13 เรื่อง จากเวิลด์ฟิล์มฯ ครั้งที่ 6





ความเห็นและมุมมองโดยย่อต่อหนัง 13 เรื่องในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 6 (6th World Film Festival of Bangkok)





NEW AGE
เนเธอร์แลนด์ 2007
กำกับฯ : เคเรน เซตเทอร์ (Keren Cytter)

เรื่องของหญิงสาวชื่อ ดาฟเน่ ที่เล่าซ้ำวนเกาะเกี่ยวกันไปมาด้วยชุดตัวละครและเรื่องราวที่ต่างกัน

เหมือนการรำลึกนึกย้อนจากกระแสสำนึกอย่างไร้ระเบียบ ชวนงุนงงสับสน หนังทำให้ตื่นเต้นในช่วงแรกที่เล่นกับความเป็นภาพยนตร์ แต่หลังจากนั้นก็กลายเป็นความน่าเบื่อ อย่างไรก็ตาม พอจะมองเห็นอะไรบางอย่างที่น่าสนใจและช่วยให้เข้าใจหนังมากขึ้น แต่คงต้องชมซ้ำอีก 1-2 รอบ





THE PATH (El Camino)
คอสตาริกา 2007
กำกับฯ : อิชตาร์ ยาซิน กูเตียเรซ (Ishtar Yasin Gutierrez)
imdb

เด็กหญิงวัยสิบสองพาน้องชายเป็นใบ้หนีจากเพิงพักกลางกองขยะในนิคารากัวและจากปู่ตัณหากลับ ออกตามหาแม่ที่ไปทำงานในคอสตาริกา

หลายช่วงของการติดตามสองพี่น้องเหมือนไม่มีสคริปต์ จึงคล้ายเป็นหนังสารคดี แต่เรื่องราวบางแง่มุมก็ชวนให้รู้สึกว่าหนังคล้ายเรื่องเล่าเกินจริงหรือนิทานอย่าง Hansel & Gretel และมีกลิ่นอายแฟนตาซี โดยเฉพาะกับผู้คนซึ่งสองพี่น้องพบเจอตลอดการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นชายสูงวัยกับหญิงสาว หรือชายสองคนที่ช่วยกันแบกโต๊ะจากกองขยะข้ามน้ำข้ามทะเลไปคอสตาริกา

หนังสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับการอพยพข้ามพรมแดนของชาวนิคารากัวไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในคอสตาริกา และปัญหาการค้ามนุษย์ ขณะเดียวกัน ผู้กำกับฯหญิงกูเตียเรซ (เกิดในรัสเซีย พ่อเป็นอิรัก แม่เป็นลูกครึ่งชิลี-คอสตาริกา) ในช่วงชีวิตวัยเยาว์ต้องระหกระเหินตามครอบครัวของเธอ โดยเฉพาะช่วงที่ต้องลี้ภัยเผด็จการปิโนเชต์จากบ้านในชิลีไปอยู่ในคอสตาริกา ทำให้หนังสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเด็กที่ต้องพลัดบ้านจากเมืองเช่นที่เธอเคยประสบมาก่อน

กูเตียเรซเคยกล่าวว่าช่วงวัยเด็กอันยากลำบาก ครอบครัวของเธอไม่มีกระทั่งโต๊ะไว้นั่งกินข้าว นี่อาจเป็นเหตุผลที่โต๊ะในหนังตัวนั้นต้องข้ามน้ำข้ามทะเลสู่คอสตาริกา-บ้านของกูเตียเรซในปัจจุบัน (นอกเหนือจากความหมายของการไหลเทสู่ปลายทางที่ดีกว่า)





CHERRY BLOSSOMS - HANAMI (Kirschblüten - Hanami)
เยอรมนี 2008
กำกับฯ : ดอริส ดอร์รี่ (Doris Dörrie)
imdb

คู่ผัว-เมียวัยชราซึ่งฝ่ายหญิงปรนนิบัติดูแลฝ่ายชายมาตลอดชีวิต เมื่อถึงเวลาที่คนหนึ่งจากไป อีกคนจะทำอย่างไร เรื่องราวนี้มีปลายทางอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น-สถานที่ในความฝันของใครคนหนึ่ง

