รักชนบท



ทำไมเราถึงรู้สึกผูกพันกับท้องทุ่งนา ชอบธรรมชาติ สำหรับคนอื่นเราไม่รู้ แต่สำหรับเรามันมีที่มา เพราะสถานที่เหล่านั้นมันเป็นที่แห่งความสุข ที่ที่น่าจดจำของเราไง เราคิดว่ามันน่าจะมาจากสมัยก่อนนู้น….น ตอนเราเด็กๆ เราจะชอบไปเที่ยวบ้านปู่กับย่ากันทุกวันหยุด แล้วบ้านย่าเราเนี่ยมีอะไรให้พวกเราเล่นเยอะ บ้านย่าจะเป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง ข้างล่างโล่งๆ มีต้นมะขามต้นใหญ่ๆ หลายต้นอยู่รอบๆบ้าน ทางเข้าบ้านย่าเป็นถนนดิน ก่อนถึงบ้านย่าจะมีที่สังเกตเห็นชัดๆก็คือต้นตาล สามหรือสี่ต้นนี่แหละ ปลูกเรียงกันเป็นแถว พอเริ่มเข้ามาบริเวณบ้านจะมีต้นแจงต้นนึงร่มมาก ย่าจะชอบมานั่งจักตอกอยู่ที่นี่เป็นประจำ พอถึงหน้าฝนที่บ้านย่าจะทำนา ซึ่งเป็นเวลาสนุกของพวกเรา เริ่มตั้งแต่การไถนา ที่บ้านย่าเราไม่มีรถไถเหมือนสมัยนี้หรอกมีแต่วัว บ้านย่าเราใช้วัวไถนา สมัยนี้คงนึกไม่ออกหรอกมั้งว่าทำยังไง เค้าจะเอาวัวสองตัวมาผูกเข้ากับคันไถที่มีผานขุดลงไปในดิน จะมีคนยืนข้างหลังคอยจับคันไถเดินตามวัว อ๋อ!!! นึกออกแล้ว สมัยนี้หาดูได้จากตอนมีพิธีแรกนาขวัญไง เป็นแบบนั้นเลย ผิดตรงที่ปู่เราได้แต่งตัวเหมือนพระยาแรกนาที่มีชฎาอยู่บนหัว แต่ปู่ใส่แค่กางเกงกับผ้าขาวม้าคาดพุงแค่นั้น ตอนนี้พวกเราก็จะลงไปเดินเล่นขี้โคลนในนาสนุกกันใหญ่ แต่ซักพักก็กระโดดขึ้นแทบไม่ทันก็มันมีไส้เดือนตัวใหญ่มาก อยู่ในขี้โคลนนั้นด้วยอ่ะดิ หลังจากนั้นเค้าก็หว่านข้าวพอข้าวขึ้นเป็นต้นกล้า เราก็จะถอนกล้าเป็นกำๆ แล้วฟาดเอาดินที่ติดกับรากข้าวออกโดยการฟาดกับเท้าของเราเองนี่แหละอันนี้ก็สนุก เสร็จแล้วจะเอามามัดเป็นกำ กำละประมาณหนึ่งกำมือ หลังจากนั้นจึงเอาไปดำในนาที่ไถแล้วอีกที พอกล้าข้าวตั้งตัวได้ในนาจะมีน้ำขังอยู่ ทีนี้ตอนเช้าเราจะไปเดินดูตามต้นข้าวเพื่อหาแมงดานา เอามาให้ย่าตำน้ำพริก พอข้าวออกรวงจนแก่เป็นสีเหลืองทั้งทุ่งนาสวยมากก็จะถึงขั้นตอนการเกี่ยวข้าว ที่เขาเรียกว่าการลงแขก มันก็คือการชวนเพื่อนบ้านมาช่วยกันเกี่ยวข้าว พอถึงตาบ้านเค้าเกี่ยวเราก็ต้องไปช่วยคืน ข้าวที่เกี่ยวได้จะมัดเป็นมัดโดยใช้เชือกที่ทำมาจากเปลือกของต้นไม้ เวลาแบกขึ้นจากนาจะใช้ไม้ไผ่ที่เรียกว่าเหลาลักษณะมันจะมีปลายแหลมทั้งสองข้างเอามาเสียบกับมัดข้าว แล้วก็แบกตรงกลาง เอามากองไว้เพื่อรอนวดข้าวเพื่อเอาเมล็ดข้าวออกมา ก่อนการนวดข้าวจะต้องทำลานนวดข้าวนี่เป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนจริงๆ ย่าเค้าจะเอาขี้วัวมาผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่ย่าได้คำนวณไว้แล้วอย่างดีใส่ในกระป๋องใบใหญ่ๆ คนให้เข้ากัน หลังจากนั้นจะมาเทลงบนลานดินแล้วใช้ไม้กวาดที่ทำมาจากต้นลำปัด เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งเวลาจะเอามาทำไม้กวาดจะต้องตัดต้นมันเอาไปตากแดดไว้เพื่อให้ใบร่วงเหลือแต่ก้านเอามามัดรวมกันหลายๆต้นก็กลายเป็นไม้กวาด ไม่เห็นต้องซื้อเหมือนสมัยนี้เลย