86 ปีแห่งความทรงจำของทันตแพทย์ สม อิศรภักดี เขียนที่....บ้านผ่อดอยใน....ตำบลโป่งแยง...อ.แม่ริม....จ.เชียงใหม่
 
มีนาคม 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
26 มีนาคม 2552

86 ปีแห่งความทรงจำ ทันตแพทย์ สม อิศรภักดี (1)











โรงเรียนของผม



ตอนผมอายุ 6 ขวบ แม่ผมพาไปฝากเรียนหนังสือที่โรงเรียนใกล้บ้าน เป็นโรงเรียนต้นทุนต่ำ คือทั้งเจ้าของและผู้จัดการเป็นคนเดียวกัน แล้วครูที่มีอยู่ก็เป็นคนๆเดียวกัน มีนักเรียนประมาณ 10 คน โรงเรียนห่างจากบ้านผมประมาณ 10 ก้าว การเรียนก็เรียน ก ข กะ กา กิ กี จะเรียกว่าอนุบาลก็ไม่ใช่ เพราะไม่มีการร้องเพลงและนอนกลางวัน


ครูผู้นี้เคยเป็นทหารเรือยศร้อยโทชื่อเรือโท สนิท ลีนะสมิท ครูผู้นี้มีความเป็นครูอย่างแท้จริง โรงเรียนของท่านจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ จนท่านไปเช่าสถานที่กว้างขวางแห่งหนึ่งที่อยู่แถวนั้นเพื่อทำเป็นโรงเรียน ให้ชื่อว่าโรงเรียนลีนะสมิท มีนักเรียนถึงหลักร้อย ระยะหลังโรงเรียนได้ปิดตัวเองไป น่าจะเป็นเพราะท่านเก็บค่าเล่าเรียนได้บ้างไม่ได้บ้าง ผมนำชื่อท่านมากล่าวไว้เพราะท่านเป็นครูโดยจิตวิญญาณจริงๆ

พอต้นปีการศึกษา ครูสนิทจะพานักเรียนที่โตพอสมควรไปเข้าโรงเรียนประถมของรัฐใกล้ๆกันนั้นซึ่งห่างจากบ้านของผมไปกิโลเมตรกว่าๆ นั่นคือโรงเรียนวัดบรมนิวาส วัดบรมนิวาสเป็นสถานที่กว้างขวาง แบ่งให้รัฐบาลทำโรงเรียนด้านที่ติดกับริมคลอง ผมเข้าเรียนปีแรกในชั้น ป.1 ปรากฏว่าผมสอบตก จึงเรียนซ้ำชั้น 1 ปี หลังจากนั้นไม่เคยสอบตกอีกเลย

พอผมเรียนถึงชั้น ป.3 ก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา นั่นคือผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้กำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับ โดยทุกคนจะต้องเรียนหนังสือจนถึงชั้น ป.4 โรงเรียนวัดบรมนิวาสเขาจัดให้เป็นโรงเรียนประชาบาล คือให้เรียนโดยไม่ต้องเสียเงินตามความมุ่งหมายของรัฐบาลสมัยนั้น

ผมเองได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวัดสระเกศซึ่งเป็นโรงเรียนหลวงที่ต้องเสียค่าเล่าเรียน โรงเรียนหลวงสมัยนั้นมีหลายระดับ ระดับที่แพงที่สุดต้องเสียค่าเล่าเรียนเดือนละ 6 บาท เช่น โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนสวนกุหลาบ ฯลฯ และมีระดับค่าเล่าเรียนเดือนละ 4 บาท ส่วนโรงเรียนวัดสระเกศและโรงเรียนวัดบรมนิวาสเสียค่าเล่าเรียนเดือนละ 2 บาท ต่อมาผู้ใหญ่ย้ายผมไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมหอวัง โดยไปเข้าเรียนชั้น ม.2

ผมขออธิบายโรงเรียนมัธยมหอวังซักหน่อย โรงเรียนนี้มีเนื้อที่กว้างขวางมาก อาจจะถึง 100 ไร่หรือกว่านั้น ภายในมีสนามฟุตบอลและตึกซึ่งสร้างในแบบสมัยรัชกาลที่ 6-รัชกาลที่ 7 เป็นตึกหนาๆ มีห้องบางห้องเป็นรูป 8 เหลี่ยม ตึกนี้เข้าใจว่าเคยเป็นวังของเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่ง ตึกนี้ใหญ่ขนาดบ้านคนอยู่ ไม่ใหญ่โตแบบโรงเรียน ชั้นเรียนมี 7 ชั้น คือ ม.2-ม.8 ชั้นละ 20 คน แต่ละชั้นก็มีเพียงห้องเดียว พื้นที่นอกจากที่ผมกล่าวไว้แล้วนั้น เขาจัดไว้ให้คนจีนเข้ามาเช่าเพื่อปลูกผัก