Lost in Translation ฉบับคนแก่ ... ชอบที่หนังเปลี่ยนตัวละครดำเนินเรื่องอย่างเหนือความคาดหมาย ทั้งที่ตอนแรกอิงกับตัวละครหนึ่งถึงกับใช้เสียงบรรยายความคิดความรู้สึก ข้อดีคือทำให้ตัวละครนั้นมีความสำคัญต่อเรื่องราวและผูกพันกับผู้ชม ชอบที่หนังปล่อยให้ตัวละครลูกๆ ยังคงไม่เข้าใจพ่อ-แม่เหมือนเดิม ขณะที่คนนอกครอบครัว 2 คน (สาวทอม+สาวญี่ปุ่น) ดูจะเข้าใจพวกเขามากกว่า และชอบเพลงประกอบ Chinsagu No Hana เพลงพื้นบ้านเพลงเดียวกับในเรื่อง Japanese Story (2003)





TWO LINES (Iki çizgi)
ตุรกี 2008
กำกับฯ : เซลิม เอฟจี (Selim Evci)
imdb

รักเย็นชาของคู่หนุ่มสาว ฝ่ายชายเป็นช่างภาพเรื่อยเปื่อย ฝ่ายหญิงดูเป็นหลักเป็นฐานและเป็นผู้ใหญ่กว่า

หนังเหมือนไม่มีอะไรมาก เรื่องราวแทบไม่มี บทสนทนาก็น้อย แต่ส่วนสำคัญคือรายละเอียดในแต่ละฉากที่แสดงให้เห็นว่าทำไมชีวิตคู่ถึงเดินมาถึงจุดที่เป็นอยู่ ช่วงท้ายเหมือนหนังพยายามหักดิบอารมณ์ (นึกถึง Twentynine Palms, 2003 ในเวอร์ชั่นเบากว่าสิบเท่า) โดยให้พระเอก ‘โชว์เหนือ’ เพื่อแสดงสถานะของตนเอง แต่สุดท้ายนางเอกก็เป็น ‘คนนำทาง’ ต่อไปอยู่ดี





SELL OUT!
มาเลเซีย 2008
กำกับฯ : เยียว จูน ฮาน (Yeo Joon Han)
imdb

หนังเพลงเสียดสีสังคมยุคเงินฉาบหน้า-ขยะเรียลิตี้

ตลกและสนุกมากๆ จิกกัดมันดี เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา กลุ่มอาชีพถูกหยิบมาอำหมด แถมผู้กำกับฯยังล้อเลียนตัวเองอีกต่างหาก ชอบฉากร้องเพลงในคลินิกมากที่สุด





EAT, FOR THIS IS MY BODY (Mange, ceci est mon corps)
ฝรั่งเศส/เฮติ 2007
กำกับฯ : Michelange Quay
imdb

หนังเซอร์เรียลใช้ฉากหลังในเฮติ หญิงชราผิวขาวนอนแบบบนเตียงในคฤหาสน์หลังใหญ่ มีลูกสาวดูแล และหนุ่มชาวพื้นเมืองคอยรับใช้ มีน้ำนม เปียโน เซ็กซ์ หญิงพื้นเมืองท้องแก่ เด็กทารก วูดู งานรื่นเริง ฯลฯ ปรากฏเพิ่มความพิศวงตลอดเรื่อง

สถานะและความสัมพันธ์ระหว่างคนผิวขาวกับคนพื้นเมือง หรือขยายให้ใหญ่เป็นเจ้าอาณานิคม(ในที่นี้คือฝรั่งเศส) กับเฮติ หลายฉากชวนให้นึกถึงกระบวนการกลืนชาติ เช่นจับเด็กๆ พื้นเมืองแต่งองค์ทรงเครื่อง แล้วให้นั่งพร่ำพูด ‘ขอบคุณๆๆๆๆ’ ต่อหญิงสาวผิวขาว ก่อนจะถูกส่งลงไปในน้ำนมเพื่อนำไปป้อนหญิงชรา (แม่-ประเทศแม่) เสียงเปียโนพลิ้วไหวอย่างอิสระ(อิสรภาพ) ก็ถูก ‘ทำให้เงียบ’ ในที่สุด

