|
| 1 | 2 | 3 | 4 |
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | |
|
|
|
|
|
|
|
จัดม็อบอย่างไรแบบมืออาชีพ

พรุ่งนี้แล้วกับการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่มี สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการประกาศเป็นผู้นำการชุมนุมครั้งนี้ จุดมุ่งหมายก็เพื่อถวายฎีกาผ่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อถวายคืนพระราชอำนาจอันจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผ่านมา 9 ปี รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับนี้ถูกบิดเบือนจนเฉไฉออกจากลู่ทางที่เคยหวัง ทำให้นักวิชาการอย่าง ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เสนอให้ถวายคืนพระราชอำนาจ ท่ามกลางความปั่นป่วนทางการเมืองขณะนี้ การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นจึงมากมายไปด้วยความวิตกกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นทั้งจากมือที่สามและจากฝ่ายรัฐ นักเคลื่อนไหวบางคนถึงกับเอ่ยด้วยความเป็นห่วงบ่วงใยอยู่ในทีว่า สนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์นั้นจะคุมสภาพม็อบนี้ได้อย่างไร เมื่อใครๆ ต่างแสดงความเป็นห่วง จึงเกิดคำถามว่าแล้วการจัดม็อบแบบมืออาชีพนั้นควรจะเป็นอย่างไร ต้องบริหารจัดการ คุมสภาพมวลชนอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง เราจึงพยายามเดินทางหาคำตอบและทำให้รู้ว่า กรรมวิธีการชุมนุมเคลื่อนไหวนั้นจำเป็นต้องเข้าใจองค์ประกอบหลายอย่าง 1 สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนในเบื้องต้นก็คือ การชุมนุมหรือม็อบ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำเร็จรูปทางการเมืองที่คนทั่วไปมักคิดว่าอะไรไม่ได้ดั่งใจก็ต้องประท้วง หากแต่การชุมนุมถือว่าเป็นเพียง “เครื่องมือ” ประเภทหนึ่งเท่านั้นสำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมือง สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เคยเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์การชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2535 กล่าวว่า “เบื้องต้นสิ่งที่เราต้องคิดก็คือการชุมนุมมันเป็นปรากฏการณ์ที่บอกอะไร อย่างถ้าผมมองเวลาที่เราพูดถึงการชุมนุมผมคิดว่ามันเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการที่คนในสังคมจะบอกกับคนอื่นๆ ว่ามันมีเรื่องที่มันไม่ดี ไม่ยุติธรรมอยู่ ซึ่งเครื่องมือนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่จำนวนคนแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งหนึ่งที่คุณต้องทำคือต้องสร้างคำอธิบายต่อสังคมได้ ตรงนี้คือพื้นฐานที่ต้องที่ทำให้เกิดขึ้น สร้างคำอธิบายที่สังคมฟังแล้วเห็นด้วย คนอาจจะไม่โดดเข้ามาร่วมชุมนุมก็ได้ แต่เขาอาจจะเห็นว่าสิ่งที่คุณทำอยู่บนฐานที่มีเหตุผลที่สามารถทำได้ ฉะนั้น คุณต้องสร้างการชุมนุมที่สื่อสารกับสังคมได้ “การชุมนุมเป็นเรื่องที่ต้องมีการจัดการ ไม่ใช่ต่างคนต่างมาแล้วปล่อยเละเทะวุ่นวาย การชุมนุมที่เราพูดถึงเป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์จึงต้องมีการจัดการ มีการเตรียมการ มันมีเรื่องที่ควรต้องคิดถึงคืออย่างน้องเรื่องการเคลื่อนไหวจะเป็นอย่างไร เรามักจะคิดว่าการชุมนุมเป็นไม้ตายซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ การชุมนุมเป็นการเสนอประเด็นต่อสังคม แต่คุณจะต้องคิดค้นต่อไปว่าจะทำอย่างไรต่อไป เช่นถ้าคนที่คุณคัดค้านเขาไม่ฟัง คำถามคือเราจะระดมคนให้มากขึ้นอย่างเดียวหรือเปล่า ไม่ใช่ เราต้องไม่คิดว่าการชุมนุมเป็นไม้ตายเพียงอันเดียวต้องสื่อสารกับสังคมให้ได้ว่าการชุมนุมมีความชอบธรรม สอดคล้องกับความเห็นของ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มเพื่อนประชาชน เขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2535 และยังร่วมทำงานด้านการเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน เขาบอกว่า “การชุมนุมเป็นยุทธวิธีหนึ่งของแต่ละองค์กร ที่สำคัญต้องชัดเจนในเป้าหมายขององค์กรก่อนที่จะมาเป็นการชุมนุมและเป็นเป้าหมายของการชุมนุม เช่นเป้าหมายของสมัชชาคนจนเวลาที่เขาจะชุมนุมแต่ละครั้งเขาก็ต้องมีเป้าหมาย หนึ่ง-ติดตามปัญหาที่ค้างคามาจากหลายรัฐบาล สอง-ต้องการสะท้อนภาพการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลนั้นไม่ถูก “ดังนั้น องค์กรประชาชนส่วนใหญ่เท่าที่ผมเคยสัมผัส ไม่ใช่ว่าเขาจะเลือกการชุมนุมเลย เพราะการชุมนุมมันต้องมีที่มาถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่ชอบธรรม สาธารณะไม่ยอมรับ ซึ่งจะทำให้การชุมนุมนั้นไม่บรรลุทั้งเป้าหมายองค์กรและเป้าหมายในการชุมนุม “เมื่อเราจะกำหนดการชุมนุมขึ้น มันก็จำเป็นที่จะต้องสร้างความชอบธรรมทางสังคม มันต้องมีการประสานงานพันธมิตร ประสานงานนักวิชาการต่างๆ เพื่อทำให้เห็นว่าไม่มีทางเลือกจริงๆ จึงต้องชุมนุม ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะชุมนุมเลยคุณจะต้องสร้างความเข้าใจกับสังคม ขยายพันธมิตรต่างๆ คุยกับองค์กรภาคประชาชน” 2 นอกจากการพูดคุยกับองค์กรภาคประชาชนเพื่อประสานเครือข่ายและสร้างฐานมวลชนแล้ว ในสายตาของนักเคลื่อนไหว ความชัดเจนต่อประเด็นที่เรียกร้องถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างมีเป้าหมายไม่กวัดแกว่ง นิติรัตน์บอกว่า “ต้องกำหนดให้ชัดว่าข้อเรียกร้องของคุณคืออะไร คนที่เขามาเรียกร้องจะได้รู้ว่าเขาจะเรียกร้องอะไร ซึ่งมันจะสัมพันธ์กับจำนวนคนที่จะมา ยิ่งถ้าคนมาเยอะข้อเรียกร้องมันจะเปลี่ยนไปตามจำนวนสภาพมวลชน ถ้าเราทำอย่างนี้ประกอบกันก็จะทำให้คนที่มีอยู่แล้วแสนคนเป็นมากกว่าแสนคน เราต้องทำความเข้าใจกับผู้มาชุมนุมด้วยว่า บางทีมวลชนอาจจะมีความเข้าใจไม่เท่ากัน บางคนอาจจะรู้สึกว่ามาชุมนุมแล้วปัญหาจะต้องแก้ให้เสร็จเลย แต่ว่ามันจะเป็นไปได้มั้ยซึ่งตรงนี้เราจะต้องความเข้าใจ เพราะถ้าผู้มาชุมนุมคิดว่ามาครั้งเดียวแล้วต้องเสร็จเลย ครั้งหน้าก็จะไม่มีมวลชน หรือบางคนเข้าใจแต่พอออกมาเคลื่อนไหวบ่อยๆ เข้าก็เกิดอาการล้าได้เหมือนกัน” นิติรัตน์แนะนำอีกว่า สำหรับกรณีที่การชุมนุมไม่ได้ผ่านการจัดตั้งนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานกับองค์กรภาคประชาชนเพื่อขอแรงหนุนไม่ใช่เพียงในเรื่องของเครือข่าวมวลชนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างคณะผู้นำการชุมนุมร่วมเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการนำ และเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น “ควรจะมีคนที่เคยผ่านการต่อสู้ ผ่านการชุมนุมมาแล้วเป็นการ์ดซึมอยู่ในทุกจุด แต่ว่าการ์ดเท่านั้นยังไม่พอ คนที่กำหนดการเคลื่อนไหวก็ต้องมีการ์ดของตัวเองที่ชัดเจน เป็นการ์ดที่ทำความเข้าใจในประเด็นที่เรียกร้องและเข้าใจสันติวิธี ดังนั้น จะทำยังไงให้องค์กรภาคประชาชนที่มีการจัดตั้งเข้าร่วมให้ได้ นิติรัตน์เพิ่มเติมว่า “หากมีการเคลื่อนขบวนก็ต้องมีหน่วยหน้าเพื่อคอยวิเคราะห์-ตัดสินใจสถานการณ์ เช่น ถ้ามีตำรวจสกัดจะทำยังไง มันต้องคิดไว้ให้หมดว่าจะทำอะไรเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ ต้องรู้ว่าข้างหน้ามีอะไรรออยู่บ้าง คือเราไม่ได้บอกว่ารัฐจะใช้ความรุนแรง แต่ถ้าเกิดมีสถานการณ์ขึ้น ทางหนีทีไล่เราจะทำยังไง และผมว่าถ้าจะให้ดีพวกการ์ดควรจะทำสัญลักษณ์ไปเลย คือมันก็มีข้อด้อยนะแต่ข้อดีมันเยอะกว่า เป็นการประกาศด้วยว่าการชุมนุมของเราเป็นเรื่องเปิดเผย แต่ก็ต้องคุยกับการ์ดให้ดีว่าเวลาเกิดสถานการณ์จะต้องทำยังไง” 3 ในการชุมนุมหนึ่งๆ ใช่ว่าจะต้องมีแต่เรื่องเครียดๆ คำปราศรัยที่เผ็ดร้อน และการปลุกเร้าหึกเหิม แต่จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องมีการผ่อนจังหวะ การดูแลกันและกัน เพราะจะเป็นการทำให้การชุมนุมเกิดพลัง ไม่อ่อนล้า และไม่ตึงเครียดเสียจนคุมสภาพไม่ได้ “เรื่องพยาบาล การดูแลกันก็ควรต้องมี ไม่ได้หมายความว่ามันมีการปะทะแล้วจึงต้องมีพยาบาล ไม่ใช่ แต่หมายถึงจะต้องมีการดูแลทุกข์สุขของผู้ที่มาร่วมชุมนุม จึงต้องมีอาสาสมัครเหล่านี้และจะช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมด้วยซ้ำไป สมมติเราประกาศขออาสาสมัครมาดูแลเรื่องหยูกยาเพื่อดูแลพี่น้องในการชุมนุม ตรงนี้ถ้ามีมันเหมือนทำให้คนที่มามีความรู้สึกร่วม” ส่วนเรื่องการผ่อนจังหวะนิติรัตน์ยกตัวอย่างการชุมนุมเอฟทีเอที่เชียงใหม่ให้ฟังว่า “เรื่องการผ่อนจังหวะเพื่อคลายความตึงเครียดของการชุมนุม ผมขอยกตัวอย่างตอนเอฟทีเอ เช่นถ้ามันต้องกดดันซึ่งก็คือการบุกเข้าไปในโรงแรม จังหวะแบบนี้คุณจะมาร้องเพลงไม่ได้ ฉะนั้น จังหวะอย่างนี้ก็ต้องปลุกเร้ามวลชนข้างนอก ขณะเดียวกันกลุ่มที่เป็นหน่วยบุกก็ต้องเป็นหน่วยที่ชัดเจนในหน้าที่ของตัวเอง คนข้างนอกก็ต้องหนุนช่วยในเรื่องอารมณ์ สมมติว่าเราจะบุกเข้าไปที่บันไดขั้นที่ 10 ของโรงแรมแต่เราไปถึงได้ขั้นที่ 