Little drops of water, Little grains of sand Make the mighty Ocean, and the pleasant land. Little deeds of kindness, Little words of love Help to make Earth Happy, Like the Heven above.
Group Blog
 
All Blogs
 
Heifetz As I Knew Him (7) :ผลงานเพลง Transcription และงานอดิเรกอื่นๆของ Heifetz

บ้านของHeifetz ตั้งอยู่บนเนินเขา ซึ่งเขาเคยเล่าว่าในอดีตมีเีพียงบ้านของเขาหลังเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้มันกลับรายล้อมไปด้วยบ้านอื่นๆอีก 4-5 หลัง และมันทำให้คนที่ต้องการจะมาหาบ้านของเขาลำบากมาก เพราะแม้แต่คนขับรถแท็กซี่ยังไม่คิดว่าตรงนั้นมีถนนเลย


และด้วยความที่บ้านของเขาตั้งอยู่บนเนิน ดังนั้นในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส เมื่อมองจากหน้าต่างออกไป จะสามารถมองเห็นวิวของมหาสมุทรแปซิฟิกได้


แต่ทว่าวิวสวยๆนั้นไม่มีประโยชน์เลย เพราะห้องที่สามารถมองเห็นวิวนี้ได้ มีเพียงห้องบน apartment เหนือโรงรถของเขา ที่ในอดีต Heifetz สร้างให้กับลูกชาย แต่บัดนี้ ตึกหลังนั้นกลายเป็นที่พักอาศัยของแม่บ้านเสียแล้ว


บ้านของ Heifetz ตั้งอยู่บนที่ดินรูปสามเหลี่ยม ซึ่งมีการสร้างเนินจำลองออกเป็น 4 ระัดับ โดยบ้านของเขา อยู่ในระดับต่ำสุด และพื้นที่ว่างก่อนจะขึ้นสู่ระดับถัดไป เป็นสระว่ายน้ำ ซึ่งเขาสร้างขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่เขาสะโพกหัก เขาสร้างสระว่ายน้ำไว้เพื่อออกกำลังกายในตอนนั้น แต่ในตอนนี้ เขาใช้งานมันเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น


ถัดไปก็เป็น Studio ซึ่งสร้างอยู่ตรงบริเวณจุดศูนย์กลางของที่ดิน โดยระหว่างทางเดินจากบ้านของเขาไปStudio จะมีโต๊ะปิงปองตั้งอยู่ ส่วนที่หน้าประตูทางเข้าของ Studio ก็จะมีตุ๊กตาหมาปูนปลาสเตอร์ หน้าตาเหมือนสัญลักษณ์ของแผ่นค่าย RCA นั่งเฝ้ายามอยู่ด้วย


ถัดจาก studio ไปก็เป็นสนาม paddleball จากนั้นก็จะเป็นระดับที่สูงที่สุด ซึ่งอยู่ตรงจุดตัดของถนน 2 เส้น ที่บริเวณนี้เป็นมุมที่ยื่นเข้าไปในป่าเล็กๆ ซึ่งเขาใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือต่างๆ และปล่อยให้เป็นพื้นที่ว่างซึ่งเขาจะใช้ปลูกต้นไม้


Hefeitz เป็นคนที่รักต้นไม้มากๆ เขาและต้นไม้เหมือนเป็นเพื่อนสนิทกัน Heifetz ชอบจัดมุมต้นไม้สวยๆหลายชนิด โดยจะพิถีพิถันเลือกชนิดของต้นไม้ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและตำแหน่งที่ปลูกอยู่เสมอ ไม้ยืนต้นหลายชนิดถูกปลูกไว้รอบๆจนดูเหมือนป่าขนาดย่อมๆ


เขาปลูกผลไม้ไว้หลายชนิด แต่้ก็ต้องมาต่อสู้กับสิ่งสาราสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งแม้ว่าคนสวนจะแนะนำให้คลุมตาข่ายไว้ แต่มันก็ไม่ได้ผล บรรดากระรอกและนก ยังคงสามารถเข้ามากินผลไม้ได้ตามเดิม และสุดท้ายหลังจากลูกพีชสามารถรอดพ้นมาได้ 1 ใบ เขาจึงตั้งราคามันสูงถึง 300 ดอลล่าห์ หลังจากนั้นก็ตัดตาข่ายออกไป และปล่อยให้มันเติบโตตามธรรมชาิติ




Heifetz กับครอบครัว ที่สนาม paddle ball ของเขา


นอกจากไม้ยืนต้นต่างๆแล้ว เขายังมีแปลงดอกไม้สวยๆ ซึ่งปลูกไว้บริเวณปากทางเข้าบ้านอีกด้วย

