อะไร ๆ เรื่อย ๆ ตามใจฉัน
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
4 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
บทความ: ประกันสุขภาพ...เรื่องโหดและดีในสหรัฐ (รักลูก)

พอดีวันนี้เพิ่งได้ไฟล์ภาพที่น้องแอน Second impact ส่งมาให้จากเมืองไทย เป็นภาพบทความของเราที่ได้ลงในคอลัมน์ World Wide Mom ในนิตยสารรักลูก ฉบับเดือนกันยายน 2550 ค่ะ คิดว่าบทความที่เขียนบทนี้น่าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง เพราะอัดแน่นด้วยสาระ (และยาวเชียว -- เขากำหนดให้เขียนแค่ 2 หน้า แม่ล่อไปซะ 6 หน้า เอ 4 ให้คนเขียนนิยายมาเขียนบทความก็งี้แหละ แหะๆ แต่ขอโทษสาระล้วนนะคะท่านผู้อ่าน ไม่มีตบจูบ หรือบทพ่อแง่แม่งอน)

ประเดิมด้วยการอวดรูปจากนิตยสารกันก่อนนะเค๊อะ (ไม่ต้องเพ่งในรูปนะคะ ข้างล่างจะลงต้นฉบับให้อ่าน





(แหงะ...ไม่ทราบว่าภาพสุดท้ายนี้ออกมาจะโย้เย้หรือเปล่านะ ทนกับความเย้ไปก่อนนะคะ ขออภัยได้ไฟล์มาเช่นนี้ งือ)



ต้นฉบับ แบบไม่ได้ตัดต่อ (ที่ลงในรักลูกมีการตัดบางส่วนออกไปบ้าง เพื่อให้นิยาย เอ๊ย บทความของเราสั้นลง อิอิ)

ประกันสุขภาพ...เรื่องโหดและดีในสหรัฐ

ช่วงเวลานี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลาเริ่มต้นหาเสียงเพื่อแข่งขันเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองเข้าช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี ค.ศ. 2008 ประเด็นร้อนที่นำมาใช้หาเสียงเป็นเรื่องนำก็คือ การตัดสินใจเกี่ยวกับการทำสงครามในประเทศอิรัก แต่ถึงกระนั้นปัญหาภายในประเทศ ที่เป็นที่สนใจของประชาชนส่วนใหญ่ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับนโยบายด้านบริการสาธารณสุข รวมไปถึงค่ายา ค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการด้านประกันสุขภาพ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหลายยุค ได้นำมาเป็นข้อหาเสียง แต่ดูเหมือนว่าไม่ว่าใครจะเข้ามา ปัญหาเรื่องนี้ก็ยังคงเรื้อรังแก้ไม่ตกสักที

ที่สหรัฐอเมริกา คุณไม่ต้องกังวลถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ และคุณภาพของบุคลากร แต่สิ่งที่ต้องพึงตระหนักคือ คุณจะมี “เงิน” พอที่จะเข้าถึงการแพทย์ที่ทันสมัยหรือไม่ คงไม่ใช่เรื่องใหญ่หากคุณอยู่ในฐานะเข้าขั้นผู้มีอันจะกิน แต่บรรดาคนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน หรือเจ้าของธุรกิจขนาดย่อมในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น การมีประกันสุขภาพสำหรับทุกคนในครอบครัว ซึ่งครอบคลุมวงเงินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดแทบไม่ได้ เพราะอย่างน้อยก็อุ่นใจว่า ภาระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะมีบริษัทประกันแบ่งเบาภาระไปส่วนหนึ่ง ยิ่งมีลูกด้วยแล้วมีประกันสุขภาพไว้ สบายใจกว่าค่ะ

ทำไมประกันสุขภาพในสหรัฐอเมริกาจึงสำคัญ

บางคนที่เมืองไทยอาจจะไม่เข้าใจ เพราะบ้านเราไม่เห็นจะต้องกังวลถึงการประกันสุขภาพกันให้ปวดสมอง ไม่มีก็ไม่เดือดร้อน ป่วยก็ไปหาหมอที่โรงพยาบาลของรัฐบาลก็ได้ แพทย์ฝีมือดีมีอยู่มาก ค่ารักษาก็อยู่ในขั้นที่พอจ่ายกันไหว แต่ที่ “สหรัฐอเมริกา”หนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก กลับไม่มีโรงพยาบาลรัฐบาลชั้นเลิศให้ประชาชนได้เข้าถึงมากนัก โรงพยาบาลที่ดีส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชนทั้งนั้น บางรัฐในสหรัฐอเมริกาอาจจะมีโรงพยาบาลรัฐบาลที่ดี แต่ก็แทบนับจำนวนได้ ก็ลองคิดดูเปรียบเทียบก็แล้วกันนะคะว่า หากคุณต้องไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น ค่าใช้จ่ายจะมหาศาลบานปลายขนาดไหน และนี่เองที่ทำให้การประกันสุขภาพเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตผู้คนในสหรัฐอเมริกา ค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนก็กลายมาเป็นค่าใช้จ่ายหลักในการดำรงชีวิตอีกรายการหนึ่ง