ระหว่างที่ผมเรียนที่นี่ พอถึงต้นภาคเรียนที่ 2 จะมีครูแปลกหน้าเข้ามาสอน ทราบภายหลังว่าเป็นนักศึกษาคุรุศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาฝึกสอนตลอดภาคเรียนที่ 2 ของทุกปี ความจริงโรงเรียนมัธยมหอวังก็คือโรงเรียนสาธิตของจุฬาฯ นี่เอง สมัยนั้นไม่มีคำว่าโรงเรียนสาธิต ผมก็เลยไม่รู้ว่าผมเคยอยู่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯมาก่อน

ครูใหญ่ของผมก็คือ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ท่านจบจากอังกฤษและเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะคุรุศาสตร์จุฬาฯ ม.ล.ปิ่นผู้นี้ ภายหลังได้เลื่อนขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมการศึกษาสามัญ ต่อมาท่านก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลายสมัย


ที่โรงเรียนหอวังนี้ เท่าที่ผมจำได้ พอบ่าย 3 โมง โรงเรียนก็จะเลิกแล้วเพื่อปล่อยให้เด็กไปวิ่งเล่นตามสนาม บางพวกก็ไปฝึกซ้อมกีฬาเพื่อเตรียมแข่งขันกีฬาประจำปีกับโรงเรียนอื่นๆ วันเสาร์เราจะไปนั่งกับพื้นที่ห้องโถงซึ่งเคยเป็นห้องรับแขกของท่านเจ้าของบ้านแล้วต้องสวดมนต์ทำนองสรภัญญะ จบแล้วครูใหญ่จะมาทำการอบรมสั่งสอน หลังจากนั้นก็มีการเชิดชูเกียรตินักเรียน เช่น ใครวาดรูปได้ดีก็จะเอามาติดไว้และกล่าวคำชมเชย หรือถ้าใครเขียนบทกลอนได้ดีก็จะได้รับคำชมเชยและนำมาอ่านในที่ประชุม ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ปล่อยให้ไปวิ่งเล่น

โรงเรียนนี้ห่างจากบ้านผม 2 กิโลเมตร ผมเดินไปโรงเรียนทุกวัน การที่โรงเรียนกว้างขวางมาก ทำให้รัฐบาลคิดว่าเอาพื้นที่ไปใช้อย่างอื่นดีกว่าซึ่งขณะนั้นรัฐบาลกำลังหาที่สร้างสนามกีฬาแห่งชาติอันเป็นเมกกะโปรเจก ดังนั้นเขาจึงไปปลูกโรงเรียนมัธยมหอวังที่อื่น ที่นี่ก็กว้างขวางไม่น้อย รั้วติดกับจุฬาฯ

พอจบ ม.3 ผมก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนใหม่ แต่ผมก็โดนไล่ที่อีก เพราะตอนนั้นรัฐบาลมีความคิดว่าการเรียน ม.7-ม.8 ทำให้เสียเวลาเปล่าๆ ควรจะมีวิชาที่เหมาะและสอดคล้องกับวิชาชีพในอนาคต จึงได้แปลงเป็นหลักสูตรโรงเรียนเตรียม เช่น เตรียมนายร้อย เตรียมนายเรือ เตรียมจุฬาฯ เตรียมธรรมศาสตร์ พอผมสอบ ม.4 แล้วก็ต้องสละโรงเรียนให้แก่โรงเรียนเตรียมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยฝากผมไว้ตามห้องเรียนของโรงเรียนอื่นๆที่ว่างอยู่ แต่ครูก็ยังเป็นครูของโรงเรียนหอวังอยู่

การที่ไม่มีที่เรียนเป็นหลักเป็นแหล่งนี่เอง รัฐบาลจึงให้ยุบโรงเรียนนี้โดยไม่รับนักเรียนใหม่ สำหรับคนที่เรียนอยู่แล้วก็ให้เรียนไปจนจบ ม.6 สุดท้าย โรงเรียนมัธยมหอวังก็หายไปจากวงการมัธยมศึกษา


