นึกย้อนไปถึงสิ่งที่เซนเซร่างกลมโตท่านนึงที่ชื่อว่า ชิโมยาม่าเซนเซ รอบปลายเดือนมีนาคม ที่มีโอกาสไปโคโดกังกับนักเรียนนายร้อยตำรวจ ในช่วงเวลาสั้นๆ ในส่วนของเนื้อหาที่เซนเซได้อธิบาย เกี่ยวกับยูโด ที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เซนเซมียกตัวอย่างในทางปฏิบัติ ให้นักเรียนสองคนออกมาเอาฝ่ามือสองข้างดันกัน ดันกันโดยต่างฝ่ายต่างออกแรงเต็มที่....แล้วบอกว่าแบบนี้ไม่ใช่ยูโด!!! (มันก็คงไม่ใช่แหละ แลดูเหมือนหนังจีนกำลังประมือต่อสู้กับด้วยกำลังภายใน)
ถัดมาเป็นอีกตัวอย่างนึง เป็นการจับเหมือนกับที่ยูโดจับกันคือมือนึงจับคอเสื้อ อีกมือนึงจับแขนเสื้อ แล้วให้ทั้งคู่ที่จับกันนั้น ออกแรงดึงกันให้เต็มที่....แล้วก็บอกว่า แบบนี้ไม่ใช่ยูโด!!! (มึงจะเอาไงกับกูวะ??)
ย้อยกลับไปอีกหน่อยนึง เมื่อสองปีที่แล้ว ได้หนังสือมาเล่มนึง ชื่อว่า 「Jigoro Kano and The Kodokan」พิมพ์เมื่อ 31 มีนาคม ปี2009 แต่เพิ่มมามีโอกาสได้อ่านเมื่อตอน 2015 ในหนังสือเล่มนี้ มีย่อหน้าเล็กๆย่อหน้านึง เรื่องของแรงกับยูโดที่คาโน่จิโกโร่ได้เคยพูดไว้ สิ่งที่อธิบายไว้คือคาโน่จิโกโร่ไม่เคยบอกว่ายูโดไม่ใช้แรง!!! แต่ยูโดคือการใช้และควบคุมแรงให้มีประสิทธิภาพ (ขอเพิ่มเติมกับคำว่า "ประสิทธิภาพ" ตามหลักเศรษฐศาสตร์คือการใช้สิ่งที่มีอยู่ให้สิ้นเปลืองน้อยที่สุดแล้วได้ผลลัพธ์ออกมาคุ้มค่าที่สุด) ดังนั้นยูโดคือการไม่ฟุ่มเฟื่อยในสิ่งที่เราเรียกว่าแรง แต่แรงยังจำเป็นสำหรับยูโดเสมอ ไม่มีแรงก็ไม่ใช่ยูโด ตรงส่วนนี้ถือเป็นแก่นพื้นฐานสำคัญของยูโด ถึงได้มีคำขวัญของยูโดว่า "เซเรียวกุเซโย จิตะเกียวเอ" (เคยเขียนไปแล้ว ไปหาอ่านกันในบล๊อคได้ครับ)
ตัดกลับมาที่เนื้อหาของชิโมยาม่าเซนเซ การที่นายร้อยสองนาย ต่างคนต่างดันหรือต่างคนต่างดึง ด้วยแรงที่มีอยู่ มันไม่ใช่ยูโด เพราะยูโดคือการใช้แรงที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ต่างคนต่างดึงหรือดันมันเหนื่อย...มันฟุ่มเฟื่อย ประสิทธิภาพอยู่ตรงไหน??? แบบนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องมาซ้อมยูโดกันละ เข้าฟิตเนสไปยกเหล็กอัพร่างกันให้เยอะ ใครแรงเยอะกว่าก็ชนะไป แล้วที่บอกว่ายูโดเป็นศิลปะที่คนตัวเล็กสามารถทุ่มคนตัวโตได้มันก็เป็นแค่เรื่องสมมุติใช่มั้ย....
