86 ปีแห่งความทรงจำของทันตแพทย์ สม อิศรภักดี เขียนที่....บ้านผ่อดอยใน....ตำบลโป่งแยง...อ.แม่ริม....จ.เชียงใหม่
<<
ตุลาคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
13 ตุลาคม 2552

ภาพเหมือนของแม่ - ทันตแพทย์ สม อิศรภักดี



จำรัส เกียรติก้อง ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่*






ตอนญี่ปุ่นเข้ายึดกรุงเทพฯ พวกมันขึ้นบกที่บางปู มีญี่ปุ่นเข้ามาหากินใน กรุงเทพฯ จัดการโกนหัวตัวเองใส่เครื่องแบบนายทหาร ห้อยดาบซามูไร บางคนไปนำทางทหารญี่ปุ่นเข้ามาในกรุงเทพฯ บางคนนำทหารไปที่ โรงเรียนต่างๆ และให้พักที่นั้น ทุกอย่างเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าอย่างดี ปัญหาคือถึงโรงเรียนเปิดได้ ก็ไม่สามรถที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนได้


ผมยกตัวอย่างเช่น ทหารญี่ปุ่น เข้าไปตั้งค่ายในโรงเรียนช่างกลปทุมวัน ตึกของคณะทันตแพทย์ ซึ่งจะเปิดใช้ในปีต่อไป ญี่ปุ่นก็เข้ายึดครอบครองและ ครอบครองอยู่จนสงครามเลิก จำเป็นต้องขยับขยายไปฝากเรียน ตามที่พอจะใช้การได้

พี่สาวผมเป็นครูอยู่ที่ โรงเรียนสวนสุนันทา เมื่อไม่มีที่สอน ทางราชการเขาจัดให้ไปสอนที่ ฉะเชิงเทรา(แปดริ้ว) ผมไปเยี่ยมท่านหลายครั้ง ครั้งหนึ่งท่าน จัดการฝากผมไปนอนกับอาจารย์ผู้ชายสองคน คนหนึ่งชื่ออาจารย์จำรัส เกียรติก้อง ท่านเป็นครูวาดเขียน อีกคนหนึ่งจำชื่อไม่ได้ท่านเป็นครูพละศึกษา

บ้านที่ไปอยู่รวมกัน เป็นบ้านไม้ห้องเดียวและ มีห้องครัว การนอนก็นอนกางมุ้ง นอนกับพื้น มีข้าวของก็วางไว้ตามมุมห้อง อาจารย์จำรัสนี้ เมื่อท่านถึงแก่กรรม หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้ลงผลงงานของท่าน ว่าท่านเป็นอัฉริยะทางวาดรูปคนหรือที่เรียกว่า portrait


ในบทความที่ลงในหนังสือพิมพ์นั้นมีรูปวาดอยู่หลายรูป หนึ่งในนั้นมีรูปที่เขียนไว้ข้างล่างว่า สุภาพสตรีสูงอายุ เมื่อผมดูให้ดี จึงรู้ว่าเป็นรูปคุณแม่ของผมเอง ทำไมท่านถึงเขียนรูปแม่ผม ผมเข้าใจว่าพี่สาวผมคงจะเอารูปขาวดำให้ท่านเขียนเป็นรูปสี รูปออกมาเหมือนและสวย ตอนนั้นที่ผมอยู่ด้วยกันที่ ฉะเชิงเทรา ผมไม่รู้ว่าท่านจะเป็นศิลปินเอกในภายภาคหน้า

ผมไปเยี่ยมพี่สาว สอง สามครั้ง วันหนึ่งผมเดินไปพบอาจารย์ที่เคยสอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนมัธยมหอวัง ผมเข้าไปทักท่าน ท่านจำผมได้และ ยังจำผมได้ด้วย อาจารย์ผู้นี้คือ อาจารย์พิศวง ฟักทองคำ ท่านชวนผมไปหาอะไรกิน ท่านนำทางเข้าไปทุ่งนาเดินไปตามคันนา สักครู่ก็มาถึงบ้านหลังหนึ่ง