หลังจากกวาดจนทั่วบริเวณลานดินทิ้งไว้วันนึงลานนี้มันก็จะเรียบเหมือนเทปูนประมาณนั้นเลย จะไม่มีขี้ดินขึ้นมาปนกับเม็ดข้าวแล้ว ตรงกลางลานจะมีเสาสูงๆปักไว้ต้นนึง ทีนี้มาถึงตอนนวดข้าวเพื่อเอาเม็ดข้าวออกจากต้นข้าวที่เกี่ยวมา ปู่กับย่าจะช่วยกันเอาต้นข้าวมากองรอบๆเสาที่อยู่กลางลานเมื่อกี้นี้จากนั้นจะเอาวัวอีกนั่นแหละมาผูกกับเสาแล้วไล่ให้มันเดินวนรอบเสาไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ ไม่รู้กี่รอบ เพราะมันคงนับไม่ถ้วนกันเลยแหละ ขั้นตอนการนวดข้าวเนี่ยเค้าจะทำกันตอนกลางคืน ข้างที่นวดข้าวจะมีกองไฟกองใหญ่ๆ อยู่รอบๆด้วยเพราะว่าที่บ้านย่าเราไม่มีไฟฟ้า แล้วที่กองไฟเนี่ยก็มีของอร่อยๆให้พวกเรากินด้วย มันก็คือ...ข้าวหลามที่ย่าทำเอง โดยไปตัดไม้ไผ่ที่มีอยู่ในทุ่งนา มาเลื่อยเป็นท่อนๆ แล้วเอาข้าวเหนียวผสมกับน้ำกะทิเกลือ น้ำตาล ตามสูตรที่ย่าคำนวนไว้แล้วอย่างแม่นยำเช่นเคยว่าหวาน มัน อร่อยหลังจากกรอกใส่ลงไปในกระบอกแล้วก็เอาใบตองมาอุดที่ปากกระบอก แล้วนำมาตั้งเป็นแถวเอาฟืนมาตั้งข้างๆ จุดไฟ รอซักพักใหญ่ๆ ก็จะได้ข้าวหลามแสนอร่อยกินกันแล้ว กลับไปที่วัวดีกว่ามันยังคงเดินวนรอบเสาไปเรื่อยๆ เม็ดข้าวก็ทยอยหลุดออกจากต้นข้าวปู่ก็จะเก็บต้นข้าวออกมาเรียกว่าฟางนั่นเอง เอามากองไว้ข้างนอก ฟางที่ได้มานี้ก็เอาไว้เป็นอาหารของวัวที่เดินวนกันอยู่นั่นแหละเวลาหน้าแล้งไม่มีหญ้ากินก็กินฟางแทน การกองฟางก็มีกรรมวิธีน่ะไม่ใช่จะมากองกันง่ายๆ ต้องมีเสาตรงกลางต้นนึง จากนั้นก็เอาฟางมาพันรอบเสาให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ พอสูงขึ้นก็ต้องให้เด็กๆอย่างพวกเราไปเดินวนอยู่ข้างบนเพื่อให้ฟางมันแน่น สนุกกันอีกนั่นแหละ พอสูงมากๆก็ชักเสียวเหมือนกันว่าจะลงยังไง แต่มันไม่ยากอย่างที่คิด ปู่จะเอาฟางมากองไว้ข้าล่างหนาๆ แล้วให้พวกเราไหลลงมาจากข้างบนเหมือนกระดานลื่นนั่นแหละ ไม่ต้องกลัวเจ็บเลย ตอนที่นวดข้าวจะเป็นช่วงหน้าหนาว พวกเราจะทำกระโจมจากฟางข้าว แล้วเข้าไปนอนเล่นกันข้างในอุ่นมากเลยแหละ ข้าวเปลือกที่ได้ย่าจะเอามาร่อนด้วยกระด้ง มือย่าจะถือกะด้งแล้วร่อนๆ สะบัดเอาเศษผงออกให้เหลือแต่เม็ดข้าวมาใส่ในกระบุงไว้ เด็กๆอย่างพวกเราเห็นย่าทำก็ลองทำบ้างแต่ร่อนที่ไรมันหล่นเกือบหมดทุกที อันนี้ต้องยอมรับว่ามันเป็นความสามารถเฉพาะตัวจริงๆ พอได้ข้าวมากๆก็จะเอาไปเก็บไว้ที่ยุ้งเก็บข้าว ลักษณะคล้ายๆบ้านหลังเล็กที่เอาไว้เก็บข้าว พอจะกินก็เอาข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในยุ้งมาใส่ในครกตำข้าวที่ทำมาจากไม้มาตำเอาเปลือกข้าวออกเหลือแต่ข้าวสาร ไม่ได้เอาไปโรงสีข้าวเหมือนสมัยนี้ ข้าวที่ได้เม็ดจะหักไม่สวย แต่คุณค่าทางอาหารรับรองว่าครบถ้วนจ๊ะ เอ้าได้เวลากินข้าวแล้วพวกเรา อย่างที่บอกบ้านย่าไม่มีไฟฟ้า แล้วก็อย่าหวังว่าจะมีเตาแก๊ส จะหุงข้าวทำกับข้าวต้องใช้เตาถ่านเท่านั้น หุงข้าวจากเตาถ่านจะมีของอร่อยๆให้พวกเรากินกันอีกแล้ว มันก็คือน้ำข้าว ลักษณะขุ่นๆ ย่าจะเทออกก่อนที่ข้าวจะสุก แล้วเอาหม้อมาตะแคงข้างเตาไปรอบๆเพื่อให้ข้าวแห้งและสุกทั่วหม้อเค้าเรียกว่าดงข้าว น้ำข้าวที่ได้พอตั้งทิ้งไว้ข้างบนมันจะเป็นแผ่นๆ เอาน้ำตาลทรายใส่นิดนึง แล้วดื่ม อื้ม...