5 มันก็ต้องมีผ่อน เพราะถ้าตึงตลอดบางทีก็อาจจะควบคุมมวลชนไม่ได้จึงต้องผ่อน หรือถ้าฝ่ายวางแผนคิดว่าบุกแค่นี้ยังไม่พอต้องบุกอีกอย่างนี้ก็ต้องหาจังหวะ ฉะนั้น จะต้องคอยดูอารมณ์มวลชนไม่ปลุกให้ขึ้นสูงเกินไปไม่อย่างนั้นจะควบคุมลำบาก คือคนที่ชุมนุมเราสามารถออกแบบได้ และต้องไม่ใช่การปราศรัยข้อมูลอย่างเดียว ควรจะมีคำขวัญ มีการประดิษฐ์คำ เพื่อสร้างความฮึกเหิมซึ่งต้องเป็นคำที่ง่ายๆ เหมือนกีฬาสี ตรงนี้ทำให้เกิดเอกภาพ ไม่ใช่พูดแต่ข้อมูล พูดแล้วไม่มีฮาเลย มันจะไม่เวิร์ค” 4 ที่ว่ากันมาแต่ต้นเป็นข้อสังเกตจากประสบการณ์ของผู้ที่เคยผ่านการชุมนุมใหญ่ๆ มาแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำให้หนักแน่นที่สุดก็คือ จะต้องเป็นการชุมนุมโดยสันติ เพื่อเป็นการป้องกันความรุนแรงไว้ตั้งแต่ต้น สันติวิธีคือพลังที่ดีที่สุดในการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง สมชายกล่าวไว้ว่า “สิ่งหนึ่งที่ผู้จัดการชุมนุมจะต้องคิดคือการเตรียมผู้เข้าร่วมชุมนุมให้สอดคล้องกับวิธีการ เช่นในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2535 ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐจะปราบหรือใช้ความรุนแรงประชาชนสู้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้หรอก ทักษะในการใช้ความรุนแรงประชาชนสู้ไม่ได้ สิ่งที่ผมเห็นตอนนั้นคือพวกที่เขาฝึกมาในเรื่องสันติวิธีก็คือพอตำรวจมาเขาจะนั่งเฉยๆ ไม่ตอบโต้ อย่างน้อยมันทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหยุดลงได้ ฉะนั้น การชุมนุมสิ่งที่จะทำให้มันมีพลังมากคือต้องไม่ใช้ความรุนแรง เพราะถ้าใช้ความรุนแรงความสนใจของสังคมมันจะเบนออกไปจากประเด็นที่คุณเสนอทันที เรื่องมันจะไปตกที่ความรุนแรง จึงต้องมีการจัดการเพื่อเตรียมรับกับความรุนแรงที่มันอาจจะเกิดขึ้น บางส่วนต้องมีการฝึกด้วยซ้ำ “แต่ทีนี้มันมีประเด็นหนึ่งที่อาจต้องระวังคือ เวลาเกิดความรุนแรงขึ้นมักจะผลักภาระไปที่ผู้จัดชุมนุมว่าไม่ระมัดระวังพอซึ่งตรงนี้ผมไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะผมคิดว่ามันมีการแทรกแซงบางอย่างที่คุณควบคุมไม่ได้ เช่น จ้างมือที่สามมาขว้างระเบิดใส่ เราต้องยอมรับว่าผู้จัดการชุมนุมป้องกันความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าทำทั้งหมดไม่ได้หรอก แต่ส่วนที่คุณทำได้ก็ต้องทำให้เต็มที่” สุดท้ายสมชายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไว้อย่างน่าสนใจว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ในปัจจุบันมีวิธีการหลากหลายที่สามารถขับเคลื่อนพลังภาคประชาชนได้ เพียงแต่สังคมจะต้องร่วมกันเรียนรู้วิธีการเหล่านี้ให้มากขึ้น “ในปัจจุบันเราอาจต้องคิดถึงมากกว่าการชุมนุมเพื่อไปยึดทำเนียบรัฐบาล ผมคิดว่าเราสามารถสร้างยุทธวิธีที่ดึงคนมาเข้าร่วมโดยไม่ต้องไปชุมนุมได้หรือเปล่า ตรงนี้สังคมไทยยังไม่เรียนรู้เรื่องแบบนี้มากเท่าไหร่ คือมันต้องมีปัจจัยอื่นๆ ให้เราเลือกเล่นได้มากขึ้น เช่น ทำไมคุณไม่ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางสังคมกับคนที่คุณคิดว่าไม่มีคุณธรรม หรือถ้ามันเกี่ยวข้องกับธุรกิจคุณก็แอนตี้ธุรกิจมัน ผมคิดว่ามันมีทางอื่นๆ ที่ทำให้เราสามารถตอบโต้กับระบบการเมืองได้แต่เรามักไม่ค่อยคิดถึงเรื่องพวกนี้” เราเชื่อว่าการชุมนุมในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งเป็นการชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบและเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนสามารถทำได้จะไม่เกิดความรุนแรงใดๆ ขึ้น ...เราเชื่อเช่นนั้น ********************** คู่มือเข้าร่วมการชุมนุมมวลชน (ฉบับคนกรุงฯ) 1.การเตรียมพร้อมร่างกายให้สมบูรณ์ แข็งแรง เป็นพื้นฐานของการออกมานอกบ้าน นั่งๆ นอนๆ กลางถนน กลางดินกลางทราย หรือต้องเดินเท้าเป็นระยะไกลๆ เป็นสิ่งจำเป้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่มีกิจวัตรประจำวันเป็นระบบระเบียบมาโดยตลอดออกกำลังกาย เป็นพิเศษในช่วงนี้และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยได้มาก 2.สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องไม่ลืมจัดเตรียมยาติดตัวเอาไว้ให้ครบ และเตรียมเผื่อไว้สำหรับอีก 2 มื้อต่อไป สำหรับคนกรุงฯ ที่เคยชินกับการทิ้งยาไว้ในรถส่วนตัว พึงเข้าใจว่าการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองอาจจะต้องเคลื่อนที่โดยไม่คาดฝัน จึงควรติดตัวเอาไว้ในทุกสถานการณ์ ยา-ที่หลายคนมองข้ามก็คือ น้ำยาหยอดตา สำหรับผู้ที่ใส่คอนแท็คเลนส์ นี่ก็ต้องติดตัวไว้ ยา-ยังหมายถึง ยาหอม ยาดม และยาหม่องที่เป็นยาสามัญพื้นฐานประจำการชุมนุมมวลชน แม้ว่าโดยทั่วไปการชุมนุมมวลชนครั้งใหญ่ๆ มักจะมีอาสาสมัคร แพทย์ พยาบาล และรถพยาบาลฉุกเฉิน มาจอดอำนวยความสะดวกใกล้ๆ แต่พึงยึดคติ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” จะประเสริฐนักแล 3.เครื่องแต่งกาย อย่ามองข้ามความสำคัญของเครื่องแต่งกายไปร่วมการชุมนุมมวลชนโดยเด็ดขาดเพราการจะกิน นอน นั่ง หรือเดินในท่ามกลางหมู่ชนจำนวนมากนั้น มันไม่สะดวกสบายเหมือนใช้ชีวิตปกติแน่ๆ รองเท้า-เลือกคู่ที่ใส่สบายที่สุดและเหมาะกับการเดินนานๆ ไกลๆ รองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้าจ๊อกกิ้ง จะดีกว่า แต่ควรติดถุงเท้าสำรองเอาไว้ด้วยเพราะถุงเท้าที่หมักหมมข้ามคืนคู่เดิม อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อร่วมอุดมการณ์ที่นั่งข้างๆ ถึงขึ้นขาดสะบั้นกันแม้จะมีจุดประสงค์การเรียกร้องเดียวกันก็ตาม กระโปรง-ควรเป็นกระโปรงยาว แต่ขอแนะนำให้ใส่กางเกงจะเหมาะสมที่สุด บางคนชอบยีนส์ก็ขอแนนำว่าให้เป็นยีนส์ที่ไม่คับ เป็นยีนส์ทรงหลวม นั่งและนอนสะดวก เสื้อ-หลายคนมองข้ามการเตรียมพร้อมเรื่องเสื้อ แต่แท้จริงแล้ว สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าเรื่องอื่นๆ คนที่วางแผนเพื่อการอยู่ท่ามกลางฝูงชนนานในระดับข้ามวันข้ามคืน มักจะมีเสื้อยืดสำรองใส่กระเป๋าเอาไว้อีกตัว ไม่เพียงเท่านั้นหากเลือกใส่เสือยืดภายในและมีเสื้อเชิ้ตหรือแจ๊กเก็ตบางๆ สวมทับภายนอก ในบางสถานการณ์เจ้าเสื้อตัวนอกอาจจะทำหน้าที่แทนที่ปูนั่ง ปูนอน กันแดด หรือแม้แต่หมอนหนุนหัวได้ตามแต่สถานการณ์เรียกร้อง ชุดชั้นใน-ก็...