พฤษภาคม 2555

 
 
1
2
3
4
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
โทษของความอิจฉาริษยา
มนุษย์เราต่างมี องค์ประกอบอยู่ ๒ ส่วนด้วยกัน คือกายและใจ กายประกอบด้วยธาตุสี่ มีสภาพไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่และก็ดับไป ส่วนใจเป็นนามธรรม มีสภาพซัดส่ายไปมาไม่หยุดนิ่ง และโดยความเป็นจริงแล้ว แม้ว่ากายจะดับ แต่ใจดวงนี้ไม่เคยดับสูญ กลับเคลื่อนย้ายจากกายไปสู่สภาวะใหม่ตามแรงกรรมที่ได้ทำเอาไว้ ความแตกต่างที่น่าพิศวงอีกประการหนึ่งของกายและใจก็คือ กายนั้นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงจากเกิดไปสู่ความดับ และอีกทั้งเป็นรูปธรรม แต่กลับไม่มีใครสามารถบังคับบัญชา หรือโน้มน้าวให้เป็นอย่างที่เราต้องการได้ ผิดกับใจที่เป็นนามธรรม ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่พร้อมที่จะยอมรับการฝึกฝน เมื่อฝึกฝนใจจนกระทั่งละเอียดอ่อนนุ่มนวลควรแก่การงานแล้ว จะโน้มน้าวใจไปที่ไหนก็ได้ตามความต้องการของตน
 
มีถ้อยคำที่เปรตตนหนึ่งกล่าวไว้ใน มัตตาเปติวัตถุ ว่า
 
     “ฉันได้ทำบาปกรรมเอาไว้ จึงไปสู่เปตโลก ฉันอนุโมทนาทานที่ท่านให้แล้ว จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน ขอท่านพร้อมด้วยญาติทุกคน จงมีอายุยืนนานเถิด ขอท่านจงประพฤติธรรมและให้ทานใน โลกนี้ แล้วจะเข้าถึงฐานะอันไม่เศร้าโศก เมื่อท่านกำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมด้วยรากแล้ว ใครๆ ก็ติเตียนท่านไม่ได้ จักเข้าถึงโลกสวรรค์”
 
     เราเกิดมาบนโลกนี้ ไม่ได้มาเพื่อเสวยบุญหรือชดใช้กรรมอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันอยู่ แต่เกิดมาเพื่อสั่งสมบุญบารมีให้ ยิ่งๆขึ้นไป ไม่ใช่เกิดมาเพียงแค่ทำมาหากิน เพียงปล่อยชีวิตให้เพลิดเพลินตามกระแสโลกไปวันๆเท่านั้น แต่เราต้องสร้างบารมี ในโลกสวรรค์นั้นเป็นทิพยสถานรองรับการเสวยผลบุญได้ ที่กระทำเอาไว้ขณะที่เป็นมนุษย์ ส่วนในอบายภูมิ เป็นภพภูมิที่ต้องชดใช้วิบากกรรมที่เคยทำผิดพลาดมา ในภพภูมิเหล่านี้ ไม่มีการทำมาค้าขาย ไร้การศึกษาเล่าเรียน มีแต่เสวยกรรมที่ตนเองได้สร้างเอาไว้ในอดีตชาติเท่านั้น แต่ผู้คนส่วนใหญ่ แม้ได้โอกาสกลับมาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ยังไม่รู้ว่า เกิดมาภพชาตินี้ ต้องทำอะไรบ้าง เกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน เมื่อไม่รู้ทำให้พลั้งพลาดไปทำบาปอกุศล เป็นเหตุให้ต้องพลัดตกไปในอบายภูมิอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
 
     * มีเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลว่า ในกรุงสาวัตถี มีกุฎุมพีผู้หนึ่ง เป็นคนมีศรัทธา มีความเลื่อมใส แต่ภรรยาชื่อว่า มัตตา กลับไม่มีศรัทธา เป็นคนมักโกรธ ฝ่ายสามีกลัวว่าวงศ์ตระกูลจะขาดสูญเนื่องจากภรรยาเป็นหมัน จึงแต่งงานกับหญิงคนใหม่ชื่อ ติสสา ภรรยาคนใหม่เป็นผู้มีศรัทธาในพระศาสนา นางจึงเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของสามี ไม่นานนักนางก็ให้กำเนิดบุตรชายชื่อ ภูตะ  นางทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน คอยอุปัฏฐากภิกษุวันละ ๔ รูปด้วยความเคารพ ส่วนหญิงหมันเป็นคนชอบอิจฉาริษยา คอยจ้องจับผิดและประทุษร้ายภรรยาคนใหม่อยู่เป็นประจำ
 
