ไอ๊ ถามวัต สุทธิพงศ์
 
มกราคม 2560
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
29 มกราคม 2560
 
 
เรื่องของไอ๊ EPISODE 25

24 ธันวาคม 2559
โดย ถามวัต สุทธิพงศ์

ตลอดระยะเวลาที่หายไปเกือบสัปดาห์ ใช่ว่าไอ๊จะไม่คิดถึงทุกคน
อยากจะเขียนใจแทบขาด แต่ว่าโอกาสมันไม่เอื้อ
(มาเป็นลิเกเชียวเว้ย)

การหายไปในครั้งนี้ ทำให้ไอ๊มีพร้อมด้วยข้อมูลจากประสบการณ์ (ล้วน ๆ) มานำเสนอ ซึ่งทุกสิ่งอันล้วนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนพิการทางการเห็น
(เรื่องที่ผู้ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพิการทางการเห็นควรอ่านอย่างยิ่ง)

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไอ๊มีโอกาสไปเป็นสิงห์อบรมประมาณสองสามงาน ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า งานอบรมที่จัดขึ้นเพื่อคนพิการทางการเห็น โดยมาก ล้วนเป็นงานที่มีค่าพาหนะ นัยว่าเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของคนพิการทางการเห็นที่ต่างก็มีรายได้น้อย...ไม่พอใช้กัน

ไอ๊เองก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีรายได้น้อย...ตังไม่ค่อยพอใช้ กล่าวคือ ไม่มีรายได้จากการทำงานเป็นพนักงานประจำโดยบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐบาล คำถามคือ นอกจากเกาะชายกระโปรงมารดา ผลาญเงินเล่นไปวัน ๆ แล้ว ไอ๊มีรายได้ทางใดเพิ่มเติมอีก ก็ต้องบอกว่ามี ทั้งจากเบี้ยยังชีพคนพิการที่ได้รับเงินจากภาษีประชาชนมา เดือนละแปดร้อยบาท (เท่านั้นเอง) และสิ่งสำคัญเลยก็คือ การไปเป็นสิงห์อบรมนี่ล่ะ ซึ่งก็ต้องยอมรับตามตรงเลยว่า มันไม่ได้เกิดมีบ่อย ๆ และมันก็เป็นรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ (ขึ้นอยู่กับการของบประมาณของผู้ดำเนินโครงการการฝึกอบรมเค้า) ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ว่าเงินทองที่ได้รับ ซึ่งอาจถูกเรียกให้สวยงามว่า “ค่าพาหนะ” จะมีมากน้อยเท่าไหร่ ไอ๊ก็ไม่หวั่น เพราะอย่างน้อย นั่นก็คือสิ่งที่ไอ๊ไว้ใช้ทำทุนต่าง ๆ จิปาถะ (เดี๋ยวจะมาเล่าว่าไอ๊เอาเงินไปทำอะไร)

จากการสังเกตในหลาย ๆ โครงการการฝึกอบรมให้กับคนพิการทางการเห็น (ภายหลังช่วงวิกฤติน้ำท่วมปีห้าสี่) ไอ๊พบว่า โดยมาก...

1. คนพิการทางการเห็น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนพิการทางการเห็น มีความเข้าใจในความหมายของคำว่า “งานอบรม” ผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันไปมาก ถึงขนาดว่า ใช้ชื่องานว่า “อบรม” แต่รูปแบบของกิจกรรมที่แท้จริงกลับเป็นแค่ “งานเสวนา” โดยพิจารณาจากคำชวนที่คนพิการทางการเห็นได้ชักชวนกันประมาณว่า “ไปอบรมเกี่ยวกับอาชีพของคนพิการกันเถอะ” ทั้งที่ความเป็นจริงมันเป็นแค่งานให้ความรู้พื้นฐาน ซึ่งด้วยวิธีการต่าง ๆ อาจดำเนินกิจกรรมในรูปของการเสวนาก็เป็นได้