ต่อมา สมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนหอวังมีแต่คนที่ตายไป ไม่มีคนใหม่เข้ามาทดแทน ดังนั้นพวกเราจึงคิดว่าอีกไม่นานสมาคมนี้คงจะหายไป พวกผู้ใหญ่ของสมาคมเช่น พลเอกสายหยุด เกิดผล จึงหาโรงเรียนที่ไหนซักแห่งแล้วให้ชื่ออย่างเดียวกัน เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบแล้วก็จะมาทดแทน ทำให้สมาคมยังยืนอยู่ได้มาจนบัดนี้


พลเอกสายหยุด เกิดผล ไปติดต่อกับโรงเรียนแห่งหนึ่งของรัฐบาลซึ่งอยู่ใกล้กับห้างเซนทรัลลาดพร้าว ชื่อเดิมอะไรผมจำไม่ได้ ผู้อำนวยการโรงเรียนยินดีให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนหอวัง แต่จะใช้คำว่ามัธยมด้วยไม่ได้เพราะที่นั่นสอนชั้นประถมด้วย ดังนั้น สมาชิกสมาคมส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่จบจากโรงเรียนหอวังลาดพร้าว สมาชิกรุ่นแรกๆเหลือน้อยเต็มทีและผมก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ก็รู้ว่าที่ยังอยู่มี พลเอกสายหยุด เกิดผล ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ เป็นต้น

ผมเรียนจบ ม.6 ที่โรงเรียนมัธยมหอวังแล้ว ก็ไปสอบเข้าเตรียมทหารเรือและเตรียมทหารบก แต่เข้าไม่ได้ จึงไปเข้าที่เตรียมจุฬาฯ ปรากฏว่าเข้าได้ มีคนมาสมัครสอบ 1,200 คน รับเพียง 300 คน ผมได้เข้าเรียนเตรียมจุฬาฯและได้เข้าไปเรียนในตึกเดียวกันกับที่เคยเรียนตั้งแต่ยังเป็นโรงเรียนมัธยมหอวัง

ตอนอยู่เตรียม 2 ญี่ปุ่นเข้ายึดเอเชียอาคเนย์รวมทั้งประเทศไทยด้วย ตอนนั้นปลายการศึกษาแล้ว พวกญี่ปุ่นเข้ามาเดินแถวในกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2484 โรงเรียนต้องปิดและให้ทุกคนสอบได้ พวกเราจึงยกชั้นเข้าไปเป็นนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราเรียกว่าโตโจสงเคราะห์

ที่จุฬาฯนี้ ชีวิตนักศึกษาก็คงเหมือนนักศึกษาสมัยนี้ คือมีความตื่นเต้นสนุกสนานเพราะมีเพื่อนต่างเพศมาร่วมเรียนด้วย อยู่จุฬาฯ ปีแรกจะขึ้นปี2 ต้องสอบตามปกติ แต่ตอนจะข้ามฟาก กำหนดวันสอบไว้แล้วแต่มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดหนัก จึงให้ยกชั้นโดยไม่ต้องสอบอีกครั้ง ในปีที่ 2 เพื่อจะข้ามไปปีที่ 3

สำหรับผมซึ่งเป็นนักเรียนทันตแพทย์กับนักเรียนแพทย์จะต้องไปเรียนที่ศิริราช เราเรียกว่าข้ามฟาก คือต้องข้ามฟากจากท่าพระจันทร์ไปเรียนที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อข้ามฟากไปแล้วจะต้องเรียนอีก 4 ปี ก็จะเป็นหมอฟัน แต่ผมต้องเรียนอีก 5 ปี เพราะมีอยู่ปีหนึ่งก่อนยุติสงครามมีเหตุการณ์ที่อันตรายมาก มหาวิทยาลัยจึงปิดเกือบ 1 ปี เพราะถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักและ กลุ่มเสรีไทยจากที่ต่างๆจะเข้ายึดประเทศไทยคืนจากญี่ปุ่น เมื่อสงคามเลิกผมจึงมาเรียนต่อ ผมเรียนอีก 3 ปี ก็จบการศึกษา

