีที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
             ๒๘. อุปักกิเลสสูตร ว่าด้วยอุปกิเลส
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6017&Z=6311&bgc=whitesmoke&pagebreak=0
...
8:58 PM 2/11/2014

             ย่อความได้ดีครับ มีข้อติงดังนี้ :-
แต่ชนเหล่าใดในที่นั้นรู้สึกความมาดร้ายกัน ย่อมสงบชนเหล่านั้นได้
             แก้ไขเป็น
แต่ชนเหล่าใดในที่นั้นรู้สึก ความมาดร้ายกันย่อมสงบแต่ชนเหล่านั้นได้
             นัยว่า
             แต่ชนเหล่าใดในที่นั้นรู้สึกว่า (พวกเราจะย่อยยับในที่นี้)
ความมาดร้ายกันย่อมสงบจากชนเหล่านั้นได้
             กล่าวคือ ผู้ใดรู้ถึงนัยว่า เมื่อทะเลาะกันแล้ว ก็จะย่อยยับในการทะเลาะกันนั้น
ก็เป็นการรู้ทุกข์โทษของการทะเลาะกัน จากนั้นผู้นั้นก็จะระงับการทะเลาะกันนั้น
เพื่อไม่ต้องย่อยยับ ฯ
             เมื่อระงับการทะเลาะกัน ก็เป็นอันว่า ความมาดร้ายกันย่อมสงบได้จาก
หรือเพราะหรือเฉพาะผู้นั้น.
             คำว่า แต่ น่าจะแปลว่า จาก เช่น แต่นั้น แปลว่า จากนั้น
             หรือ เฉพาะ เช่น เฉพาะแต่.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

             พอทน พอเป็นไปได้ และข้าพระองค์ไม่ลำบากด้วยเรื่องบิณฑบาตเลย พระพุทธเจ้าข้า
             ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปประทับนั่งยังป่าปาจีนวงส์
             ควรเพิ่มเติมว่า
             พอทน พอเป็นไปได้ และข้าพระองค์ไม่ลำบากด้วยเรื่องบิณฑบาตเลย พระพุทธเจ้าข้า
             ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสนทนากับท่านพระภคุทรงชักชวนให้อาจหาญ
ร่าเริงด้วยกถาประกอบด้วยธรรมแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปประทับนั่งยังป่าปาจีนวงส์ ฯ
             กล่าวคือ ทรงสนทนาหรือแสดงธรรมให้ท่านพระภคุอาจหาญร่าเริงด้วยกถาประกอบด้วยธรรมกถา.

ความคิดเห็นที่ 6-97
ฐานาฐานะ, 12 กุมภาพันธ์ เวลา 13:52 น.

            คำถามในอุปักกิเลสสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6017&Z=6311

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             2. พระสูตรนี้เกิดขึ้นประมาณพรรษาที่เท่าไร?
             3. ในขณะพระสูตรนี้ ท่านพระอนุรุทธบรรลุพระอรหัตหรือยัง?

ความคิดเห็นที่ 6-98
GravityOfLove, 12 กุมภาพันธ์ เวลา 19:20 น.

มีข้อติงดังนี้ :- ...
ขอบพระคุณค่ะ
----------------------
             ตอบคำถามในอุปักกิเลสสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6017&Z=6311

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ๑. เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวรเลย ในกาลไหนๆ แต่จะระงับได้ด้วยไม่มีเวรกัน
             ๒. ทรงแสดงคุณและโทษแห่งสหายที่เป็นบัณฑิต และสหายที่เป็นพาล
             ๓. นิมิตแสงสว่างและนิมิตรูปหายไปเพราะเกิดอุปกิเลส ๑๑ อย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือหลายอย่าง
             ๔. ในการบำเพ็ญสมณธรรม แม้เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายใจอยู่
ก็มีเหตุที่เห็นแสงสว่างอย่างเดียว แต่ไม่เห็นรูป
             เหตุที่เห็นรูปอย่างเดียว แต่ไม่เห็นแสงสว่าง
             ๕. ในการบำเพ็ญสมณธรรม แม้เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายใจอยู่
ก็มีเหตุที่เห็นแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย
             เหตุที่เห็นแสงสว่างอย่างหาประมาณมิได้ เห็นรูปอย่างหาประมาณมิได้
             ๖. พึงละธรรมเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง ๑๑ ประการ แล้วเจริญสมาธิโดยส่วนสาม
             ๗. ชาวบ้านลงทัณฑกรรมแก่ภิกษุที่ทะเลาะกันในเมืองโกสัมพี โดยการไม่ถวาย
อาหารแก่ภิกษุเหล่านั้น จนกว่าจะให้พระศาสดาทรงอดโทษ
             ๘. ในพระสูตรนี้พระเถระทั้ง ๓ ยังเป็นพระปุถุชนอยู่ บำเพ็ญสมณธรรมในป่าปาจีนวงส์
             ในจูฬโคสิงคสาลสูตร พระเถระทั้ง ๓ บำเพ็ญสมณธรรมในป่าโคสิงคสาลวัน
บรรลุสมาบัติ ๙ ซึ่งระดับพระอนาคามีและพระอรหันต์เท่านั้นที่ทำได้
ในอรรถกถาจูฬโคสิงคสาลสูตรกล่าวว่า พวกท่านเป็นพระอรหันต์ บรรลุปฏิสัมภิทา
เป็นพระขีณาสพ เสวยสามัคคีรสอยู่ที่ป่านั้น
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=6696&Z=6876
----------------------
             2. พระสูตรนี้เกิดขึ้นประมาณพรรษาที่เท่าไร?
             พรรษาที่ ๑๐ ค่ะ
             พ.๑๐ ป่าตำบลปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี (ในคราวที่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=พุทธกิจ_๔๕_พรรษา
----------------------
             3. ในขณะพระสูตรนี้ ท่านพระอนุรุทธบรรลุพระอรหัตหรือยัง?
             ยังค่ะ ในเนื้อความพระไตรปิฎก พวกท่านยังมีอุปกิเลส ๑๑ ที่เป็นอุปสรรค
ต่อการบำเพ็ญสมณธรรม เช่น ทำให้ไม่แทงตลอดนิมิต