จริงอยู่...หนังได้ทุนจากฝรั่งเศส ใช้นักแสดงฝรั่งเศส และถ่ายทำในเฮติ หนังจึงชวนให้นึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ในยุคอาณานิคม แต่ในเมื่อผู้กำกับฯซึ่งมีพ่อ-แม่เป็นชาวเฮติ แต่เกิดและใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา พูดง่ายๆ ว่าเขาเป็นคนอเมริกัน และสหรัฐคือชาติที่เข้ามายึดเฮติต่อจากฝรั่งเศสและมีอิทธิพลเหนือดินแดนนี้ตลอดศตวรรษต่อมา หนังจึงมีมุมมองแบบ ‘ลืมตาข้างเดียว’ อยู่ด้วย เช่นฉากเด็กๆ ผิวดำเล่นไล่ฆ่ากันซึ่งอาจสื่อถึงสงครามกลางเมือง แต่สหรัฐเองไม่ใช่หรือที่เป็นต้นเหตุ และไม่ว่าที่ไหนๆ การฆ่ากันเองของคนพื้นเมืองก็ล้วนแต่ถูกสุมไฟโดยเจ้าอาณานิคมทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับฯ Quay เคยนำเสนอบางมุมมองเกี่ยวกับสหรัฐ-เฮติมาแล้วในหนังสั้นเรื่อง The Gospel of the Creole Pig (2004) เข้าไปชมได้ ที่นี่ หนังเจ๋งไม่แพ้กัน


(อ่านแนวคิด ‘หลังอาณานิคม’ ในหนังเกี่ยวกับเฮติได้ในบทวิจารณ์ Heading South มองหนัง‘หลังอาณานิคม’)





THREE MONKEYS (Üç maymun)
ตุรกี 2008
กำกับฯ : นูรี บิลเก จีย์ลาน (Nuri Bilge Ceylan)
imdb

ครอบครัวอมทุกข์ประกอบด้วยพ่อที่ต้องรับโทษจำคุกแทนเจ้านายนักการเมือง แม่ที่แอบมีอะไรกับเจ้านายคนนั้นระหว่างพ่ออยู่ในคุก ส่วนลูกชายก็ล่วงรู้เรื่องฉาวนี้

เข้มและข้นมากๆ ทั้งเนื้อหา การแสดง และงานด้านภาพซึ่งจีย์ลานแสดงศักยภาพความเป็นช่างภาพได้ยอดเยี่ยมจริงๆ (ภาพนิ่งสำหรับโปรโมตจะยิ่งเยี่ยมมาก) หนังเหมือนจะบอกว่าครอบครัวนี้ไร้ ‘เจตจำนงเสรี’ แต่ถูกกำหนดความเป็นไปด้วยอะไรบางอย่าง (เบื้องบน-กรรมเก่า-การเมือง) ซึ่งสุดท้ายก็หลงอยู่ในวัฏจักรบาปของมนุษย์





THE SKY, THE EARTH AND THE RAIN (El cielo, la tierra y la lluvia)
ชิลี 2008
กำกับฯ : โฮเซ่ หลุยส์ ตอร์เรส เลวา (Jose Luis Torres Leiva)
imdb

ชีวิตอับเฉาของผู้คนท่ามกลางธรรมชาติรอบตัว (ตามชื่อหนัง)

ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่อง Three Monkeys ซึ่งตัวละครหนีทุกข์ไม่พ้นเพราะถูกลากจูงด้วยอะไรบางอย่าง หญิงสาวซึ่งเป็นตัวละครเอกในเรื่องนี้ก็เป็นด้านตรงข้าม เพราะเป็นพวกไม่ยอมดิ้นรนทำอะไรให้ตัวเองดีขึ้น เช่นจักรยานยางแบนเธอไม่ซ่อม พอเธอขี่ล้มจนบาดเจ็บก็ทิ้งมันไปเฉยๆ