และด้วยความที่บ้านของเขารายล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทำให้ตอนกลางคืนเป็นช่วงเวลาหรรษาของตัวแรคคูนที่จะมาคุ้ยถังขยะอยู่เสมอ และไหนจะมีครอบครัวของนกกระทาบินไปมา บนพุ่มไม้ตลอดทั้งวัน


ในฤดูหนาวบางปี ก็มีกวางลงมาหม่ำดอกไม้ในแปลง ซึ่งจะกลับมาเรื่อยๆเมื่อเขาปลูกใหม่อีกครั้ง ส่วนในฤดูร้อนก็จะมีฝูงนกแก้วอพยพมาพักผ่อนบนต้นไม้ของเขา และส่งเสียงอึกทึกคึมโครม
แต่บังเอิญที่ Heifetz ไม่ว่าอะไร เพราะเขาสามารถทนเสียงเหล่านี้ได้ดีกว่าเสียงรบกวนจากมนุษย์


และด้วยความที่บ้านของเขารายล้อมไปด้วยธรรมชาตินี่เอง จึงทำให้เขาปลอดภัยจากรถทัวร์ของนัดท่องเที่ยวมากมาย ที่วิ่งผ่านบริเวณนี้เพื่อแอบชมบ้านของดาราทั้งหลาย

Heifetz ไม่ต้องการจะพบปะกับคนแปลกหน้าเหล่านั้น ดังนั้นต้นไม้ที่ปลูกไว้หนาแน่นจนเหมือนป่าขนาดย่อมนี่เอง ที่เป็นเกราะกำบังช่วยให้เขาหลับอย่างสบายทุกวันท่ามกลางเสียงของธรรมชาติ


พื้นที่บ้านของ Heifetz เป็นรูป 3 เหลี่ยมและมีแบบแปลนที่ประหลาด คนส่วนใหญ่มักจะงุนงงกับบ้านของเขาตั้งแต่เริ่มหาทางเข้าบ้าน จนแม้กระ่ทั่งเข้ามาในบ้านก็ยังคงมึนอยู่

ประตูทางเข้าบ้านของ Heifetz อยู่ที่มุมหนึ่งของพื้นที่สามเหลี่ยม เมื่อแขกผ่านด่านหาทางเข้ามาบ้านได้แล้ว ก็จะพบกับสวนเล็กๆ โดยมีโรงรถอยู่ทางซ้าย และมีตัวบ้านตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า และบดบังไม่ให้เห็นพื้นที่ส่วนอื่นๆ


นอกจากนี้เวลาที่แขกต้องการจะเดินเข้ามาในบ้าน จะต้องเลี้ยวซ้ายผ่านโรงรถ แล้วเลี้ยวขวาหักศอกอีกครั้ง จึงจะเจอะทางเข้าบ้าน



Heifetz กับ ภรรยาและลูกชายของเขา ตีปิงปองด้วยกันที่บ้าน


เมื่อแขกก้าวเข้ามาในบ้านของ Heifetz ก็จะพบกับภาพวาดมากมาย เช่น The Passion นอกจากนี้ยังมีภาพของ Chaim Soutine, Raoul Dufy และ ผลงานของจิตรกรที่มีชื่อเสียงอื่นๆอีกหลายท่าน

Heifetz ตกแต่งบ้านของเขาด้วยรูปภาพมากมาย โดยเขาจะพิถีพิถันอย่างมากจัดแสงไฟและจัดตำแหน่งที่เหมาะสมหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้ภาพดูสวยงามที่สุด


Heifetz ชอบอธิบายให้ฉันฟังเกี่ยวกับรูปภาพเหล่านั้น เขาไม่ได้เล่าถึงสไตล์หรือรายละเอียดทางศิลปะ แต่กลับเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของจิตรกร, ที่มาของภาพวาดนี้ และเล่าว่าตอนนี้ภาพจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ไหน


นอกจาก Heifetz จะสนใจภาพวาดและงานศิลปะแล้ว เขายังชอบอ่านหนังสืออีกด้วย

เขาจะอ่าน Reader’s digest และ National Geographic ตั้งแต่ปกหน้ายันปกหลัง เขาชอบเพราะมันเล่าเรื่องต่างๆมากมาย โดยไม่ต้องอ้างข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังมีเรื่องราวหลากหลายอีกด้วย


Heifetz ชอบพูดคุยเรื่องในหนังสือกับฉัน บางครั้งเขาทำเครื่องหมายบทความในหนังสือ และสั่งให้ฉันไปอ่าน เพื่อที่จะได้มาพูดคุยกัน เขาถึงขนาดสมัครสมาชิกหนังสือให้ฉันด้วย เพื่อที่ฉันจะได้มีเวลาไปอ่านเอง