เจ้าของบ้านรู้จักอาจารย์ดี จัดการปูเสื่อให้เรานั้งใต้ต้นไม้และ หิ้วไหเล็กๆ พร้อมกะลามาให้เรา ของในนั้นเรียกว่าน้ำตาลเมาและ ต้องกินด้วยกะลา อาจารย์พิศวง ตักน้ำตาลเมาดื่มแล้วยื่นมาให้ผมกินต่อ

ผมไม่เคยกินน้ำตาลเมามาก่อน รู้สึกว่าอร่อยรสชาติหวานหน่อยๆ กินสะดวกไม่รู้สึกเมา สักพักหนึ่งเจ้าของบ้านนำไก่ต้มข่ามาให้หม้อหนึ่ง พร้อมกับให้ช้อนสังกะสีชนิดเคลือบสีน้ำเงิน ไก่ต้มข่าอร่อยมาก เมื่อกินไปก็รู้สึกว่าท้องฟ้ามันสวยและ คุยถูกคอกับอาจารย์

หลังจากพบกับอาจารย์วันนั้นแล้ว ผมก็ไม่ได้พบอาจารย์อีกเลย ผมมาทราบภายหลังว่าอาจารย์เกษียนแล้วไปเปิดโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งผมเห็นว่าเหมาะสมมาก เพราะอาจารย์พิศวงเป็นครูคนหนึ่งที่สอนแล้ว ผมเข้าใจและ ผมก็ชอบเรียนวิทยาศาสตร์เพราะอาจารย์ท่านนี้

ส่วนพี่สาวผมเมื่อสงครามเลิกแล้ว ท่านได้รับทุนจากรัฐบาล อเมริกาให้ไปเรียนต่อที่แอนอาร์คเบอร์ แคลิฟอร์เนียและ จบปริญญาโทกลับมาและ ทำงานในกระทรวงศึกษานิเทศก์ภายใต้การนำของ ด็อกเตอร์ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ พี่ผมทำงานอยู่ที่ กระทรวงจนกระทั่งหลานสาวของพี่สาวผม ขอร้องให้ไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนยุคลธรเพราะว่าหลานสาวสองคนนี้ไปเรียน วิชาการสอนเด็กอนุบาล ซึ่งพี่สาวผมก็ยินดีออกมาทำงานให้

หลานสาวสองคนนี้ เป็น หม่อมเจ้าเป็นลูกของ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ กับ หม่อมอุบล ยุคล


หม่อม อุบล ยุคล,พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการและทีมงาน



ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล



พี่ผมมีหลานเป็นหม่อมเจ้าห้าคน และหนึ่งในนั้นมี ท่านมุ้ย
พี่สาวผมสนินสนมกับหม่อมอุบล ดังนั้นจึงเต็มใจมาทำงานให้ เมื่อโรงเรียนเข้ารูปเข้ารอยแล้ว พี่สาวผมอายุมากขึ้นจึงได้ลาออกจากการเป็นครูใหญ่ ในปั่นปลายชีวิตท่านยังเลี้ยงดูและ ให้การศึกษาแก่หลานๆ และคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ญาติด้วย

พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ(องค์ชายเล็ก) ท่านเล่าให้ผมฟังว่าท่านมุ้ย ตอนแรกๆ ต้องแนะนำตัวเองว่าเป็นลูกองค์ชายเล็ก ตอนนี้ผมต้องแนะนำตัวเองว่าเป็นพ่อ ท่านมุ้ย องค์ชายเล็กเป็นคนมีอารมณ์ขัน ท่านพูดแล้วก็หัวเราะ


(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)





--------------------------------







*เกี่ยวกับ จำรัส เกียรติก้อง


(ข้อมูลจาก //www.pantown.com)









3 ภาพข้างบนนี้คือผลงานบางส่วนของจำรัส เกียรติก้อง



จำรัส เกียรติก้อง เกิดที่กรุงเทพฯ เป็นบุตร นายเกอร์เซน (เภสัชกรชาวเยอรมัน ประจำห้าง บี.กริม แอนด์โก) และนางฉาย เกียรติก้อง สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างเมื่อ พ.ศ. 2477 ต่อมาได้สอบเข้าเป็นข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำการสอนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนสตรีวิทยา และโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย ตามลำดับ

