กรกฏาคม 2559
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
12 กรกฏาคม 2559
 

กราบสองพระประธาน ถวายสักการะพระสังฆราช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร





ใครที่เคยไปชอปปิ้งย่านบางลำพูก็คงจะเคยเห็นวัดวัดหนึ่ง ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญมากวัดหนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์เพราะเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชหลายต่อหลายพระองค์ รวมไปถึงยังเป็นสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์อีกหลายพระองค์เมื่อครั้งทรงผนวชอีกด้วยวัดที่ผมกล่าวถึงนั้นคือ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร

                วัดนี้สร้างโดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือ “วังหน้า” ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน หลังจากที่วัดนี้สร้างเสร็จแล้ว รัชกาลที่ ๓ได้นิมนต์ให้ พระวชิรญาณเถระ หรือต่อมาคือ รัชกาลที่ ๔ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาสให้มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดบวรนิเวศวิหารแห่งนี้และแน่นอนว่าเมื่อรัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้วัดบวรนิเวศวิหารจึงเป็นวัดที่สังกัดธรรมยุติกนิกายที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้นด้วย

                เหตุที่วัดนี้มีชื่อว่า“บวรนิเวศ” ผมคิดว่ามีอยู่ด้วยกันสองเหตุผลเหตุผลแรกก็คือเป็นวัดที่สร้างโดยกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า อันเป็นตำแหน่งของรัชทายาทที่จะขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระมหากษัตริย์(ในเวลาต่อมามีการแต่งตั้งตำแหน่งนี้ขึ้นมาตามธรรมเนียมเท่านั้นแต่มิได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจริง ๆ) ซึ่งสถานที่หรือคำศัพท์อะไรที่เกี่ยวข้องกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็มักจะมีคำว่า “บวร”นำหน้าอยู่เสมอ อย่างเช่นราชสกุลที่สืบจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็จะเรียกว่าบวรราชสกุล เป็นต้น

                หรืออีกเหตุผลหนึ่งที่ผมเคยได้ยินมาก็คือรัชกาลที่ ๓ ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะยกราชสมบัติคืนให้กับเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ ๔) อยู่แล้วหลังสิ้นรัชกาลของพระองค์การที่ทรงนิมนต์พระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฎ) มาจำพรรษาที่วัดนี้ก็เหมือนจะเป็นการบอกเป็นนัย ๆว่าเจ้าฟ้ามงกุฎจะได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระองค์แน่นอนซึ่งก็มีเหตุสืบเนื่องมาจากในตอนที่รัชกาลที่ ๒สวรรคตโดยที่มิได้ตรัสว่าจะทรงมอบราชสมบัติให้กับพระราชโอรสพระองค์ใด ในเวลานั้นเจ้าฟ้ามงกุฎ แม้จะเป็นพระราชโอรสองค์โตที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีมีทั้งศักดิ์และสิทธิ์ที่จะได้ขึ้นครองราชย์ แต่เวลานั้นยังทรงพระเยาว์นักบรรดาขุนนางจึงลงมติให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ที่ถึงแม้จะมีพระชนนีเป็นเพียงเจ้าจอมแต่สูงพระชันษากว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ และทรงช่วยราชการตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๓

                อ่านกันมาเสียยืดยาวทีนี้เราก็เข้ามาในวัดกันดีกว่า 


ก่อนเข้าวัดเราจะเห็นพระเจดีย์เด่นเป็นสง่ามาแต่ไกล


พระอุโบสถสร้างด้วยศิลปะแบบจีนและแบบตะวันตกผสมผสานกันซึ่งศิลปะแบบจีนนั้นเป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓วัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงมักจะมีศิลปะแบบจีนเข้าไปผสมผสาน อย่างเช่นวัดราชโอรสาราม วัดเทพธิดาราม ฯลฯ


ที่หน้าพระอุโบสถจะมีพระแท่นตั้งอยู่คงคุ้นตากันใช่มั้ยครับ เพราะเมื่อครั้งในหลวงของเราทรงผนวช ก็ทรงเคยประทับบนพระแท่นนี้นอกจากในหลวงแล้ว พระเจ้าอยู่หัวและเชื้อพระวงศ์อีกหลายพระองค์ที่ทรงผนวชก็จะมาประทับบนพระแท่นนี้ล่าสุดก็คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร


เข้าไปกราบพระประธานในพระอุโบสถกันพระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศนั้นมีความแปลกตรงที่ว่ามีอยู่ด้วยกันถึงสององค์ซึ่งพระประธานองค์ใหญ่ที่อยู่ด้านหลังนั้นคือ พระสุวรรณเขตเป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จ.เพชรบุรีและเป็นพระประธานเดิมในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารแห่งนี้

