ปฎิรูป-ถอยอย่างไรไม่ให้ล้ม*** WHITESPACE.CO.LTD

whitespace
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




เมื่อไม่มีสิ่งใดจริง จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
.....อ่านเรื่องพุทธบารมี
.....ลีลาสมเด็จพุฒาจารย์โต
.....ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา-หลวงปู่มั่น

Google..
.....................พ่อของแผ่นดิน...
Group Blog
 
<<
มกราคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
11 มกราคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add whitespace's blog to your web]
Links
 

 

โศกนาฏกรรม พระนางเรือล่ม

*
......อ า จ จ ะ ส ง สั ย ว่าทำไมมาอัพบล็อกเรื่องนี้ คือว่าตามพี่สาวไปดูดวงค่ะ แล้วเขาทักว่าเป็นหนึ่งในผู้ตายในเรือที่ล่ม ก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะคิดว่าข้าราชบริพารที่ตายในเรือคงเยอะ นับสิบแน่... ถ้าเราจะเป็นหนึ่งที่รวมตายอยู่ด้วย.... ก็ชิวชิวอยู่แล้ว ไม่เสียหาย.. (ที่จริงไม่ได้สนใจเพราะยากแก่การเชื่อ)

......พอกลับมาค้นพระประวัติ จึงทราบว่า คนที่เสียชีวิตมีเพียง 4 คือพระนางเรือล่ม พระราชธิดา เจ้าฟ้าในพระครรภ์ และพระพี่เลี้ยง ..ยิ่งไปอ่านในเว็บพวกเหนือจริงสักหน่อย มีแต่คนที่ระลึกชาติได้หรือไม่ก็มีคนทัก มาแปะกระทู้ว่าอดีตชาติ เป็นพี่เลี้ยง หรือลูกของพระนางเรือล่ม กันทั้งนั้น

.......อ้าว.. งั้นเราเป็นใครอ่ะเนี่ย มี choice ให้เลือกแค่คนคัดท้ายเรือ ซะล่ะกระมัง ซวยแล้วซิเรา แล้วไอ้หมอนี่ ตายด้วยอ๊ะเปล่าฟระ !! ..หมอนี่ทำคนตายไปตั้งเยอะง่ะ... - - “

ก็นะ ... เรื่องพวกนี้ ก็ว่ากันไป แต่ไปค้นพระประวัติมาแปะให้อ่านกันค่ะ ท่านเสด็จทิวงคต พระชันษายังไม่เต็มถึง 20 พรรษา น่าเศร้ามากจริงๆ Y_Y


สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือ พระนางเรือล่ม ทรงเป็นพระมเหสีเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ทรงมีพระเชษฐาพระขนิษฐา ๖ พระองค์

• พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย (พระองค์นี้ได้รับพระนามตามบทบาทของเจ้าจอมมารดา)
• พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ)
• พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์(สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีพระองค์แรกในรัชกาลที่ ๕)
• พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
• พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ)

• พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์)

พระนางเรือล่มประสูติเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๓ พระอิสริยยศเมื่อแรกประสูตินั้นคือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา(เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑ พระองค์ได้เฉลิมพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สถาปนาเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๑

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เสด็จทิวงคต เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เนื่องจากอุบัติเหตุเรือล่ม ที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในระหว่างทางเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังบางปะอิน พร้อมกับพระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระชนมายุ ๑ พรรษา ๙ เดือน ๒๐ วัน และเจ้าฟ้าในพระครรภ์ ๕ เดือน

สาเหตุที่ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เสด็จทิวงคต เนื่องจากเรือของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวงแล่นแซง และนายท้ายเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เมาเหล้าทำให้เรือล่ม โดยส่วนพระองค์แล้วพระองค์ทรงว่ายน้ำเป็น ทว่าทรงห่วงพระราชธิดา จึงสิ้นพระชนม์ไปพร้อมกัน รวมทั้งพระพี่เลี้ยงที่ว่ายน้ำไม่ได้อีกคนหนึ่ง ในขณะนั้นบริเวณที่เกิดเหตุมีพวกมอญกำลังขุดทรายอยู่ แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย เพราะกฎมณเฑียรบาลได้ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล

และในปีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯสถาปนาพระนางเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พร้อมกับ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระขนิษฐภคินี นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงได้สร้าง อนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม ที่พระราชวังบางปะอินด้วย



ภาพในพระราชพิธีถวายพระเพลิง
ได้มีการถวายพระเพลิงศพทั้ง ๒ พระองค์เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๔


บรมราชินีนาถ และ พระภรรยาเจ้า ใน รัชกาลที่ ๕

พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง

พระบรมราชเทวี
สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า • สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ บรมราชเทวี

พระอัครราชเทวี
สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

พระอรรคชายา
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา • พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ • พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

พระราชชายา
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

เจ้าจอมมารดา
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ • เจ้าจอมมารดาจันทร์ • เจ้าจอมมารดาชุ่ม • เจ้าจอมมารดาแช่ม • เจ้าจอมมารดาโหมด • เจ้าจอมมารดาตลับ • เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ย้อย อิศรางกูร • เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข พึ่งบุญ • เจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกษร ณ เชียงใหม่ • หม่อมราชวงศ์เกสร สนิทวงศ์ • เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ • เจ้าจอมมารดาทับทิม • เจ้าจอมมารดาเรือน • เจ้าจอมมารดาพร้อม • เจ้าจอมมารดาวง • เจ้าจอมมารดาวาด • เจ้าจอมมารดาเลื่อน • เจ้าจอมมารดาแส • เจ้าจอมมารดาแสง • เจ้าจอมมารดาสุด • เจ้าจอมมารดามรกฎ • เจ้าจอมมารดาเหม • เจ้าจอมมารดาอ่วม • เจ้าจอมมารดาอ่อน บุนนาค

เจ้าจอม
เจ้าจอมเอี่ยม บุนนาค • เจ้าจอมเอิบ บุนนาค • เจ้าจอมอาบ บุนนาค • เจ้าจอมเอื้อน บุนนาค • เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ • เจ้าจอมกลีบ เทพหัสดิน ณ อยุธยา • เจ้าจอมลิ้นจี่ เทพหัสดิน ณ อยุธยา • เจ้าจอมฟักเหลือง เทพหัสดิน ณ อยุธยา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

.......

พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงในรัชกาลที่ห้า
โดย : คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ / ที่มา : สกุลไทย

พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ๕ พระองค์ ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงในรัชกาลที่ ๕ แต่ละพระองค์ สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงผูกดวงพระชะตา พร้อมคาถาพระราชทานพระนาม พระราชทานให้เมื่อประสูติ

ทว่ามีปรากฏอยู่เพียง ๔ พระองค์ พระองค์ใหญ่คือ พระองค์เจ้าทักษิณชานราธิราชบุตรี นั้นไม่ปรากฏคาถาพระราชทานพระนาม รวมทั้งอีกสองพระองค์ใหญ่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ฯ และพระองค์เจ้าโสมาวดีฯ ก็ไม่ปรากฏ พระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ๘๔ พระองค์ท่านทรงรวบรวมคาถาพระราชทานพระนามได้เพียง ๔๑ พระองค์เท่านั้น นับตั้งแต่พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล (กรมหลวงพิชิตปรีชากร) พระราชโอรสลำดับที่ ๒๐ เป็นพระองค์แรกลงไป


พระองค์เจ้าทักษิณชานราธิราชบุตรี
พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรก ในรัชกาลที่ ๕


พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
(สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี)


พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี
(สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี)


พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา
(สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)


พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี
(สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี)

พระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ (เว้นแต่พระองค์เจ้าทักษิณชาฯ ซึ่งยังไม่ทันจะได้รับพระอิสริยยศ พระนางเธอ พระนางเจ้า และสมเด็จพระนางเจ้า ดังอีก ๔ พระองค์ ก็มีเหตุให้ทรงประชวรตั้งแต่พระราชโอรสสิ้นพระชนม์เสียแต่วันแรกประสูติ)