     วันหนึ่ง ภรรยาทั้งสองอาบน้ำสระผม แล้วยืนผมเปียกอยู่ กุฎุมพีมีความเสน่หาผูกพันในนางติสสาด้วยอำนาจคุณความดี ได้ยืนสนทนากับนางด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน นางมัตตาอดทนต่อเหตุการณ์นั้นไม่ได้ ถูกความริษยาครอบงำ จึงเอาหยากเยื่อที่กวาดสุมไว้ในเรือน มาโปรยลงบนกระหม่อมของนางติสสา และหาทางทำร้ายนางต่างๆ นานา บางวันก็แอบเอาเสื้อผ้าของนางติสสาไปซ่อน ทำให้ติสสาอุบาสิกาไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ ต้องเกิดความละอายแก่ผู้คน แต่นางติสสาผู้มีจิตใจงดงามก็อดทนเรื่อยมา
 
     สมัยต่อมา เมื่อนางมัตตาถึงแก่ความตายแล้ว ด้วยแรงกรรมนั้นทำให้นางไปบังเกิดเป็นเปรตเปลือยกายไร้เสื้อผ้าอาภรณ์ มีสรีระเปื้อนฝุ่นเพราะแรงกรรมที่อิจฉานางติสสา ทั่วเรือนร่างของนางเปรตมีหิดขึ้นเต็มไปหมด อีกทั้งแรงกรรมที่นางเอาหมามุ่ยมาโปรยลงบนเตียงนอนของติสสาอุบาสิกา เลยเป็นเหตุให้นางใช้นิ้วที่มีเล็บแหลมคมเกาตามเนื้อตามตัวเลือดไหลเยิ้ม อยู่ตลอดเวลา  
 
     เปรตมัตตาเป็นผู้มีกลิ่นกายเหม็นเหมือนคูถ เพราะได้เคยลักของหอม  ดอกไม้ และเครื่องลูบไล้ที่มีค่ามากของนางติสสาไปทิ้งลงในหลุมคูถ ที่สำคัญคือว่า นางเป็นเปรตผู้ไม่มีอาหารตกถึงท้องเลย ได้รับความลำบากอย่างยิ่ง เพราะทั้งๆที่ทรัพย์สินในบ้านแม้มีอยู่มากมาย แต่ก็ไม่เคยใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์แก่คนอื่น และไม่เคยให้ทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีแต่คอยขัดขวางการทำความดีของนางติสสาอีกด้วย
 
     คืนวันหนึ่ง นางเปรตมัตตามาปรากฏกายแก่นางติสสา ผู้กำลังอาบน้ำอยู่หลังบ้าน นางติสสาเห็นจึงสอบถามว่า “ดูก่อนนางเปรตผู้ซูบผอม มีแต่ซี่โครง ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด มีเนื้อตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ท่านเป็นใคร มายืนอยู่ในที่นี้ทำไม” นางเปรตก็เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้นางติสสาฟัง และกล่าวถึงการที่ตนต้องไปเสวยวิบากกรรมอันเผ็ดร้อน เพราะกรรมที่ทำเอาไว้ในสมัยที่เป็นมนุษย์ได้ประทุษร้ายต่อนางติสสา
 
     เมื่อติสสาอุบาสิการู้ว่า ผู้เปลือยกายผมยาวเฟื้อยมายืนอยู่ด้านหน้านี้ เป็นเปรตมัตตา ที่เคยเป็นภรรยาร่วมสามีเดียวกันก็เกิดความสงสาร ได้บอกว่า “ตอนนี้ กุฎุมพีผู้เป็นสามีกำลังไปซื้อกับข้าวที่ตลาดยังไม่กลับ ขอให้ท่านรออยู่ก่อนเถิด แล้วจะได้พบกับสามี” นางเปรตกล่าวว่า “ฉันเป็นผู้เปลือยกายมีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ขออย่าให้กุฎุมพีได้เห็นฉันเลย”
 
     นางติสสาแม้จะเคยถูกนางเปรตประทุษร้ายข่มเหงรังแกในสมัยที่ยังเป็นมนุษย์ แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะผูกอาฆาตพยาบาทตอบต่อนาง ยิ่งเมื่อเห็นนางมาประสบวิบากกรรมเช่นนี้ มหากรุณาก็บังเกิดขึ้นในใจ จึงบอกเปรตว่า “เพื่อนเอ๋ย ฉันจะนิมนต์พระมาฉันภัตตาหารที่บ้าน แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ ขอให้เพื่อนเตรียมรับผลทานที่จะบังเกิดขึ้นจากการถวายสังฆทานในวันพรุ่งนี้เถิด”
 