ครอบครัวของดิฉันมีรายได้ระดับปานกลาง สามีดิฉันเป็นพนักงานกินเงินเดือน บริษัทให้สวัสดิการด้านประกันสุขภาพแบบกลุ่ม โดยบริษัทจะจ่ายค่าประกันสุขภาพให้ส่วนหนึ่ง และเราพนักงานก็จะจ่ายสมทบอีกส่วนหนึ่งซึ่งเงินส่วนนี้จะหักออกไปจากเช็คเงินเดือน ซึ่งสวัสดิการนี้จะรวมให้กับครอบครัวด้วย แต่เราก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันสมทบมากขึ้น โดยจ่ายเบี้ยประกันสำหรับเรา 3 คนพ่อแม่ลูก ทุกครั้งที่ดิฉันเปิดเช็คเงินเดือนของสามี ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกเสียดายไปกับยอดที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันในแต่ละเดือน เพิ่งมารู้สึกว่ามันคุ้มตอนตั้งครรภ์ คลอดลูก กระทั่งลูกลืมตาดูโลกนี่ละค่ะ โดยเฉพาะสำหรับลูก เด็กเล็กแรกเกิดต้องไปพบแพทย์ตรวจสุขภาพบ่อยๆ อย่างน้อยก็ทุก 3 เดือน และยังต้องฉีดวัคซีนอีก โชคดีที่ได้รับสวัสดิการประกันสุขภาพ ภาระค่ารักษาพยาบาลจึงเบาลงมากทีเดียว


ต้องจ่าย...ต่อเดือน


ทำไมต้องโอดครวญเรื่องเบี้ยประกัน ต้องขอบ่นบ้างละคะ ก็เดือนๆหนึ่งต้องจ่ายสมทบค่าเบี้ยประกันไปไม่น้อย อย่างบริษัทที่สามีเคยทำงานก่อนหน้านี้ เราต้องจ่ายอยู่ในราวๆเดือนละ 340 เหรียญ ราคานี้เราสามารถเลือกหมอ โรงพยาบาลที่มีสัญญากับบริษัทประกันสุขภาพที่เราเป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งค่อนข้างเลือกได้โดยไม่มีข้อจำกัดมากนัก และขอบอกว่าค่าเบี้ยประกันไม่ใช่คงที่อมตะนิรันดร์กาล บริษัทประกันขึ้นราคาเบี้ยประกันทุกปี เรียกว่าปีหนึ่งถึงจะได้ขึ้นเงินเดือน แต่ส่วนที่ขึ้นมาก็ไปตกอยู่ในมือบริษัทประกันเสียแล้ว เซ็งไหมละคะ

ปีนี้โชคดีขึ้นมานิดที่สามีย้ายงานมาที่ใหม่ สวัสดิการด้านประกันสุขภาพที่มีให้ เราจ่ายแค่เดือนละ 133 เหรียญ ถูกกว่าที่เก่ามาก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ประกอบธุรกิจประกันสุขภาพด้วย โรงพยาบาลนี้มีเครือข่ายสาขาทั่วไป แต่ข้อจำกัดของเราคือ ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลในเครือนี้ที่เดียวเท่านั้น ต่อให้มีคลินิคหมออยู่หน้าปากซอยบ้านก็ไปหาไม่ได้ (ได้เหมือนกัน แต่จ่ายเองนะคะ) อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ถึงกับเลวร้ายเสียทีเดียว โรงพยาบาลที่ว่านี้ ก็เป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียง คุณภาพดี แต่แพทย์ที่ขึ้นชื่อบางคนก็ต้องรอคิวนานหน่อย อย่างล่าสุดนัดพาลูกชายไปตรวจสุขภาพ และฉีดวัคซีน กว่าจะได้คิวก็รอไป 1 เดือน แต่เป็นนัดที่ไม่เร่งด่วน รอได้ก็รอกันไปค่ะ อยากพบหมอที่ถูกใจก็ต้องอดทนกันหน่อย

จ่ายค่าเบี้ยประกันไปแล้ว ไม่ใช่ว่าจะจบ ไม่ต้องจ่ายอะไรอีก การไปพบแพทย์ทุกครั้งก็ต้องจ่ายเงินสมทบด้วย เรียกว่าค่า co-pay บางแผนก็จ่ายครั้งละ 20 เหรียญบ้าง 30 เหรียญบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับแผนประกันของแต่ละคน บางแผนที่ไม่ต้องจ่ายค่าco-payเลยก็มี แต่ค่าเบี้ยประกันก็คงจะสูงเอาการ

ส่วนตัวของดิฉันเองที่ไปหาหมอครั้งล่าสุดกับประกันราคาถูก ตอนไปตรวจจ่ายco-payไป 30 เหรียญ แต่ของลูกชายนี่สิเสียแค่ 5 เหรียญเท่านั้น แทบกรี๊ดลั่นโรงพยาบาล ไม่เคยจ่ายถูกอย่างนี้มาก่อน ค่อยมีแรงขับรถไปหาหมอขึ้นมาหน่อย (โรงพยาบาลใหม่นี้ขับรถจากบ้านไปราว 30 นาทีค่ะ)

ได้บริษัทดีที่ให้สวัสดิการด้านประกันสุขภาพดีๆ ก็ดีไปค่ะ มีช่วงหนึ่งในชีวิตที่ดวงตก ก่อนที่สามีจะย้ายมาทำงานที่ปัจจุบัน สามีของดิฉันว่างงานระยะหนึ่ง ระหว่างนี้ก็อยู่อย่างใจตุ้มๆ ต่อมๆ เพราะไร้ประกันสุขภาพ ถ้าล้มเจ็บกันหนักๆ มีหวังจ่ายกันกระอัก บุญยังมีอยู่ที่ได้งานที่ใหม่อีกสองเดือนถัดมา แต่ความที่อยากได้งานเร็วๆ จึงก็ไม่ได้ต่อรองและศึกษารายละเอียดสวัสดิการส่วนประกันสุขภาพดีพอ ปรากฏว่าได้แผนประกันที่แย่มากๆ ทั้งๆที่จ่ายค่าเบี้ยประกันไม่น้อยเลย คือ 268 เหรียญต่อเดือน แต่เพิ่งมาทราบว่าเป็นแผนแบบที่บริษัทประกันสุขภาพจะจ่ายเมื่อค่ารักษาพยาบาลรวมตลอดปีเกิน 1,500 เหรียญ ซึ่งเท่ากับว่าเราต้องออกควักกระเป๋าจ่ายไปก่อนพอยอดทั้งปีเกิน 1,500 เหรียญเมื่อไร นั่นละบริษัทประกันจึงจะจ่ายส่วนที่เกิน