แล้วแต่ว่าท่านจะทนตัวเองได้นานแค่ไหน บางคนคืนเดียว บางคนข้ามสองคืนแล้วไม่ต้องเปลี่ยนก็มี ขอแนะนำว่าเดี๋ยวนี้มีชั้นในกระดาษใช้ครั้งเดียวทิ้งก็เป็นทางเลือกที่น่าพิจารณา ผ้าขนหนูเล็ก-ก็เหมือนกับผ้าขาวม้าของชาวชนบทที่เป็นผ้าสารพัดประโยชน์ ใช้ทั้งเช็ดหน้าเช็ดตาหรือซักแห้งตัวเอง เวลาที่เหนอะหนะมากจนทนไม่ได้ ในสถานการณ์รุนแรง (ซึ่งคงไม่เกิด) อาจจะใช้เป็นผ้าชุบน้ำปิดหน้า จมูก ตา เมื่อเจอแก๊สน้ำตา รวมถึงใช้โบกไปมาตอนฟังปราศรัยก็เท่ไม่หยอก เรื่องส่วนตัวสุภาพสตรี-สุภาพสตรีจะร้องว่าตัวเองต้องการอุปกรณ์พิเศษในช่วงไหนของเดือน หากถึงรอบนั้นของเดือน ยาแก้ปวดและเครื่องป้องกันต้องเตรียมติดตัวไว้ให้พร้อม เครื่องเสริมสวย-สุภาพสตรีจะรู้ดีว่าอุปกรณ์พกพาฉบับกระเป๋าควรมีสิ่งใดบ้าง แต่สำหรับบุรุษอาจจะติดหวีไปสักอันก็ไม่เสียหายอะไร หมวก ร่ม แว่นกันแดด-อย่าลืมว่าเวลาชุมนุมไม่ได้มีแค่ตอนเย็นหรือกลางคืน สภาพอากาศตอนกลางวันในเมืองหลวงบนลานซิเมนต์ของลานพระบรมรูปทรงม้า และถนนราชดำเนินเป็นอย่างไรทุกคนน่าจะจินตนาการได้ ยิ่งในครั้งนี้นัดหมายกันตั้งแต่เวลา 13.00 น. 4.โทรศัพท์มือถือ หลายยี่ห้อใช้แทนมือถือได้ แต่สิ่งที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมมวลชนห้ามมองข้ามก็คือ ต้องเตรียมชาร์ตแบตเตอรี่เอาไว้ให้เต็มก่อนออกจากบ้าน หรือถ้าจะดีควรมีแบตเตอรี่สำรองที่ชาร์จเต็มพกติดไปด้วย เพราะท่านจะต้องใช้มากกว่าปกติ โทรศัพท์มือถือเป็น “อาวุธ” ประจำกายชาวประชาธิปไตยที่ทรงพลานุภาพที่สุด ในยุคการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารยุคดิจิตอล เพราะไม่ว่าเขาจะปิดข่าวทางวิทยุหรือโทรทัศน์ แต่เราสามารถใช้เสียงรายงานไปยังเพื่อนฝูงโดยตรง ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถ SMS แบบลูกโซ่ แจ้งข่าวและความเคลื่อนไหวของการชุมนุม จะเป็นช่องทางใหม่ที่ยากต่อการปิดกั้น 5.น้ำยาบ้วนปาก ปัจจุบันมีขนาดเล็กสำหรับพกพา วางขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป ราคา 30-40 บาทแล้วแต่ยี่ห้อ พกพาเพื่อใช้ทดแทนแปรงสีฟันยาสีฟันได้ชะงัดนัก 6.อาหาร-น้ำดื่ม ธรรมดาเมื่อมีการชุมนุมมวลชน มักจะเป็นโอกาสทองของพ่อค้าแม่ค้าเร่ที่จะทำการค้าเป็นล่ำเป็นสัน แต่อย่าลืมว่าการอยู่ในที่ชุมนุมนั้นจะต้องอยู่ข้ามวัน-ข้ามคืน บางคนคิดว่ากินข้าวเย็นแล้วก็รอกินมื้อเช้าอีกรอบทีเดียว แต่ข้อเท็จจริงก็คือส่วนใหญ่มักจะหิวมากในรอบดึก ขอให้ติดอาหารสำเร็จรูปง่ายๆ เช่น ขนมปัง แซนด์วิช หรือซาลาเปา ข้าวเหนียว-หมูทอด หมูย่าง รวมไปถึงไส้อั่ว ไส้กรอกอีสานติดไปด้วย ที่ลืมไม่ได้เด็ดขาดคือขวดน้ำประจำตัว ซึ่งในบางเวลาใช้เป็นอุปกรณ์เคาะพื้นพร้อมๆ กันให้เกิดเสียงดังอย่างยิ่ง ไม่ควรละเลยกับเรื่องนี้ การชุมนุมมวลชนครั้งใหญ่ๆ รวมทั้งครั้งนี้จะมีอาหารแห้งแจกจ่ายจำนวนหนึ่ง ควรรับแจกเฉพาะจากเจ้าหน้าที่คณะจัดการชุมนุมเท่านั้นไม่ควรรับจากบุคคลภายนอกที่เราไม่แน่ใจ 7.