กรกฏาคม 2559
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
15 กรกฏาคม 2559
 

ท้าพิสูจน์ผีเปรต กราบพระกลักฝิ่น ณ วัดสุทัศน์



บล็อกนี้เราก็ดำเนินมาถึงวัดประจำรัชกาลที่๘ แล้ววัดที่เราจะมาชมกันในครั้งนี้นั้นเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความสำคัญมากในกรุงเทพมหานครและเป็นวัดที่มีเรื่องเล่าลี้ลับเกี่ยวกับเรื่องของผีเปรต วัดนั้นจะเป็นวัดไหนไปไม่ได้นอกจากวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่าวัดสุทัศน์

วัดสุทัศน์แห่งนี่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่๑ ในบริเวณที่เป็นใจกลางพระนคร (ในสมัยนั้น) ซึ่งผมว่ามันก็จริงนะเพราะทุกครั้งเลยเวลาที่ผมจะไปไหนในเขตพระนคร ผมก็จะต้องมาตั้งต้นที่นี่แล้วมันสามารถไปที่ไหนก็ได้ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์หมดเลยสมมตินะว่าผมยืนอยู่หน้าวัดสุทัศน หันหน้าไปทางศาลาว่าการกรุงเทพมหานครหากผมเดินไปทางขวามือ ก็จะสามารถเดินทางไปยังวัดสระเกศ วัดเทพธิดารามวัดราชนัดดารามได้ และถ้าหากผมไปทางซ้ายมือ ผมก็จะสามารถไปยังวัดราชบพิธวัดราชประดิษฐ ไปจนถึงวัดพระแก้วและวัดโพธิ์ได้ ซึ่งระยะห่างก็ไม่ไกลมากคนชอบเดินสามารถเดินได้แบบสบาย ๆ

เหตุที่รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯให้สร้างวัดนี้ก็เพื่อให้มีวัดที่มีพระวิหารสูงใหญ่เท่ากับวัดพนัญเชิงที่อยุธยาและเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัยเล่ากันว่าตอนที่อัญเชิญองค์พระมาถึงกรุงเทพฯ นั้น ด้วยความใหญ่ขององค์พระทำให้ต้องทุบซุ้มประตูบริเวณท่าน้ำทิ้ง และทำให้ท่าน้ำบริเวณนั้นเรียกว่า ท่าพระ(ปัจจุบันมีสิ่งที่รำลึกถึงท่าพระก็คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ)ว่ากันว่ารัชกาลที่ ๑ ทรงศรัทธาพระศรีศากยมุนีมากถึงกับเสด็จพระราชดำเนินตามขบวนแห่องค์พระด้วยพระบาทเปล่าเลยทีเดียวและตอนนั้นก็ประชวรอยู่ด้วย ถึงจะบอกว่าวัดสุทัศน์จะสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑แต่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก็ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โน่น


เข้ามาในวัดอันดับแรกเราก็ต้องกราบพระประธานในพระอุโบสถกันก่อนซึ่งพระอุโบสถนั้นถือเป็นอาคารหลักที่ต้องมีทุกวัดกันเลยทีเดียว


พระอุโบสถของวัดสุทัศน์นั้นถือเป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในไทยแต่ขณะที่ผมกำลังนั่งพิมพ์อยู่นี้ (อีกแล้ว) พระอุโบสถกำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะ ผมกับเพื่อนคนหนึ่งเคยมาสวดมนต์ทำวัตรเย็นร่วมกับพระสงฆ์ของวัดนี้ด้วย


พระประธานในพระอุโบสถมีนามว่าพระพุทธตรีโลกเชษฐ์


เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์(น่าจะหมายถึงในช่วงเวลาเดียวกันกับที่สร้างพระพุทธรูปองค์นี้มากกว่าเพราะทุกวันนี้หลาย ๆ วัดก็แข่งกันสร้างพระองค์ใหญ่ที่สุดในโลกกันใหญ่)


เบื้องหน้าองค์พระประธานจะมีรูปปั้นของพระอสีติมหาสาวกหรือพระสาวกที่มีความสำคัญทั้งหมด ๘๐ รูปประดิษฐานอยู่ ซึ่งถ้าหากมองไกล ๆแล้วเราจะเห็นเหมือนกับมีพระสงฆ์จริง ๆ กำลังเข้ากราบพระประธานอยู่ก็ดูขลังไม่น้อย