เฉื่อยช้า ซึมเซา นิ่งงัน เปลี่ยวเหงา คือบรรยากาศของหนัง ขณะเดียวกัน หนังกลับถ่ายทอดธรรมชาติรอบตัวโดยเฉพาะในฉากของหญิงสาวดูสวยงามเป็นพิเศษแม้กระทั่งผ่านช่องหน้าต่างเล็กๆ ราวกับจะบอกว่าถึงอย่างไรโลกของเธอก็จำกัดอยู่กับความหม่นมัว แม้สิ่งที่ดีกว่าจะอยู่ไม่ไกลเกินคว้า ฉากหลังที่เป็นเกาะเล็กๆ แยกจากแผ่นดินใหญ่ก็เหมือนกรงกรอบของหญิงสาวนั่นเอง





Tribute to Shyam Benegal
หนังของ ชยาม เบเนกอล ผู้กำกับฯอาวุโสชาวอินเดีย




MANTHAN (The Churning, 1976)
imdb

สัตวแพทย์นักอุดมคติเดินทางมายังหมู่บ้านห่างไกลเพื่อโน้มน้าวให้ชาวบ้านร่วมจัดตั้งสหกรณ์รับซื้อนมในราคาเป็นธรรมโดยไม่แบ่งกลุ่มแบ่งวรรณะแม้แต่พวกดาลิต แต่ถูกขัดขวางโดยนายทุนหน้าเลือดซึ่งเคยรับซื้อนมราคาถูกและหัวหน้าชุมชนที่กีดกันพวกดาลิต รวมทั้งตัวสัตวแพทย์เองที่มีปัญหาส่วนตัวคอยรุมเร้า

เป็นหนังอุดมคติ 30 ปีก่อนที่เน้นความสมจริงมากกว่าดราม่าเร้าอารมณ์ ตัวละครผู้หญิงแสดงออกอย่างมีเพาเวอร์มากๆ (แม้สุดท้ายจะโดนผู้ชายเอาเปรียบอยู่ดี) ชอบที่หนังไม่นำพาไปสู่ตอนจบสวยหรูตามสูตร ถึงผู้สร้างจะทิ้งร่องรอยความหวังไว้บ้าง แต่ก็แทบมองไม่เห็นความเป็นไปได้ตามเงื่อนไขที่เกิดขึ้นในหนัง





BHUMIKA (The Role, 1977)
imdb

เด็กหญิงจากครอบครัวยากจนเข้าสู่วงการภาพยนตร์จนกลายเป็นนางเอกโด่งดัง แต่งงานกับชายสูงวัยกว่าซึ่งมีบุญคุณกับเธอโดยไม่ฟังคำห้ามปรามของแม่ จากนั้นชีวิตของเธอพลิกผันไปไม่สิ้นสุด

อาจด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับโลกมายาเต็มตัว หนังจึงเมโลดราม่ามากกว่าเรื่องอื่น ความบังเอิญเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตัวละครไม่สมจริง และเหมือนจะละข้ามรายละเอียดไปพอสมควรจนขาดความกลมกลืนของเรื่องราว ถึงอย่างนั้น หนังยังอยู่ในระดับที่น่าชื่นชม





SAMAR (Conflict, 1998)
imdb

จากเหตุการณ์จริงปี 1991 ณ หมู่บ้านเล็กๆ ในชนบท ผู้นำหมู่บ้านจอมกดขี่ขัดขวางไม่ให้ทางการติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำในพื้นที่ของพวกดาลิต กลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ

Day for Night (1973) ภาคสังคมวรรณะอินเดีย เพราะเป็นหนังเกี่ยวกับกองถ่ายหนัง นอกจากถ่ายทอดเรื่องราวเหตุการณ์จริงผ่านนักแสดงในหนังแล้ว บางฉากยังใช้บุคคลต้นเรื่อง(ซึ่งก็เป็นนักแสดงของเรื่อง Samar อีกที) มาถ่ายทอดเรื่องราวของตนเอง ขณะเดียวกัน ในกองถ่ายหนังก็เกิดปัญหาเรื่องวรรณะระหว่างนักแสดงที่เล่นเป็นคู่ขัดแย้งในหนัง (งงมั้ย?)