ระหว่างที่ทำการสอนอยู่ที่โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัยเป็นเวลาที่อยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามได้ทวีความรุนแรงจนโรงเรียนทุกแห่งต้องปิดหมดโดยไม่มีกำหนด จำรัสได้ใช้เวลาระหว่างที่โรงเรียนหยุดนี้ไปเขียนภาพสีน้ำมันอยู่กับเพื่อนๆ ซึ่งทำงานอยู่ในกรมศิลปากรขณะนั้น


ในโอกาสเดียวกันก็ได้ขอรับคำแนะนำติชมจากศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ด้วย และเมื่อมีผู้มาติดต่อให้จำรัสเขียนภาพเหมือนจากตัวจริงด้วยสีน้ำมัน จำรัสจะต้องขอให้ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี เป็นผู้ตั้งราคาการเขียนภาพให้ทุกครั้งตลอดมา (แม้ในระยะหลังก็ได้ปฏิบัติเช่นนั้นตราบจนศาสตราจารย์ฯ ได้สิ้นไป

ขณะเมื่อจำรัสได้ใช้เวลาว่างระหว่างโรงเรียนปิดโดยไม่มีกำหนดมาเขียนรูปอยู่ที่กรมศิลปากรดังกล่าวแล้วนั้น เป็นเวลาที่ทางราชการสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ให้มาทรงช่วยงานในกรมศิลปากรอยู่ระยะหนึ่ง ได้ทรงเห็นภาพเหมือนที่จำรัสได้เขียนไว้ ทรงพอพระทัยในฝีมือ รับสั่งว่า“นายจำรัสเขียนภาพเหมือนได้ดีถึงขนาดนี้น่าจะได้ตัวมาไว้ในกรมศิลปากร”

ต่อจากนั้น พระองค์ท่านได้โปรดให้ติดต่อขอโอนตัวจำรัสจากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้มาอยู่ในกรมศิลปากร


จำรัสได้เขียนภาพไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากงานในหน้าที่ราชการแล้ว ส่วนมากเป็นภาพเหมือน (Portrait) เขียนด้วยสีน้ำมันและสีชอล์ค ซึ่งได้เขียนจากตัวจริงและจากภาพถ่าย ในการเขียนภาพเหมือนนี้ จำรัสชอบเขียนจากตัวจริงมากกว่าเขียนจากภาพถ่าย จำรัสบอกว่าการเขียนจากตัวจริงได้เห็นสีสรรพ์ตามธรรมชาติและเป็นการเขียนที่ยากยิ่ง ทำให้เกิดความสนุกที่จะติดตามผลงานจนกว่าจะสำเร็จ

จำรัสได้มีโอกาสเขียนภาพเหมือนจากตัวจริงของบุคคลสำคัญและบุคคลผู้มีเกียรติไว้หลายท่าน นอกจากนี้ก็ได้เขียนภาพให้นิตยสารต่างๆ ตามแต่จะมีผู้ต้องการ เช่นได้เขียนภาพประกอบบทขับร้องเพลงตามหลักสูตรประถมศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งประพันธ์โดย ฉันท์ ขำวิไล และในตอนปลายของชีวิตได้เขียนภาพสำหรับหน้าปกนิตยสารสามทหารเป็นประจำโดย ฉันท์ทิชย์ กระแสร์สินธุ์ ซึ่งเป็นมิตรอาวุโสของจำรัสได้มาติดต่อให้เขียน