     ครั้นแล้วเช้าวันต่อมา นางติสสาได้นิมนต์พระมาจำนวน ๘ รูป ให้มาฉันภัตตาหารที่บ้าน เมื่อพระท่านฉันเสร็จ ก็ถวายผ้าไตรจีวรแก่ภิกษุสงฆ์ทุกรูป แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้นางเปรต ทันทีที่นางอุทิศส่วนบุญไปให้ ข้าวน้ำและเครื่องนุ่งห่มอันเป็นทิพย์ ก็ได้บังเกิดขึ้นกับนางเปรต จากเดิมที่เคยเศร้าหมองก็เปลี่ยนเป็นผู้มีร่างกายสะอาด นุ่งห่มเสื้อผ้าอาภรณ์อันเป็นทิพย์ประดับด้วยรัตนะอันวิจิตร เมื่อตกเวลาเย็นก็เข้าไปหานางติสสาที่หลังบ้าน
มาคราวนี้มาในรูปกายใหม่ทำให้นางติสสาจำไม่ได้ จึงถามไปว่า “ดูก่อนเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก ส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ สถิตอยู่ดุจดวงจันทร์ ท่านมีวรรณะเช่นนี้ อิฐผลย่อมสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ เพราะกรรมอะไร ดูก่อนเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ฉันขอถามท่าน เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้ การที่ท่านเป็นผู้มีอานุภาพอันรุ่งเรืองและมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศเช่น นี้ เพราะทำกุศลกรรมอะไรเอาไว้”
 
     มัตตาเทพธิดาผู้พ้นจากอัตภาพเปรต ได้ตอบเพื่อนรักว่า “ฉันชื่อมัตตา เป็นหญิงร่วมสามีกันกับท่าน ฉันได้ทำอกุศลกรรมไว้ จึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก แต่เพราะฉันอนุโมทนาทานที่ท่านให้แล้วในหมู่สงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน ได้เสวยทิพยสมบัตินี้ เพื่อนเอ๋ย ขอท่านพร้อมด้วยหมู่ญาติทุกคน จงมีอายุยืนนานเถิด ขอท่านจงประพฤติธรรมและให้ทานในหมู่สงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลเถิด แล้วท่านจะได้เข้าถึงฐานะอันไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี เป็นสถานที่ปลอดภัย ท่านกำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมด้วยรากแล้ว ที่ใครๆ ไม่อาจติเตียนได้ จักเข้าถึงโลกสวรรค์”
 
     เราจะเห็นว่า กรรมชั่วที่ทำไว้ไม่หนีหายไปไหน ความดีที่ทำไว้ก็ไม่สูญหาย จะเป็นดวงบุญและดวงบาปติดอยู่ในศูนย์กลางกายของเรา คอยวันเวลาที่จะส่งผล เหมือนผลไม้ที่สุกงอม แล้วก็ต้องร่วงหล่นจากต้น หรือเหมือนฝนที่ตกลงมาเต็มลำธาร แล้วจะไหลไปสู่แม่น้ำ เอ่อล้นไหลต่อไปถึงทะเลมหาสมุทร บุญบาปที่สั่งสมในสมัยที่เป็นมนุษย์ แม้ไม่ทันส่งผลในชาตินี้ ก็จะตามไปให้ผลในภพชาติต่อไป ฉะนั้นชีวิตของเราจะให้เป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับตัวของเรา หากปรารถนาไปเกิดในสุคติภพ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้โอกาสที่เป็นมนุษย์นี้ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการสร้างบารมีหรือเปล่า หรือว่าเราจะไปทนทุกข์ทรมาน ในอบายภูมิ ไปเป็นเปรตผู้หิวโหย ปรารถนาจะเป็นอะไรก็เลือกเอาได้ ขึ้นอยู่กับตัวของเราเองทั้งนั้น ดังนั้นให้ทุกท่านจงอย่าได้ประมาทในชีวิต อย่าตระหนี่ อย่ามัวตามใจกิเลสจนคุ้น แต่ให้หันมาคุ้นเคยกับการกระทำความดีที่ยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วเราจะมีสุคติภูมิเป็นที่ไปกันทุกๆคน

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)



Create Date : 05 พฤษภาคม 2555
Last Update : 5 พฤษภาคม 2555 0:37:36 น.
Counter : 723 Pageviews.

2 comments
  
อ่านคร่าวๆ ดีจังค่ะ
โดย: สัญญาลมปาก วันที่: 5 พฤษภาคม 2555 เวลา:7:12:54 น.
  
ไม่ต้องรอตายหรอกค่ะ เอาตอนมีชีวิตอยู่ คนที่มีจิตใจริษยา ก็จะร้อนรุ่ม เปรียบเสมือนมีไฟเผาตัวเองอยู่ทุกวันอยู่แล้ว
โดย: เด็กน้อยตัวแสบ วันที่: 5 พฤษภาคม 2555 เวลา:9:37:54 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

yoyo_yori
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



Life is melody.....
Music is my life!