ในหมู่ของรูปปั้นพระอสีติมหาสาวกเองก็มีพระพุทธรูปเป็นประธานอยู่อีกองค์หนึ่ง



มีพระสงฆ์ที่มีผิวสีดำด้วยมีอยู่หลายองค์เหมือนกัน ทีแรกผมคิดว่าอาจจะอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมแล้วเดี๋ยวจะมีการลงสีเป็นสีเนื้อทีหลัง แต่ก็มีคนให้ความเห็นว่าพระที่มีผิวสีดำองค์นี้น่าจะเป็นพระกาฬุทายี ซึ่งก็เป็นหนึ่งในพระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้าเพราะท่านก็มีผิวสีดำในพุทธประวัตินั้น พระกาฬุทายีเป็นสหายของเจ้าชายสิทธัตถะตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระบิดาก็ได้ให้เหล่าทูตไปเชิญพระพุทธเจ้ากลับมายังกรุงกบิลพัสดุ์แต่ส่งทูตไปถึง ๙ ชุด ทุกชุดเมื่อได้ฟังธรรมก็ขอบวชกันหมด จนมาถึงชุดที่ ๑๐ที่มีพระกาฬุทายีเป็นผู้นำ ได้ฟังธรรมก็ออกบวชอีก แต่เมื่อบวชแล้วพระกาฬุทายีก็ได้ทูลเชิญพระพุทธเจ้าให้เสด็จกลับไปโปรดพระประยูรญาติยังกรุงกบิลพัสดุ์พระพุทธเจ้าก็ทรงตอบรับคำเชิญนั้น

นอกจากนี้ในพระอุโบสถก็ยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่น่าชมมากมายผมยอมรับเลยว่าบางภาพก็ดูไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร แต่บางภาพโดยเฉพาะที่อยู่ตามเสาก็เป็นจิตรกรรมที่เกี่ยวกับวรรณคดีที่เป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่๒


อย่างในภาพนี้ก็เป็นเรื่องสังข์ทองตอนนางรจนาเลือกคู่

นางรจนาเลือกเจ้าเงาะเป็นคู่ก็เลยต้องถูกเนรเทศไปอยู่กระท่อมปลายนาตามระเบียบ

รจนากับเจ้าเงาะ

นอกเหนือจากนั้นก็เป็นจิตรกรรมเกี่ยวกับป่าหิมพานต์หรือวิถีชีวิตของคนในสมัยโบราณ

ออกจากพระอุโบสถแล้วเราก็แวะกราบพระเจดีย์กันสักหน่อยแต่พระเจดีย์ของวัดสุทัศน์อาจจะแปลกกว่าของวัดอื่นนิดหน่อยเพราะไม่ได้สร้างขึ้นมาเป็นองค์เจดีย์เหมือนกับของวัดอื่น แต่ยึดเอา ๗สถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงประทับเสวยวิมุตติสุขในช่วง ๗ สัปดาห์หลังการตรัสรู้หรือที่เรียกกันว่า สัตตมหาสถาน เป็นเจดีย์แทนก็เลยกลายเป็นว่าวัดสุทัศน์เป็นวัดที่ไม่มีเจดีย์ ผมจะขอยกตัวอย่างสักเล็กน้อย อาจจะไม่ครบหมดทั้ง ๗ แห่งนะครับ


รัตนฆรเจดีย์หลังตรัสรู้ได้ ๔ สัปดาห์ได้ทรงเข้าไปประทับนั่งสมาธิในเรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตให้ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งการประทับในเรือนแก้วนี้มีการเอามาสร้างเป็นพระพุทธรูปด้วยแต่มีการลดรูปของเรือนแก้วให้เล็กลงหากนึกไม่ออกว่าพระพุทธรูปปางเรือนแก้วเป็นยังไงก็ขอให้นึกถึง พระพุทธชินราชลายไทยที่ล้อมรอบองค์พระนั่นแหละครับที่เขาเรียกว่า เรือนแก้ว


พระพุทธชินราช


อชปาลนิโครธ ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงประทับใต้ต้นไทร และพญาวสวัตตีมารได้ส่งธิดาทั้งสามนามว่าตัณหา ราคา และอรดีให้มายั่วยวนพระพุทธเจ้า


ราชายาตนะซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับใต้ต้นเกดในสัปดาห์สุดท้ายของการเสวยวิมุตติสุขหลังการตรัสรู้ในครั้งนั้น ท้าวสักกะเทวราช (พระอินทร์)เห็นว่าพระพุทธเจ้ายังมิได้เสวยอะไรเลยตั้งแต่ตรัสรู้จึงนำเอาผลสมอลงมาถวายให้พระพุทธเจ้าได้ฉัน เป็นที่มาของพระพุทธรูปปางฉันสมอซึ่งก็คือพระพุทธรูปในภาพนี้นั่นเอง