ผมสังเกตเห็นอะไรบ้างอย่างในเรื่องการศึกษา ตอนผมเข้าเรียนชั้นประถม-มัธยมรวมทั้งชั้นเตรียม ห้องหนึ่งจะมีนักเรียนไม่เกิน 20 คน ต่อมาลูกของผมเข้าโรงเรียน รู้มาว่าห้องหนึ่งมี 40 คน และในชั้นหนึ่งมีหลายห้อง พอถึงตอนหลานผมเข้าโรงเรียน ห้องหนึ่งมี 60 คน ปัญหาที่เด็กเรียน 40 กับ 60 คน ต่อห้องมันเกี่ยวข้องอะไรกับการศึกษา เราจะเห็นว่าการศึกษาของเราตกต่ำมาก แต่ก่อนนี้รุ่นลูกผม เด็กที่เรียนมาถึง ม.3 ยังอ่านเขียนไม่ค่อยได้ สะกดภาษาไทยไม่ค่อยได้ มาตอนนี้ยิ่งแย่ใหญ่

ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ หลักสูตรสมัยผมมีไม่มาก ทำให้เด็กมีเวลาไปวิ่งเล่น หลักสูตรปัจจุบันยากอย่างไม่นาเชื่อ ผมเคยช่วยทั้งลูกและหลานทำการบ้าน ผมยังแปลกใจว่าจะเรียนอะไรกันหนักหนา ผมเองยังทำการบ้านนั่นไม่ได้เลย ผลของมันก็คือเด็กเรียนไม่ไหว แถมยังมีการบ้านมากอีก จึงต้องมีการเรียนพิเศษ ทำให้เด็กไม่มีโอกาสพักผ่อนเหมือนสมัยผม เด็กจึงเครียด นอกจากนี้พ่อแม่ยังส่งลูกไปเรียนว่ายน้ำ บัลเลต์ ดนตรีและอื่นๆ

เมื่อเด็กไม่ได้พักผ่อน ครั้นโตขึ้นจะมีสุภาพจิตแย่กว่าสมัยผม ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง เขาให้นักเรียนสอบได้ทุกปี เด็กเรียนไม่ทันก็สามารถขึ้นชั้นต่อไปได้ เมื่อไปเรียนชั้นสูงขึ้นก็ยิ่งไม่ทันหนักมากขึ้น เดี่ยวนี้เรียนถึง ม.6 ก็ให้จบโดยที่นักเรียนไม่มีความรู้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

ครั้งหนึ่งผมเห็นหลานเรียนอ่อนมากจึงไปหาครูประจำชั้น ผมขอให้หลานเรียนซ้ำชั้นเพราะเป็นวิธีเดียวที่จะเรียนตามทัน แต่ครูประจำชั้นบอกว่าให้ตกไม่ได้ แล้วส่งผมไปคุยกับอาจารย์ผู้ปกครอง ท่านบอกว่าการให้นักเรียนตกสามารถทำได้แต่เกิดความยุ่งยากจนไม่มีใครเขาทำกัน

เด็กนักเรียนซึ่งเรียนยากกว่าสมัยผม แล้วยังไม่ให้ตกหรือเลื่อนชั้นทั้งที่ความรู้ในชั้นเดิมยังอ่อนอยู่มาก ชั้นต่อไปยิ่งไม่รู้เรื่องและยิ่งหนักขึ้นไปอีก นักเรียนจะต้องทนเรียนโดยที่ไม่รู้ว่าเขาสอนอะไร สุดท้ายนักเรียนเพียงแต่จะได้ยินแต่ไม่ได้ฟังเพราะสร้างโลกขึ้นมาอีกโลกหนึ่งแล้วเอาตัวเข้าไปอยู่ในโลกนั้น เมื่อเด็กอายุ 13-14 ปีขึ้นไป เขาจะมีปมด้อยและนึกว่าทำไมตัวเองถึงไม่รู้เรื่อง อันนี้เป็นผลเสียอย่างยิ่ง นักเรียนจะมีอาการออกไปทางเกเรหรือเสพยาเสพติด บางรายก็ลักขโมยเพื่อแสดงตัวว่าฉันทำได้ อันเป็นการลบปมด้อยในใจของตัวเอง

เมื่อจบ ม.3 หรือ ม.6 โดยไม่มีความรู้แต่ก็มารถเข้าเรียนโรงเรียนอาชีวะได้ โรงเรียนอาชีวะส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชน ดังนั้นถ้าใครมีใบรับรองว่าสอบผ่านหรือจบ ม.6 แล้ว เขาก็รับโดยไม่ได้ตรวจดูว่ามีความรู้หรือไม่ แต่เด็กมีความรู้ต่ำและต้องการแสดงตัวว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น