ม อร่อย สมัยนี้หากินยากเพราะใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้ากันหมดแล้ว กับข้าวของย่าก็มีของที่หาได้ตามทุ่งนาแถวๆบ้านนี่แหละไม่ต้องไปซื้อที่ไหน ส่วนน้ำที่ใช้ก็ไม่มีประปาเหมือนเดี๋ยวนี้ น้ำดื่มได้มาจากน้ำฝนที่เก็บไว้ในตุ่ม ส่วนน้ำใช้ได้มาจากน้ำบ่อ บ่อที่บ้านย่าเป็นบ่อขุดลึกมากๆ จะเป็นลองปูนต่อลงไปในดินแล้วมีน้ำอยู่ข้างล่างสุด เวลาจะใช้น้ำต้องเอาเชือกผูกกับกระป๋องแล้วโยนลงไปในน้ำพอน้ำเข้ากระป๋องก็ค่อยๆดึงเชือกขึ้นมา พอได้สองกระป๋องก็ใช้ไม้หาบกระป๋องน้ำไปเทใส่ตุ่มเก็บไว้ใช้ คนสมัยก่อนเนี่ยได้ออกกำลังกันตลอดเลยน่ะเนี่ย แต่เล่ามาตั้งนานยังไม่เห็นว่าย่าจะจ่ายเงินตรงไหนเลย ถ้าสมัยนี้เป็นเหมือนเมื่อก่อนคงดีข้างๆบ่อน้ำจะมีต้นฝรั่งบ้านต้นสูงมากพวกเราจะชอบปีนขึ้นไปเก็บมากินกัน สมัยนี้ก็หากินยากเหมือนกัน เอ้า...ว่ากันต่อดีกว่าถ้าวันไหนเป็นวันพระ เราจะเห็นแสงตะเกียงสว่างตั้งแต่เช้ามืดเพราะย่าจะตื่นมาหุงข้าว ทำกับข้าว ทำกับข้าวไปวัดกัน พวกเราจะเดินกันเป็นแถวไปตามคันนา โดยมีปู่เดินหน้า ย่าเดินปิดท้าย แล้วมีเด็กอย่างพวกเราเดินตรงกลาง ช่วยกันถือปิ่นโตกับข้าว ตะกร้าใส่ขันที่มีข้าวสุกอยู่เต็มขันทองเหลือง น้ำ ธูป เทียน ดอกไม้ที่หาได้ตามข้างบ้านเอามากำเป็นมัดที่เราคิดว่าสวยที่สุดแล้ว เพื่อเอาไปถวายพระ วัดที่เราไปทำบุญเป็นวัดเล็กๆมีพระอยู่ไม่กี่องค์ ปู่จะเป็นคนนำสวดมนต์ ซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจของพวกเรามาก ปู่เราเท่ห์ชะมัด หลังทำบุญเสร็จพวกเราก็จะกินข้าวรวมกันที่วัด ร่วมกับคนอื่นๆที่มาทำบุญเป็นวงใหญ่เลย กับข้าวมีอะไร ขนมมีอะไรก็จะเอามาแบ่งกันกิน กินไม่หมดก็แบ่งให้กันใส่ปิ่นโตกลับไปกินที่บ้านอีก
เฮ้อ...นึกถึงแล้วก็คิดถึงปู่กับย่าจัง ตอนนี้ท่านไปสบายทั้งสองคนแล้ว ตอนนี้ทุกวันพระถ้าเราว่างก็จะไปทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้ท่านทั้งสองเสมอๆ ทุกๆสิ่งที่บ้านปู่กับย่าไม่ว่าจะผ่านมาแล้วนานแค่ไหน มันมีแต่ภาพของความสุข ความอบอุ่นที่เรามีให้กันนึกถึงครั้งใด ภาพนั้นยังคงชัดเจนเสมอ ถ้าปู่กับย่ารับรู้หลานคนนี้อยากบอกว่ารักและคิดถึงปู่กับย่าที่สุด





Create Date : 04 มิถุนายน 2553
Last Update : 4 มิถุนายน 2553 23:30:01 น. 0 comments
Counter : 732 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ภูผา กะ วาริน
Location :
ราชบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Group Blog
 
 
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
4 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ภูผา กะ วาริน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.