แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และ เวชศาสตร์ป้องกัน ร.พ.พนมสารคาม อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
<<
ธันวาคม 2549
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
5 ธันวาคม 2549
 
 
ออกกฎป้องหมอ ปฏิเสธคนไข้ได้

ข่าวจาก น.ส.พ.มติชนรายวัน วันอังคาร ที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10496



ภาพวัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

ออกกฎป้องหมอ ปฏิเสธคนไข้ได้สกัดฟ้อง-กล่าวหาไม่เป็นธรรม แพทยสภาทิ้งทวนก่อนพ้นวาระ

แพทยสภาคลอดประกาศใหม่ เปิดทางหมอปฏิเสธรักษาคนไข้ได้ พร้อมได้รับความคุ้มครองไม่ถูกฟ้องร้อง อ้างหมอรักษาสุดความสามารถทุกคน

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ได้ออกประกาศแพทยสภา ฉบับที่ 46 /2549 เรื่อง

"ข้อเท็จจริงทางการแพทย์"

ซึ่งเป็นการออกประกาศในวันสุดท้ายก่อนครบวาระและมีการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่ โดยมีสาระสำคัญ 9 ข้อ คือ

1."การแพทย์" ในที่นี้ หมายถึงการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งคือการแพทย์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วทางวิทยาศาสตร์ว่ามีประโยชน์

2.การแพทย์ยังไม่สามารถให้การวินิจฉัย ป้องกัน และ/หรือบำบัดให้หายได้ทุกโรคหรือทุกสภาวะ บางครั้งอาจทำได้เพียงบรรเทาอาการหรือประคับประคองเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น บางโรคยังมิอาจให้การวินิจฉัยได้ในระยะเริ่มแรก

3.ในกระบวนการดำเนินการทางการแพทย์อาจเกิดสภาวะอันไม่พึงประสงค์ได้ แม้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้วก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

4.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมใช้ดุลพินิจในการเลือกกระบวนการดำเนินการทางการแพทย์ รวมทั้งการปรึกษาหารือส่งต่อโดยคำนึงถึงสิทธิและประโยชน์โดยรวมของผู้ป่วย

5.เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอาจปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในสภาวะฉุกเฉินอันจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยต้องให้คำแนะนำหรือส่งต่อผู้ป่วยตามความเหมาะสม

6.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพ ย่อมมีสิทธิ และได้รับความคุ้มครองที่จะไม่ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม

7.ภาระงาน ข้อจำกัดของสถานพยาบาล ความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ย่อมมีผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินการทางการแพทย์

8.การปกปิดข้อมูลด้านสุขภาพและข้อเท็จจริงต่างๆ ทางการแพทย์ของผู้ป่วยต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ทำการวินิจฉัยและรักษาย่อมมีผลเสียต่อการวินิจฉัยและการรักษา

9.การไม่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือบุคลากรทางการแพทย์ ย่อมมีผลเสียต่อการรักษาและการพยากรณ์โรค

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ อดีตเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาใช้เวลาร่างประกาศนี้เป็นเวลา 3-4 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากแพทย์ประมาณ 3 หมื่นคนทั่วประเทศไม่เพียงพอกับคนไข้ และจากการวิจัยพบว่า แพทย์ร้อยละ 86 มีเวลาดูแลคนไข้ไม่ถึง 1 นาที ขณะที่คนไข้ตั้งความหวังกับแพทย์ไว้มากว่าเมื่อเจ็บป่วยแพทย์จะรักษาได้

"ความจริง "หมอเทวดา" ก็ช่วยไม่ได้ หรือบางครั้งคนไข้พบแพทย์ก็มิได้หมายความว่าแพทย์สามารถวินิจฉัยอาการได้ทันที เพราะระยะเริ่มแรกอาจจะยังไม่ปรากฏอาการ ผมได้นำปัญหาจากการไปเยี่ยมแพทย์เสนอต่อแพทยสภา เพราะคิดว่าเมื่อมีเรื่องสิทธิของผู้ป่วย ก็ต้องดูว่าแพทย์มีสิทธิหรือไม่ ในความเห็นผมคิดว่าแพทย์ก็น่าจะมีสิทธิที่จะทำงานในสภาพที่เอื้อต่อการทำงาน แต่ไม่ได้เรียกว่า

"สิทธิแพทย์"

เหมือนกับ

"สิทธิผู้ป่วย"