Heifetz มีความเห็นว่า นักดนตรีก็เหมือนกับนักศิลปะแขนงอื่นๆ และการจะเป็นนักดนตรีที่ดี ไม่ควรจะสนใจแต่เรื่องดนตรีเท่านั้น ดังนั้นเขาจึงให้ฉันอ่านหนังสือมากมาย รวมทั้งวรรณคดีรัสเซีย ซึ่งฉันต้องศึกษาโดยละเอียดและต้องจับใจความมาพูดคุยกับเขา นอกจากนี้ เวลาที่ Heifetz อยากจะให้มีบรรยากาศครอบครัว เขาจะอ่านหนังสือให้ฉันฟัง และในทางกลับกัน บางครั้งฉันก็ต้องเป็นฝ่ายอ่านให้เขาฟังเช่นกัน ซึ่งเขาจะช่วยแก้ไขการออกเสียงให้ฉันเสมอ


The Passion ผลงานของ Georges Rouault (1871-1958) จิตรกรชาวฝรั่งเศส



Heifetz ชอบรถมากๆ เขาเป็นคนที่ขับรถเก่งมากและชอบความเร็ว เขาบอกว่าครูที่สอนเขาขับรถเป็นนักแข่งรถมืออาชีพ

เขาสอนฉันหลายเรื่องในการควบคุมรถ สอนวิธีการเลี้ยวเวลาที่วิ่งมาเร็วๆ และยังสอนถึงวิธีการแก้ปัญหาในยามฉุกเฉิน

แม้ว่าในตอนหลังเมื่อเขาอายุมากขึ้นและย้ายไปนั่งเบาะหลังแล้ว แต่เขาก็ยังคงมาช่วยกำกับการขับรถของฉันอยู่ดี


ครั้งหนึ่ง ตอนที่เรากำลังไปที่มาลิบู วันนั้นการจราจรค่อนข้างติดขัด เขาจึงสั่งให้ขับขึ้นไปวิ่งบนเกาะกลาง เขามีความเห็นว่าคนเราไม่ควรทำทุกอย่างตามที่หนังสือบอกทุกประการ แต่ดูเหมือนว่าคุณตำรวจจะคิดตรงกันข้ามกับเขา แน่นอนฉันโดนตำรวจจับ แต่ Heifetz ก็ช่วยพูดจนคุณตำรวจยอมปล่อยเราไป


แต่เราไม่โชคดีเหมือนอย่างครั้งแรกเสมอไป..........


อีกครั้งหนึ่งที่ เขาสั่งให้ฉันขับรถขึ้นไปบนไหล่ถนน แล้วเราก็โดนตำรวจจับอีกครั้ง แต่คราวนี้ได้ใบสั่งมาด้วย แถม Heifetz ยังไม่ยอมให้ฉันไปจ่ายอีกต่างหาก แต่ให้ไปต่อสู้กันในศาล โดยหวังว่าฉันจะสามารถต่อสู้จนพ้นผิดได้ ซึ่งฉันก็ทำได้จริงๆ



แม้ว่า Heifetz จะอาศัยอยู่ในบ้านอันเงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติ แต่เขายังคงมีฝันร้ายอยู่ 2 เรื่อง ที่คอยตามหลอกหลอนเขาไปจนตาย


เรื่องแรก เกิดจากความกลัวว่าจะไปแสดงคอนเสิร์ตไม่ทัน

Heifetz เล่าว่า ตอนที่เขาเกิดพาหนะที่เขาใช้ส่วนใหญ่เป็นรถม้า ส่วนในสมัยที่เขาทัวร์คอนเสิร์ตครั้งแรกๆ พาหนะที่เขาใช้ส่วนใหญ่เป็นรถไฟช้าๆ หรือเรือยนต์ ซึ่งนั่นทำให้เขากังวลมากจนเก็บไปฝันว่าไปเล่นคอนเสิร์ตไม่ทันตามกำหนด


ส่วนเรื่องที่ 2 เกิดจากความกลัวไวโอลินหาย ซึ่งเรื่องนี้อันที่จริงแล้วเขาเคยลืมไวโอลินเพียงแค่ 1 ครั้ง