2. ในระยะหลัง ๆ มานี้ คนพิการทางการเห็นมักเข้าร่วมงานเสวนาต่าง ๆ ที่หน่วยงานน้อยใหญ่ได้ดำเนินงานขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่ารูปแบบการเสวนาคือการนั่งฟังคำคิดเห็นจากผู้แทนต่าง ๆ ทั้งที่เป็นความรู้จากองค์กร และความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมด้วยการแสดงความคิดเห็น (ซึ่งล้วนเป็นความรู้สึก) จากผู้เข้าร่วมงานเสวนาด้านล่างเวที (ซึ่งให้เวลาน้อยมากถึงมากที่สุด) ผลกระทบที่ตามมาเลยก็คือ คนพิการทางการเห็นที่มองไม่เห็นโดยแน่แท้จะรู้สึกเบื่อ เพราะขาดความมีส่วนร่วมในกิจกรรม มันเปรียบเสมือนว่า พวกเขากำลังฟังวิทยุ (ซึ่งก็ฟังที่บ้านก็ได้) ยิ่งถ้าหากหัวข้อเสวนาใดมีเรื่องราวที่ไกลตัวคนพิการทางการเห็นเสียแล้ว พวกเขาก็จะไม่ให้ความสนใจ แม้หูจะฟัง ตาจะจ้อง แต่มันก็คงเป็นเพียงอาการที่สามารถแสดงออกได้ในเวลานั้น

3. ความต้องการและความมุ่งหวัง ระหว่างคนพิการทางการเห็น กับผู้ดำเนินโครงการ สวนทางกัน กล่าวอุปมาอุปไมยได้ใจความว่า คนพิการทางการเห็นต้องการหรือมุ่งหวังให้ไข่หนึ่งใบตรงหน้ากลายเป็นไข่ลูกเขย แต่ผู้ดำเนินโครงการสามารถทำได้เพียงไข่ต้มธรรมดาเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นด้วยข้อจำกัดที่ว่า ในนามขององค์กรหนึ่งที่ดำเนินโครงการยังไม่เคยศึกษาเนื้อหาสาระเกี่ยวกับเรื่องที่จะอบรม ถึงขนาดที่เป็นปัญหาซึ่งผู้มุ่งหวังประสบแล้วต้องการหนทางแก้ไข ผู้ดำเนินโครงการเลยทำได้เพียง “เออเออค่ะค่ะ” เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลไว้ไปแก้ไขปัญหาในโครงการถัดไป (ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่) แล้วคนพิการทางการเห็นก็ร้องเพลงรอกันต่อไป

กรณีล่าสุดที่ไอ๊ได้ไปร่วมกิจกรรม “แต๊งอาสา” (ไม่รู้ชื่อจริงกิจกรรมเลยเขียนชื่อตามวัตถุประสงค์) ของกลุ่มอาสาสมัครอ่านหนังสือเสียง “ยิ่งให้ยิ่งได้” โดยศูนย์การเรียนรู้วิชาการสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันศุกร์ ที่ 23 ธันวาคม 2559 ทำให้ไอ๊ได้เห็นถึงปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขโดยด่วนกับทุกภาคส่วน ดังนี้

1. คนพิการทางการเห็นขาดการมีส่วนร่วมในกิจกรรม เพราะกิจกรรมร้อยละแปดสิบล้วนเป็นกิจกรรมฟังบรรยาย ด้วยเนื้อหาที่ค่อนข้างจะ “ไกลตัว” จากคนพิการทางการเห็น เช่นอนาคตในการเข้าถึงสื่อกระแสหลักของโลก ซึ่งวิธีแก้ไขก็คือการชี้แนะแนวทางให้คนพิการทางการเห็นต้องรู้เท่าทันด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างไร ทั้งนี้ การชูประเด็นให้เห็นเป็นกิจจะลักษณะว่าต้องการจะสื่อสารอะไรก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนสนใจติดตาม ผลการวิจัยอย่างไม่เป็นทางการโดยเจ้าของแฟนเพจ “โลกของไอ๊” รายงานว่า การไม่แสดงถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารด้วยการเน้นย้ำซ้ำเติมลงไปเป็นความล้มเหลวในการสื่อสาร เปรียบกับการบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ หากไม่มีการเน้นย้ำ ความรู้ก็จะไม่ถูกฝังจำเข้าหัว