ถ้าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการกุศลคุณจำรัสก็จะตั้งใจทำให้อย่างสุดฝีมือด้วยใจศรัทธา ซึ่งกุศลจิตอันนี้เป็นที่ซาบซึ้งแก่ทุกท่านที่ได้มาติดต่อเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ ทางคณะผู้จัดทำหนังสือ “ทางร่มเย็น” ซึ่งมีอาจารย์เอื้องพันธ์ คุ้มหล้า ผู้ซึ่งได้มาติดต่อกับจำรัสในเรื่องเกี่ยวกับการเขียนภาพให้กับหนังสือ “ทางร่มเย็น” อยู่เสมอนั้น ได้กรุณาเป็นผู้ดำเนินงานจัดพิมพ์หนังสือ “ทางร่มเย็น” มาร่วมแจกในงานพระราชทานเพลิงศพจำรัสด้วยความอาลัยรำลึกถึงด้วย

การเขียนภาพครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้เคยนำคุณจำรัส พร้อมกับจิตรกรประติมากรของกรมศิลปากรเข้าเฝ้าถวายการเขียนพระบรมฉายาลักษณ์จากพระองค์จริงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน,สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ได้มีพระเสาวนีย์ให้จำรัสเข้าเฝ้า รับสั่งให้เขียนพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชในพระอิริยาบถประทับนั่ง ทรงโปรดให้เขียนด้วยสีน้ำมันขนาดเท่าพระองค์จริงโดยจำลองจากภาพฉายของกรมแผนที่

เมื่อจำรัสได้เขียนพระบรมฉายาลักษณ์ทรงผนวชเสด็จเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระราชชนนีฯ ได้โปรดให้เขียนพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ด้วยสีน้ำมันขนาดเท่าพระองค์จริง โดยพระองค์ได้ประทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาประทับนั่งเป็นแบบให้เขียนจนพระฉายาลักษณ์นั้นสำเร็จเรียบร้อย

เมื่อจำรัสได้เขียนพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชชนนีฯ เสด็จเรียบร้อย และได้นำเข้าถวายแด่สมเด็จพระราชชนนีฯ แล้ว โอกาสต่อมา ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 สำนักราชเลขาธิการได้ส่งรถยนต์มารับจำรัสไป ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และได้เข้าพบ พลเอก หลวงสุรณรงค สมุหราชองค์รักษ์ ซึ่งได้เป็นผู้มอบซองบุหรี่เงิน มีพระปรมาภิไธย “ภ.อ.” ให้เป็นของพระราชทานด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งจำรัสเป็นคนแรกที่ได้รับพระราชทาน ท่านได้กรุณาแจ้งแก่จำรัสว่า ในวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 ทางสำนักราชเลขาธิการจะจัดรถไปรับจำรัสไปวังสระปทุมเนื่องในงานพระราชทานเลี้ยงส่วนพระองค์

ครั้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 จำรัสได้ไปในงานพระราชทานเลี้ยงส่วนพระองค์ ณ วังสระปทุม ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีฯ และในงานพระราชทานเลี้ยงครั้งนี้ได้อันเชิญพระฉายาลักษณ์สีน้ำมันของสมเด็จพระราชชนนีฯ ซึ่งจำรัส เป็นผู้เขียนมาประดิษฐานไว้ด้วย

ในโอกาสต่อมาจำรัสได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ โดยเลขาธิการพระราชวังได้แจ้งให้จำรัสทราบว่า มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้เลาขาธิการพระราชวัง เชิญ นายจำรัส เกียรติก้อง และภริยา รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2506 เวลา 19.30 น. ซึ่งจำรัสและภิริยาได้รับใส่เกล้าฯ ไว้ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

ในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งนี้คุณจำรัสได้เข้าเฝ้าพร้อมกับจิตรกรผู้มีเกียรติและมีชื่อเสียงอีกหลายท่าน อาทิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ,เหม เวชกร ,เฉลิม นาคีรักษ์,อวบ สาณเสน ฯลฯ

จากการที่ได้มีโอกาสเขียนพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์ดังกล่าวและได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมให้ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์นี้จำรัสถือว่าเป็นศิริมงคลอย่างสูงสุดแก่ตนเองและแก่ครอบครัววงศ์ตระกูลและจำรัสถือเสมือนหนึ่งว่าความใฝ่ฝันที่จะเป็นช่างเขียนคนไทยที่สามารถเขียนรูปเหมือนจากตัวจริงตามแรงดลบันดาลใจแต่แรกเริ่มของตนนั้นได้บรรลุสมความปรารถนาแล้ว