โอ้ พระเจ้า...ขอบอกว่าแผนประกันนี้เลวร้ายมากค่ะ เพราะครั้งแรกที่ใช้โดยไม่รู้นึกว่าเหมือนกับสวัสดิการเดิมๆที่เคยได้ ดิฉันพาลูกไปตรวจสุขภาพตอนครบอายุ 1 ขวบ พบแพทย์ ฉีดวัคซีน 2 เข็ม มีเอกสารเรียกเก็บเงินตามหลังอีก 375 เหรียญ ปาดเหงื่อค่ะงานนี้ ก็เคยจ่ายแต่ co-pay แค่ครั้งละ 20 เหรียญสำหรับการพาลูกไปหาหมอแต่ละครั้งนี่ค่ะ โชคดีที่ทำที่บริษัทนี้ไม่นาน สามีก็ได้งานใหม่ที่ทำอยู่ปัจจุบันนี้ ไม่อย่างนั้นพาลูกไปฉีดวัคซีนที พ่อแม่คงต้องต้มมาม่ากินแทนข้าวเป็นแน่

สนนราคาเบี้ยประกัน และค่าco-pay ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นราคาที่ไม่ต่างกันมากนักสำหรับพนักงานบริษัทที่มีสวัสดิการ บางที่ก็อาจจะมากน้อยต่างกันไป แต่ก็คงไม่มากเท่ากับบรรดาผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการขนาดย่อม หรือทำอาชีพอิสระ ที่ต้องจ่ายประกันสุขภาพเองแบบเต็มๆ ค่าเบี้ยประกันอาจจะแพงกว่าเหล่ามนุษย์เงินเดือนเป็นเท่าตัว เท่าที่คุยกับเพื่อนที่สามีประกอบอาชีพอิสระ ครอบครัวของเธอต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพในราคาที่สูงไม่ใช่น้อย เธอประหยัดค่าเบี้ยประกันต่อเดือนด้วยการเลือกแผนประกันสุขภาพแบบ high deductible คือเลือกที่จะจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเองส่วนหนึ่ง เช่น เธอเลือกแผนแบบจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง 5,000 เหรียญต่อปี ซึ่งก็ยอดนี้จะรวมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี อย่างตอนที่เธอตั้งครรภ์กระทั่งคลอด เธอจ่ายเอง 5,000 เหรียญ ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือก็จะเป็นหน้าที่ของบริษัทประกันสุขภาพ แผนประกันแบบนี้ เธอบอกว่าจ่ายอยู่ที่ราวๆ 120 เหรียญเฉพาะตัวเธอคนเดียว ส่วนลูก สามี แยกกันประกันคนละแผน เท่าที่สอบถามมา เดือนหนึ่งค่าเบี้ยประกันตกอยู่ที่ 530 เหรียญทั้งครอบครัว จัดว่าไม่สูงมาก แต่ถ้าไปหาหมอ หรือเข้ารับการรักษาพยาบาลก็ต้องจ่ายเองไม่น้อยเลย

เงินประกันคุ้มค่า...ตอนตั้งครรภ์

แน่นอนว่าเราคงไม่อยากล้มหมอนนอนเสื่อเจ็บป่วยเพื่อให้ค่าประกันสุขภาพที่จ่ายไปคุ้มค่าใช่ไหมคะ สุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ถ้าจะต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพไปโดยไม่ได้ใช้มันเลย ก็คงไม่มีใครเสียดาย แต่สำหรับแม่อย่างเราๆ ค่าประกันสุขภาพจะคุ้มขึ้นมาทันทีเมื่อเราตั้งครรภ์ และมีลูกค่ะ

เมื่อตั้งครรภ์ การฝากท้อง ไปพบแพทย์ประจำเดือน เป็นสิ่งจำเป็น หนำซ้ำระยะใกล้คลอดยังต้องไปพบทุกสัปดาห์ และยังต้องมีการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ทำอัลตร้าซาวน์ หากใครโชคไม่ดีมีปัญหาระหว่างตั้งครรภ์อีก ถ้าไม่มีบริษัทประกันสุขภาพมารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ไปบ้าง เราคงจ่ายกันหมดเนื้อหมดตัวทีเดียว อย่างดิฉันที่ตรวจพบเนื้องอกขนาดเล็กที่ปากมดลูกขณะตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนเศษด้วยแล้ว บอกได้เต็มปากเลยว่า โชคดีเหลือเกินที่มีประกันสุขภาพ เท่าที่ย้อนไปดูเอกสารแจกแจงค่าใช้จ่ายมา เฉพาะช่วงที่ตรวจพบเนื้องอก ค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ 972 เหรียญค่ะ ไม่ต้องจ่ายเอง โล่งอกไป