ให้เรียกว่า

"ข้อเท็จจริงทางการแพทย์"

การออกประกาศข้อเท็จจริงทางการแพทย์ มิใช่ว่าต้องการชนกับผู้ป่วย เพราะโดยหน้าที่แพทย์ก็ต้องทำดีกับผู้ป่วยและรักษาผู้ป่วยสุดความสามารถ" นพ.พินิจกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประกาศดังกล่าวอาจทำให้แพทย์ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วย และมีการส่งต่อผู้ป่วยมากขึ้น

นพ.พินิจกล่าวว่า เรื่องนี้ผู้ป่วยได้ประโยชน์ เพราะจะได้พบแพทย์เฉพาะทาง ยกเว้นกรณีที่เป็นคนไข้ฉุกเฉิน แพทย์ไม่สามารถปฏิเสธคนไข้ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ อย่างไรก็ตาม ประกาศนี้อาจทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องแพทย์นั้น ยืนยันว่าถ้าแพทย์รักษาเต็มที่แล้ว ไม่ผิด ก็ไม่ควรฟ้อง เพราะแพทย์ก็มีสิทธิความเป็นมนุษย์และได้รับความคุ้มครองเช่นกัน

ด้าน นพ.สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.ปราชญ์ บุญวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบร่างระเบียบคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อคุ้มครองแพทย์และบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักวิชาชีพเวชกรรมให้การดูแลคนไข้ถูกหลักวิชาการถูกฟ้องร้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขร่างเดิม โดยตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าจำเป็นจะต้องปรับปรุงกฎหมายใดบ้าง โดยเฉพาะประเด็นไม่ให้แพทย์ถูกฟ้องร้องคดีอาญา ยกเว้นในกรณีประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวคิดที่จะดึงองค์กรภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในร่างฉบับนี้ด้วย

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ร่างระเบียบฉบับนี้สำคัญต่อประชาชนมาก และมูลนิธิประสงค์ที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนภาคประชาชนร่วมกับภาคีองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมผลักดันร่างฉบับนี้ด้วย และเสนอว่า

1.ควรนำเรื่องการตั้งกองทุนเยียวยาช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ บรรจุไว้ในร่างฉบับนี้ เพื่อลดการฟ้องร้องจากผู้เสียหาย

2.แพทยสภาต้องหยุดทำหน้าที่เหมือนแพทยสมาคม โดยการปกป้องแต่คนในวิชาชีพแต่กลับไม่ทำหน้าที่เพื่อปกป้องประชาชนที่ได้รับความเสียหายอย่างแท้จริง และ

3.กรณีเกิดความผิดพลาดจากการรักษา ควรมีการตั้งองค์กรกลางร่วมพิสูจน์ความผิดร่วมกับแพทยสภาด้วย
.........................................................................
มีข่าวเกี่ยวข้องจาก น.ส.พ.คมชัดลึก วันพุธที่6ธ.ค.2549 2 ข่าว ดังนี้ให้พิจารณา

เรื่องแรก กรรมการสิทธิฯ ร้องรมว.สธ. ทบทวนประกาศคุ้มครองหมอ

"หมอประดิษฐ์ เจริญไทยทวี" เตรียมร้อง รมว.สาธารณสุขทบทวนประกาศคุ้มครองแพทย์ ชี้ละเมิดสิทธิคนไข้

ศ.เกียรติคุณ น.พ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีแพทยสภาออกประกาศ

"ข้อเท็จจริงทางการแพทย์" 9 ข้อปกป้องสิทธิแพทย์ทั่วประเทศ ป้องกันถูกฟ้องโดยให้สิทธิปฏิเสธรักษากรณีไม่ฉุกเฉิน ว่า แพทยสภาไม่สามารถออกกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิของคนไข้ได้ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยและอึดอัดใจกับประกาศดังกล่าว

ดังนั้น จะทำหนังสือถึง น.พ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ในฐานะผู้ดูแลและกำกับแพทยสภา ให้ทบทวนประกาศฉบับดังกล่าว

ศ.เกียรติคุณ น.พ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์มีมากอยู่แล้ว

ตอนนี้เด็กนักเรียนก็ไม่อยากเรียนหมอ เพราะเสี่ยงกับการถูกฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญา ส่วนหมอก็ติดคุกไปหลายคนแล้ว การออกประกาศฉบับนี้จะดีหรือเสียแพทยสภาต้องคิดเอาเอง

