ความรู้มีไว้แบ่งปัน

CM Triplets
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Group Blog
 
 
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
14 กันยายน 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add CM Triplets's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 
นอนดีๆโตเร็วๆ นะลูก โดยเซเฮราซาด

นอนดีๆโตเร็วๆ นะลูก โดยเซเฮราซาด

อย่างไรจึงเรียกว่านอนดี นอนดีสำหรับลูกเล็กๆ นี้ก็คือ มีพัฒนาการเรื่องการนอนที่เป็นไปตามวัย รวมถึงนอนหลับได้สนิทและเพียงพอ เช่น แรกเกิดยังนอนไม่เป็นเวลา ตื่นบ่อยมากินนม แต่พอลูกเริ่มโตขึ้นแต่ละเดือน การนอนของลูกก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ชั่วโมงการนอนอาจจะน้อยลง แต่เริ่มนอนและตื่นเป็นเวลามากขึ้น ซึ่งพ่อแม่ควรคอยสังเกตพัฒนาการเรื่องนี้ของลูก เพื่อช่วยให้ลูกเติบโตมีพัฒนาการสมวัยค่ะ



ตามไปดู...พัฒนาการการนอนของลูก
อายุแรกเกิด – 1 สัปดาห์ ลูกจะนอนประมาณ 16.30 ชม./วัน และนอนไม่เป็นเวลา มักจะตื่นบ่อย นอน 2-3 ชม. ตื่นอยู่ 1-2 ชม. ก็หลับต่ออีก ซึ่งไม่ต้องกังวลเพราะเป็นเรื่องปกติของเด็กแรกเกิด ที่สมองกำลังพัฒนาปรับตัวให้รู้จักการนอนที่เป็นเวลามากขึ้นเรื่อยๆ

1 สัปดาห์ – 1 เดือน นอนประมาณ 16 ชม./วัน ยังนอนไม่เป็นเวลาและตื่นบ่อยคล้ายตอนแรกเกิด

1 เดือน – 2 เดือน นอนประมาณ 15.30 ชม./วัน เริ่มจะนอนหลับเป็นเวลามากขึ้น ยังคงตื่นบ่อยค่ะ แต่ลูกจะเริ่มเรียนรู้เรื่องการนอนและตื่นเป็นเวลามากขึ้นเรื่อยๆ

2 เดือน – 3 เดือน นอนประมาณ 15 ชม./วัน จะตื่นมากินนมประมาณทุกๆ 3-4 ชม. กลางคืนจะนอนประมาณ 10 ชม. กลางวันนอน 5 ชม.

3 เดือน – 6 เดือน นอนประมาณ 14.30 ชม./วัน กลางคืนนอน 10.30 ชม. กลางวันนอน 3.45 ชม. ลูกจะเริ่มตื่นกลางคืนน้อยลง จะงีบหลับตอนกลางวันประมาณ 3 รอบ

6 เดือน – 9 เดือน นอนประมาณ 14 ชม./วัน ช่วงนี้ลูกจะนอนกลางคืนยาวขึ้น เด็กบางคนจะนอนรวดเดียวจนเช้าได้ แต่ถ้าลูกยังตื่นมากินนมตอนกลางคืนอยู่ ควรจะเริ่มฝึกให้ลูกนอนตอนกลางคืนยาวนานขึ้นเรื่อยๆ เช่น อาจจะตื่นมากินนมมื้อดึกแค่ 1 ครั้ง แล้วก็นอนยาวไปจนถึงเช้ามืด สักหกโมงเช้าจึงให้นมอีกครั้ง และให้งีบหลับตอนกลางวันได้ประมาณ 2-3 รอบได้ค่ะ

9 เดือน – 12 เดือน นอนประมาณ 13.45 ชม./วัน เริ่มรู้จักกลางวันกลางคืน นอนกลางคืนยาวรวดเดียวได้ และตื่นเป็นเวลา กลางวันจะนอนน้อยลงเรื่อยๆ นอนกลางวันเหลือแค่ 2 รอบ


วัยนี้คือวัยนอน

การนอนหลับสนิทเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับเด็กในช่วงที่ลูกนอนหลับ สมองของลูกจะได้รับการซ่อมแซมเตรียมพร้อมให้แข็งแรง เซลล์ต่างๆ ในสมองจะพักผ่อนและฟื้นฟูตัวเองเมื่อหลับ เพื่อที่เมื่อลูกตื่นขึ้นมาสมองจะพร้อมเติบโตสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาทขึ้นมาจากสิ่งที่ลูกได้รับรู้และเรียนรู้เวลาที่ตื่น

นอกจากนี้ร่างกายของลูกจะเจริญเติบโตได้ดีถ้าลูกหลับดี เพราะฮอร์โมนการเจริญเติบโต (GROWTH HORMONE) จะหลั่งออกมาได้ดีในช่วงที่ลูกหลับสนิทนั่นเองค่ะ



จัดสิ่งแวดล้อมแบบไหนให้ลูกหลับสนิท

เด็กต้องการการเรียนรู้เรื่องการนอนเหมือนกันนะคะ เพราะฉะนั้นเวลากลางคืนก็ควรเปิดไฟเพียงสลัว แต่กลางวันก็ให้ลูกนอนในแสงกลางวันไปเลยหรือเปิดไฟให้สว่างไว้ ลูกก็จะได้เรียนรู้เรื่องกลางวันกลางคืนไปในตัว