ยังพอจะจำภาพเหมือนสีน้ำมันซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติที่เป็นภาพเขียนอาจารย์แสวง สงฆ์มั่งมีได้หรือไม่ ซึ่งจำรัสได้เขียนขึ้นจากความรู้สึกบันดาลใจในขณะนั้น และใช้เวลาในการเขียนไม่นาน

ส่วนภาพเขียนบุคคลสำคัญและผู้มีเกียรติที่จำรัสได้เขียนจากตัวจริงด้วยสีน้ำมันและสีชอล์ค ได้แก่ ม.จ. หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล,ฯพณฯ นายพจน์ สารสิน, ธนิต อยู่โพธิ์,ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี,หวาน อยู่โพธิ์, มาลินี พีระศรี, Mrs. Kaith Waller ภริยาอดีตเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย,คุณหญิงสุมาลี จาติกวณิช และธิดา, ประหยัด เชวงศักดิ์สงคราม,เพ็ญพิมล สิริสวย, บรรจบพันธ์ นวรัตน์ ณ อยุธยา,มัลลิกา วัชราภัย,เรวดี ทับทิมทอง,นิด ทองอุทัย,พงษ์จันทร์ มันประเสริฐ,ภาพหมู่ครอบครัวคุณกระสินธ์ และพงษ์จันทร์ มันประเสริฐ, หม่อมปริม ภาณุพันธ์ ยุคล,ธาดา วานิชสมบัติ,เบญจรัตน์ วานิชสมบัติ,มานิต วัลลิโภดม, ชิน อยู่ดี,โหมด ว่องสวัสดิ์,พึงจิต สวามิภักดิ์,จิรา จงกล,ดาเรศ สาตะจันทร์,อารีย์ นักดนตรี,ดวงดาว อาษากิจ,ศิริพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ฯลฯ

จำรัสได้เขียนภาพของตนเองและภรรยาไว้ด้วย นอกนั้นเป็นภาพเหมือนสีน้ำมัน ซึ่งเขียนจากภาพถ่าย ส่วนมากเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ซึ่งมีผู้มาให้เขียนเพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ สถานที่ต่างๆ

ภาพเขียนสีน้ำมันภาพสุดท้ายคือ พระรูปของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นภาพขนาดใหญ่ 2เท่าพระองค์จริง ซึ่งทางกองทัพเรือได้ติดต่อให้เขียนเพื่อนำไปประดิษฐานไว้ ณ กองทัพเรือ


------------------------------------------









Create Date : 13 ตุลาคม 2552
Last Update : 13 ตุลาคม 2552 13:03:02 น. 10 comments
Counter : 4372 Pageviews.  

 
สวัสดีค่ะคุณลุงสม
สวัสดีค่ะพี่ติ๋ม
ภาพงามมาก ๆ เลยค่ะ
นางแบบก็งาม ฝีมือท่านอาจารย์จำรัสก็สุดยอดเลยค่ะ
ม่านฝนเคยเห็นแต่ภาพถ่ายคุณพ่อคุณแม่สมัยหนุ่มสาว ก็เห็นว่าเป็นภาพที่คลาสสิคดี เพราะเป็นภาพขาวดำที่ออกเหลือง ๆ บางภาพช่างเขาจะใส่สีแดงเรื่อ ๆ ที่ริมฝีปากด้วยค่ะ
จะรอติดตามเรื่องในสัปดาห็หน้าอีกนะคะ
ขอให้คุณลุงและพี่ติ๋มมีสุขภาพที่แข็งแรงนะคะ


โดย: ม่านฝน IP: 202.149.25.241 วันที่: 13 ตุลาคม 2552 เวลา:20:10:12 น.  

