ปฎิรูป-ถอยอย่างไรไม่ให้ล้ม*** WHITESPACE.CO.LTD

whitespace
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




เมื่อไม่มีสิ่งใดจริง จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
.....อ่านเรื่องพุทธบารมี
.....ลีลาสมเด็จพุฒาจารย์โต
.....ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา-หลวงปู่มั่น

Google..
.....................พ่อของแผ่นดิน...
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
20 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add whitespace's blog to your web]
Links
 

 

บทส่งท้าย ปกิณกะเทวดาภูมิ

บทส่งท้าย

เทวดาในพระพุทธศาสนา
(จากหนังสือ เทวดาในพระพุทธศาสนา โดย ดร.พระมหาสุเทพ อกิญฺจโน)

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความประพฤติแตกต่างกันมาก บางพวกมีความประพฤติดีมีคุณธรรม มีจิตเป็นกุศล อันส่งผลให้เกิดความสุข มีความดีบางอย่างช่วยผลักดันหรือฉุดขึ้นไปสู่เทวภูมิหรือสวรรค์ บางพวกมีความคิดไม่ดี ไม่มีคุณธรรม จิตใจมัวหมองประกอบด้วยอกุศล ความชั่วบางอย่างให้ผลถ่วงดึงลงสู่อบายภูมิ เมื่อพิจารณาในแง่ระดับแห่งคุณธรรมให้ละเอียดลึกลงไปอีก จะเห็นว่ามนุษย์ภูมินั้น อยู่กลางระหว่างเทวดาภูมิกับอบายภูมิ เป็นที่หมุนเวียนกันไปมาทั้งชาวสวรรค์และอบาย

“เป็นแหล่งที่สัตว์โลกทุกพวกทุกชนิดมาทำมาหากรรม เป็นที่คนชั่วมาสร้างตัวให้เป็นคนดีเตรียมไปสวรรค์ หรือคนดีมาสุมตัวให้เป็นคนชั่วเตรียมไปนรก ตลอดจนเป็นที่ที่ผู้รู้ จะมาสะสางตัวให้เป็นคนอิสระเลิกทำมาหากรรม เป็นผู้หว่านธรรมลอยพ้นเหนือการเดินทางหมุนเวียนต่อไป”
(พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) , พุทธธรรมฉบับปรับปรุงและขยายความ พิมพ์ครั้งที่สาม)

กรรมจึงเป็นสาระสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของมนุษย์โดยตรง เป็นเครื่องปรุงแต่งวิถีชีวิต ครอบคลุมโลกแห่งเจตจำนงและการปรุงแต่งสร้างสรรค์ทั้งหมดของมนุษย์ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“….บัณฑิตทั้งหลายมีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรมนั้นชัดแจ้ง ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ทั้งหลายถูกผูกไว้ในกรรม เหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไป ฉะนั้น…”
(ม.ม. ๑๓/๗๐๗/๕๒๙ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, ๒๕๑๔)

กรรมจึงจำแนกสัตว์ให้ประณีตหรือให้เลวทราม กรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความดีความชั่วโดยตรง การกระทำที่เป็นกุศลหรือเป็นกรรมดีที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ ความไม่โลภ อโทสะ ความไม่โกรธ อโมหะ ความไม่หลง กล่าวคือ ถ้าบุคคลใดมีการกระทำ ด้วยกาย วาจา และใจที่สุจริต บุคคลนั้นเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์หรือเทวภูมิ เมื่อบุคคลกระทำในสิ่งเป็นอกุศลหรือเป็นกรรมชั่ว ซึ่งจัดเป็นอกุศลมูล คือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง ด้วยกาย วาจา และใจ อกุศลมูลเหล่านั้นย่อมชักนำบุคคลนั้น ให้สู่ทุคติมีนรกเป็นต้น สมด้วยพุทธพจน์ที่ว่า

“บุคคลผู้มีปัญญา ละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และไม่ทำอกุศลกรรมอย่างอื่นใดอันประกอบด้วยโทษ กระทำแต่กุศลกรรมเป็นอันมาก เมื่อตายย่อมเข้าถึงสวรรค์”
(ขุ.อิติ. ๒๕/๑๐๘/๒๑๘ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, ๒๕๑๔)

