Ich bin der Welt abhanden gekommen (I am lost to the world)
Group Blog
 
All Blogs
 

Mahler's Symphonies



เนื่องจากซิมโฟนีของ Mahler นั้นมีความยาวมากและซับซ้อนมากพอสมควรก็เลยค่อนข้างเป็นยาขม
สำหรับผู้ฟังมือใหม่หรือแม้กระทั่งผู้ฟังที่คุ้นเคยกับเพลงคลาสสิคมาบ้างก็ตาม จากการที่มีประสบการณ์
ฟังมาบ้างผมก็เลยเขียนสรุปเขียนสรุปซิมโฟนีแต่ละบทของ Mahler เผื่อจะช่วยให้เข้าถึงดนตรีของ
Mahler ง่ายขึ้นบ้าง ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าสิ่งที่เขียนมานี่มาจากการอ่านและความรู้สึกส่วนตัวที่ได้
จากการฟังเพลงของ Mahler จริงๆแล้วการตีความเพลงของ Mahler นั้นถึงตอนนี้บางจุดก็ยังเป็น
ที่ถกเถียงกันของนักดนตรีวิทยา ดังนั้นผมว่าไม่ต้องซีเรียสมาก ถือว่ามาเล่าเรื่องให้ฟังก็แล้วกันเพราะ
สุดท้ายแล้วสิทธิ์ในการจินตนาการและตีความย่อมเป็นของผู้ฟังทุกคน

Credits: ขอบคุณคุณ jassb1 ที่ถามมาเพราะไม่งั้นผมก็คงไม่คิดจะเขียนบทความนี้ขึ้นมาแน่ๆ





Mahler’s Symphonies



“Symphony is like a world. It must embrace everything”
Mahler, in a conversation with Sebelius


เมื่อครั้งที่ Mahler ได้ไปอำนวยเพลงที่ฟินแลนด์และได้มีโอกาสสนทนากับ Jean Sibelius
คีตกวีรุ่นน้องซึ่งเป็นคีตกวีที่มีชื่อเสียงที่สุดของฟินแลนด์นั้น Mahler ได้แสดงทรรศนะของตัวเองที่มีต่อ
งานเพลงประเภทซิมโฟนี่ผ่านคำกล่าวข้างต้น ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นนิยามซิมโฟนี่ของ Mahler ที่ชัด
เจนที่สุด ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ซิมโฟนีของ Mahler แต่ละบทนั้นมีขนาดมหึมาต้องใช้วง
ออร์เคสตร้าขนาดใหญ่ในการบรรเลง อีกทั้งยังมีความยาวและซับซ้อนมากกว่าเพลงคลาสสิคโดยทั่วไป

*หมายเหตุ: ภาพประกอบที่ใช้นี่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Mahler ภาพประกอบทั้งหมดเป็นฝีมือของ
Gustav Klimt จิตกรที่ผมชอบมาที่สุด จริงๆผมชอบงานของ Klimt มานานแล้วเพราะรู้สึกว่ามัน
สื่อและให้อารมณ์บางอย่างเหมือนเพลงของ Mahler ซึ่งผมมารู้เอาทีหลังว่า Klimt กับ Mahler
นั้นอยู่ร่วมสมัยเดียวกันแถมยังเป็นเพื่อนกันอีกต่างหาก อันนี้ไม่ใช่ผมคนเดียวที่เป็น เพื่อนญี่ปุ่นคนนึงของผมมาเที่ยวที่บ้านและเจอรูป The Kiss ของ Klimt ที่ผมแขวนไว้ แกยังถาม
เลยว่ารูปนี้มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Mahler หรือเปล่าเพราะแกรู้สึกว่ามันมีพลังแบบเดียวกัน ผมก็เลยนึก
สนุกลองเลือกรูปของ Klimt ที่ผมรู้สึกว่าสามารถให้เป็นตัวแทนของซิมโฟนีแต่ละบทได้ บางรูปก็ไม่
ค่อยใกล้เคียงเท่าไหร่ แต่บางรูปก็ตรงตามจินตนาการจนน่าขนลุก เอาเป็นว่าลองเอาไปดูเล่นๆกันดีกว่าครับ





1. ช่วงแรก ซิมโฟนีหมายเลข 1-4:

ช่วงนี้ Mahler ได้รับอิทธิพลในการแต่งเพลงมาจากบทกวีพื้นเมืองชุด Des Knaben Wunderhorn
(The Boy’s Magic Horn)
ซึ่งเป็นคอลเล็คชั่นของบทกวีพื้นเมืองที่ไม่ทราบผู้แต่งในช่วงต้น
ศตวรรษที่ 19 บางครั้งจึงมีการเรียกซิมโฟนีหมายเลข 1-4 นี้ว่า Wunderhorn Symphonies
ในช่วงนี้ดนตรีของ Mahler จึงมีกลิ่นอายเพลงพื้นเมืองที่มีท่วงทำนองสละสลวยงดงามและบรรยายถึง
ป่าเขาลำเนาไพร, เทพนิยายและชีวิตในชนบทซะเยอะ นอกจากนั้นแล้วเอกลักษณ์ที่สำคัญในช่วงนีีี้
คือเป็นดนตรีบรรยายเรื่องราวคล้ายๆจะเป็นกึ่งๆ Symphonic poem ในช่วงแรกนั้น Mahler ถึงกับ
เขียนบทบรรยายสั้นๆประกอบซิมโฟนีเลยทีเดียว (ถึงแม้ในตอนหลังแกจะเปลี่ยนใจเป็นไม่เห็นด้วยกับการ
เขียนบทบรรยายประกอบเพลงแบบนี้ก็ตาม) จะว่าไปแล้วเรื่องราวในซิมโฟนีทั้ง 4 บทนั้นก็เป็นเรื่องราว
ที่ต่อเนื่องกันอย่างหลวมๆ จากชีวิต→ความตาย→ต้นกำเนิดของชีวิต→ชีวิตหลังความตาย จะเห็นว่าเรื่อง
ราวเหล่านี้เป็นปรัชญาที่หนักเอาการทีเดียวสำหรับชายวัยหนุ่มในช่วงนั้นอย่าง Mahler





The Beethoven Frieze: The Longing for Happiness. Left wall*, 1902


Symphony No.1 in D major

บรรยายถึงชีวิตและการต่อสู้เอาชนะอุปสรรคและโชคชะตาของชายคนหนึ่ง(ในที่นี้คือตัว Mahler เอง)
เป็นซิมโฟนีที่สั้นและฟังค่อนข้างง่าย เหมาะสำหรับผู้เร่ิมต้นฟัง Mahler ท่อนที่มีชื่อเสียงที่สุดก็เห็นจะ
เป็นท่อนที่สามที่มีลักษณะเป็น funeral march แต่เป็นเพลงแห่ศพที่ไม่ธรรมดาเพราะ Mahler
แฝงอารมณ์ขันและเพลงพื้นเมืองเข้าไปจนทำให้เป็น funeral march ที่มีบรรยากาศกึ่งเศร้ากึ่งขำ
ขันอย่างบอกไม่ถูก (ฟังท่อนนี้แล้วทำให้ผมนึกถึงหนังของ Tim Burton ขี้นมาทันที ) ตัวอย่าง
เช่นการนำเพลงกล่อมเด็กที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง Frère Jacques (ก็คือเพลงนิ้วโป้งอยู่ไหนใน
เวอร์ชั่นภาษาไทยนั่นเอง) มาทำเป็นเพลงแห่ศพ (ซึ่งเหมือนกับการนำเพลงสำหรับเด็กมาประกอบหนัง
สยองขวัญยังไงยังงั้นเลย)

*รูปอัศวันใส่เกราะทองของ Klimt คนนี้ บางตำนานว่า Klimt ร่างมาจากใบหน้าของ Mahler แต่ไม่
เป็นที่ยืนยัน






Medicine, 1897-98


Symphony No.2 in C minor "Resurrection"

จากบันทึกของ Mahler เองต้นกำเนิดของซิมโฟนีบทนี้มาจากคำถามที่ว่า “Why did you live?
Why did you suffer? Is it all nothing but a huge, frightful joke?”
ตัวซิมโฟนีนั้นเริ่มจากความตายของพระเอกจากซิมโฟนีหมายเลขหนึ่ง ท่อนสองและสามเป็นบทรำลึกถึง
ความสุขและความสับสนวุ่นวายเมื่อครั้งยังมีชีวิตตามลำดับก่อนที่จะถึงบทสรุปในท่อนที่สี่และห้าด้วยการ
ฟื้นคืนชีพของมนุษยชาติในวันพิพากษา (Judgement Day) ตามคติความเชื่อทางศาสนา ทางด้าน
ดนตรีนั้นซิมโฟนีบทนี้ใช้วงออร์เคสตร้าขนาดใหญ่ในการบรรเลง และยังเสริมทัพด้วยนักร้อง
soprano, contralto, วงนักร้องประสานเสียงและออร์แกนอีกด้วย






