ความรู้มีไว้แบ่งปัน

CM Triplets
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Group Blog
 
<<
มีนาคม 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
16 มีนาคม 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add CM Triplets's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 

"ไทรอยด์ผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์" ภัยคุกคามที่ควรระวัง!

"ไทรอยด์ผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์" ภัยคุกคามที่ควรระวัง!

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 มีนาคม 2553 12:32 น.

ในช่วง 9 เดือนที่อุ้มท้องลูกน้อยอยู่นั้น อาจมีโรคภัยหลายอย่างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์ได้ หนึ่งในนั้นคือ "ภาวะไทรอยด์ผิดปกติ" ภัยคุกคามที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเฝ้าระวัง!

ภัยคุกคามข้างต้น ทีมงานได้รับข้อมูลที่น่าสนใจจากโรงพยาบาลเวชธานี โดย "พญ.สมพร วงศ์เราประเสริฐ" อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ และเบาหวาน ให้รายละเอียดว่า ฮอร์โมนไทรอยด์ ผลิตจากต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายที่อยู่ด้านหน้าต่อจากหลอดลม บริเวณคอด้านล่าง ฮอร์โมนตัวนี้มีหน้าที่หลายอย่างที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกาย และอวัยวะต่างๆ การเผาผลาญอาหาร และไขมัน

รวมไปถึงการผลิตความร้อนเพื่อรักษาอุณหภูมิในร่างกาย กระตุ้นการทำงานของระบบหลอดเลือดและหัวใจ รวมทั้งสัมพันธ์กับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท และสมอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ฮอร์โมนไทรอยด์ ยังมีส่วนสำคัญในภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งหากขาดฮอร์โมนตัวนี้ อาจทำให้ทารกในครรภ์มีการสร้างอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เป็นโรคเอ๋อ เนื่องจากมีความผิดปกติทางระบบประสาท และกล้ามเนื้อ พัฒนาการทางสมอง สติปัญญาและร่างกายช้ากว่าปกติ เตี้ยแคระแกร็น และทำให้ต่อมไทรอยด์ของทารกต้องทำงานหนักเพื่อผลิตฮอร์โมนจนเกิดภาวะคอพอกได้ ซี่งถ้าหากรุนแรง คอพอกอาจมีขนาดใหญ่ จนกดการหายใจของทารกช่วงที่คลอดได้

เพราะฉะนั้น ระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์จะผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้นจากหลายกลไก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในช่วงตั้งครรภ์ ได้แก่ การส่งผ่านฮอร์โมนไทรอยด์ และสารไอโอดีนทางรกไปยังลูกน้อย การขับไอโอดีนทางปัสสาวะ ทำให้ระดับไอโอดีนในเลือดลดลง แต่สารบางอย่าง (Thyroid binding globulin) ในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ออกฤทธิ์ลดลง เป็นต้น

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์หลายคน มีต่อมไทรอยด์โตชั่วคราว ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับสารไอโอดีนในอาหารปริมาณ 200 ไมโครกรัมต่อวัน ในขณะที่คนทั่วไปต้องการไอโอดีนเพียง 150 ไมโครกรัมต่อวันเท่านั้น

ไทรอยด์ผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายอย่างไร?

ไทรอยด์บกพร่อง (Hypothyroidism)

เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ ไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง หรือโรคภูมิต้านทานผิดปกติต่อตนเองของไทรอยด์ เรียกว่า โรคฮาชิโมะโต๊ะ (Hashimoto's thyroiditis) รวมถึงการกลืนแร่รังสีเพื่อรักษาไทรอยด์เป็นพิษ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หรือการได้รับยาต้านไทรอยด์มากเกินไป ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันพบได้น้อยคือ การขาดไอโอดีนที่ทำให้เกิดโรคคอพอก



ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


อย่างไรก็ดี หากไทรอยด์บกพร่องขณะตั้งครรภ์ และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม อาจส่งผลกระทบทั้งตัวคุณแม่ และลูกน้อยได้ ได้แก่ การแท้ง คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ รกลอกก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย การตายคลอด รวมทั้งภาวะผิดปกติของพัฒนาการทางร่างกาย และสมองของทารก ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

สำหรับวิธีการรักษา รับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ชื่อไทร๊อกซิน หรือเอลทร็อกซิน อย่างสม่ำเสมอ และถูกขนาด ทั้งนี้ต้องมีการปรับขยาดยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ที่สำคัญคือ ฮอร์โมนไทรอยด์จะถูกดูดซึมน้อยลงเมื่อรับประทานร่วมกับยาธาตุเหล็ก และแคลเซียม ซึ่งหญิงตั้งครรภ์มักได้รับเพื่อการบำรุง

ดังนั้นจึงควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง หญิงตั้งครรภ์ที่รักษาภาวะไทรอยด์บกพร่องด้วยฮอร์โมนไทรอยด์ หลายคนมักเข้าใจผิดว่า ยาฮอร์โมนอาจส่งกระทบต่อเด็กในครรภ์ และการหยุดยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ ทำให้เด็กในครรภ์เกิดภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ จนนำไปสู่ผลกระทบต่างๆ ดังนั้นจึงไม่ควรหยุดยา และในบางคนอาจต้องได้รับขนาดยาที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องส่งฮอร์โมนไปยังลูกน้อย และภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา

ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)

อาการขี้ร้อน เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย กังวล หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาจพบได้ในหญิงตั้งครรภ์ปกติ แต่อาการน้ำหนักลด หัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที ต่อมไทรอยด์โตทั่วไป และอาการระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียนมาก จะทำให้นึกถึงไทรอยด์เป็นพิษมากขึ้น



ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


สาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคคอพอกตาโปน หรือเกรฟส์ (Graves disease) เป็นโรคภูมิต้านทานผิดปกติที่ไทรอยด์ชนิดหนึ่ง กระตุ้นให้ไทรอยด์ทำงานมากเกินไป โดยพบเป็นสาเหตุถึง 85-95 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ก้อนเนื้ออกที่ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ครรภ์ไข่ปลาดุก ภาวะไทรอยด์เป็นพิษชั่วคราวจากภาวะแพ้ท้องรุนแรง

สำหรับความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในมารดา และทารกขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็น และการควบคุมภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะที่เกิดขึ้นได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ ส่วนภาวะแทรกซ้อนในเด็ก คือ ภาวะตายคลอด เด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่ากำหนด และพิการ

ด้านการรักษาไทรอยด์เป็นพิษในหญิงตั้งครรภ์ ต้องได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และต้องติดตามผลการทำงานของไทรอยด์เป็นระยะด้วย เนื่องจากหากได้รับยาต้านไทรอยด์มากเกินไป อาจส่งผลกระทยต่อเด็กในครรภ์ได้ ทำให้มีภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำได้

ที่สำคัญ การกลืนน้ำแร่เพื่อรักษาไทรอยด์เป็นพิษเป็นข้อห้ามในหญิงตั้งครรภ์ หากสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย อย่างไรก็ดี ไทรอยด์เป็นพิษในหญิงตั้งครรภ์จะควบคุมได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น แต่มักกำเริบหลังคลอดบุตร เพราะฉะนั้นการเฝ้าระวังอาการไทรอยด์เป็นพิษ และติดตามผลการทำงานของไทรอยด์หลังคลอดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมไทรอยด์โต แต่ทำหน้าที่ปกติ (Euthyroid goiter)

ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ มีภาวะภูมิต้านทานผิดปกติต่อตนเองของไทรอยด์ทำให้มีไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ซึ่งเสี่ยงต่อไทรอยด์ทำงานบกพร่อง ดังนั้นจึงควรตรวจการทำงานของไทรอยด์เมื่อตั้งครรภ์ เพื่อเฝ้าระวังไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์

พบว่าหญิงตั้งครรภ์ มีอุบัติการณ์เกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์มากกว่าหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้ที่มีก้อนที่ต่อมไมรอยด์อยู่แล้ว อาจมีก้อนที่โตขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีอุบัติการณ์ของมะเร็งไทรอยด์เพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้นคุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ และสงสัยว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไทรอยด์ จึงควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว รวมถึงผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ ควรได้รับการตรวจสุขภาพโดยละเอียดก่อน ทั้งนี้เพื่อให้รู้ว่า ตัวคุณเองพร้อมที่จะตั้งครรภ์หรือไม่ *** สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โทร. 02-734-0000 ต่อ 1071 หรือ 1072




 

Create Date : 16 มีนาคม 2553
7 comments
Last Update : 16 มีนาคม 2553 17:06:52 น.
Counter : 2216 Pageviews.

 

หวัดดีตอนบ่ายค่า อิอิ^^


 

โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว 16 มีนาคม 2553 17:21:35 น.  

 

เป็นไทรอยแบบเป็นพิษค่ะตัดทิ้งไปได้ หมอบอกว่าถ้าจะมีลูกต้องขออนุญาตหมอก่อน555 ต้องอยู่ในการดูแลของหมออย่างใกล้ชิด ตอนนี้ก็รักษาอยู่ที่เวชธานีค่ะ ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

 

โดย: kluayzy 16 มีนาคม 2553 17:45:32 น.  

 

น่ากลัวเหมือนกันนะคะเนี่ย พอดีเป็นไธรอยด์อยู่เหมือนกัน แต่... ยังไม่มีโอกาสมีลูก 5555

 

โดย: คนอ่อนไหวที่แกล้งใจแข็ง (Tukta21 ) 16 มีนาคม 2553 18:33:46 น.  

 

 

โดย: WikiPK 24 มีนาคม 2553 11:51:45 น.  

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ค่ะ

 

โดย: Aussie angel 18 มิถุนายน 2553 14:59:42 น.  

 

ตรวจพบว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษมาประมาณ 3 เดือนแล้วกินยามาสม่ำเสมอ และตั้งครรภ์ตอนนี้กลัวมากเลยค่ะกลัวว่าลูกจะผิดปกติค่ะ

 

โดย: แมงปอ IP: 118.173.163.200 5 กรกฎาคม 2554 22:10:04 น.  

 

เป็นไทรอยด์เหมือนกันตั้งท้องด้วยแต่หมออนุญาติแล้วยอมรับว่าเครียดเหมือนกัน

 

โดย: ลูกเกด IP: 49.0.111.107 16 มีนาคม 2555 22:15:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.