กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กันยายน 2566
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
space
space
30 กันยายน 2566
space
space
space

ปภ.ของความรู้. ค. จำแนกโดยพัฒนาการทางปัญญา




ค. จำแนกโดยพัฒนาการทางปัญญา (ภายในบุคคล)


     เมื่อพิจารณาในแง่พัฒนาการ   ความรู้ที่อยู่ในขอบเขตซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องก็คือ ความรู้ประเภทที่เป็นภาเวตัพพธรรม (สิ่งที่ควรเจริญ หรือฝึกปรือ)  ส่วนความรู้ประเภทปริญไญยธรรม  (สิ่งที่ควรกำหนดรู้ หรือ รู้จัก)  ก็เป็นอันไม่ต้องกล่าวถึง ดังนั้น ความรู้ที่เรียกว่าวิญญาณ จึงไม่จัดเข้าในหัวข้อนี้

     ความรู้ที่อยู่ในขอบเขตของการฝึกอบรม   จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท   เรียงตามลำดับแห่งพัฒนาการ หรือ ความเจริญแก่กล้า   ที่ออกผลมาเป็นอย่างๆ ดังนี้

        ๑.สัญญา   ความกำหนดได้  หมายรู้  ได้แก่  ความรู้ที่เกิดจากการกำหนดหมาย หรือ จำได้หมายรู้  ซึ่งบันทึกไว้เป็นแบบสำหรับเทียบเคียง และเป็นวัตถุดิบของการรู้ และการคิดต่อๆไป แบ่งได้เป็น ๒ พวก ดังได้อธิบายแล้วในความรู้ชุด ก.

     เมื่อว่า โดยคุณภาพในกระบวนการพัฒนาความรู้  จะเห็นได้ว่า  สัญญาที่เกิดขึ้นตามปกติในกระบวนการรับรู้  คือ  สัญญาขั้นต้นทั้งหลายก็ดี  สัญญาที่หมายรู้ตามความรู้ความเข้าใจที่เจริญเพิ่มพูนขึ้นในการฝึกอบรมปัญญา ก็ดี  แม้ว่าอาจแตกต่างกันได้เป็นความรู้หลายระดับ  ตั้งแต่รู้คลุมเครือถึงรู้ชัดเจน  ตั้งแต่รู้บางแง่ถึงรู้สมบูรณ์  ตั้งแต่รู้ผิดพลาดถึงรู้ถูกต้อง  ก็เป็นเพียงเรื่องของการรู้ และไม่รู้เท่านั้น  จึงนับว่าเป็นเรื่องของความรู้  และการพัฒนาความรู้โดยตรง  ส่วนสัญญาฟ่ามเฟ้อ ที่เรียกว่า  ปปัญจสัญญา หรือกิเลสสัญญา  มีลักษณะตรงข้าม คือ เป็นเครื่องกีดกั้น ปิดบัง และบิดเบือนความรู้


        ๒.ทิฏฐิ   ความเห็น  ความเข้าใจโดยนัยเหตุผล  ความจริงในความคิด หรือความรู้ที่ผสมปรุงแต่งจับถือเอาด้วยความคิด ได้แก่ ความรู้ที่ลงข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในทางใดทางหนึ่ง และประกอบด้วยความยึดถือโดยอาการผูกพันกับตัวตน อาจเป็นความรู้ที่มีเหตุผลมากหรือน้อย หรือแม้ไม่มีเหตุผลเลยก็ตาม ตัวอย่างทิฏฐิ  เช่น  สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง เข้าใจว่ามีอัตตาที่คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปโดยไม่มีเหตุปัจจัย เป็นต้น


        ๓.ญาณ   ความรู้   ความหยั่งรู้  เป็นไวพจน์คำหนึ่งของปัญญา แต่มักใช้ในความหมายที่จำเพาะกว่า คือ เป็นปัญญาที่ทำงานออกผลมาเป็นเรื่องๆ เช่น กัมมัสสกตาญาณ ความหยั่งรู้ภาวะที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน  อตีตังสญาณ  ปรีชาหยั่งรู้ส่วนอดีต สัจจานุโลมิกญาณ ความหยั่งรู้สอดคล้องกับสัจจะ  ฐานาฐานญาณ  ปรีชาหยั่งรู้การณ์ที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ นานาธิมุตติกญาณ  ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัยแนวโน้มความเชื่อความสนใจของสัตว์ทั้งหลายที่ต่างๆกัน เป็นต้น กล่าวได้ว่า ญาณ คือ ความรู้บริสุทธิ์ที่ผุดโพลงสว่างแจ้งขึ้น มองเห็นตามสภาวะของสิ่งนั้นๆ หรือเรื่องนั้นๆ