ทีนี้มาดูตอนคลอดบ้างว่าค่าใช้จ่ายของดิฉันเท่าไร

* ค่าผ่าตัดทำคลอด 5,499 เหรียญ ประกันจ่าย
* ค่าอัลตร้าซาวนด์ 330 เหรียญ ประกันจ่าย
* ค่าฉีดยาชาทำคลอด 213 เหรียญ ต้องจ่ายเอง เพราะวิสัญญีแพทย์ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของบริษัทที่ใช้ขณะนั้น
* ค่าตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะในห้องแล็ป หลายครั้งรวมกัน 395 เหรียญ จ่ายเองเพราะแผนประกันไม่ครอบคลุม

ความจริงแล้วมีค่าใช้จ่ายมากกว่านี้ ในส่วนของการไปพบแพทย์แต่ละครั้งแต่ดิฉันหาเอกสารไม่พบ ก็เอามาแจกแจงคร่าวๆ ให้หนาวเล่นเท่านี้ก่อนนะคะ รวมยอดตัวเลขทั้งหมดที่พอหาได้ 7,409 เหรียญ กว่าจะได้น้องธีร์ ลูกชายสุดที่รักคนนี้มากับเขาคนหนึ่ง ไม่รวมกับค่าไวตามินสำหรับแม่ท้องที่หมอออกใบสั่งแพทย์ให้ทานในช่วงที่ตั้งครรภ์นะคะ

เพื่อหาข้อมูลสำหรับบทความนี้ ดิฉันจึงลองสอบถามตัวเลขจากเพื่อนคนอื่นที่มีลูกทำคลอดในสหรัฐอเมริกามาในรายที่ตั้งครรภ์ปรกติ ทำคลอดปรกติ ค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ 8,000 เหรียญ แต่สำหรับท้องแรกของเธอ มีอาการเบาหวาน โลหิตจางต้องไปพบนักโภชนาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาด้วย ค่าใช้จ่ายระหว่างตั้งครรภ์จนถึงทำคลอดรวมทั้งหมดจึงตกราว 10,935 เหรียญ เห็นราคาแล้วถ้าจะคูณเป็นค่าเงินบาทเล่นๆ เทียบกับค่าใช้จ่ายที่บ้านเราดูก็ได้ค่ะ เผื่อคนที่อยากมาคลอดที่สหรัฐอเมริกาจะได้ทราบและเตรียมใจไว้

ในเมื่อประกันสุขภาพจ่ายค่าทำคลอดส่วนใหญ่แล้ว สมมติว่าแม่ท้องที่อยู่ประเทศอื่นอยากมาคลอดที่สหรัฐอเมริกาบ้าง พอตั้งครรภ์แล้วก็บินมาซื้อประกันสุขภาพก็ได้สิ ขอบอกว่าถ้ามีเงินก็เชิญตามอัธยาศัยเลยค่ะ เพราะค่าเบี้ยประกันของคุณจะถีบตัวสูงลิบลิ่ว ผันแปรมากไปตามอายุครรภ์ของคุณ และข่าวร้ายคือ บางที่อาจจะไม่รับประกันให้คุณ เช่น ไคเซอร์ เพอร์มาเนนเต้ (Kaiser Permante) มีกฎออกมาด้วยซ้ำว่าคุณต้องเป็นสมาชิกก่อน 1 ปี ถึงจะตั้งครรภ์ได้ หมายถึงว่าถ้ายังไม่ครบ 1 ปี แล้วตั้งครรภ์ขึ้นมา วงเงินประกันก็จะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

ทำไม...ค่ารักษาจึงแพงนัก

บางคนคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างว่า ในสหรัฐอเมริกามีเรื่องราวที่ฝ่ายผู้ป่วยฟ้องร้องแพทย์และสถานพยาบาลกันอยู่เนืองๆ หากการรักษาหรือการวินิจฉัยของแพทย์เกิดผิดพลาดขึ้นมาแล้วละก็ ทางฝ่ายผู้ป่วยน้อยรายที่จะนิ่งเฉยยอมรับชะตากรรม บางรายถึงแม้จะไม่แน่ใจว่าเป็นความผิดของแพทย์หรือเปล่า ก็ยังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จนเรื่องไปจบในศาล เหตุนี้เองที่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาทุกคนจะต้องมีการประกันภัยความรับผิดชอบทางวิชาชีพ สำหรับผู้ประกอบอาชีพแพทย์ (Medical Malpractice Insurance)

ค่าเบี้ยประกันที่แพทย์ต้องจ่ายต่อปีเป็นยอดที่สูงไม่ใช่น้อย สถาบันข้อมูลด้านประกันภัย (Insurance Information Institute)ว่าไว้ว่าจากผลสำรวจในปี ค.ศ. 2006 ค่าเบี้ยประกันที่แพทย์จ่ายในปี ค.ศ. 2005 เฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 เหรียญต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 2003 ที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13,000 ต่อปี ส่วนนี้เองที่กลายมาเป็นต้นทุนหนึ่งของธุรกิจทางการแพทย์

จำนวนฟ้องร้องที่มากขึ้น และจำนวนตัวเลขของค่าเสียหายที่สูงขึ้น ก็มีส่วนทำให้ค่าเบี้ยประกันของแพทย์ก็ขยับตัวสูงขึ้นไปด้วย และเหตุที่แพทย์หลายคนกลัวการฟ้องร้องนี่เอง ทำให้ระมัดระวังการรักษามากขึ้น มีการตรวจละเอียดถี่ถ้วน ส่งคนไข้ไปตรวจกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหาความเห็นที่สอง และแน่นอนว่าค่ารักษาพยาบาลก็มากขึ้นตามไปด้วย บริษัทประกันสุขภาพต้องจ่ายมากขึ้น แล้วจะไปเอาคืนที่ไหนได้นอกจากผู้ที่ซื้อประกัน วนเป็นงูกินหางอย่างนี้ละคะ

