ปฎิรูป-ถอยอย่างไรไม่ให้ล้ม*** WHITESPACE.CO.LTD

whitespace
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




เมื่อไม่มีสิ่งใดจริง จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
.....อ่านเรื่องพุทธบารมี
.....ลีลาสมเด็จพุฒาจารย์โต
.....ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา-หลวงปู่มั่น

Google..
.....................พ่อของแผ่นดิน...
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
28 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add whitespace's blog to your web]
Links
 

 

มรรคแห่งการภาวนา โพธิปักขิยธรรม 37

*





มรรคแห่งการภาวนา โพธิปักขิยธรรม 37
อวกาศสีขาว



. . . . . ห ล า ย ค น ที่เข้ามาสนใจธรรมะ ไม่ว่าจะโดยเหตุใดก็ตาม ต้องเรียนรู้เรื่องอริสัจสี่ คือ ทุกข์-เหตุแห่งทุกข์-ความดับทุกข์-และหนทางของการดับทุกข์

ผู้เห็นทุกข์ในทุกข์ที่เป็นอยู่ ย่อมแสวงหนทางดับทุกข์ ทางดับทุกข์นั้นอาจมีกรรมฐานหรือการปฏิบัติให้เลือกตามจริต เพื่อให้เข้าถึงอริยมรรคอย่างถ่องแท้ ซึ่งมีทั้งสมถะวิปัสสนากรรมฐาน คือฝึกสมาธิเพื่อยกเข้าสู่ภูมิวิปัสสนา หรือวิปัสสนากรรมฐานเพื่อเจริญอินทรีย์ห้าพละห้าและอริยมรรคไปพร้อมกันทั้งหมด

วิปัสสนาหรือการภาวนา ที่นิยมเรียกว่าการเจริญสติภาวนาโดยสติปัฏฐานสี่ กาย-เวทนา-จิต-ธรรม คือ การตามรู้รูปนามตามความเป็นจริง การรู้เรื่องภายในนี้ จึงจะเข้าใจการทำงานของกายและจิต ว่าแท้จริงเป็นอย่างไร มีเหตุปัจจัยสืบเนื่องกันอย่างงไร ทุกข์ที่เกิดจากขันธ์ห้าที่เวียนว่ายในสังสารสามารถสิ้นสุดลงโดยอริยมรรคได้อย่างไร

เหตุเพราะร่างกายมนุษย์เรามีแค่กายกับจิต แม้จะใช้ฐานสี่เป็นที่เกาะของสติ แต่สิ่งที่ต้องเรียนรู้ก็คือเรื่องจิตนี่เอง ถึงร่างกายจะมีส่วนที่ทำงานโดยอัตโนมัติก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็ทำงานโดยจิต ล้วนมีผลมาจากจิต เมื่อแยกการทำงานของรูปกับนามได้ ก็สามารถทราบกลไกการทำงานของจิตได้ ว่ากายนี้ประดุจซากศพที่ทำงานอยู่ได้ก็เพราะมีจิตครอง แม้นนักปฏิบัตจะเห็นว่ากาย(รูปขันธ์)นี้ไม่ใช่เรา แต่การจะทราบว่าจิตสังขาร(นามขันธ์สี่ เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ) นี้ไม่ใช่เรา ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคุ้นเคยกับ อารมณ์-ความจำ-ความนึกคิด-ความรู้สึก อันเป็นนามธรรมที่เป็นเหตุแห่งตัวตนเป็นเราเป็นเขามาตลอด

ถึงกระนั้นเมื่อมีปัญญาทราบว่าจิตสังขารไม่ใช่เรา เป็นเหตุแห่งทุกข์ที่ปรุงแต่งสร้างภพชาติเพราะมีธรรมชาติความคิดนึกของอัตตาจึงก่อให้เกิดอาสวะกิเลส นักปฏิบัติที่เพียรปฏิบัติจึงพยายามจะปฏิบัติการภาวนาให้ถูกวิธี เพื่อจะเข้าใจการทำงานของจิตโดยไม่ให้หลงทิศหลงทาง เพราะหากเป็นดังนั้น นอกจากไม่ทำให้สิ้นทุกข์ ยังเพิ่มทุกข์ใหม่ๆ เข้ามาเสริมอัตตาให้มากขึ้นไปอีก โดยการตามรู้รูปและนามด้วยการเจริญสติ เพื่อให้เห็นการทำงานของจิตตามจริงว่ามีธรรมชาติแท้อย่างไร