     แม้ว่าญาณจะมีหลายระดับ   บางทีเป็นความรู้ผิด   บางทีเป็นความรู้บางส่วน ไม่สมบูรณ์ แต่ก็เรียกได้ว่า เป็นความรู้บริสุทธิ์ หรือความรู้ล้วนๆ เพราะยังไม่มีความรู้สึกของตัวตน หรือ ความยึดถือเป็นของตนเข้าไปจับ บางครั้งญาณเกิดขึ้นโดยอาศัยความคิดเหตุผล แต่ญาณนั้นเป็นอิสระจากความคิดเหตุผล คือ ไม่ต้องขึ้นต่อความคิดเหตุผล แต่ออกไปสัมพันธ์กับตัวสภาวะที่เป็นอยู่จริง ข้อนี้นับว่าเป็นลักษณะที่แตกต่างกันอย่างหนึ่ง ระหว่างทิฏฐิกับญาณ กล่าวคือ ความรู้แบบทิฏฐิเข้ามาอิงความยึดถือและความคิดเหตุผลข้างใน ส่วนความรู้ที่เรียกว่าญาณออกไปสัมผัสกับตัวสภาวะที่เป็นอยู่ข้างนอกโดยตรง


     ในขั้นพื้นฐาน  สัญญาเป็นวัตถุดิบของความรู้ และความคิดต่างๆ  ดังนั้น  ความรู้อีก ๒ ประเภท คือ ทิฏฐิ และญาณ จึงต้องอาศัยสัญญา

     ทิฏฐิเกิดจากสัญญาอย่างไร   มองเห็นได้ไม่ยาก  เมื่อกำหนดหมาย หรือหมายรู้สิ่งต่างๆ อย่างไร ก็ชวนให้ลงความเห็นสรุปเอาว่าเป็นอย่างนั้นๆ และสัญญาที่กำหนดหมายต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว แม้ใช้ได้สำเร็จประโยชน์บางอย่างในการดำเนินชีวิต แต่ก็มักกลายเป็นเครื่องกำบังปิดกั้นไม่ให้เห็นความจริงด้านอื่นๆ ของสิ่งนั้น ดังนั้น เมื่อไม่ใคร่ครวญวิเคราะห์ให้ดี คนก็ถูกสัญญาหลอกเอา หรือปิดบังปัญญาเอาได้ และชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ก็ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้มิใช่น้อย ทิฏฐิที่ผิดก็เกิดขึ้นเพราะสัญญาผิดบ้าง  ใช้สัญญาไม่ถูกต้องบ้าง  มีบาลีแห่งหนึ่งกล่าวถึงทิฏฐิที่เกิดจากสัญญาว่า

        "ทิฏฐิแม้เพียงเล็กน้อย   ซึ่งเกิดจากสัญญา   ถูกสัญญาจัดแต่ง เกี่ยวกับสิ่งที่เห็น ก็ดี สิ่งที่ได้ยิน ก็ดี สิ่งที่ได้สบทราบ ก็ดี ในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์นั้น อธิบายว่า ทิฏฐิซึ่งสัญญาก่อให้เกิดขึ้น กำหนดขึ้น ปรุงแต่งจัดแจงไว้ เพราะเหตุที่ทิฏฐิมีสัญญาเป็นหัวหน้า มีสัญญาเป็นเจ้าการใหญ่ และถือต่างกันด้วยสัญญานั้น เกี่ยวกับสิ่งที่เห็นก็ดี ฯลฯ ย่อมไม่มี...แก่พระอรหันตขีณาสพ..." (ขุ.ม.29/173/133)

        "สัจจะที่แน่แท้ในโลก   มิใช่จะมีต่างๆ มากหลาย   นอกจากสัญญา  (ทำให้เห็นต่างๆกันไป)" (ขุ.สุ.25/414/507)

     ญาณก็ต้องอาศัยสัญญาจึงเกิดขึ้นได้ ดังบาลี ว่า

        "นี่แน่ะโปฏฐบาท สัญญาย่อมเกิดก่อน ญาณย่อมเกิดทีหลัง และเพราะสัญญาเกิดขึ้น ญาณจึงเกิดขึ้น" (ที.สี.9/288/230)

     อีกข้อหนึ่ง ว่า

       "ข้อความว่า  ท่านไม่ได้เห็นสัญญาแม้สักหน่อยจากนี่ ไขความว่า ท่านไม่ได้สัญญาในสิ่งที่เคยประกอบ หรือสัญญาในสิ่งที่เคยถึง หรือสัญญาในลักษณะ หรือสัญญาในเหตุ หรือสัญญาในฐานะ จากนี่ คือจากความสงบภายใน หรือจากการปฏิบัติ หรือจากธรรมเทศนา ท่านจะได้ญาณจากที่ไหน" (ขุ.ม.29/349/233)