ลำดับตามพระชันษา คือ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี นั้น หากพิจารณาตามคำแปลคาถาพระราชทานพระนาม จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระปรีชาในการผูกดวงชะตา ทรงทายทักดวงพระชะตาพระราชธิดา แต่ละพระองค์อย่างแม่นยำ
แต่ละพระองค์ นอกจากพระพรตามธรรมดาๆ เช่น ให้มีความสุข ไม่มีโรค มั่งคั่ง ฯลฯ แล้ว จะทรงเน้นพระพรพิเศษแตกต่างกันออกไป ตามที่คงจะได้ทรงมีพระวิจารณญาณต่อดวงพระชะตานั้นๆ

พระพรพิเศษ พระราชทาน
พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงขอให้พระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ ทั้งเทพดาอารักษ์ ช่วยปกปักรักษาให้พ้นจากอันตราย
พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชทานพระพรพิเศษให้ได้ที่พึ่งอันบริบูรณ์ด้วยกำลังเป็นที่ต้องใจ
พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระพรพิเศษ คือ ให้เป็นผู้ประเสริฐ ไม่มีใครเลิศขึ้นกว่า ตั้งอยู่ในวงศ์ของบิดาจนสิ้นกาลนาน คือพระชนมายุยืนนาน
พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี นั้น พระราชทานพรพิเศษยาวกว่าพระองค์อื่นๆ ให้เป็นผู้มีอำนาจ ให้รักษาไว้ซึ่งยศของบิดามารดา พี่ชาย น้องหญิง ให้ดีงามในกาลทั้งปวง

คำแปลคาถาพระราชทานพระนาม พระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ โดยละเอียดว่าดังนี้

พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่พากันออกพระนามตามเหตุที่บังเกิดขึ้นว่า สมเด็จพระนางเรือล่มบ้าง พระนางเรือล่ม บ้าง) ว่า “พระองค์เจ้าหญิงองค์นี้ ทรงนามว่า สุนันทากุมารีรัตน์ อย่างนี้ ดังนี้ จงอย่ามีโรค จงมีความสุข ปราศจากทุกข์และความวุ่นวายเถิด พระองค์เจ้าหญิงนั้นจงมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก มีโภคมาก มียศและบริวารไม่แปรผัน ขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กับทั้งอารักขเทพดา จงช่วยอภิบาลรักษา พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์นั้น ให้พ้นไปจากอันตรายเป็นนิตย์ ขอความสัมฤทธิ์จงมีแก่พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์เทอญ”

พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี (พระนางเธอ พระองค์เจ้าฯ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) ว่า “ธิดาของเราผู้บังเกิดแต่สำลีนี้ จงปรากฏโดยนามว่า สุขุมาลมารศรี จงทรงนามนั้นไว้ มีสุขเสมอ อนึ่งจงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีบริวาร งดงาม ไม่มีโรค ไม่ลำบาก เจริญโดยลำดับ จงได้ซึ่งที่พึ่งอันบริบูรณ์ด้วยกำลังเป็นที่ต้องใจ”
สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯนี้ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ทรงมีพระราชโอรส ๑ พระราชธิดา ๑ และ สมเด็จพระราชโอรสนั้น ในรัชกาลที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๗ ทรงเป็น ‘กำลัง’ สำคัญของแผ่นดินตลอดมา สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ทรงสนิทเสน่หาพระราชโอรสยิ่งนัก สมเด็จพระราชโอรสก็ทรงเคารพรักพระชนนีนักหนา และทรงประพฤติพระองค์เป็น ‘ที่พึ่ง’ ของพระชนนีตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ สมดังพระพรพิเศษของสมเด็จพระบรมชนกนาถที่ได้พระราชทานพระชนนีไว้

พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ว่า “พระนามซึ่งชื่อว่าสว่างวัฒนานี้ พระราชทานให้แก่พระราชกุมารีองค์ใด พระราชกุมารีองค์นั้นผู้เป็นบุตรี จงมีความสุข อย่ามีโรคและอย่ามีความวุ่นวายเลย จงมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก จงมียศสมบัติเป็นผู้ประเสริฐ ไม่มีใครเลิดขึ้นกว่า จงตั้งอยู่ในวงศ์ของบิดาสิ้นกาลนานเทอญ”

พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี เมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯสถาปนาพระองค์เจ้าสุนันทาฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี พระองค์แรก และสถาปนา พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี ในวาระนั้นด้วย