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ไม่ว่าที่ไหนในโลกแพทยสภาต้องมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิประชาชน ไม่ใช่ออกหลักเกณฑ์ปกป้องแพทย์ด้วยกันเอง แพทยสภาควรจะเปลี่ยนไปเป็นแพทยสมาคมเพื่อดูแลวิชาชีพแพทย์ด้วยกันเองมากกว่า จะทำหนังสือถึงแพทยสภาให้ทบทวนประกาศดังกล่าวภายใน 2-3 วันนี้
......................................................................
เรื่องที่2หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันวันเดียวกัน

เครือข่ายผู้ป่วยวางหรีดดำประท้วงประกาศแพทยสภา
และ เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ วางหรีดดำ ประท้วงประกาศแพทยสภาขอให้ทบทวนใหม่ "หมอรักษาโรคไม่ผิด"

ด้านเลขาธิการแพทยสภา รับปากเสนอเข้าบอร์ดแพทยสภาอีกครั้ง แจงไม่ได้ปกป้องแพทย์

ศ.นพ.ประเวศแนะพยาบาลบริการด้วยน้ำใจ คนไข้หายไว ประหยัดงบประมาณตรวจวินิจฉัยโรค แนะหลัก 6 ข้อเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจาก “นรก”เป็น “สวรรค์”

(6ธ.ค.) นางปรียนันท์ (ดลพร) ล้อเสริมวัฒนา เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นำหรีดมาวางประท้วงแพทยสภาที่ออกประกาศแพทยสภาที่ 46/2549 เรื่องข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ลักษณะการรักษาโรคของแพทย์ไม่มีความผิดไม่สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ มี น.พ.พินิจ กุลละวณิชย์ เลขาธิการแพทยสภา เป็นผู้รับพวงหรีด โดยพวงหรีดเขียนข้อความ ว่า “สู่สุคติเถอะแพทยสภา” และป้ายประท้วงข้อความว่า “พึ่งไม่ได้แล้วแพทยสภายุบไปเลย” และ “ไว้อาลัยแพทยสภาหน่วยงานที่ตายแล้ว”

นางปรียนันท์ กล่าวว่า ประกาศฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแพทยสภาปกป้องแพทย์ มากกว่าประชาชน ควรมีองค์กรกลางเข้ามาดูแลความปลอดภัยทางการแพทย์ การเรียกร้องครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อคนไข้อย่างเดียว แต่เพื่อแพทย์ด้วย องค์การอนามัยโลกยอมรับว่า การที่แพทย์ทำคนไข้ตายโดยความผิดพลาดจากการรักษาปีหนึ่งหลายหมื่นคนแต่ไม่มีการแก้ปัญหากลับไปปกป้องแพทย์

ด้าน น.พ.พินิจ กล่าวว่า คงต้องนำประกาศแพทยสภาฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการแพทยสภาในครั้งต่อไปว่าจะมีการทบทวนตามที่เรียกร้องหรือไม่ ยังให้คำตอบไม่ได้ในขณะนี้ แต่แพทยสภามีเจตนาที่จะปกป้องสิทธิในการรักษาของผู้ป่วยด้วย ไม่เพียงแต่เฉพาะแพทย์เท่านั้น ต้องอ่านเนื้อหาให้ดีๆ จะเข้าใจเพราะพิจารณามานาน 3-4 ปี รวมทั้งระมัดระวังในเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นด้วย คาดสัปดาห์หน้าอาจแถลงข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจ

“ผมไม่เคยเข้าข้างหมอ หรือปกป้องพวกพ้องที่เป็นแพทย์ด้วยกัน แต่ควรให้ความเป็นธรรมกับหมอบ้าง เพราะบางพื้นที่มีหมอแค่คนเดียว ต้องรักษาผู้ป่วยเป็นร้อยคนในเวลาจำกัด อีกทั้งในความเป็นจริงแล้วคงไม่มีหมอคนใดที่จะปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้” น.พ.พินิจ กล่าว

ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส บรรยายพิเศษเรื่อง

"ระบบบริบาลที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์"

ในการประชุมวิชาการสภาการพยาบาลครั้งที่ 1 ว่า จากการรายงานของ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาล ทำให้รู้ว่า ปัจจุบันมีพยาบาลกว่า 150,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ถือเป็นพลังสำคัญในการปฏิรูประบบสุขภาพ เป็นที่ประจักษ์ว่าการให้บริการประชาชนของพยาบาลมีน้ำใจต่อคนไข้มากกว่าแพทย์