เสียดายปมที่ผูกเอาไว้ดูจะคลี่คลายเองง่ายไปสักหน่อยในช่วงท้าย แต่โดยรวมก็ยังเป็นหนังที่เจ๋งมากๆ อยู่ดี





ZUBEIDAA (2001)
imdb

นักข่าวหนุ่มติดตามเรื่องราวของแม่ซึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่เขายังเด็ก แม่เป็นหญิงสาวลูกนักธุรกิจชาวมุสลิมที่ต้องใช้ชีวิตตามเส้นทางที่พ่อขีดไว้มาตลอด เมื่อได้พบเจ้าชายชาวฮินดูผู้รักเธอหมดใจ เธอจึงเตลิดไปโดยยอมทิ้งลูกชายไว้ที่บ้าน ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุปริศนาจนเสียชีวิต

เรื่องแรกที่ชยามทำหนังสไตล์บอลลีวู้ด มีฉากร้องเพลงเกี้ยวพากลางเขา เป็นอีกเรื่องที่พูดถึงวงการภาพยนตร์ และตัวละครหญิง(ไม่เฉพาะตัวเอก) โดดเด่นกว่าตัวละครชาย ความน่าสนใจอยู่ตรงที่หนังกล่าวถึงศาสนาและการเมืองยุคอินเดียใหม่เป็นฉากหลังสำคัญ คาริสมา คาปูร์ ที่แสดงเป็นนางเอกสวยมาก




สรุป


เรียงลำดับความชอบล้วนๆ

1.Three Monkeys
2.Two Lines
3.The Path
4.Samar
5.Sell Out!
6.Eat, For This Is My Body
7.The Sky, The Earth And The Rain
8.Manthan
9.Cherry Blossoms - Hanami
10.Zubeidaa
11.Bhumika
12.New Age





ตัวละครที่ชอบที่สุด : นางเอกเรื่อง Two Lines (Gülçin Santýrcýoðlu)

เซอร์ไพรส์ที่สุด : Samar

สนุกที่สุด : Sell Out!

ชวนค้นหาที่สุด : Eat, For This Is My Body

ชวนง่วงที่สุด : New Age

เสียดายที่สุด (เพราะไม่ได้ดูและคงหาดูยาก) : Mandi ของ ชยาม เบเนกอล และหนังตุรกีเรื่อง Summer Book

โฆษณาน่ารำคาญที่สุด : ‘ผมเคยจน’ กับ ‘ผมชื่อเนติ’




เพิ่มเติมหนังที่ได้ดูนอกเทศกาลและเขียนถึงแล้ว




Quickie Express อิเหนา จิ๊กโกโล่



Create Date : 05 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2551 5:12:43 น. 10 comments
Counter : 1161 Pageviews.

 
วิจารณ์ซะน่าดูทุกเรื่องเลย แม้แต่เรื่องที่คนวิจารณ์บอกว่าน่าเบื่อที่สุด

ขอบคุณมากครับ


โดย: ชวนคุย วันที่: 5 พฤศจิกายน 2551 เวลา:7:58:27 น.  

 
อยากดูเรื่องนี้ EAT, FOR THIS IS MY BODY


โดย: เช้านี้ยังมีเธอ วันที่: 5 พฤศจิกายน 2551 เวลา:13:58:58 น.  

 
CHERRY BLOSSOMS - HANAMI -ชอบการรำของสาวญี่ปุ่น สวยมากๆและไม่อยากจะเชื่อเหมือนกันค่ะว่าอยู่ๆก็เปลี่ยนตัวละครหลัก หักดิบกันดื้อๆ เป็นจุดเปลี่ยนที่สะเทือนใจมาก

TWO LINES -ชอบที่ทุกอย่างอยู่ที่การกระทำ ไม่ต้องเถียงหรือถกกันให้วุ่นวาย ชอบฉากพระเอกบิดกระจกข้างรถมองนางเอกกับแกลลอนน้ำมันและผู้ชายคนนั้น ขำๆ น่ารักดี

THE SKY, THE EARTH AND THE RAIN -เป็นหนังที่ชอบที่สุดที่ได้ดูในงานนี้ ชอบตัวละคร อานา ชอบฉากเทแอบเปิ้ลทิ้ง ชอบที่ถ่ายภาพสวย แสงก็สวย...