ต่อมาถึงแม้ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สวรรคตแล้ว และพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสถาปนา สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ขึ้นเป็น มกุฎราชกุมารแทน และโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จฯเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แต่ก็มิได้ลดพระอิสริยยศ พระบรมราชเทวีลง จึงทรงเป็นพระบรมราชเทวี อันเป็นตำแหน่งพระอัครมเหสี คู่กันกับพระบรมราชินีนาถ ตลอดมา

ในรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๖ จึงได้โปรดฯให้มีการจัดลำดับพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ ๕ เป็นระเบียบลดหลั่นกันไปตามพระอิสริยยศ คือ

๑. พระบรมราชินีนาถ เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสี (และทรงเติมว่า หากพระอัครมเหสี มิได้เคยทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ พระอิสริยยศ คือ ‘พระบรมราชินี’ ไม่มีคำว่า ‘นาถ’ ต่อเมื่อทรงสำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์จึงจะออกพระนามว่า พระบรมราชินีนาถ)
๒. พระบรมราชเทวี ตำแหน่งเอกอัครมเหสีเดิม
๓. พระราชเทวี (พระอัครราชเทวี)
๔. พระอัครชายา
๕. พระราชชายา

สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯจึงทรงพระเกียรติยศคงที่อยู่แม้จะมีตำแหน่งพระบรมราชินีนาถเพิ่มขึ้นมาในรัชกาลที่ ๕ ในรัชกาลที่ ๖ พระองค์ท่านทรงเป็นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า (ป้าทางแม่) คู่กันกับสมเด็จพระพันปีหลวง ถึงรัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาพระอิสริยยศสูงสุดเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า แล้วทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในรัชกาลที่ ๘ และ รัชกาลที่ ๙

เห็นได้ว่า สมดังพระพรที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานไว้ว่า “เป็นผู้ประเสริฐไม่มีใครเลิศขึ้นกว่า”

พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (พระนางเธอฯ พระนางเจ้าฯ พระวรราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระอรรคราชเทวี และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ออกพระนามกันในรัชกาลที่ ๖ ว่า สมเด็จพระพันปีหลวง) ว่า “พระราชธิดาองค์นี้ ทรงพระนามว่า เสาวภาผ่องศรี เป็นพระราชบุตรีที่รัก จงมีความสุข อย่ามีโรค มียศอันประเสริฐ จงอย่ามีโทษในกาลทั้งปวงเลย อันใครผู้ใดผู้หนึ่งไม่พึงคุมเหงได้ จงมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติมาก เป็นผู้มีอำนาจ ไม่หวั่นไหวด้วยเหตุเป็นอันมาก จงรักษาไว้ซึ่งยศของบิดามารดาพี่ชาย น้องหญิง ให้ดีให้งามในกาลทั้งปวง ด้วยอานุภาพของพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น จงช่วยอภิบาลรักษาพระราชธิดาที่ทรงนามว่า เสาวภาผ่องศรีในกาลทั้งปวงเทอญ”




พระนางเรือล่ม
โดย คุณสายทิพย์ / ที่มา นิตยสารหญิงไทย

....ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา “วัดกู้” ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในอดีตสถานที่นี้คือ จุดเกิดโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ยุคแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5

เหตุครั้งนั้นทำให้พระนางอันเป็นที่รักยิ่งของเจ้าแผ่นดินต้องมาสังเวยชีวิตสิ้นพระชนม์ลง ณ กลางแม่น้ำนั้น

เหตุการณ์คราวนั้นถึงกับทำให้ “เจ้าเหนือหัว” ของคนไทย “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ถึงกับทรงพระกรรณแสง เพราะเป็นที่รู้กันตามประวัติศาสตร์ว่า ในบรรดาพระมเหสีและเจ้าจอมทั้งหลายนั้น “สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี” หรือที่เราคนไทยคุ้นกับพระนามของพระองค์ว่า “พระนางเรือล่ม” นั้นทรงเป็น “ที่รัก” และโปรดปรานยิ่งของ “องค์พระพุทธเจ้าหลวง”