เหตุอีกประการหนึ่งก็เพราะว่าโรงพยาบาลที่นี่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชนค่ะ ส่วนโรงพยาบาลรัฐบาลมีน้อย และยังค่อยๆทยอยปิดตัวลงอีกต่างหาก

แล้วคนจนๆ ทำอย่างไร

อ่านค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่แจกแจงมาแล้วดูเหมือนชีวิตช่างโหดร้าย ก็ไม่ถึงกับแย่นักสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานที่ช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยโดยให้ซื้อแผนประกันสุขภาพราคาถูกของรัฐบาลที่เรียกว่า Medicaid ซึ่งก็สามารถไปใช้บริการตามโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในแผนประกันนี้ได้ตามปรกติ แต่ใช่ว่าทุกคนในประเทศนี้จะสามารถซื้อบริการนี้ได้ รัฐบาลจำกัดให้เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อยเท่านั้น ซึ่งระดับรายได้จะต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับระดับความยากจนตามสถิติของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากร

ยกตัวอย่างในปีค.ศ. 2006 ระดับความยากจนสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 3 คน คือ มีรายได้ 16,600 เหรียญสหรัฐต่อปี* ถ้าครอบครัวนั้นๆ มีรายได้มากกว่านี้ ก็อาจจะไม่มีคุณสมบัติพอที่จะได้รับบริการประกันสุขภาพของรัฐบาล ซึ่งนอกจากเจ้าหน้าที่รัฐจะตรวจสอบรายได้ของครอบครัวนั้น ก็ยังต้องตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อพิสูจน์ว่ามีคุณสมบัติพอเพียงให้รู้ว่าจนจริงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าจะได้กันง่ายๆ แต่อย่างไรก็ดี ก็มีกรณียกเว้น อย่างแม่ที่เลี้ยงลูกคนเดียว หรือเด็กสาวอายุต่ำกว่า 13 ปีที่ตั้งครรภ์ ก็อาจจะสามารถสมัครขอรับสิทธิ์ในส่วนนี้ได้โดยทันที และการประกันดังกล่าวก็ครอบคลุมถึงลูกด้วย

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ รู้สึกรักเมืองไทยมากขึ้นไหมคะ ค่าที่อย่างน้อยเรายังมีโรงพยาบาลของรัฐบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยให้ผู้คนทุกระดับได้เข้าใช้บริการในราคาที่ยุติธรรม หากเป็นไปได้ อยากฝากถึงรัฐบาลไทยว่าอย่าทอดทิ้งหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐ เพิ่มจำนวนโรงพยาบาลของรัฐ และศักยภาพของโรงพยาบาลให้มากขึ้น เพื่อบริการประชาชนอย่างทั่วถึง อย่าทำแบบรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ปล่อยให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในบริการด้านสาธารณสุขมากเกินไป คุณภาพและบริการดีจริง แต่ราคาที่จ่ายไปเล่า ยุติธรรมหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้

สุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องดูแล ครอบครัวชาวอเมริกันต้องพึ่งบริษัทประกันสุขภาพ ซึ่งขึ้นค่าเบี้ยประกันทุกปี ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก ประชาชนก็ได้แต่ฝากความหวังไว้กับประธานาธิบดีคนต่อๆไป ซึ่งไม่รู้ว่า คนไหน เมื่อไร จะช่วยแก้ปัญหาอย่างจริงจังเสียที ในเมื่อนักธุรกิจกับนักการเมือง ดูคล้ายจะเป็นพวกเดียวกันไปเสียแล้ว



*ข้อมูลจาก //www.census.gov/hhes/www/poverty/threshld/thresh06.html



อ่านกันจนเหนื่อยเลยมั้ยคะ ย๊าว ยาว ตอนที่หนังสือออกใหม่ๆ โทรถามแม่ว่ามีลงรูปลูกชายบ้างหรือเปล่า แม่บอกว่ามีรูปเดียวที่ถ่ายรวมครอบครัว เราก็แอบหงุดหงิดเล็กน้อย โธ่ ไม่ได้โชว์รูปหล่อๆ เลย แต่...พอเห็นหน้าบทความของจริงถึงเข้าใจ แหะๆ แม่อัดเนื้อหาไปซะขนาดนั้น จะมีที่เหลือพออวดรูปลูกได้ไงเล่า ปั๊ดโธ่ ไม่เป็นไร อวดรูปลูกหน้านี่ก็ได้ ฮิๆ

ใครว่าลูกเราไม่หล่อแม่ไม่สน แม่ว่าหล่อของแม่ละกัน ฮ่าๆๆๆ



ขอบคุณที่เข้ามาอ่านคร๊าบบบ


Create Date : 04 ตุลาคม 2550
Last Update : 4 ตุลาคม 2550 1:52:08 น. 22 comments
Counter : 735 Pageviews.

 
เรื่องราวดีๆ แบบนี้
ต้องหาเวลาว่างๆ (แอบลูก) มาอ่านให้จบแน่ๆ ค่ะ
(อ่านได้ครึ่งทางค่ะ แบบ่วาอยากทักทายไว้ก่อน อิอิ)


โดย: YGHarding วันที่: 4 ตุลาคม 2550 เวลา:2:17:41 น.  

 
I'll come again ka. It's good article


โดย: Imperfect Mom IP: 70.173.240.148 วันที่: 4 ตุลาคม 2550 เวลา:3:15:36 น.  