THREE MONKEYS -กงกรรมกงเกวียนเวียนว่าย ชอบที่หนังมันยังไม่จบดี ชอบที่ใครๆก็เป็นคน "หยาบ" ได้กันทั้งนั้น สุดแล้วแต่เหตุผลจะผลักดัน

งานภาพนิ่งแกเทพมากๆ ชอบใบปิดมากๆ (ภาพบนสุด)

ตัวลูกชายบางแว่บเหมือน ไรอัน กอสลิ่งเลย

THE PATH -จบได้ทำร้ายจิตใจยิ่ง



โดย: renton_renton วันที่: 5 พฤศจิกายน 2551 เวลา:19:06:39 น.  

 
ที่ดูเหมือนกันคือ three monkeys เรื่องเดียว ชอบการปรากฏตัวของผีเด็ก ชอบเม็ดเหงื่อคราบไคลยามโคลสอัพใกล้ชิด ตลอดจนบ้านแคบบีบอัดตัวตึกหลังบางริมทางรถไฟ สิ่งเหล่านี้เหมือนองค์ประกอบผลักดันให้บรรดาตัวละครตัดสินใจทำอย่างนั้น


โดย: เอกเช้า IP: 124.122.152.200 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2551 เวลา:22:24:46 น.  

 




WRITE e-Magazine ฉบับที่ 2 ออกแล้ว

1.ฉบับแฟลช (เปิดหน้าคล้ายหนังสือ)
//issuu.com/thai_writer_magazine/docs/write_02

2.ฉบับ PDF แบบหน้าคู่ ขนาด 13.6 MB
//www.thaiwriter.net/WRITE_eMagazine/write_02_pc.pdf

3.ฉบับ PDF แบบหน้าเดี่ยว ขนาด 13.5 MB
//www.thaiwriter.net/WRITE_eMagazine/write_02.pdf

จากบอร์ด thai writer


ผมเขียนเกี่ยวกับ Waiting for Godot - คอยโกโดต์ - คอย ก.ด.





โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 5 พฤศจิกายน 2551 เวลา:23:00:10 น.  

 
World Film ผมดูแค่เรื่องเดียว แถมดันเป็น A Paralyzed Circus ฮ่าาๆๆๆ


โดย: merveillesxx วันที่: 6 พฤศจิกายน 2551 เวลา:4:16:32 น.  

 
ตอนแรกจะไปดูเรื่อง Sell Out! ครับ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวที่เวลาเหมาะ (และอยากดู) แต่ไม่รู้ไปทำเวรทำกรรมอะไรมา ต้องมาประชุมวันนั้นพอดี -*- ผลก็เลยทำให้ผมพลาดการดูเรื่องนี้ ที่อาจจะไม่ได้ดูตลอดชีวิตแล้วก็เป็นได้ (เอ หรือว่ามันจะมีแผ่นหนอ)


โดย: BloodyMonday วันที่: 6 พฤศจิกายน 2551 เวลา:19:05:04 น.  

 
เซอร์ไพรส์ที่สุดของผมคือ The Path แล้วก็ Seven Dumpsters and a Corpse ครับ
โหดร้ายกันไปคนละแบบ ฮ่าๆ

อยากให้พวกหัวหาดที่ได้รางวัลเมืองคานส์อย่าง The Class, Gomorrah, Il Divo มาฉายที่เทศกาลหนังยุโรปจริงๆเล้ยยย


โดย: nanoguy IP: 125.24.127.184 วันที่: 7 พฤศจิกายน 2551 เวลา:3:12:54 น.  

 
ป๊าดส์ สุดยอดๆ


โดย: haro_haro วันที่: 7 พฤศจิกายน 2551 เวลา:17:20:09 น.  

 
มีเรื่อง George Washington ด้วยเหรอครับ อยากรู้ว่าจะสามารถซื้อได้จากไหน...


โดย: BdMd IP: 124.120.66.94 วันที่: 8 พฤศจิกายน 2551 เวลา:12:20:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
5 พฤศจิกายน 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.