จึงมีการชกตีกันของนักเรียนอาชีวะให้รู้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ผมอยากจะนำเสนออะไรบางอย่างแต่ไม่รู้จะไปนำเสนอกับใคร ข้อแรก ให้ลดหลักสูตรลงและง่ายขึ้น เด็กจะได้เรียนทัน ความจริงข้อนี้ทำได้ไม่ยากเพียง แต่มาประชุมกันแล้วเลือกว่าจะสอนแค่ไหน ข้อสอง ต้องมีการสอบตก ไม่ปล่อยให้เด็กที่เรียนไม่ทันต้องขึ้นชั้นไป ข้อสุดท้ายยากกว่าสองข้อแรก คือต้องเพิ่มจำนวนโรงเรียนหรือเพิ่มที่เรียนของแต่ละโรงเรียนให้จำนวนของเด็กต่อห้องลดลงจาก 60 คน ถ้าได้ 30 คนต่อห้องก็ถือว่าพอรับได้

อีกอย่างหนึ่ง โรงเรียนเอกชนจะเก็บค่าเล่าเรียนเท่าไรก็ปล่อยให้เขาเก็บไป ถ้าเราไปกำหนดค่าเล่าเรียนของเขา เขาจะไม่สามารถขยายโรงเรียนและพัฒนาการเรียนการสอนได้ ทำให้มีการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะ เพราะความต้องการของเด็กที่จะเข้าเรียนมากกว่าจำนวนโต๊ะเรียนที่สามารถจะรับได้

อันที่จริง ถ้าโรงเรียนใดเก็บค่าเล่าเรียนแพงเกินไป คนก็จะมาเรียนกันน้อย เขาก็จะลดราคาไปเอง ถ้าใครเก็บถูกเกินไป เมื่อมีเด็กมาเรียนมากก็จำเป็นต้องขึ้นค่าเล่าเรียน เพื่อจะได้มีเงินไปพัฒนาการเรียนการสอนและเพิ่มสถานที่เรียนให้เพียงพอ รัฐบาลเองก็ได้อาศัยการขยายตัวของโรงเรียนเอกชนเป็นตัวช่วยด้วย เพราะเอกชนสามารถเพิ่มห้องเรียนได้ง่ายกว่ารัฐบาลทำเอง

บางคนอาจมองว่าเอกชนขูดรีดผู้ปกครอง แต่คนจำนวนมากมีฐานะดีพอที่จะจ่ายเงินเพื่อการเรียนของลูกในราคาแพงๆ ทำให้ที่เรียนของโรงเรียนรัฐบาลว่างมากขึ้น คนที่จนกว่าจะได้มีที่เรียนมากขึ้นไปด้วย

เมื่อผมเรียนจบได้ 5 ปี ก็มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลียด้วยทุนโคลอมโบเป็นเวลา 2 ปี ทุนนี้เกิดจากช่วงหลังสงคราม ประเทศที่เจริญแล้วเห็นว่าจะปล่อยให้ประเทศที่ยังไม่พัฒนามีสภาพอย่างที่เป็นอยู่ไม่ได้ จึงร่วมประชุมกันที่เมืองโคลอมโบประเทศศรีลังกาและมีการให้ทุนประเทศที่ยังไม่พัฒนาเหล่านั้น

ตอนนั้นผมเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะทันตแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ที่เดียวกับที่ผมเรียน) อีก 10 ปีต่อมาผมไปเรียนเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกาด้วยทุนจากการเก็บหอมรอมริบของผมเอง ผมไปเรียนอยู่ 1 ปี ซึ่งของดที่จะเล่ารายละเอียด แต่อยากจะบอกว่าเขาให้เรียนด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เช่น ตอนไปออสเตรเลีย เขาบอกว่าให้เราอ่านหนังสือเล่มนี้ๆ บทความจากวารสารบทความนี้ๆ ซึ่งเป็นบทความย้อนหลังไป 10 ปี

ห้องสมุดของเขาดีมาก เมื่อผมต้องการหนังสือหรือวารสารใด บรรณรักษ์เขาก็หามาให้ โดยเฉพาะบทความจากวารสาร ตอนท้ายจะมีเอกสารอ้างอิงว่ามาจากหนังสือเล่มใดหรือบทความใด ถ้าเราสนใจเรื่องใดมากๆ เราก็จะติดตามอ่านเอกสารอ้างอิงต่อไป การศึกษาแบบนี้ทำให้ผมรู้จักการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับวิชาชีพหรือที่เราสนใจตลอดชีวิตการทำงาน