“บุคคลผู้มีปัญญาทราม กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และทำอกุศลกรรมอย่างอื่นใดอันประกอบด้วยโทษ ไม่กระทำกุศลกรรม กระทำแต่อกุศลกรรมเป็นอันมาก เมื่อตายย่อมเข้าถึงนรก”
(ขุ.อิติ. ๒๕/๑๐๙/๒๑๙ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, ๒๕๑๔)

เมื่อพิจารณาจากพุทธพจน์ดังกล่าวมา จะเห็นได้ว่ามนุษย์ภูมินั้น เป็นจุดศูนย์กลาง หรือเป็นที่อยู่ของเทวดาที่มีคติที่สืบเนื่องมาจากกรรมดี และเทวดาเหล่านั้นล้วนเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ์เช่นเดียวกับมนุษย์ทั้งหลายนั่นเอง และเมวดาส่วนใหญ่ยังเป็นปุถุชน ยังมีกิเลสหนาคล้ายมนุษย์ทั้งหลาย ฉะนั้นการเวียนว่ายตายเกิดของหมู่สัตว์ จึงอยู่ในสามภูมิ คือ เทวภูมิ มนุษย์ภูมิ และอบายภูมิ


ปกิณกะเทวดาภูมิ

เทวะ แปลว่า ผู้ที่เพลิดเพลินยิ่งในกามคุณทั้ง ๕ เทวะมี ๓ คือ
๑. อุปปัตติเทวะ ได้แก่ เทวดาโดยกำเนิด
๒. สมมติเทวะ ได้แก่ เทวดาโดยสมมติ เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา เป็นต้น
๓. วิสุทธิเทวะ ได้แก่ เทวดาที่บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง หมายถึง พระอรหันต์โดยเฉพาะเท่านั้น

อนึ่งเทวะที่แปลว่า ผู้ที่เพลิดเพลินอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ นั้น ใช้เป็นคำแปลโดย เฉพาะแก่อุปปัตติเทวะเท่านั้น จะนำไปใช้กับ สมมติเทวะ และวิสุทธิเทวะไม่ได้

อุปปัตติเทวะมี ๖ ชั้น
๑. จาตุมมหาราชิกา
๒. ดาวดึงส์
๓. ยามา
๔. ดุสิต
๕. นิมมานรดี
๖. ปรนิมมิตวสวัตตี



๑.จาตุมมหาราชิกาภูมิ
สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นสวรรค์ชั้นแรกของสวรรค์ชั้นกามาวจร (ท่องเที่ยวไปในกามภพ ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับกาม) มีท้าวมหาราชทั้ง 4 องค์ ทรงเป็นใหญ่ จึงได้ชื่อสวรรค์ชั้นนี้ว่าจาตุมหาราชิกา สถานที่ตั้งคือโลกที่มีภูเขาชื่อสิเนรุเป็นแกนกลาง มีภูเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อมรอบเหนือเขาเหล่านี้ขึ้นไปอีก จึงเป็นที่ตั้งของสวรรค์จาตุมหาราชิกา
จาตุมมหาราช แปลว่า เทวดา ๔ องค์ ผู้เป็นเจ้าใหญ่ยิ่ง
จาตุมมหาราชิกา หมายถึงว่าเทวดาทั้งหลายผู้มีหน้าที่ปฏิบัติรับใช้ท้าวมหาราช ทั้ง ๔ กล่าวคือ เทวดาในชั้น
จาตุมมหาราชิกาภูมินี้ เป็นบริวารอยู่ใต้อำนาจของท้าว มหาราชทั้ง ๔ เพราะเหตุว่ามามีกำเนิดในสถานที่ที่ท้าวมหาราช
ทั้ง ๔ ปกครองอยู่
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ คือ
๑. ท้าวธตรัฏฐะ อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุเป็นผู้ปกครองคันธัพพ เทวดาทั้งหมด
(ท้าวธตรฏฐ์ ปกครองด้านทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร)
๒. ท้าววิรุฬหกะ อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑเทวดา ทั้งหมด
(ท้าววิรุฬหก ปกครองด้านทิศใต้ของเขาสิเนรุ มีพวกกุมภัณฑ์เป็นบริวาร)
๓. ท้าววิรูปักขะ อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองนาคะ เทวดาทั้งหมด
(ท้าววิรูปักข์ ปกครองด้านทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ มีพวกนาคเป็นบริวาร)
๔. ท้าวกุเวระ หรือ ท้าวเวสสุวรรณ อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองยักขะเทวดาทั้งหมด (ท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวัณ ปกครองด้านทิศเหนือของเขาสิเนรุ มีพวกยักษ์เป็นบริวาร)