 
สวัสดีจ้ะ ม่านฝน ขอบคุณค่ะ ที่ติดตามเรื่องราวที่คุณลุง

เล่าและ ที่ขาดไม่ได้เลยทุกสัปดาห์ที่เปลี่ยนเรื่องใหม่ ต้อง

ยกความดีให้คุณโดมค่ะ ที่ทำบล็อกให้จ้ะ


โดย: พี่ติ๋ม (บ้านผ่อดอยใน ) วันที่: 13 ตุลาคม 2552 เวลา:20:34:47 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณลุงสม
หนูตามอ่านบล็อกนี้อย่างเงียบ ๆ
อ่านแล้วก็ย่องออกไปแบบเงียบ ๆ
แล้วบอกตัวเองว่า จะเข้ามาอ่านอีกเมื่อมีโอกาส

วันนี้ขอส่งเสียงหน่อยนะคะ อยากบอกคุณลุงว่า
แต่ละเอนทรี่ที่ผ่านมา มากด้วยรายละเอียด มีวันเวลา
เรื่องราวน่าสนใจจนอยากให้คนอื่นมาอ่านกันเยอะ ๆ
หรือจริง ๆ แล้วคือ หนูชอบอ่านเรื่องแบบนี้ด้วยน่ะค่ะ
ขอบคุณค่ะที่กรุณาถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ แบบนี้ให้ได้อ่าน


สวัสดีค่ะพี่ติ๋ม
พี่สบายดีมั้ยคะ
ที่โป่งแยงเริ่มหมอกหนาตอนเช้า ๆ หรือยัง
ที่บ้านภูเพยียยามฝนไม่ตกก็ร้อนร้ายน่ะ
ฝนตกไม่ทั่วฟ้าน่ะเนาะ เลยถามเรื่องดินฟ้าอากาศ
หรืออาจเป็นเพราะเราไม่ค่อยได้พูดคุยกันสม่ำเสมอ
เพียงแต่เห็นพี่บ้างตามหน้าจอ และก็เห็นรูปล่าสุดยังสวยเหมือนเดิมเลยค่ะ :)











โดย: ภูเพยีย วันที่: 14 ตุลาคม 2552 เวลา:9:19:16 น.  

 
สวัสดีตอนสายๆ วันพุธค่ะ
อ่านเรื่องราวชีวิตของท่านอาจารย์จำรัส ฯ แล้วน่าติดตามผลงานของท่านค่ะ
ขอบพระคุณที่นำบทความดีๆ อย่างนี้มาเผยแพร่ค่ะ
ปัจจุบันความรู้เช่นนี้หาอ่านยากมากค่ะ เพราะไม่ค่อยมีใครเขียน



โดย: addsiripun วันที่: 14 ตุลาคม 2552 เวลา:10:45:43 น.  

 

กราบสวัสดีคุณลุง และสวัสดีพี่ติ๋มค่ะ

ต้องบอกว่าเป็น "ภาพเก่าเล่าเรื่อง" ที่ชวนติดตามมาก ๆ ค่ะ
ภาพที่คุณลุงสะสมไว้ คงมีจำนวนไม่น้อยใช่ไหมคะ
(ที่บ้านกรุงเทพ มีกรุภาพเก่าที่มองผ่านเลนส์โดยคุณพ่อ)
ทำให้เห็นและรู้เรื่องราวในอดีต
บางภาพเป็นสถานที่ที่เคยไป
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน
สิ่งแวดล้อมรอบด้านเปลี่ยนตามไปด้วย
ดำเนินไปตามวัฏจักรของเวลาและชีวิต

ติดตามและตามติดว่า
คุณโดมจะนำเรื่องของคุณลุงตอนต่อไปมาเมื่อไหร่

อากาศเปลี่ยนแปลงมาก
คิดว่าจะแข็งแรงดี รอดพ้นจากการป่วยไข้
สรุปว่า กลับจากเชียงรายได้ 1 อาทิตย์
และอาทิตย์ถัดมาแล้วจนถึงวันนี้
นู๋ยังเฝ้าบ้านจมไข้อยู่เลยค่ะ
คุณลุงกับพี่ติ๋มรักษาสุขภาพด้วยนะคะ


โดย: ปิง (ฮักน้ำปิง ) วันที่: 14 ตุลาคม 2552 เวลา:14:37:38 น.  