The tree of life, 1905-1909


Symphony No.3 in D minor

ซิมโฟนีบทนี้มีเนื้อหาถึงต้นกำเนิดของหมู่มวลชีวิต เริ่มจากท่อนแรกที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ถึงการ
กำเนิดของชีวิตจากความว่างเปล่าด้วยการบรรยายถึงการมาถึงฤดูร้อนหลังจากความไร้ชีวิตในฤดูหนาว
จากนั้นตามด้วยเรื่องราวของพืช, สัตว์, มนุษย์, เทวดาและพระผู้เป็นเจ้าในท่อนที่สามถึงหกตาม
ลำดับ ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงถึงการเติบโตของชีวิตจากความว่างเปล่าไปสู้พระเจ้าในที่สุด ซิมโฟนีบทนี้เป็น
ซิมโฟนีที่มีความยาวที่สุดในบรรดาซิมโฟนีทั้งหมดที่เคยมีการแต่งกันมา โดยเฉลี่ยแล้วยาวประมาณ
90 นาที บางวงที่เล่นช้าหน่อยอาจยาวได้ถึงร้อยกว่านาที นอกจากนั้นแล้วยังมีการใช้นักร้อง
contralto และวง boy choir ในท่อนที่สี่และห้าตามลำดับอีกด้วย






Baby, 1917-18


Symphony No.4 in G major

Mahler จบมหากาพย์ Wunderhorn Symphonies ด้วยซิมโฟนีหมายเลขสี่ที่สั้นและเบาที่สุดใน
บรรดาซิมโฟนีทั้งหมดของ Mahler ท่อนที่สำคัญและเป็นบทสรุปของซิมโฟนีบทนี้คือท่อนที่สี่ซึ่งเป็น
เพลงร้องด้วยเสียง soprano จากบทกวี Das Himmlische Leben (Heavenly Life) ซึ่ง
บรรยายถึงความสุขในสวงสวรรค์ผ่านสายตาของเด็กน้อย จริงๆแล้ว Mahler ตั้งใจที่จะใช้เพลงนี้เป็น
ท่อนสุดท้ายของซิมโฟนีหมายเลขสาม (ซึ่งจะทำให้หมายเลขสามนี้มีเจ็ดท่อนด้วยกัน!) แต่เห็นว่ามัน
ไม่ค่อยสมดุลที่จะใช้บทเพลงเล็กๆนี้ปิดซิมโฟนีขนาดยักษ์อย่างหมายเลขสาม Mahler จึงแยกออกมา
ต่างหากแล้วแต่งอีกสามท่อนที่เหลือให้เป็นซิมโฟนีอีกบทแทน ซิมโฟนีทั้งบทนี้เลยมีลักษณะที่บริสุทธิ์
และไร้เดียงสาผ่านมุมมองของเด็กน้อย ใครที่ชอบเพลงในสมัยคลาสสิคอย่างของ Haydn หรือ
Mozart คงจะชอบซิมโฟนีหมายเลขนี้ได้ไม่ยาก

* ขอนอกเรื่องเกี่ยวกับซิมโฟนีหมายเลขสี่อีกซักเล็กน้อย เนื้อเพลง Das Himmlische Leben
นั้นนอกจากจะบรรยายถึงความสุขและความรื่นเริงในสวงสวรรค์ของเหล่าเทวดาและนักบุญและยัง
บรรยายถึงอีกสิ่งหนึ่งซึ่งผมสงสัยมานานแล้วว่ามันมีความสำคัญกับบทกวีอย่างไร สิ่งนั้นก็คือ
“ของกิน” ในครึ่งหลังของบทกวีนั้นเต็มไปด้วยของกินทั้งนั้น ซึ่งต่อมาผมก็ได้เรียนรู้ถึงเบื้องหลังอันน่า
สะเทือนใจของ “ของกิน” เหล่านั้นนั่นก็คือมันมียังมีอีกเพลงที่คู่กับ Das Himmlische Leben
นั่นก็คือเพลง Das Irdische Leben (Earthly Life) ซึ่ง Mahler แต่งไว้อยู่ในเพลงร้องชุด
Des Knaben Wunderhorn เพลง Das Irdische Leben นั้นบรรยายถึงชีวิตบนโลกของเด็ก
น้อยคนหนึ่งซึ่งตายจากการอดอาหาร ซึ่งสำหรับผมแล้วพอกลับไปอ่านเนื้อเพลง Das Himmlische
Leben อีกรอบแล้วทำให้รู้สึกสะท้อนใจและเศร้าอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ




2. ช่วงกลาง ซิมโฟนีหมายเลข 5-8:

ซิมโฟนีในช่วงนี้มีความแตกต่างจากซิมโฟนีในช่วงแรกค่อนข้างมากกล่าวคือทางด้านดนตรีนั้นจะเพิ่ม
ความซับซ้อนมากขึ้นทั้งทางด้านเทคนิคการประพันธ์เพลงและการเรียบเรียง มีการทดลองเทคนิคการ
ประพันธ์แบบต่างๆรวมทั้งการทดลองใช้เครื่องดนตรีแปลกๆอย่าง ฆ้อน, กีต้าร์และแมนโดลิน เรียกว่า
ความรื่นหูจากธรรมชาติและชีวิตในชนบทแบบซิมโฟนีบทแรกๆจะน้อยลงแต่แทนที่ด้วยดนตรีที่ซับซ้อน
และเข้มข้นแทน ทางด้านเนื้อหานั้นไม่ได้เป็นเชิงบรรยายเกี่ยวกับตำนานปรัมปราอีกแล้วแต่ออกเชิงนาม
ธรรมถึงความรักโลภโกรธหลงที่ realistic มากขึ้น นอกจากนั้นแล้วซิมโฟนีหมายเลข 5-7
นั้นเป็นดนตรีบรรเลงล้วนๆโดยไม่มีเสียงร้องอย่างซิมโฟนีบทต้นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง (ก่อนที่ Mahler
จะกลับไปใช้กองทัพนักร้องเต็มอัตราศึกอีกรอบในซิมโฟนีหมายเลขแปด)






The kiss, 1907-08


Symphony No.5 in C-Sharp minor

ซิมโฟนีบทนี้อาจนับได้ว่าเป็นซิมโฟนีที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดของ Mahler อันเนีื่องมาจากท่อน
Adagietto สุดฮิตที่มักจะไปโผล่ตามอัลบั้มรวมฮิตต่างๆ ซิมโฟนีหมายเลขห้าบทนี้ทางด้านอารมณ์
นั้นโดยรวมๆเจริญรอยตามซิมโฟนีหมายเลขห้าของ Beethoven เด๊ะๆเลยทีเดียวคือเป็นการเดินทาง
จากความมืดหม่นไปสู่แสงสว่างแห่งชัยชนะ แต่ของ Mahler นั้นจะค่อนข้างสุดโต่งกว่าคือเรียกว่าเริ่ม
จากเศร้าสุดขีดในท่อนแรกไปจนถึงรื่นเริงสุดขีดจนแทบจะเกินควบคุมในท่อนสุดท้าย ซิมโฟนีบทนี้แบ่ง
เป็น 3 part ด้วยกัน part แรกประกอบด้วยท่อนที่หนึ่งและสองซึ่งเป็นตัวแทนด้านมืดที่เต็มไปด้วย
เพลงแห่ศพและความรุนแรง part สุดท้ายนั้นประกอบด้วยท่อนที่สี่และห้าซึ่งเป็นตัวแทนความรักและ
ความรื่นเริงตามลำดับ ทั้งสอง part ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนี้ถูกเชื่อมเข้าหากันด้วย part ที่สอง
อันประกอบด้วยท่อนที่สามท่อนเดียวซึ่งเป็นท่อนที่ยาวและสำคัญที่สุด (แต่มีคนรู้จักน้อยที่สุด) ใน
ซิมโฟนีบทนี้ ท่อนนี้นับได้ว่าเป็นศูนย์กลางที่เป็นแกนกลางให้ซิมโฟนีทั้งบทเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างแท้จริง
ท่อนนี้มีลักษณะเป็น Scherzo ขนาดยักษ์โดยใช้ French Horn เป็นเครื่องดนตรีนำ (ถึงขนาดที่
เกือบจะเป็น Horn Concerto ได้เลยทีเดียว)



* ขอแถมเรื่องของท่อน Agaietto อีกนิดหน่อย ท่อนนี้ถูกทำให้มีชื่อเสียง (รวมทั้งทำให้ชื่อของ
Mahler เป็นที่รู้จักในหมู่คนฟังทั่วๆไปด้วย) โดยการถูกนำไปประกอบภาพยนต์เรื่อง Death in
Venice
โดย Luchino Visconti ผู้กำกับระดับบรมครูชาวอิตาเลียน Death in Venice
นั้นถูกดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันโดย Thomas Mann ซึ่งเป็นเรื่องราวของนักเขียนคนหนึ่งที่
ไปพักตากอากาศที่เมืองเวนิสในช่วงที่มีโรคอหิวาต์ระบาดแล้วเกิดไปหลงในความงามของเด็กหนุ่มคน
หนึ่งจนไม่ยอมหนีออกจากเมืองจนติดโรคตายในที่สุด ว่ากันว่าตัวเอกในนวนิยายเรื่องนี้ถูกถอดแบบมา
จาก Mahler ซึ่งตัว Mann ก็ออกมายอมรับว่า ลักษณะรูปร่างหน้าตาของตัวเอกคนนี้ได้แบบมาจาก
Mahler แต่ไม่ใช่คาร์แรคเตอร์ของตัวละคร (Mahler ไม่ได้เป็นรักร่มเพศ) อย่างไรก็ตามพอ
นวนิยายเรื่องถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนต์ ผู้กำกับก็ดัดแปลงตัวละครจากนักเขียนในเรื่องมาเป็นคีตกวี
แทน แถมยังมีฉากที่ตัวเอกคนนี้เล่นเปียโนเพลงของ Mahler (โดยในเรื่องบอกว่าเป็นผลงานเพลง
ของตัวเอง) อีกด้วย