เทวดาที่อยู่ภายใต้การปกครองของท้าวจาตุมมหาราช คือ
๑. ปัพพัฏฐเทวดา เทวดาที่ อาศัยภูเขาอยู่
๒. อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่ อาศัยอยู่ในอากาศ
๓. ขิฑฑาปโทสิกเทวดา เทวดาที่ มีความเพลิดเพลินในการเล่นกีฬา จนลืมบริโภคอาหารแล้วตาย
๔. มโนปโทสิกเทวดา เทวดาที่ ตายเพราะความโกรธ
๕. สีตวลาหกเทวดา เทวดาที่ ทำให้อากาศเย็นเกิดขึ้น
๖. อุณหวลาหกเทวดา เทวดาที่ ทำให้อากาศร้อนเกิดขึ้น
๗. จันทิมเทวปุตตเทวดา เทวดาที่ อยู่ในพระจันทร์
๘. สุริยเทวปุตตเทวดา เทวดาที่ อยู่ในพระอาทิตย์

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์นี้ เป็นผู้รักษามนุษย์โลกด้วย ฉะนั้นจึงเรียกว่า ท้าว จตุโลกบาล บางทีก็เลยเรียกท้าวจตุโลกบาลนี้ว่า อินทะ ยมะ วรุณะ กุเวระ
เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกานี้ มีที่อยู่ตอนกลางเขาสิเนรุ ตลอดลงมาถึงพื้นดิน ที่มนุษย์อยู่ เรียกชื่อตามที่อยู่ที่อาศัยดังนี้
ก. ที่อยู่บนพื้นแผ่นดิน เรียกว่า ภุมมัฏฐเทวดา
ข. ที่อยู่บนต้นไม้ เรียกว่า รุกขัฏฐะเทวดา
ค. ที่อยู่ในอากาศ(มีวิมานอยู่) เรียกว่า อากาสัฏฐะเทวดา

เทวดาในจาตุมมหาราชิกาภูมิ ที่มีใจโหดร้ายก็มีถึง ๔ จำพวก คือ
๑. คันธัพโพ คันธัพพี ได้แก่ เทวดาคันธัพพะ ที่ถือกำเนิดภายในต้นไม้ที่มี กลิ่นหอม เราเรียกกันว่า นางไม้ หรือ แม่ย่านาง ชอบรบกวนให้เกิดอุปสรรคต่าง ๆ เช่น ให้เกิดเจ็บป่วย หรือทำอันตรายแก่ทรัพย์สมบัติ ของผู้ที่นำไม้นั้นมาใช้สอย หรือมาปลูกบ้านเรือน เทวดาจำพวกนี้อยู่ในความปกครองของท้าวธตรัฏฐะ
คันธัพพเทวดานี้ สิงอยู่ในต้นไม้นั้นตลอดไป แม้ว่าใครจะตัดฟันไปทำเรือ แพ บ้านเรือน หรือเครื่องใช้ไม้สอยอย่างใด ๆ ก็คงสิงอยู่ในไม้นั้น ซึ่งผิดกับรุกขะเทวดา ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้เหมือนกัน แต่ถ้าต้นไม้นั้นตาย หรือถูกตัดฟันก็ย้ายจากต้นนั้น ไปต้นอื่น
๒. กุมภัณโฑ กุมภัณฑี ได้แก่ เทวดากุมภัณฑ์ ที่เราเรียกกันว่ารากษส เป็น เทวดาที่รักษาสมบัติต่าง ๆ มีแก้วมณีเป็นต้น และรักษาป่า ภูเขา แม่น้ำ ถ้ามีผู้ล่วง ล้ำก้ำเกิน ก็ให้โทษต่าง ๆ เทวดาจำพวกนี้อยู่ในความปกครอง
ของท้าววิรุฬหกะ
๓. นาโค นาคี ได้แก่ เทวดานาค มีวิชาเกี่ยวแก่เวทย์มนต์คาถาต่าง ๆ ขณะ ท่องเที่ยวมาในมนุษย์โลก บางทีก็เนรมิตเป็นคน หรือเป็นสัตว์ เช่น เสือ ราชสีห์ เป็นต้น โดยเฉพาะ ชอบลงโทษพวกสัตว์นรก เทวดาจำพวก
นี้อยู่ในความปกครอง ของท้าววิรูปักขะ
๔. ยักโข ยักขินี ได้แก่ เทวดายักษ์ พอใจเบียดเบียนสัตว์นรก เทวดา จำพวกนี้อยู่ในความปกครองของท้าวกุเวระ หรือท้าวเวสสุวรรณ
1 วัน 1 คืนบนสวรรค์ชั้นนี้ เท่ากับเวลาบนโลกมนุษย์ผ่านไป 50 ปี เทวดามีอายุ 500 ปีทิพย์