 
น้องธีร์ไปเล่นทรายที่ไหนมาครับ


เห็นด้วยค่ะ อยู่เมืองไทยถึงแม้ไม่มีประกัน แต่ราคาพอสู้ไหว

บ้านเมืองลุงแซมนี้คนจนคือคนสบายที่สุด ส่วนคนรวยก็ไม่ต้องพูดถึง
เป็นคนที่ครึ่งๆกลางๆฐานะปานกลางอย่างนี่เราท่านรู้กันดี


โดย: petunia lover วันที่: 4 ตุลาคม 2550 เวลา:3:23:21 น.  

 
ขอแอดเป็นแฟนคลับน๊ะค๊ะ ข้อมูลถูกใจมากค่ะ เพิ่งโดนไปแหม่บๆ ค่าแท้งลูกเพิ่งจ่ายไป$2,800...จะตายอยู่แว๊ววว


โดย: Bigmommy วันที่: 4 ตุลาคม 2550 เวลา:5:00:40 น.  

 
น่าจะเป็นความรู้ที่สำคัญนะคะ เดี๋ยวจะต้องกลับมาอ่านอีก
แน่ๆ แต่ตอนนี้เวลาน้อย

ขอบคุณนะคะ สำหรับสาระดีๆ มีประโยชน์นะคะ


โดย: ฟ้าสวยมาก วันที่: 4 ตุลาคม 2550 เวลา:7:27:46 น.  

 
พี่ปอม...หลายวันก่อนก็เพิ่งมานั่งบวกเลขค่าคลอดอยู่เลย

ขอบอกว่า ที่นี้ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ไปหาหมอ เจ็บไข้เล็กๆ น้อยๆ รักษาเองได้ จะรักษากันเอง อย่างถ้าเป็นหวัดเนี่ยจะซื้อยาบรรเทาอาการ (ตัวร้อนน้ำมูกไหลหรือไออะไรก็ว่าไป) และพักผ่อนมากๆ เพราะยังไงซะ ถึงไปหาหมอ หมอก็ไม่ได้ทำอะไรมากเหมือนกัน เสียเวลานั่งรอหมอนานๆ แล้วยังเสียเงินอีก...นึกถึงคนที่เมืองไทย...เป็นหวัดธรรมดา ปวดหัว ก็ไป รพ. กันแล้ว...

( ขอรูปน้องธีร์หญ่ายๆ เยอะๆ หน่อยสิค่ะ จะได้เห็นความหล่อชัดๆ )


โดย: gw IP: 76.97.175.6 วันที่: 4 ตุลาคม 2550 เวลา:7:55:24 น.  

 
ของพี่รวมเบ็ดเสร็จค่าคลอดแบบธรรมชาติ รวมเกือบ 20,000 USD ได้ ประกันจ่ายไป 252$ ใช้คุ้มซะ

เรื่องค่ารักษาพยาบาลถือเป็นหนึ่งเหตุสำคัญของการทำให้คนเมกันล้มละลายมากมาย นอกเหนือจากการใช้เงินเกินตัว หลายคนเลยบินไปหาหมอทำการรักษาใหญ่ที่อเมริกาใต้แทน เพราะถูกกว่า แถมมี Package ท่องเที่ยวให้ด้วย


โดย: Mimi Mice IP: 74.173.1.211 วันที่: 4 ตุลาคม 2550 เวลา:11:03:09 น.  

 


โดย: น. (-:-น้องนาจา-:- ) วันที่: 4 ตุลาคม 2550 เวลา:16:37:30 น.  

 
เข้ามาอ่านเอาความรู้คะ


โดย: นิวคะ (-:-น้องนาจา-:- ) วันที่: 4 ตุลาคม 2550 เวลา:16:37:47 น.  

 
สวัสดีทุกคนที่เข้ามาอ่านค่ะ
YGHarding -- ว่างๆ แล้วค่อยเข้ามาอ่านต่อก็ได้ค่ะ มันยาวจริงๆ


Imperfect Mom -- เข้ามาอ่านต่อเมื่อไรก็ได้ค่ะ


petunia lover -- คุณแอม คนชั้นกลางที่เมกานี่หล่อเลี้ยงประเทศจริงๆ นะ ภาษีก็จ่ายมาก ค่าใช้จ่ายก็มาก ขอความช่วยเหลืออะไรก็ไม่ค่อยได้ เซ็ง ประเทศนี้มันทุนนิยมจริงๆ ต้องมีเงินมากๆๆๆๆ ถึงจะอยู่แบบสบายๆ


Bigmommy -- ที่จ่ายนั่นต้องจ่ายเองเหรอคะ เศร้าจริงๆ แท้งแล้วยังต้องจ่ายมากอีก


ฟ้าสวยมาก -- เข้าใจค่ะ แม่ลูกสองเวลาจะทำอะไรส่วนตัวยาวๆ มีน้อยมากๆ ว่างเมื่อไรก็มาอ่านนะคะ (รอลูกหลับก่อนก็ได้ อิอิ)


gw -- หล้า สรุปแล้วจ่ายค่าคลอดไปเท่าไร ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่ให้พี่นะ แต่ในนิตยสารเขาไม่ได้ลงในส่วนนั้นแหละ ต้องตัดออกบ้างเพราะเขียนยาวเกิน

แต่เรื่องประกันสุขภาพที่นี่ คุยกันยาว ไม่จบง่ายๆ

Mimi Mice -- โห พี่จ่ายแค่ 200 กว่าเองหรือคะ ถูกมากๆ ค่ะ ค่าเบี้ยประกันมันคุ้มเอาตอนคลอดจริงๆ นะคะเนี่ย

คุณนิว:-น้องนาจา- -- ขอบคุณที่แวะมาอ่านค่ะ















โดย: ปอมปอมเกิร์ล วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:1:37:00 น.  