ความคิดเห็นที่ 6-99
ฐานาฐานะ, 12 กุมภาพันธ์ เวลา 19:56 น.

GravityOfLove, 13 นาทีที่แล้ว
             ตอบคำถามในอุปักกิเลสสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6017&Z=6311
...
7:19 PM 2/12/2014

             ตอบคำถามได้ดีครับ.

ความคิดเห็นที่ 6-100
ฐานาฐานะ, 12 กุมภาพันธ์ เวลา 19:58 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า อุปักกิเลสสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6017&Z=6311

              พระสูตรหลักถัดไป คือพาลบัณฑิตสูตร [พระสูตรที่ 29].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              พาลบัณฑิตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6312&Z=6749
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=467

              เทวทูตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6750&Z=7030
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=504

ความคิดเห็นที่ 6-101
GravityOfLove, 13 กุมภาพันธ์ เวลา 13:21 น.

             คำถามพาลบัณฑิตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6312&Z=6749

             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. ถ้าคนพาลจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ชั่ว พูดคำพูดที่ชั่ว และทำการ
ทำที่ชั่ว บัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่า ผู้นี้เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ
เพราะคนพาลมักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว และมักทำการทำที่ชั่ว ฉะนั้น
พวกบัณฑิตจึงรู้ได้ว่า นี่เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ
             แปลว่า ถ้าคนพาลไม่ทำ ๓ อย่างนี้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคนพาล
คำตอบคือ คนพาลจะทำ ๓ อย่างนี้แน่ๆ ดังนั้นเราจึงรู้ได้ว่าเขาเป็นคนพาล
             ถูกต้องไหมคะ
             ๒. ถ้าคนพาลนั่งในสภาก็ดี ริมถนนรถก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี
ชนในที่นั้นๆ จะพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขา ถ้าคนพาลมักเป็นผู้ทำชีวิต
สัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม
มักพูดเท็จ มีปรกติตั้งอยู่ในความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย
ในเรื่องที่ชนพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขานั้นแล คนพาลจะมี
ความรู้สึกอย่างนี้ว่า ปรกติเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในปรกติเหล่านั้น
ด้วย
             ๓. คนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดิน
             ๔. คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสเบื้องต้นในโลกนี้
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-102
ฐานาฐานะ, 13 กุมภาพันธ์ เวลา 18:17 น.

GravityOfLove, 4 ชั่วโมงที่แล้ว
              คำถามพาลบัณฑิตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=6312&Z=6749

              กรุณาอธิบายค่ะ
              ๑. ถ้าคนพาลจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ชั่ว พูดคำพูดที่ชั่ว และทำการ
ทำที่ชั่ว บัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่า ผู้นี้เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ
เพราะคนพาลมักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว และมักทำการทำที่ชั่ว ฉะนั้น
พวกบัณฑิตจึงรู้ได้ว่า นี่เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ
              แปลว่า ถ้าคนพาลไม่ทำ ๓ อย่างนี้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคนพาล
คำตอบคือ คนพาลจะทำ ๓ อย่างนี้แน่ๆ ดังนั้นเราจึงรู้ได้ว่าเขาเป็นคนพาล
              ถูกต้องไหมคะ
อธิบายว่า ถูกต้องครับ