๒. ดาวดึงส์ภูมิ
ดาวดึงส์ภูมิ หรือ ตาวติงสาภูมิ มีความหมาย ๒ นัย นัยหนึ่งว่า เป็นที่เกิด ของบุคคล ๓๓ คน คือ เกิดเป็นพระอินทร์ ๑ เกิดเป็นเทวดาผู้เป็นใหญ่อีก ๓๒
ส่วนความหมายอีกนัยหนึ่ง เป็นพื้นแผ่นดินที่ปรากฏขึ้นในโลก เป็นครั้งแรก ก่อนพื้นดินส่วนอื่น เพราะภูมินี้อยู่บนยอดเขาสิเนรุ
ในดาวดึงส์ภูมิ
ทิศตะวันออก มีสวน นันทะวัน
ทิศตะวันตก มีสวน จิตรลดาวัน
ทิศเหนือ มีสวน มิสสกวัน
ทิศใต้ มีสวน ผารุสกวัน
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือมี ๒ ส่วน
ส่วนหนึ่งชื่อ " ปุณฑริกะ "มีต้น ปาริฉัตตก์ ที่ใหญ่โตมาก ใต้ร่มปาริฉัตตก์ มีแท่น ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ แท่นนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ก็ใช้เป็นที่ประทับแสดงพระ ธรรมเทศนา มีศาลา สุธัมมา เป็นที่ประชุมฟังธรรม มีเจดีย์แก้วมรกต ชื่อว่า พระจุฬามณี บรรจุพระเขี้ยวแก้ว (ข้างขวา) กับบรรจุพระเกศา(ที่ทรงตัดออกตอน เสด็จออกทรงผนวช)
อีกส่วนหนึ่งชื่อ สวนมหาวัน มีสระชื่อ สุนันทา สวนนี้เป็นที่ ประทับสำราญพระอิริยาบถของท้าวสักกเทวราช

ที่ศาลาสุธัมมา ตามปกติมีพรหมชื่อ สนังกุมาระ เป็นผู้เสด็จลงมาแสดงธรรม แต่ในบางโอกาส ท้าวสักกเทวราช หรือเทวดาองค์อื่นที่ทรงความรู้ในธรรมดี ก็เป็น ผู้แสดง
เทวดาตั้งแต่ชั้นดาวดึงส์นี้ขึ้นไปปฏิสนธิด้วยโอปปาติกกำเนิดอย่างเดียวเท่านั้น
เทวดาชั้นเดียวกัน ย่อมเห็นซึ่งกันและกันได้ และเห็นผู้ที่อยู่ชั้นต่ำกว่าตนได้ ด้วย แต่ไม่สามารถจะเห็นผู้ที่อยู่ในชั้นที่สูงกว่าตนได้