 
สวัสดีครับคุณลุงสมที่เคารพยิ่ง

ผมเอาเพลงนี้มาฝาก

หวังว่าคุณลงุคงรู้ว่าใครประพันธ์เนื้อร้องและทำนองนะครับ





โดย: พ่อพเยีย วันที่: 14 ตุลาคม 2552 เวลา:20:48:09 น.  

 
กราบสวัสดีคุณลุงสมและคุณพี่ติ๋มค่ะ
วันนี้มาชวนไปทดลองนั่งรถไฟฟ้าสายสุวรรณภูมิค่ะ



โดย: addsiripun วันที่: 15 ตุลาคม 2552 เวลา:1:03:16 น.  

 
สวัสดีค่ะ โอ๊ตเพิ่งเข้ามาเยี่ยมบ้านผ่อดอย ที่โอ๊ตเคยมาเที่ยว หาคุณลุงตอนนั้น แต่เรื่องราวยังไม่อ่านดี แค่ชมภาพและอ่านไปหน่อยๆ ก็ได้กลิ่นบรรกาศ ของความสดชื่น อบอุ่น เหมือนที่คุณลุงเคยให้การต้อนรับโอ๊ต พี่ปุ้มและเพื่อน เป็นอย่างดี คุณลุงค่ะคิดถึงนะค่ะ อธิฐานให้คุณลุงมีสุขภาพดี มีความสุขหัวใจทุกวันนะค่ะ

เฮ ติ๋ม สบายดีนะ ดูแลคุณลุงอย่าให้ขาดตกบกพร่องและอย่าลืมดูแลหัวใจตัวตัวด้วยนะ หนาวนี้ขอให้สวยวันสวยคืนนะค่ะ


โดย: โอ๊ตและพี่ปุ้ม IP: 114.128.176.218 วันที่: 15 ตุลาคม 2552 เวลา:13:30:40 น.  

 
สวัสดีจ้ะ ภูเพียย ขอบคุณนะค่ะ ที่เข้าเยี่ยมบ้านผ่อดอย แบบย่องมาแล้วก็ย่องไป
ถ้าส่งเสียงก็ดีนะค่ะ คุณลุงจะได้มีพลังในการคิดหา เล่าเรื่องอะไร ให้เราฟังกันอีก อากาศที่ดอยโป่งแยง ก็เย็นกว่าในเมืองค่ะ ฝนก็ตกได้เกือบทุกวัน วันละ 1-2 เกือบจะทุกวัน ( เอะ มันเกี่ยวกับโลกร้อนไหมเนี้ย )อากาศแปรปรวน

สวัสดีค่ะ คุณ addsiripun สบายดีนะค่ะ คุณลุง สบายดีค่ะ กำลังจะเล่าเรื่องใหม่ค่ะ เลขา เตรียมตัว

ฮักน้ำปิง คุณลุง ได้อ่าน คอมเมนท์ แล้ว ก็บอกพี่ว่า พรุ้งนี้ ช่วยลงเรื่องใหม่ให้หน่อยนะ (ขำ)

จ้ะ โอ๊ต สบายดีจ้ะ ที่หายไปหลายวัน ไปละปูน มาเจ้า เพิ่งมาถึงตอนค่ำๆ นี้เอง ฝากระลึกถึงพี่ปุ้ม โต้ยเจ้า


โดย: p tim (บ้านผ่อดอยใน ) วันที่: 17 ตุลาคม 2552 เวลา:0:45:49 น.  

 
อยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับภาพผู้หญิงที่สอง จังเลยค่ะ ว่าเขามีประวัติอย่างไร แล้วทำไมถึงคุณจำรัสจึงวาดภาพนี้ขึ้นมา


โดย: a IP: 124.122.4.19 วันที่: 10 กันยายน 2553 เวลา:8:20:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

บ้านผ่อดอยใน
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add บ้านผ่อดอยใน's blog to your web]