               ส่วนพระประธานองค์หน้านั้นคือพระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปสำคัญอีกองค์ของไทยโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงอัญเชิญมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุจ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชนั่นแหละและพระพุทธชินสีห์เองก็เป็นพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นพร้อมกันกับพระพุทธชินราชด้วย

แน่นอนว่าตามธรรมเนียมการสร้างวัดประจำรัชกาลนั้นเมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ๆ สวรรคตและมีการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วก็จะมีการอัญเชิญพระสรีรางคารมาประดิษฐานไว้ที่ฐานพระประธานของวัดประจำรัชกาลและวัดบวรนิเวศวิหารแห่งนี้ก็เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๖จึงมีการอัญเชิญพระสรีรางคารของพระองค์มาประดิษฐานที่ฐานของพระพุทธชินสีห์แต่อย่างที่ผมได้กล่าวไปไว้ในรีวิวเรื่องที่แล้วว่า ตั้งแต่ที่รัชกาลที่ ๕ทรงสร้างวัดราชบพิธขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาลแล้วในสมัยต่อมาก็มิได้มีการสร้างวัดประจำรัชกาลขึ้นอีกมีแต่พระมหากษัตริย์ทรงรับวัดไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ในการบูรณปฏิสงขรณ์อะไรต่าง ๆและให้ถือว่าวัดนั้นเป็นวัดประจำรัชกาลไป รัชกาลที่ ๖เองทรงเห็นว่าวัดมีเยอะแล้วและทรงเห็นความสำคัญของการศึกษามากกว่าจึงทรงสร้างวชิราวุธวิทยาลัยขึ้นแทนวัดประจำรัชกาลแต่ก็ทรงรับวัดบวรนิเวศวิหารแห่งนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ในการบูรณะ จึงถือว่าวัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่๖


                ที่บริเวณฐานของพระพุทธชินสีห์นั้นมีการประดิษฐานพระรูปหล่อของ๓ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทรงเคยประทับที่วัดนี้ คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘(กลาง),สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐(ขวา) และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่๑๓  (ซ้าย)โดยกรมหลวงวชิรญาณวงศ์นั้นทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ของในหลวงเมื่อครั้งทรงผนวชด้วย


               ออกจากพระอุโบสถแล้วเราก็จะไปกราบพระเจดีย์กัน เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่มาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๔พระบรมสารีริกธาตุจะบรรจุในพระเจดีย์องค์เล็กที่อยู่ด้านในอีกที แต่เขาห้ามถ่ายภาพก็ไม่เลยไม่มีภาพมาให้ได้ชมกัน

                บนพระเจดีย์มีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่นามว่าพระไพรีพินาศ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพรพุทธลักษณะของพระพุทธรูปปางประทานพรนั้นจะคล้ายกับปางมารวิชัยแต่พระหัตถ์ขวาจะหงายขึ้น พระไพรีพินาศองค์นี้เป็นศิลปะสมัยศรีวิชัยเหตุที่ได้รับพระราชทานนามว่าพระไพรีพินาศนั้นก็เป็นเพราะว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๔เมื่อครั้งที่ทรงได้รับพระองค์นี้มาจากผู้ถวายนั้น กรมหลวงรักษ์รณเรศหรือหม่อมไกรสรที่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับพระองค์มาโดยตลอดก็ได้ถูกปราบปรามลงและสำเร็จโทษทำให้ทรงคิดว่าเป็นเพราะพระพุทธรูปองค์นี้ที่ทำให้ศัตรูของพระองค์ต้องพ่ายแพ้ไปจึงพระราชทานนามว่า พระไพรีพินาศ


                                                                                      เป็นพระพุทธรูปหินทรายปิดทอง


มีพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ประดิษฐานอยู่ด้วย


พระบรมรูปองค์นี้อยู่ในพระอิริยาบถคล้ายๆ กับที่อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

                บนบริเวณพระเจดีย์มีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายสิ่งที่ผมจะนำเสนอต่อไปก็คือรูปหล่อของสัตว์สี่ชนิดซึ่งหมายถึงเมืองสี่เมืองที่อยู่ล้อมรอบประเทศไทย


 ม้า คือ พม่า


นก คือ โยนก


ช้าง คือ ล้านช้าง


สิงห์ คือ สิงคโปร์

นอกจากนี้แล้ว บริเวณรอบๆ ฐานของพระเจดีย์ยังมีเทวรูปประดิษฐานอยู่ด้วย





ลงมาจากพระเจดีย์แล้วต่อไปเราจะไปกันที่พระวิหารพระศรีศาสดาซึ่งเป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่ต้องมาชมหากมาเยือนวัดบวรนิเวศแห่งนี้แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าพระวิหารหลังนี้ไม่ได้เปิดทุกวันอาจจะเปิดเฉพาะวันพระหรือวันสำคัญเท่านั้น