สภาพแวดล้อมในการนอนของลูกก็ควรสงบเงียบอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่ากลางคืนคุณพ่อยังทำอะไรก๊อกแก๊ก ยังเปิดไฟทำงาน หรือคุณพ่อคุณแม่กลับจากทำงานดึกๆ ดื่นๆ มาถึงก็เปิดไฟเสียสว่าง ทำเสียงให้ลูกตื่นเป็นประจำ อย่างนี้ก็จะเป็นการสร้างลักษณะนิสัยในการนอนที่ไม่ดีให้กับลูก ซึ่งการรบกวนการนอนเป็นประจำ จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองและร่างกายของลูกด้วย

ห้องนอนลูกควรจะมีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป แค่นี้ลูกก็จะหลับสบาย และสังเกตได้ค่ะว่า เด็กที่นอนหลับสนิทเพียงพอก็จะสดชื่นร่าเริง แต่ถ้าลูกนอนไม่หลับ หรือหลับไม่พอ วันนั้นทั้งวันลูกจะร้องไห้โยเยไม่สดใสเหมือนเคยค่ะ



นอนอย่างนี้ผิดปกติไหม
นอนละเมอ บางครั้งลูกอาจจะนอนละเมอ ขยับตัวไขว่คว้าหรือส่งเสรียงระหว่างที่หลับ แต่ไม่ได้ตื่นขึ้นมา หากไม่บ่อยมากหรือละเมอจนตื่นก็ถือว่าลูกยังหลับสนิทอยู่ ไม่ต้องปลุกหรือทำอะไรกับลูกนะคะ เพียงแต่ว่าถ้าเป็นบ่อยอาจต้องหาสาเหตุว่าเพราะอะไร เช่น ถูกแกล้ง หรือมีอะไรตื่นเต้นเกิดขึ้นกับลูกมากเกินไปหรือไม่ แล้วไปแก้ที่สาเหตุนั้น

นอนผวา ลูกแรกเกิดถึงอายุ 2-3 เดือนแรก จะนอนผวาได้โดยระบบประสาทอัตโนมัติที่สมองทำงาน ถ้ามีอะไรมากระตุ้นลูกก็จะผวา หรือขยับตัวนิดหน่อยได้ ถ้าลูกผวามากอาจจะให้ลูกนอนคว่ำ หรืออีกวิธีหนึ่งคือหาผ้าห่มหนาหน่อยมาห่มทับหน้าอกลูกไว้ก็จะช่วยให้ลูกผวาน้อยลงได้

นอนกรน ไม่ค่อยพบว่าลูกขวบแรกนอนกรน แต่ถ้าพบนอนกรนหรือมีเสียงครืดๆ แสดงว่ามีอะไรผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ควรพาลูกไปพบคุณหมอค่ะ

นอนลืมตา หรือที่เราเรียกว่าตากระต่าย เวลานอนเปลือกตาลูกจะปิดไม่สนิท อันนี้เป็นธรรมชาติของเด็กแต่ละคน ไม่มีผลเสียอะไรต่อเด็กค่ะ

นอนดึก พอถึงวัยประมาณ 8-9 เดือน ที่ลูกเริ่มจะกลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่ หรือเริ่มโตติดเล่น ลูกจะไม่อยากเข้านอน อยากอยู่เล่นกับพ่อแม่จนดึกดื่น คุณพ่อคุณแม่ควรจะค่อยๆ ฝึกนิสัยในการนอนของลูก พยายามหาสาเหตุว่า ลูกไม่ยอมนอนเพราะอะไร เช่น ก่อนนอนเล่นสนุกมากไป พยายามแก้ที่สาเหตุ และค่อยๆ ปรับพฤติกรรมการนอนของลูกให้เข้าที่เข้าทาง


ควรแยกห้องนอนเมื่อไหร่

สำหรับสังคมไทยไม่นิยมแยกห้องนอนลูกตั้งแต่ยังเล็ก พ่อแม่ลูกมักจะนอนรวมกันไปจนลูกโต 2-3 ขวบ แต่ถ้าจำเป็นจะต้องแยกห้องนอนลูกวัยเล็กๆ นี้ ก็ควรจะแยกตั้งแต่ลูกยังจำความไม่ได้หรือยังไม่ติดคนเลี้ยงมากนัก คือไม่เกินอายุประมาณ 6 เดือน แต่ถ้าแยกหลังจากนั้นอาจจะลำบาก เพราะหนูน้อยจะติดพ่อแม่ และเคยชินกับการที่ตื่นขึ้นมาแล้วมีคนคอยโอ๋อยู่ข้างๆ เสียแล้ว

การแยกห้องนอนลูก ก็มีทั้งข้อดี ข้อเสียค่ะ

ข้อดี ก็คือ ลูกได้เรียนรู้เรื่องความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองตั้งแต่เล็ก สำหรับพ่อแม่ก็นอนสะดวกสบายขึ้น และลูกนอนห้องของตัวเองก็จะสงบเงียบไร้สิ่งกระตุ้น มากกว่านอนกับคุณพ่อคุณแม่ที่อาจลุกขึ้นกลางดึก เปิดไฟหรือขยับตัว

ข้อเสีย ก็คือ ถ้าลูกผวาตื่นในตอนกลางคืนจะไม่เจอใคร ความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกก็อาจจะน้อยลงไปได้

เห็นไหมคะว่า เรื่องการนอนของลูกนี่สำคัญจริงๆ เพราะการนอนเกี่ยวข้องทั้งร่างกายและจิตใจของลูก ถ้าลูกนอนหลับสนิท ลูกก็จะสดใสแข็งแรง โตเร็ว อารมณ์ดี มีพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ค่ะ



(update 26 สิงหาคม 2004)
[ ที่มา.. นิตยสารรักลูก ปีที่ 21 ฉบับที่ 252 มกราคม 2547 ]


Create Date : 14 กันยายน 2552
Last Update : 14 กันยายน 2552 10:25:44 น. 0 comments
Counter : 993 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.