พระประวัติ “พระนางเรือล่ม” พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ลำดับที่ 50 พระมารดาคือ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน ปีวอก พ.ศ. 2403 ณ พระบรมมหาราชวังทรงถวายองค์เป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 17 พรรษา ด้วยมีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระอัครมเหสี” และยังเป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หายิ่งกว่าพระอัครมเหสีองค์อื่น ๆ

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ทรงมีพระราชธิดา พระองค์แรกเมื่อพระชนมายุได้ 19 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ จวบกระทั่งวันที่เสด็จทิวงคตเพราะเรือล่ม ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2423 ขณะกำลังเสด็จฯ มายัง พระราชวังบางปะอินพระองค์ก็ทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน

เหตุสลดในวันนั้นเล่ากันว่า สาเหตุที่ทำให้เรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ล่ม เนื่องเพราะเรือพระพันปีหลวง หรือสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถบรมราชชนนี พันปีหลวงแล่นแซง ประกอบกับนายท้ายเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ เมาเหล้า ขาดสติในการควบคุมเรือเรือจึงล่ม และทั้งที่พระองค์ก็ทรงว่ายน้ำได้ แต่เพราะความที่ทรงห่วงพระราชธิดา จึงต้องสิ้นพระชนม์ไปพร้อม ๆ กัน รวมทั้งพระพี่เลี้ยง รวมทั้งสิ้น 4 ศพ ที่จมอยู่ใต้ท้องเรือโดยที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย เพราะติดอยู่ที่กฎมณเฑียรบาลว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายพระมเหสีมิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งโคตร

โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นนี้ก่อนเกิดเหตุ ได้มีลางร้ายมาเตือนล่วงหน้าแล้วโดยก่อนที่เรือจะล่มในคืนหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ได้ทรงพระสุบินว่า พระธิดาของพระองค์ตกลงไปในน้ำ ด้วยความตกพระทัยจึงรีบคว้าพระธิดาจนตกลงไปในน้ำด้วยกัน แล้วได้ตื่นจากบรรทม ครุ่นคิดถึงการเสด็จฯ ไปพระราชวังบางปะอิน ในวันรุ่งขึ้นว่าต้องมีเหตุอะไรเกิดขึ้นกับพระองค์เป็นแน่ แต่ก็ยังหลีกเลี่ยงชะตากรรมไม่ได้จนพบจุดจบในที่สุด

การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ในครั้งนั้นมีเสียงร่ำลือในวังหลวงอย่างอื้ออึงว่า เพราะเป็นแผนการที่จงใจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ จากความอิจฉาริษยาของบรรดามเหสี และสนมนางในที่คิดหาหนทางกำจัด จนทำให้พระนางอันเป็นที่รักของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ต้องมาสิ้นพระชนม์ท่ามกลางข้อกังหา และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้าน และชาววังในยุคนั้น ก็ยังมีเรื่องน่าพิศวงอันเกิดจากอาถรรพณ์ของดวงพระวิญญาณตามมาด้วย

เล่ากันว่าขณะกำลังงมค้นหาพระศพในวันที่เรือพระที่นั่งล่ม โดยชาวบ้านแถวนั้นทนเห็นเหตุการณ์ไม่ไหว พยายามช่วยลงมางมค้นหาพระศพก็เกิดเหตุอัศจรรย์ที่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ ถึงขนาดทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ก็ไม่สามารถพบพระศพ จึงต้องไปเชิญหลวงจีนท่านหนึ่งนามว่า “สกเห็ง” ซึ่งเชี่ยวชาญทางวิปัสสนานั่งทางในมาทำการเสี่ยงทาย โดยเสกถ้วยน้ำชาให้ลอยไปตามกระแสน้ำหากถ้วยชาจมลงตรงจุดใด ก็ให้ชาวบ้านและทหารช่วยกันลงไปงมหา ซึ่งในที่สุดก็สามารถหาพระศพจนพบ ลักษณะพระศพที่เห็นนำความเศร้าสลดมาสู่สายตาผู้พบเห็นยิ่งนัก เป็นภาพพระนางโอบพระธิดาไว้แนบอก และพระศพที่พบก็จมอยู่ใต้ซากเรือพระที่นั่งนั่นเอง