กราบสักการะพระศรีศาสดากันก่อนซึ่งพระศรีศาสดานั้นเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยว่ากันว่าหล่อขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) แห่งกรุงสุโขทัยแต่บ้างก็ว่าไม่ใช่ เพราะลักษณะไม่ค่อยจะเหมือนหรือคล้ายกันเท่าไร เดิมประดิษฐานอยู่ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก แต่ก็ถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน ณวัดบวรนิเวศวิหารแห่งนี้ปัจจุบันที่พิษณุโลกก็ได้มีการสร้างองค์จำลองของทั้งพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาขึ้นแทนแล้วทำให้ที่วัดนั้นมีครบทั้งสามองค์ที่หล่อขึ้นมาพร้อมกันตามตำนาน


ขณะที่ผมกำลังนั่งพิมพ์อยู่นี้พระศรีศาสดากำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะอยู่

สิ่งที่น่าสนใจในพระวิหารพระศรีศาสดาไม่ได้มีเพียงเท่านี้หากเราเข้าไปยังมุกหลังของพระวิหารเราก็จะพบกับพระพุทธรูปที่สำคัญและสวยงามมากอีกองค์หนึ่ง


      นั่นก็คือ พระไสยาเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ศิลปะสมัยสุโขทัย เดิมประดิษฐาน ณ วัดพระพายหลวงจ.สุโขทัย แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ ๔ ทรงผนวชอยู่พระองค์ได้ทรงออกธุดงค์ไปทั่ว และพบพระพุทธรูปองค์นี้ต่อมาจึงได้อัญเชิญเข้ามาบูรณะและประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหารจนถึงปัจจุบัน


ซูมกันให้เห็นชัดๆ พระพักตร์เป็นศิลปะสุโขทัยซึ่งผมคิดว่าพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยมีความงดงามมากที่สุดตัวอย่างของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่ชัด ๆ ก็เช่นพระพุทธชินราช,พระศรีศากยมุนี,พระพุทธชินสีห์,หลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตร ฯลฯ


ที่ฐานของพระไสยามีการบรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย


ในบริเวณเดียวกับพระวิหารพระศรีศาสดาก็จะมีพระวิหารเก๋งจีนที่ด้านในก็มีสิ่งที่น่าสนใจ (อีกแล้วครับท่าน) ซึ่งปกติแล้วพระวิหารเก๋งจีนหลังนี้ไม่ค่อยจะเปิดให้ได้เข้าชมสักเท่าไร

ด้านในของพระวิหารเก๋งจีนหลังนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของอดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งในบรรดาเจ้าอาวาสนั้น มีที่ได้เป็นถึงสมเด็จพระสังฆราชถึง ๔ พระองค์ด้วยกัน (ส่วนพระพุทธรูปฉลองพระองค์คืออะไรนั้น จะได้อธิบายในคราวต่อ ๆ ไป)


พระพุทธวชิรญาณเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔อย่างที่บอกไปตอนต้นว่ารัชกาลที่ ๔ทรงเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดบวรนิเวศวิหารแห่งนี้


พระพุทธปัญญาอัคคะพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


พระพุทธมนุสสนาคพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในพระวิหารเก๋งจีนก็มีจิตรกรรมฝาผนังที่ไม่ได้หาชมง่ายๆ เพราะเป็นเรื่อง สามก๊ก วาดออกมาได้สวยสดงดงามมาก


กวนอู




ท่านที่รู้เรื่องสามก๊กก็ช่วยอธิบายให้หน่อยนะครับว่าแต่ละภาพคือภาพอะไร

  ที่ด้านข้างของพระวิหารเก๋งจีนยังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกสององค์ประดิษฐานอีกครับ


พระพุทธทีฆายุมหมงคล หรือหลวงพ่อดำ ที่ฐานขององค์พระนั้นบรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


และสำหรับผู้ที่ต้องการถวายสักการะแด่สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกนั้น ก็สามารถกราบพระสรีรางคารของพระองค์ได้ที่นี่โดยพระสรีรางคารของพระองค์นั้นบรรจุอยู่ใต้ฐานของพระพุทธชินสีห์จำลองที่อยู่ในบริเวณของพระตำหนักเก๋งจีนพระพุทธชินสีห์จำลององค์นี้สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระชันษาได้๘๔ ปี

จริง ๆ แล้ว ก่อนจะมีการสร้างวัดบวรนิเวศวิหารบริเวณนั้นเคยมีวัดอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่ชื่อว่า วัดรังษีสุทธาวาสแต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖วัดรังษีสุทธาวาสซึ่งทรุดโทรมมากแล้วก็ได้ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัดบวรนิเวศและถูดลดฐานะลงมาเป็น คณะรังษีซึ่งเป็นคณะหนึ่งในวัดบวรนิเวศ

