Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2555
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
23 มิถุนายน 2555
 
All Blogs
 
รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฏก : วิธีปราบโจรโดยชอบ

บทที่ 6 รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก



6.8 ตัวอย่างการปกครองของพระเจ้ามหาวิชิตราช

           ตัวอย่างการปกครองของพระเจ้ามหาวิชิตราช ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้ แสดงให้เห็นถึงการนำหลักธรรมาธิปไตยมาใช้ในการปกครอง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจอันเป็นสิ่งสำคัญ ที่มีผลกระทบต่อการปกครองโดยตรง จึงอาจจะเรียกว่าเป็น "เศรษฐศาสตร์การเมือง" ยุคโบราณก็ว่าได้ เพราะเป็นการปกครองที่เริ่มต้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเป็นลำดับแรก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ลืมพัฒนาศีลธรรมอันเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองประเทศ

เนื้อหาในหัวข้อนี้อ้างอิงจาก "กูฏทันตสูตร" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบูชามหายัญของพระองค์ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการปกครองได้เป็นอย่างดี พระสูตรนี้ พระสัมมาสัม-    พุทธเจ้าตรัสให้กูฏทันตพราหมณ์ฟัง โดยครั้งหนึ่ง กูฏทันตพราหมณ์ผู้ปกครองบ้านชื่อ "ขาณุมัต" ประสงค์จะบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์ เป็นต้น แต่มีความสงสัยในเรื่องพิธีกรรมอยู่หลายประการ จึงได้เข้าไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงวิธีการบูชายัญที่ถูกต้อง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าถึงตัวอย่างการบูชายัญที่ถูกต้องดังนี้ ในอดีตกาล  มีพระราชาพระองค์หนึ่งพระนามว่า พระเจ้ามหาวิชิตราช เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก วันหนึ่งทรงดำริว่าเราได้ครอบครองสมบัติมนุษย์อย่างไพบูลย์แล้ว ได้ชนะข้าศึกและปกครองดินแดนมากมาย เราพึงบูชามหายัญที่จะเป็นประโยชน์และความสุขแก่เราตลอดกาลนาน จากนั้นพระองค์จึงรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาแล้วตรัสว่าเราจะบูชามหายัญ ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชา        มหายัญแก่เรา


พราหมณ์ปุโรหิตซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ชนบทของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม ยังมีการเบียดเบียนกัน โจรปล้นบ้านก็ดี ปล้นนิคมก็ดี ปล้นเมืองก็ดี โจรทำร้ายในหนทางเปลี่ยว ก็ดี ยังปรากฏอยู่ พระองค์ควรจะปราบโจรผู้ร้าย เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยบูชามหายัญ แต่การปราบปรามโจรด้วยการประหาร จองจำ ปรับไหม ตำหนิ หรือ เนรเทศ วิธีเช่นนี้ ไม่ชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ เพราะว่าโจรบางพวกที่เหลือจากการถูกกำจัดจักยังมีอยู่ โจรเหล่านั้นก็จักเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ได้

การปราบโจรที่ต้นเหตุคือเศรษฐกิจ


          จากนั้นพราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลวิธีการปราบโจรโดยชอบ ด้วยการแก้ปัญหาความยากจนหรือปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหา โดยปุโรหิตได้ถวายคำแนะนำ     พระราชาว่า ให้ช่วยเหลือคนระดับล่าง 3 กลุ่มซึ่งขยันทำมาหากิน ดังนี้


          (1) เกษตรกรคนใด ขยันทำงาน ขอพระองค์จงเพิ่มข้าวปลูกและข้าวกินให้แก่พวกเขาในโอกาสอันสมควร 
          (2) พ่อค้าคนใด  ขยันทำงาน ขอพระองค์จงเพิ่มทุนให้แก่พวกเขาในโอกาสอันสมควร 
          (3) ข้าราชการคนใด ขยันทำงาน ขอพระองค์จงพระราชทานเบี้ยเลี้ยง และ พระราชทานเงินเดือนให้แก่พวกเขาในโอกาสอันสมควร

