Group Blog
 
<<
กันยายน 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
3 กันยายน 2556
 
All Blogs
 
ธรรมชาติอันเจือด้วยพิษ

ว่าด้วยตัีณหา


ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกปิลสูตรในสุตตนิบาต๑- ว่า

               "นักปราชญ์ทั้งหลายได้กล่าวการประพฤติธรรม ๑ การประพฤติพรหมจรรย์ ๑ นั่นว่า เป็นแก้วอันสูงสุด"
____________________________
๑- ขุ. สุ. ๒๕/ข้อ ๓๒๑. ธรรมจริยสูตร.

ดังนี้เป็นต้นแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
                         ๑.                  มนุชสฺส ปมตฺตจาริโน
               ตณฺหา วฑฺฒติ มาลุวา วิย
               โส ปลวตี หุราหุรํ
               ผลมิจฺฉํว วนสฺมึ วานโร.
ยํ เอสา สหตี ชมฺมี     ตณฺหา โลเก วิสตฺติกา
โสกา ตสฺส ปวฑฺฒนฺติ     อภิวฑฺฒํว พีรณํ.
โย เจ ตํ สหตี ชมฺมึ     ตณฺหํ โลเก ทุรจฺจยํ
โสกา ตมฺหา ปปตนฺติ     อุทพินฺทุว โปกฺขรา.
ตํ โว วทามิ ภทฺทํ โว     ยาวนฺเตตฺถ สมาคตา
ตณฺหาย มูลํ ขณถ     อุสีรตฺโถว พีรณํ.
มา โว นฬํ ว โสโตว     มาโร ภญฺชิ ปุนปฺปุนํ.

          ตัณหาดุจเถาย่านทราย ย่อมเจริญแก่คนผู้มีปกติ
ประพฤติประมาท. เขาย่อมเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยใหญ่ ดัง
วานรปรารถนาผลไม้ เร่ร่อนไปในป่าฉะนั้น. ตัณหานี้
เป็นธรรมชาติลามก มักแผ่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ใน
โลก ย่อมครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญ
แก่บุคคลนั้น, ดุจหญ้าคมบางอันฝนตกรด แล้วงอกงาม
อยู่ ฉะนั้น. แต่ผู้ใดย่อมย่ำยีตัณหานั่นซึ่งเป็นธรรมชาติ
ลามก ยากที่ใครในโลกจะล่วงไปได้, ความโศกทั้งหลาย
ย่อมตกไปจากผู้นั้น เหมือนหยาดน้ำตกไปจากใบบัว
ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น เราบอกกะท่านทั้งหลายว่า ความ
เจริญ จงมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดาที่ประชุมกันแล้ว ณ
ที่นี้ ท่านทั้งหลายจงขุดรากตัณหาเสียเถิด, ประหนึ่งผู้
ต้องการแฝก ขุดหญ้าคมบางเสียฉะนั้น, มารอย่าระราน
ท่านทั้งหลายบ่อยๆ ดุจกระแสน้ำระรานไม้อ้อฉะนั้น.

แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปมตฺตจาริโน ความว่า ฌานไม่เจริญเทียว วิปัสสนา มรรคและผล ก็ไม่เจริญ แก่บุคคลผู้มีปกติประพฤติประมาท ด้วยความประมาท มีการปล่อยสติเป็นลักษณะ. อธิบายว่า เหมือนอย่างว่า เครือเถาย่านทรายร้อยรัด รึงรัดต้นไม้อยู่ ย่อมเจริญเพื่อความพินาศแห่งต้นไม้นั้นฉันใด ตัณหาก็ฉันนั้น ชื่อว่าเจริญแก่บุคคลนั้น เพราะอาศัยทวารทั้ง ๖ เกิดขึ้นบ่อยๆ.
               บาทพระคาถาว่า โส ปริปฺลวติ๑- หุราหุรํ ความว่า บุคคลนั้น คือผู้เป็นไปในคติแห่งตัณหา ย่อมเร่ร่อนคือแล่นไปในภพน้อยใหญ่.
               ถามว่า "เขาย่อมเร่ร่อนไปเหมือนอะไร?"
               แก้ว่า "เหมือนวานรตัวปรารถนาผลไม้ โลดไปในป่าฉะนั้น."
               อธิบายว่า วานรเมื่อปรารถนาผลไม้ ย่อมโลดไปในป่า, มันจับกิ่งไม้นั้นๆ ปล่อยกิ่งนั้นแล้ว จับกิ่งอื่น ปล่อยกิ่งแม้นั้นแล้ว จับกิ่งอื่น ย่อมไม่ถึงความเป็นสัตว์ที่บุคคลควรกล่าวได้ว่า "มันไม่ได้กิ่งไม้จึงนั่งเจ่าแล้ว" ฉันใด บุคคลผู้เป็นไปในคติแห่งตัณหาก็ฉันนั้นเหมือนกัน เร่ร่อนไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ ย่อมไม่ถึงความเป็นผู้ที่ใครๆ ควรพูดได้ว่า "เขาไม่ได้อารมณ์แล้ว จึงถึงความไม่เป็นไปตามความทะเยอทะยาน."
____________________________
๑- บาลีเป็น ปลวตี.