     บุรุษหนึ่งมองเห็นใบไม้แก่ร่วงหล่น บังเกิดวิปัสสนาญาณสว่างขึ้น มองเห็นความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งหลาย ญาณนั้นอาศัยสัญญามากหลายเป็นเค้า เช่น สัญญาเกี่ยวกับชีวิตและความทรงตัวอยู่ของสิ่งทั้งหลายเกี่ยวกับความแก่ ความทรุดโทรม เกี่ยวกับการร่วงหล่น ความตาย ความสิ้นสุด เกี่ยวกับเบื้องบน เบื้องล่าง เป็นต้น ปัญญาที่มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาเหล่านั้นอย่างทั่วถึง ทำให้เกิดญาณดังกล่าวแล้วนั้น หรือ ตัวอย่าง เกี่ยวกับโลกิยญาณอย่างอื่น เช่น นายนิวตันมองเห็นผลแอปเปิลตกลงมา เกิดความรู้สว่างแจ้งเห็นกฎแห่งความดึงดูด ความรู้โพลงทั่วนั้นก็อาศัยสัญญามากหลายเป็นเค้า เช่น สัญญาเกี่ยวกับการร่วงหล่น และการเข้าหากันระหว่างสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับช่องว่าง เกี่ยวกับแรง เกี่ยวกับการดึงการเหนี่ยว การเคลื่อนที่ การหลุดหนี การลอย เส้นตรง เส้นคดโค้ง เป็นต้น ปัญญาที่มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาเหล่านั้นอย่างทั่วตลอดในด้านหนึ่ง ทำให้เกิดความหยั่งรู้นั้นขึ้น


     ญาณก็ทำให้เกิดทิฏฐิได้   ตัวอย่างที่ชัดในคัมภีร์ เช่น พกพรหมมีญาณระลึกชาติได้ตลอดกาลยาวนานอย่างดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด มองเห็นสัตว์อื่นทั้งหลายเกิดดับนับไม่ถ้วน แต่ตนเองคงอยู่อย่างเติมตลอด จึงเกิดทิฏฐิ คือ ยึดถือความเห็นขึ้นว่า สถานะแห่งพรหมนั้นยั่งยืนคงที่ มีอยู่ตลอดกาลนิรันดร พรหมเป็นผู้สร้างผู้บัดดาลทุกสิ่งทุกอย่าง หรือ อย่างผู้เกิดความหยั่งรู้ดังท่านนิวตันนั้น ครั้นความหยั่งรู้สว่างแจ้งเกิดขึ้นแล้ว ต่อมาใช้ความหยั่งรู้หรือญาณนั้น มองดูสภาวธรรมทั้งหลาย ก็เห็นเป็นไปอย่างนั้น แต่ไม่เห็นปรุโปร่งตลอดไปทุกกรณีโดยสิ้นเชิง มีติดหรือเคลือบคลุมบ้างในบางจุดบางด้าน ความรู้นั้น ก็อาจต้องถูกยึดถือไว้โดยอาการที่เรียกได้ว่าเป็นทิฏฐิ ทิฏฐิระดับสูงมักเกิดจากการได้ญาณบางอย่างขึ้นก่อน


     ส่วนทิฏฐิก็เป็นเครื่องหนุนช่วยให้เกิดญาณได้เหมือนกัน   ดังจะเห็นได้ว่า ทิฏฐิไม่น้อย เป็นผลความคิด และเป็นข้อยึดถือของปราชญ์ผู้มีปัญญามาก และเป็นทิฏฐิที่มีเหตุผลมาก ดังนั้น ถ้าไม่มีความยึดติดในทิฏฐินั้นเหนียวแน่นจนเกินไป และรู้จักสดับรู้จักใช้ปัญญาพินิจพิจารณา ก็ย่อมมีโอกาสมากที่จะเกิดญาณ ซึ่งช่วยให้ก้าวหน้าต่อไป และสามารถทำลายจุดที่ยังยึดติดตันผ่านต่อไปได้


     เมื่อทิฏฐิก็ดี  ญาณก็ดี   เกิดขึ้นแล้ว   ก็ย่อมมีการกำหนดหมาย หรือหมายรู้ตามทิฏฐิหรือตามญาณนั้น เกิดเป็นสัญญาใหม่ขึ้นอีก ทิฏฐิและญาณจึงทำให้เกิดสัญญาซึ่งเป็นวัตถุดิบของความรู้และความคิดอื่น สืบต่อไป ข้อแตกต่างกัน คือ ทิฏฐิมักพลอยทำให้เกิดสัญญาใหม่ที่ผิดพลาด ส่วนญาณจะช่วยให้เกิดสัญญาที่ถูกต้อง และแก้สัญญาที่ผิดพลาด