 

อือ วันนี้อ่านจนจบ ยาวดีตริงๆแฮะ
......

เรื่องประกันกับเราก็ยาวพอกัน เราเคยซื้อประกันทั้งหมด 4 ฉบับ (เสียเองทุกบาท) ซื้อครั้งแรกปี 2543 เราวางแพลนเลยว่าไตรมาสไหน จ่ายฉบับไหน

จนกระทั่งตอนเราเปิดบริษัทเมื่อปี 2547 เราทะยอยกู้ออกมาใช้ (ซึ่งต้องเสียดอก ทั้งที่เป็นเงินตัวเอง) จนหมดโควต้ากู้ จำไม่ได้ว่า 40%ของเงินทั้งหมด หรือว่าเท่าไหร่ แต่คือกู้ไม่ได้ทั้งหมดน่ะ

เวลาผ่านมา ก็คิดว่า..ให้กลับไปจ่ายทั้งเบี้ยประกัน คืนเงินกู้พร้อมจ่ายดอก คงไม่คุ้มมั้ง สรุปข้าพเจ้าเสียเงินไปเปล่าๆ 60% (ถ้าจำไม่ผิด)

แต่ตอนที่จ่ายเบี้ย ก็เคยใช้นอนโรงพยาบาลพญาไท1 ไป2-3 รอบ (ทั้งชีวิตนอนโรงพยาบาล 2-3ครั้งนั้นแหละ ช่วงปี 2546-2547)

แล้วก็มามีเหตุเรื่องประกันอีกที ตอนเปิดบริษัทตอนปี 2547 ซึ่งเราเป็นเจ้าของบริษัท เราก็ตั้งเงินเดือน จ่ายภาษี จ่ายประกันสังคม

เวลาผ่านมาจนเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว บัญชีจึงแจ้งว่าเราเป็นเจ้าของบริษัท ไม่ต้องทำประกันสังคมก็ได้ อ้าว........ว แล้วไอ้ที่จ่ายๆไปแล้วชาติกว่าล่ะ

อือ เขาบอกเอาคืนได้ แต่ได้แค่ 6 ส่วนใน10ส่วนนะ ซึ่งก็ได้คืนมาเมื่อเดือนที่แล้ว

ทุกวันนี้ ไม่มีประกันใดๆ(แล้ว) ข้าพเจ้าห้ามป่วยห้าม(จะ)ตายเด็ดขาด

จบด้วยประการฉะนี้ (เป็นคอมเม้นท์ที่ยาวสุดทั้งแต่เคยเขียนมานะเนี่ย)


โดย: p_tham IP: 124.120.165.207 วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:3:18:13 น.  

 
หาบล็อกของปอมเจอจนได้ เพิ่งเห็นรูปน้องธีร์ที่ไม่ใช่เพิ่งคลอดเป็นครั้งแรกนี่แหละค่ะ โตแค่นี้แล้วเหรอ เพิ่งเห็นรูปเพิ่งคลอดไม่กี่วันนี่เอง

พูดถึงเรื่องคลอด ตอนที่พี่คลอด ต้องผ่าออก 13 ปีที่แล้ว เกือบ $30,000 แน่ะค่ะ นอนโรงบาน 4 วัน


โดย: กุลธิดา IP: 206.74.208.209 วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:5:20:30 น.  

 
ชอบรูปประกอบหน้าแรกมากๆค่ะ


โดย: BRo0Ke. วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:5:25:11 น.  

 
พี่ปอม...เบ็ดเสร็จก็ห้าพันเหรียญน่ะแหละพี่...รวมทุกอย่างแล้ว เพราะจริงๆ ค่าคลอดมันมากกว่านี้ไง นอกเหนือจากนั้นประกันก็รับผิดชอบไป...มีลูกมากยากนาน คำนี้ยังใช้ได้ทุกเมื่อและทุกที่ ทุกประเทศ ฮ่าๆๆ


โดย: gw วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:8:19:06 น.  

 
ได้ข่าวว่าน้องธีร์จะมีน้องอีกคนแย้ว เลยแวะมาดีใจที่บล๊อกด้วยค่ะ


โดย: ktycoons IP: 165.21.155.14 วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:12:09:24 น.  

 
ย้ายมาอยู่แคนาดาสิปอม ตอนพี่คลอด ไม่เสียเลยสักกะตังค์ รัฐจ่ายหมด อิอิ

แต่ว่าไอ้รัฐบาลนี้มันช่างอยากจะเป็นเหมือนเมกาซะให้ได้ พยายามยัดเยียดระบบ private health insurance อยู่เนี่ย รัฐจะได้ไม่ต้องจ่าย แต่ว่าคนระดับกลางอย่างเราก็มีแต่ตายกับตายนะสิ (คนจนไม่ต้องพูดถึง ตายแน่อยู่แล้ว)

พูดแล้วเซ็ง


โดย: Northernlife IP: 69.158.106.226 วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:22:03:06 น.  

 



คิดถึงง่า


โดย: p_tham วันที่: 8 ตุลาคม 2550 เวลา:6:05:38 น.  