ท่อนนี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น Mahler เขียนให้ภรรยาแทนจดหมายรัก ดังนั้น massage
ของท่อนนี้คือความรักนั่นเอง แต่ไปๆมาๆเพลงนี้มักจะถูกใช้เป็นเพลงไว้อาลัยไปซะงั้น (เร่ิมจาก
Bernstein ที่เล่นเพลงนี้ไว้อาลัยให้ JFK พอตอน Bernstein เสียชีวิต วงดนตรีทั่วโลกก็เล่น
เพลงนี้ไว้อาลัยให้กับ Bernstein อีกที) ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์เวลา Mahler อำนวยเพลง
ท่อนนี้นั้นจะเล่นยาวประมาณ 7-8 นาทีเท่านั้น ยิ่งเล่นเร็วๆจะให้ความรู้สึกถึงความรักมากกว่าเล่น
ยืดๆซึ่งทำให้รู้สึกเศร้ามากกว่า แต่จาก recording ที่มีมาท่อนนี้ถูกเล่นให้ยาวถึง 9-10 ไปจนถึง
14 นาทีเลยทีเดียว นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าทำไมเพลงๆเดียวกันนี้ความเร็วในการเล่นถึงได้
แตกต่างกันได้เท่าหนึ่งเลยทีเดียว (ซึ่งก็แน่นอนว่าให้อารมณ์ต่างกันชนิดคนละเรื่องเลยทีเดียว)






Tragödie (Tragedy), 1897


Symphony No.6 in A minor "Tragic"

ซิมโฟนีบทนี้เป็นซิมโฟนีที่มืดและหนักที่สุดของ Mahler เป็นที่รู้กันว่ามือใหม่ไม่ควรเริ่มฟังจากบทนี้
เป็นอันขาด ตอนจบของซิมโฟนีของ Mahler ตามปกตินั้นจะคลี่คลายโดยถ้าไม่จะจบด้วยชัยชนะก็จะ
จบด้วยความสงบ จะมีก็แต่บทนี้แหละที่จบด้วยความโหดร้ายและเครียดสุดๆ ธีมของซิมโฟนีนี้คล้ายๆจะ
เป็นอัตชีวประวัติของ Mahler เอง โดยมีธีมของภรรยาที่เรียกันว่า Alma theme ในท่อนแรก,
ธีมของลูกๆที่กำลังเล่นกระดานหกในท่อน Scherzo แต่ที่สะพรึงกลัวที่สุดคือท่อนสุดท้ายที่ประกอบ
ไปด้วย “Three Blows of Fate” อันเป็นสัญลักษณ์แทนความล่มสลายของโชคชะตาของ
บุคคลคนๆหนึ่ง (ซึ่งคาดว่ากันว่าน่าจะเป็นตัว Mahler เอง) ใน Three Blow of Fate ทั้ง
สามครั้งนั้น Mahler เขียนให้ใช้ค้อนฆ้อนไม้ขนาดใหญ่ทุบอัดลงไปกับทั่งไม้เพื่อให้เกิดเสียงอัดทึบๆ
หนักๆแทน เสียงของโชคชะตาที่กำลังดิ่งวูบลงสู่หายนะ (ในตอนหลัง Mahler ได้ลบการทุบครั้งที่
สามออกเนื่องจากเหตุผลทางด้านการประพันธ์เพลง) Mahler ทุกครั้งที่ดนตรีกำลังเปลี่ยนมาเป็น
ความสว่างก็จะมี Hammer of Fate นี่แหละที่ทุบกลับสู่ความมืดมิดไปซะทุกครั้ง จนถึงตอนนี้ก็ยัง
ไม่ทราบเหตุผลแน่ชัดว่าทำไม Mahler ถึงเขียนซิมโฟนีที่หนักขนาดนี้ออกมาทั้งๆที่ตามประวัติแล้ว
ในตอนนั้นอาจนับได้ว่าเป็นช่วงที่ Mahler มีความสุขที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ อย่างไรก็ดี Three Blows
of Fate นั้นก็เหมือนเป็นคำทำนายอนาคตของตัว Mahler เองเพราะในเวลาต่อมานั้นชีวิตของ
Mahler ก็ประสบเคราะห์กรรมหนักๆสามครั้งด้วยกันคือ ลูกสาวคนโตเสียชีวิต, ตัวเองต้องออกจาก
งาน และสุดท้ายคือได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคหัวใจซึ่งอาจทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกไม่นาน

ว่าแล้วก็ลองเอา Hammer Blow มาให้ดูกันซะหน่อยว่ามันเป็นยังไง






Schubert at the Piano, 1899


Symphony No.7 in E minor "The Song of the Night"

ซิมโฟนีบทนี้เป็นซิมโฟนีของ Mahler ที่เป็นที่นิยมน้อยที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ยังเต็มไปด้วยความไม่
ธรรมดามากมาย ซิมโฟนีหมายเลขเจ็ดนี้ดูจากหน้าหนังแล้วทางด้านอารมณ์อาจดูเหมือนว่าจะคล้าย
ซิมโฟนีหมายเลขห้านั่นคือเป็นการดำเนินจากมืด (ท่อนที่ 1-4) ไปสว่าง (อย่างร่าเริงสุดขีดใน
ท่อนที่ 5) แต่จริงๆแล้วซิมโฟนีบทนี้เป็นซิมโฟนีที่แหวกแนวที่สุดพอๆกับซิมโฟนีหมายเลขสี่เลยที
เดียว การผิดปกติของมันอยู่ตรงที่มันเป็นซิมโฟนีที่ไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับความซีเรียสหรือความตายอย่าง
ที่ผ่านๆมา แต่เป็นซิมโฟนีที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน (แบบมืดๆในสไตล์ Mahler) และบรรยากาศ
ชิลๆโรแมนติกหน่อยๆโดยเฉพาะท่อนที่ 2 (ซึ่งมีลักษณะเป็นเพลงมาร์ช) และ 4 (ซึ่งมีลักษณะ
เป็นเพลง Serenade ที่เล่นด้วยกีต้าร์และแมนโดลิน) นั้น Mahler เรียกว่าเป็น Nachtmusik
(Night Music) ซึ่งเป็นที่มาของนิคเนม “บทเพลงแห่งรัตติกาล” นั่นเอง บทเพลงแห่งความมืด
ในซิมโฟนีบทนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนแห่งความตายแต่มันมีความหมายเดียวกับ Nocturne แบบของ
โชแปงนั่นคือเป็นบทเพลงที่ให้อารมณ์กึ่งลึกลับกึ่งโรแมนติกเหมือนยามค่ำคืนนั่นเอง ขนาดท่อนแรก
ซึ่งออกจะกดดันที่สุดแล้วก็ยังเป็นแบบทีเล่นทีจริงไม่เครียดมาก ส่วนท่อนสุดท้ายนั้นเปรียบเสมือน
“day light” ซึ่งก็ให้อารมณ์ร่าเริงสุดขีดชนิดกู่ไม่กลับเลยทีเดียว






The Beethoven Frieze: The Longing for Happiness Finds Repose in Poetry. Right wall, 1902


Symphony No.8 in E-flat minor "Symphony of a Thousand"

ซิมโฟนีบทนี้นับว่าเป็นซิมโฟนีที่มีขนาดมโหฬาร (ในด้านจำนวนผู้เล่น) ของ Mahler เพราะนอก
จากจะใช้วงออร์เคสตร้าขนาดยักษ์ (ตัวอย่างเช่นการใช้คีีย์บอร์ดถึงสี่ตัวร่วมวงนั่นคือ organ,
piano, harmonium และ celesta) ในการเล่นแล้ว ยังใช้นักร้องนำถึงแปดคนรวมทั้งนักร้อง
ประสานเสียงอีกสองวงและวง boy choir อีกหนึ่งวงอีกด้วย ในการแสดงรอบปฐมทัศน์นั้นมีบันทึกว่า
ใช้ผู้เล่นถึงพันกว่าคนเลยทีเดียว (ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการแสดงซิมโฟนีบทนี้จะใช้จำนวนคนน้อยกว่านี้
มากก็ตาม) ก็เลยเป็นที่มาของฉายา Symphony of a Thousand นั่นเอง ทางด้านดนตรีนั้นกล่าว
ได้ว่าเป็นจุดสรุปรวบยอดความสามารถทางดนตรีของ Mahler ที่ผ่านมาทั้งหมดกล่าวคือเป็นการผสม
ผสานเทคนิคการประพันธ์ในยุคหลัง (หมายเลข 5-7) กับท่วงทำนอง + การขับร้องแบบซิมโฟนียุค
แรกๆ ซิมโฟนีบทนี้มีแค่สองท่อนเท่านั้นโดยที่ท่อนที่สองนั้นอาจแบ่งคร่าวๆเป็นท่อนช้า-Scherzo
-ท่อนปิดได้แต่ไม่ชัดเจนนัก ท่อนแรกนั้นร้องเป็นภาษาละตินโดยนำเนื้อร้องมาจาก Veni, creator
spiritus (Come, Creator Spirit) ซึ่งเป็นบทสวดในยุคกลาง ส่วนท่อนที่สองนั้นร้องเป็น
ภาษาเยอรมันโดยนำเนื้อร้องมาจากฉากจบของบทละครเรื่อง Faust โดย Goethe ซึ่งเป็นตอนที่
Faust ได้รับการชำระล้างบาปและได้รับการต้อนรับกลับคืนสู่สวรรค์ ความน่าสนใจอีกอย่างของ
ซิมโฟนีบทนี้นอกจากจำนวนผู้เล่นและตัวดนตรีแล้วก็คือการที่ Mahler สามารถนำเนื้อหาที่อยู่คนละ
ช่วงเวลา คนละภาษากันมารวมกันได้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยที่เนื้อหาโดยรวมนั้นเกี่ยวกับ
ความเป็นผู้สร้างสรรค์ของมวลมนุษยชาติ แม้ว่าดูจากเนื้อร้องคร่าวๆแล้วท่อนแรกจะดูเหมือนว่าเกี่ยว
กับศาสนาแต่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเห็นว่า Creator Spirit นั้นไม่ได้หมายถึงพระเจ้าแต่หมายถึง
จิตวิญญาณแห่งความเป็นผู้สร้างสรรค์ของมนุษยชาติ โดยเฉพาะเมื่อนำมารวมกับเนื้อหาของท่อน
ที่สองซึ่ง Faust นั้นเป็นสัญลักษณ์ของมนุษยชาติที่เสาะแสวงหาคำตอบที่จะไขความลับของธรรม
ชาติซึ่งถึงแม้ว่าบางครั้งจะผิดพลาดและสร้างความวิบัติไปบ้างแต่สุดท้ายมนุษย์ก็ต้องเรียนรู้แก้ไขลบ
ล้างความผิดพลาดและพร้อมที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าต่อไป อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือคอนเส็ปต์ของ
Das Ewig Weibliche (The Eternal Feminine) ของ Goethe ในวรรคสุดท้ายของ
บทร้องที่ว่า “Das Ewig Weibliche, Zieht uns hinan” (The eternal feminine
leads us upward.) ซึ่งอาจตีความได้ว่าจริงๆแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ของมนุษย์นั้นมา
จากสตรีเพศนั่นเอง (Mahler อุทิศซิมโฟนีบทนี้ให้กับ Alma ภรรยาสุดที่รักนั่นเอง)





3. ช่วงท้าย Das Lied von der Erde และซิมโฟนีหมายเลข 9-10

ซิมโฟนีทั้งสามบทในช่วงนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นไตรภาคแห่งการลาโลก เนื่องจากในช่วงนี้ชีวิตของ
Mahler อยู่ในเงาแห่งความตายมาโดยตลอด ซึ่งก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นความตายของตัว Mahler
เองเพราะได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคหัวใจซึ่งอาจทำให้มีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานหรือเป็นความ
ตายของลูกสาวคนโตที่เสียชีวิตตอนอายุเพียงสี่ขวบเท่านั้นกันแน่ แต่ที่แน่ๆคือบรรยากาศแห่งความตาย
ในบทเพลงทั้งสามนั้นแตกต่างอย่างมากมายจากความตายที่ผ่านๆมา เป็นที่รู้กันว่า Mahler นั้นยำ้คิด
กับความตายมาโดยตลอด ความตายในซิมโฟนีในช่วงแรกๆนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นความตายในทาง
ความเชื่อทางศาสนา นั่นคือเป็นความตายที่รู้อยู่แล้วว่าจะมีอะไรตามมา (สวรรค์, ชีวิตหลังความ
ตาย, วันพิพากษา ฯลฯ) ดังนั้นความตายที่สื่อผ่านเสียงเพลงในตอนนั้นจึงดูโฉ่งฉ่างดูรุนแรงและ
น่ากลัว แต่ความตายในตอนนี้เป็นความตายที่ Mahler กำลังประสบอยู่ด้วยตัวเอง เป็นความตายที่
realistic ดังนั้นความตายในช่วงนี้จึงนิ่ง เงียบ และสงบแต่แฝงไปด้วยความหวาดระแวงและความ
กลัวกับความไม่แน่นอนว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากที่คนเราตายไปแล้วชนิดที่ฟังแล้วอาจรู้สึกขนลุกและ
เสียวสันหลังเหมือนกับกำลังถูกสะกดรอยตามด้วยเงาที่มองไม่เห็น แต่นอกจากนั้นแล้วในทางตรงข้าม
ดนตรีในช่วงนี้ยังเป็นไปด้วยความงดงามแห่งชีวิตและโลกอันเนีื่องมาจากความเสียดายที่ตัวเองไม
่สามารถที่จะอยู่ชื่นชมความงดงามของสิ่งเหล่านี้ได้นานนัก เนื้อหาของไตรภาคนี้เป็นลำดับขั้นของการ
เรียนรู้และยอมรับในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเรียงลำดับไปจาก ความงดงามของการมีชีวิตอยู่→ ความน่า
สะพรึงกลัวของความตาย→การเข้าใจและยอมรับในการจากโลกนี้ไปอย่างสงบ







Poppy Field, 1907


Das Lied von der Erde (The Song of the Earth)

ตามลำดับจริงๆแล้วเพลงนี้คือซิมโฟนีหมายเลขเก้า Mahler เขียนกำกับไว้ว่า “a symphony for
alto (or baritone), tenor solos and large orchestra” เนื่องจาก Mahler
เชื่อใน “อาถรรพ์หมายเลขเก้า” นั่นคือคีตกวีในอดีตไม่ว่าจะเป็น Beethoven หรือ Bruckner
ก็ต่างเสียชีวิตหลังจากแต่งซิมโฟนีหมายเลขเก้าทั้งนั้น Mahler ก็เลยแก้เคล็ดโดยการเลี่ยงที่จะใช้ชื่อว่า
เลขเก้าแต่เรียกเป็นชื่ออื่นแทน Song of the Earth นี้ประกอบไปด้วยเพลงร้องหกบทด้วยกัน โดย
ที่เพลงเแรกและเพลงที่สองนั้นเปรียบเสมือนท่อนแรกและท่อนช้าของซิมโฟนีตามลำดับ ส่วนเพลงที่
3-5 นั้นเป็นเพลงสั้นที่เป็นเสมือน Scherzo ก่อนที่จะปิดด้วยเพลงที่หกซึ่งมีความยาวมากกว่าห้า
เพลงแรกรวมกันเสียอีก อีกจุดเด่นของเพลงร้องชุดนี้คือทางด้านเนื้อร้องนั้น Mahler นำมาบทกวี
ของจีนทีถูกนำมาแปลเป็นภาษาเยอรมัน (แปลจากภาษาฝรั่งเศสอีกที) ในชื่อชุด Die Chinesische
Flöte ("The Chinese Flute") โดยที่บทกวีที่ Mahler เลือกนำมาใช้นั้นแต่งโดย หลี่ไป๋,
หวังเหวย, เมิ่งเฮ่าหราน และจางจวี้ ซึ่งเป็นล้วนแล้วแต่เป็นกวีเอกจากสมัยราชวงศ์ถัง เนื้อหาโดยรวมๆ
นั้นเป็นการพรรณาถึงความสวยงามของพื้นพิภพและการร่ำลาประมาณ “ร่ำสุราก่อนลาจาก” ซึ่งตรง
กับสิ่งที่ Mahler กำลังจะสื่อนั่นคือชีวิตคนเรานั้นสั้นนักแต่ความงามของโลกและธรรมชาตินั้นคงอยู่
ตราบชั่วฟ้าดินสลาย คงไม่มีอะไรที่สามารถสรุปบทเพลงแห่งพื้นพิภพชุดนี้ชัดเจนไปกว่าบทร้องช่วง
สุดท้ายที่ Mahler แต่งเองเติมลงไปปิดท้ายที่ว่า:

“Die liebe Erde allüberall
Blüht auf im Lenz und grünt
Aufs neu! Allüberall und ewig
Blauen licht die Fernen!
Ewig... ewig...”

“The dear earth everywhere
Blossoms in spring and grow green again!
Everywhere and forever the distance shines bright and blue!
Forever..forever…”






Death and Life, 1916


Symphony No.9 in D major

ซิมโฟนีบทนี้เป็นซิมโฟนีที่หม่นและเศร้าที่สุดของ Mahler บรรกาศโดยรวมนั้นมืดหม่นมาก (ถึง
ขนาดที่คนฟังหลายๆคนไม่สามารถฟังจนจบได้เพราะมันทำให้ซึมเศร้ามากเกิน) ในความเห็นส่วนตัว
แล้วผมว่าเศร้าพอๆกับซิมโฟนีหมายเลขหกของ Tchaikovsky และซิมโฟนีหมายเลขสองของ
Rachmaninov เลยทีเดียว ซิมโฟนีบทนี้มีรูปแบบที่ผิดไปจากซิมโฟนีบทอื่นๆของ Mahler ตรงที่
ท่อนเปิดและท่อนปิดเป็นท่อนช้า ส่วนท่อนกลางเป็น Scherzo ทั้งสองท่อนซึ่งรูปแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่อง
ใหม่อะไรเพราะซิมโฟนีหมายเลขหกของ Tchaikovsky ก็มีรูปแบบคล้ายๆกันนี้ ทางด้านการ
ประพันธ์แล้วถือว่า Mahler อยู่ในขั้นบรรลุไปแล้ว ท่อนที่หนึ่งนั้นถือเป็นหนึ่งใน symphonic
movement ที่ดีที่สุดที่มีการแต่งกันมาเลยทีเดียว เป็นที่น่าสนใจมากว่าบางช่วงถึงขนาดมีกลิ่นอาย
atonality แบบของ Schoenberg ท่อนที่หนึ่งนั้นรับช่วงต่อมาจากเพลงสุดท้ายของ Das Lied
von der Erde ทั้ง motif และบรรยากาศ โดยรวมๆนั้นท่อนแรกมีบรรยากาศที่งดงามที่แสดงถึง
ความงดงามของการมีชีวิตแต่ก็แฝงไปด้วยความเศร้าสร้อยเหมือนกับชีวิตที่อยู่ใต้เงามัจจุราชโดยที่เงา
แห่งความตายนั้นกำลังคืบคลานเข้าไปมาเรื่อยๆ ท่อนที่สองเปรียบเสมือน “Dance of Life”
ที่แสดงถึงความสับสนวุ่นวาย ความกระเสือกกระสนในการดำรงชีวิตทีี่ในที่ในที่สุดไม่ว่าเราจะดิ้นรน
เพียงไรสุดท้ายทุกคนก็ยังต้องตายเหมือนกัน ท่อนที่สามนั้นแสดงถึงการไม่ยอมรับ การดิ้นรนที่จะหนี
ความตายให้ได้ก่อนที่จะเรียนรู้ว่ายังไงก็หนีไม่พ้น และท่อนสุดท้ายนั้นคือการบรรลุและเข้าใจใน
สัจธรรมของชีวิต และพร้อมที่จะต้อนรับความตายโดยสงบ

*ทั้ง Das Lied vod der Erde และซิมโฟนีหมายเลขเก้านั้น Mahler ไม่มีโอกาสได้ฟังบท
เพลงดังกล่าวของตัวเองเพราะ Mahler เสียชีวิตไปก่อนที่จะมีการนำออกแสดง ซิมโฟนีทั้งสองบทนั้น
ได้ถูกนำออกแสดงรอบปฐมทัศน์โดย Bruno Walter ภายหลังจากที่ Mahler เสียชีวิตไปแล้ว
ตามปกตินั้นซิมโฟนีของ Mahler มักจะถูกแก้ไขอยู่หลายครั้งหลังจากที่ได้นำออกแสดงแล้ว จึงเป็นที่
น่าสนใจว่าถ้า Mahler ยังไม่ตายไปเสียก่อน เวอร์ชั่นสุดท้ายของทั้ง Das Lied และซิมโฟนีหมาย
เลขเก้าอาจจะแตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคยกันอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นได้






The Virgin, 1913


Symphony No.10 (unfinished)

ซิมโฟนีหมายเลขสิบนั้นเป็นบทที่ Mahler ยังแต่งไม่จบก็เสียชีวิตไปเสียก่อน จริงแล้วๆ Mahler
แต่งเป็น short score (เหมือนโน๊ตเปียโน four hands) ไว้ทั้งเพลงแล้วโดยที่ได้
orchestration ส่วนมากของท่อนที่หนึ่งและบางส่วนของท่อนที่สองและสาม ท่อน adagio
ที่เป็นท่อนที่หนึ่งนั้นเป็นท่อนที่สมบรูณ์ที่สุดและเป็นที่นิยมเล่นกันมากที่สุด ส่วนท่อนที่เหลือนั้นมีนัก
ดนตรีวิทยาและวาทยากรพยายามอยู่หลายท่านที่จะ orchestrate ท่อนที่เหลือให้เป็นซิมโฟนีที่
สมบรูณ์ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าไม่มีใครในโลกนี้ที่สามารถทำให้มันสมบรูณ์ได้นอกจากตัว Mahler
เอง ซิมโฟนีเวอร์ชั่นเหล่านี้จึงเรียกกันแค่ว่าเป็น performing version เท่านั้น วาทยากรที่มี
ชื่อเสียงหลายๆคนอย่างเช่น Bruno Walter หรือ Leonard Bernstein นั้นปฏิเสธที่จะเล่น
performing version เหล่านี้ ในปัจจุบันนี้ก็มี performing version กันออกมาอยู่ 5-6
เวอร์ชั่นซึ่งต่างก็มี recording ให้ฟังกันพอสมควร แต่ละเวอร์ชั่นนั้นก็เล่นต่างกันออกไป บางช่วง
ถึงกับเหมือนจะเล่นกันคนละเรื่องเลย อย่างไรก็ดี performing version เหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่
ไอเดียว่าซิมโฟนีหมายเลขสิบที่สมบรูณ์นั้นอาจจะมีหน้าตาประมาณไหน แต่เวลาฟังก็อย่าลืมที่ฟังอยู่
นี่ไม่ใช่ Mahler แท้ๆนะ ซิมโฟนีบทนี้มีอยู่ทั้งหมดห้าท่อนด้วยกัน รูปแบบนั้นคล้ายๆซิมโฟนีหมาย
เลขเก้านั่นคือ ท่อนเปิดและท่อนปิดเป็นท่อนช้า ท่อนที่สองและสี่เป็น Scherzo ส่วนท่อนกลาง
ท่อนที่สามนั้นเรียกว่า Purgatorio ซึ่งเป็นท่อนเร็วคล้ายๆจะเป็น Scherzo แต่สั้นมากประมาณ
3-4 นาทีซึ่งถือเป็น symphonic movement ที่สั้นที่สุดของ Mahler ซิมโฟนีหมายเลขสิบนี้
ท่อนแรกก็เรียกว่ารับช่วงต่อมาจากท่อนสุดท้ายของซิมโฟนีหมายเลขเก้าอีกเช่นกัน บรรยากาศโดย
รวมมีความสงบและงดงามถึงแม้ว่าจะเจือไปด้วยเศร้าและความหวาดระแวง จุดที่น่าสนใจอีกจุดคือปลาย
ท่อนที่สี่ซึ่งมีการหวดกลองคล้ายๆ Hammer Blow ในซิมโฟนีหมายเลขหก (และก็แน่นอนว่าแต่ละ
performing version ก็เขียนให้ความหนักเบาและชนิดของกลองที่ใช้ในการหวดแตกต่างกันออก
ไป) ก่อนที่จะเชื่อมไปยังท่อนสุดท้ายซึ่งมีความงดงามมาก ถึงแม้ว่าจะมีบางช่วงที่ฟังดูมืดหรือเหมือน
ดิ้นรนอยู่บ้างแต่สุดท้ายดนตรีก็คลี่คลายออกไปสู่ท่วงทำนองที่งดงามและจบอย่างสงบสุข เนื่องจาก
ซิมโฟนีบทนี้เต็มไปด้วยความมีชีวิตและมีกลิ่นอายความตายค่อนข้างน้อย จึงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนถึง
ปัจจุบันว่าจริงๆซิมโฟนีบทนี้มีความหมายอย่างไรกันแน่ ผู้รู้บางท่านบ้างก็ว่าซิมโฟนีบทนี้เหมือนคนที่
บรรลุสัจธรรมแล้วว่าคนเรายังไงก็หนีความตายไม่พ้นแล้วจะดิ้นรนจะมีความทุกข์กันไปไย บางท่านก็
ว่าเหตุที่ซิมโฟนีบทนี้เต็มไปด้วยความมีชีวิตนั่นก็เพราะ Mahler มีความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปและ
เริ่มต้นชีวิตใหม่กับภรรยาที่รัก (ภายหลังจากที่ปัญหาชีวิตคู่ของ Mahler ได้รับการคลี่คลายแล้ว)
แต่ที่แน่ๆท่อนสุดท้ายนี้เต็มไปด้วยชีวิตและความรักของ Mahler ที่มีต่อ Alma ภรรยาสุดที่รัก
(หน้าสุดท้ายของ score นั้น Mahler เขียนกำกับไว้ว่า für dich leben! für dich
sterben!" (To live for you! To die for you!) พร้อมกับเขียนชื่อเล่นของ Alma
"Almschi!" อยู่ใต้ ธีมสุดท้าย)




สรุป: ถ้าจะสรุปคำจัดความสั้นๆของซิมโฟนีแต่ละบทในความรู้สึกของผมเองก็จะได้ประมาณนี้


  • Symphony no. 1 – A life and a struggle of a hero.
  • Symphony no. 2 – Death and Resurrection of a hero.
  • Symphony no. 3 – The origin and development of life.
  • Symphony no. 4 – Life after death in the eyes of the innocents.
  • Symphony no. 5 – The victory of love over despair.
  • Symphony no. 6 – The catastrophe of fate.
  • Symphony no. 7 – The mystery of the night.
  • Symphony no. 8 – A cerebration of mankind’s creativity.
  • Das Lied von der Erde – The beauty of the earth is eternal, but you, how long do you live?
  • Symphony no. 9 – In the shadow of death.
  • Symphony no. 10 – The acceptance and transfiguration.

Enjoy Listening!




เอกสารอ้างอิง


  • Deryck Cooke: Gustav Mahler An Introduction to His Music.
  • Constantin Floros: Gustav Mahler The Symphonies.
  • David Hurwitz: The Mahler Symphonies An Owner’s Manual.
  • Henry-Louis de La Grange: Andante Profile
  • Wikipedia: Mahler




 

Create Date : 30 มีนาคม 2551    
Last Update : 19 มิถุนายน 2552 0:04:28 น.
Counter : 3253 Pageviews.  

Happy Halloween

Jinx

สวัสดีครับ Happy Halloween ด้วยการเอารูปแมวยักษ์กินคนมาฝาก




 

Create Date : 30 ตุลาคม 2550    
Last Update : 30 ตุลาคม 2550 3:04:17 น.
Counter : 487 Pageviews.  

ใครคือ Mahler



Gustav Mahler เป็นคีตกวีชาวออสเตรียผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1860-1911และเป็นผู้ขยายขอบเขตของ symphony ไปสู่จุดสูงสุด ในช่วงต้นของชีวิตนั้น Mahler มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างฝ่าย Brahms และ Wagner ที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในเวียนนาในสมัยนั้น Mahler ก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดของชีวิตด้วยการเป็น Music Director ของ Vienna Opera และวาทยากรของ Vienna Philharmonic ซึ่งทำให้ Mahler มีงานรัดตัวจนต้องอาศัยเวลาพักร้อนเท่านั้นในการประพันธ์ ตลอดช่วงชีวิตไม่ค่อยยาวนัก Mahler ประพันธ์เพลงอยู่สองประเภทเท่านั้น (ไม่รวมเพลงฝึกหัดที่แต่งตอนเรียนในวิทยาลัย) นั่นคือเพลงร้อง (lieder) จำนวนหนึ่งและซิมโฟนีที่เสร็จสมบรูณ์เก้าบท (หรือสิบบทถ้านับ Das Lied von der Erde ซึ่งเป็นเพลงร้องขนาดใหญ่เข้าไปด้วย) ซึ่งต่างก็มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก และนอกจากจะใช้วง orchestra ขนาดใหญ่แล้วยังมีความยาวเกินปกติ ถึงแม้ว่างานของ Mahler จะไม่ค่อยได้รับความนิยมในสมัยนั้นเท่าใดนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคีตกวีรุ่นเดียวกันอย่าง Richard Strauss อย่างไรก็ตาม Mahler ก็มีอิทธิพลต่อคีตกวีในยุคหลังๆ ไม่ใช่น้อย อย่างเช่น ระดับสาวกอย่าง Zemlinsky และ Scheonberg, ห่างออกมาหน่อยอย่าง Berg และ Webern หรือแม้กระทั่งคีตกวีในยุดศตวรรษที่ 20 อย่าง Britten, Shostakovich หรือ Lucio Berrio

Gustav Mahler เกิดเมื่อปีค.ศ. 1860 ที่เมือง Kaliště ในแคว้นโบฮีเมียซึ่งปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเช็ค โดยที่มีบิดาเป็นชาวยิวเจ้าของโรงกลั่นเหล้าเล็กๆ ส่วนมารดาเป็นแม่บ้านไม่มีปากมีเสียง Mahler เป็นบุตรคนที่สองจากพี่น้องสิบสองคนซึ่งหกคนจากสิบสองคนนี้เสียชีวิตตั้งแต่ในวัยเด็ก ด้วยเหตุนี้อาจเป็นสาเหตุให้ Mahler ย้ำคิดเกี่ยวกับความตายมาก หลังจาก Mahler เกิดไม่นาน ครอบครัวของ Mahler ก็ย้ายไปยังเมือง Jihlava ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในจักรวรรดิออสโตร-ฮังการี เช่นเดียวกับคีตกวีท่านอื่นๆ Mahlerมีพรสวรรค์ทางดนตรีตั้งแต่ยังเล็ก บิดาของ Mahler นั้นเแม้จะเป็นคนที่ชอบทุบตีภรรยาเป็นประจำแต่ก็ยังส่งเสริมให้ Mahler มีโอกาสได้เรียนดนตรี เมื่ออายุสิบขวบ Mahler ก็ได้เล่นเปียโนออกคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรก และเมื่ออายุได้สิบห้าปีก็ได้รับเข้าเรียนใน Vienna Conservatory ซึ่งเป็นสถาบันดนตรีอันดับหนึ่งในเวียนนา และเป็นที่ที่คีตกวีอย่าง Johannes Brahms หรือ Anton Bruckner สอนอยู่

Mahler เมื่ออายุ 18 ปี


ชีวิตใน Vienna Conservatory โดยส่วนใหญ่เป็นไปอย่างค่อนข้างราบรื่น Mahler เป็นเพื่อนร่วมห้องในหอพักกับ Hugo Wolf หนึ่งในสุดยอดคีตกวีทางด้านเพลงร้อง (lieder) ผู้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า Mahler เป็นลูกศิษย์ของ Bruckner แต่จริงๆ แล้ว Mahler เคยเข้าฟังเลคเชอร์ของ Bruckner อยู่ไม่กี่ครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม Mahler ก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน Bruckner ตัวเอ้คนหนึ่งในขณะนั้น ระหว่างที่อยู่ใน Vienna Conservatory นั้น Mahler ได้แต่ง cantata เรื่อง Das klagende Lied ซึ่ง Mahler ถือเป็นผลงาน opus 1 โดยดัดแปลงเนื้อเรื่องจากนิทานของพี่น้องกริม Mahler ได้ส่งผลงานชิ้นนี้เข้าประกวด Beethoven Competition แต่ก็พลาดหวัง ไม่ได้รางวัลติดมือกลับมา Das klagende Lied นี้เป็นเรื่องราวของชายผู้ซึ่งถูกฆาตรกรรมโดยพี่ชายของตนเองเพื่อแย่งเจ้าหญิงและตำแหน่งกษัตริย์ ภายหลังมีวณิพกมาขุดซากกระดูกของเขาขึ้นมาเพื่อทำเป็นขลุ่ยซึ่งเมื่อเป่าแล้วจะเป็นบทเพลงที่เล่าเรื่องราวของตนเองที่ถูกฆาตรกรรม จะเห็นว่าในขณะนั้น Mahler มีอายุได้ยี่สิบปีเท่านั้นแต่ก็คิดเรื่องความตายอยู่เต็มหัวไปหมด


Mahler ในปี ค.ศ.1892 เมื่ออายุ 32 ปี


ภายหลังจากจบการศึกษาจาก Vienna Conservatory แล้ว ด้วยสถานการทางการเงินบังคับทำให้ Mahler ต้องเลือกดำรงชีวิตด้วยการเป็นวาทยากรแทนที่จะเป็นนักประพันธ์เพลงถึงแม้ว่า Mahler จะจบทางด้านการประพันธ์เพลงมาก็ตามซึ่ง Mahler ก็ได้ยึดอาชีพวาทยารไปจนตลอดชีวิต Mahler ทำงานเป็นวาทยากรเก็บเกี่ยวประสบการณ์และชื่อเสียงตามเมืองต่างๆ อย่างเช่น Prague, Leipzig, Budapest, Hamburg ได้ร่วมงานกับวาทยากรมีชื่ออาทิเช่น Hans von Bülow และ Arthur Nikisch นอกจากนั้นแล้วยังได้รู้จักกับ Bruno Walter ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นวาทยากรหนุ่มไฟแรงผู้เป็นผู้อำนวยเพลงวงประสานเสียงที่ Hamburg Opera ซึ่ง Mahler เป็นวาทยากรประจำอยู่ และ Richard Strauss คีตกวีและวาทยากรหนุ่มดาวรุ่งซึ่งต่อมากลายเป็นเพื่อนและคู่แข่งตลอดชีวิตของ Mahler จนกระทั่งปีค.ศ.1897 Mahler ก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการที่ Vienna State Opera (และวาทยากรประจำ Vienna Philharmonic) ซึ่งถือกันว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดในยุโรปเท่าที่วาทยากรจะพึงเป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามตำแหน่งวาทยากรประจำ Vienna State Opera นี้ได้มาไม่ง่ายนักเนื่องจาก Mahler เป็นยิว และในขณะนั้นกระแสต่อต้านชาวยิว (anti-Semitism) ในเวียนนากำลังครุกรุ่น การที่จะรับ Mahler ซึ่งเป็นชาวยิวมารับตำแหน่งผู้อำนวยการ Vienna State Opera ผู้ทรงเกียรตินั้นมีเสียงต่อต้านมากมาย บางตำราว่าผู้ที่มีอิทธิพลในการคัดค้านมากที่สุดคือ Cosima Wagner ผู้เป็นภรรยาหม้ายของ Richard Wagner ซึ่งว่ากันว่าเกลียดชังชาวยิวมากกว่า Wagner ผู้เป็นสามีเสียอีก จนกระทั่ง Mahler ยอมที่จะเปลี่ยนศาสนาจากยิวมากเป็นคริสเตียนเพื่อที่จะรับตำแหน่งนี้โดยเฉพาะ กระแสต่อต้านจึงค่อยเบาบางลงจน Mahler ได้ตำแหน่งในที่สุด ในภาพยนตร์ชีวประวัติแนวเหนือจริงเรื่อง Mahler โดย Ken Russel นั้นมีฉากหลุดโลกที่เกี่ยวกับ Mahler และ Cosima กับการเปลี่ยนศาสนาของ Mahler อยู่ซึ่งนำเสนอออกมาอย่างน่าสนใจมาก


Mahler ในปี ค.ศ.1898 เมื่ออายุ 38 ปี หลังจากรับตำแหน่งผู้อำนวยการประจำ Vienna State Opera ใหม่ๆ


ช่วงที่ Mahler ทำงานอยู่ในเวียนนานั้นนับเป็นช่วงปีทองของ Mahler ก็ว่าได้ ด้วยหน้าที่การงานทำให้ Mahler นั้นเป็นศูนย์กลางของเหล่าศิลปินหลากหลายสาขาในเวียนนา Mahler ได้มีโอกาสรู้จักกับศิลปินมีชื่อมากมายอย่างเช่น Gustav Klimt และ Alfred Roller ซึ่งต่อมาได้มาเป็นผู้ออกแบบฉากอุปรากรให้ Mahler และที่สำคัญที่สุดทำให้ Mahler มีโอกาสได้รู้จักกับ Alma Maria Schindler สาวสังคมผู้ทรงเสน่ห์ Mahler ได้ประพันธ์ Adagietto จากซิมโฟนีหมายเลขห้าให้เป็นจดหมายรักสำหรับเธอ ทั้งสองได้แต่งงานกันในปี ค.ศ. 1902 เมื่อ Mahler อายุได้ 42 ปีในขณะที่ Alma นั้นอายุได้เพียง 23 ปีเท่านั้น


Alma Maria Schindler เมื่ออายุได้ 18 ปี


Alma Mahler (1879-1964) ผู้เป็นภรรยาของ Mahler นั้นอาจมีประวัติที่น่าสนใจกว่า Mahler เสียอีก Alma นั้นเติบโตขึ้นมาในครอบครัวศิลปินโดยที่พ่อเลี้ยงของเธอนั้นคือ Carl Moll จิตรกรนามกระเดื่องในยุคนั้น Alma นั้นได้รับการศึกษาเพียบพร้อมโดยเฉพาะทางด้านดนตรีซึ่งเธอมีพรสวรรค์ และมีความสามารถในการประพันธ์เพลงร้องไว้จำนวนหนึ่ง โดยที่เธอนั้นมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นคีตกวีในอนาคต นอกจากนั้นแล้ว Alma ยังมีรูปโฉมงดงามขนาดได้รับฉายาว่าสุภาพสตรีที่งามที่สุดในเวียนนาอีกด้วย ด้วยรูปสมบัติและความสามารถเพียบพร้อมเช่นนี้ทำให้มีหนุ่มๆ มากหน้าหลายตา ซึ่งต่างก็เป็นผู้มีชื่อเสียงต่อคิวกันยาวเหยียดเพื่อขอออกเดทด้วย อย่างไรก็ตาม Alma ก็ได้ตกลงปลงใจแต่งงานกับ Mahler
แต่ Mahler มีข้อแม้อย่างหนึ่งก็คือขอให้ Alma เลิกประพันธ์เพลงโดยให้เหตุผลว่ามีคีตกวีคนเดียวในบ้านก็พอแล้ว ซึ่งทำให้ Alma เสียใจมากแต่ก็ยอมตัดใจละทิ้งความฝันที่จะเป็นคีตกวียอมแต่งงานกับ Mahler และทำหน้าที่เป็นแม่บ้านให้ Mahler รวมทั้งตัดขาดชีวิตสาวสังคมเกือบจะสิ้นเชิง ตลอดช่วงเวลาที่ Alma อยู่กับ Mahler นั้น Alma ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการประพันธ์เพลงให้ Mahler โดยทำหน้าที่ตรวจทานและคัดลอกต้นฉบับของ Mahler และยังเป็นผู้ที่อยู่เป็นเบื้องหลังในการเสนอข้อคิดเห็นต่อผลงานต่างๆ ของ Mahler (มีเรื่องเล่าว่าซิมโฟนีหมายเลขห้าแต่เดิมนั้นมีการใช้เครื่องประกอบจังหวะอย่างมโหฬาร แต่ Alma แนะนำว่ามันเยอะไป จึงได้กลายเป็นเวอร์ชั่นที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน) และที่สำคัญที่สุดเป็นแรงบันดาลใจให้ Mahler สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ Alma มีบุตรสาวกับ Mahler สองคนคือ Maria Anna ผู้ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่ในวัยเด็กและ Anna ซึ่งต่อมาได้เป็นประติมากร ภายหลังจากที่ Mahler เสียชีวิตไปแล้วนั้น Alma แต่งงานใหม่ถึงสองครั้งซึ่งสามีทั้งสองคนของ Alma นั้นต่างก็เป็นศิลปินอันดับต้นๆ ของยุโรปซึ่งได้แก่ Walter Gropius สถาปนิก และ Franz Werfel นักประพันธ์ เมื่อ Manon Gropius บุตรสาวของ Walter Gropius และ Alma เสียชีวิตด้วยโรคโปลิโอเมื่ออายุได้ 16 ปีนั้น Alban Berg ได้ประพันธ์ Violin Concerto “To the Memory of an Angel” เป็นอณุสรณ์สำหรับเธอ นอกจากนั้น Alma ยังมีความสัมพันธ์นอกสมรสกับ Oskar Kokoschka ศิลปินแนว
expressionism อีกด้วย ในปัจจุบันมีภาพยนตร์ชีวประวัติของ Alma เรื่อง Bride of the Wind ถ้าสนใจลองหาชมกันดูได้ครับ

กระท่อมริมทะเลสาบ Wörthersee ที่ Mahler ใช้เป็นที่ประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลขสี่ถึงแปด, Rückerlieder และ Kindertotenlieder

กลับมาเรื่อง Mahler กันต่อในช่วงที่ Mahler ทำงานอยู่ที่เวียนนานี้ Mahler มีวงจรชีวิตโดยใช้เวลาส่วนใหญ่ของปีในการอำนวยเพลงและใช้เวลาช่วงพักฤดูร้อนในการประพันธ์เพลง Mahler มีกระท่อมริมทะเลสาบซึ่งเขาจะพาครอบครัวมาพักผ่อนในช่วงพักฤดูร้อนและประพันธ์เพลงในกระท่อมหลังนี้ Mahler นำผลงานของตัวเองออกแสดงเป็นระยะๆ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ชาวเวียนนาดูเหมือนจะยอมรับ Mahler ในฐานะวาทยากรเท่านั้น ในระหว่างที่ Mahler เป็นผู้อำนวยการอยู่ที่ Vienna State Opera นั้น Mahler ได้ยกระดับมาตรฐานของการแสดงอุปรากรขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เนื่องจาก Mahler นั้นเป็น perfectionist การแสดงอุปรากรแต่ละครั้งนั้นต้องสมบรูณ์แบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านดนตรีต้องออกมาเนี๊ยบจนเป็นที่ชื่นชมของผู้ฟังเป็นอย่างมาก แต่ทางด้านนักดนตรีนั้นไม่ได้สนุกด้วยเพราะ Mahler นั้นเจ้าระเบียบและเคร่งครัดในการฝึกซ้อมมาก ซึ่ง Mahler พร้อมจะซ้อมแบบไม่รู้จักจบจนเป็นที่พอใจของตัวเองซึ่งทำให้นักดนตรีในวงไม่ค่อยพอใจในตัว Mahler เท่าไหร่ เนีื่องจากการที่เป็นคนที่แข็งและไม่ยอมอ่อนข้อให้คนอื่น ทำให้ Mahler สร้างศัตรูไว้เยอะบวกกับกระแสต่อต้านชาวยิวในเวียนนาทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด Mahler ก็ถูกบีบให้ลาออกในปี ค.ศ. 1907 ซ้ำร้ายไปกว่านั้นปี ค.ศ. 1907 นับเป็นปีแห่งโศกนาฏกรรมของ Mahler โดยแท้เพราะนอกจากจะต้องลาออกจากงานที่เขารักเท่านั้น Mahler ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่่วซึ่งในสมัยนั้นเป็นโรคที่ค่อนข้างร้ายแรง คนที่เป็นจะมีอายุไม่ยืนยาวนักเนื่องจากมักจะเสียชีิวิตจากโรคติดเชื้อแทรกซ้อน เท่านั้นยังไม่พอบุตรสาวคนโตของ Mahler ก็มาเสียชีวิตลงด้วยเมื่ออายุได้ห้าขวบเท่านั้นซึ่ง Mahler ก็ไม่สามารถสลัดความเศร้าสลดนี้ออกไปได้เลยจนวันตาย

Mahler ในห้องทำงานที่ Vienna State Opera ในปีค.ศ. 1907

หลังจากออกจากงานที่ Vienna Mahler ก็ได้รับข้อเสนอให้มาอำนวยเพลงที่ Metropolitan Opera ในมหานครนิวยอร์กด้้วยค่าจ้างสูงลิบ Mahler เริ่มประพันธ์ Das Lied von der Erde (The Song of the Earth) ซึ่งเป็นเพลงร้องขนาดใหญ่โดยนำเนื้อเพลงมาจากบทกวีจีนโบราณของหลี่ไป๋และกวีจีนท่านอื่นๆ จริงๆ แล้วสามารถที่จะเรียก Das Lied von der Erde นี้ได้ว่าเป็นซิมโฟนีหมายเลขเก้า แต่ Mahler ถือเคล็ดว่าไม่ว่าจะเป็น Beethoven หรือ Bruckner ต่างก็เสียชีวิตในขณะที่แต่งซิมโฟนีได้ไม่เกินหมายเลขเก้า Mahler จึงจงใจเรียกเป็นอย่างอื่นไปซะเพื่อที่จะได้ข้ามหมายเลขเก้าไปก่อน ต่อมาในปี ค.ศ.1910 Mahler จับได้ว่า Alma มีความสัมพันธ์ลับๆ กับ Walter Gropius สถาปนิกหนุ่มอนาคตไกล ทำให้ Mahler กลุ้มใจมากถึงกับต้องไปขอคำปรึกษาจาก Sigmund Freud เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์อันโด่งดัง แต่อย่างไรก็ตาม Alma ก็เลือกที่จะอยู่กับ Mahler ต่อ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ Mahler ตระหนักว่าตัวเองทอดทิ้งภรรยามากเกินไป Mahler จึงหันมาเอาใจใส่ภรรยามากขึ้นและเริ่มส่งเสริมให้ Alma กลับมาประพันธ์เพลงใหม่ สถานการณ์ต่างๆ ดูเหมือนจะดีขึ้น Mahler นำซิมโฟนีหมายเลขแปด ออกแสดงในปีเดียวกันที่เมืองมิวนิคและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ซิมโฟนีหมายเลขแปดนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Symphony of a Thousand เนื่องจากใช้นักดนตรีและนักร้องร่วมหนีึ่งพันคนในการบรรเลง นี่เป็นสัญญาณที่ดีว่าผู้คนเริ่มที่จะยอมรับ Mahler ในฐานะคีตกวีแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดูเหมือนจะดีขึ้นก็มาพังทลายลงเมื่อ Mahler ติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ (infectious endocarditis) และล้มป่วยลงจนเสียชีวิตในปีต่อมาเมื่ออายุได้ 50 ปีเท่านั้น ระหว่างที่ยังประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลขสิบค้างอยู่

รูปถ่ายสุดท้ายของ Mahler ในเดือนเมษายนปีค.ศ. 1911 บนเรือโดยสารจากอเมริกากลับสู่ยุโรป

ภายหลังจากที่ Mahler เสียชีวิตลง Bruno Walter ได้นำผลงานสองชิ้นสุดท้ายของ Mahler ออกแสดงนั่นคือ Das Lied von der Erde (The Song of the Earth) และซิมโฟนีหมายเลขเก้า หลังจากนั้นผลงานของ Mahler ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนโดยที่คนส่วนใหญ่นั้นจดจำ Mahler ได้ในฐานะวาทยากรเอกเท่านั้น ซึ่งแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับกรณีของ Richard Strauss ที่แทบจะกลายเป็นคีตกวีแห่งชาติไปแล้ว จะมีก็แต่วาทยากรอย่าง Willem Mengelberg, Bruno Walter หรือ Otto Klemperer เท่านั้นที่ยังพยายามนำผลงานของ Mahler ออกแสดงเป็นระยะๆ จนในช่วงนาซีครองเมือง งานของ Mahler ก็โดนแบนสนิทเนื่องจาก Mahler เป็นยิว ภายหลังสงครามงานของ Mahlerค่อยๆ เริ่มได้รับความนิยมฟังและบันทึกเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปี 50 จนกระทั่งมาบูมในช่วงปี 60 และกลายเป็นหนึ่งในคีตกวียอดนิยมในปัุจจุบัน นอกจากนั้นแล้วในปี ค.ศ. 1971 Luchino Visconti ผู้กำกับรุ่นเก๋าชาวอิตาลี ได้นำ Adagietto จากซิมโฟนีหมายเลขห้าของ Mahler มาประกอบภาพยนตร์เรื่อง Death in Venice ซึ่งนำให้บทเพลงนี้แพร่กระจายไปในวงกว้างและกลายเป็นหนึ่งในเพลงคลาสสิคยอดนิยมซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Theme from Death in Venice (คล้ายๆ กับกรณีที่คนเรียก Piano Concerto no. 21 ของ Mozart ว่า Elvira Magigan นั่นแหละครับ) ถ้าใครสนใจอยากฟัง adagietto บทนี้ในเวอร์ชั่นเดี่ยวเปียโนสามารถ download ได้ที่นี่




Some memorable quotes

No use looking up there (at the mountains surrounding Steinbach-am-Attersee). That's all been composed by me!

There are no fortissimi in my fourth symphony.

Imagine that the Universe bursts into song. We hear no longer human voices, but those of planets and suns which revolve.

Almschi, to live for you! To die for you! (Almschi คือ Alma Mahler)

A symphony must be like the world. It must embrace everything.

I am thrice homeless: as a native of Bohemia in Austria, as an Austrian among Germans, and as a Jew throughout the world. Everywhere an intruder, never welcomed.

My time is yet to come.




 

Create Date : 27 กันยายน 2548    
Last Update : 21 มิถุนายน 2552 0:58:28 น.
Counter : 1323 Pageviews.  

ยินดีต้อนรับ





สวัสดีครับ blog นี้สร้างขึ้นสำหรับผู้ที่รักดนตรีคลาสสิคทุกท่าน โดยเฉพาะผู้ที่สนใจในผลงานของ Gustav Mahler (1860-1911) คีตกวีชาวออสเตรียในยุคโรแมนติคตอนปลาย (late romantic) ที่มาที่ไปที่ทำให้ทำ blog นี้ขึ้นมาก็เนื่องมาจากตัวผมเองฟังเพลงคลาสสิคมาได้ประมาณสิบกว่าปีแล้ว ฟังแบบจริงจังบ้าง แบบผ่านๆ บ้าง ตามแต่เวลาจะเอื้ออำนวยจนกระทั่งวันหนึ่ง
เกิดมีความคิดขึ้นมาว่าเราน่าจะศึกษางานของคีตกวีบางท่านให้มันรู้แล้วรู้รอด
โดยส่วนตัวแล้วชอบงานในสมัยโรแมนติคตอนปลายอย่างของ Gustav Mahler และ Richard Strauss มาก แต่เนื่องจากสมัยก่อนผมฟังงานของ R. Strauss ค่อนข้างเยอะแต่ไม่ค่อยได้ฟังของ Mahler เท่าไหร่เนื่องจากใน
ความคิดเห็นของผมแล้วค่อนข้างฟังยากกว่าเล็กน้อย ก็เลยตัดสินใจว่าควรจะ
เริ่มศึกษาและเก็บ recording ของ Mahler อย่างจริงๆ จังๆ หลังจากหาข้อมูล
จาก internet มาได้เยอะพอสมควรก็เกิดมีความคิดว่าจะเก็บไว้อ่านคนเดียวก็
กระไรอยู่ น่าจะเอามาลงใน web page ให้คนอื่นได้อ่านด้วยดีกว่า ก็เลยเป็น blog ที่กำลังอ่านกันอยู่นี้ ขอออกตัวก่อนนะครับว่าไม่ใช่นักดนตรีหรือคนที่
เรียนทฤษฎีดนตรีมา (เคยเรียนเปียโนยามาฮ่าตอนเด็กๆ ก็องแก็งไปเรื่อย กับเคยเรียนวิชาดนตรีตอนมัธยมแค่นั้น) เป็นเพียงแค่ผู้ฟังคนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่อยู่ใน blog นี้คงไม่ใช่วิชาการอะไรมาก เป็นเพียงการเล่าสู่กันฟังซะมาก
กว่า ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขออภัยด้วยนะครับ และถ้าเจออะไรผิดพลาดหรืออยาก
ให้แก้ไขเพิ่มเติมอะไรก็แจ้งมาได้นะครับ




 

Create Date : 27 กันยายน 2548    
Last Update : 17 มกราคม 2549 15:25:36 น.
Counter : 466 Pageviews.  


<โหน่ง>
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Hello, I'm William Shatner and I'm a shaman.
Friends' blogs
[Add <โหน่ง>'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.