ท้าวสักกเทวราช หรือท้าวโกสีย์อัมรินทร์ ซึ่งเรียกกันสั้น ๆ ว่า พระอินทร์นี้ อยู่ในชั้นดาวดึงส์ แต่เป็นผู้ปกครองเทพยดาทั้งในชั้นดาวดึงส์ และชั้นจาตุมมหาราชิกาด้วย บางทีก็เรียก ท้าวสหัสสนัย คือ ท้าวพันตา เพราะจักขุดีมาก เห็นได้ชัดเจน และเห็นได้ไกลมาก เท่ากับดวงตาตั้งพันดวง
พระอินทร์องค์ปัจจุบันนี้ สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อจุติจากเทวโลก ก็จะมาบังเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ในมนุษย์โลก และจะได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี จุติจากมนุษย์โลก จะไปบังเกิดในชั้นดาวดึงส์อีก คราวนี้ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี จุติทีนี้ก็จะไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาส ตั้งแต่ชั้นอวิหา เป็นต้นไปตามลำดับจนถึงชั้น อกนิฏฐา และสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในชั้นนั้น

เทวดาในดาวดึงส์ภูมินี้มี ๒ พวก คือ ภุมมัฏฐเทวดา อาศัยพื้นแผ่นดินอยู่ และ อากาสัฏฐเทวดา มีวิมานลอยอยู่ในอากาศเป็นที่อยู่
1 วัน 1 คืนบนสวรรค์ชั้นนี้ เท่ากับเวลาบนโลกมนุษย์ผ่านไป 100 ปี เทวดามีอายุ 1,000 ปีทิพย์

๓. ยามาภูมิ
ยามา แปลว่าสิ้นไปจากทุกข์ หรือบรรลุทิพยสุขพร้อมพรั่ง ยามาภูมิ มีท้าวสุยามะเทวราชเป็นผู้ปกครอง เทวดาทั้งหลายที่อยู่ในชั้นนี้ ก็ เรียกว่า ยามา หรือ ยามะ ดังนั้นภูมินี้จึงมีชื่อว่า ยามา เป็นภูมิที่ปราศจากความลำบาก ถึงซึ่งความสุขอันเป็นทิพย์ วิมาน และทิพย์ สมบัติก็ประณีตมาก ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า ชนชั้นฟ้านี้ไม่เห็นพระอาทิตย์เลย เพราะสูงกว่าพระอาทิตย์มาก แต่เทพชั้นนี้เห็นกันได้ด้วยรัศมีแก้วและด้วยรัศมีของตัวเทพเอง และจะรู้ว่ารุ่งสางหรือค่ำมืดด้วยดอกไม้ทิพย์ เมื่อเห็นดอกไม้บานจึงรู้ว่าเริ่มสว่าง เมื่อเห็นดอกไม้หุบจึงรู้ว่าค่ำมืด เทพชั้นยามา ไม่ปรากฏว่าได้ลงมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์

ภูมินี้อยู่ในอากาศ สูงกว่ายอดเขาสิเนรุ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ ขอกล่าวเสียตรงนี้ว่า ภูมิของเทวดาทุก ๆ ชั้น มีระยะห่างกันชั้นละ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ เหมือนกันทุกชั้น
เทวดาที่อยู่ในยามาภูมินี้ เป็นจำพวกอากาสัฏฐเทวดาจำพวกเดียว เพราะมี วิมานลอยอยู่ในอากาศเป็นที่อยู่
เทวดาที่อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่าชั้นนี้ ก็ล้วนแต่เป็น อากาสัฏฐเทวดาทั้งสิ้น
1 วัน 1 คืนบนสวรรค์ชั้นนี้ เท่ากับเวลาบนโลกมนุษย์ผ่านไป 200 ปี เทวดามีอายุ 2,000 ปีทิพย์