              ๒. ถ้าคนพาลนั่งในสภาก็ดี ริมถนนรถก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี
ชนในที่นั้นๆ จะพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขา ถ้าคนพาลมักเป็นผู้ทำชีวิต
สัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม
มักพูดเท็จ มีปรกติตั้งอยู่ในความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย
ในเรื่องที่ชนพูดถ้อยคำที่พอเหมาะพอสมแก่เขานั้นแล คนพาลจะมี
ความรู้สึกอย่างนี้ว่า ปรกติเหล่านั้นมีอยู่ในเรา และเราก็ปรากฏในปรกติเหล่านั้น
ด้วย
อธิบายว่า
              บทว่า ตชฺชํ ตสฺสารุปฺปํ ความว่า จะพูดด้วยถ้อยคำที่พอเหมาะแก่เขา คือเหมาะสมแก่เขา.
อธิบายว่า ได้แก่ถ้อยคำที่ปฏิสังยุตด้วยโทษ ทั้งที่เป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายิกภพของเวรทั้ง ๕.

              ถ้อยคำที่เหมาะสมกับผู้ที่ทำปาณาติบาต ก็เช่น ทุกข์โทษจากปาณาติบาตในชาตินี้
แล้วชาติหน้า กล่าวคือ ถูกตำหนิ เก้อเขินเมื่อเข้าสู่บริษัท (ระแวงว่าคนอื่นจะรู้) ฯลฯ
              เมื่อคนในที่ประชุมกล่าวถึงเรื่องนี้ คนพาลจะรู้สึกว่า เราก็ทำอย่างนั้นเป็นปกติ
ก็จะได้รับโทษอย่างนั้นเหมือนกัน ก็จะเสียใจ.

              โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล ๕ ประการ
              อานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล ๕ ประการ
//84000.org/tipitaka/read/?10/79-80

              ๓. คนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดิน
อธิบายว่า
              เงายอดภูเขาใหญ่ ย่อมปกคลุม ครอบงำแผ่นดินในสมัยเวลาเย็น ฉันใด
              คนพาลจะอยู่ที่ใดๆ ก็ตาม กรรมชั่วของเขาก็ครอบงำเขา กล่าวคือ
หนีไม่พ้นจากผลของกรรมชั่วนั้นเลย เขาจะรู้สึกเดือดร้อนใจว่า เราไม่ได้ทำความดี
อันป้องกันความทุกข์อันเป็นผลของกรรมชั่วไว้เลย ก็เสียใจอยู่.

              ๔. คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสเบื้องต้นในโลกนี้
              ขอบพระคุณค่ะ
อธิบายว่า การติดใจในรสอาหาร และการทำอกุศลกรรม
เป็นทางให้อุบัติเป็นสัตว์เดียรัจฉานจำพวกต่างๆ เช่น พวกกินหญ้า กินอุจจาระ
เกิดตายในที่มืด.

ความคิดเห็นที่ 6-103
GravityOfLove, 13 กุมภาพันธ์ เวลา 20:45 น.

นั่งในสภาก็ดี ริมถนนรถก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี
คนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดิน
คำเหล่านี้ ไม่มีนัยพิเศษอะไรใช่ไหมคะ

คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสเบื้องต้นในโลกนี้
พูดเป็นภาษาธรรมดาว่าอย่างไรคะ

ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-104
ฐานาฐานะ, 13 กุมภาพันธ์ เวลา 20:57 น.

GravityOfLove, 7 นาทีที่แล้ว
นั่งในสภาก็ดี ริมถนนรถก็ดี ริมทางสามแพร่งก็ดี
คนพาลผู้อยู่บนตั่ง หรือบนเตียง หรือนอนบนพื้นดิน
คำเหล่านี้ ไม่มีนัยพิเศษอะไรใช่ไหมคะ
              น่าจะมีนัยว่า อยู่ที่ใดๆ ก็ตาม เช่น อยู่ต่อหน้าผู้คน (นั่งในสภา)
หรือในที่หลีกเร้นของตน (บนตั่ง หรือบนเตียง)
              นัยก็คือ ไม่ว่าอยู่ในที่ใดๆ ที่แจ้งหรือที่ลับ.

คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสเบื้องต้นในโลกนี้
พูดเป็นภาษาธรรมดาว่าอย่างไรคะ
              น่าจะเป็นว่า คนพาลกินอาหาร เพราะติดในรสอาหาร
ไม่ใช่กินเพื่อบรรเทาความหิว (เวทนาเก่า)

ย้ายไปที
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=gravity-of-love&month=12-03-2013&group=1&gblog=1



Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 13:45:41 น.
Counter : 506 Pageviews.

0 comments
: รูปแบบของการตระหนักในการรับรู้ : กะว่าก๋า
(15 เม.ย. 2567 05:37:45 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 34 : กะว่าก๋า
(12 เม.ย. 2567 05:52:40 น.)
Day..10 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(11 เม.ย. 2567 08:25:45 น.)
ไม่ควรก่อแผลหรือก่อแผลเป็น ปัญญา Dh
(8 เม.ย. 2567 20:22:02 น.)

Gravity-of-love.BlogGang.com

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด