Little drops of water, Little grains of sand Make the mighty Ocean, and the pleasant land. Little deeds of kindness, Little words of love Help to make Earth Happy, Like the Heven above.
Group Blog
 
All Blogs
 

Heifetz as I knew him(8) ตอนจบ

จากตอนที่แล้ว ท่านผู้อ่าน อาจจะดูเหมือนว่าช่วงชีวิตของ Heifetz หลังจากเลิกสอนไวโอลิน ดูจะมีความสุขมากกับการเล่นดนตรี และการทำงาน Transcription

แต่แท้จริงแล้ว ช่วงระหว่างรอยต่อ ก่อนหน้าที่เขาจะเลิกสอนและอยู่กับบ้าน ทั้ง Agus และ Heifetz ต่างต้องประสพกับช่วงเวลาที่ยากลำบากมาด้วยกัน


สาเหตุของเรื่องต่างๆก็เกิดมาจากนิสัยของ Heifetz นั่นหล่ะ ด้วยความที่เขาเป็นคนขี้หงุดหงิด และไม่เคยไว้ใจใคร เขาชอบเล่นเกมส์กับความรู้สึกของคน ชอบเฝ้าสังเกตุพฤติกรรมต่างๆของคนที่เข้ามาใกล้ชิดเขาเมื่อถูกกระทำ


ในความคิดของ Heifetz คนที่อดทนยอมรับมันได้ คนที่ตอบสนองแบบที่เขาต้องการ คนที่ไม่ถือโทษและมีความจริงใจอย่างแท้จริงเท่านั้น จึงจะได้รับการยอมรับ และในขณะเดียวกันหากใครทำผิดพลาด เขาเหล่านั้นจะไม่เคยได้รับโอกาสครั้งที่ 2


ด้วยเหตุนี้ คนที่เป็น “เพื่อน” กับ Heifetz จึงมีน้อยมาก และเมื่อเวลาผ่านไปก็น้อยลงเรื่อยๆ และในจำนวนนั้นบางครั้ง ก็กลับกลายเป็นแค่ “คนที่เคยเป็นเพื่อน”


ในอดีต ตอนที่เขามีเพื่อนมากมาย และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก นิสัยส่วนตัวของเขา ดูจะไม่มีปัญหาอะไรเท่าไหร่ (หรือถึงจะมี เขาก็ไม่เคยสนใจ) แต่เมื่อเวลาผ่านไปนิสัยต่างๆของ Heifetz นี้เอง ที่สร้างปัญหาให้กับตัวเขาเอง



เรื่องที่บั่นทอนชีวิตของ Heifetz เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974

ในตอนนั้นชั้นเรียนของ Heifetz ถูกย้ายจาก Clark house ไปยังตึกใหม่
ตึกคอนกรีตหลังใหม่นี้ เต็มไปด้วยบรรยากาศอันเย็นชา ทางเดินของที่นี่เป็นเพียงช่องแคบๆที่สามารถเดินสวนกันได้เพียงทีละ 2 คน


ประตูหน้าต่างของห้องเรียนที่นี่ไม่เคยเปิด เพราะมีการเปิดแอร์ปรับอุณหภูมิตลอดเวลา แถมมันยังส่งเสียงรบกวนต่ำๆให้รำคาญหูของ Heifetz เสียด้วย


ที่ตึกใหม่นี้มีบรรยากาศที่แตกต่างจาก Clark house โดยสิ้นเชิง ที่ Clark house Heifetz มีความรู้สึกเหมือนอยู่ที่บ้าน และไม่ว่าเขาจะเดินไปทางไหน ก็จะสามารถพบปะกับคนคุ้นเคยได้ตลอดเวลา ในขณะที่ตึกใหม่นี้ ทุกครั้งที่เขาเปิดประตู จะพบแต่คำทักทายจากคนที่ไม่รู้จักเขาว่า


“สวัสดีครับ/ค่ะ มีอะไรให้รับใช้?”



ที่ตึกใหม่นี้ Heifetz ได้รับห้องส่วนตัว ซึ่งติดอยู่กับห้องเรียนของเขา แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้เขามีความสุขที่นี่เลย


Heifetz พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้บรรยากาศของห้องเรียนที่ตึกใหม่นี่ คล้ายคลึงกับห้องเรียนที่เดิม และด้วยความช่วยเหลือจาก ท่านคณบดี Beglarian จึงทำให้เขาได้รับอนุญาตให้เปิดหน้าต่างห้องเรียน เพื่อที่จะได้ยินเสียงนกร้องเพลง แถมเขายังได้ปลูกต้นไม้ที่ริมหน้าต่าง เพื่อให้มีบรรยากาศเหมือนกับห้องเรียนเดิมอีกด้วย


แต่ทว่า Heifetz ผู้น่าสงสาร เสียงที่ได้ยินจากการเปิดหน้าต่างที่ตึกใหม่นี้ กลับไม่ใช่เสียงนกร้องอย่างที่เขาอยากจะฟัง แต่กลับเป็นเสียงรบกวนจากกลุ่มนักเรียนที่อยู่ข้างล่างแทน


นอกจากนี้ที่ตึกใหม่ ยังไม่มีพื้นที่ให้นักเรียนได้พบปะสังสรรค์ ไม่มีที่ให้นั่งคุยและทานอาหารกลางวัน หรือพักผ่อนเหมือนที่ Clark house ซึ่ง Heifetz มองว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น เขาจึงเสาะหาพื้นที่ดังกล่าวด้วยตัวเขาเอง และพบว่า พื้นที่บนดาดฟ้า ดูจะเหมาะสมที่สุด และแน่นอนเขาต้องต่อสู้กับเรื่องนี้อย่างมาก เพราะถูกคัดค้านอย่างหนักจากมหาวิทยาลัย


แต่แล้วความพยายามทั้งหลายของ Heifetz ในการปรับปรุงสิ่งต่างๆเหล่านี้ ต้องหยุดชะงักลงเมื่อท่านคณบดี Beglarian เพื่อนแท้ของเขาเพียงคนเดียวในมหาลัยแห่งนี้ ลาออกไป


ตลอดเวลา ท่านคณบดี Beglarian เป็นบุคคลที่ช่วยดูแลและปกป้อง Heifetz ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อขาดเขาไป Heifetz จึงต้องรับมือกับปัญหาภายในมหาวิทยาลัยมากมาย โดยเฉพาะเรื่องความมีอภิสิทธิ์ของเขาในคณะ




อันที่จริงแล้ว ในอดีต ท่านคณบดี Baglarian เคยตั้งกองทุนขึ้นมา เพื่อให้ Heifetz และ Piatigorsky ได้เปิดชั้นเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยได้อย่างถูกต้อง


ซึ่งในกองทุนนี้ Heifetz ได้บริจาคเงินรายได้ทั้งหมดจากการแสดงคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายของเขา ที่ Los Angeles Music Center ในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 1972 เพื่อสมทบทุน ช่วยปรับปรุงรายได้ของคณะดนตรีที่ USC


แต่หลังจากนั้น Heifetz ก็ไม่เคยสนใจว่าเงินจำนวนนี้ถูกใช้จ่ายอย่างไร จนกระทั้งเมื่อมันลดลงถึงระดับที่น่าตกใจ ซึ่งเขาคิดว่าการบริหารเงินที่ผิดพลาดนี้ คงเป็นส่วนหนึ่งที่ท่านคณบดีต้องลาออกไป


Heifetz ยอมพบกับท่านคณบดีคนใหม่ ยอมจับมือต้อนรับด้วย แต่ก็เพียงเพื่อให้ชั้นเรียนของเขาคงอยู่ต่อไปเท่านั้น และรีบออกจากงานเลี้ยงต้อนรับในทันทีที่ทักทายครบแล้วทุกคน

แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ท่านคณบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งได้ไม่นานก็เสียชีวิตลง ดังนั้นจะต้องมีการค้นหาบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้ต่อไป


ในช่วงเวลานี้ Heifetz เองก็เริ่มเหนื่อยหน่ายกับการเดินทางไปสอนที่มหาวิทยาลัย แม้จะเพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้งก็ตาม จริงอยู่ว่าในตอนนั้น Heifetz อายุ 81 ปีแล้ว และแม้ว่าเขาจะเบื่อหน่ายการจราจรใน LA ที่คับคั่งขึ้นทุกวัน แต่สาเหตุที่แท้จริงนั้นน่าจะมาจากความเย็นชาของบรรยากาศในวิทยาลัยมากกว่า


แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สุดท้าย เขาจึงตัดสินใจย้ายชั้นเรียนไปที่สตูดิโอของเขาที่ Beverly Hill โดยไม่สนใจว่า การจะย้ายไปเรียนที่นั่น เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีการขออนุญาตและปรึกษากับมหาวิทยาลัยเป็นพิเศษเสียก่อน


หลังจากนั้น ก็มีปัญหาเรื่องตำแหน่งของ Heifetz ในมหาวิทยาลัยตามมา เขาต้องเจรจากับท่านคณบดีคนใหม่ ถึงสัญญาในการทำงานของเขาต่อไปในมหาวิืทยาลัย ซึ่งฉันคิดว่าปัญหาอย่างหนึ่งที่มีการถกเถียงกันคือเรื่องเงินเดือนของเขา

Heifetz ถูกเรียกไปพบกับท่านคณบดีคนใหม่ เพื่อเจรจาเรื่องสถานที่ ที่เขาจะใช้ในการสอนและเรื่องเงินเดือนของเขา เพราะตอนนี้เงินในกองทุนที่เคยมี ถูกใช้ไปจนเกือบหมดแล้ว ซึ่งนั่นหมายถึงจากนี้ต่อไป เงินใช้จ่ายในชั้นเรียนทั้งหมดของเขา จะมาจากมหาวิทยาลัยเท่านั้น

จำนวนนักเรียนขั้นต่ำในชั้นเรียนที่ถูกกำหนดขึ้น เป็นเรื่องที่เขายอมรับไม่ได้ และไม่ยอมเจรจา

ปัญหาต่างๆของ Heifetz ถูกยกขึ้นมาเป็นหัวข้อถกเถียงกันในที่ประชุม และไม่มีใครเลยซักคนขึ้นมาโต้แย้ง


หลังจากเกือบหมดช่วงภาคเรียนที่ 2 Heifetz ได้รับจดหมายจากคณบดีคนใหม่ ซึ่งแจ้งถึงเงินค่าใช้จ่ายของกองทุนชั้นเรียนของเขา แต่เงินจำนวนนี้เพียงพอที่จะใช้จ่ายเป็นเงินเดือนของเขา ของผู้ช่วย และของฉัน เฉพาะในเทอมนี้เท่านั้น


แล้วในที่สุด Heifetz ก็ตัดสินใจลาออก ก่อนที่จะถูกไล่ออก ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1983 นี่เอง







Jascha Heifetz Melodie จากบัลเล่ห์เรื่อง Orfeo ed Euridice
แต่งโดย Christoph Willibald von Gluck

คลิปนี้เป็นฉบับที่ Heifetz ทำ Transcribtion ขึ้นมา
Accompanist คือ Emanuel Bay



แต่อันที่จริงแล้วปัญหาที่เกิดในมหาวิทยาลัย ไม่ได้ทำร้ายความรู้สึก Heifetz มากนัก สิ่งที่ทำให้เขาเสียใจนั้นคือ การที่ไม่ได้สอนไวโอลินแบบที่ผ่านมากกว่า


Heifetz ตัดสินใจสอนไวโอลินต่อไปที่สตูดิโอส่วนตัวของเขา แต่ทว่ามันไม่ง่ายเลย
นักเรียนส่วนใหญ่สมัครเรียนกับเขาผ่านทางมหาวิทยาลัย และทราบแต่เพียงว่า Heifetz ไม่ได้สอนที่นั่นอีกแล้ว แต่ไม่มีการบอกต่อกันไปว่าเขาสอนอยู่ที่ไหน


จำนวนผู้สมัครเรียนลดจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ แต่ Heifetz ก็ยังคงไม่ยอมแพ้ และยังคนสอนต่อไปเรื่อยๆจนเวลาไปผ่านถึงปลายปี ค.ศ. 1985

มีแต่ผู้สมัครที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ก็มีแต่ผู้สมัครที่ต้องการเรียนส่วนตัวเท่านั้น


ในช่วงระหว่างปีนั้นฉันได้รับเงินเดือนจากทั้งที่มหาวิทยาลัย ในฐานะนักเปียโนประจำชั้นเรียนของ Heifetz และจากเงินเดือน จากเงินส่วนตัวของเขา ในฐานะนักเปียโนในชั้นเรียนส่วนตัวของเขา

แต่เมื่อจำนวนนักเรียนในชั้นลดน้อยลง Heifetz จึงจำเป็นต้องหาตำแหน่งใหม่ให้ฉัน เพื่อที่ฉันจะได้อยู่ได้อย่างถูกต้อง


ด้วยความบังเอิญที่ขณะนั้น เลขาของ Heifetz ซึ่งทำงานร่วมกับเขามานานถึง 15 ปี เกิดลาออกไปแต่งงาน ซึ่งนั่นทำให้เขาต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก ดังนั้นเขาจึงแต่งตั้งฉันให้เป็นผู้จัดการดูแลบ้านของเขา


แต่หลังจากผ่านไป 2 -3 เดือน เมื่อเขาคิดได้ว่า ถ้าฉันอยู่ในตำแหน่ง "ผู้จัดการ" เขาก็จะต้องถูกดูแลอีก Heifetz มีความทรงจำที่ไม่ดีตั้งแต่ครั้งสมัยออกทัวร์คอนเสิร์ต ทำให้ เขาเกลียดคำว่า “ผู้จัดการ” เข้ากระดูก


ดังนั้นเขาจึงมาถามความเห็นฉันว่า เขาควรจะเรียกฉันว่าอะไรดี


ฉันตอบไปว่า จะเรียกฉันว่าอะไรก็ได้ ที่เหมาะสมกับความรับผิดชอบมากมายที่ฉันต้องทำ ตั้งแต่ เป็นแม่บ้าน,ผู้จัดการ,นักเปียโน,ผู้ร่วมงานทางดนตรี, organizer, ช่างซ่อมบำรุง บลาๆๆๆ

นอกเหนือจากนั้นฉันยังต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายบุคคลที่ต้องคอยหาแม่บ้าน และ เลขาคนใหม่ให้เขาทุกสัปดาห์


แล้วสุดท้าย ฉันก็ตอบว่า ชื่อตำแหน่งที่ฉันควรจะได้รับคือ

“unofficial private accompanist”

หรือแปลกันง่ายๆว่า “ผู้ร่วมงานส่วนตัวแบบไม่เป็นทางการ” นั่นเอง





เหตุการณ์ต่างๆเลวร้ายลงไปอีก เมื่อ Heifetz ตัดสินใจขายบ้านพักตากอากาศที่ Malibu


ช่วงเวลานั้นมีเหตุเกิดพายุรุนแรง ซึ่งสร้างความเสียหายแก่บ้านที่ริมหาดหลายหลังรวมทั้งบ้านของ Heifetz ด้วย

มีทรายหนาเป็นนิ้วทะลักเข้ามาในห้องนั่งเล่น ข้าวของภายในบ้านกระจัดกระจายแตกเีสียหาย และที่สำคัญคือสวนของ Heifetz ถูกพังราบเป็นหน้ากลอง


Heifetz ออกคำสั่งให้ฉันทำอะไรซักอย่าง เพื่อให้บ้านกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด เขาต้องการจะซ่อมแซมทุกอย่างให้มีสภาพแหมือนก่อนโดนพายุทุกประการ


โชคร้ายที่แบบแปลนบ้านก็ถูกทำลายไปด้วย และฉันเองก็ไม่ใช่สถาปนิก แต่ Heifetz ก็ยังคงยืนกรานไม่ยอมลดละ

ฉันจำต้องวาดรูปบ้านและสวนจากความทรงจำในอดีต แล้วเอาไปให้ช่างซ่อมดู เพื่อซ่อมแซมบ้านให้เหมือนเดิมมากทีุ่สุด


แต่ในความคิดของฉันการที่เขาตัดสินใจขายบ้านที่ Malibu ไม่ใช่เพราะปัญหาเรื่องการเงิน และไม่ใช่เพราะบ้านถูกพายุพังทะลาย


สิ่งที่ทำให้ Heifetz ตัดสินใจขายบ้านหลังนั้น เพราะสภาพแวดล้อมรอบๆบ้านเปลี่ยนแปลงไปต่างหาก


เพื่อนบ้านคนใหม่ ซึ่งเปิดวิทยุเพลง Rock เสียงดัง ทั้งๆที่ตัวเองไม่อยู่บ้าน เสียงรบกวนจาก jet ski เครื่องเล่นทางน้ำอื่นๆ และเสียงเฮลิคอร์ปเตอร์

แล้วไหนจะยังเรื่องการย้ายเข้ามาของดาราดังๆทั้งหลาย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และคนแปลกหน้าต่างๆให้เข้ามา


แม้ว่าเขาจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อคงสภาพแวดล้อมต่างๆให้เหมือนเดิม ทั้งการสั่งให้ฉันไปเจราจากับเพื่อนบ้าน หรือ แม้แต่พึ่งกฏหมาย Heifetz ยังคงเหมือนเดิม ทั้งที่โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว


แล้วในที่สุดเขาก็ยอมแพ้ และขายบ้านอันเป็นที่รักหลังนั้นไป



รูป Heifetz กับ Jack benny ดาราตลก ผู้มีชื่อเสียง


สุดท้าย เมื่อโลกของ Heifetz เหลืออยู่แต่เพียงบ้านที่ Beverly Hill ประกอบกับการที่เขามีโอกาสได้พบปะผู้คนน้อยลงเรื่อยๆ นั่นทำให้เขาหันเหความสนใจทั้งหมดมาที่ฉัน และคอยติดตามทุกสิ่งที่ฉันทำทุกฝีก้าว


แต่ถึงกระนั้น ด้วยความที่เขาเป็นคนขี้ระแวง แม้แต่ฉันซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเขามานานก็ไม่มีข้อยกเว้น

อะไรที่ทำให้เด็กผู้หญิงคนนี้ยังคงอยู่กับฉัน เธอต้องการอะไร ทำไมเธอถึงไม่ทิ้งฉันไปแล้วไปใช้ชีวิตของตนเองแบบที่คนอื่นๆทำ


เมื่อคิดได้ดังนั้น เขาก็ทำทุกวิถีทาง เพื่อทดสอบฉัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำจัดฉันออกไปจากชีวิตของเขา


Heifetz เริ่มต้นด้วยการทดสอบความต้องการเงินของฉัน โดยแกล้งขึ้นเงินเดือนให้ แล้วต่อมา 2-3 เดือน เขาก็ลดมันลงสู่ระดับที่น่าตกใจในเดือนถัดไป จากนั้นก็รอดูปฏิกิริยาตอบสนองจากฉัน

แน่นอน ฉันประท้วงเขา และถึงแม้ว่าเขาจะมองว่า “เงิน” นั้นสามารถซื้อได้ทุกอย่าง แต่ฉันก็เถียงกลับไปว่า “เงิน” ของเขานั้นไม่สามารถซื้อ แม่บ้านดีๆ ที่สามารถทำทุกอย่างได้ถูกใจเขาได้หรอก


ต่อมาเขาก็หาเรื่องฉันอีกครั้ง โดยการตั้งข้อสงสัยว่าฉันอยากจะฆ่าเขา

บ่ายวันนึงขณะที่ Heifetz กำลังนั่งดื่มอยู่ที่บาร์ เขาจ้องมองมาที่ฉันด้วยสายตาเย็นชา แล้วจู่ๆก็ถามขึ้นมาว่า


“เธอใส่ยาพิษลงในเครื่องดื่มของฉันใช่ไหม มันคือยาอะไร มันคือยาเบื่อหนูใช่หรือเปล่า?”



เขาไม่ได้ถามฉันด้วยอารมณ์ขันหรือตั้งใจจะหยอกล้อ แต่ถามฉันด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง พร้อมกับสีหน้าอันเคร่งเครียดที่บ่งบอกให้รู้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

ฉันโมโหมาก เพราะการถูกกล่าวหากันแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่คนสนิทกันควรจะทำ ฉันตัดสินใจหยิบแก้วมาจากมือของเขา แล้วค่อยๆดื่มมันช้าๆต่อหน้าเขา และบอกเขาว่ารสชาติของมันไม่ได้ผิดแปลกอะไรจากที่ควรจะเป็นเลย


เขาเฝ้าดูฉันด้วยท่าทางสงสัยอยู่พักนึง เหมือนจะรอดูว่าฉันเกิดอาการอะไรไหมหลังจากดื่มน้ำนั่นเข้าไป แต่แล้วเขาก็เปลี่ยนใจ และเดินไปที่สตูดิโอโดยที่ไม่พูดอะไรเลยซักคำ






นอกจากนี้แล้ว Heifetz ยังสร้างปัญหาน่าปวดหัวให้กับฉันมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องการหาแม่บ้าน


Heifetz เป็นคนที่ใช้แม่บ้านเปลืองมากๆ แม่บ้านบางคนทำงานอยู่ได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ และบางคน ก็ถูกไล่ออกตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงานด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลประหลาดๆเช่น เธอคนนี้มีแววตาน่ากลัว และเขาคิดว่าเธอคนนั้นจะฆ่าเขา


แต่ปัญหาในการเสาะหาแม่บ้านกลายเป็นเรื่องเล็กเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ เพราะหลังจากที่เขาขายบ้านที่ Malibu Heifetz ก็กลายเป็นคนซึมเศร้า และมีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆทุกวัน


ตลอดเวลาในช่วงนี้ Heifetz ยังคงทดสอบเพื่อค้นหาความชั่วร้ายของฉัน

มีผู้คนมามายที่ละทิ้งเขาไป ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากตัว Heifetz เองที่เป็นคนกำจัดเขาเหล่านั้น Heifetz ไม่เคยไปเยี่ยมใคร และไม่เคยมีใครมาเยี่ยมเขา และนั่นยิ่งทำให้เขาเกิดคำถามว่า ยายเด็กบ้านป่าจากอินโดนีเซียคนนี้ มัวทำอะไรอยู่ที่นี่ ทั้งๆที่เขาพยายามทุกวิถีทางที่จะกำจัดเธอออกไปให้พ้นทาง


แต่ถึงอย่างนั้น ฉันก็ไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจตัดความสัมพันธ์กับฉัน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นมนุษย์คนสุดท้ายที่ยังยอมคบกับเขาอยู่


แต่ถึงแม้ว่าเขาจะร้ายกับฉันยังไง ฉันก็ยังคงไม่จากไปอยู่ดี มีเพียงวิธีเดียวที่เขาจะกำจัดฉันไปได้ คือไล่ฉันออก ซึ่ง Heifetz ไม่เคยทำเช่นนั้น เพราะเขารู้ว่า ฉันยังจำเป็นสำหรับเขาอยู่


วันนึงเขาสั่งให้ฉันนั่งเก้าอี้ตรงข้ามกับเขา แล้วเริ่มร่ายยาวถึงเหตุการณ์ในอดีตเป็นชั่วโมง เขาพูดถึงแต่เรื่องเลวร้ายที่ฉันทำกับเขา และกล่าวโทษถึงสิ่งที่ฉันทำผิดพลาดในอดีต

และเมื่อฉันบอกเขาว่าไม่ต้องการจะฟังอีกต่อไป เขากลับผลักฉันไปที่เก้าอี้ และตะโกนใส่ฉัน


“เธอจะต้องฟัง จนกว่าฉันจะพูดจบ”


ในตอนนี้ฉันหมดสิ้นความอดทนทุกอย่างแล้ว ฉันโมโห และเริ่มโต้เถียงด้วยเสียงในระดับความดังเช่นเดียวกับที่เขาตะโกนใส่ฉัน


ทุกครั้งที่เราทะเลาะกัน ฉันมักจะปลอบใจตัวเอง ว่านิสัยของเขานั้นมีพื้นฐานมาจากสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตมา ประกอบกับสิ่งที่เขาต้องเผชิญในตอนที่เป็นผู้ใหญ่ นั่นทำให้เขาเป็นแบบนั้นเอง โดยที่เขาไม่เคยคิดว่า สิ่งที่เขาทำเป็นการทำลายตัวเอง รวมทั้งทำลายฉันด้วย


แม้ว่าเราจะมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง แต่ Heifetz ยังคงควบคุมให้ฉันทำกิจวัตรทุกอย่างเหมือนเดิม โดยไม่สนใจว่าเมือ่ 2-3 นาทีที่ผ่านมานั้น มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น


ฉันต้องแกล้งทำตัวเป็นปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งอันที่จริงแล้ว แม้ว่าในตอนที่ Heifetz ป่วยไม่สบาย เขาก็ยังคงทำกิจวัตรทุกอย่างเหมือนเดิม ตื่นนอนเวลาเดิม ทานอาหารเท่าเดิม เฝ้าดูฉันซ้อมเปียโนและให้คำแนะนำเหมือนเดิม


เขายังคงทำตัวเป็นปกติ แม้แต่ในวันที่เขากล่าวหาว่าฉันจะฆ่าเขา







แต่แม้ว่าเราจะทะเลาะกันรุนแรงแค่ไหน และไม่ว่าฉันจะโกรธเขามากแค่ไหนก็ตาม ทุกครั้งก่อนที่ฉันจะกลับบ้าน ฉันจะจูบลาเขาที่แก้มเสมอ


มีบ่อยครั้งที่ฉันขับรถกลับบ้านพร้อมกับน้ำตา และต้องวนรถไปมาอยู่หลายครั้งกว่าจะสงบสติอารมณ์และเข้าบ้านได้ เพราะฉันไม่ต้องการที่จะตอบคำถามหรือรับฟังคำแนะนำใดๆจากสามี


แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง ในที่สุด Heifetz ก็ยกเลิกหน้าที่ของฉันทุกอย่างในบ้านของเขา

ฉันยอมรับการตัดสินใจของเขา และบอกว่าให้เขาโทรหาฉันได้ หากต้องการความช่วยเหลืออะไร


หลังจากผ่านไป 2 วัน Heifetz โทรหาฉันด้วยน้ำเสียงอันนอบน้อม พร้อมกับบอกเล่าถึงปัญหาอันน่ากลุ้มใจ

Heifetz บอกว่า เขาไม่สามารถเปิดเตาแก๊สได้ โดยคิดว่ามันน่าจะเสีย และอยากให้ฉันไปหาเขาที่บ้านพร้อมกับช่วยเรียกช่างซ่อมให้หน่อย


เมื่อฉันไปถึง ก็พบว่า Heifetz อยู่ในสภาพที่น่าสงสาร เขาไม่โกนหนวด และดูท่าทางอิดโรยจากการไม่ได้ทานอาหารอย่างเพียงพอ

ฉันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Heifetz แต่ที่แน่ๆคือ เขาเป็นคนที่ไม่สามารถอยู่คนเดียวลำพัง โดยปราศจากคนดูแล เพราะเขาไม่สามารถดูแลตนเองได้เลย


วันนึงเขาถามฉันตรงๆ


"ทำไมเธอถึงไม่ลาออก?"


ในตอนนั้น ฉันได้ผจญกับความยากลำบากมากมายที่ Heifetz ก่อขึ้น และตัดสินใจได้แล้วว่าอยากจะบอกกับเขาตรงๆเหมือนกัน


“ถ้าคุณอยากจะให้ฉันจากไป ก็เพียงแต่ไล่ฉันออกก็เท่านั้น”

“ฉันไม่ใช่คนที่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ แล้วก็ไม่ใช่คนที่จะล้มเลิกกลางคันเมื่อเจอะปัญหา ถึงแม้ว่าคุณจะทำเรื่องเลวร้ายมากมาย ที่ทำให้ฉันต้องพบกับความลำบากและทำให้ฉันไม่สามารถดูแลคุณได้อย่างเต็มที่ แต่ฉันก็ไม่เคยสิ้นหวังในตัวคุณ สิ่งเดียวที่ฉันต้องการจากคุณคือโอกาสที่จะให้ฉันได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น”


คำตอบของฉัน ดูจะได้ผล และช่วยกระตุ้นให้ Heifetz รู้สึกตัวถึงความรับผิดชอบของเขาที่ควรจะมีต่อตนเอง

เขาเงียบไป และเปลี่ยนท่าทางที่ปฏิบัติต่อฉัน เขากลับมาให้เกียรติฉัน พูดคำหวาน และทำดีต่อฉํนทุกอย่าง


แล้วในที่สุดเรา 2 คนก็ดีต่อกันดังเดิม




หลังจาก 2 ปีแห่งความทรมาณผ่านไป Heifetz ก็หายจากอาการซึมเศร้า และกลับมาเป็น Heifetz คนเดิม


เราทำงาน Transcription ด้วยกันต่อไป และ Heifetz ยังคงมีนิสัยเอาแต่ใจเหมือนเดิม


เขายังคงยืนยันที่จะให้ฉันตามหาช่างซ่อมวิทยุเครื่องเก่า ที่มีอายุตั้งแต่ปี 1920 ทั้งๆที่มันไม่มีอะไหล่จะเปลี่ยนแล้ว


นอกจากนี้เมื่อ intercom ที่บ้านของเขาเสีย เขาก็สั่งให้ฉันซ่อมมัน โดยที่ไม่มีอุปกรณ์ใดๆให้ใช้เลย แถมยังจำกัดเวลาทำงานอีกด้วย


ฉันเองซึ่งไม่รู้ว่าจะซ่อมมันยังไง จำต้องหาโทรศัพท์เก่าๆเครื่องนึงต่อสายไปหาช่างซ่อมโทรศัพท์เพื่อถามถึงวิธีซ่อมเครื่อง intercom ซึ่งในตอนนั้น Heifetz มีทีท่าไม่พอใจอย่างมาก ที่เห็นฉันสนใจโทรศัพท์มากกว่าตัวเขาที่กำลังยืนอยู่ตรงนั้น





คลิปนี้ช่วงท้ายๆมีอิริยาบถของ Heifetz ที่หลายๆคนคงไม่เคยเห็น
เขากำลังดีดเปียโนและเขียนเพลงด้วยหล่ะค่ะ

คลิปนี้เขาว่า Heifetz เป็นคนเล่นเปียโนเอง ในเพลง popular song ที่ชื่อว่า When You Make Love To Me (Don't Make Believe) แต่งโดย Jim Hoyl



ในช่วงปีสุดท้ายของชีวิตของ Heifetz เขาเคลื่อนไหวช้าลง และซูบผอมลงไปมาก เขาจำเป็นต้องใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน และยังคงเก็บไม้เท้าของ Auer ไว้ข้างตัวตลอดเวลา


ในตอนนี้ เขาเริ่มตัดขาดจากโลกภายนอก เขาแกล้งทำเป็นไม่ได้ยินเรื่องเราวที่เขาไม่อยากฟัง และจะตอบสนองแต่เพียงเรื่องที่เขาสนใจเท่านั้น

แต่ในทางกลับกัน เวลาที่เขาเล่นดนตรี กลับได้ยินทุกเสียง ทุกโน๊ต และสามารถเก็บรายละเอียดได้อย่างครบถ้วนเหมือนเมื่อก่อนไม่มีผิดเพี๊ยน


ในปี ค.ศ. 1986 Heifetz ออกจากบ้านน้อยมาก เขาเพียงแต่ออกไปนั่งที่สวนบ้าง และเขียนเกี่ยวกับความต้องการของเขาโดยลำพัง ซึ่งบางครั้งก็มีทนายของเขามานั่งอยู่ด้วย


อันที่จริงแล้ว Heifetz นับว่าเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงมากสำหรับคนอายุ 80 กว่าปี เขายังความจำดี มีปวดท้อง ปวดหลัง และเวียงเวียนบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่เคยติดเชื้อหรือป่วยเป็นโรคอะไรเหมือนกับคนแก่คนอื่นๆ


และแม้ว่าเขาจะชราภาพลง แต่ความรักในดนตรีของเขาไม่เคยเสื่อมคลาย และดูเหมือนว่าดนตรีนั้นเป็นเพียงสิ่งเดียวที่หล่อเลี้ยงให้เขายังคงมีชีวิตอยู่ได้


เขายังคงเล่นดนตรีเสมอๆ ยังคงพยายามตีความเพลงต่างๆทั้งที่เคยเล่นมาแล้วและยังไม่เคยเล่น เขายังคงค้นหาและทดลองเล่นเพลงด้วยเทคนิดแบบต่างๆอยู่ตลอดเวลา


แต่ถึงแม้ว่า Heifetz จะแข็งแรงแค่ไหน หมอก็ยังคงแนะนำว่าเขาควรจะเดินออกกำลังกายบ้างทุกวันแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี แต่ทว่า Heifetz นั้นไม่ชอบเลย เพราะเขามีความรู้สึกว่า เขาเหมือนหมาที่กำลังถูกจูงไปเดินเล่น

แล้วสุดท้าย เขาจึงไม่ยอมออกไปเดินออกกำลังอีก ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้สุขภาพของเขาอ่อนแอลงเรื่อยๆ




Heifetz กับ Toscanini วาทยากรชื่อดัง


Heifetz เป็นลมล้มลงหลายครั้ง สาเหตุของการล้มนั้นเกิดจากการหมดสติ แต่ก็นับว่าโชคดีที่ส่วนใหญ่แล้วหัวเขาไม่เคยตกลงกระแทกพื้นคอนกรีตแรงๆ


ครั้งหนึ่ง เขาล้มลงโดยที่ฉันไม่ได้อยู่ด้วย และเมื่อฉันมาถึงและพบว่าเขานอนหมดสติอยู่บนพื้น ฉันตกใจมากเพราะเขาไม่ตอบสนองฉันเลย

แต่ก่อนที่ฉันจะโทรขอความช่วยเหลือ เขาก็ฟื้นคืนสติและบอกฉันว่าไม่ให้บอกเรื่องนี้กับใคร แม้แต่ครอบครัวของเขา


ฉันนัดหมอให้มาตรวจอาการของเขาในวันรุ่งขึ้น แต่หมอพบว่านอกจากอาการบาดเจ็บเล็กน้อยภายนอกที่หัว และแผลฟกช้ำที่มือและเท้าซึ่งเกิดจากการล้มแล้ว เขาไม่มีอาการผิดปกติอื่นใดๆเลย


แต่ทว่าภายใต้อาการบาดเจ็บที่ดูว่าไม่มีอะไรเนี่ยหล่ะ แท้จริงแล้วมันแฝงด้วยการบาดเจ็บที่สมองโดยที่เขาไม่รู้ตัว


วันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1987 ซึ่งเป็นวัน Yom Kipper หรือวันแห่งการไถ่บาป ซึ่งวันหยุดสำคัญของศาสนายิว

ขณะนั้น Heifetz อายุได้ 86 ปีแล้ว และจะอายุ 87 ในอีก 4 เดือนข้างหน้า แต่ยังคงปฏิบัติกิจกรรมนี้ ซึ่งนั้นทำให้วันนั้น เขามีอาการอ่อนเพลียจากการอดอาหารเป็นอย่างมาก


หลังจากพระอาทิตย์ตกดิน และพิธีกรรมได้สิ้นสุดลง เขาขอให้ฉันพาเขาไปที่บ้านของเพื่อนสนิท เพื่อทานอาหารและสังสรรค์กัน สำหรับ Heifetz การดื่มไม่เคยมีผลใดๆกับเขา และไม่เคยงดเว้น แม้ว่าตอนนั้นเขาจะอายุ 86 ปีแล้วก็ตาม


หลังจากงานเลี้ยงเลิกรา ฉันขับรถพาเขากลับไปส่งที่บ้าน
ในขณะที่ฉันกำลังจอดรถ ฉันหมุนกระจกลงและบอกเขาว่า อย่าพึ่งไปไหน ให้รอจนกว่าฉันจะจอดรถเสร็จเสียก่อน เพื่อที่ฉันจะได้ช่วยพยุงเขาขึ้นบรรไดเข้าบ้านได้

และแน่นอน แม้ว่าฉันจะพูดแบบนี้ทุกครั้งมาเป็นเวลาหลายปี ซึ่ง Heifetz ก็มักจะโมโหทุกครั้ง และไม่ยอมปฏิบัติตาม


ครั้งนี้ก็เช่นกัน เขาแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน แล้วเดินไปขึ้นบรรไดเอง

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

ซักนิดเกี่ยวกับ วัน Yom Kipper หรือวันแห่งการไถ่บาป
วันนี้เป็นวันสำคัญทางศาสนาของชาวยิว ซึ่งมีข้อบังคับหลักๆอยู่ 5 ข้อ คือ

1.ห้ามดื่มน้ำหรือทานอาหาร
2.ห้ามใส่รองเท้าที่ทำจากหนังสัตว์
3.ห้ามอาบน้ำหรือชำระล้างร่างกายทุกส่วน
4.ห้ามใช้เครื่องหอมทุกประเภท
5.ห้ามมีเพศสัมพันธ์

ในวันนี้ชาวยิวรวมทั้ง Heifetz ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับนี้เป็นเวลา 25 ชั่วโมง
---------------------------------------------------------------------------------------------------





Heifetz เดินก้าวขึ้นไปอย่างคล่องแคล่วจนเกือบถึงขั้นบนสุด แต่แล้วเขาก็สูญเสียการทรงตัว และหงายหลังลงกระแทกกับกำแพงโรงรถอย่างแรง

ยังนับว่าโชคดีที่หัวเขาไม่ได้ฟาดพื้นลงไปจังๆ ศรีษะของเขาเพียงแค่กระแทกกับกำแพงด้านข้างเท่านั้น แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้เขาหมดสติ

ฉันตกใจมาก และรีบโทรไปแจ้ง 911 แต่ทว่าไม่มีคนรับสาย แล้วฉันก็นึกได้ว่าเมื่อวานนี้มีเหตุเกิดแผ่นดินไหวใกล้ๆนี้ และหน่วยฉุกเฉินคงไปที่นั่นเสียหมด


ฉันจึงรีบกลับมาเอาน้ำแข็งประคบที่ศรีษะของเขา แล้วซักพักเขาก็เริ่มรู้สึกตัว พร้อมกับร้องพึมพัมอย่างเจ็บปวด


Heifetz นอนอยู่บนพื้นราว 15- 20 นาที ก่อนที่เขาจะแข็งแรงพอที่จะพยุงให้เข้าไปในบ้าน

ฉันพาเขาไปที่เตียง และอยู่เฝ้าประคบน้ำแข็งให้เขาทั้งคืน จนในรุ่งเช้ารวยบวมก็หายไป เขารู้สึกดีขึ้นมากแล้ว และยังคงกำชับกับฉันว่าไม่ให้บอกเรื่องนี้กับใครทั้งสิ้น


หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไป 1 สัปดาห์ Heifetz ดูจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆเลย เขายังเป็น Heifetz คนเดิม และยังคงปฏิบัติกิจวัตรประจำวันเหมือนเดิม

จนกระทั้งถึงปลายสัปดาห์ Heifetz จึงเริ่มมีอาการแปลกๆเกิดขึ้น


วันนั้น จู่ๆเขาขอให้ฉันพักค้างคืนที่บ้านของเขา แต่แล้วฉันก็ตื่นขึ้นมากลางดึก ราวตี 3 เพราะได้ยินเสียงบางอย่างจากห้องนั่งเล่น และเมื่อฉันลงไปดู ก็พบว่า Heifetz แต่งตัวเรียบร้อยแล้ว และทำท่าทางเหมือนกำลังหาอะไรบางอย่าง

แต่หลังจากที่เขาเห็นฉัน ก็กลับถามหามื้อเย็นของเขา โดยไม่สนใจที่ฉันกำลังบอกเขาว่าตอนนี้เป็นเวลาเท่าไหร่แล้ว

แต่สุดท้ายฉันก็จัดโต๊ะอาหารให้ตามที่เขาต้องการ และยังคงพร่ำบอกเขาว่าตอนนี้เป็นเวลาเท่าไหร่


ฉันกังวลกับการกระทำของเขามาก แต่ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าคือ หลังจากทานอาหารเสร็จ เขากลับสั่งให้ฉันไปนอน แทนที่จะชวนกันเล่นไพ่หรือปฏิบัติกิจกรรมหลังอาหารเย็นอื่นๆเหมือนทุกครั้ง



แม้ว่าบาดแผลต่างๆจะหายดีแล้ว และในยามที่เราเล่นดนตรีด้วยกัน เขายังคงเป็น Heifetz คนเดิม ที่ยังคงมีสามารถเฉียบแหลมในการฟังและเล่นดนตรีได้เหมือนเดิม ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะว่าสมองของเขาในส่วนนั้นไม่ได้รับการกระทบกระเทือน


แต่ถึงกระนั้น จากอาการแปลกๆของเขาที่เกิดขึ้น ทำให้ฉันไม่อาจนิ่งนอนใจ และเรียกคุณหมอมาตรวจโดยทันที ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำว่า เขาควรจะเข้าเครื่อง CAT scan เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของสมอง


ครั้งนี้ก็เหมือนทุกครั้งที่เขาบาดเจ็บ เขายังคงกำชับไม่ให้ฉันบอกเรื่องนี้กับใครๆ แม้แต่คนในครอบครัว แต่คราวนี้ฉันไม่อาจทำตามที่เขาบอกได้ ฉันแอบแจ้งข่าวการบาดเจ็บของเขาแก่ให้กับเพื่อนสนิทของเขา และเมื่อทุกคนทราบเรื่อง เพื่อนสนิทของ Heifetz Jay ลูกชายของเขา รวมทั้งทนายส่วนตัว ต่างพากันมาเยี่ยมเยียนเมื่อข่าวแพร่ออกไป





น่าเศร้าที่เครื่อง CAT scan ไม่ว่างจนกว่าจะถึงวันที่ 15 ตุลา ดังนั้นในระหว่างนี้ จึงต้องคอยไปก่อนและเฝ้าดูอาการ


ในช่วงนี้ Heifetz เริ่มมีอาการอื่นๆตามมา นอกจากเขาจะทานอาหารได้น้อยลงแล้ว ประสาทสัมผัสในการรับรสชาติของเขาก็ไม่รับรู้อีกต่อไป

เขาสั่งฉันเทเหล้านาๆชนิด ลงในแก้วหลายใบ ทั้งเหล้าชนิดเดียวกัน และผสมกันหลายอย่าง จากนั้นเขาก็ทดลองชิมมันทุกแก้ว แต่แล้วก็พบว่ารสชาติของมันไม่แตกต่างกันเลย


ตัวเขาเองก็เหมือนจะรู้ตัวว่า วาระสุดท้ายของเขากำลังใกล้เข้ามาแล้ว วันสุดท้ายของเขา เขานำเอาเงินที่สะสมไว้ในยามฉุกเฉิน วางไว้ใต้หมอน และบอกฉันว่า เงินนี้ให้สำหรับคนยากจน โดยเฉพาะนักเรียนที่ยากจนของเขา และนอกจากนี้ยังมีนาฬิกาพกแบบโบราณ ซึ่งเป็นทองประดับอัญมณี เขาสั่งไว้ว่าอยากให้มันอยู่อย่างปลอดภัยจนกว่าเขาจะกลับมา โดยที่ไม่ได้บอกว่าเขาจะจากไปไหน


ผลจากการ scan สมองพบว่ามีเลือดคั่งอยู่ภายใน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลจากการล้มครั้งล่าสุด และ หมอยืนยันว่าเขาต้องได้รับการผ่าตัดโดยด่วน จากนั้นก็รีบส่งรถพยาบาลไปที่บ้าน

น่าแปลกใจที่ Heifetz ไม่แสดงอาการขัดขืนใดๆเลยเมื่อฉันบอกว่าเขาต้องไปโรงพยาบาล เขารู้ตัวดีว่าตัวเองกำลังเผชิญกับอะไรอยู่


แต่ในขณะที่ฉันกำลังพาเขาไปขึ้นรถพยาบาล เขาหยุดชะงักที่ประตูนิดนึง แล้วมองฉันด้วยสายตาอันเศร้าสร้อย พร้อมกับกระซิบบอกด้วยเสียงเผาเบาว่า


“ที่รัก นี่ไม่ใช่ทางที่เราควรจะไป”






อีกครั้งที่การผ่าตัดสำเร็จไปด้วยดี แต่ผู้ป่วยไม่เคยหายเป็นปกติ


แม้ว่าแผลจากการผ่าตัดจะหายดี จนผมของเขางอกขึ้นมาใหม่แล้ว หลังจากการผ่าตัดผ่านไป 1 สัปดาห์ เขาก็ฟื้นคืนสติ และปฏิเสธการดูแลและการทดสอบต่างๆจากหมอและพยาบาลทุกอย่าง


2 สัปดาห์ผ่านไป เขากระซิบบอกฉันว่า "กลับบ้านกันเถอะ"


เขาพยายามจะบอกความรู้สึกของเขาแก่หมอและพยาบาลเช่นกัน โดยไม่สนใจว่าในขณะนี้ตัวเองจำเป็นต้องได้รับการดูแลแค่ไหน


ฉันช่วยอะไร Heifetz ไม่ได้ และทำได้เพียงแต่กุมมือเขาเอาไว้ พูดคุยกับเขา และเล่าถึงแผนการในอนาคต ว่าเราจะเล่นดนตรีด้วยกัน และทำงาน transcription ต่างๆด้วยกันอีก

บางครั้งฉันก็เปิดเทปบันทึกเสียงของเขา ซึ่งดูเหมือนมันจะทำให้เขาพอใจและช่วยให้เขาใจเย็นลงได้บ้าง


วันที่ 4 ธันวา เป็นวันที่ฉันจำได้แม่นยำ หลังจากฉันห่มผ้าให้เขา และเห็นว่าเขากำลังมองฉันและพยายามจะบอกอะไรบางอย่าง

ฉันก้มลงไป เพื่อฟังเสียงกระซิบจากเขา


"ฉันรักเธอ"


แม้ว่าฉันจะเคยได้ยินเขาพยายามพูดคำนี้มาก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ยินจากปากของเขาอย่างชัดถ้อยชัดคำ และเข้าใจถึงความหมายของมัน


นับแต่วันนั้น เขากล่าวคำนี้กับฉันทุกวันก่อนที่ฉันจูบราตรีสวัสดิ์และกลับบ้าน





Lensky's Aria form Eugene Onegin by Heifetz


แม้ว่าเขาจะอยู่ในสภาพย่ำแย่ แต่ Heifetz ก็ยังคงเป็น Heifetz

เวลาที่เขาไม่พร้อมจะพบเจอะใคร หรือมีใครมาเยี่ยมเขาโดยที่ไม่ได้บอกล่วงหน้า Heifetz จะส่งสายตาบอกฉัน ซึ่งแปลความได้ว่า


“ไล่พวกเขาออกไป”


เขาไม่ชอบที่จะพบกันใครๆโดยที่ไม่ได้นัดหมายไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นคนที่สนิทกันหรือคนแปลกหน้า แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะมีเจตนาดีก็ตาม


เวลาที่ฉันอยู่กับเขา เขาจะไม่ยอมพูดกับคนอื่นๆเลยไม่ว่าจะเป็นหมอหรือพยาบาล Heifetz จะพูดกับฉันเพียงคนเดียว และดูเหมือนเขาตัดขาดจากโลกภายนอกทุกอย่างในยามที่มีฉันอยู่


เช้าวันที่ 10 ธันวา Heifetz เกิดอาการเส้นเลือดอุดตันในสมอง

คณะกรรมการถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาว่าจะยืดชีวิตของ Heifetz ต่อไปอีกหรือไม่

ฉันซึ่งกำลังรู้สึกสับสน และหวังว่าจะมีปาฏิหารย์ ฉันยังคงเชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถหายดีและกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม ฉันจึงยืนยันที่จะให้ใช้ความพยายามเต็มที่ในการรักษาชีวิตของเขา โดยไม่สนใจคำพูดของคณะกรรมการที่บอกว่า Heifetz ได้เตรียมการล่วงหน้าในกรณีที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ไว้ก่อนแล้ว


Heifetz บอกกับเพื่อนคนอื่นๆว่า ให้จบชีวิตของเขา หากเขาไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้ เพราะเขาไม่ต้องการจะแห้งตายไปพร้อมกับเครื่องช่วยชีวิต

คณะกรรมการรับฟังฉัน และยืดเวลาการพิจารณาออกไป แต่ทว่าฉันไม่จำเป็นต้องตัดสินใจอีกต่อไปแล้ว


ตอนนั้นฉันอยู่ที่บ้าน ฉันอยู่ในสภาพหมดแรงและกำลังสับสนกับการตัดสินใจ

ฉันได้รับโทรศัพท์จากโรงพยาบาล ข้อความในโทรศัพท์แจ้งมาว่า Heifetz สิ้นลมหายใจแล้ว



Heifetz เสียชีวิตที่โรงพยาบาล ในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1987 เวลา 23.10 น.

เขาจากไปอย่างสงบและโดดเดี่ยวอย่างที่เขาต้องการ ไม่มีแม้นางพยาบาลซักคนอยู่กับเขาในตอนนั้น





Sarasate, Zigeunerweisen Op. 20, "Gypsy Airs" by Heifetz



Heifetz ไม่ต้องการให้มีพิธีใดๆ ไม่ต้องการดอกไม้ ไม่ต้องการคำพูด และต้องการให้ใช้จ่ายน้อยที่สุด

สิ่งเดียวที่เขาร้องขอ คือต้องการให้นำศพของเขาไปเผา ที่เดียวกับที่ Florence ภรรยาคนแรกของเขา จากนั้นให้นำเถ้าอัฐิไปโปรยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ที่หาด Malibu ที่เขารัก


หลังจาก Heifetz จากไป ทุกคนต่างบอกฉันว่าหน้าที่ของฉันที่มีต่อ Heifetz ได้สิ้นสุดลงแล้ว และไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ไม่มีใครยอมบอกว่า พิธีศพจัดที่ไหน แต่ด้วยความบังเอิญที่ฉันรู้จักกับ Suzie ลูกสาวจากสามีคนแรก ของ Florence ภรรยาคนแรกของ Heifetz


Heifetz รักเธอมาก และเรา 2 คนก็สนิทสนมกัน Suzie จึงบอกฉันว่าแม่ของเธอถูกเผาที่ไหน ซึ่งแน่นอนตอนนี้ Heifetz ก็อยู่ที่นั่นเช่นกัน

ฉันจึงโทรศัพท์ไปหาครอบครัวของ Heifetz เพื่อขออนุญาตเข้าร่วมพิธีเผาศพ และต้องการไปพบ Heifetz เพื่อบอกลาเป็นครั้งสุดท้าย


เมื่อไปถึง ทุกคนมองฉันด้วยสายตาแปลกประหลาด ซึ่งฉันได้ทราบสาเหตุในภายหลังว่า เพราะประเพณีเผาศพของที่นี่ มีแต่เฉพาะญาติเท่านั้นที่มาเข้าร่วม


แม้ว่าในตอนแรก ฉันจะถูกคัดค้าน แต่แล้วฉันก็ได้รับอนุญาตให้อยู่กับเขาตามลำพัง เพื่อร่ำลาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่เขาจะกลายเป็นเถ้าถ่าน







มีคนมากมายที่จากโลกนี้ไป โดยที่ไม่ทิ้งอะไรไว้เลย แม้แต่เงินทอง หรือความทรงจำดีๆ

แต่สำหรับ Heifetz สิ่งที่เขาคงเหลือไว้ให้แก่โลกใบนี้ คือผลงานบันทึกเสียงอันมีค่ามากมาย และตำนานการสอนโวโอลินอันลือลั่นของเขา

ชื่อของ Heifetz กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักดนตรี โดยเฉพาะนักไวโอลิน และมักจะถูกใช้ในการเปรียบเทียบกับความสมบูรณ์แบบอยู่เสมอ

ตลอดช่วงชีวิตที่เขาเป็นศิลปิน เขาไม่เคยพบกับการแข่งขันที่แท้จริง เพราะนักไวโอลินทุกคนรู้ดีอยู่แก่ใจว่า Heifetz มีความสามารถมากแค่ไหน


แม้แต่ Fritz Kreisler เพื่อนของ Heifetz ยังเคยกล่าวยกย่องเขาต่อหน้านักไวโอลินทั้งหลาย หลังจากที่ได้ยิน Heifetz สีไวโอลินว่า

“ท่านสุภาพบุรุษทั้งหลาย โปรดทำลายไวโอลินของพวกเราเสียเถิด”


หลังจาก Heifetz จากไปหลายปีแล้ว ฉันยังคงคิดถึงเขาอยู่เสมอ และนึกถึงคำถามที่เขาเคยถามฉันว่า


“เธอยกโทษให้กับการตัดสินใจของฉัน ที่สั่งให้เธอต้องเลือกระหว่างการเป็นนักไวโอลินกับนักเปียโนแล้วหรือยัง?”


ฉันตอบไปว่า


" ไม่มีอะไรต้องยกโทษ และที่จริงแล้วฉันควรจะต้องขอบคุณคุณมากกว่าที่ช่วยนำทางให้ฉัน เพราะฉันเชื่อมั่นในการตัดสินใจทางดนตรีของคุณยิ่งกว่าใครๆ”


ฉันยังคงคิดถึงวันเวลาดีๆที่ฉันได้ใช้ชีวิตคุลกคลีอยู่กับเขา และไม่เคยคิดว่าเวลา 15 ปีที่ฉันได้ใช้ชีวิตอยู่กับเขานั้นไร้ค่าเลย


ในวันรำลึกครบรอบการจากไปของ Heifetz ฉันเล่นเปียโนเพลง Sweet remembrance ของ Mendelssohn เพลงเปียโนอื่นๆที่ Heifetz ชอบ และเล่น เพลง transcription ของไวโอลินกับเปียโนอีกหลายเพลง

ฉันบรรเลงเพลงร่วมกับลูกศิษย์ของ Heifetz อีกคน ที่ชื่อว่า Sherry ซึ่งเธอได้รับอนุญาตให้ใช้ ไวโอลิน Tonini ของ Heifetz ในการบรรเลง

ทั้งฉันและ Sherry ต่างไม่ได้ซ้อมกันมาก่อน และฉันหวังว่า มันคงจะทำให้ Heifetzพอใจอย่างแน่นอน


-------------------------------จบบริบูรณ์------------------------


สุดท้ายนี้ขอปิดท้ายด้วยเพลง "Sweet Remembrance" by Mendelssohn โดยฝีมือการสีไวโอลินของ Heifetz






 

Create Date : 26 เมษายน 2552    
Last Update : 26 เมษายน 2552 22:27:46 น.
Counter : 1186 Pageviews.  

Heifetz As I Knew Him (7) :ผลงานเพลง Transcription และงานอดิเรกอื่นๆของ Heifetz

บ้านของHeifetz ตั้งอยู่บนเนินเขา ซึ่งเขาเคยเล่าว่าในอดีตมีเีพียงบ้านของเขาหลังเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้มันกลับรายล้อมไปด้วยบ้านอื่นๆอีก 4-5 หลัง และมันทำให้คนที่ต้องการจะมาหาบ้านของเขาลำบากมาก เพราะแม้แต่คนขับรถแท็กซี่ยังไม่คิดว่าตรงนั้นมีถนนเลย


และด้วยความที่บ้านของเขาตั้งอยู่บนเนิน ดังนั้นในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส เมื่อมองจากหน้าต่างออกไป จะสามารถมองเห็นวิวของมหาสมุทรแปซิฟิกได้


แต่ทว่าวิวสวยๆนั้นไม่มีประโยชน์เลย เพราะห้องที่สามารถมองเห็นวิวนี้ได้ มีเพียงห้องบน apartment เหนือโรงรถของเขา ที่ในอดีต Heifetz สร้างให้กับลูกชาย แต่บัดนี้ ตึกหลังนั้นกลายเป็นที่พักอาศัยของแม่บ้านเสียแล้ว


บ้านของ Heifetz ตั้งอยู่บนที่ดินรูปสามเหลี่ยม ซึ่งมีการสร้างเนินจำลองออกเป็น 4 ระัดับ โดยบ้านของเขา อยู่ในระดับต่ำสุด และพื้นที่ว่างก่อนจะขึ้นสู่ระดับถัดไป เป็นสระว่ายน้ำ ซึ่งเขาสร้างขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่เขาสะโพกหัก เขาสร้างสระว่ายน้ำไว้เพื่อออกกำลังกายในตอนนั้น แต่ในตอนนี้ เขาใช้งานมันเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น


ถัดไปก็เป็น Studio ซึ่งสร้างอยู่ตรงบริเวณจุดศูนย์กลางของที่ดิน โดยระหว่างทางเดินจากบ้านของเขาไปStudio จะมีโต๊ะปิงปองตั้งอยู่ ส่วนที่หน้าประตูทางเข้าของ Studio ก็จะมีตุ๊กตาหมาปูนปลาสเตอร์ หน้าตาเหมือนสัญลักษณ์ของแผ่นค่าย RCA นั่งเฝ้ายามอยู่ด้วย


ถัดจาก studio ไปก็เป็นสนาม paddleball จากนั้นก็จะเป็นระดับที่สูงที่สุด ซึ่งอยู่ตรงจุดตัดของถนน 2 เส้น ที่บริเวณนี้เป็นมุมที่ยื่นเข้าไปในป่าเล็กๆ ซึ่งเขาใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือต่างๆ และปล่อยให้เป็นพื้นที่ว่างซึ่งเขาจะใช้ปลูกต้นไม้


Hefeitz เป็นคนที่รักต้นไม้มากๆ เขาและต้นไม้เหมือนเป็นเพื่อนสนิทกัน Heifetz ชอบจัดมุมต้นไม้สวยๆหลายชนิด โดยจะพิถีพิถันเลือกชนิดของต้นไม้ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและตำแหน่งที่ปลูกอยู่เสมอ ไม้ยืนต้นหลายชนิดถูกปลูกไว้รอบๆจนดูเหมือนป่าขนาดย่อมๆ


เขาปลูกผลไม้ไว้หลายชนิด แต่้ก็ต้องมาต่อสู้กับสิ่งสาราสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งแม้ว่าคนสวนจะแนะนำให้คลุมตาข่ายไว้ แต่มันก็ไม่ได้ผล บรรดากระรอกและนก ยังคงสามารถเข้ามากินผลไม้ได้ตามเดิม และสุดท้ายหลังจากลูกพีชสามารถรอดพ้นมาได้ 1 ใบ เขาจึงตั้งราคามันสูงถึง 300 ดอลล่าห์ หลังจากนั้นก็ตัดตาข่ายออกไป และปล่อยให้มันเติบโตตามธรรมชาิติ




Heifetz กับครอบครัว ที่สนาม paddle ball ของเขา


นอกจากไม้ยืนต้นต่างๆแล้ว เขายังมีแปลงดอกไม้สวยๆ ซึ่งปลูกไว้บริเวณปากทางเข้าบ้านอีกด้วย

และด้วยความที่บ้านของเขารายล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทำให้ตอนกลางคืนเป็นช่วงเวลาหรรษาของตัวแรคคูนที่จะมาคุ้ยถังขยะอยู่เสมอ และไหนจะมีครอบครัวของนกกระทาบินไปมา บนพุ่มไม้ตลอดทั้งวัน


ในฤดูหนาวบางปี ก็มีกวางลงมาหม่ำดอกไม้ในแปลง ซึ่งจะกลับมาเรื่อยๆเมื่อเขาปลูกใหม่อีกครั้ง ส่วนในฤดูร้อนก็จะมีฝูงนกแก้วอพยพมาพักผ่อนบนต้นไม้ของเขา และส่งเสียงอึกทึกคึมโครม
แต่บังเอิญที่ Heifetz ไม่ว่าอะไร เพราะเขาสามารถทนเสียงเหล่านี้ได้ดีกว่าเสียงรบกวนจากมนุษย์


และด้วยความที่บ้านของเขารายล้อมไปด้วยธรรมชาตินี่เอง จึงทำให้เขาปลอดภัยจากรถทัวร์ของนัดท่องเที่ยวมากมาย ที่วิ่งผ่านบริเวณนี้เพื่อแอบชมบ้านของดาราทั้งหลาย

Heifetz ไม่ต้องการจะพบปะกับคนแปลกหน้าเหล่านั้น ดังนั้นต้นไม้ที่ปลูกไว้หนาแน่นจนเหมือนป่าขนาดย่อมนี่เอง ที่เป็นเกราะกำบังช่วยให้เขาหลับอย่างสบายทุกวันท่ามกลางเสียงของธรรมชาติ


พื้นที่บ้านของ Heifetz เป็นรูป 3 เหลี่ยมและมีแบบแปลนที่ประหลาด คนส่วนใหญ่มักจะงุนงงกับบ้านของเขาตั้งแต่เริ่มหาทางเข้าบ้าน จนแม้กระ่ทั่งเข้ามาในบ้านก็ยังคงมึนอยู่

ประตูทางเข้าบ้านของ Heifetz อยู่ที่มุมหนึ่งของพื้นที่สามเหลี่ยม เมื่อแขกผ่านด่านหาทางเข้ามาบ้านได้แล้ว ก็จะพบกับสวนเล็กๆ โดยมีโรงรถอยู่ทางซ้าย และมีตัวบ้านตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า และบดบังไม่ให้เห็นพื้นที่ส่วนอื่นๆ


นอกจากนี้เวลาที่แขกต้องการจะเดินเข้ามาในบ้าน จะต้องเลี้ยวซ้ายผ่านโรงรถ แล้วเลี้ยวขวาหักศอกอีกครั้ง จึงจะเจอะทางเข้าบ้าน



Heifetz กับ ภรรยาและลูกชายของเขา ตีปิงปองด้วยกันที่บ้าน


เมื่อแขกก้าวเข้ามาในบ้านของ Heifetz ก็จะพบกับภาพวาดมากมาย เช่น The Passion นอกจากนี้ยังมีภาพของ Chaim Soutine, Raoul Dufy และ ผลงานของจิตรกรที่มีชื่อเสียงอื่นๆอีกหลายท่าน

Heifetz ตกแต่งบ้านของเขาด้วยรูปภาพมากมาย โดยเขาจะพิถีพิถันอย่างมากจัดแสงไฟและจัดตำแหน่งที่เหมาะสมหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้ภาพดูสวยงามที่สุด


Heifetz ชอบอธิบายให้ฉันฟังเกี่ยวกับรูปภาพเหล่านั้น เขาไม่ได้เล่าถึงสไตล์หรือรายละเอียดทางศิลปะ แต่กลับเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของจิตรกร, ที่มาของภาพวาดนี้ และเล่าว่าตอนนี้ภาพจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ไหน


นอกจาก Heifetz จะสนใจภาพวาดและงานศิลปะแล้ว เขายังชอบอ่านหนังสืออีกด้วย

เขาจะอ่าน Reader’s digest และ National Geographic ตั้งแต่ปกหน้ายันปกหลัง เขาชอบเพราะมันเล่าเรื่องต่างๆมากมาย โดยไม่ต้องอ้างข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังมีเรื่องราวหลากหลายอีกด้วย


Heifetz ชอบพูดคุยเรื่องในหนังสือกับฉัน บางครั้งเขาทำเครื่องหมายบทความในหนังสือ และสั่งให้ฉันไปอ่าน เพื่อที่จะได้มาพูดคุยกัน เขาถึงขนาดสมัครสมาชิกหนังสือให้ฉันด้วย เพื่อที่ฉันจะได้มีเวลาไปอ่านเอง


Heifetz มีความเห็นว่า นักดนตรีก็เหมือนกับนักศิลปะแขนงอื่นๆ และการจะเป็นนักดนตรีที่ดี ไม่ควรจะสนใจแต่เรื่องดนตรีเท่านั้น ดังนั้นเขาจึงให้ฉันอ่านหนังสือมากมาย รวมทั้งวรรณคดีรัสเซีย ซึ่งฉันต้องศึกษาโดยละเอียดและต้องจับใจความมาพูดคุยกับเขา นอกจากนี้ เวลาที่ Heifetz อยากจะให้มีบรรยากาศครอบครัว เขาจะอ่านหนังสือให้ฉันฟัง และในทางกลับกัน บางครั้งฉันก็ต้องเป็นฝ่ายอ่านให้เขาฟังเช่นกัน ซึ่งเขาจะช่วยแก้ไขการออกเสียงให้ฉันเสมอ


The Passion ผลงานของ Georges Rouault (1871-1958) จิตรกรชาวฝรั่งเศส



Heifetz ชอบรถมากๆ เขาเป็นคนที่ขับรถเก่งมากและชอบความเร็ว เขาบอกว่าครูที่สอนเขาขับรถเป็นนักแข่งรถมืออาชีพ

เขาสอนฉันหลายเรื่องในการควบคุมรถ สอนวิธีการเลี้ยวเวลาที่วิ่งมาเร็วๆ และยังสอนถึงวิธีการแก้ปัญหาในยามฉุกเฉิน

แม้ว่าในตอนหลังเมื่อเขาอายุมากขึ้นและย้ายไปนั่งเบาะหลังแล้ว แต่เขาก็ยังคงมาช่วยกำกับการขับรถของฉันอยู่ดี


ครั้งหนึ่ง ตอนที่เรากำลังไปที่มาลิบู วันนั้นการจราจรค่อนข้างติดขัด เขาจึงสั่งให้ขับขึ้นไปวิ่งบนเกาะกลาง เขามีความเห็นว่าคนเราไม่ควรทำทุกอย่างตามที่หนังสือบอกทุกประการ แต่ดูเหมือนว่าคุณตำรวจจะคิดตรงกันข้ามกับเขา แน่นอนฉันโดนตำรวจจับ แต่ Heifetz ก็ช่วยพูดจนคุณตำรวจยอมปล่อยเราไป


แต่เราไม่โชคดีเหมือนอย่างครั้งแรกเสมอไป..........


อีกครั้งหนึ่งที่ เขาสั่งให้ฉันขับรถขึ้นไปบนไหล่ถนน แล้วเราก็โดนตำรวจจับอีกครั้ง แต่คราวนี้ได้ใบสั่งมาด้วย แถม Heifetz ยังไม่ยอมให้ฉันไปจ่ายอีกต่างหาก แต่ให้ไปต่อสู้กันในศาล โดยหวังว่าฉันจะสามารถต่อสู้จนพ้นผิดได้ ซึ่งฉันก็ทำได้จริงๆ



แม้ว่า Heifetz จะอาศัยอยู่ในบ้านอันเงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติ แต่เขายังคงมีฝันร้ายอยู่ 2 เรื่อง ที่คอยตามหลอกหลอนเขาไปจนตาย


เรื่องแรก เกิดจากความกลัวว่าจะไปแสดงคอนเสิร์ตไม่ทัน

Heifetz เล่าว่า ตอนที่เขาเกิดพาหนะที่เขาใช้ส่วนใหญ่เป็นรถม้า ส่วนในสมัยที่เขาทัวร์คอนเสิร์ตครั้งแรกๆ พาหนะที่เขาใช้ส่วนใหญ่เป็นรถไฟช้าๆ หรือเรือยนต์ ซึ่งนั่นทำให้เขากังวลมากจนเก็บไปฝันว่าไปเล่นคอนเสิร์ตไม่ทันตามกำหนด


ส่วนเรื่องที่ 2 เกิดจากความกลัวไวโอลินหาย ซึ่งเรื่องนี้อันที่จริงแล้วเขาเคยลืมไวโอลินเพียงแค่ 1 ครั้ง

สมัยที่เขาออกทัวร์คอนเสิร์ต เขาจะต้องเดินทางพร้อมกับไวโอลินของเขาเสมอ ทั้ง Tononi และ Guarnerius โดยเขาจะเก็บรักษามันอย่างดี และใส่ไว้ในกล่อง 2 ชั้น และมีอยู่ครั้งหนึ่ง Heifetz ขึ้นรถไฟไปแสดงคอนเสิร์ต และลงจากรถไปโดยถือไวโอลินเพียงตัวเดียว เพราะคิดว่านักเปียโนของเขาถือไวโอลินอีกตัวอยู่ แต่ปรากฏว่านักเปียโนไม่ได้ถือลงมาด้วย ไวโอลินของเขายังคงอยู่บนรถไฟที่ออกไปแล้ว

Heifetz ตกใจเป็นอันมาก ผู้จัดการส่วนตัวของเขารีบจัดการติดต่อไปยังสถานีต่อไป ให้ช่วยตรวจสอบและเก็บไวโอลินของเขาไว้ให้ โชคดีที่สุดท้ายเขาก็ได้รับไวโอลินคืน



Heifetz เป็นคนที่ไม่ชอบเทคโนโลยีสมัยใหม่เท่าไหร่ เพราะเขามองว่าเป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่เปล่าประโยชน์ แถมยังก่อให้เกิดมลภาวะต่างๆมากมาย


แต่ดูเหมือนว่ามีเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวที่เขาสนใจ และพยายามจะใช้มันนั่นคือ รถที่ขับเคลื่อนได้ด้วยพลังงานแบตเตอรี่ ซึ่งเขามีอยู่ 1 คัน

เขาใช้ความพยายามอย่างมากในการขับรถคันนี้ไปสอนหนังสือ แต่ทว่าในตอนนั้นเทคโนโลยีรถไฟฟ้ายังไม่ค่อยก้าวหน้า จึงทำให้รถคันนี้เสียบ่อยมากๆ จนสุดท้ายเขาก็ยอมแพ้ และเก็บมันไว้ในโรงรถซะส่วนใหญ่


นอกจากนี้ Heifetz ยังไม่ชอบดูทีวี เพราะเขารู้สึกว่ายามที่ตัวเองนั่งอยู่หน้าจอ เขาจะหน้าตาเหมือนกระต่าย นอกจากนี้เขายังมองว่า ทีวีของเขาคือการได้ออกไปดูผู้คนมากกว่าการนั่งจ้องกล่องสี่เหลี่ยม


แม้แต่เทคโนโลยีในการบันทึกเสียง Heifetz ก็ไม่เคยพอใจ เทคโนโลยีในการบันทึกเสียงผลงานครั้งแรกของ Heifetz แตกต่างจากสมัยนี้มาก และเมื่อเขาถูกเสนอให้อัดผลงานในระบบ digital ลงแผ่น disc เขากลับไม่พอใจเท่าไหร่


เขาเรียกมันว่า “ดนตรีอัดกระป๋อง" และมองว่ามันขาดความตื่นเต้นไม่เหมือนเวลาไปฟังคอนเสิร์ตสดๆ อีกทั้งยังยอมที่จะบันทึกเสียงในระบบที่มึคุณภาพต่ำกว่า แต่สามารถเข้าถึงดนตรี และมีความตื่นเต้นมากกว่าด้วย


ในปี ค.ศ. 1981 Heifetz เลิกสอนหนังสือที่ USC แต่ยังคงสอน master class ต่อไปที่สตูดิโอของเขา นอกจากนี้ยังออกไปสอนนักไวโอลินเด็กๆ ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ใน LA เดือนละครั้ง


แต่สุดท้าเยเมื่อเวลาผ่านไป 4 ปี เขาก็เลิกสอนทั้งหมด แต่ยังคงชอบซ้อมเปียโนกับฉัน เราจะซ้อมด้วยกันอย่างสนุกสนานตลอดทั้งบ่าย เป็นเวลากว่า 5 ปี ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ฉันได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเขามากที่สุด


น่าแปลกใจ ที่กลายมาเป็นว่าฉันมาเรียนเปียโนกับนักไวโอลิน

ฉันรู้สึกว่าเขาพยายามสอนทุกอย่างที่นัก accom ควรรู้ และเขาไม่เพียงเล่นแต่เพลงดังๆที่เป็นที่รู้จักหรือเคยเล่นกันมาก่อนแล้ว แต่เรายังเล่นเพลงใหม่ๆที่ไม่เคยเล่นมาก่อนด้วย

Heifetz เป็นคนที่มีความสามารถในการทำ Sight reading ที่ยอดเยี่ยมมาก เขารู้จักวิธีการในการดึงประโยคสำคัญๆของเพลงและแสดงมันออกมาให้ไพเราะ


Heifetz มีความรู้เรื่องเทคนิคในการดีดเปียโนเป็นอย่างดี แต่เขามีวิธีการสอนที่แตกต่างจากครูเปียโนทั่วไป เพราะเขาไม่เคย มานั่งดูอย่างตั้งใจ เพื่อคอยตรวจสอบโน๊ต หรือความถูกต้องในการดีด เขาเพียงแต่บอกว่า ทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง และแนะนำว่าเพลงควรจะออกมาในรูปแบบไหน หรือแม้แต่การเหยียบ pedel ควรจะใช้ยังไง จุดมุ่งหมายของเขาคือต้องการสร้างบทเพลงที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความหมายให้กับผู้ฟัง


นอกจากนี้ การควบคุมเวลา เป็นอีกหนึ่งในเคล็ดลับของเขา Heifetz

“เวลา”เป็นศิลปะอย่างหนึ่งของดนตรี ที่สอนกันได้ยากมาก เพราะมันอยู่ที่จิตใต้สำนึก Heifetz รู้ว่า “เวลา” ที่จะปล่อยให้ผู้ฟังได้อิ่มเอิ่มกับเสียง ควรจะสั้น-ยาว แค่ไหน และ “เวลา” นานแค่ไหน ที่ผู้ฟังพร้อมจะรับเสียงต่อไป



Sight reading เป็น skill ทางดนตรีอย่างหนึ่ง ในการเล่นเพลงโดยที่มีการซ้อม ไม่เคยเล่น ไม่เคยเห็นโน๊ต ไม่เคยฟังมาก่อน

Pedal คือ ที่เหยียบเท้าของเปียโน เมื่อเหยียบแล้วจะเกิดเสียงหลากหลาย เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่ไม่มีหลักตายตัว แต่อาศัยหู และ เซน์ทางดนตรีเป็นหลัก นักเปียโนหลายท่านใช้เทคนิคนี้ในการสร้างความพิเศษให้กับดนตรีของตนเอง เช่น Horowitz และ Tureck







ในเวลาที่ Heifetz ไม่มีอารมณ์จะเล่นไวโอลิน เรามักจะเล่นเปียโน 4 มือด้วยกัน แม้ว่าเจ้าตัวจะบ่นว่าเขาขาดการฝึกซ้อมทุกครั้งก็ตาม


เขาเล่าว่าอันที่จริงแล้ว เปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่เขาชอบมากที่สุด แต่ต้องเล่นไวโอลินเพราะครอบครัวเขาต้องการให้เล่น ดังนั้นด้วยความที่เขาชอบเปียโนมากนี่เอง ที่ทำให้เขาศึกษาโน๊ตเปียโนของ accom อย่างละเอียด


น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้เห็น Heifetz เล่นเปียโน เพื่อนเก่าแก่ของเขาคนนึงเล่าให้ฉันฟังว่า ในสมัยยังเป็นเด็ก เธอเคยไปงานปารตี้กับครอบครัวเขา คืนนั้นวิทยุกำลังเปิดเพลงตามนิยมอยู่ Jascha ขอเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเต้นรำ แล้วหลังจากนั้นเมื่อเพลงจบลง เขาก็ไปที่เปียโน และดีดเพลงที่พึ่งจบไปนั้นอีกครั้งด้วยเปียโน

แต่ไม่ใช่ว่านักดนตรีทุกคนจะมีความสามารถในการจำแบบนี้

ครึ่งหนึ่งเขาเปิดเพลง Enigma Variation ของ Edward Elgar ให้ฉันฟัง แล้วจู่ๆก็นึกสนุกขึ้นมา

หลังจากเพลงจบลง เขาก็สั่งให้ฉันเล่นเพลงนี้ให้เขาฟังจากความจำ
ฉันไม่เคยฟังหรือเคยดีดเพลงนี้มาก่อน และไม่มีความสามารถในการจำทำนองได้แบบเขา จำต้องพยายามเล่นเพลงนี้ขึ้นมา ฉันจับได้แต่ทำนองหลัก และ variation อีกเล็กน้อยแบบมั่วๆ จนกระทั่งไปต่อไม่ได้แล้ว


“Pretty damn good imitation” คือคำชมของเขา


ตลอดช่วงเวลาหลายปีนี้ ที่ฉันได้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับ Heifetz การที่เราได้เล่นดนตรีด้วยกัน มีหนึ่งคำพูดของเขาที่ทำให้ฉันดีใจที่สุด


เขาบอกกับฉันว่า เขาน่าจะเกิดช้ากว่านี้อีกซักหน่อย หรือไม่งั้นฉันก็ควรจะเกิดเร็วกว่านี้ เรา 2 คนจะได้ออกทัวร์คอนเสิร์ตด้วยกัน สำหรับฉัน นี่คือคำพูดที่ฉันประทับใจที่สุดอย่างหาที่เปรียบไม่ได้


Enigma Variation ของ Elgar ค่ะ คลิปนี้ Var. 1-8




อันนี้คือ Var 9-12



Heifetz ตั้งชื่อ studio ของเขาว่า ” Sanctum Sactorum” แปลว่า สวรรค์ชั้นสูงสุด


ที่นี่เป็นสถานที่ ที่เขาใช้ซ้อมไวโอลินได้อย่างมีความสุข และปลอดภัยจากการถูกรบกวนจากผู้อื่น รวมถึงเสียงไวโอลินของเขาจะไม่ดังออกไปให้คนอื่นที่ไม่อยากให้ฟังได้ยินด้วย


ที่ studio มีห้องสมุดส่วนตัวของเขา ซึ่งเป็นที่เก็บโน๊ตเพลงต่างๆมากมาย, ใช้เก็บไวโอลิน และยังเป็นที่เก็บภาพสมัยก่อนของเขา

อาณาจักรส่วนตัวของเขาแห่งนี้ มีแต่เพียงคนที่ได้รับอนุญาตพิเศษไม่กี่คน และเลขาของเขาเท่านั้น ซึ่งเลขานั้นต้องทำหน้าที่ทำความสะอาดปัดฝุ่นในห้องนี้ด้วย


ลิ้นชักและตู้ทุกใบในห้องสมุดนี้ เต็มไปด้วยโน๊ตเพลง และเอกสารมากมาย ซึ่งถูกจัดเรียงตามตัวอักษร และ ตามประเภทไว้อย่างมีระเบียบเรียบร้อย ดังนั้นการจะค้นหาอะไร จึงสามารถทำได้อย่างง่ายดาย แต่หาเลขาของเขาคนไหนเกิดสะเพร่า เผลอเก็บเอกสารไม่ถูกต้อง Heifetz จะไล่ออกทันที


ในตอนที่ Heifetz เลิกสอนหนังสือแล้ว เลขาของเขาจะมาที่ห้องสมุดนี้เพียงเดือนละ 1-2 ครั้ง และนั่นทำให้ห้องไม่ได้รับการทำความสะอาด แต่ Heifetz ก็ยังยืนยันว่ายอมให้ฝุ่นหนากว่าเดิมหน่อยนึงดีกว่าจะยอมให้ใครเข้าไปในนั้น



เมื่อ Heifetz อนุญาตให้เข้าไปทำความสะอาด เขาจะให้เวลาเพียงจำกัด และตามไปดูตอนฉันปัดฝุ่นด้วยตลอดเวลา

ในห้องนั้น ฉันสังเกตุเห็นตู้อยู่ 6 ใบ ซึ่งที่ผ่านมาเขาไม่เคยสั่งให้ฉันหยิบอะไรในตู้นั้นเลย ฉันมองมันเหมือนกล่องปริศนา และถามเขาว่าข้างในนั้นมีอะไร


“ถ้าอยากรู้ ทำไมเธอไม่ลองเปิดมันดูด้วยตนเองหล่ะ มันไม่ได้ล็อกไว้หรอก”


เมื่อได้รับอนุญาต ฉันจึงเปิดดู และพบว่าสิ่งที่อยู่ในตู้นั่นคือ งาน transcription ที่ยังทำไม่เสร็จของ Heifetz รวมทั้งงานที่ทำเสร็จแล้วแต่ไม่ได้ตีพิมพ์ แถมยังมีงานที่เขาตั้งใจจะทำแต่ยังไม่ได้เริ่มลงมืออีกด้วย


นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งของตู้ยังมีงานที่มีคนแต่งให้เขา แต่เขาไม่เคยแสดงมัน, งานเพลงที่เขาแต่งเอง ทั้งที่ตีพิมพ์แล้วและแบบร่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานสไตล์สมัยนิยม ซึ่งมีจังหวะและสไตล์แบบเพลงแจ๊ส และบางเพลงเป็นงานเดี่ยวเปียโน


ฉันนับงานที่ยังทำไม่เสร็จได้ทั้งหมดราว 50 ชิ้น งานทุกชิ้นจะถูกเก็บไว้คู่กับโน๊ตต้นฉบับเสมอ เพื่อที่เขาจะได้สามารถทำงานต่อได้ทันทีเมื่อมีอารมณ์



studio ของ Heifetz ที่บ้านที่ bevery hill จำลองไว้ที่ Colburn school สถาบันดนตรีที่ LA


เพลง Transcription เพลงแรกที่ Heifetz แต่งขึ้นชื่อว่า Estrellita ซึ่งเขาได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกที่ เมืองเม็กซิโก

เขาเล่าว่าตอนนั้นอยู่ในระหว่างทัวร์คอนเสิร์ต ที่เม็กซิโก Heifetz ได้ยินเพลงนี้ในคาเฟ่ เขาประทับใจเพลงนี้มากและประทับใจการต้อนรับของคนเม็กซิกัน


หลังจากเขากลับไปที่ห้องพัก ก็ลงมือเรียบเรียงเพลงนี้ทันที และนำมันออกแสดงในคืนถัดไป เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แด่ชาวเม็กซิโก

Heifetz ยังเล่าอีกว่า รู้สึกสงสาร accom ของเขาอย่างมาก เพราะต้องเล่นโน๊ตที่เขียนจากลายมือของเขา แถมยังเต็มไปด้วยเครื่องหมาย # มากถึง 6 ตัว ไม่นับเครื่องหมายอื่นๆอีก ซึ่งเขาบอกว่าใส่ทุกอย่างลงไปหมด เท่าที่คิดได้




Estrellita เป็นเพลงดังของ Manuel Ponce (1882-1948) คีตกวีชาวเม็กซิกัน

คลิปนี้คือฉบับดั้งเติม ร้องโดยนักร้องเสียง soprano ชาวเม็กซิกัน ชื่อว่า Ernestina Garfias



คลิปนี้คือ ฉบับ transcription ของ Heifetz เวอร์ชั่นนี้ไวโอลินเล่นกับ orchestra เสียงจะแตกต่างกับต้นฉบับเดิมที่ Ponce แต่งเล็กน้อย เพราะ Heifetz เปลี่ยน Key ที่ใช้ เพื่อให้เหมาะกับเสียงไวโอลินค่ะ






อีกหนึ่งใน Transcription ของ Heifetz ที่มีชื่อเสียง คือ Hora staccato
เพลงนี้ Heifetz ก็ได้ยินจากคาเฟ่เช่นกัน แต่เป็นที่โรมาเนีย


คำว่า Hora ในภาษาโรมาเนีย แปลว่า เต้นรำ ซึ่งเป็นการเต้นที่นิยมเต้นกันทั่วไปเหมือนเพลงพื้นบ้าน

ส่วนคำว่า Staccato Heifetz เพิ่มเข้าไปเพราะมันแสดงถึงสไตล์เพลงที่เขาต้องการให้เล่นเสียงสั้นๆและขาดจากกัน ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Staccato

Heifetz แต่งเพลงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เล่น เล่นเทคนิค Stacctato แบบ “Honest Staccato” หรือการเล่นStaccato อย่างแท้จริง


ในชั่วโมง master class เมื่อถึงเวลาของเพลง itsy bitsy นักเรียนของเขาหลายคนชอบเลือกเพลงนี้มาเล่นให้เขาฟัง
(หากท่านผู้อ่านนึกเพลง itsy bitsy ไม่ออก โปรดย้อนกลับไปอ่านตอนที่ 2)


Heifetz ไม่เคยว่าอะไร เพียงแต่เปรยว่า ถ้าไม่ได้เตรียมเพลงอื่นมา ก็เล่นไปเถอะ


ส่วนใหญ่แล้วนักเรียนที่เล่นเพลงนี้ มักจะเล่นด้วยความเร็วสูง เพื่อต้องการจะโชว์ความสามารถของตนเอง และต้องการทำให้ Heifetz ประทับใจ แต่ดูเหมือนว่า เขาจะไม่เคยประทับใจใครเลย


มีอยู่ครั้งหนึ่งที่นักเรียนของเขาเล่นเพลงนี้ด้วยความเร็วสูงสุด ชนิดที่คนฟังต้องอึ้ง

และเมื่อเพลงจบลง นักเรียนผู้นั้นมักจะได้รับเสียงปรบมืออันดังจากนักเรียนคนอื่นๆ ในขณะที่ Heifetz ยังคงนิ่งเฉย จากนั้นจึงสั่งว่าให้นักเรียนผู้นั้น เล่นเพลงนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ให้เล่นตามจังหวะที่เขาจะเคาะให้


Heifetz เคาะจังหวะ ด้วยความเร็วที่ช้ามาก เขาต้องการทดสอบความสามารถในการสีเทคนิค staccato ของนักเรียนผู้นี้

ส่วนสาเหตุนั้นก็เนื่องมากจากว่า การสีเทคนิค staccato ในไวโอลินนั้น จะทำได้ยากมากโดนเฉพาะเวลาเล่นช้าๆ และยิ่งในเพลง Hora staccato นี้ แม้ว่าจะเป็นเพลงเร็ว แต่Heifetz ตั้งใจแต่งขึ้นมาเพื่อให้นักไวโอลินได้โชว์ความสามารถในการเล่น staccato ทั้งแบบสีโบว์ขึ้นและสีโบว์ลง

(staccato แบบสีโบว์ขึ้นทำได้ง่ายกว่าสีโบว์ลงมาก และนักไวโอลินหลายคน สีได้แต่ staccato แบบสีขึ้นเท่านั้น)


ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อนักเรียนผู้นั้นไม่สามารถสีเพลงนี้ได้เมื่อ ถูกกำกับให้เล่นเพลงนี้ช้าๆ และต้องอับอายเป็นอันมาก

นี่เป็นบทเรียนหนึ่งที่ทุกคนควรเรียนรู้ไว้ว่า การเล่นเพลงช้าๆนั้นยากกว่าเพลงเร็วๆ




Hora staccato by Heifetz



แต่ก็ใช่ว่า Heifetz จะเขียนแต่เพลง transcription ยากๆเท่านั้นนะคะ เพลงที่ทำแบบง่ายๆก็มีเหมือนกัน

Sonata for cello and piano Op.19 ของ Sergei Rachmaninoff เป็นหนึ่งในนั้น

Heifetz เพียงแค่เขียนให้โน๊ตในส่วนของ cello ให้สูงขึ้น 1-2 ขึ้น เพื่อให้ไวโอลินเล่นได้ เช่นเดียวกับโน๊ตในส่วนของ accom เขายังคงไว้เหมือนในต้นฉบับเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร


สำหรับตัว Heifetz เอง หนึ่งใน Transcription ที่เขาเล่นบ่อยที่สุดคือ Ave Maria ของ Schubert เวอร์ชั่น Arrange ของ August Wilhelmj ซึ่งเขาชอบให้ Accom เล่นโน๊ตเพิ่มเติมมากกว่าเดิมในท่อนที่อารมณ์ของเพลงถึงจุดสูงสุด ซึ่งดูเหมือนว่ามีผู้ฟังน้อยคนที่ฟังและสังเกตเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลง


Ave Maria คลิปนี้ บอกว่า อัดปี 1917 Heifetz เล่นตอนอายุ 16 ปี


หลังจากที่ฉันได้เข้าไปทำความสะอาดห้องสมุดของ Heifetz และได้เห็นผลงานที่ยังไม่เสร็จของเขามากมาย มันทำให้ฉันไม่สามารถตัดใจได้


วันนึงในหลังจากเราซ้อมดนตรีด้วยกันเสร็จแล้ว และ Heifetz ดูท่าทางกำลังอารมณ์ดี ฉันจึงถามเค้าถึงผลงานเหล่านั้น


“คุณเคยคิดถึงผลงานที่ยังไม่เสร็จในตู้ที่ เราเข้าไปดูด้วยกันวันก่อนไหม”


“งานพวกนั้นมันมีอะไรเหรอ”
เขาตอบฉันด้วยน้ำเสียงที่บอกเป็นนัยๆว่า อย่ามายุ่งเรื่องของฉันนะ


ฉันรวบรวมความกล้าแล้วถามเขาอีกครั้ง


“คุณจะปล่อยมันไว้อย่างนั้นหน่ะเหรอ?”


“มีแต่ฉันเท่านั้นที่รู้ ส่วนสำหรับเธอ มันคือสิ่งที่ต้องค้นหาคำตอบ”
อีกครั้งกับคำตอบที่เขามันพูดเสมอว่าเวลาที่ไม่อยากจะตอบอะไรตรงๆ

“ถ้าฉันอยากให้มันอยู่อย่างนั้น มันก็จะอยู่อย่างนั้น”


และเมื่อฉันพยายามจะบอกเขาว่า ฉันชอบผลงาน transcription ของเขามากแค่ไหน เขาก็รีบตัดบท และสั่งให้ฉันเลิกออกความเห็นเกี่ยวกับงานของเขา....





วันนึงขณะที่ฉันกำลังซ้อมเปียโนอยู่ที่บ้านของเขา ส่วน Heifetz นั้นอยู่ที่ studio เขาเรียกฉันผ่าน intercom ด้วยน้ำเสียงที่ไม่ดี


“ฉันมีเรื่องสำคัญมาก อยากจะคุยกับเธอ”


ฉันหวั่นใจมากเมื่อได้ยินเสียงของเขา วันนั้นเป็นวันที่อากาศที่ไม่ดี ท้องฟ้ามืดสลัว และมีหมอก ซึ่งฉันรู้ว่านั่นทำให้เขาอารมณ์ไม่ดี เพราะ Heifetz เป็นคนที่ชอบอากาศแจ่มใส ท้องฟ้าสวยๆมากกว่า


และเมื่อฉันไปถึงห้อง เขาเปิดประตูเพียงเล็กน้อย และเผยให้เห็นแต่สีหน้าอันเคร่งเครียด เหมือนว่าเขากำลังผิดหวังอะไรซักอย่าง

ซักพักเมื่อเขาเห็นว่าฉันมีท่าทางเป็นห่วงเขามาก เขาก็เผยความจริง เปิดประตูและยิ้มอย่างมีความสุข ต้อนรับฉันเข้าไปในห้อง


“Surprise”


เขามีความสุขที่ได้แกล้งให้ฉันเป็นห่วงเสมอ





รูปนี้ถ่ายเมื่อ ปี ค.ศ. 1925 Heifetz ถ่ายกับนักเปียโนชาวรัสเซียชื่อ Irving Berlin (Israel Baline, 1888 - 1989)


เขาเชิญให้ฉันเข้าไปในห้อง แล้วสั่งให้หยิบโน๊ตในตู้ใบที่ฉันรู้ว่ามันคือตู้ที่เก็บผลงาน transcription ของเขา

หลังจากเราเล่นเพลง transcription ของเขาไป 3 เพลง เขาก็สั่งให้ฉันเล่นเพลงเปียโนฉบับ original ตามด้วยเล่นฉบับ transcription แล้วเปรียบเทียบให้ฉันเห้นถึงข้อแตกต่าง และอธิบายให้ฉันฟังถึงวิธีการทำงาน ว่าเขาทำอย่างไร ถึงได้เวอร์ชั่นใหม่ที่ยังคงเสียงเหมือนฉบับดั้งเดิม

เขาสอนให้ฉันรู้จักวิธีที่จะดึงไอเดียของผู้ประพันธ์ออกมา และสอนว่าควรจะทำเพลงใหม่ออกมาให้เหมาะกับไวโอลินและเปียโนได้อย่างไร


ในช่วงปี ค.ศ.1984 จนถึงตอนที่เขาเสียชีวิตไป เป็นช่วงเวลาที่ฉันและ Heifetz ได้ศึกษางาน transcription ด้วยกัน มากกว่า 150 ผลงาน ทั้งงานที่ตีพิมพ์แล้ว และยังไม่ได้ตีพิมพ์


Heifetz เล่าว่าแรงบันดาลใจในการทำเพลง transcription ของเขา มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เวลาที่ Heifetz ได้ฟังเพลงเปียโนที่ Pauline น้องสาวของเขา เพลงไหนที่เขาชอบ เขามักจะคิดอยู่เสมอว่า มันน่าจะเล่นด้วยไวโอลินได้นะ


ลักษณะเปียโนในเพลง transcription ของ Heifetz ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบการแต่งในส่วนเปียโนจาก Violin sonata ของ Mozart และ Beethoven โดยเพลงเหล่านั้นจะแต่งให้ไวโอลินและเปียโนมีความสำคัญเท่าๆกัน และไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้ไวโอลินโชว์ความสามารถอยู่คนเดียว


เพลง Transcription เพลงแรกที่ฉันร่วมทำงานกับเขา คือ เพลง Humoresque in G major Op.10 ของ Rachmaninoff ซึ่งมีถึง 3 เวอร์ชั่น


ตัว Rachmaninoff เขียนเพลงนี้เอาไว้ 2 เวอร์ชั่น แต่เขาแสดงเวอร์ชั่นที่ 2 ในคอนเสิร์ต
Heifetz สั่งให้ฉันไปศึกษาเพลงทุกเวอร์ชั่นอย่างละเอียด โดยให้จำและมาเล่นให้เขาฟังหลายครั้ง จนเขาซึมซับบทเพลงทุกเวอร์ชั่นเข้าไป จากนั้นจึงเริ่มทำงานอีกครั้งจากความรู้สึกที่รวบรวมได้จากทุกเวอร์ชั่น


ทุกครั้งที่ Heifetz จะนำเพลงไหนมาทำ transcription เขาจะศึกษาเพลงต้นฉบับอย่างละเอียด




Humoresque in G major Op.10 ของ Rachmaninoff
Piano by Arcadi Volodos


Heifetz มีวิธีการทำงานไม่เหมือนคนอื่น เขาจะใช้วิธีการเขียนโน๊ตแบบดั้งเดิม ที่ใช้กันในยุคกลาง คือมีปากกาที่มีหัวเป็นเหล็ก เอาไว้ขูดโน๊ตที่เขียนด้วยหมึก ซึ่งเขาไม่ต้องการออกไป แล้วเขียนโน๊ตใหม่ลงไปด้วยดินสอ ที่สำคัญคือ เขาไม่เคยทำกระดาษเป็นรูเลย


เขาจะเขียนโน๊ตด้วยความระมัดระวัง โดยใช้ดินสอตลอด เพื่อที่จะได้แก้ไขได้โดยง่าย และจะใช้หมึกต่อเมื่อมั่นใจแล้วว่าเพลงสมบูรณ์แล้ว และไม่ต้องการแก้ไขอีก


และเนื่องจากเขาใช้วิธีการทำงานแบบดั้งเดิม ดังนั้น เขาจึงเลือกใช้กระดาษเขียนโน๊ตที่มีคุณภาพดีที่สุด เพราะมันจะได้สามารถเขียนหมึกลงไปตรงบริเวณที่กระดาษถูกขูด โดยที่น้ำหมึกไม่กระจายเลอะเทอะ


หลังจากผลงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว เราจะนำเพลงดังกล่าวมาเล่นซ้ำๆอีกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานที่ออกมาดีที่สุด และเพื่อให้เขาตัดสินใจว่าจะเก็บผลงานนั้นไว้หรือไม่


และไม่ว่าผลงานนั้นจะใช้เวลาในการทำงานมานานแค่ไหนก็ตาม เมื่อใดที่นำมาลองเล่นแล้วเขาพบว่าผลงานชิ้นนั้น ไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือไม่ตรงตามที่เขาต้องการ
เขาจะจัดการฉีกมันอย่างช้าๆ ด้วยท่าทางที่เหมือนกับเด็กซนๆที่กำลังทำลายของเล่นที่รักของตนเอง



นอกจากการทำ transcription แล้ว Heifetz ยังชอบเปลี่ยนแปลงโน๊ตฉบับดั้งเดิมเสมอๆ
ดังที่เคยเล่าไปแล้วว่า เขาต้องการให้ accom เพิ่มโน๊ตเล็กน้อยลงไปในบทเพลง
นอกจากนี้เขายังเคยเปลี่ยนแปลงโน๊ต 2-3 ห้อง ของ violin concerto ชื่อดัง เพราะรู้สึกว่ามันทำให้บทเพลงไพเราะขึ้น

ครั้งหนึ่งที่ฉันกำลังเล่นเพลง El puero ของ Alberniz เขาบอกว่าเขาไม่ชอบตอนจบของเพลงนี้ และสั่งให้ฉันเล่นใหม่ในแบบฉบับของฉัน ฉันต้องแต่งตอนจบของเพลงนี้หลายต่อหลายครั้ง จนเขาพอใจ และบอกว่า เขาชอบฉบับที่ฉันแต่งมากกว่าต้นฉบับเดิม



El Puerto จาก Iberia, Book 1
แต่งโดย Issac Albeniz นักแต่งเพลงชาวสเปน


แม้ Heifetz จะมีผลงานบันทึกเสียงดนตรีแนวคลาสสิกมากมาย แต่อันที่จริงแล้วเขาเองก็ความสามารถในการเล่นดนตรีแจ๊สด้วยเช่นกัน เขาชอบดนตรีแจ๊ส และชอบการ improvise

เขามีจังหวะของดนตรีแจ๊สอยู่ในตัว และด้วยความสามารถในการควบคุมจังหวะอันยอดเยี่ยม จึงบอกได้เลยว่า Heifetz มีคุณสมบัติของนักเล่น percsstion ในวงแจ๊สอยู่เต็มเปี่ยม


Gershwin คือ composer ที่ Heifetz ชื่นชอบมาก และเขาก็ได้ทำ transcription เพลงของ Gershwin หลายเพลง

เขาหวังว่าเพลงเหล่านี้ จะบ่งบอกและแสดงให้เห็นว่าเขาชอบ Gershwin มากขนาดไหน แถมยังบอกอีกว่า อยากจะเก่งได้ซักครึ่งหนึ่งของ Gershwin อีกด้วย


ผลงานชิ้นสุดท้ายของ Heifetz คือ An American in Paris ของ Gershwin
ฉันหมั่นถามเขาอยู่เสมอๆว่าเมื่อไหร่ จะทำงานนี้ให้เสร็จเสียที ซึ่งทุกครั้งเขาจะบ่ายเบี่ยง และบอกว่า ให้รอไปก่อน

แต่ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อฉันถามว่าเขาต้องการให้เพลงนี้เป็นยังไง เขากลับยอมตอบคำถามของฉันแต่โดยดี แทนที่จะตอบแบบกวนๆเหมือนทุกครั้ง

เขาบอกทุกอย่างที่ต้องการจะทำในเพลงนี้ และยังเล่นเพลงนี้ในแบบฉบับของเขาให้ฉันฟังหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับไม่เคยเขียนโน๊ตขึ้นมาจนกระทั่งเขาจากไป


วันหนึ่งในฤดูร้อน ที่สวิซเซอแลนด์ 2 ปี หลังจาก Heifetz จากไปแล้ว ฉันหยิบเพลงนี้ขึ้นมา และจิตนาการถึงตอนที่เราอยู่ด้วยกัน นึกถึงช่วงเวลาดีๆที่เราทำงานร่วมกัน และนึกถึงเพลงนี้ที่เขาเคยเล่นให้ฉันฟังตอนที่ยังมีชีวิตอยู่


ฉันเขียนเพลงนี้โดยมีความรู้สึกเหมือนว่ามือของเขากำลังเขียนอยู่ และมีเสียงของเขากำลังกระซิบอยู่ข้างหูว่าเพลงนี้ควรจะเป็นอย่างไร


2 สัปดาห์ผ่านไป แล้วในที่สุดเพลงนี้ก็เสร็จสมบูรณ์ ....


An American in Paris by George Gershwin






-------------------------------------จบตอนที่ 7 -----------------------------------------------






 

Create Date : 21 เมษายน 2552    
Last Update : 21 เมษายน 2552 9:16:14 น.
Counter : 1055 Pageviews.  

Heifetz As I Knew Him (6) :การเล่นวง chamber และ เบื้องหลังชีวิตศิลปินของ Heifetz

บทที่ 9


แม้ว่า Auer จะเป็นเพียงบุคคลเดียวที่ Heifetz เห็นอยู่ในสายตา และให้ความเคารพยกย่องเป็นอย่างมาก แต่เขากลับคิดว่า Auer ไม่ใช่นักไวโอลินที่เก่งที่สุดในโลก
ในช่วงเวลาที่เขาเรียนกับ Auer ตอนนั้น Auer เป็น concert master ให้กับวง St Petersburg symphony orchestra และได้เล่น solo หลายส่วนในวง


เวลาที่เรา 2 คนฟังแผ่นบันทึกเสียงงาน ballet ของ Tchaikovsky ด้วยกัน Heifetz จะเล่าว่า ตรงนั้น...ตรงนี้ Auer เป็นคนสี เขาเล่าว่าเสียงไวโอลินของ Auer มีเอกลักษณ์ และมีสไตล์การสีที่ไม่สามารถเลียนแบบได้


ความเป็นศิลปินของ Heifetz จากการสอนของ Auer นั้น มีเพียงเจ้าตัวเขาเองเพียงคนเดียวเท่านั้นที่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เขามักจะเล่าว่า Auer สอนการสีไวโอลินแบบถูกโปรแกรมมาให้กับ นร แต่สำหรับ Heifetz แล้ว อันที่จริง Auer ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการสี หรือ การถือไวโอลินของเขาเลย เพราะ Auerเชื่อว่า เด็กทุกคนจะเลือกทำทุกอย่างในแบบที่ตนเองรู้สึกสบายที่สุดตามธรรมชาติ


Auer แต่งหนังสือเกี่ยวการสอนไวโอลินไว้เล่มหนึ่งชื่อว่า Violin Playing As I Teach แน่นอน Heifetz มีหนังสือเล่มนี้ในครอบครอง และเขาเก็บมันไว้ในห้องสมุดที่สตูดิโอของเขา ในตำแหน่งที่โดดเด่นที่สุด แต่ฉันจำไม่ได้ว่า เขาแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้ นร ในชั้นเรียนอ่านด้วยหรือเปล่า

สำหรับฉัน เขานำหนังสือเล่มนี้มาอวด พร้อมกับสั่งว่าให้ค่อยๆอ่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดมากๆ เพราะปกติเวลาเขาสั่งให้ทำอะไร จะต้องกำหนดระยะเวลาเสมอไม่เว้นแม้แต่การอ่านหนังสือ

หลังจาก Heifetz ได้จากโลกนี้ไปแล้ว ฉันได้หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านอีกครั้งและพบว่าการสอนของ Heifetz ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวิธีการสอนของ Auer

นอกจากนี้ในตอนท้ายของบทนำ Auer ยังเขียนข้อความที่ฉันคิดว่าคงเป็นคำพูดที่ประทับใจ Heifetz มาก


"สำหรับคนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักดนตรี แม้ว่าจะเป็นคนที่มีพรสวรรค์ แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคมากมายที่ต้องฝ่าฟันและต้องทนทุกข์ทรมาณกับสิ่งเหล่านั้นตลอดไป จนกว่าจะสามารถขจัดสิ่งลวงตาออกไปได้ จึงจะพบกับชัยชนะ"


นอกจากนี้ Auer ยังเขียนตำหนิพ่อแม่ของบรรดาเด็กอัฉริยะ หรือแม้แต่พ่อแม่ธรรมดาทั่วไป ที่คิดว่าลูกของตนควรจะเป็นนักดนตรี และพยายามผลักดันทุกวิถีทางให้เด็กเป็นนักดนตรีอย่างที่พวกเขาต้องการ โดยไม่สนใจเลยว่าบางทีเด็กก็ไม่ได้มีความถนัดทางนั้น และการผลักดันของพ่อแม่เหล่านี้ ไม่ว่าจะด้วยความหอมหวานของชื่อเสียง เงินทองและชีวิตที่ดีในอนาคต แม้ว่ามันดูเหมือนเป็นความหวังดี แต่ที่จริงแล้วมันคือการทำลายชีวิตของเด็กต่างหาก



แต่ในทางกลับกัน แม้ว่าจะเกิดมาเป็นอัฉริยะก็ตาม อันที่จริงแล้ว Heifetz เอง ก็เคยมีช่วงเวลาที่ยากลำบากเหมือนกัน แถมดูจะหนักหนาสาหัสกว่าคนธรรมดาทั่วไปเสียด้วย


ในช่วงที่เขาเริ่มออกแสดง ก็มีเสียงวิจารณ์ตอบกลับมาจาก W.J. Henderson นักวิจารณ์ดนตรีของสำนักพิมพ์ New York Sun

Henderson กล่าวว่าแม้ Heifetz จะมีเทคนิคอันยอดเยี่ยม แต่กลับขาดความซาบซึ้งและไม่เข้าถึงตัวดนตรี แต่ยังคงแนะนำว่าหากHeifetz ปรับปรุงเรื่องควมเข้าใจในดนตรีได้แล้ว จะต้องประสพความสำเร็จอย่างมาก


หลังจากได้รับคำวิจารณ์ Heifetz เองก็เริ่มเปลี่ยนทัศนะคติเสียใหม่ เขาพบว่ายังมีอะไรมากกว่าการซ้อมไวโอลินเฉยๆ นั่นคือความมีชีวิตชีวา


และอย่างที่เราทราบกันดี Heifetz เป็นผู้ชนะเสมอมา จากพื้นฐานนิสัยของเขาที่ถูกตามใจและยกย่องแต่เด็ก เขาคือผู้ชนะเสมอมา ดังนั้นการได้รับคำวิจารณ์แบบนี้ ทำให้เขาช๊อกอย่างที่สุด

และต้องพยายามอย่างมากเพื่อจะรับฟังคำวิจารณ์ต่างๆ แล้วพยายามเอาชนะให้ได้ ซึ่งเขาเองเล่าว่า เขาซีเรียสถึงขนาดคิดฆ่าตัวตายหลังจากได้อ่านคำวิจารณ์เลยทีเดียว


ในระหว่างที่เขาเล่าให้ฟังถึงชีวิตในช่วงเวลานั้น เขาหยิบกระเป๋าตังค์และนำกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาและอ่านข้อความข้างในให้ฉันฟัง


ในกระดาษแผ่นนั้นมีบทกลอนที่ชื่อว่า " If " แต่งโดย Rudyard Kipling เขียนอยู่ ซึ่ง Heifetz เล่าว่า เขาพกกลอนบทนี้ตลอดมาและต้องเปลี่ยนกระดาษใหม่หลายครั้งเพราะเก็บจนขาด เขาเล่าว่ากลอนบทนี้เหมือนเป็นยันต์คุ้มภัย โดยจะหยิบออกมาอ่านเพื่อเตือนใจและให้กำลังใจตัวเอง เขายังบอกอีกว่าได้เขียนเพิ่มเติมลงไปเสมอว่า "Words to Live By"

นี่คือกลอนบทดังกล่าวค่ะ


IF


If you can keep your head when all about you
Are losing theirs and blaming it on you,
If you can trust yourself when all men doubt you
But make allowance for their doubting too,


If you can wait and not be tired by waiting,
Or being lied about, don't deal in lies,
Or being hated, don't give way to hating,
And yet don't look too good, nor talk too wise:


If you can dream--and not make dreams your master,
If you can think--and not make thoughts your aim;
If you can meet with Triumph and Disaster
And treat those two impostors just the same;


If you can bear to hear the truth you've spoken
Twisted by knaves to make a trap for fools,
Or watch the things you gave your life to, broken,
And stoop and build 'em up with worn-out tools:


If you can make one heap of all your winnings
And risk it all on one turn of pitch-and-toss,
And lose, and start again at your beginnings
And never breath a word about your loss;


If you can force your heart and nerve and sinew
To serve your turn long after they are gone,
And so hold on when there is nothing in you
Except the Will which says to them: "Hold on!"


If you can talk with crowds and keep your virtue,
Or walk with kings--nor lose the common touch,
If neither foes nor loving friends can hurt you;
If all men count with you, but none too much,


If you can fill the unforgiving minute
With sixty seconds' worth of distance run,
Yours is the Earth and everything that's in it,
And--which is more--you'll be a Man, my son!


--Rudyard Kipling




Heifetz เล่าว่าในตอนที่เขามาเปิดการแสดงที่อเมริกาใหม่ๆ กลอนบทนี้มีชื่อเสียงมาก มันมีความสำคัญต่อเขาในฐานะศิลปิน เพราะศิลปินจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ระหว่างความสำเร็จและความหายนะ


ในตอนที่ Heifetz เป็นเด็ก เขารู้จักแต่ความสำเร็จเสมอมา จนกระทั่งได้มาพบกับคำวิจารณ์ เขาจึงรู้จักว่าหายนะคืออะไร ในโลกของศิลปะ ความสำเร็จและความหายนะ มักอยู่ในเหรียญด้านเดียวกันเสมอ


และหลังจากเขาได้รับคำวิจารณ์ แล้วนำมาปรับปรุงตนเอง ในตอนนั้นหล่ะที่ความสำเร็จมาเยือน Heifetz อย่างแท้จริง ชื่อของเขากลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความ perfect ทั้งในด้านศิลปะและทางเทคนิค

Heifetz เล่าว่าเขารู้สึกขอบคุณ Henderson หลายต่อหลายครั้ง ที่ช่วยเตือนสติเขาและทำให้เขามีวันนี้ แถมยังเล่าว่าเขาเคยเขียนจดหมายไปขอบคุณคำวิจารณ์ของ Henderson ด้วย




Henderson เขียนหนังสือดนตรีหลายเล่มน่าสนใจ มีเรื่องนี้ด้วย

What Is Good Music? Suggestions To Persons Desiring To Cultivate A Taste In Musical Art

สามารถอ่าน preview ได้ในจาก google book ตาม link นี้ค่ะ

//www.flipkart.com/good-music-suggestions-persons-desiring/1846643457-8zx3fneo8d#previewbook



แม้ว่า Heifetz จะเป็นสุดยอดนักไวโอลินบนเวทีก็ตาม แต่ถึงกระนั้น เขากลับสารภาพว่าเขาตื่นเต้นทุกครั้งก่อนขึ้นเวที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาได้รับนิยามว่าเป็นเด็กอัฉริยะ ซึ่งนั่นทำให้ผู้คนคาดหวังในตัวเขามากๆ และเจ้าความตื่นเต้นเนี่ยหล่ะ คือภัยร้ายต่อการแสดงทุกครั้ง


Auer เขียนในหนังสือของเขาว่า ไม่มีวิธีการใดๆที่จะรักษาอาการตื่นเวทีของนักแสดงได้ ในกรณีที่ศิลปินเป็นนักเปียโน อาจจะโชคดีหน่อย เพราะอาการตื่นเวทีพอจะทุเลาได้โดยการกดคอร์ดแรงๆ 2-3 ครั้ง บนเปียโนในห้องซ้อมหลังเวที โดยที่หน้าเวทีไม่ได้ยิน แต่ในกรณีของนักไวโอลิน เขาไม่สามารถทำเช่นนั้นกับ bow ได้


Heifetz เล่าว่า สาเหตุที่เขาตื่นเต้นก่อนขึ้นเวทีนั้น เพราะว่าเขาไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ (ทุกท่านยังจำได้ใช่ไหมคะ ว่าHeifetz เป็นจอมโบงการ)

แต่ในกรณีนี้ เขามักจะกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ต่างๆที่ไม่คาดฝัน เช่น กลัวว่าจะลืมโน๊ต, สายไวโอลินอาจจะขาดระหว่างแสดง, นักเปียโนอาจจะดีดผิด, โน๊ตหล่นจากที่ตั้,ง วงออเครสตร้าหรือconductor ที่แสดงด้วยกันเกิดล่ม หรือแม้แต่ผู้ชม....


Heifetz คาดหวังอย่างมาก ให้ผู้ที่มาดูการแสดงไวโอลินของเขา ไม่เพียงแต่รู้สึกว่ามันสวยงาม แต่เขาต้องการให้ผู้ฟังรู้สึกตื่นเต้นด้วย ดังนั้นระหว่างที่เขาแสดงอยู่ จึงมักจะสอดส่องดูกริยาของผู้ชมเสมอๆ และเมื่อไหร่ที่เขาพบว่าผู้ชมเสียสมาธิและไม่สนใจฟังเพลง เขาจะเริ่มปฏิบัติการดึงความสนใจของผู้ชมทันที แล้วก็เป็นกรรมของผู้ที่เล่น accom ซึ่งมีหน้าที่จะต้องตาม Heifetz ให้ทัน


ปฏิบัติการที่ว่านี่ได้แก่ การเปลี่ยนลักษณะการเล่นที่สีอยู่เป็นประจำ การเปลี่ยนประโยคของเพลง (phrase) หรือแม้แต่การเปลี่ยนนิ้วที่ใช้ และด้วยเหตุนี้ ทำให้เขาต้องเคี่ยวเข็ญ accom ของเขาทั้งนักเปียโนและวงchamber เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเขาที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่อยู่บนเวที


การเล่นที่ perfect จนเกินไป การแสดงที่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว ไม่ใช่แนวทางการเล่นของ Heifetz


“ความเสี่ยง” ทำให้การแสดงดูมีชีวิตชีวาน่าตื่นเต้น นี่ต่างหากหล่ะ คือเส่ห์นแห่งเสียงไวโอลินของ Heifetz


ทั้ง Auer และ Heifetz ต่างมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ที่ยอดเยี่ยม ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่ทำให้เขาประสพความสำเร็จ


อันที่จริงแล้วการซ้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ไม่ตื่นเต้นและไม่ลืมโน๊ต แต่ถึงอย่างนั้นการที่เอาแต่ซ้อมๆๆ โดยไม่รู้จักวิจารณ์การเล่นของตนเอง และไม่มีการปรับปรุงเสียงที่ออกมา เป็นการซ้อมที่เสียเวลาเปล่า และจะติดเป็นนิสัย


แต่ในขณะเดียวกัน เขากลับต่อต้านการซ้อมด้วยวิธีการบันทึกเสียงการเล่นของตนเอง แล้วมาเปิดฟังเพื่อหาจุดบกพร่อง เพราะ Heifetz มีความเห็นว่า นักเรียนควรฟังเสียงของตนเอง และแก้ไขเสียงที่ออกมา ณ ขณะนั้นเลย เพราะมันกำลังเข้าถึงความรู้สึกขณะกำลังแสดงอยู่จริงๆ


การฟังเสียงบันทึกของตนเอง แล้วมาแก้ไข ทำให้ไม่รู้จักการปรับตัว นอกจากนี้ยังทำให้โน๊ตทั้งแผ่นเต็มไปด้วยรอยขีดเขียนมากมาย และทำให้กังวลในจุดต่างๆที่เขียนไว้ ซึ่งมันจะทำให้เรารู้สึกตื่นกลัวเสมอเมื่อเล่นถึงตรงนั้น แล้วนั่นหล่ะคือหนทางสู่หายนะบนเวที


สำหรับ Heifetz เขาเล่าว่าเฉลี่ยแล้ววันนึงเขาใช้เวลาซ้อมไวโอลินเพียงแค่ 3 ชม.เท่านั้น แต่กลับใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเตรียมเพลงต่างๆ เขาจะอ่านศึกษาโน๊ตเพลงและจดจำมันก่อนก่อนที่จะหยิบไวโอลินมาสีเสมอ ซึ่งการทำเช่นนี้ ช่วยให้ไม่เกิดอาการลืมโน๊ต


อาการลืมโน๊ต หรือ สมองว่างเปล่านี้สามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่หรือมีชื่อเสียงมากขนาดไหนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ถูกกดดัน เช่นเวลาอยู่บนเวที ทุกคนสามรถลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่ซ้อมมาจนหมดเกลี้ยง


จริงอยู่ว่าการลืมโน๊ต สามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่กับศิลปินที่มีความจำดีเยี่ยม

แต่ในกรณีของ Heifetz ดูเหมือนจะเป็นข้อยกเว้น สมองอัฉริยะของเขาสามารถจดจำเพลงต่างๆมากมายได้อย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนใหญ่ Heifetz มักจะสีไวโอลินโดยไม่ดูโน๊ต ทั้งๆที่บางเพลง เขาไม่ได้สีมายาวนานเป็นสิบปี


และที่สำคัญคือ ที่เขาจำได้ไม่ใช่เพียงแค่ตัวตัวโน็ต แต่ยังรวมไปถึง อารมณ์ของเพลงและการใช้นิ้ว แถมยังจำได้อีกว่า ตัวเขาเองใช้นิ้วอะไร และในโน๊ตจริงๆเขียนว่าใช้นิ้วอะไร
ไม่เพียงเท่านั้น ที่สำคัญคือเขายังสามารถจำโน๊ตในส่วนของ accom ทั้งตัวโน๊ต อารมณ์และวิธีการเล่นได้ด้วยอีกต่างหาก


แต่ถึงกระนั้น Heifetz ก็เคยเล่าให้ฟังว่า ในชีวิตการเป็นศิลปินของเขา เคยลืมโน๊ต 1 ครั้ง ซึ่งตอนนั้นเขากำลังอยู่ในห้องอัด และช่วงนั้นเขาต้องออกคอนเสิร์ตมากมาย





Heifetz เป็นคนที่มีพลังงานเปี่ยมล้นอยู่เสมอ แม้ว่าในตอนที่เขาอายุมากขึ้นจนเขาต้องใช้ไม้เท้าแล้ว ทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิม


ในอดีตสมัยที่เขายังออกทัวร์คอนเสิร์ต เขาสูบบุหรี่จัดถึงวันละ 2 ซอง แต่หลังจากที่เขาได้รู้ถึงอันตรายของมัน ก็ตัดสินใจเลิกโดยเด็ดขาด แต่ยังคงพกบุหรี่และไฟแช็กในกระเป๋าตลอดเวลา เผื่อว่าในวันนึงเขาอาจจะเปลี่ยนใจ แต่ทว่าเหตุการณ์นั้นไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย


การดื่ม เป็นกิจกรรมอันโดดเด่นและเป็นเรื่องปกติของชาวรัสเซียทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ Heifetz

แอลกอฮอลล์ เป็นสิ่งที่ทำลายชีวิตคนมากมาย แต่นั่นไม่เคยมีผลกับ Heifetz เลยไม่ว่าจะกี่ดีกรีก็ตาม ซึ่งอันที่จริงแล้ว จริงๆเพราะเขารู้ตัวเองดีมากกว่าว่าควรจะหยุดตรงไหน


ในตอนที่ฉันรู้จักกับเขา เขามักจะดื่ม bourbon แต่บนโต๊ะของเขากลับมี Vodka ตั้งอยู่เสมอๆ ไว้เผื่อว่าจะเปลี่ยนใจทีวินาทีสุดท้าย และอย่างที่เคยเล่าไป Heifetz จะมีความสุขมากเมื่อใครก็ตามยอมดื่มเป็นเพื่อนเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนผู้นั้นดื่มแล้วไม่ออกอาการอะไร


ฉันได้รู้เรื่องนี้จากตอนที่ครั้งหนึง Heifetz มาหาฉันที่บ้าน และได้พบกับแม่ชีชาวดัชผู้หนึ่งซึ่งเคยเป็นครูของแม่ของฉัน เธอมาพักที่บ้านของฉันชั่วคราว

ทั้ง 2 คนได้สนทนากันมากมาย Heifetz รู้สึกสนใจเธอมาก เพราะเธอไม่เคยรู้เรื่องอะไรอื่นเลยนอกจากเรื่องราวในคอนแวนต์ พวกเขาคุยกันอย่างออกรส Heifetzg เสริฟวอดก้าให้กับท่านแม่ชี พร้อมกับเชียร์ให้ดื่มหมดแก้วหลายต่อหลายครั้ง เขาชวนให้เธอเล่าเรื่องของตนเองตั้งแต่ชื่อเดิมของท่านก่อนที่จะเข้ามาอยู่ภายใต้ศาสนา แถมยังบอกให้เปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อเดิมนั้นแทนชื่อทางศาสนาที่ใช้อยู่ในตอนนี้ เขาเรียกท่านด้วยชื่อเดิม แล้วยังอนุญาตให้ท่านเรียกเขาว่า จิม อีกด้วย
ในภายหลัง Heifetz มาบอกกับฉันว่า เขาไม่เคยเห็นผู้หญิงคนไหนที่มาดื่มกับเขาแล้วไม่ฟุบลงกับโต๊ะ




นอกจาก Heifetz จะเป็นคนที่มีความจำอันยอดเยี่ยมแล้ว เขายังมีความสามารถอีกอย่างหนึ่งคือการควบคุมจังหวะได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งในแง่ tempo และ rhythm


นักดนตรีน้อยคนนักที่สามารถควบคุม 2 อย่างนี้ได้ตลอดเวลา แต่ที่น้อยยิ่งกว่าคือ คนที่สามารถคุมทั้ง 2 อย่างนี้ได้ แล้วยังรู้สึกสบายและอิสระไปพร้อมๆกัน ซึ่งความอิสระนี้ยังรวมไปถึงการตีความอีกด้วย


Heifetz มักจะตำหนินักเรียนที่เล่นจังหวะคงที่แข็งๆเหมือนเครื่องเคาะจังหวะเป๊ะๆ หรือเล่นตามที่โน๊ตเขียนทุกประการ ความมีชีวิตชีวา โดยที่จังหวะยังคงเดิมคือสิ่งที่เขาต้องการ

แต่การที่ผู้เล่นจะสามารถรู้สึกเป็นอิสระได้ เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเล่นเพลงนั้นจนคล่อง และขจัดปัญหาทางด้านเทคนิคต่างๆไปได้แล้ว ซึ่ง Heifetz เข้าใจตรงนี้ดี และยินดีที่จะรอให้นักเรียนพร้อมเสียก่อน


Auer เขียนในหนังสือของเขาว่าอีกปัญหาหนึ่งที่มีผลต่อการตีความคือบรรดารายละเอียดมากมายของเครื่องหมายและข้อความต่างๆที่เขียนอยู่ในโน๊ต


เครื่องหมายกำกับเสียงดัง-เบา การเน้นเสียง จังหวะ ข้อความบอกอารมณ์และสีสัน เครื่องหมายบอกประโยคเพลง การใส่ลูกจบ การเล่นซ้ำๆกัน การทำVibrato การเปลี่ยนโบว์ บลาๆๆๆๆๆ มากมายร้อยแปดข้อความที่เขียนกำหนดอยู่ในเพลง ซึ่งนั่นหมายถึงนักดนตรีจะต้องจำทั้งหมดนี้และแสดงมันออกมาให้ผู้ฟังได้ยิน ซึ่งหลายๆอย่างมีเพียงนักไวโอลินเท่านั้นที่ได้สามารถได้ยินและเข้าใจ


ในกรณีของนักฟังเพลงที่เป็นผู้ชื่นชอบดนตรีธรรมดาๆ เมื่อรายละเอียดบางอย่างหายไปหรือครบถ้วนมากขึ้น เขาจะบอกแต่เพียงว่า เพลงที่ได้ฟังนั้นไพเราะและมีการตีความแตกต่างไปจากเวอร์ชั่นอื่นๆที่เคยได้ฟังมา แต่พวกเขาไม่รู้หรอกว่านักดนตรีทำให้มันแตกต่างกันได้อย่างไร


ซึ่งนี่เป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่ต้องแนะนำนักเรียนให้รู้จักใช้เครื่องหมายและข้อความในโน๊ตเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ ทำอย่างไรมันถึงจะฟังดูแล้วเป็นอิสระ ได้ใจความครบถ้วน และไม่ได้เหมือนถูกโปรแกรมมา


ในกรณีของ Heifetz เนื่องจากเขามีความสามารถในการจดจำโน๊ตเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้เขาไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้ ดังนั้นสิ่งเดียวที่เขาต้องทำคือการตีความ


คีตกวีที่มีชื่อเสียงหลายคน อาจจะไม่ได้ใช่คนที่ตีความเพลงของตนเองได้ดีที่สุดเสมอไป เช่น Korngold Goldmark Conus Vieuxtemps และ Spohr หรือแม้แต่ sonata ของ Strauss ตัว Heifetz เองพยายามซึบซับชิวิตของคีตกวีทั้งหลาย และแปลความเพลงของเขาเหล่านั้นออกมา ซึ่งในบางครั้งเขาก็เพิ่มเติมบางอย่างลงไป ที่คิดว่าตัวผู้แต่งเองอาจจะลืมมันไป



ขออนุญาตอธิบายความแตกต่างของ tempo กับ rhythm นิดนึง เพราะดูว่าค่อนข้างจะสับสน

ลองเปรียบเทียบกับการเต้นของหัวใจดู
Tempo คือความเร็วในการเต้น แต่ละครั้งว่าช้า - เร็ว
ส่วน rhythm คือ ความสม่ำเสมอในการเต้น ตุ๊บ ตุบ

ไม่ว่าหัวใจจะเต้นช้าหรือเร็วแค่ไหน ไอ้ ตุ๊บ ตุบเนี่ยก็จะยังคงสม่ำเสมอตลอด หัวใจเต็นเร็ว ก็ตุ๊บๆ เร็วเท่าๆกัน เต้นช้าก็ตุ๊บๆช้าเท่าๆกัน

(หวังว่าจะไม่ทำให้งงเพิ่มขึ้นนะคะ แหะๆ)




Auer เล่าว่ารางวัลราคาแพงที่นักดนตรีต้องจ่ายให้กับความสำเร็จนั่นคือ ความล้มเหลวในชีวิตครอบครัว


เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะตารางชีวิตของนักดนตรีไม่เคยมีความแน่นอน การทำงานให้สตูดิโอหรือการแสดงคอนเสิร์ต ทำให้ต้องกลับบ้านดึกเสมอๆ และมักจะไม่มีโอกาสได้อยู่กับเด็กๆในเวลาที่พวกเขาต้องการ


สำหรับ Heifetz นอกจากเขาจะมีปัญหาครอบครัวในวัยเด็ก ซึ่งทำให้ตัวเขาไม่ค่อยเข้าใจว่าอะไรคือครอบครัวแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัญหา คือ ความที่เขาไม่รู้จักคำว่า “พอ” ในดนตรี


“ There is always room for improvement”

เป็นอีกหนึ่งคำขวัญประจำใจของ Heifetz แม้ว่าตัวเขาเองจะมีความเชื่อว่าความสมบูรณ์แบบนั้นเป็นไปได้ แต่กลับไม่เคยยอมรับมัน


แต่สำหรับฉันแล้ว Heifetz ดูจะเป็นปัญหาเดียว เพราะความเจ้ากี้เจ้าการของเขากับชีวิตของฉัน ซึ่งอันที่จริงแล้วที่ถูกต้องคือเขามักจะวุ่นวายกับทุกๆคนที่เขารู้จักเลยต่างหาก

บ่อยครั้งที่ฉันต้องยกเลิกนัดกับคนอื่นๆ เพราะต้องมาพบเขาด้วยเหตุผลที่ว่า “มีบางอย่างสำคัญมาก” หรือ “มีสิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องที่เธอกำลังทำอยู่ในตอนนี้” ซึ่งฉันไม่สามารถปฏิเสธได้ และตอบกลับไปได้แต่เพียงว่า

“ ค่ะ คุณไฮเฟต”


โชคดีที่ Michael สามีของฉันเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของฉันกับHeifetz เป็นอย่างดี และไม่ถือสา แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นเสมอไป เพราะปัญหาเริ่มเกิดขึ้นตอนที่ Ada ลูกสาวของฉันเกิด

Heifetz ออกอาการเหมือนเด็กที่อิจฉาเวลามีน้องเกิดใหม่ และเขาปฏิเสธเธอในทีแรก จนกระทั่งวันนึงเมื่อลูกสาวของฉันอายุได้ 5 เดือน และฉันตัดสินใจพาเธอไปที่บ้านของเขา


แทบไม่น่าเชื่อว่าเขาจะต้อนรับเราเป็นอย่างดี

แต่ที่แย่คือเมื่อ Heifetz ส่งเสียงบอกว่าใครใหญ่ที่สุดในบ้านนี้ ซึ่งเขามักจะทำเป็นประจำ เขาทำให้ Ada กลัวอย่างมาก แต่ไม่ว่าเขาจะกล่าวอะไร Ada ก็ตอบสนองได้เพียงอย่างเดียวคือการร้องไห้เท่านั้น

ซึ่งนั่นเป็นที่มาของคำพูดที่เขาชอบพูดเสมอๆว่า

“เด็กๆนั้นน่าเอ็นดู แต่ไม่น่าได้ยิน”

หลังจากเด็กน้อยเริ่มชินกับเสียงของคุณลุงแล้ว เธอก็ยอมให้เขาอุ้มได้ซักพัก และฉันพบว่า Heifetz ใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อที่จะอยู่ร่วมกับเด็ก ซึ่งฉันคิดว่าเขาคงต้องพยายามกับลูกของเขาเหมือนกัน



หลังจาก Ada เกิด Heifetz ก็จัดแจงให้ตนเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของฉัน
ซึ่งเขามักจะเชิญตนเองไปดินเนอร์สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง (ซึ่งฉันต้องเป็นคนขับรถไปรับ-ส่ง)


ด้วยความที่ Heifetz เชื่อว่าเขาเกิดมามีสายเลือกนักแต่งบ้านอยู่ในตัว ดังนั้นอย่างที่เคยเล่าไปในตอนแรก เขามักจะเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการช่วยจัดบ้านเสมอพร้อมกับคติประจำตัว


“ There is always room for improvement”

เขานิยมใช้คตินี้กับทุกๆเรื่องไม่เฉพาะกับดนตรี


ในตอนที่ Ada ยังเด็ก เธอได้รับอนุญาตให้เรียกเขาว่า ลุงJascha ส่วนตัวเขาเองก็ชอบเรียกเธอตามสไตล์รัสเซียว่า Adatchka และทุกครั้งที่เขามาที่บ้าน ฉันจะต้องแต่งตัว Ada ในเสื้อผ้าตามแบบที่เขาชอบ รวมไปถึงต้องบอกคนอื่นๆและแขกที่จะมาที่บ้านให้ปฏิบัติตามด้วย


แม้ว่า Heifetz จะบอกว่าให้ฉันเชิญแขกมาได้เต็มที่ และไม่ต้องยกเลิกนัดกับใครเวลาที่เขามา แต่เขายังคงต้องการตรวจสอบดูรายชื่อก่อนว่าในวันนั้นเขาจะต้องเจอะกับใครบ้าง และมีใครบ้างที่เขาไม่อยากจะเจอะอีกเป็นครั้งที่ 2


ทุกๆครั้งฉันจะต้องกำชับแขกคนอื่นๆ ถึงสิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนที่จะมาพบ Heifetz โดยเฉพาะผู้หญิงที่แม้จะอนุญาตให้แต่งตัวตามสบาย แต่ว่าจะต้องไม่สวมกางเกง


นอกจากนี้ ต้องห้ามแขกทุกคนมิให้ถามถึงเรื่องเกี่ยวกับไวโอลิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงหรือผลงานของเขา เรื่องศิลปินที่เขาชื่นชอบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องส่วนตัว

แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ฉันลืม และแขกผู้หนึ่งเกิดถามขึ้นมา

Heifetz ฟังคำถามด้วยความอดทนเงียบๆ จากนั้นตอบไปว่า

“หยุดถามเสียทีเถอะ มิฉะนั้นผมจะส่งบิลไปเก็บเงิน”



ซึ่งนั่นก็ได้ผล แขกผู้นั้นเพียงแต่หัวเราะเบาๆด้วยความกลัว และหยุดพูดในทันที


แต่อันที่จริงแล้ว Heifetz เป็นคนที่ชอบพบปะพูดคุยกับผู้คนใหม่ๆอยู่เสมอ แต่ก็ขึ้นอยู่กับนิสัยของคนๆนั้นด้วย เพียงแต่มีอยู่ 3 เรื่องที่เขาไม่ต้องการจะคุยด้วยนั่นคือ การเมือง , ดนตรี และ ศาสนา


รูปนี้ไม่ใช่ที่บ้าน Agus นะคะ
แต่เป็นรุป Heifetz กำลังสนทนากับ Katharine Hepburn และ Peter Lorre
ที่บ้านของ Lawrence Tibbett ใน New York


ในชีวิตของศิลปิน มีอีกหนึ่งอย่างที่ขาดไม่ได้ นั่นคือ “ผู้จัดการส่วนตัว” จากนิสัยของ Heifetz ที่พวกเราทราบกันมา คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนอย่างเขาจะต้องมีปัญหาแน่ๆ


“ใครจะไปอยากได้ผู้จัดการ แต่ถ้าไม่มีพวกเขาแล้วใครจะทำงานหล่ะ”


เวลาที่เขาเล่าถึงผู้จัดการของเขาในอดีต ส่วนใหญ่มีแต่เรื่องบ่นๆ เพราะผู้จัดการส่วนตัวของเขามักจะจัดตารางแน่นเอี๊ยด โดยที่ไม่ถามความเห็นของเขา ซึ่งเขาเล่าว่ามีครั้งหนึ่งเขาต้องเล่นคอนเสิร์ตในขณะที่ไม่สบาย เขาติดเชื้อที่ตรวจพบได้ยากและมีไข้สูงมากตอนแสดง ซึ่งเขาเล่าว่าตอนนั้น เขาตาลายไปหมด และรู้สึกเหมือนผู้ชมและเวทีกำลังแกว่งไปมา แต่เขาก็ยังคงยืดหยัดเล่นจนจบการแสดงโดยที่ไม่มีใครสังเกตุเห็นถึงความผิดปกติเหล่านั้น


ไม่เพียงแต่คุณผู้จัดการจะมีหน้าที่ในการจัดตารางการซ้อมและแสดงคอนเสิร์ต เขายังคอยทำหน้าที่ดูแลเรื่องการปรากฏตัวต่อสาธารณะชนของ Heifetz รวมถึงแผนโปรโมทต่างๆอีกด้วย ซึ่งผู้จัดการของเขานั้นทำทุกวิถีทางเพื่อให้เขาดังเปรี้ยงปร้าง เพราะมันจะทำให้บัตรคอนเสิร์ตขายจนหมดเกลี้ยง


“เงิน เงิน เงิน” คือคำพูดที่ Heifetz บ่นถึง


เขายังจำได้ถึงการแข่งขันสุดโหดในเวลานั้น และดูเหมือนจะลืมไปว่า ด้วยความสามารถของคุณผู้จัดการเนี่ยหล่ะ ที่ทำให้เขากลายเป็นนักไวโอลินที่มีค่าตัวแพงที่สุดในเวลานั้น


Accompanist เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ Heifetz พิถีพิถันในการเลือกสรรเป็นอย่างมาก เขาไม่เคยบ่นถึงฉัน แต่มักจะเล่าถึงเรื่องในอดีตให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องของ “ชาวฮังกาเรียน ผู้ไม่เคยได้รับอากาศบริสุทธิ์”

Heifetz เล่าว่า นักเปียโนผู้นี้มักจะปิดหน้าต่างของรถไฟตลอดเวลาที่ออกทัวร์คอนเสิร์ต แม้ว่าตอนนั้นจะเป็นช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัดก็ตาม นิสัยของนักเปียโนท่านนี้ ช่างแตกต่างกับ Heifetz โดยสิ้นเชิง เพราะ Heifetz เป็นคนที่ชอบอากาศบริสุทธิ์เป็นที่สุด


Heifetz ชอบใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกบ้าน หรือเมื่อเวลาที่เขาอยู่ในบ้านก็จะเปิดประตูหน้าต่างรับลมเสมอๆ ไม่เว้นแม้แต่ในฤดูหนาว และนั่นส่งผลให้บิลค่าแก๊สสูงพุ่งพรวด ซึ่งเขาเองก็มักจะบ่นอยู่เสมอๆแถมไม่ค่อยจะยอมจ่ายมันเท่าไหร่


นอกจากบุคคลสำคัญ 2 คนที่ว่าแล้ว Heifetz ยังมีอีก 1 กลุ่มคน ที่ดูเหมือนจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเขา นั่นคือ บรรดานักข่าวทั้งหลาย


อย่างที่เราทราบกันดี Heifetz เป็นคนที่ไม่ชอบถูกตั้งคำถาม หรือมาเซ้าซี้ถามเรื่องส่วนตัวซอกแซก แต่ทว่านั่นหล่ะ คืออาชีพหลักของบรรดานักข่าว

และด้วยความบังเอิญว่า Heifetz เองก็เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสามารถในการพูดจาทิ่มแทงใจ และบอกปัดคำถามต่างๆ ในบางครั้งเขาก็ตอบคำถามต่างๆด้วยคำตอบโง่ๆเพื่อที่จะได้หลุดจากการถูกต้อนให้จนมุม ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีนักข่าวหลายคนไม่พอใจและตั้งตนเป็นปรปักษ์กับเขา แถมบางคนยังประกาศตนอีกว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อล้มเขาให้ได้ในวันที่เขาไม่ได้เล่นคอนเสิร์ตอีกต่อไปแล้ว




แผ่นโปรแกรมการแสดงของ Heifetz เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1951 ซึ่งจัดขึ้นที่ Symphony Hall ในเมือง Boston โดยมี Emanuel Bay ทำหน้าที่เป็นนักเปียโน accom
(นักเปียโนท่านนี้รู้สึกจะเป็นชาวรัสเซียนะคะ โปรดอย่าเข้าใจผิดว่าเขาเป็นชาวฮังกาเรียนผู้ไม่เคยได้รับอากาศบริสุทธิ์)


แผ่นโปรแกรมในรูปนี้ มีบิตขายอยู่ใน ebay ค่ะ ราคาอยู่ที่ 52 US ใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ลองหากันดูนะคะ


Heifetz ชื่นชอบการเล่นวง Chamber เป็นชีวิตจิตใจ และเขายังบรรจุมันลงในแผนการสอน master class ของเขาอีกด้วย ตอนที่ฉันอยู่ในชั้นเรียน ต้องเล่น chamber อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือนหรือมากกว่า โดย Heifetz จะเชิญนักเรียนcelloจากชั้นเรียนของ Piatigorsky ที่ USC มาเล่นร่วมกัน


Heifetz จะบอกกับนักเรียนล่วงหน้าเพียง 2-3 วัน ว่าจะมีการเล่น chamber แต่ไม่ได้บอกว่าใครมีหน้าที่ต้องเล่นส่วนไหนหรือเครื่องอะไร ดังนั้น นักเรียนทุกคนจะต้องเตรียมพร้อมเสมอและสามารถเล่นโน๊ตได้ในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นไวโอลิน 1 หรือ 2 หรือแม้แต่ในส่วนของ วิโอลา เพราะเมื่อถึงเวลาที่เล่นจริงๆ เขาก็มักสลับเปลี่ยนตำแหน่งของแต่ละคนเสมอหลังจากจบเพลง


Heifetz มองว่า ข้อดีของการเล่นวง chamber คือ นักเรียนจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้ซึมซับเทคนิคและสไตล์การสีไวโอลินของผู้เล่นคนอื่นๆได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะนักเรียนส่วนใหญ่หรือแม้แต่ศิลปินที่มือชื่อเสียง ก็มักจะไม่เคยมีโอกาสได้เล่นวง chamber ซักเท่าไหร่เช่นกัน

ผู้ที่เล่น chamber ต้องไม่โดดเด่นอยู่คนเดียว และต้องฝึกที่จะรู้จักรับฟังผู้เล่นคนอื่นๆ เพื่อที่จะได้ช่วยกันประคองให้สามารถเล่นเพลงไปได้ตลอดรอดฝั่ง

นอกจากนี้การเล่นร่วมกับผู้อื่น ทำให้นักเรียนที่ฝีมืออ่อนด้อยเกิดแรงบันดาลใจโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เจ้าตัวมีความพยายามฝึกฝนตนเองมากขึ้น และมีบ่อยครั้งที่นักเรียนเหล่านี้ สามารถเล่นเพลงในท่อนยากๆได้อย่างไม่น่าเชื่อ


Heifetz ชอบกำกับนักเรียนตอนเวลาที่สีไวโอลิน ไม่เว้นแม้แต่เวลาที่กำลังเล่น Chamber อยู่ บ่อยครั้งที่เขาลงมาเล่นกับนักเรียน และสอนพวกเราโดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากบอก ส่วนวิธีการของเขานั้น ก็เพียงแค่เน้นสีบางจุดในเด่นชัด ใส่อารมณ์ลงไป หรือเพียงแค่สบตา แล้วคอยดึงพวกเราให้ไปในทิศทางตามที่เขาต้องการ


ฉันมีโอกาสได้เล่นวง chamber ร่วมกับ Heifetz หลายต่อหลายครั้ง ทั้งในชั้นเรียน ที่บ้านของเขา และที่บ้านของคนอื่น

มีครั้งหนึ่งที่ฉันจำได้ดี เราไปเล่นร่วมกันที่บ้านของ Piatigorsky นัก cello ผู้มีชื่อเสียงและเป็นเพื่อนกับ Heifetz

วันนั้นเราเล่นเพลง Piano trio in C minor ของ Brahms ด้วยกัน


ทำนองหลักของเพลงนั้นค่อนข้างยาวและโรแมนติกมาก และในช่วงแรก Piatigorsky เป็นคนเริ่มเล่นก่อน ซึ่งเขาก็ตีความดนตรีออกมาได้อย่างงดงามและไพเราะ แต่ในระหวางนั้น ฉันก็แอบเห็นสีหน้าของ Heifetz ในตอนนั้นเช่นกันว่ามีท่าทีหงุดหงิด

และไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อถึงตาของเขาที่ต้องเล่นในประโยคเดียวกัน ฉันจะต้องพยายามตามการเล่นของเขาซึ่งแตกต่างจาก Piatigorsky ไปโดยสิ้นเชิงให้ได้ เสียงที่เขาแสดงออกมา คือสิ่งที่เขาอยากจะบอกกับ Piatiogorsky


แล้วก็มาถึงในตอนที่ตื่นเต้น คือเมื่อถึงท่อนที่ทั้งคู่ต้องเล่นพร้อมกัน ฉันหวั่นใจอย่างมากว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะทั้งคู่ต่างเล่นเพลงไปในแนวทางที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

แต่ปรากฏว่า ทั่งคู่ต่างสามารถเล่นร่วมกันได้อย่างสวยงามที่สุด ไม่มีการทะเลาะกันว่าใครผิดใครถูก หรือว่าเพลงนี้ควรจะเล่นไปในทิศทางใด และอันที่จริงแล้วไม่มีแม้แต่คำพูดใดๆเลยด้วยซ้ำ เพราะทั้ง 2 คน สนทนากันผ่านเสียงดนตรีไปเรียบร้อยแล้ว




Piano Trio in C Minor, Op 101 by Johannes Brahms

ใน youtube ไม่มีเวอร์ชั่นที่ Heifetz กับ Piatigorsky เจอะแต่ผลงานของเด็กๆเกาหลีเขาเล่นกัน ดูแล้วน่ารักดี เก่งๆทั้งนั้นเลย


ทุกท่านยังจำได้หรือไม่ ว่า Heifetz มีปัญหาทางสุขภาพ ที่เกิดจากการสีไวโอลินของเขา แม้ว่าเขาจะหมั่นเช็คสุขภาพและตรวจสอบมันอยู่เสมอ แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง เขาก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงมันได้


เขาตำหนิตัวเองหลายต่อหลายครั้ง ว่าไม่ฟังคำเตือนของพ่อของเขา ที่แนะนำให้เลิกเล่นไวโอลินตอนอายุ 55 ปี และยังคงสีไวโอลินต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเขามีอายุได้ 73 ปี เมื่อถึงตอนนั้น กล้ามเนื้อบริเวณไหล่ขวาของเขารวมทั้งเส้นเอ็นต่างๆ หลุดออกจากกระดูก มันบาดเจ๊บจนเกินจะเยียวยาแล้ว และสุดท้ายหมอก็ยืนยันว่าต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด


การผ่าตัดสำเร็จได้ด้วยดี แต่มันช่วยรักษาเขาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

ครั้งแรกที่เขาสีไวโอลิน หลังจากผ่าตัด คือในงานปีใหม่ ที่บ้านของช่างซ่อมไวโอลินของเขา และเพื่อช่วยให้เขาสามารถยกแขนขึ้นได้ จึงต้องมีอุปกรณ์เสริมเป็นแท่งเหล็กติดสปริง ที่ช่วยให้เขาสามารถยกแขนขึ้นด้วยข้อศอกได้


Heifetz พยายามใช้อุปกรณ์เสริมนี้อยู่พักหนึ่ง แต่ทว่าหลังจากสีไปซักพัก เขาก็สะบัดเครื่องช่วยนั่นออกไปเสีย แล้วพยายามสีไวโอลินต่อไป


ฉันจำเหตุการณ์ตอนนั้นได้ดี เพราะฉันตกใจมากแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ที่สำคัญคือในวันนั้นนักเปียโนที่นัดกันไว้เกิดไม่มา และฉันต้องเล่นแทนโดยไม่ได้ซ้อมมาก่อน พร้อมกับต้องคอยเฝ้าดูเขาในระหว่างที่กำลังดีดเปียโนไปด้วย


และเมื่อเขาไม่สามารถยกหัวไหล่ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมได้อีกต่อไป เขาจึงแก้ไขโดยการค่อยๆ ลดความสูงของไวโอลินในมือซ้ายลงเรื่อย ๆ เพื่อที่มือขวาของเขาจะได้ยังสามารถสีได้ และเมื่อเพลงจบลง ก็พบว่าเขาหมดแรงโดยสิ้นเชิง


ไม่มีเสียงบ่นใดๆออกจากปากของเขาหรือแม้แต่คำแนะนำต่อผู้เล่นคนอื่นๆที่เขามักจะทำเป็นประจำ จะมีแต่เพียงความอับอายและคำพูดที่กล่าวด้วยความรู้สึกเจ็บปวดว่า


“ นี่ไม่ใช่การสีไวโอลิน”


และแม้ว่าหลังจากผ่าตัด เขาจะพยายามซ้อมไวโอลินในแบบใหม่ เพื่อให้เคยชินกับสภาพร่างกายของเขา แต่ทว่าไหล่ของเขาเปลี่ยนแปลงไปแล้วและเขาไม่สามารถถือไวโอลินแบบเดิมได้อีก ซึ่งนั่นทำให้เขาไม่มีวันที่จะสีไวโอลินแบบเดิมได้อีกต่อไปแล้ว จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต



แม้ว่างานปีใหม่ครั้งนั้นจะดูน่าเศร้า แต่ก็คงต้องบอกว่า Heifetz เป็นคนที่ชอบจัดงานปีใหม่มากๆ ตามปกติแล้วเขาจะไปเช่าบ้านหรือ apartment ในทะเลทราย แต่ในช่วงหลังๆ ที่เขาเริ่มชราลง ก็หันกลับมาจัดที่บ้านพักชายหาดหรือที่ bevery hill แทน


งานปีใหม่ของ Heifetz จะเริ่มตอนราว 1 ทุ่ม และแขกทุกคนจะไม่ได้รับอนุญาตให้มางานก่อน 6 โมง

พวกเราจะตั้งวง chamber เล่นกันตั้งแต่ 1 ทุ่ม ยาวเรื่อยไปจนถึง ราว 4 ทุ่ม จึงจะพักทานอาหารและพุดคุยกันจนถึงราวเที่ยงคืน จากนั้น Heifetz จะเปิดเพลง light music แบบที่เขาชอบ และเปิดฟลอเต้นรำกัน ซึ่งนี่คนเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาอนุญาตให้ผู้มาร่วมงานสามารถควงคู่เดทของตนมาได้


งานเต้นรำจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆจนสว่าง และทุกครั้งดูเหมือนว่า Heifetz ผู้มีพลังงานเต็มเปี่ยม จะเป็นคนสุดท้ายที่ยอมลงจากเวที


วันปีใหม่ ในช่วงปีท้ายๆในชีวิตของ Heifetz ในตอนที่เขาอายุราว 86 ปี เขาไม่บ่น หรือวุ่นวายอะไรอีกแล้ว เขาเพียงแค่นั่งอยู่บนโซฟามุมโปรดที่ตั้งอยู่ข้างๆเปียโนของเขา และปล่อยให้ฉันจัดการทุกอย่าง ด้วยความชราเขาทำได้เพียงแต่เฝ้าดูพวกเรา เพราะแม้แต่การพูดคุยสำหรับเขาก็ยากลำบากแล้ว


ในตอนนี้เขาไม่มีนักเรียนอีกแล้ว แต่ Heifetz ยังคงต้องการให้งานปีใหม่ยังคงดำเนินต่อไป และสั่งให้ฉันเชิญเพื่อนนักดนตรีอาชีพของเขามาแทนเพื่อเล่นวง chamber ด้วยกัน

แต่แม้ว่าทุกคนจะถูกเตือนว่าไม่ให้ซ้อมมาก่อน เพราะเสห่นของการเล่น chamber คือการที่ทุกคนใช้ไหวพริบในการมาเล่นด้วยกัน แต่พวกเขากลับทำเพราะเข้าใจว่าการเล่นที่สมบูรณ์แบบจะทำให้ Heifetz พอใจ แต่พวกเขาเข้าใจผิดและ Heifetz ก็จับได้ในทันที


เขาโกรธมากจนหน้าแดงก่ำ เอาไม้เท้ากระแทกที่เปียโนที่รักของเขา และตามด้วยการตะโกนด้วยเสียงอันดัง โวยวายต่อว่าผู้มาร่วมงานอย่างรุนแรง


“ฉันบอกแล้วใช่ไหมว่าไม่ต้องซ้อม นี่ไม่ใช่คอนเสิร์ต นี่คืองาน chamber music evening!”


ซึ่งแม้มันจะดูน่าอายมาก แต่เขาไม่สนใจ เพราะเขาถือว่าที่นี่คือบ้านของเขา ซึ่งเขาสามารถจะทำทุกอย่างที่ต้องการได้

หลังจากฉันปลอบให้เขาสงบลง เขาก็สั่งให้ฉันไปหยิบโน๊ตอะไรก็ได้ในห้องสมุดส่วนตัวของเขา ให้หยิบเพลงซึ่งทุกคนไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน การเล่นในหนนี้ ไม่สมบูรณ์แบบเท่าครั้งแรก แต่มันก็ทำให้ Heifetz มีความสุข เขายังคงยึดมั่นในประเพณีงานปีใหม่แบบเดิมๆของเขา ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต......

---------------------------จบบทที่ 9------------------------------------


Schubert trio no.1
1st. Movement

1953 in Rubinstein's house.

Jascha Heifetz- Violin
Artur Rubinstein- Piano
Gregar Piatigorsky- Cello




ปล. เรื่องของ Heifetz นี้ ไม่ได้แปลจากหนังสือทั้งหมด หนังสือสนุกและมีรายละเอียดเยอะมากๆ จขบ แค่อ่านๆแล้วมาเล่าๆรีวิวให้ฟังนะคะ ตัวเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการแปลหนังสือ และภาษาก็ไม่ได้แข็งแรงอะไร ดังนั้นหากผิดพลาดประการใด ต้องขออภัย ณ ที่นี้ด้วยค่ะ








 

Create Date : 18 เมษายน 2552    
Last Update : 21 เมษายน 2552 10:46:48 น.
Counter : 1424 Pageviews.  

Heifetz As I Knew Him (5) : ความเป็น celeb ของ Heifetz

บทที่ 8


แม้ว่า Heifetz จะมีชื่อเสียงโด่งดังมากมาย แต่เขากลับมองความโด่งดังนั้นว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ

เขาก็เหมือน celeb ทั่วไป ที่หวงความเป็นส่วนตัวและชอบปลอมตัว


เวลาที่เขาต้องเดินทางขึ้นเครื่องบิน เขาชอบใช้ชื่อ Jim Hoyl ซึ่งเมื่อแอร์โฮสเตส หรือใครก็ตามบังเอิญจำเขาได้ เขาก็จะเอาตั๋วยื่นให้ดู แล้วยืนยันว่าเขาชื่อนี้จริงๆไม่ใช่ Heifetz

มีครั้งหนึ่งระหว่างที่เราเดินทางด้วยกัน และได้พบกับ John Hubbard โดยบังเอิญ เขาผู้นี้เป็นอธิการบดี ของ University of Southern California และนั่งอยู่ข้างหลังพวกเรา

เขาจำ Heifetz ได้ และทักทาย ถึง 2 ครั้ง แต่ Heifetz กลับไม่สนใจ เขาจึงหันมาถามฉันแทนด้วยความสงสัยว่า คนข้างๆนั่นใช่ Heifetz หรือเปล่า ฉันไม่ได้ตอบอะไร ได้แต่ยิ้ม ท่านอธิการดีงุนงงมาก แต่ไม่ได้ถามอะไรต่อไปและกลับไปนั่งพิงพนักตามเดิม


หลังจากนั้นซักพัก Heifetz กลับมากระซิบถามฉันว่า คนข้างหลังนั่นใครอ่ะ

ฉันจึงตอบเขาไปว่า ก็หัวหน้าใหญ่ของ USC ไง คุณเองก็เคยเจอะกันตั้งหลายครั้งแล้ว


เขานิ่งไปซักพัก แล้วก็ลุกไปห้องน้ำ จากนั่นตอนที่เดินกลับมาที่เก้าอี้ ก็แวะทักทาย คุยกับท่านอธิการเล็กน้อย ทั้งคู่ไม่พูดถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นเลย




Heifetz เกลียดแขกผู้มาเยือนโดยมิได้นัดหมายมากที่สุด ดังนั้นใครที่มาหาเขาโดยไม่ได้นัดไว้ก่อนมักจะไม่ได้รับการต้อนรับเสมอ


มีครั้งหนึ่ง นักดนตรีกลุ่มหนึ่งมาหาเขาที่บ้าน โดยไม่ได้นัดไว้ก่อน ซึ่งอันที่จริงแล้ว ตามปกติ Heifetz คงต้อนรับพวกเขาแน่ๆ หากมีการเตรียมการไว้ แต่ในกรณีนี้ Heifetz กลับปฏิเสธในทันควันเมื่อเห็นพวกเขา และตอบว่า Heifetz เข้าไปในเมือง ส่วนตัวเขาเป้นน้องชายของ Heifetz
(แต่ทุกท่านทราบกันดีใช่ไหมคะ ว่า็ Heifetz ไม่มีน้องชาย )


และไม่เพียงแต่การมาเยือนโดยมิได้นัดหมายเท่านั้นที่เขาไม่ชอบ แม้แต่การโทรศัพท์ไปหาเขา บางครั้งก็เจอะอะไรประหลาดๆเหมือนกัน


เคยมี นร ที่เรียนจบไปแล้วและไม่ได้เจอะ Heifetz มานาน โทรไปหาเขาที่บ้าน แต่เมื่อ Heifetz รับสาย เขากลับดัดเสียงสูงๆ แล้วบอกว่า นี่ไม่ใช่ Heifetz แต่เป็นแม่บ้าน เจ้าตัวเขาไม่อยู่ จะฝากข้อความอะไรไว้ไหม?

นอกจากนี้บางครั้ง เขายังแกล้งทำเป็นพูดภาษาเอเชียประหลาดๆ จนคนที่โทรไปจำต้องถอดใจยอมวางหูไปอีกด้วย


ซึ่งแน่นอน ใครๆก็รู้อยู่แล้วว่าเขารับสาย แต่ว่าในเมื่อเขาไม่ต้องการจะคุยกับใคร แล้วรับโทรศัพท์ทำไมหล่ะ


แต่อันที่จริงจะโทษเขาก็ไม่ได้ เพราะมีหลายกรณีที่บุคคลที่มีชื่อเสียง ได้รับอันตรายจากความคลั่งไคล้ของบรรดาแฟนๆ เช่น ประธานาธิบดีเคเนดี้ หรือ คนในวงการบันเทิงที่มีชื่อเสียง


ทุกวัน Heifetz มักจะได้รับจดหมายหรือพัสดุกองโต และมีบ่อยๆที่เป็นพวกจดหมายโรคจิต ขู่ฆ่า ลอบทำร้าย หรือบางทีก็เป็น blackmail ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เขาจะไม่สนใจและฉีกมันทิ้งลงถังขยะ แต่ถึงอย่างนั้นข้อความต่างๆก็บั่นทอนสุขภาพจิตอยู่ดี และนี่คงเป็นเหตุผล ที่ทำให้เขาค่อนข้างระแวงเมื่อต้องพบปะกับคนแปลกหน้า



แต่ถึงอย่างนั้น จดหมายส่วนใหญ่จากแฟนๆ มักจะเป็นจดหมายพูดคุย ขอรูป ขอลายเซนต์ หรือแม้แต่เทปบันทึกเสียงของนักไวโอลินทั้งที่รู้จัก และไม่รู้จัก


บ่อยๆที่มีคนส่งผลงานมาให้เขาลองฟังเพื่อต้องการคำวิจารณ์ แต่เขาไม่้เคยวิจารณ์ผลงานใดๆที่ส่งมาเลย โดยบอกเหตุผลกับฉันว่า คำพูดของเขาอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเขาเอง หรือถูกใช้ไปในทางที่ไม่ถูกต้องได้

?
?
?
?
?

แต่อันที่จริงแล้ว เขาไม่เคยฟังเทปใดๆที่ส่งมาหาเลยซักตลับเดียว เพราะว่าเขาไม่มีเครื่องเล่นเทป


เวลาที่เขาต้องการฟังเทป ฉันจะต้องยกของตัวเองไปให้เขาฟังที่บ้าน และเทปที่เขาฟังส่วนใหญ่มีแต่การบันทึกเสียงของนักเรียนของเขาเอง และเวลาที่นักเรียนสีไม่ได้ดั่งใจ เขาจะเสียใจมากและโทษตัวเองว่าเป็นครูที่ไม่ได้เรื่อง


"ฉันทำอะไรผิดไปหรือ" คือคำพูดติดปากของ Heifetz เสมอๆ พร้อมกับความรู้สึกผิดหวัง


ส่วนตัวแล้ว Heifetz มีแผ่นบันทึกเสียงที่ชอบ น้อยมากๆ ส่วนใหญ่เก็บไว้ที่บ้านของเขาที่ Bevery hill และที่บ้านพักตากอากาศ ในขณะที่แผ่นบันทึกเสียงผลงานของเขาเองทั้งหมดทุกแผ่น ซึ่งเขาไม่เคยฟังมันเลยซักครั้งเดียวจะถูกเก็บไว้ที่สตูดิโอ


วันนึง ฉันขอเขาฟังวิทยุรายการหนึ่ง แล้วบังเอิญว่าวิทยุดันเปิดผลงานของเขา ปรากฏว่า เขาหัวเสียอย่างมาก และบ่นถึงการสีของตนเอง ซึ่งฉันคิดว่า คงจะเพราะการตีความบทเพลงของเขาเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา




พักฟังเพลงหน่อยดีกว่า เพลงนี้เพราะดี

Wieniawski Polonaise No. 1 in D Major, Op. 4.
Violin by Jascha Heifetz
Accompanist by Emanuel Bay




มีบ่อยครั้ง ที่มีแฟนๆโดยเฉพาะสาวๆ มาหาเขาโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งบ่อยครั้งเขาเหล่านั้น จะมาเกาะที่รั้วบ้านเพื่อเฝ้ารอ บางครั้งก็อ้างว่าจะมาซื้อหนังสือ หรือต้องการแผ่นบันทึกเสียง ซึ่งแม้ฉันจะพยายามอธิบายว่าที่นี่ไม่มีขาย ต้องไปหาที่ร้านหนังสือ หรือร้านขายเทป แต่พวกเขากลับไม่ยอมฟังและรอคอยต่อไป จนฉันต้องเรียกตำรวจให้มาจัดการ ซึ่งบางทีก็ทำอะไรไมไ่ด้มากนัก เพราะแฟนๆไปจอดรถในบริเวณที่อนุญาตให้จอดได้


มีบ่อยๆที่พวกเขา กดกริ่งไม่หยุด เคาะประตู หรือแม้แต่เตะรั้ว ซึ่งพวกเราไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากเฝ้าดูและคอยล็อคประตูให้แน่นหนา จนกว่าพวกแฟนๆจะเลิกรากันไปเอง


แต่หากคิดว่าบ้านของ Heifetz มีระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาหล่ะก็ผิดถนัด ที่บ้านนี้ไม่ได้มีระบบรักษาความปลอดภัยพิเศษอะไร เขาเพียงติดสัญญาณไว้ที่ประตูหน้า ซึ่งเมื่อประตูถูกเปิด จะมีไฟสีแดงแจ้งไปที่สตูดิโอของเขา และสามารถติดต่อไปยังสถานีตำรวจได้ทันที


แต่ถึงอย่างนั้น บ้านของ Heifetz ก็เคยถูกโจรกรรมครั้งหนึ่ง โจรได้นำทรัพย์สินมีค่าไปหลายชิ้น แต่กลับไม่ได้เอาไวโอลินไป ซึ่งเดาว่าคงเป็นโจรลักขโมยธรรมดา มิใช่พวกแฟนๆที่อยากได้ของที่ระลึก


สำหรับไวโอลินของ Heifetz ทั้ง Guarnerius และ Tononi ถูกเก็บง่ายๆไว้ในตู้เก็บของเท่านั้น แถมไม่ได้ล็อกอีกต่างหาก ในขณะที่เงินใช้จ่ายของเขานั้น กลับถูกเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน ซึ่งล็อคกุญแจอย่างดี


ทุกครั้งที่เขาเปิดหรือปิดกล่องไวโอลิน เขาจะสั่งให้ฉันยืนอยู่ด้วยเสมอ แต่แค่ให้ฉันเฝ้าดูและเขาไม่เคยบอกหรือสอนวิธีใดๆ หรือแม้แต่จะให้ฉันแตะต้องกล่องไวโอลินของเขา


วันนึงเมื่อเขาจากไป ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อเปิดกล่องไวโอลิน แต่ปรากฏว่าไม่ว่าใครก็ตามแม้แต่ช่างซ่อมไวโอลินของ Heifetz เอง ต่างไม่สามารถเปิดกล่องไวโอลินนี้ได้เลยซักคนเดียว


ดังนั้น ฉันจึงขอกุญแจมาลองเปิดดู และนึกภาพถึงตอนที่ Heifetz ยังมีชีวิตอยู่ ว่าเขาเปิดอย่างไร แล้วสุดท้าย ฉันก็สามารถเปิดออกได้อย่างง่ายดาย ซึ่งอันที่จริงแล้วกลไกการล็อคไม่มีอะไรพิสดารเลย แต่อาจจะเป็นไปได้ว่ากุญแจที่เขาให้กับฉันไว้ มีเกือกม้าแห่งความโชคดีติดอยู่


ปัจจุบัน ไวโอลิน Guarnerius ของ Heifetz ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ The de Young Museum ในซานฟรานซิสโกตามเจตนารมณ์ของเขา นอกจากยังสั่งอีกว่าอนุญาตให้ผู้เล่นที่เหมาะสมเพียงพอ สามารถใช้ไวโอลินของเขาในคอนเสิร์ตที่จัดในพิพิธภัณฑ์ได้ด้วย



ข้อมูลไวโอลินตัว Guarnerius ที่เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่ซานฟารนซิสโก
ใครมีโอกาสแวะไปชมได้นะคะ

จาก //www.famsf.org/deyoung/

Guiseppe Antonio Guarneri del Gesu, maker
Italian, 1687 - 1745
Violin, circa 1740
spruce and maple
23 1/2 x 8 x 3 1/2 (59.7 x 20.3 x 8.9 cm)
Bequest of Jascha Heifetz 1989.6.1






แม้เขาจะไม่ชอบคนแปลกหน้า แต่สำหรับเด็กๆแล้วถือเป็นข้อยกเว้น
ถึง Heifetz จะเป็นคนที่ทนเด็กๆไม่ค่อยได้ แต่เขากลับยกวัน Halloween ให้เป็นวันของเด็กๆ 1 วัน


ทุกคืนHalloween เขาจะเปิดประตูใหญ่จนกว้าง และตั้งโต๊ะไว้กลางลาน พร้อมกับถุงขนม และที่ขาดไม่ได้คือฟักทองที่จุดเทียนเอาไว้ด้านใน ส่วนตัวเขาเองนั้น ก็จะนั่งอยู่หลังโต๊ะ เพื่อรอคอยเด็กๆ


แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ปี เด็กๆที่ Malibu ก็ลดน้อยลงจนบางปีไม่มีเด็กๆมาเยือน จนตัวเขาเองก็เริ่มเบื่อ และเปลี่ยนเป้นตั้งป้ายไว้ที่ขนมแทนว่า


"เรารอนานเกินไปแล้ว ถ้ามาแล้วช่วยตัวเองนะ "


จากนั้นเขาก็เข้าบ้าน แต่ยังคงเปิดประตูบ้านทิ้งไว้



Heifetz กับลูกชายผู้น่าัรักของเขา


Heifetz เป็นคนที่ยึดติดกับอะไรเก่าๆในทุกเรื่อง


สมุดโทรศัทพ์ของเขาเก่ามาก และใช้มานานเป็น 10 ปี แต่เขาก็ไม่ยอมทิ้ง จนฉันต้องเก็บไปทิ้งที่บ้านของตัวเอง เพราะถ้าทิ้งลงที่ถังขยะที่บ้านเขา เดี๋ยวเขาก็จะไปคุ้ยในถังขยะและเอามันกลับมาใช้จนได้
แต่แล้วสุดท้าย เมื่อเขาหาเล่มเก่าไม่เจอะ เขาจึงยอมใช้เล่มใหม่ที่มีอยู่


ไม่เพียงเท่านี้ แม่บ้านของเขายังไม่ต้องทำความสะอาดชั้นวางของเช่นกัน เพราะเขาเกรงว่าจะทำให้ของที่วางไว้ยาวนานกว่า 40 ปี ขยับเขยื้อน


และแม้แต่ที่บ้านฉันเขาก็ต้องการให้ทำแบบเดียวกับเขา แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉันชอบจัดบ้านใหม่อยู่เสมอ และเมื่อเขาไปหาฉันที่บ้านและพบว่าเฟอร์นิเจอร์มีการขยับเขยื้อน เปลี่ยนแปลงไปจากครั้งล่าสุดที่เขามา เขาจะรู้สึกผิดหวังมาก


แต่ก็น่าแปลกใจ แม้ว่าเขาจะนิยมของเก่าๆ แต่เขากลับมองว่าที่บ้านไม่ควรตั้งของโชว์เก่าๆ

Heifetz มีความเห็นว่าบ้านคือที่ๆเราอยู่ได้สบาย โดยไม่ต้องระมัดระวังอะไร และบ้านไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ จึงไม่จำเป็นต้องมีตู้โชว์ ของโบราณล้ำค่าใดๆ ที่เวลาคนเดินผ่านต้องคอยระมัดระวังเพราะเกรงจะทำให้ตกลงมาแตก


นอกจากนี้ เขายังชอบที่จะให้จัดเก้าอี้วางคู่กันเสมอ ซึ่งที่เขาเห็นว่ามันสำคัญเพราะเก้าอี้ 2 ตัว ทำให้คนเราสามารถไปนั่งพูดคุยกันหรืออ่านหนังสือด้วยกัน ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ซึ่งจะต้องตั้งอยู่คู่กับเก้าอี้เสมอนั่นคือโคมไฟ





ถึงแม้ว่า Heifetz จะเป็นคนที่ยึดติดและไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่หากในกรณีที่ตัวเขาเองต้องการจะเปลี่ยน เขาจะพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อกำจัดใครซักคน หรืออะไรบางอย่างออกไปโดยเร็วที่สุด


ครั้งหนึ่งเขาต้องการยกเลิกนิตยสารฉบับหนึ่งที่เขาเป็นสมาชิกมายาวนาน เพียงเพราะนิตยสารเปลี่ยนตัวผู้เขียนบทความวิจารณ์ดนตรี ซึ่งนั่นทำให้เขารู้สึกว่านิตยสารไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่หลังจากฉันโทรไปยกเลิกการเป็นสมาชิกแล้ว ผ่านไป 1 สัปดาห์นิตยสารยังคงส่งมาเช่นเดิม ซึ่งทำให้เขาหัวเสียเป็นอย่างมาก แม้ว่าฉันจะพยายามอธิบายแล้วว่ากระบวนการยกเลิกต้องใช้ระยะเวลา


ยิ่งในเรื่องเงินๆทองๆ เขาจะยิ่งไม่เข้าใจเข้าไปใหญ่ ว่าทำไมราคาข้าวของหรือเงินค่าจ้างแม่บ้านจำเป็นจะต้องเพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภาษี ซึ่งเขามองว่าเงินทุกบาทที่เสียไป จะต้องได้รับการตอบแทนอย่างคุ้มค่า


มีครั้งหนึ่ง ป้ายถนนละแวกบ้านของเขา เกิดหายไป ซึ่งฉันเดาว่ามันคงจะเสียหายจึงต้องถอดไป และอยู่ในระหว่างรอซ่อม แต่ Heifetz กลับไม่พอใจอย่างมากที่ป้ายหายไป เขาให้เวลาฉัน 2 วันในการหาเหตุผล และสั่งให้ฉันทำทุุกวิถีทาง เพียงเพื่อให้ได้ป้ายกลับมา แต่ัสั่งว่าห้ามอ้างชื่อเขา


แต่ฉันไม่รู้จะโทรไปที่ไหนดี จึงเลือกโทรไปที่หน่วยจัดการเรื่องน้ำไฟ เพระาคิดว่าอย่างน้อยๆคนที่ทำงานที่นั่น ต้องมาคอยเดินจดมิเตอร์ค่าน้ำค่าไฟ และคงจะสังเกตุเห็นว่าป้ายหายไป ซึ่งฉันหวังว่าเขาจะสามารถบอกเหตุผลที่ป้ายหายไปได้ หรืออาจจะแนะนำให้ฉันไปติดต่อหน่วยงานอื่น

และคำถามแรกเมื่อฉันโทรไปคือ


"คุณชอบดนตรีคลาสสิกหรือเปล่า"



ตามด้วย

"คุณรู้จัก Jascha Heifetz? หรือไม่"




น่าเศร้าที่เธอตอบว่าไม่ ฉันจึงเปลี่ยนคำถามใหม่


"คุณพอจะรู้จักใครที่ทำงานที่นั่น ที่อายุเกิน 60 แล้วชอบดนตรีคลาสสิกบ้างไหม"



ตอนนั้นฉันคิดว่าผู้หญิงที่รับสาย ต้องคิดว่าฉันบ้าแน่ๆ แต่เธอก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และตามชายผู้หนึ่งมารับสายฉัน


โชคดีที่เขารู้จัก Heifetz และยังมีแผ่นบันทึกเสียงไวโอลินของเขาด้วย ฉันจึงเล่าเรื่องความต้องการของ Heifetz เมื่อเห็นว่าป้ายหายไป ชายผู้นั้นจึงอธิบายถึงเหตุผลที่ป้ายหายไปและสาเหตุที่ยังไม่ได้ติดตั้ง เพราะว่าต้องรีบไปติดตั้งป้ายเตือนภัยบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆก่อน จึงค่อยมาทำป้ายถนน แต่เขารับรองว่าจะพยายามช่วยให้ป้ายถนนรีบมาติดตั้งให้เร็วที่สุดตามความต้องการของ Heifetz


หลังจากฉันอธิบายเรื่องนี้กับ Heifetzไม่นานเท่าไหร่ ป้ายถนนก็ถูกติดตั้งตามที่เขาต้องการ แต่สีของป้ายเกิดเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ซึ่งเขาสังเกตุเห็นและไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ จนฉันต้องโกหกว่านี่เป็นป้ายชั่วคราว และได้ยินมาว่าจะเปลี่ยนป้ายใหม่เป็นสีแบบที่เขาชอบในอนาคต เขาจึงยอมรับและไม่ติดใจอีก


แต่จากที่เล่าไปแล้ว ไม่ใช่ว่า Heifetz จะเป็นคนขี้งก แม้ว่าเวลาที่เขายืมเงินใคร เขาจะไม่เคยคืนเลยจนกว่าเจ้าหนี้จะมาทวง

แต่ๆๆ นั่นไม่ได้หมายความว่า Heifetz เป็นคนเหนียวหนี้นะคะ เพราะจริงๆแล้วเขามีความคิดว่า หลังจากเรายืมเงินใครไปแล้ว เจ้าหนี้ก็ต้องมีหน้าที่ต้องติดตามคอยทวง ไม่ใช่รออยู่เฉยๆ และตัวเขาเองก็จะจ่ายคืนให้ทันทีที่ถูกทวงถาม



Heifetz มีความเชื่อเรื่องโชคลางของตัวเลข เขาเชื่อว่าชื่อของเขา ซึ่งนับรวมตัวอักษรได้เลข 13 เป็นเลขแห่งความโชคดี นอกจากนี้ เขายังชอบเลข 2 เพราะ เขาเกิดวันที่ 2 เดือน 2 ในปี 1901 ซึ่งเมื่อรวมเลขกันแล้วก็ยังได้เลข 2


นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่าเลข 2 ยังมีความหมายถึง การมีคู่ของ ชาย – หญิง แต่ทั้งๆที่เขาเป็นคนประเภทบุรุษนิยม ซึ่งยึดถือว่าเพศชายเป็นใหญ่ แต่เขากลับมองว่าในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิงจะสำเร็จไม่ได้ ถ้าฝ่ายหญิงไม่ให้ความร่วมมือ


และแม้ว่า Heifetz จะไม่ประสพความสำเร็จในเรื่องความรักและชีวิตแต่งงาน แต่เขากลับชอบเชียร์ให้นักเรียนของเขา หรือนักดนตรีคนอื่นๆ จับคู่แต่งงานอยู่เสมอๆ และจะไม่หยุดจนกว่าพวกเขาจะตั้งรกราก เพราะเขามองว่าผู้ชายและผู้หญิงเกิดมาเพื่อกันและกัน


แต่ถึงอย่างนั้น ความคิดแบ่งแยกเพศของเขา ยังเป็นเรื่องที่ใครๆชอบแซวอยู่เสมอ


เขามักจะบัญญัติศัพท์แปลกๆ เพื่อแบ่งแยกชาย-หญิง เช่น hero หมายถึงผู้ชาย และ Shero หมายถึงผู้หญิง หรือ คำว่า hysterectomy ซึ่งแปลว่ามดลูก เขาก็จะเปลี่ยนมันเป็น hersterectomy แทน



สำหรับ Heifetz ห้องครัว คือสถานที่สำหรับผู้หญิงเท่านั้น แต่ถึงกระนั้น เขากลับอนุญาตให้มีผู้หญิงอยู่ในห้องครัวเพียง 1 คน เพราะเขามองว่าไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม หากมีผู้หญิงมาอยู่ร่วมกันมากกว่า 1 คน มักจะเกิดเรื่องวุ่นวายเสมอ ยกเว้นเวลาที่ทานอาหารร่วมกัน

ดังนั้น ในตำแหน่งงานเดียวกัน เขาจะจ้างผู้หญิงเพียงคนเดียวเท่านั้น



แม้ว่า Heifetz จะค่อนข้างมีปัญหากับการใช้จ่ายเงินที่แพงขึ้นตามกาลเวลา แต่ในเรื่องอาหารการกินแล้ว เขากลับยอมจ่ายเพื่อ ไข่ปลา Cavier และ เนื้อปลาแซลมอนรมควัน


ในอดีตสมัยที่เขายังออกทัวร์คอนเสิร์ตตามเมืองต่างๆ Heifetz เล่าให้ฉันฟังว่าเขาได้มีโอกาสลิ้มลองอาหารเลิศรสแปลกๆใหม่ๆจากภัตคารดังๆมากมาย ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เขาท้องเสีย


แต่เมื่อเขาแก่ตัวลง เขากลับย้อนกลับไปทานอาหารรัสเซีย-ยิว รสชาติดั่งเดิมแบบง่ายๆ และไม่ต้องการอาหารที่พิสดาร ซึ่งนั่นทำให้ ครั้งหนึ่งเขาเคยไล่แม่บ้านออก ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอทำอาหารหลากหลายมากเกินไป


Heifetz ชอบทานอาหารทะเลทุกชนิด โดยเฉพาะกุ้งlobster ปู และปลา นอกจากนี้เขายังชอบทานสตูมากๆ รวมไปถึงอาหารรัสเซียพื้นฐานอื่นๆ อย่างที่เล่าไปในตอนแรกว่าเขาสอนฉันทำด้วย ทั้งๆที่ตัวเขาเองทำอาหารไม่เป็นเลย


มีครั้งนึงเขาพยายามทำอาหารเช้าด้วยตนเอง โดยการนำกาน้ำชาขนาด 2 แกลอนที่เติมน้ำจนเต็ม ใส่เข้าไปในเตาอบ เพื่อชงน้ำชาเพียง 1 ถ้วย แน่นอนมันต้องใช้เวลานานมาก


แต่ทว่า Heifetz กลับไม่คิดอย่างนั้น เขากลับคิดว่าตู้อบต้องเสียแน่ๆ แม้ว่าฉันจะพยายามอธิบายให้เข้าฟังว่าการต้มน้ำต้องทำอย่างไร แต่เขายังคงสั่งให้ฉันไปตามช่างมาซ่อม โดยที่ไม่คิดเลยว่าเพราะเขาใช้มันไม่ถูกวิธีต่างหาก




แซลม่อนรมควัน หนังสือเขียนว่า lox หาดูรูปจากเวปอาหารของชาวยิว เดาว่าน่าจะใกล้เคียงจานนี้




Heifetz รู้จักกับ George Bernard Shaw นักเขียนนวนิยายชาวไอริช และ Sibelius ทั้ง 3 คนสนิทกัน เขาเล่าให้ฉันฟังว่า พวกเขามักจะนัดพบปะสังสรรค์กันเสมอ


Shaw รู้จักกับ Heifetz ตอนที่เขาไปแสดงคอนเสิร์ตที่อังกฤษในปี 1920 และ เขาเคยเขียนจดหมายมาหา Heifetz ด้วย


เนื้อหาในจดหมายฉบับนั้น ถูกกล่าวชวัญเป็นอย่างมาก เพราะ Shaw บอก Heifetz ว่า


"ถ้าคุณเก่งเกินมนุษย์จนทำให้พระเจ้ารู้สึกอิจฉาหล่ะก็ ท่านจะมาเอาตัวคุณไปเสียแต่ยังหนุ่ม ดังนั้น ผมจึงขอแนะนำให้คุณสีไวโอลินห่วยๆก่อนนอนแทนการสวดมนต์"




และไม่ต้องสงสัยเลยว่า Heifetz จะทำตามคำแนะนำนี้อย่างแน่นอน


สำหรับ Sibelius Heifetz ชอบเพลง Violin concerto ของ Sibelius มาก จึงไปหาที่ฟินแลนด์เพื่อพูดคุยถึงการแสดง ซึ่งเขาเล่าให้ฉันฟังโดยละเอียดถึงการพบกันในครั้งนั้น


ฟินแลนด์เป็นประเทศที่หนาวเย็นมาก เรียกว่าเย็นไปถึงกระดูกเลย แถมอากาศก็ชื้น และเต็มไปด้วยหมอกปกคลุมไปทั่วทะเลสาปและป่า Heifetz ตัดสินใจไปที่นั่นก่อนที่จะไปพบ Sibelius และพบกับบรรยากาศเหล่านี้ ซึ่งความประทับใจครั้งแรกนี้ ส่งผลกับการตีความบทเพลงขอ งSibelius เป็นอย่างมาก


เขามักจะจ้ำจี้จ้ำไช และใช้เวลาสอนนักเรียนถึงการตีความ violin concerto เพลงนี้นานมาก ซึ่งฉันไม่รู้ว่า Sibelius เป็นคนบอกเขาเองหรือเปล่า ว่าควรจะสีอย่างไร เพราะHeifetz ไม่ได้บอก แต่ถึงแม้ว่า Sibelius จะบอกเขา ฉันก็คิดว่า เขาคงไม่ทำตามหรอก



-----------------------------จบบทที่ 8----------------------------------

ปล. เรื่องของ Heifetz นี้ ไม่ได้แปลจากหนังสือทั้งหมด หนังสือสนุกและมีรายละเอียดเยอะมากๆ จขบ แค่อ่านๆแล้วมาเล่าๆรีวิวให้ฟังนะคะ ตัวเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการแปลหนังสือ และภาษาก็ไม่ได้แข็งแรงอะไร ดังนั้นหากผิดพลาดประการใด ต้องขออภัย ณ ที่นี้ด้วยค่ะ




 

Create Date : 05 เมษายน 2552    
Last Update : 21 เมษายน 2552 10:49:08 น.
Counter : 1020 Pageviews.  

Heifetz As I Knew Him (4) : เรื่องสำคัญมากของ Heifetz

บทที่ 7

Heifet เป็นคนที่ไม่เคยถือตัวว่าตนเองเป็นศิลปินแล้วก็เป็นคนที่เข้าใจยากมากๆ นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่ไม่สามารถทนอยู่ตามลำพังคนเดียวได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการใช้อำนาจกำจัดคนรอบข้างออกไปด้วยเช่นกัน


มีผู้คนมากมายที่เข้ามาตีสนิทและพยายามเป็นเพื่อนกับเขา หลายคนหวังผลประโยชน์จากการที่เขาเป็นคนมีชื่อเสียง หรือมาคบกับเขาเพียงเพราะต้องการที่จะได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนของ Heifetz


ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อ Heifetz อายุมากขึ้น จำนวนเพื่อนของเขาก็ค่อยๆลดลงตามชื่อเสียงของเขา แต่ถึงอย่างนั้น Heifetz ก็มีวิธีการมากมายในการทดสอบความจริงใจจากคนที่เข้ามาเสมอๆ


ชีวิตรักของ Heifetz เป็นเรื่องเดียวที่ฉันไม่กล้าถามถึง เพราะ Heifetz มักจะบอกเสมอว่า เขาไม่ควรแต่งงาน เขารู้สึกว่าตนเองเป็นพ่อที่ใช้ไม่ได้ และเขามักจะผิดสัญญากับลูกด้วยเหตุผลร้อยแปดเสมอ เขาคิดว่าแม้ว่าเขามีสิทธิที่จะเปลี่ยนใจได้ทุกเมื่อ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกผิดมากที่ผิดคำสัญญาเช่นกัน


สำหรับ Heifetz นักเรียนของเขา ก็เหมือนลูกๆในอุดมคติ ที่ไม่มีการโต้แย้งและเชื่อฟังเขาทุกอย่าง ซึ่งไม่มีทางที่ลูกจริงๆของเขาจะเป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ สำหรับนักเรียน เขายังสามารถต้อนรับหรือผลัดไสได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเกี่ยวพันทางสายเลือด



Heifetz กับภรรยา พร้อมด้วย "Jay" ลูกชายของเขา



นักเรียนของ Heifetz หลายคนต้องจากบ้านมาไกลจากประเทศต่างๆ และ Heifetz ไม่ต้องการให้เขาเหล่านั้นรู้สึกโดดเดี่ยวและอยากให้นักเรียนอยู่ร่วมกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน


ดังนั้นเขาจึงมักเชิญให้นักเรียนไปสังสรรพักผ่อนที่บ้านของเขา รวมถึงที่บ้านพักตากอากาศริมชายทะเลอยู่บ่อยๆ ซึ่งการกระทำของเขา ฉันคิดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก Auer เพราะเมื่อสมัยกอ่น Auer ก็มักจะชวนให้นักเรียนของเขาไปพักผ่อนด้วยกันเช่นกัน


วันขอบคุณพระเจ้า และ วันอีสเตอร์ เป็นเทศกาลประจำที่นักเรียนทุกคนจะได้รับคำเชิญ แต่สำหรับเทศกาลปีใหม่นั้น เฉพาะนักเรียนที่มีหน้าที่ในการเล่นวงเชมเบอร์เท่านั้นที่จะได้รับเชิญ


วันขอบคุณพระเจ้า นักเรียนทุกคนจะได้รับเชิญให้มาแต่หัววัน และจะได้รับประทานไก่งวงร่วมกันในตอนบ่ายแก่ๆ แต่ส่วนใหญ่ช่วงเทศกาลนั้น ตรงกับเดือนพฤศจิกายนซึ่งอากาศที่ชายหาด ค่อนข้างหนาวเย็น ดังนั้น Heifetz จึงมักจะสั่งให้ใครบางคน ทำหน้าที่เป็น “fireman” หรือพนักงานจุดไฟ


Fireman มีหน้าที่ยืนข้างเตาผิง และคอยดูแลไฟในเตาให้ลุกอยู่ตลอดเวลา โดย Heifetz จะจัดหาอุปกรณ์ต่างๆให้ ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นเช่นหมวกประจำตำแหน่ง พร้อมกับจัดตำแหน่งที่ต้องยืนและวางอุปกรณ์ที่แน่นอน

ซึ่งหากใครเกิดบังเอิญไปขยับข้าวของหรือแม้แต่ตัว Fireman แม้ซักนิ้วเดียว เขาจะรีบจัดแจงจัดให้มันเข้าที่ พร้อมกับบอกกับทุกคนว่าให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ตามที่เค้ากำหนดไว้ ซึ่งไม่เพียงแต่นักเรียนเท่านั้นที่ถูกกำหนดว่าจะต้องยืนตรงไหน แต่เขายังปฏิบัติกับแขกของเขาแบบนี้เช่นกัน

Heifetz ต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงทุกคนที่มาร่วมงาน อยู่ภายใต้การควบคุมของเขา


ฉันกับ Heifetz เริ่มสนิทกันในงานสังสรรวันอีสเตอร์ที่ชายหาด ในฤดูร้อนปี1972

ในตอนบ่ายที่นักเรียนคนอื่นๆขอตัวกลับบ้านกันแล้ว ผู้ช่วยของHeifetz แอบมากระซิบบอกฉันว่า เดี๋ยวจะไปส่งคนอื่นๆที่หัวมุมถนนก่อน จากนั้นเราจะวนกลับมาที่บ้าน เพราะ Heifetz อยากจะทานมื้อเย็นกับฉัน



เล่นวงแชมเบอร์กัน แต่รูปนี้น่าจะถ่ายที่มหาวิทยาลัยค่ะ


Heifetz เป็นคนที่มีความสามารถพิเศษ ในการตัดสินว่าใครหรืออะไรที่มีประโยชน์ต่อเขา
หลายปีต่อมาหลังจากเราสนิทกัน เขาบอกฉันถึงสาเหตุที่เขาต้อนรับฉันให้เขาสู่วงใน เพราะเขาสังเกตุว่าเมื่อฉันได้รับคำสั่งอะไรมา ฉันไม่เคยถามเขาหรือว่าใครเลย แต่กลับตั้งหน้าตั้งตาทำด้วยตนเอง และไม่ตื่นเต้นจนเกินเหตุ


แต่สำหรับฉัน คำพูดของเขาไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะมันเหมือนเป็นบุคลิกประจำตัวของคนเกิดปีวัว ของนักษัตริย์จีนตามที่ฉันเคยได้รับทราบมา

หลังจากมื้อเย็นครั้งแรกผ่านไป เขาขอให้ฉันไปหาที่บ้านในเย็นวันพุธ เพื่อปรึกษาอะไรบางอย่าง

“เรื่องสำคัญมาก”

?
?
?
?
?
?

แต่เมื่อฉันได้คุยกับเขา ก็ทำให้รู้ว่า "เรื่องสำคัญมาก" ของเขานั้น จริงๆไม่มีอะไรเลย เขาแค่ต้องการให้ฉันมาทานอาหารเย็นที่บ้านของเขา โดยมีข้อแม้ว่าฉันจะต้องเป็นคนทำอาหารเย็น


ฉันกังวลมาก ในสมัยก่อนแม่ของฉันไม่เคยยอมให้ฉันเข้าไปวุ่นวายในห้องครัว เพราะเธอมองว่า ฉันมีงานอย่างอื่นที่สำคัญยิ่งกว่า นั่นคือการซ้อมไวโอลิน


ดังนั้นฉันจึงทำอาหารแทบไม่เป็นเลย และในตอนนั้นฉันจึงเลือกทำอาหารที่คิดว่าถนัดที่สุด นั่นคือ "ข้าวผัด"

และแน่นอนที่จริงแล้วฉันรู้วิธีทำข้าวผัดเพียงเล็กน้อย จากการสังเกตุเวลาแม่ทำในครัวเท่านั้น

ไม่ว่าข้าวผัดจะอร่อยหรือไม่ แต่ที่แน่ๆคือมันไม่ถูกปาก Heifetz ซักเท่าไหร่


ดังนั้น Heifetz จึงมาที่ครัวกับฉัน และสอนให้ฉันหัดทำ สตู ซึ่งเป็นอาหารที่เขาชอบมากที่สุด

นอกจากนี้เขายังประกาศอีกว่า การจะเป็นแม่ครัวที่ดีนั้น ต้องเริ่มต้นจากการทำสตูให้อร่อยเสียก่อน
แต่ถึงกระนั้น Heifetz ก็ง่วนอยู่ที่ครัวได้ไม่นาน เมื่อมีโอกาสเขาจะเรียกให้ฉันมานั่งดื่มกับเขาที่ห้องนั่งเล่นแม้ว่าจะยังทำอาหารไม่เสร็จก็ตาม


จากเหตุการณ์นี้ ฉันสรุปได้ว่า Heifetz นอกจากจะมีความอดทนต่ำแล้ว เขายังทำอาหารไม่ได้เรื่องอีกด้วย


แล้วในอีก 2-3 สัปดาห์ อีกครั้งกับวันพุธ พร้อมกับ " เรื่องสำคัญมาก" อีกแล้ว


เขาเชิญฉันมาที่บ้าน ซึ่งในทีแรกฉันคิดว่าน่าจะเป็นการเตรียมบทเรียน เพราะตอนนั้นฉันเริ่มทำหน้าที่เป็นนักเปียโนแล้ว แต่เมื่อมาถึงปรากฏว่ากลับกลายเป็นเรื่องการทำอาหารอีกแล้ว และส่วนใหญ่ คอร์สเรียนทำอาหารโดย อ. Heifetz ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษนอกจากวิธีการทำพื้นฐาน เครื่องปรุงที่ต้องใช้ และรสชาติที่ควรจะเป็น ซึ่งแน่นอน จะต้องปรุงในรสที่เขาชอบ


หลังจากที่ฉันเริ่มชำนาญในการทำอาหาร เขาก็สารภาพกับฉันว่า จริงๆเขาไม่ได้คาดหวังให้ฉันทำอาหารเก่งๆหรอก แต่เขาแค่ต้องการเล่นสนุกเท่านั้น และเขายังค้นพบอีกว่า มีบุคลิกอย่างหนึ่งของฉัน ที่เขาชอบ นั่นคือ นอกจากฉันจะไม่โต้แย้งเขาแล้ว ฉันยังฟังเขาอย่างตั้งใจเสมอโดยไม่ขัดคอ และไม่เคยทำตัวว่ารู้ดีกว่าเขา เวลาที่เขาออกความเห็นต่างๆ และสุดท้ายที่เขาชอบมากคือ ฉันไม่เคยอิดออดเวลาที่เขาเรียกให้ฉันดื่มเป็นเพื่อน แม้ว่าฉันจะจิบเพียงเล็กน้อยก็ตาม


เมื่อเวลาผ่านไป เขาเริ่มต้องการให้ฉันทำอาหารรัสเซียแบบที่เขาชอบ ซึ่งฉันคิดว่าคงจะเอาสูตรมาจากแม่ของเขา


นอกจากนี้ เขายังได้แนะนำให้ฉันรู้จักกับเพื่อนของเขาที่เป็นชาวรัสเซีย เพื่อที่ฉันจะได้ขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีทำอาหารได้เมื่อติดขัด


Heifetz ไม่ได้ต้องการให้ฉันแค่ทำอาหารให้เขาเท่านั้น แต่เขาต้องการให้ฉันอยู่เป็นเพื่อนในยามเย็นอันแสนโดดเดี่ยว


เขามักจะขอร้องให้ฉันอยู่เป็นเพื่อนหลังทานอาหารเย็น และชวนให้เล่นไพ่ หรือเล่นดนตรีด้วยกัน บางครั้งเราก็เล่นเปียโน 4 มือ และเขาชื่นชอบการเล่นแบบ improvise มากๆ


บางครั้งเขาก็เรียกให้ฉันเล่นอะไรก็ได้ซักอย่างบนเปียโน และสอนฉัน เสียงของ accom ควรจะออกมาเป็นแบบไหน และควรแตกต่างจาก soloist อย่างไร

และเพื่อแสดงให้ฉันเข้าใจ เขาถึงกับลงมือเล่นเปียโนด้วยตนเอง ให้ฉันฟัง ซึ่งนั่นทำให้ฉันประหลาดใจมากๆ เพราะเมื่อฟังแล้ว แม้ว่าดูเหมือนเขาจะขาดการฝึกซ้อมไปซักหน่อย แต่ก็สามารถดีดได้เสียงแบบที่เขาต้องการอธิบายจริงๆ

ในทางกลับกัน บางทีเขาก็หันกลับมาถามฉันเกี่ยวกับการใช้นิ้วในการดีดเปียโน เพราะเขาเห็นว่าฉันมีมือที่เล็ก และดูท่าว่าจะมีปัญหา


บางครั้งเขาก็ชวนกันเล่นเกมส์ มีครั้งหนึ่ง เขาสั่งให้ฉันปิดตา แล้วเขาเล่น Etude black key ของ Chopin (etude in Gb Op.10 No.5) แต่ฉันฟังแล้วรู้สึกแปลก และเมื่อลืมตาขึ้นก็พบว่าเขากำลังเล่นเปียโนด้วยผลส้ม



มุขนี้คุ้นๆ หลาง หลาง ก็เอามาเล่นเหมือนกัน




ส่วนอันนี้คือ black key ของจริง เล่นด้วยมือ ไม่ได้ใช้ส้ม



ในระหว่างที่ฉันทำหน้าที่เป็นนักเปียโนในชั้นเรียนของ Heifetz ฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมชมการAudition ของ Heifetz และได้เห็นการคัดเลือกผู้สมัครของเขา


เวลาที่เขาพบผู้สมัครที่มีความสามารถไม่ดีพอ เขาจะชวนคุยไปเรื่อยเปื่อย และถามถึงความสนใจอื่นๆ หรือความสามารถอื่นๆที่ผู้สมัครคิดว่าเขาทำได้ดี หลังจากนั้น Heifetz ก็จะพยายามพูดโน้มน้าวให้ผู้สมัครเหล่านั้นเล่นดนตรีเพียงแค่เป็นงานอดิเรก และให้หันไปทำอย่างอื่นที่ถนัดมากกว่า


ในบางครั้ง Heifetz พบผู้สมัครที่มีความสามารถ แต่ยังไม่ถึงมาตรฐานที่เขาตั้งไว้ เขาจะรับผู้สมัครเหล่านี้ไว้ในฐานะ “ Auditor” ซึ่งหากใครที่ถูกรับเข้ามาในตำแหน่งนี้ จะต้องทำใจว่าพวกเขาไม่ใช่นักเรียนแบบที่ Heifetz ค้นหา แต่ก็ถือว่าได้รับโอกาสแล้ว

นอกจากนี้ ผู้สมัครที่อายุเกิน 25 ปี ก็จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน ส่วนเหตุผลนั้นคือ Heifetz มองว่า คนที่อายุเกิน 25 ปีไปแล้ว จะสามารถเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆเพิ่มเติมได้อีกเพียงเล็กน้อย หรือไม่ได้อีกแล้ว


ผู้ที่เป็น Auditor จะสามารถเข้าเรียนในชั้นเรียนได้เหมือนกับนักเรียนปกติทั่วไป แต่จะมีโอกาสได้สีไวโอลินให้ Heifetz ชมเพียงแค่ 1 ครั้ง และสามารถเข้าร่วมการเล่นแชมเบอร์ได้ 1 หน


นอกจากนี้ Auditor ยังมีนักเรียนที่จำแนกออกเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถูกเรียกว่า Observer
ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผุ้ใหญ่ ครูหรือคนที่ทำงานด้านดนตรีซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง LA


แต่สำหรับ Observer มีสิทธิที่จะได้เล่นร่วมกับวงเชมเบอร์ แต่จะไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงไวโอลินในชั้นเรียน


ในระหว่างการทดสอบ นอกจากเขาจะสนใจการสีไวโอลินแล้ว เขายังแอบสังเกตุอิริยาบถต่างๆของผู้สมัคร ในการดูแลอุปกรณ์ต่างๆด้วย ดังนั้นหากผู้สมัครคนใดที่ไวโอลินสกปรก จะไม่ผ่านการคัดเลือกอย่างแน่นอน


หลังจากการสัมภาษณ์จบลง เขาจะจับมือกับผู้สมัครแต่ผลการสัมภาษณ์จะยังไม่ประกาศในทันทีเว้นแต่เขาจะแน่ใจว่าคัดออกจริงๆเท่านั้น


และเมื่อนักเรียนใหม่ย้ายเข้ามาและเริ่มเข้าชั้นเรียนได้ 2-3 สัปดาห์แล้ว เขาจะสั่งให้ผู้ช่วยขับรถพาเขาไปยังที่พักของนักเรียน โดยมิได้บอกล่วงหน้า

“Surprise!!!”


เขาจะตรวจสอบทุกอย่างในห้อง แม้แต่ในตู้เสื้อผ้าหรือใต้อ่างล้างมือ ยกเว้นแต่เพียงจดหมายเท่านั้น


คลิป master class กันอีกซักรอบ เพลงที่เขาเล่นชื่ออะไรก็ไม่รู้



ในวันหยุดเขามักจะขอให้ฉันขับรถพาไปยังบ้านพักตากอากาศของเขาที่ริมหาดมาลิบู เขามีความสุขมากที่ได้อยู่ที่นั่น ดังนั้นทุกวันหยุดเขาจะเดินทางไปที่นั่นเสมอ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้นก็ตาม


ครั้งหนึ่งเกิดพายุรุนแรงมีคลื่นสูงพัดเข้าสู่ชายฝั่งติดต่อกันหลายวัน พายุทำลายบ้านหลายหลังบนริมชายหาดและทำลายถนนไปหลายเส้น ในระหว่างสัปดาห์มีประกาศเตือนภัยตลอด ทั้งทางวิทยุและทีวีให้คนที่อยู่แถวนั้นหรือคนกำลังจะไปให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยง


ในคืนวันศุกร์ ฉันถามเขาเกี่ยวกับแผนการเดินทางสำหรับวันหยุด และบอกเขาถึงข่าวประกาศเตือนภัย แต่เขากลับไม่สนใจอะไรเลยและยืนยันว่าจะเดินทางไปเหมือนเดิม แถมยังทำท่าทางประหลาดใจตอนที่ฉันถามเขาอีกต่างหาก


Heifetz บอกกับฉันว่าเราสามารถเดินทางไปยังหาดมาลิบูผ่านทางถนนบนภูเขาซึ่งอยู่เหนือทะเล ฉันไม่เคยใช้เส้นทางนั้น และสงสัยว่าตัวเขาเองรู้จักเส้นทางนั้นดีแค่ไหน แต่การโต้เถียงไปก็มีแต่จะเปล่าประโยชน์ ดังนั้นในเช้าวันเสาร์ฉันจึงไปรับเขาแล้วเตรียมตัวออกผจญภัย


ในตอนที่เราเริ่มออกเดินทางฝนตกหนักมาก และยิ่งหนักมากขึ้นอีกเรื่อยๆเมื่อใกล้ถึงชายหาด
ตลอดสองข้างทางเต็มไปด้วยป้ายเตือนให้ระวัง และฉันต้องขับรถด้วยความยากลำบากเพราะมองทางไม่เห็น ในขณะที่เขากลับมีท่าทางเหมือนเด็กซนๆที่กำลังสนุกสนาน เขาสั่งให้ฉันอย่าไปสนใจป้ายเตือนเหล่านั้นแล้วให้ขับต่อไปอีกเรื่อยๆ


ฉันขับรถด้วยความเร็วที่ช้ามากๆไต่ไปตามเนินเขา ตลอดสองข้างทางมีแต่รถที่ติดหล่มเต็มไปหมดเพราะตอนนี้พื้นถนนเต็มไปด้วยโคลน


หลังจากนั้นไม่นานน้ำก็ท่วมสูงขึ้นประมาณหัวเข่า ซึ่งทำให้ฉันกลัวมาก ฉันสงสัยจริงๆ หากเรา 2 คนเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา หนังสือพิมพ์จะพาดหัวข่าวว่าอย่างไรกัน แต่เมื่อฉันมองไปที่เขา ก็พบว่าเขายังคงนั่งเงียบสงบอยู่ที่เบาะหลังและไม่มีอาการตื่นเต้นใดๆเลย เขายังคงกำกับให้ฉันขับรถต่อไป และคอยชี้ให้ระวังก้อนหินที่อยู่บนถนน


ไม่นานนักเราก็พบกับป้ายเตือนปิดการจราจรตั้งขวางอยู่กลางถนน

ฉันชี้ให้เขาดูและหวังว่าเขาจะสั่งให้หันกลับ แต่ทว่าเขากลับบอกว่า


“เธอทำได้แน่”



ฉันไม่เข้าใจว่า อะไรทำให้เขามั่นใจขนาดนั้น หรือบางทีคำพูดนี้อาจเป็นการให้กำลังใจและเพิ่มความกล้าให้กับฉัน ซึ่งอันที่จริงแล้ว ฉันไม่มีทางเลือกมากกว่า ในใจฉันร้องบอกว่าให้รีบออกจากรถไปซะ แล้วทิ้งเขาไว้ที่นี่หล่ะ แต่ฉันก็ได้แต่เพียงคิด


สุดท้ายฉันก็ออกไปยกเครื่องกีดขวางออกจากถนน และกลับมาบนรถด้วยเนื้อตัวเปียกปอน
ส่วน Heifetz นั้น นั่งสบายใจอยู่บนเบาะหลัง ตอนที่ฉันกลับมา เขามองฉันด้วยสายตาซาบซึ้ง แล้วสั่งให้เดินทางต่อ ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ


หนทางต่อจากนี้ เลวร้ายยิ่งกว่าช่วงแรก มีทั้งก้อนหิน และโคลนเต็มถนน แต่ Heifetz ก็ยังคงไม่สะทกสะท้าน แต่ก็ดูเงียบเชียบผิดปกติและไม่พูดอะไรเลยนอกจากคอยกำกับให้ฉันระวังก้อนหินที่กีดขวางทางตรงนั้นตรงนี้


เขายังคงไม่แสดงอารมณ์ใดๆเลย เหมือนเวลาอยู่บนเวที


การเดินทางครั้งนี้ใช้เวลาตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึงบ่าย 3 โมงย็น ทั้งๆที่ปกติแล้วใช้เวลาเดินทางแค่ 45 นาที และเมื่อมาถึงบ้านตากอากาศ ก็พบว่าบ้านยังสภาพดีอยู่และไม่ได้เสียหายอะไร


หลังจากจัดข้าวของเรียบร้อยเขาก็เตรียมเครื่องดื่มให้ฉันอย่างใจเย็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เรา 2 คนชนแก้วและอวยพรให้แก่กัน จากนั้นเขาก็ไปเอาไม้จากบ้านของสุนัขเพื่อมาใช้เป็นฟืน แล้วเราก็นั่งผิงไฟด้วยกันเงียบๆ โดยไม่พูดคุยอะไรกันอีกเลย



คันนี้หรือเปล่านะ ที่เอาไปลุยฝน



Heifetz เป็นคนที่เชื่อถือในเรื่องของโชคลาง เขาสอนให้ฉันตอกเกือกม้าที่กำแพง เพราะเชื่อว่ามันจะทำให้ความโชคดีอยู่กับเรา ส่วนในรถของเขาก็มีห้อยเหรียญ St.Chirtopher ซึ่งเขาเชื่อว่าจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้


แต่สำหรับเรื่องความเชื่อทางศาสนาแล้ว เขาไม่เคยเข้าร่วมองค์กรทางศาสนาใดๆ แต่กลับยึดมั่นในประเพณีต่างๆของชาวยิว นอกจากนี้เขายังคิดว่าคำสอนต่างๆสามารถยืดหยุ่นได้


ที่บ้านที่มาลิบูก็มีเกือกม้าตอกอยู่ที่รั่วเช่นกัน ประตูบ้านที่นี่ มี 2 บาน คือประตูเล็กสำหรับคนเดิน และประตูใหญ่สำหรับรถ


ประตูเล็กจะมีโซ่สั้นๆคล้องไว้ซึ่งใส่กลอนล็อคจากด้านในเสมอ ซึ่งหากฝนตกแล้วกลอนเกิดฝืดทำให้เปิดไม่ออก แขกที่มาเยือนจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ ปีนรั้ว หรือไม่ก็ขอเพื่อนบ้าน เพื่อเดินผ่านทางทะลุ เพื่อไปเข้าบ้าน Heifetz ทางฝั่งชายหาด


แต่สำหรับแขกที่ไม่ได้นัดหมายไว้หรือว่านัดแล้วแต่ลืม ประตูจะถูกล็อคไว้เสมอ การตะโกนเรียกไม่มีประโยชน์อันใด เพราะเสียงคลื่นดังมากจนกลบเสียงอื่นๆหมด ส่วนการโทรศัพท์ไปที่บ้าน ก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน เพราะ Heifetz มีโทรศัพท์เพียง 1 เครื่องในห้องนอนของเขา ซึ่งเป็นเบอร์ส่วนตัวที่มีเพียงเลขาของเขา หรือคนที่สนิทกันจริงๆเท่านั้นที่จะรู้ว่ามีโทรศัพท์เครื่องนี้อยู่ แต่อันที่จริงแล้วโทรศัพท์เครื่องนี้ มีไว้ให้เขาติดต่อกับโลกภายนอก มากกว่าที่จะให้โลกภายนอกติดต่อเขา


แต่หากแขกที่ไม่พึ่งประสงค์ หรือ แขกที่ไม่รู้ว่าควรจะเข้าไปยังไง ยังคงพยายามจะไปพบเขา โดยการปีนข้ามรั้วสูงๆนั้น พวกเขาก็จะพบกับสิ่งที่ Heifetz เตรียมไว้ในยามฉุกเฉิน นั่นคือ ถังไม้ ซึ่งข้างในมีกระป๋องขยะบรรจุอยู่ ซึ่งก็แข็งแรงพอที่จะช่วยให้แขกสามารถขึ้นไปเหยียบและลงสู่พื้นดินได้อย่างปลอดภัย


แต่แม้ว่าแขกจะสามารถผ่านด่านแรกเข้ามาได้แล้ว บ่อยครั้งก็ต้องงุนงงหลงทาง ว่าจะเข้าไปที่บ้านได้อย่างไร เพราะจะมีเพียงทางแคบๆ ซึ่งดูเหมือนเขาวงกต ที่ถูกกั้นด้วยรั้วสูงๆ

ทางนั้นเป็นทางเดียวที่จะเดินไปบ้านเขาได้ ซึ่งอันที่จริงแล้วเขาวาดลูกศรชี้บอกทางไว้ที่กำแพง ซึ่งหากเดินตามลูกศรนั้น ก็จะสามารถหาทางเข้าบ้านได้แล้ว แต่แขกส่วนใหญ่มักจะหลงทางกันทุกคน และมาบ่นทุกครั้งหลังจากเจอะ Heifetz ซึ่งเจ้าตัวเองก็จะตอบด้วยความชอบใจว่า “ยังไงคุณก็มาถึงแล้วนิ”



ไฮเฟต กับ ภรรยา


ในบริเวณบ้านส่วนใหญ่เป็นปูน แต่ก็ยังมีมุมจัดสวนเล็ก ซึ่ง Heifetz ชอบมาก เขาชอบต้นไม้และง่วนกับการตัดแต่งสวนเป็นเวลาหลายชั่วโมงเวลาที่เขาอารมณ์ดี


ในสวนที่บ้านพักตากอากาศนี้ จะมีศาลาพักผ่อนอยู่ ที่นั้นนอกจากมีเก้าอี้พักผ่อนและหมอนอิงแล้ว ยังมีโต๊ะปิงปองเก่าๆตั้งอยู่ 1 ตัว แถมมีหลายจุดที่ลูกไม่เด้งแล้ว ซึ่งที่จริงมีคนซื้อโต๊ะปิงปองตัวใหม่เป็นของขวัญวันเกิดให้เขา แต่เขากลับไม่ยอมใช้มัน และยืนยันจะใช้เจ้าตัวเก่าเนี่ยหล่ะ //ฮ่า่ฮ่าฮ่า


Heifetz ชอบตีปิงปองมากๆ แม้แต่อพาร์ทเม้นต์ที่นิวยอร์ก เขาก็มีโต๊ะปิงปองเช่นกัน และชอบชวนให้ นักเรียนมาเล่นด้วยกัน โดยเฉพาะนักเรียนชาวเอเซียที่ส่วนใหญ่จะตีปิงปองเก่งๆกันทั้งนั้น บางทีก็จัดการแข่งขันส่วนตัวให้นักเรียนเล่นกันด้วย


นอกจาก Heifetz จะเป็นคนที่มีความสุขเมื่ออยู่ใกล้น้ำแล้ว เขายังชอบดูพระอาทิตย์ตก และชอบดูพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งเขาจะคอยตรวจดูปฏิทินเสมอว่าวันไหนพระจันทร์จะเต็มดวงบ้าง และเพื่อที่เขาจะได้ชมพระจันทร์อย่างมีความสุข โดยที่ไม่มีการรบกวนจากแสงไฟฟ้า เมื่อถึงคืนนั้น เขาจะส่งให้ฉันไปหาเพื่อนบ้าน เพื่อขอให้พวกเขาดับไฟนอกบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี



------------------------------------จบบทที่ 7------------------------------


ปล. เรื่องของ Heifetz นี้ ไม่ได้แปลจากหนังสือทั้งหมด หนังสือสนุกและมีรายละเอียดเยอะมากๆ จขบ แค่อ่านๆแล้วมาเล่าๆรีวิวให้ฟังนะคะ ตัวเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการแปลหนังสือ และภาษาก็ไม่ได้แข็งแรงอะไร ดังนั้นหากผิดพลาดประการใด ต้องขออภัย ณ ที่นี้ด้วยค่ะ




 

Create Date : 05 เมษายน 2552    
Last Update : 21 เมษายน 2552 10:47:58 น.
Counter : 1034 Pageviews.  

1  2  

Vitamin_C
Location :
Pasadena United States

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




สวัสดีค่ะ อากาศดี ก็อารมณ์ดีเนอะ .......^-^

คิดถึงบ้านที่เมืองไทยเป็นที่สุด
ถ้าไม่นับห้องสมุดๆเจ๋งๆกับพิพิธภัณฑ์ดีๆ กับอาหารหลากหลายเชื้อชาติให้กินได้ไม่ซ้ำทุกวันแล้วหล่ะก็ เมืองไทยชนะขาดในทุกกรณี ว่าแต่เมื่อไหร่ ห้องสมุดกับพิพิธภัณฑ์ของบ้านเราจะพัฒนาซักทีน้อ....


ถึงแม้ว่าบล๊อกนี้จะไม่ค่อยมีสาระ แต่เนื้อหาและข้อความทั้งหมด
รวมไปถึงรูปภาพที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ถ่ายเอง ถือเป็นลิขสิทธิ์ ของสำนักพิมพ์บางกอกสาส์น จำกัด
ห้ามผู้ใดนำไปเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาติจากเจ้าของบล๊อก หรือ จากกองบรรณาธิการ

หากมีข้อสงสัยใดๆ กรุณาติดต่อหลังไมค์
หรือ
กองบรรณาธิการ สำนักพิมพ์บางกอกสาส์น 966/10 ซ.พระราม6 19 ถ.เพชรบุรี เขตราชเทวี กทม 10400
โทร 02-6137140
Email vitavitac@gmail.com
Friends' blogs
[Add Vitamin_C's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.