เรื่องคุณธรรมถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการมีระบบ ”พยาบาลชุมชน” ให้บริการในลักษณะใกล้บ้าน ใกล้ใจ คาดว่าอีก 10 ปีจะมีพยาบาลของชุมชนเพิ่ม 70,000-100,000 คน จากการสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คัดเลือกคนในชุมชนส่งเรียนพยาบาล เพื่อกลับไปดูแลคนในชุมชน ได้รับเงินเดือนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่จากกระทรวงสาธารณสุข

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงข้อดีของระบบพยาบาลชุมชนว่า พยาบาลชุมชนจะออกเยี่ยมบ้าน ช่วยเหลือเปลี่ยนสายปัสสาวะให้ผู้ป่วยอัมพาต ซึ่งต้องเปลี่ยนทุก 15 วัน การหอบหิ้วผู้ป่วยไปโรงพยาบาลยากลำบาก แต่หากพยาบาลออกไปให้บริการผู้ป่วยที่บ้าน คนไข้จะได้รับความสะดวก ยิ่งสังคมไทยมีคนสูงอายุเพิ่มขึ้น ระบบพยาบาลเยี่ยมบ้านจะช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้ง ”ระบบสุขภาพชุมชน” โดยคนไข้รู้วิธีดูแลตนเอง คนในครอบครัวใส่ใจสุขภาพ จะลดความแออัดของคนไข้ในโรงพยาบาลใหญ่ ระบบการให้บริการสุขภาพจะเปลี่ยนจาก “นรก” เป็น “สวรรค์” โดยดำเนินการ 6 ข้อคือ

1.สำรวจผู้ถูกทอดทิ้งในชุมชน ตำบลให้แล้วเสร็จใน 2 สัปดาห์ ค้นหาว่ามีคนจน คนแก่ ผู้พิการ เด็กกำพร้าถูกทอดทิ้งจำนวนเท่าใด คนในชุมชนรวมน้ำใจตั้งเป็นกองทุนสุขภาพชุมชนให้การช่วยเหลือ

2. ให้ความรู้จนสามารถรักษษโรคง่าย ๆ ด้วยตัวเอง พวกโรคหวัด เจ็บคอไม่ควรมาหาหมอ จะทำให้โรงพยาบาลว่าง ลดความแออัด

3.โรคเรื้อรังเบาหวาน ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ต้องให้ความรู้ในการดูแลตนเองลดโรคแทรกซ้อน ซึ่งหากทำได้จะลดภาระการรักษาโรคเหล่านี้

4.จัดบริการให้มีพยาบาลเยี่ยมบ้านรองรับสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากจะมีโรคคนแก่เพิ่มขึ้น

5.ความเข้มแข็งของชุมจะช่วยป้องกันโรคติดต่อได้ทั้งไข้เลือดออก โรคซาร์ส ไข้หวัดนก

6.การสร้างเสริมสุขภาพให้คนในชุมชนแข็งแรง

“การบริการด้วยน้ำใจจะมีพลัง มากกว่าการนำความรู้นำ ผลที่เกิดขึ้นคือ คนไข้มีความสุข ไข้หายง่ายเพราะเอ็นโดฟินหลั่งจากการมีความสุข ค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัยโรคลดลง มีนวัติกรรมใหม่ ๆ ในการดูแลคนไข้เพิ่มขึ้น เช่นวิธีแทงเข็มน้ำเกลือโดยไม่สร้างความเจ็บปวดให้คนไข้ ลดการฟ้องร้องแพทย์จากบริการที่มีน้ำใจ ความปลอดภัยในการรักษาพยาบาล ทำให้ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มั่นใจปลื้มใจภูมิใจในตนเอง”ศ.นพ.ประเวศ กล่าวและ เสนอให้ทำแผนที่ความดีของพยาบาล เผยแพร่กิจกรรมดี ๆ ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง






Create Date : 05 ธันวาคม 2549
Last Update : 6 ธันวาคม 2549 22:12:14 น. 0 comments
Counter : 513 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 

samrotri
Location :
ฉะเชิงเทรา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




น.พ.สำเริง ไตรติลานันท์
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และ เวชศาสตร์ป้องกัน
ตำแหน่ง นายแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน ร.พ.พนมสารคาม และ ร.พ.สร้างเสริมสุขภาพตำบลเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โทรฯ 0896112714
[Add samrotri's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com