ตอนผมอยู่โรงเรียนมัธยมหอวัง ที่โรงเรียนไม่มีห้องสมุด พอผมเข้าโรงเรียนเตรียมจุฬาฯได้ มีห้องสมุดที่ไม่ใหญ่นัก แต่มีหนังสือที่น่าอ่านอยู่มาก ผมก็ได้นำมาอ่าน พออยู่มหาวิทยาลัย ผมเข้าไปในห้องสมุดพบว่ามีหนังสืออยู่มากมาย ผมก็ยืมมาอ่าน แต่ไม่ค่อยเกี่ยวกับวิชาชีพที่กำลังเรียนแต่อย่างใด ผมสนใจเรื่องอะไรผมก็เอามาอ่าน ผมฝึกอ่านมาก่อนเรียนปริญญาโทที่ออสเตรเลีย


ดังนั้นจึงไม่เป็นการยากลำบากสำหรับผมในการศึกษาด้วยตนเอง เมื่อเขามีคอมพิวเตอร์กัน ผมก็ได้อาศัยเรียนจากอินเตอร์เน็ต ตอนนี้ผมแก่แล้ว จึงไม่ค่อยสะดวกในการใช้สายตา ประกอบกับเคเบิลทีวีมีเรื่องราวสาระมากมาย ผมจึงหาความรู้จากเคเบิลทีวีต่อไป


---------------------







Create Date : 26 มีนาคม 2552
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2552 12:20:41 น. 6 comments
Counter : 1335 Pageviews.  

 
กราบสวัสดีครับคุณลุง

ผมลองขยับให้แล้วนะครับ

คุณลุงก็ตรวจทานไปด้วย
ช่วงนี้ผมยังไม่ค่อยมีเวลาว่างเลย

เพราะตรงกับงานสัปดาห์หนังสือ

แต่ทยอยอัพบล็อกไปเรื่อยๆนะครับ

เพราะเรื่องราวของคุณลุงน่าสนใจมากครับ



โดย: โดม IP: 124.121.23.215 วันที่: 3 เมษายน 2552 เวลา:22:38:15 น.  

 


บันทึกถึง เธอ เบียทริซ โดย สิริพันธุ์ สุนทรวิจิตร


สวัสดีครับคุณติ๋ม

อยากให้คุณติ๋มได้อ่านหนังสือเล่มนี้จัง

เพราะเป็นเรื่องของหญิงสาวชาวไทยกับเพื่อนรุ่นคุณยาย อายุ 95 ชาวออสซี่
อ่านแล้วประทับใจมาก


โดย: พ่อพเยีย วันที่: 3 เมษายน 2552 เวลา:22:43:03 น.  

 
ขอบคุณค่ะ ก็คิดว่าจะไปดูที่ ซีเอ็ด เหมือนกัน ก็อ่านในบล็อกพ่อพเยีย รู้สึกว่าเคยผ่านตาเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เปิดดู ขอบคุณค่ะ


โดย: บ้านผ่อดอยใน วันที่: 3 เมษายน 2552 เวลา:23:35:04 น.  

 
สวัสดีครับ มาอ่านเรื่องเล่าของคุณลุงครับ น่าสนใจดีครับ
พี่ติ๋มสบายดีนะครับ ปี๋ใหม่นี้เก็บตัวอยู่ในสวนบ่ได้ไปไหนไกล๋เลยครับ


โดย: pu_chiangdao IP: 118.175.184.138 วันที่: 19 เมษายน 2552 เวลา:9:49:15 น.  

 
สวัสดีครับคุณติ๋ม

คิดว่าช่วงนี้คงไม่ว่างใช่ไหมจึงปล่อยให้บล็อกร้างอย่างนี้
ช่วงนี้ผมไม่มีเวลาว่าง
ไม่เช่นนั้นอยากจะช่วย
ฝากความระลึกถึงคุณลุงสมผู้ใจเมตตาด้วยนะครับ


โดย: พ่อพเยีย วันที่: 19 เมษายน 2552 เวลา:11:51:38 น.  

 
ขอบคุณที่ไปเยี่ยมบล็อกป้าแอ๊ดค่ะ
ขออนุญาตแอดบล็อกไว้อ่านและมาเยี่ยมเยียนด้วยค่ะ

ชอบอ่านข้อความและสารคดีอย่างนี้มากค่ะ
ขอบคุณที่นำมาเผยแพร่



โดย: addsiripun วันที่: 12 ตุลาคม 2552 เวลา:9:42:10 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

บ้านผ่อดอยใน
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add บ้านผ่อดอยใน's blog to your web]