               บทว่า ยํ เป็นต้น ความว่า ตัณหาอันเป็นไปในทวาร ๖ นี้ ชื่อว่าลามก เพราะความเป็นของชั่ว ถึงซึ่งอันนับว่า ‘วิสตฺติกา’ เพราะความที่ตัณหานั้น เป็นธรรมชาติซ่านไป คือว่าข้องอยู่ในอารมณ์มีรูปเป็นต้น โดยความเป็นดุจอาหารเจือด้วยพิษ โดยความเป็นดุจดอกไม้เจือด้วยพิษ โดยความเป็นดุจผลไม้เจือด้วยพิษ โดยความเป็นดุจเครื่องบริโภคเจือด้วยพิษ ย่อมครอบงำบุคคลใด, ความโศกทั้งหลายมีวัฏฏะเป็นมูล ย่อมเจริญยิ่งในภายในของบุคคลนั้น เหมือนหญ้าคมบางที่ฝนตกรดอยู่บ่อยๆ ย่อมงอกงามในป่าฉะนั้น.

               บทว่า ทุรจฺจยํ เป็นต้น ความว่า ก็บุคคลใด ย่อมข่ม คือย่อมครอบงำตัณหานั่น คือมีประการที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว ชื่อว่ายากที่ใครจะล่วงได้ เพราะเป็นของยากจะก้าวล่วงคือละได้, ความโศกทั้งหลายมีวัฏฏะเป็นมูล ย่อมตกไปจากบุคคลนั้น คือไม่ตั้งอยู่ได้เหมือนหยาดน้ำตกไปบนใบบัว คือบนใบดอกปทุม ไม่ติดอยู่ได้ฉะนั้น.
               หลายบทว่า ตํ โว วทามิ คือ เพราะเหตุนั้น เราขอกล่าวกะท่านทั้งหลาย.
               สองบทว่า ภทฺทํ โว ความว่า ความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย. อธิบายว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ถึงความพินาศดุจกปิลภิกษุรูปนี้.

               บทว่า มูลํ เป็นต้น ความว่า ท่านทั้งหลายจงขุดรากแห่งตัณหา อันเป็นไปในทวาร ๖ นี้ ด้วยญาณอันสัมปยุตด้วยพระอรหัตมรรค.
               ถามว่า "ขุดรากแห่งตัณหานั้น เหมือนอะไร?"
               แก้ว่า "เหมือนผู้ต้องการแฝกขุดหญ้าคมบางฉะนั้น."
               อธิบายว่า บุรุษผู้ต้องการแฝก ย่อมขุดหญ้าคมบางด้วยจอบใหญ่ฉันใด ท่านทั้งหลายจงขุดรากแห่งตัณหานั้นเสียฉันนั้น.
               สองบาทคาถา๒- ว่า มา โว นฬํว โสโตว มาโร ภญฺชิ ปุนปฺปุนํ ความว่า กิเลสมาร มรณมาร และเทวบุตรมาร จงอย่าระรานท่านทั้งหลายบ่อยๆ เหมือนกระแสน้ำพัดมาโดยกำลังแรง ระรานไม้อ้อซึ่งเกิดอยู่ริมกระแสน้ำฉะนั้น.


ที่มา : อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔
ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace



Create Date : 03 กันยายน 2556
Last Update : 3 กันยายน 2556 12:27:35 น. 0 comments
Counter : 1158 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อุ่นอาวรณ์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุ่นอาวรณ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.