2. สืบเนื่องจากข้อแรก เมื่อคนพิการทางการเห็นมีความมุ่งหวังว่าจะมีส่วนร่วมในกิจกรรม แต่ผู้ดำเนินโครงการกลับไม่ได้ให้ผู้มุ่งหวังมีส่วนร่วมในกิจกรรม (มากเท่าที่ควร) ทำให้ทั้งผู้ดำเนินโครงการก็รู้สึกขาดทุนที่เมื่อยิ่งให้ไปแต่ผู้มุ่งหวังกลับไม่ได้ยิ่งได้ไปเลย ซ้ำคนพิการทางการเห็นกลับรู้สึกค้างคาว่าพวกเขามาเสียเที่ยวหรือเปล่า ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขปัญหาได้ ด้วยวิธีการหากิจกรรมการมีส่วนร่วมนอกเหนือจากการฟังบรรยาย เช่น การขอความคิดเห็นเฉพาะเรื่อง เกมชิงรางวัล เป็นอาทิ

3. คนพิการทางการเห็นไม่ได้ทำการบ้านล่วงหน้า การทำการบ้านโดยนัยหมายถึง คนพิการทางการเห็นไม่มีการศึกษาข้อมูลของกลุ่มกิจกรรม “ยิ่งให้ยิ่งได้” มาก่อนว่าคืออะไร มีผลงานใดมาแล้วบ้าง เพื่อที่สุด เราต่างจะได้มาถกเป็นประเด็นต่าง ๆ ว่ากลุ่มนี้มีจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัด อย่างไรบ้าง สังเกตได้ว่า คนพิการทางการเห็น (โดยมาก) ให้ความคิดเห็นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “ยิ่งให้ยิ่งได้” เลยแม้แต่น้อย

4. สืบเนื่องจากข้อที่ผ่านมา กลุ่มกิจกรรม “ยิ่งให้ยิ่งได้” ขาดการสื่อสารทางการตลาดอย่างแข็งแรง กล่าวคือ เนื่องจากคนพิการทางการเห็นไม่ได้ทำการบ้านล่วงหน้าโดยการศึกษาผลงานของกลุ่มกิจกรรมนี้ เป็นผลให้คนพิการทางการเห็นไม่สามารถให้ความเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับกลุ่มกิจกรรมนี้ได้ เช่น เนื้อหาหนังสือเสียง คุณภาพการอ่าน เป็นอาทิ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการไม่ได้ถูกนำเสนอหรือแนะนำตัวกับคนพิการทางการเห็นอย่างสม่ำเสมอและจริงจัง ผ่านช่องทางต่าง ๆ หลากหลาย โดยเฉพาะงานขอบคุณอาสาโดยระบบสายด่วนข่าวสารความรู้เพื่อคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ (1414+) ซึ่งจะต้องมีการวางแผนในการหาช่องทางการนำเสนออย่างรอบด้านเพื่อครอบคลุมไปยังกลุ่มผู้มุ่งหวังอย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจกรรมเป็นโครงการอบรม สัมมนา หรือแม้แต่เสวนา กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยเป็นวงกว้าง การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แม้ว่าผู้มุ่งหวังจะเป็นใครก็ตาม (ไม่ใช่แค่คนพิการทางการเห็นอย่างเดียวหรอก) ผู้ดำเนินโครงการก็ควรตระหนักถึงความต้องการของพวกเขาเป็นสำคัญ
ในขณะเดียวกัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเองก็จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลก่อนมารับความรู้จากงานกิจกรรมใด ๆ ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์เพื่อผู้ดำเนินกิจกรรม หากแต่มันจะทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ที่เพิ่มพูนเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าเดิม และทำให้ความรู้ถูกถกเถียงจนกลายเป็นประเด็นใหม่ที่น่าสนใจ


Create Date : 29 มกราคม 2560
Last Update : 29 มกราคม 2560 16:31:49 น. 0 comments
Counter : 434 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

อาณาจักรแห่งเรา
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




เราเป็นนักแสวงหา...
เรายังคงค้นหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อหามาแล้ว...
เราจะนำมาเล่า
New Comments
[Add อาณาจักรแห่งเรา's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com pantip.com pantipmarket.com pantown.com