และเพราะเหตุที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ทรงสิ้นพระชนม์จากเรือพระที่นั่งล่มที่หน้าวัดกู้ กลางลำน้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี ชาวบ้านจึงได้ร่วมใจตั้งศาลพระนางเรือล่มขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่กู้พระศพของพระองค์ ซึ่งต่อมาหลังจากผ่านเหตุการณ์นี้มานานมากแล้ว ก็ยังเกิดเรื่องเล่าถึงดวงวิญญาณพระนางเรือล่มตามมามากมาย

มีผู้พบเห็น และร่วมอยู่ในเหตุการณ์ความศักดิ์สิทธิ์ของดวงพระวิญญาณพระนางเรือล่มหลายครั้ง โดยชาวบ้านในละแวกวัดเล่าว่า ในสมัยก่อนที่หน้าศาลของพระนางเรือล่ม มักมีเรื่องแปลก ๆ เกิดขึ้นเสมอโดยหลาย ๆ ครั้งจะมีฝูงจระเข้ว่ายน้ำมาคำนับที่หน้าศาลอยู่เป็นประจำ ทั้งที่ปกติจระเข้มักว่ายอยู่ใต้น้ำ แต่อาจเป็น เพราะจระเข้รับรู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ท่าน ดังนั้นเวลาว่ายน้ำผ่านหน้าศาลทีไร จระเข้ทุกตัวเป็นต้องลอยตัวขึ้นมาคำนับทุกครั้งไป

นอกจากนี้ยังเคยเกิดเหตุการณ์แปลก ๆ ขึ้นกับคนต่างถิ่น ที่ไม่เคยรู้จักเรื่องราวของพระองค์ท่าน บางคนดั้นด้นมาที่วัดกู้ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมา ก็เพราะเขาฝันว่ามีผู้หญิงสูงศักดิ์ท่านหนึ่งมาเข้าฝันบอกให้มาที่วัดกู้แล้วจะมีโชค เมื่อมาถึงก็ต้องตกตะลึง เมื่อมาเห็นภาพ และพระรูปปั้นที่อยู่ในศาลนั้นเหมือนกับผู้หญิงในความฝันไม่ผิดเพี้ยน

อาถรรพณ์จากความศักดิ์สิทธิ์ของพระนางเรือล่มยังมีเล่ากันต่อมาอีกว่า เคยมีบางคนลบหลู่ไม่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ พูดจาดูหมิ่นขณะพูดจบไม่ทันไรก็มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น โดยจู่ ๆ ก็วิ่งไปที่ท่าน้ำไม่รู้เนื้อรู้ตัวทำท่าจะกระโดดน้ำตาย หรืออย่างบางคนที่ชอบมาท้าสาบานที่ศาลของพระองค์ว่า ถ้าผิดจริงขอให้จมน้ำตาย ปรากฏว่าได้ตายสมใจ โดยตายอยู่ในอ่างน้ำตื้น ๆ ดังนั้นถ้าใครคิดมาลองสาบานอะไรสุ่มสี่สุ่มห้าที่ศาลพระนางเรือล่ม ที่วัดกู้ ต้องขอบอกก่อนว่าอย่าเสี่ยงเป็นอันขาด

ทุกวันนี้ชาวบ้านแถบ จ.นนทบุรี และผู้ที่มาจากต่างจังหวัดยังคงแวะเวียนมากราบไหว้พระนางเรือล่มที่ศาลอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่นิยมนำมาถวายพระองค์ท่านก็คือกล้วยเผา มาพร้าวอ่อนและพวงมาลัยมะลิสดส่วนศาลที่เห็นในปัจจุบันจะมี 2 ศาล คือศาลที่อยู่ริมน้ำกับศาลที่ตั้งอยู่ภายในวัด ซึ่งศาลนี้อันที่จริงเป็นศาลเดิม เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ศาลนี้เดิมก็อยู่ริมน้ำ แต่เพราะเวลาผ่านไปทำให้ดินทับถมกลายเป็นแผ่นดินงอกใหม่ ศาลนี้เลยกลายเป็นตั้งอยู่บนดินไป


.......
12 ม.ค. 50




 

Create Date : 11 มกราคม 2550
0 comments
Last Update : 9 กันยายน 2551 9:37:23 น.
Counter : 25710 Pageviews.

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.