เอาตัวอย่างเดิม อันแรกเรื่องการดัน ถ้าฝ่ายนึงดันมา เราเข้าใจหรือรู้สึกว่าแรงถูกส่งมาด้านหน้า เราเบี่ยงหลบออกด้านข้าง ฝ่ายที่ดันเข้ามาด้วยแรงก็จะเสียหลักมาด้านหน้า ตรงนั้นเป็นโอกาส ตรงนั้นถึงเรียกว่ายูโด.........มาขยายความเพิ่มเติมเราเข้าใจหรือรู้สึกว่าแรงถูกส่งมาด้านหน้า "เราเบี่ยงหลบออกด้านข้าง" การเบี่ยงหลบออกด้านข้าง ตรงนี้คือการขยับร่างกาย การขยับร่างกายก็เช่นกันไม่ควรที่จะเปลืองหรือฟุ่มเฟือย ควรเป็นการขยับแต่น้อยแต่เพิ่มการส่งแรงออกไปได้มาก ในส่วนนี้ภาษายูโดเรียกว่า "ไทซาบากิ" ในตัวอย่างท่าทุ่มที่เซนเซเอามาใช้ให้เห็นภาพแบบง่ายๆคือ ท่าซาซาเอะทรึริโกมิอาชิ ท่าเดอาชิบารัย ท่าโคอุจิการิ (แต่เมื่อปีที่แล้ว และสองปีก่อนช่วงซัมเมอร์คอร์ส ผมโดนเยอะกว่านั้นตัวอย่างเช่น เซโอนาเกะ ฮาไรโกชิ อุจิมาตะ รวมถึงโทโมนาเกะด้วย) อันนี้คือการอธิบายพร้อมปฏิบัติในทางยูโดเมื่อเจอฝั่งตรงข้ามดันเข้ามา
ถ้าเป็นการดึงกันบ้างละ ต่างคนต่างดึงสุดแรง ฝั่งเราไม่ดึงสู้...ก็จะถูกดึงเข้าไปด้วยแรงของฝั่งตรงข้าม ตรงจุดนั้นตามแรงไปด้วยโอโซโตการิ (ตัวอย่างที่เซนเซใช้ประมาณสองท่าคือโอโซโตการิกับฮาไรทรึริโกมิอาชิ)
สรุปสั้นๆ ยูโด อย่าเน้นแต่กำลังของตัวเราที่มีอยู่ พยายามหัดดึงเอาแรงของฝั่งตรงข้ามมาใช้ด้วย พูดง่ายแต่ทำยากครับผม
กลับมาเรื่องของการซ้อมของเราๆกันบ้างว่าจะทำยังไงกันดี?
② แรกสุด ซ้อมวนเท้าก่อน(ข้อ①เดี๋ยวอ่านไปเรื่อยๆจะเจอเอง)นอกจากวนหมุนตัว180องศา วนแบบเก้าสิบองศาด้วย จริงๆควรวนแบบ90องศาให้คล่องก่อนจะไป180 เพราะตามที่เซนเซอธิบายและทำให้ดู การเบี่ยงตัวแบบเฉียดฉิว (คำว่าเฉียวฉิว คงประมาณการใช้ขาปัดกลับในท่าสึบาเมะไคเอชินั้นแหละ ที่ต้องทำแบบเฉียดฉิว) จะสร้างจังหวะให้ฝั่งตรงข้ามเหวอ มันเป็นโอกาสที่จะทุ่มได้ดี
③ ถัดมาซ้อมอุจิโกมิอุจิโกมิถ้าญี่ปุ่นคือการเข้าท่า แต่ของไทยแปลได้สองแบบคือการเข้าท่า กับการฝึกดึง สเต็ปแรกไปแบบไทยๆก็ฝึกดึงนั้นแหละ ดึงให้รู้ ดึงให้หุ่นเสียหลักเป็นยังไง ดึงให้รู้ว่าจะเอาการขยับตัว(ไทซาบากิ)มาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดคุสุชิเป็นอย่างไร เพราะตามตัวอย่างที่เซนเซทำให้ดู แค่เบี่ยงตัวออกอย่างเดียวไม่ดีพอ เพราะสเต็ปในการทุ่มเกิดจากคุสุชิ สกุริ และคาเคะ เบี่ยงหลบได้แล้วต้องใส่ต่อตามไปด้วยคุสุชิ คือการเสริมให้หุ่นเสียหลักมากขึ้นไปอีก