แต่ก็มักมีคนสงสัยว่า ตามที่ตนเจริญสติภาวนาอยู่นั้นถูกทางหรือผิดทางอย่างไร แล้วการภาวนาที่ถูกทางเป็นอย่างไร เพราะบางคนยิ่งภาวนายิ่งเห็นตนคล้ายคนวิกลจริต บ้างก็หลงลำพองกับธรรมจนรู้สึกคนรอบข้างนั้นสู้ตนไม่ได้ บ้างก็รู้สึกตนมีความสุขกับการภาวนาโดยการทึกทักเอา พอเจอสถานการณ์บางอย่าง ก็จะไม่สามารถโกหกตนได้อีก เพราะทุกข์นี้รุมเร้า จนกว่าจะยอมเผชิญกับมันอย่างจริงจัง ไม่เสแสร้งหลอกตัวเอง ขนาดตกเป็นทาสกิเลสไปถึงไหนต่อไหนแต่ยังเข้าใจว่าตนมีสติ เป็นหุ่นเชิดของกิเลสลำพองตัวว่าเป็นผู้สูงไปโดยไม่เห็นเท่าทัน ไม่รู้ตัวว่าหลุดจากความไม่มีอคติตัวตนหรือใจที่เป็นกลางไปเสียแล้ว

การภาวนา หรือเจริญสติตามหลักสติปัฏฐานสี่ ให้เห็นรูปนามตามจริงนั้น ยากหรือง่ายอย่างไร จะทราบได้อย่างไร ว่าการเจริญสติตามรู้รูปนามหรือเห็นกายเห็นความคิดนั้นปฏิบัติถูกหรือผิดหลัก

หากจะตอบง่ายๆ เข้าใจกันได้ง่ายๆ การภาวนาให้ถูกหลัก ก็คือ ภาวนาแล้วสามารถทำให้เกิดความรู้แจ้งได้หรือบรรลุธรรมได้นั่นเอง การภาวนาอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ต้องเลือกสถานที่ เวลา แต่จงมีสติอยู่กับตัวให้ต่อเนื่องได้มากที่สุด เมื่อสติสัมปชัญญะบริบูรณ์เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เสมือนการเก็บกักน้ำในโอ่ง หากเก็บแล้วรั่วมากก็ไม่มีวันเต็ม หากเก็บได้มากกว่าที่รั่วมันก็เต็มได้
หรือหากตอบตามขั้นตอนธรรมอันเกิดขึ้นกับผู้เจริญสติปัฏฐานสี่อย่างถูกวิธี ก็คือ การเกิดธรรมตามหลักโพธิปักขิยธรรม 37 ธรรมที่เป็นมรรคของการภาวนา คือธรรมอันเป็นฝ่ายในทางให้เกิดความรู้แจ้ง

โพธิปักขิยธรรม 37 มรรคแห่งการภาวนา
ด้วยธรรม 37 ประการนี้ ในพระวินัยปิฎกได้แสดงไว้โดยจำกัดความว่าเป็นมรรคของการภาวนา คือการหมั่นเจริญในทางที่ทำให้หลุดจากอาสวะกิเลส ทำให้เกิดความรู้แจ้งในโลกุตตรธรรม โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประกอบด้วย สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘

ถ้าหากเกิดมีความสงสัยว่า การภาวนาที่เจริญมานั้นถูกทางไหมหนอ ง่ายๆ เลย คนที่ภาวนาถูกทางตามหลักสติปัฏฐานสี่แล้ว สัมมัปปธานสี่ ต้องเกิดตามทันทีทุกขณะการภาวนา คือรู้ว่าจิตนี้มีอกุศลมีกุศลอย่างไรแล้ว กิเลสต้องหมั่นละและกุศลต้องหมั่นกระทำ ศีลห้าจึงตั้งมั่นอยู่ได้ และถ้ามีอิทธิบาทสี่พร้อมด้วย อินทรีย์ห้าพละห้าย่อมมีกำลัง เรียกว่ากระทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์ รอแต่ให้อริยมรรคเจริญพร้อมสมังคีได้ทุกที่ทุกเวลา ..การเจริญสติปัฏฐานก็คือการเจริญอริยมรรคนั่นเอง หากกำหนดสติได้ต่อเนื่องได้มากเท่าใด อริยมรรคก็พร้อมสมังคีได้มากเท่านั้น

การภาวนาหากทำไม่ถูกหลัก แทนที่จะลดละกิเลสอัตตา กลับเพิ่มกิเลสอัตตาขึ้นมา ต้องมีความเข้าใจว่าการตามดูจิต คือรู้จิตที่มี ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มีสติรู้พร้อมในจิต หากยังไม่สามารถหยุดความคิดแต่ก็สามารถหยุดวาจาที่ไม่ควร หากยังไม่สามารถหยุดวาจาก็สามารถหยุดการกระทำที่ไม่ควร ไม่ใช่การตามรู้เฉยๆ แล้วปล่อยให้มันออกมาเป็นวาจาและการกระทำที่ไม่ควร รู้แบบนั้นไม่เรียกว่ารู้ตัวรู้สติ ไม่ถูกหลักภาวนา ดีไม่ดีคิดว่าตนรู้ธรรมมากจนเทียวสั่งสอนคนอื่นในสิ่งที่ตนทำไม่ได้ แบบนี้นับว่ายังไม่เป็นไรนัก แต่หากถ้าขนาดหนักก็สอนธรรมผิด จนก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อส่วนรวมได้



โพธิปักขิยธรรม 37 ธรรมอันเป็นฝ่ายแห่งการตรัสรู้ คือ
สติปัฏฐาน 4 กาย เวทนา จิต ธรรม
สัมมัปปธาน 4 สังวร ปะหาน ภาวนา อนุรักษ์
อิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
อินทรีย์ 5 สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา (เป็นใหญ่)
พละ 5 สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา (มีพลัง)
โพชฌงค์ 7 สติ ธรรมวิจัย วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา
อริยมรรคมีองค์ 8 สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ


สติปัฏฐาน 4
คือการกำหนดฐานที่ตั้งของสติ พิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามจริง ตามธรรมชาติที่มันเป็นอยู่จริง ด้วยการตามรู้อาการต่างๆ ที่แสดง โดยไม่เข้าไปคิดปรุงจนหลุดจากสภาวะเดิมของมัน
1.พิจาราณากาย (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน) มีสติรู้เห็นตามจริงว่าเป็นแต่เพียงร่างกาย เมื่อไม่เข้าไปยึดความเป็นเราเขา สัตว์บุคคลตัวตนก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น กำหนดลมหายใจหรืออานาปานสติ กำหนดรู้ทันอิริยาบถหรือการเคลื่อนไหว หรือพิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุ พิจารณาซากศพในระยะเวลาต่างๆ ให้เห็นสภาพร่างกายว่ามีความเน่าเปื่อยผุพังไปอย่างไร (นวสีวถิกา)
2.พิจารณาเวทนา (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน) มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
3.พิจารณาจิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) มีสติรู้ชัดจิตของตนว่ามีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่าน หรือ เป็นสมาธิ ฯลฯ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
4.พิจาณาธรรม (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลายอาทิ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ12 ธาตุ18 โพชฌงค์ 7 อริยสัจจ์ 4 ว่าเป็นอย่างไร เกิดขึ้น เจริญขึ้น และดับไปได้อย่างไร ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ

สัมมัปปธาน 4
1.สังวรปธาน เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น ในบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น
2.ปหานปธาน เพียรละ หรือเพียรกำจัด ในบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
3.ภาวนาปธาน เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด ในกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น
4.อนุรักขนาปธาน เพียรรักษา ในกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และให้เจริญยิ่งขึ้นไป