ออกจากบริเวณสัตตมหาสถานแล้วเราก็จะเดินทะลุพระระเบียงคดเข้าไปสู่บริเวณของพระวิหารหลวงที่สร้างขึ้นอย่างใหญ่โตสวยงาม 


บริเวณระเบียงที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานเรียงกันเป็นแถวแบบนี้เรียกว่าระเบียงคด แต่วัดสุทัศน์นั้นเป็นพระอารามหลวง จึงต้องเติมคำว่า พระเข้าไปข้างหน้าด้วย เช่นเดียวกันกับอุโบสถหรือวิหารที่เมื่ออยู่ในพระอารามหลวงแล้ว ก็จะต้องเรียกว่า พระอุโบสถ และ พระวิหารตามลำดับ


พระวิหารหลวง


ก่อนจะเข้าพระวิหารหลวงเราถวายบังคมพระบรมรูปของ พระบาทสมเด็จปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ กันก่อนวัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๘ ครับ โดยเหตุที่ถือวัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๘ก็เป็นเพราะว่า เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ ๘ เสด็จนิวัติพระนคร ได้ทรงเสด็จมาเยี่ยมชมวัดสุทัศน์แห่งนี้และทรงพอพระทัยในบรรยากาศของวัดนี้เป็นอย่างมากถึงกับทรงมีพระราชปรารภว่าร่มเย็นน่าอยู่ หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้วในหลวงรัชกาลปัจจุบันได้อัญเชิญพระราชสรีรางคารของพระองค์ไปประดิษฐานไว้ที่ฐานของพระศรีศากยมุนีในพระวิหารหลวงจึงถือว่าวัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๘



ทุกวันที่ ๙ มิถุนายนอันเป็นวันสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ก็จะมีพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายให้พระองค์ท่านที่วัดแห่งนี้ ล่าสุดที่ผ่านมา (ปี๒๕๕๙) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุได้เสด็จมาในการนี้


บานประตูพระวิหารเป็นไม้แกะสลักที่มีความงดงามมากเป็นฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ ๒ แต่บานที่อยู่ทุกวันนี้เป็นของที่จำลองขึ้นมาใหม่ของจริงเอาไปเก็บไว้ที่อื่นแล้ว


พระประธานในพระวิหารหลวงคือพระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ซึ่งผมได้กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้นของรีวิวนี้แล้วว่าอัญเชิญมาจากสุโขทัยโดยในสมัยรัชกาลที่ ๑นั้นมีการอัญเชิญพระพุทธรูปที่ชำรุดจากเมืองเหนือเข้ามาบูรณะในกรุงเทพฯเป็นจำนวนพันกว่าองค์เลยทีเดียวและพระพุทธรูปบางองค์ก็ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานตามวัดต่าง ๆทำให้บางวัดมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แม้จะเป็นวัดในกรุงเทพฯหรือเพิ่งสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ตาม


บริเวณกำแพงแก้ว(เป็นเหมือนขอบรั้วที่กั้นขึ้นมา) ของพระวิหารหลวงนั้น จะมีศาลาทิศด้านในศาลาทิศหลังหนึ่งมีพระนอนประดิษฐานอยู่ภายในเก๋งจีน


ส่วนอีกหลังหนึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางตื่นบรรทม


อีกหลังประดิษฐานพระพุทธรูปปางทรงจีวรซึ่งหาชมไม่ได้ง่ายนัก มีที่มาจากพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าทรงจีวร ๔ผืนเพื่อทดลองความหนาวเย็นของเมืองราชคฤห์ในฤดูหนาว

ออกจากพระวิหารหลวงแล้วเราจะแวะเข้าไปในศาลาการเปรียญกัน (จริง ๆ ถ้าจะไม่อยากเดินไปเดินมาก็ควรจะกราบพระในโบสถ์ก่อนแล้วเข้าศาลาการเปรียญถึงค่อยไปปิดท้ายที่พระวิหารหลวง หรือจะย้อนกลับก็ได้)


ศาลาการเปรียญอยู่ในเขตสังฆาวาส ต้องเดินเข้าไปในเขตของกุฏิสงฆ์ครับ

ด้านในของศาลาการเปรียญประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจอยู่ด้วยพระพุทธรูปองค์นั้นมีนามว่า พระพุทธเสรฏฐมุนี