ระหว่างทางที่เราจะเดินไปยังบริเวณของวัดรังษีสุทธาวาสนั้นเราจะต้องผ่านเข้าไปในเขตสังฆาวาส ถามว่าเขตสังฆาวาสคืออะไรก็คือเขตที่อยู่ของพระสงฆ์ หรือเขตกุฎิสงฆ์นั่นแหละวัดทุกวัดจะแบ่งเป็นเขตพุทธาวาส คือเขตที่อยู่ของพระพุทธ ก็คือพวกโบสถ์ วิหารเจดีย์อะไรต่าง ๆ กับเขตสังฆาวาส ก็คือหมู่กุฎิสงฆ์จะมีก็วัดพระแก้วเท่านั้นที่มีแต่เขตพุทธาวาสไม่มีเขตสังฆาวาสเพราะไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา

ในเขตสังฆาวาสนั้นมีสิ่งที่น่าสนใจสิ่งหนึ่งตั้งอยู่นั่นคือ พระตำหนักปั้นหย่า ซึ่งเคยตั้งอยู่ที่สวนขวาในพระบรมมหาราชวัง ต่อมารัชกาลที่ ๓ ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาสร้างใหม่ที่วัดบวรนิเวศเพื่อให้รัชกาลที่ ๔ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่ได้เสด็จมาประทับหลังจากนั้นแล้วพระตำหนักปั้นหย่าก็เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ที่มาผนวชที่วัดนี้รวมไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันด้วย



พ้นจากเขตสังฆาวาสเราก็จะมาถึงบริเวณคณะรังษีหรือที่ในสมัยโบราณเคยเป็นถึงวัดรังษีสุทธาวาส


พระอุโบสถของวัดรังษีสุทธาวาสที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน


พระประธานภายในพระอุโบสถวัดรังษีสุทธาวาสเป็นปางสมาธิ (ภาพนี้ผมได้เข้าไปถ่ายตอนที่ไปกราบพระศพสมเด็จพระสังฆราชหลังพระองค์สิ้นพระชนม์ไปไม่กี่วัน)


            ก่อนออกจากวัดมีสิ่งที่ผมอยากให้ชมครับนั่นคือ เซี่ยวกาง หรือทวารบาลที่บานประตู โดยมีเรื่องเล่าว่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการปราบปรามฝิ่นอย่างหนักทำให้มีชาวจีนคนหนึ่งที่ติดฝิ่นมากและหาฝิ่นสูบไม่ได้จึงมาลงแดงตายที่หน้าวัดต่อมา จีนคนนั้นได้ไปเข้าฝันเจ้าอาวาสบอกว่าให้เอาฝิ่นมาเซ่น แล้วจะเฝ้าวัดให้จึงมีการอัญเชิญวิญญาณของจีนคนนั้นเข้าไปสถิตที่เซี่ยวกางที่ประตูทุกวันนี้ที่ปากของเซี่ยวกางมีสีดำเพราะมีคนเอาทั้งฝิ่นหรือโอเลี้ยงไปป้ายที่ปากของที่เซี่ยวกางแต่บางทีไปเขาก็มีการทำความสะอาดจนไม่เห็นคราบดำ ๆ เหมือนกัน

ก็จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับสำหรับการรีวิววัดบวรนิเวศวิหารซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่๖ ในครั้งหน้าผมจะรีวิวถึงวัดอะไร ก็ติดตามชมกันให้ดีนะครับ




Create Date : 12 กรกฎาคม 2559
Last Update : 12 กรกฎาคม 2559 22:13:14 น. 3 comments
Counter : 4964 Pageviews.  
 
 
 
 
thx u crab
 
 

โดย: Kavanich96 วันที่: 13 กรกฎาคม 2559 เวลา:4:19:01 น.  

 
 
 
เต็มอิ่มครบถ้วนมากๆคราบ ขอเก็บไว้ตามรอยนะคราบ


ปล เนื้อปลากระเบนจะแน่นๆ มีกระดูกอ่อนเยอะ เคี้ยวกรุบๆ ดีครับ
 
 

โดย: ทนายอ้วน วันที่: 13 กรกฎาคม 2559 เวลา:17:16:25 น.  

 
 
 
งดงามมีคุณค่า ได้ความรู้เยอะเลยครับ
 
 

โดย: ไอฟายน้อย (Ces ) วันที่: 24 กรกฎาคม 2559 เวลา:19:37:00 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

เอกบุรุษ สุดขอบฟ้า
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add เอกบุรุษ สุดขอบฟ้า's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com