     ความรู้ที่ออกรูปมา ๓ แบบ ในกระบวนการพัฒนาปัญญาภายในบุคคล นี้ พึงพิจารณาโดยสัมพันธ์ กับ วิธีทำให้เกิดปัญญา ๓ วิธี ที่ท่านแสดงไว้ในเรื่อง ปัญญา ๓ ประเภท ด้วย คือ (ที.ปา.11/228/231)

        ๑.จินตามยปัญญา  ปัญญาเกิดจากการคิดการพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเอง

        ๒.สุตมยปัญญา   ปัญญาเกิดจากการเล่าเรียน หรือถ่ายทอดต่อกันมา

        ๓.ภาวนามยปัญญา  ปัญญาเกิดจากการลงมือปฏิบัติฝึกหัดอบรม


     นอกจากตัววิธีที่เป็นหลักใหญ่แล้ว ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่พึงใช้ประกอบในกระบวนการก่อให้เกิดปัญญา โดยเฉพาะในวิธีที่ ๓ กิจกรรมที่สำคัญๆ คือ การฟัง ซักถาม สอบค้น (สวนะ และปริปุจฉา) การสนทนา ถกเถียง อภิปราย (สากัจฉา) การสังเกตดู เฝ้าดู ดูอย่างพินิจ (ปัสสนะ และนิชฌาน) การพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ หรือ โยนิโสอุปปริกขา) การชั่งเหตุผล (ตุลานา) การไตร่ตรอง ตรวจสอบ ทดสอบ สอบสวน ทดลอง และเฟ้น (วิมังสา และวิจัย) การเสพคุ้น ฝึกหัด ทำบ่อย ทำให้มาก (อาเสวน ภาวนา และพหุลีกรณ์)


     การคิด การเล่าเรียนสดับฟัง และการปฏิบัติฝึกปรือ ย่อมเป็นเครื่องช่วยให้สัญญา ทิฏฐิ และญาณนั้นเกิดมีใหม่ขึ้นบ้าง ก้าวหน้าเพิ่มพูนขึ้นบ้าง ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องขึ้น บ้าง

     ว่าที่จริง สุตะคือความรู้ที่ได้เล่าเรียนสดับมา ก็ดี การคิดอะไรได้ต่างๆก็ดี และปัญญาที่รู้เข้าใจอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ดี ย่อมเป็นความรู้แบบต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวบุคคลด้วยเหมือนกัน แต่ความรู้ที่จะออกผลเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นรูปสำเร็จขึ้นในตัวบุคคล ก็ดี ความรู้ ๓ อย่างข้างต้น คือ สัญญา ทิฏฐิ และญาณนั้น อาจพูดได้ว่าสัญญา ทิฏฐิ และญาณ ก็คือ ผลข้างปลายของสุตะ จินตา และภาวนานั่นเอง

     เมื่อความรู้ออกรูปเป็นสัญญา ทิฏฐิ และญาณแล้ว ย่อมมีผลต่อชีวิตของบุคคลมาก สัญญามีอิทธิพลยิ่งต่อการรับรู้  การมองเห็น  การเข้าใจโลกรอบตัว และการที่จะสร้างความรู้อย่างอื่นต่อๆไป  ทิฏฐิตั้งแต่ความยึดถือลัทธิศาสนา และอุดมการณ์  ตลอดลงมาจนถึงค่านิยมต่างๆ เป็นตัวชี้นำแนวทางแห่งพฤติกรรม และวิถีชีวิตของบุคคลได้ทั้งหมด  ส่วนความรู้ประเภทญาณ  เป็นความรู้กระจ่างชัดและลึกซึ้งที่สุด   เป็นผลสำเร็จทางปัญญาสูงสุดที่มนุษย์จะทำได้  สามารถชำระล้างลงไปถึงจิตสันดานของบุคคล  สร้างหรือเปลี่ยนแปลงท่าทีแห่งการมองโลก และชีวิต ที่เรียกว่าโลกทัศน์และชีวทัศน์ได้ใหม่  มีผลต่อพฤติกรรม และการดำเนินชีวิตของบุคคลอย่างเด็ดขาดและแน่นอนยั่งยืนยิ่งกว่าทิฏฐิ

     ความรู้ชุดนี้  สัมพันธ์กับความรู้ที่จำแนกอีกแบบหนึ่ง  ในชุดต่อไปด้วย


235 สัญญา  นึกถึงการกำหนดอารมณ์ภาคปฏิบัติด้วย

 




 

Create Date : 30 กันยายน 2566
0 comments
Last Update : 6 พฤษภาคม 2567 18:40:55 น.
Counter : 154 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space