④ ถัดจากอุจิโกมิ ก็คือการเข้าท่าในเทคนิคท่าทุ่มต่างๆอันนี้ก็คือฝึกเข้าท่าให้ชำนาญ พอเบี่ยงหลบ, ทำหุ่นเสียหลักได้แล้ว, ก็ต้องมีเทคนิคท่าทุ่มที่กดปุ่มแล้วต้องออกมาทันกับจังหวะที่ต้องการใช้ ซ้อมตัวนี้แล้วต่อไปที่นาเกโกมิ (การเข้าท่าทุ่ม) ตัวนาเกโกมิมันฝึกเพิ่มเติมจนครบวงจรทุ่ม ทั้ง1คุสุชิ 2สกุริ 3คาเคะ (ไอ้สามตัวนี้ ไปหาอ่านเอาเองในบล๊อคน่าจะมีพูดไปหลายครั้งละ)
① อุเกมิทำไล่มา2-3-4แต่ยังทุ่มใครไม่ได้ ไม่ต้องแปลกใจ เพราะขาดข้อ①ไป อุเกมิยังไม่แน่น กลัวที่จะเจ็บตอนถูกทุ่ม ทำให้ออกแรงต้าน ออกแรงเกร็ง ถ่วงท่าที่ควรจะอ่อนไหวพลิ้วไหวดั่งสายน้ำ เปลี่ยนไปเป็นแข็งราวกับโรบอท อุเกมิสำคัญ อาจารย์ท่านไหนก็บอกไว้ว่าตบเบาะสำคัญ พูดเหมือนกันทุกท่าน ก๊อปกันมารึเปล่า? ที่ว่า ยูโดก่อนที่จะเรียนรู้การทุ่มคนอื่นต้องหัดรู้จักการล้มเองซะก่อน (คำพูดนี้ดูดีจัง ไม่คิดว่าจะได้พูดเองบ้าง555)
เพิ่มเติมนิดนึง เกี่ยวกับท่าทุ่ม ส่วนใหญ่สายขาวที่พบเจอคือ ซ้อมท่าอะไรมา ตอนไปรันโดริ ลืมหมด!!!! ดึงเอาสัญชาติญาณในการเอาตัวรอดออกมาใช้แทน ท่าทุ่มอะไรหายหมดกลายเป็นซูโม่ผสมมวยปล้ำหรือถ้าเตะกับศอกใช้ได้ มวยไทยคงโผล่ออกมาแน่ๆ ซ้อมเข้าท่าอะไรไว้ ซ้อมท่าทุ่มท่าไหนกันมา พยายามคิดและลองเอาออกมาทดลองใช้ตอนรันโดริกันด้วยครับ แรกๆมันใช้ไม่ออกหรอก แต่ถ้าไม่เริ่มเมื่อไหร่จะใช้ออก (ถ้าจะเล่นแบบกอดเอวเหวี่ยงทุ่ม ทำไมตอนซ้อมอุจิโกมิไม่ซ้อมกอดเอวกัน?) ถ้าท่าที่เอาออกมาทุ่มมั่วๆแล้วทุ่มได้ เราตะมาเสียเวลาฝึกซ้อมการเข้าท่ากันไปทำไม ในเมื่อท่ามั่วมันก็ทุ่มได้ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ต้องซ้อมกันละ เปลี่ยนชุดแล้วรันกันเลย รีบรันรีบกลับไม่ต้องมาวนเท้า เข้าท่า ซ้อมทุ่ม กันให้เหนื่อยหรอกครับ
ยาวไปละ...แค่อยากเห็นน้องใหม่ๆที่เล่นยูโด เข้าใจในเรื่องของแรงกับยูโด,ใช้แรงให้คุ้มค่าอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเข้าใจตรงจุดนี้การทุ่มหรือการสร้างจังหวะในการทุ่มมันจะมีออกมาให้เห็นเยอะกว่านี้ เยอะกว่าการที่จับๆตรึงๆกันใส่แรงเต็มๆโดยทำอะไรกันไม่ได้