          ปุโรหิตกราบทูลอีกว่า หากพระองค์ทำอย่างนี้ พลเมืองเหล่านั้นจักเป็นผู้ขวนขวายในการงานของตนๆ จักไม่เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ กองพระราชทรัพย์อันเกิดจากภาษีอากรจำนวนมากจักเกิดแก่พระองค์  บ้านเมืองก็จะตั้งมั่นอยู่ในความเกษม  ไม่มีการเบียดเบียนกัน  พลเมืองจักไม่ต้องปิดประตูเรือนอยู่ ต่อมาเมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงทำตามคำแนะนำของพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ก็ปรากฏว่าได้ผลเช่นนั้นจริง


การขอความร่วมมือกลุ่มคนระดับบน


          หลังจากที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดีแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราช จึงตรัสถามวิธีบูชามหายัญกับพราหมณ์ปุโรหิตๆ จึงกราบทูลให้พระราชาขอความเห็นชอบ และขอความร่วมมือเรื่องการบูชามหายัญจากคนระดับบน 4 กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากต่อการเมืองการปกครองเพื่อเป็นบริวารของยัญ ดังนี้ 


          (1) อนุยนตกษัตริย์ หมายถึง กษัตริย์ประเทศราช
          (2) อำมาตย์ราชบริพาร หมายถึง ข้าราชการผู้ใหญ่
          (3) พราหมณ์มหาศาล หมายถึง พราหมณ์ที่มีฐานะร่ำรวย
          (4) คหบดีผู้มั่งคั่ง หมายถึง พวกพ่อค้าที่มีฐานะร่ำรวย

พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลให้พระราชาเรียกชนทั้ง 4 กลุ่มนี้ ซึ่งเป็นชาวเมืองและชาวชนบทในพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า เราปรารถนาจะบูชายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงทำอย่างนั้น ชนทั้ง 4 เหล่านั้น กราบทูลว่า ขอพระองค์จงบูชายัญเถิด บัดนี้เป็นการสมควรที่จะบูชายัญ 

คุณสมบัติของผู้ปกครองประเทศ


          นอกจากนี้ พราหมณ์ปุโรหิตยังได้กล่าวถึงคุณสมบัติของพระเจ้าวิชิตราช8 ประการว่าจัดเป็นบริวารของยัญด้วยโดยคุณสมบัติเหล่านี้ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำหรือ    ผู้ปกครองประเทศ


          (1) ทรงมีชาติตระกูลดี ไม่มีใครติเตียนได้
         (2) ทรงมีบุคลิกดีคือ มีพระรูปงาม มีพระฉวีวรรณและพระรูปคล้ายพรหม น่าดู น่าชม
          (3) ทรงมั่งคั่งมีทรัพย์มาก 
          (4) ทรงสมบูรณ์ด้วยกองทัพทั้ง 4 เหล่า ที่มีวินัยเคร่งครัด
         (5) ทรงมีพระราชศรัทธา เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นดุจบ่อที่ลงดื่มของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก
          (6) ทรงศึกษามามาก
          (7) ทรงแตกฉานในความรู้ที่ได้ศึกษามานั้น
         (8) ทรงเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระราชดำริถึง      เหตุการณ์ในอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ 

คุณสมบัติของที่ปรึกษาผู้นำประเทศ


          ในขณะเดียวกัน พราหมณ์ปุโรหิตก็ยังได้กล่าวถึง คุณสมบัติของตน 4 ประการว่า จัดเป็นบริวารของยัญเช่นกัน โดยคุณสมบัติเหล่านี้ ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ทำหน้าที่เป็น ที่ปรึกษาของผู้นำประเทศ
          (1) มีชาติตระกูลดี ไม่มีใครติเตียนได้
       (2) เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนต์ได้มาก แตกฉานในคัมภีร์ทั้งปวงของพราหมณ์  และชำนาญในคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ
          (3) เป็นผู้มีศีลอันมั่นคง
          (4) เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญามาก 

ที่มา : มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย


Smiley กรุณาติดตามตอนหน้าค่ะ Smiley



Create Date : 23 มิถุนายน 2555
Last Update : 23 มิถุนายน 2555 17:46:03 น. 0 comments
Counter : 2257 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อุ่นอาวรณ์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุ่นอาวรณ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.