กระเป๋าสารพัดประโยชน์ กระเป๋าที่พกพาไม่ควรจะใหญ่จนเทอะทะ รูปแบบที่เหมาะสมคือเป้หรือกระเป่าสะพาย ใส่สิ่งของเครื่องใช้จุกจิก ตั้งแต่หมวดยารักษโรค เสื้อผ้า แลอาหาร 8.อุปกรณ์เชียร์ ป้ายผ้า ป้ายกระดาษ และถ้อยคำที่ผ่านการคิดค้น และประดิษฐ์จากมือตัวเองนำมาโชว์ในที่ชุมนุม เป็นความภาคภูมิใจของเจ้าตัวไม่น้อย ไม่เพียงเท่านั้นยังสร้างสีสีนให้กับการชุมนุมในภาพรวมได้อย่างดี ในยุคโลกาภิวัตน์แบบนี้ป้ายภาษาอังกฤษมักจะได้รับเกียรติให้ขึ้นโชว์ในสื่อต่างประเทศ ครั้งนี้หากมีป้าภาษาต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วยก็ไม่ผิดกติกา 9.ห้องน้ำ การชุมนุมมวลชนครั้งใหญ่ๆ รวมทั้งครั้งนี้จะมีรถสุขาเคลื่อนที่มาให้บริการ การเตีรยมความพร้อมส่วนตัวที่มองข้ามไม่ได้ก็คือกระดาษทิชชู่ส่วนตัวเอาไว้ด้วย ข้อห้าม 1.ห้ามพกพาอาวุธหรืออุปกรณ์ที่อาจแปรเป็นอาวุธได้ไปโดยเด็ดขาด เพราะจะเป็นข้ออ้างในการสลายการชุมนุม เนื่องจากกฎหมายรับรองสิทธิ “การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ” เท่านั้น 2.เชื่อถือการนำจากแกนนำบนเวทีปราศรัยเท่านั้น เพราะวิชามารเพื่อหาข้ออ้างในการจัดการ สลายการชุมนุมซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เราอาจจะเห็นคนแต่งตัวแบบเดียวกับเรา แต่จู่ๆ ก็ออกมาชักชวนให้แวะเผาทำลายป้อมตำรวจหรือสัญญาณไฟจราจรข้างทางเสียดื้อๆ ก็มี ต้องไม่หลงกล 3.ไม่ว่าจะเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นที่จุดใด อย่าเข้าไปมุงดู อย่าฮือเข้าไปร่วม อยู่กับที่โดยสงบ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะทำงานที่จะเข้าไประงับเหตุ (“กู้ชาติ 4 กุมภา” จากเวบไซต์ผู้จัดการ) เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
Ref :: //www.manager.co.th/Lite/ViewNews.aspx?NewsID=9490000014727
Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2549 |
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2549 21:56:37 น. |
|
3 comments
|
Counter : 810 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: เกดจัง วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:12:23:36 น. |
|
|
|
โดย: ของฝาก IP: 61.19.51.101 วันที่: 8 พฤศจิกายน 2552 เวลา:13:46:08 น. |
|
|
|
|
|
|
|
ไม่ใช่คนตามข่าวการเมืองเท่าไร แต่ช่วงนี้ เหนื่อยการเมืองจริงๆ ฟังแต่ละข่าวแล้วเซ็ง
ฟังคำคนก็ยิ่ง...
ป.ล. หายไปนานเลยนะคะคุณ naigod ขอบคุณที่ยังไปเยี่ยมเยียนกันค่ะ ว่าแต่ได้ไปร่วมชุมนุมกับเขาหรือเปล่า ถ้าไปลองเล่าสู่กันฟังบ้างก็น่าสนใจนะคะ