 
พี่ปอมๆๆๆๆๆๆๆๆ นึกว่าพี่ปอมเลิกอัพบล็อคไปแล้วซะอีกนะคะเนี่ย

บทความดีมากๆเลยค่ะ ดีใจด้วยค่ะ

แต่ว่าน้องธีร์โตเร็วจริงๆ แป๊บๆโตขนาดนี้แล้วเหรอเนี่ย

คิดถึงนะคะ พี่ปอมเขียนนิยายเพิ่มบ้างรึเปล่าคะ หรือว่ามัวแต่ยุ่งเรื่องอื่นๆเลยไม่ได้เขียนต่อเลย


โดย: pim(พิม) วันที่: 9 ตุลาคม 2550 เวลา:2:31:29 น.  

 
p_tham -- คุณเปิ้น บริษัทประกัน ตั้งมาเพื่อเอากะตังค์ (มั้ง) เอาเงินแต่ไม่คืนเงินง่ายๆ ฮาออกมั้ยเนี่ย เมืองไทยยังดีอ่ะ ค่ารักษาพยาบาลยังไม่โหดเท่าที่นี่ ยาบางอย่างก็ยังหาซื้อจากร้านขายยาได้ ที่อเมริกา ยาพื้นๆ บางทีต้องซื้อตามใบสั่งแพทย์เลย แต่ความจริงมันก็ปลอดภัยนะ ข้อเสียคือต้องจ่ายมากกว่าปกติ เซ็ง

กุลธิดา -- โห ของพี่ไก่จ่ายแพงจริงๆ ค่ะ ของปอมผ่าคลอดนอนโรงพยาบาลแค่ 3 วันเองมั้งคะ ถ้าคลอดเองสงสัยจะเตะออกจากโรงบาลตั้งแต่วันแรกที่คลอด ฮ่าๆๆๆ

BRo0Ke -- ภาพประกอบหน้าแรก สวยเน๊อะ พี่ก็ชอบ

gw -- ใช่เลยหล้า มีลูกมากยากนานจริงๆ บางทีเห็นคนที่ลูกเป็นโขยง แบบ 5 คน 6 คน ในสมัยนี้ ยังคิดว่า เขาสามารถจ่ายได้ไงฟระ คนที่ทำงานมีลูกไปแล้ว 5 คน ตอนนี้ท้องคนที่ 6 ซึ่งก็ไม่ได้มีรายได้สูงมากเท่าไร คิดแล้วปวดหัวแทน แต่เขาก็คงสามารถจัดการอะไรกับครอบครัวของเขาได้อะนะ

ktycoons -- แม่น้องอิงค์ ขอบคุณจ้า แล้วจะมีน้องให้น้องอิงค์บ้างป่าว

Northernlife -- พี่หนม อยากย้ายไปจะแย่ แต่เมลเคยสมัครงานแล้ว ไม่เห็นมีใครสนใจเลย ฮือๆๆ เรื่องระบบแบบอเมริกา เห็นว่าพี่ไทย ในรัฐบาลที่แล้ว ก็พยายามจะให้เป็นแบบเมากเหมือนกัน คนในรัฐบาลโดยเฉพาะท่านนาย ก เลยซื้อหุ้นโรงพยาบาลเอกชนไว้หลายหุ้นเลย พอเข้าไปก็ขึ้นราคาเขาหมด จ่ายกันกระอักเลยค่ะ

pim(พิม) -- เก๋ ตอนนี้ไม่ค่อยได้เขียนเลยค่ะ นานๆ เขียนที กำลังเขียนนิยายขนาดสั้น 5 ตอนจบอยู่ เอาไว้จะส่งให้อ่านเล่นนะคะ รอเขียนบทที่ 3 จบก่อน อิอิ ดีเลย หาเหยื่ออ่านอยู่พอดี ฮ่าๆๆ

















โดย: ปอมปอมเกิร์ล วันที่: 9 ตุลาคม 2550 เวลา:11:08:09 น.  

 



โดย: p_tham วันที่: 11 ตุลาคม 2550 เวลา:23:25:58 น.  

 
เครียดๆ แต่ได้ประโยชน์นะคะพี่ปอม ดีเลยค่ะ เวลาใครถามว่า ที่โน่นเสียเงินค่าประกันอะไรเท่าไหร่จะได้เอาคอลัมภ์นี้ให้อ่านไปเลย เพราะแอนเจอเพื่อนขายประกันมาหาบ่อยๆ ค่ะ 55


โดย: Second impact วันที่: 12 ตุลาคม 2550 เวลา:7:52:49 น.  

 
โอ้ ยาวมากคร้าบน้องปอม

พี่ก็ว่าประกันเนี่ยมีประโยชน์ แต่ที่เมืองไทยนี่หลายๆ รายที่พี่ซื้อประกันมันงี่เง่า น่าเบื่อมากค่ะ โกดดดดด


ปล. น้องธีร์น่าร้ากกกกก อีกแล้วครับลูก


โดย: วลีวิไล วันที่: 12 ตุลาคม 2550 เวลา:12:57:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปอมปอมเกิร์ล
Location :
California United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




บล็อกจับฉ่าย บางทีก็อวดรูปลูก บางทีก็เล่าเรื่องที่ไปเที่ยว บางทีก็เล่าไปเรื่อยเปื่อย แนะนำหนังสือบ้าง แล้วแต่เวลาและอารมณ์จะพาไป

* * * * * * *

ส่งเสริมมิตรภาพ และการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตให้สวยงาม หอมหวานตลอดไป บทความและรูปภาพในบล็อกนี้จึงต้องเป็นไปตามนี้นะจ๊ะ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 ห้ามผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อความใน blog แห่งนี้ไปใช้ ทั้งโดยเผยแพร่และเพื่อการอ้างอิง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด


Friends' blogs
[Add ปอมปอมเกิร์ล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.