๔. ดุสิตาภูมิ
สวรรค์ชั้นที่ ๔ ชื่อว่าดุสิต ดุสิตาภูมิ มีท้าวสันตุสิตตะเทวราช เป็นผู้ปกครอง เป็นภูมิของอากาสัฏฐ เทวดา ที่ชื่อว่า ดุสิตา ดังนั้นภูมินี้จึงชื่อว่า ตุสิตาภูมิ หรือดุสิตาภูมิ หรือ ดุสิตภูมิ
เป็นภูมิที่ปราศจากความร้อนใจ มีแต่ความชุ่มชื่นอยู่เป็นนิจ ในทิพย์สมบัติอัน เป็นศิริมงคลของตน
เป็นภูมิที่ประเสริฐกว่าเทวดาภูมิชั้นอื่น ๆ เพราะว่า พระโพธิสัตว์ทุก ๆ พระองค์ก่อนที่จะมาบังเกิดในมนุษย์โลก และได้สำเร็จอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นภพสุดท้าย ตลอดจนผู้ที่จะได้มาตรัสรู้เป็นพระอัครสาวก ก็ย่อมบังเกิดในชั้น ดุสิตนี้ก่อนทั้งนั้น
1 วัน 1 คืนบนสวรรค์ชั้นนี้ เท่ากับเวลาบนโลกมนุษย์ผ่านไป 400 ปี เทวดามีอายุ 4,000 ปีทิพย์

๕. นิมมานรตีภูมิ
นิมมานรตีภูมิ มีท้าวสุนิมมิตตะเทวราช เป็นผู้ปกครอง เป็นภูมิของอากาสัฏฐ เทวดาที่ชื่อว่า นิมมานรตี ดังนั้นภูมินี้จึงชื่อว่า นิมมานรตีภูมิ
เทวดาในชั้นนี้ มีความสุขความเพลิดเพลินในกามคุณทั้ง ๕ ที่ตนเนรมิตขึ้น ตามความพอใจของตนเองทุกประการ เมื่อได้เพลิดเพลินในกามคุณนั้นสมใจแล้ว สิ่งที่เนรมิต คือนิมิตนั้นก็จะปลาสนาการไป
1 วัน 1 คืนบนสวรรค์ชั้นนี้ เท่ากับเวลาบนโลกมนุษย์ผ่านไป 800 ปี เทวดามีอายุ 8,000 ปีทิพย์


๖. ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ
ปรนิมมิตวสวัตติภูมิ มีท้าวปรนิมมิตตะเทวราช อีกนัยหนึ่งว่า ท้าววสวัตตี เทวราช เป็นผู้ปกครองอากาสัฏฐเทวดาทั้งหลายในชั้นนั้น
เทพยดาในชั้นนี้ มีความสุขความเพลิดเพลินในกามคุณทั้ง ๕ เป็นอย่างยิ่ง โดยที่ตนไม่ต้องเนรมิตขึ้นเอง แต่มีเทวดาองค์อื่นคอยเนรมิตให้สมตามความ ปรารถนาทุกประการ
1 วัน 1 คืนบนสวรรค์ชั้นนี้ เท่ากับเวลาบนโลกมนุษย์ผ่านไป 1,600 ปี เทวดามีอายุ 1,600 ปีทิพย์


เทวดาเป็นวัตถุอันควรเคารพบูชา
ในพระอภิธรรมแสดงว่า เทวดาเป็น ๑ ใน ๑๐ แห่งธรรมที่เป็นเครื่องระลึก ของสติ ซึ่งมีชื่อว่า เทวตานุสฺสติ ทั้งนี้เพราะเทวดาบังเกิดขึ้นโดยอานิสงส์ ๗ ประการ ได้แก่ สัทธา สีล จาคะ สุตะ ปัญญา หิริ โอตตัปปะ เมื่อมีสติระลึกอยู่ในอารมณ์อย่างนี้ ย่อมเป็นกุสล ได้ความปิติอิ่มเอิบ จิตใจก็ไม่ แกว่งไกวไปในราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นสิ่งที่ทำให้เศร้าหมองและเร่าร้อน
ในอังคุตตรบาลีแสดงว่า การเคารพเทพเจ้าที่สิงสถิตย์อยู่ในบ้าน ในเรือน ในหมู่บ้าน ย่อมเกิดมงคลแก่ผู้แสดง
ในมหาปรินิพพานสูตรแสดงว่า การเคารพต่อเจ้าที่เจ้าทาง ย่อมได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ให้
ในรัตนสูตรแสดงว่า บุคคลผู้บูชาสักการะปวงเทพยดานั้น ย่อมได้รับเมตตาจิตเป็นการตอบแทน




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2551
0 comments
Last Update : 21 มิถุนายน 2551 10:49:51 น.
Counter : 1656 Pageviews.

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.