อิทธิบาท 4
1.ฉันทะ ความพอใจใฝ่ใจจะทำสิ่งนั้น ต้องการหรือปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป
2.วิริยะ ความขยันหมั่นเพียรในสิ่งนั้นด้วยความมุ่งมั่น เอาธุระ ไม่ย่อท้อกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น
3.จิตตะ การดำเนินไปด้วยความตั้งมั่นในสิ่งที่ทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ตั้งจิตอุทิศตัวอุทิศใจให้แก่สิ่งที่ทำ
4.วิมังสา ความแยบคายไตร่ตรอง ใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล และตรวจสอบในสิ่งที่ทำนั้นว่าหนักหรือเบาเกินไป มีการวัดผล ปรับปรุงแก้ไข

อินทรีย์ 5 พละ 5
1.ศรัทธา 2.วิริยะ 3.สติ 4.สมาธิ 5.ปัญญา
ส่วนที่เรียกว่า อินทรีย์ เพราะความหมายว่าทำให้แก่กล้า เป็นใหญ่ในการกระทำหน้าที่แต่ละอย่างของตน คือ สัทธินทรีย์หรืออินทรีย์คือศรัทธา วิริยินทรีย์หรืออินทรีย์คือวิริยะ สตินทรีย์ หรืออินทรีย์คือสติ สมาธินทรีย์หรืออินทรีย์คือสมาธิ ปัญญินทรีย์หรืออินทรีย์คือปัญญา
ส่วนที่หมายถึงพละ เพราะหมายถึงว่าเป็นพลัง ทำให้เกิดความมั่นคง คือ สัทธาพละ วิริยะพละ สติพละ สมาธิพละ และ ปัญญาพละ

โพชฌงค์ 7
1.สติสัมโพชฌงค์ ความระลึกได้ รู้พร้อมอยู่
2.ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ ความสอดส่องค้นธรรมพิจารณาโดยแยบคาย
3.วิริยะสัมโพชฌงค์ ความเพียรพยายามไม่ท้อถอย
4.ปิติสัมโพชฌงค์ ความอิ่มเอมใจ พอใจ
5.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบนิ่งเย็นผ่อนคลายกายใจ
6.สมาธิสัมโพชฌงค์ ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วแน่ในอารมณ์
7.อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ความมีใจเป็นกลางปล่อยวางเพราะเห็นตามเป็นจริง

อริมรรคมีองค์ 8 (มัชฌิมาปฏิปทา)
หนทางอันจะนำไปสู่ความดับทุกข์ (ทุกฺข-นิโรธคามินีปฎิปทา-อริยสจฺจ) เรียกว่า "ทางสายกลาง (มชฺฌิมา ปฏิปทา) เพราะงดเว้นจากข้อปฏิบัติที่สุดโต่ง 2 ประการ นั่นคืออริยมรรคมีองค์แปด(อริยอฏฐคิกมคฺค) โดยข้อปฎิบัติขวาสุดอย่างแรก ได้แก่ การแสวงหาความสุขด้วยกามสุข อันเป็นของต่ำเป็นของธรรมดา เป็นทางของสามัญชน ข้อปฎิบัติซ้ายสุดอีกอย่างหนึ่ง คือการแสวงหาความสุขด้วยการทรมานตนเองด้วยการบำเพ็ญทุกกรกิริยาในรูปแบบต่างๆ อันเป็นการทรมานร่างกาย เป็นโทษและไม่เกิดผลดี
อริยมรรค ฝ่ายปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ฝ่ายศีล คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ฝ่ายสมาธิคือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
1.สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ แจ้งในสัจธรรมต่างๆ ตามจริง มีโยนิโสมนสิการ เป็นประดุจหางเสือของอริยมรรค หากมีการพิจารณาเห็นชอบในธรรมทั้งหลายได้ลึกซึ้งมากเท่าใด อริยมรรคที่เหลือก็ยิ่งเป็นสัมมามากเท่านั้น
2 สัมมาสังกัปปะ คิดชอบ คิดในเรื่องกุศล คือ 1.ความตรึกปลอดจากกาม 2.ความตรึกปลอดจากพยาบาท ประกอบด้วยจิตเมตตา ไม่ขัดเคืองเพ่งโทษ 3.ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียนด้วยกรุณาไม่คิดร้ายประทุษร้าย
3.สัมมาวาจา วาจาชอบ มีวจีสุจริต 4 คือ 1.ไม่พูดเท็จ 2.ไม่พูดส่อเสียด 3.ไม่พูดหยาบ 4. ไม่พูดเพ้อเจ้อ
4.สัมมากัมมันตะ การงานชอบ มีกายสุจริต 3 คือ 1.ไม่ฆ่าสัตว์ 2.ไม่ลักทรัพย์ 3.ไม่ประพฤติผิดในกาม
5.สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ ประกอบอาชีพสุจริตไม่เป็นมิจฉาอาชีพ (ค้าขายไม่ชอบธรรม 5 อย่าง) 1.ค้าขายเครื่องประหาร 2.ค้าขายมนุษย์ 3.ค้าขายสัตว์สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร 4.ค้าขายน้ำเมา 5.ค้าขายยาพิษ
6.สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในสัมมัปปธานสี่ รวมไปถึงมีอิทธิบาทสี่
7.สัมมาสติ สติชอบ สามารถเจริญสติปัฏฐานสี่ได้
8.สัมมาสมาธิ สมาธิชอบ จิตตั้งมั่นเข้าถึงฌานได้โดยไม่หลงทาง สามารถเจริญปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน



ภาวนาสูตร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=2593&Z=2628&pagebreak=0

[๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นเจริญภาวนา แม้จะพึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า

" โอหนอ ขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น " ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นข้อนั้นเพราะเหตุไร กล่าวได้ว่า เพราะไม่ได้เจริญ เพราะไม่ได้เจริญอะไร เพราะไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘

เปรียบเหมือนแม่ไก่มีไข่อยู่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้น แม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี แม่ไก่นั้น แม้จะเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่าโอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดี ก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นไม่สามารถที่จะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะแม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี ฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลายเมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนา แม้จะไม่พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร พึงกล่าวได้ว่า เพราะเจริญ เพราะเจริญอะไร เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบเหมือนแม่ไก่มีไข่อยู่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้นแม่ไก่กกดี ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี แม้แม่ไก่นั้น แม้จะไม่ปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดี ก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นก็สามารถใช้เท้าหรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะไข่เหล่านั้นแม่ไก่กกดี ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี ฉะนั้น ฯ

เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือ รอยนิ้วหัวแม่มือที่ด้ามมีด ย่อมปรากฏแก่นายช่างไม้หรือลูกมือนายช่างไม้ แต่เขาไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้เมื่อวานสึกไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสึกไปเท่านี้ ที่จริง เมื่อด้ามมีดสึกไปเขาก็รู้ว่าสึกไปนั่นเทียว ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ อาสวะของเราสิ้นไปเท่านี้ เมื่อวานสิ้นไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสิ้นไปเท่านี้ แต่ที่จริง เมื่ออาสวะสิ้นไป ภิกษุนั้นก็รู้ว่าสิ้นไปนั่นเทียว ฯ

เปรียบเหมือนเรือเดินสมุทรที่เขาผูกหวาย ขันชะเนาะแล้วแล่นไปในน้ำตลอด ๖ เดือน ถึงฤดูหนาว เข็นขึ้นบก เครื่องผูกประจำเรือตาก ลมและแดดไว้ เครื่องผูกเหล่านั้นถูกฝนชะ ย่อมชำรุดเสียหาย เป็นของเปื่อยไปโดยไม่ยาก ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ สังโยชน์ย่อมสงบระงับไปโดยไม่ยาก ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ

(จบสูตรที่ ๗)






 

Create Date : 28 ตุลาคม 2551
0 comments
Last Update : 28 ตุลาคม 2551 19:14:56 น.
Counter : 2186 Pageviews.

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.