ดู ๆไปก็ไม่ได้ต่างอะไรกับพระพุทธรูปธรรมดา แต่แปลกที่วัสดุที่ใช้สร้างองค์พระครับองค์พระนั้นหล่อขึ้นมาจากกลักฝิ่น ซึ่งก็คือกล่องโลหะที่ใส่ฝิ่นนั่นแหละในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการปราบปรามฝิ่นอย่างหนักตัวฝิ่นนั้นได้นำเอาไปเผาทิ้งที่สนามหลวง ส่วนกลักฝิ่นที่ว่าเป็นโลหะนั้นรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้นำเอามาหล่อเป็นพระพุทธรูปเป็นการสื่อถึงเรื่องการกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีเหมือนแต่ก่อนกลักฝิ่นเหล่านี้ใช้บรรจุฝิ่น ทำลายสุขภาพ ทำลายชีวิตผู้คน แต่เมื่อสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวก็กลายเป็นพระพุทธรูปให้คนได้กราบไหว้บูชาอย่าไปท้อครับกับการทำความดี คนทำผิดถ้าสำนึกได้ สังคมก็ให้อภัยเสมอ


มีพระรูปหล่อของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ด้วยพระองค์เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และประทับที่วัดนี้นั่นแหละโดยสมัยที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้นตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๘ พอดีทรงเป็นองค์ประธานเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๘ ทรงทำพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะด้วย


พระรูปหุ่นขี้ผึ้งก็มีสมเด็จพระสังฆราชแพทรงมีชื่อเสียงในเรื่องของการสร้างพระกริ่งด้วยคนที่เป็นเซียนพระน่าจะรู้ดี

มาถึงวัดสุทัศนแล้วไม่พูดถึงสิ่งนี้ไม่ได้ครับ นั่นก็คือ เสาชิงช้า ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่หน้าวัดเสาชิงช้านั้นใช้สำหรับประกอบพิธีตรียัมพวาย ตรีปวายของพราหมณ์ในสมัยโบราณในพิธีก็จะมีการโล้ชิงช้าซึ่งก็มีที่มาจากตำนานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นการทดลองดูว่าโลกที่เพิ่งสร้างขึ้นนั้นแข็งแรงดีแล้วหรือยังด้วยการให้พญานาคเอาตัวขึงระหว่างต้นพุทราสองต้นที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำแล้วพระศิวะขึ้นไปยืนไกวบนตัวของพญานาคเหมือนการไกวชิงช้านั่นเองหากโลกไม่แข็งแรงก็จะต้องแตกสลาย ปัจจุบันไม่ได้มีการโล้ชิงช้าแล้วและเสาชิงช้าที่เห็นในปัจจุบันก็เป็นเสาต้นใหม่ที่เพิ่งสร้างและสมโภชใหม่เมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๐ เพราะเสาต้นเดิมทรุดโทรมไปมากแล้ว


เราคงเคยได้ยินวลีเปรตวัดสุทัศน์ กันมา ซึ่งก็เป็นความเชื่อของคนโบราณที่ว่าบริเวณวัดสุทัศน์นั้นมีเปรตด้วยแต่บางคนก็สันนิษฐานว่าเปรตที่ว่านั้นก็ไม่ใช่อะไรหรอก คือเสาชิงช้านั่นแหละเพียงแต่ว่าในสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เวลากลางคืนอาจจะมืดมาก ๆหรือบางครั้งในตอนเช้าตรู่ที่มีหมอกลงจัด คนมองเห็นเสาชิงช้าไม่ชัด เห็นเป็นอะไรสักอย่างที่มีลักษณะสูงชะลูดก็ตีความกันไปว่าเป็นผีเปรต


ภาพสุดคลาสสิคของวัดสุทัศนและเสาชิงช้า


มุมเดียวกันในยามค่ำคืน


ลากันด้วยภาพเมนูขนมปังของร้านมนต์นมสด ร้านขึ้นชื่อในละแวกเสาชิงช้าครับ ผมชอบกินหน้าซุปข้าวโพดกับเนยถั่วมากแต่ที่สาขาเสาชิงช้าไม่มีเนยถั่ว ต้องไปที่สาขามาบุญครองโน่น




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2559
2 comments
Last Update : 15 กรกฎาคม 2559 8:23:21 น.
Counter : 3802 Pageviews.

 
 
 
 
thx u crab
 
 

โดย: Kavanich96 วันที่: 16 กรกฎาคม 2559 เวลา:3:26:52 น.  

 
 
 
ยังไม่เคยเข้าชมในโบสถ์วัดสุทัศน์เลยครับ ตอนแรกนึกว่าวิหารเป็นโบสถ์ซะอีก ความรู้แน่นจริงๆ ครับ ชอบๆ
 
 

โดย: ไอฟายน้อย (Ces ) วันที่: 25 กรกฎาคม 2559 เวลา:17:36:18 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

เอกบุรุษ สุดขอบฟ้า
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add เอกบุรุษ สุดขอบฟ้า's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com