สมัยที่เขาออกทัวร์คอนเสิร์ต เขาจะต้องเดินทางพร้อมกับไวโอลินของเขาเสมอ ทั้ง Tononi และ Guarnerius โดยเขาจะเก็บรักษามันอย่างดี และใส่ไว้ในกล่อง 2 ชั้น และมีอยู่ครั้งหนึ่ง Heifetz ขึ้นรถไฟไปแสดงคอนเสิร์ต และลงจากรถไปโดยถือไวโอลินเพียงตัวเดียว เพราะคิดว่านักเปียโนของเขาถือไวโอลินอีกตัวอยู่ แต่ปรากฏว่านักเปียโนไม่ได้ถือลงมาด้วย ไวโอลินของเขายังคงอยู่บนรถไฟที่ออกไปแล้ว

Heifetz ตกใจเป็นอันมาก ผู้จัดการส่วนตัวของเขารีบจัดการติดต่อไปยังสถานีต่อไป ให้ช่วยตรวจสอบและเก็บไวโอลินของเขาไว้ให้ โชคดีที่สุดท้ายเขาก็ได้รับไวโอลินคืน



Heifetz เป็นคนที่ไม่ชอบเทคโนโลยีสมัยใหม่เท่าไหร่ เพราะเขามองว่าเป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่เปล่าประโยชน์ แถมยังก่อให้เกิดมลภาวะต่างๆมากมาย


แต่ดูเหมือนว่ามีเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวที่เขาสนใจ และพยายามจะใช้มันนั่นคือ รถที่ขับเคลื่อนได้ด้วยพลังงานแบตเตอรี่ ซึ่งเขามีอยู่ 1 คัน

เขาใช้ความพยายามอย่างมากในการขับรถคันนี้ไปสอนหนังสือ แต่ทว่าในตอนนั้นเทคโนโลยีรถไฟฟ้ายังไม่ค่อยก้าวหน้า จึงทำให้รถคันนี้เสียบ่อยมากๆ จนสุดท้ายเขาก็ยอมแพ้ และเก็บมันไว้ในโรงรถซะส่วนใหญ่


นอกจากนี้ Heifetz ยังไม่ชอบดูทีวี เพราะเขารู้สึกว่ายามที่ตัวเองนั่งอยู่หน้าจอ เขาจะหน้าตาเหมือนกระต่าย นอกจากนี้เขายังมองว่า ทีวีของเขาคือการได้ออกไปดูผู้คนมากกว่าการนั่งจ้องกล่องสี่เหลี่ยม


แม้แต่เทคโนโลยีในการบันทึกเสียง Heifetz ก็ไม่เคยพอใจ เทคโนโลยีในการบันทึกเสียงผลงานครั้งแรกของ Heifetz แตกต่างจากสมัยนี้มาก และเมื่อเขาถูกเสนอให้อัดผลงานในระบบ digital ลงแผ่น disc เขากลับไม่พอใจเท่าไหร่


เขาเรียกมันว่า “ดนตรีอัดกระป๋อง" และมองว่ามันขาดความตื่นเต้นไม่เหมือนเวลาไปฟังคอนเสิร์ตสดๆ อีกทั้งยังยอมที่จะบันทึกเสียงในระบบที่มึคุณภาพต่ำกว่า แต่สามารถเข้าถึงดนตรี และมีความตื่นเต้นมากกว่าด้วย


ในปี ค.ศ. 1981 Heifetz เลิกสอนหนังสือที่ USC แต่ยังคงสอน master class ต่อไปที่สตูดิโอของเขา นอกจากนี้ยังออกไปสอนนักไวโอลินเด็กๆ ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ใน LA เดือนละครั้ง


แต่สุดท้าเยเมื่อเวลาผ่านไป 4 ปี เขาก็เลิกสอนทั้งหมด แต่ยังคงชอบซ้อมเปียโนกับฉัน เราจะซ้อมด้วยกันอย่างสนุกสนานตลอดทั้งบ่าย เป็นเวลากว่า 5 ปี ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ฉันได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเขามากที่สุด


น่าแปลกใจ ที่กลายมาเป็นว่าฉันมาเรียนเปียโนกับนักไวโอลิน

ฉันรู้สึกว่าเขาพยายามสอนทุกอย่างที่นัก accom ควรรู้ และเขาไม่เพียงเล่นแต่เพลงดังๆที่เป็นที่รู้จักหรือเคยเล่นกันมาก่อนแล้ว แต่เรายังเล่นเพลงใหม่ๆที่ไม่เคยเล่นมาก่อนด้วย

Heifetz เป็นคนที่มีความสามารถในการทำ Sight reading ที่ยอดเยี่ยมมาก เขารู้จักวิธีการในการดึงประโยคสำคัญๆของเพลงและแสดงมันออกมาให้ไพเราะ


Heifetz มีความรู้เรื่องเทคนิคในการดีดเปียโนเป็นอย่างดี แต่เขามีวิธีการสอนที่แตกต่างจากครูเปียโนทั่วไป เพราะเขาไม่เคย มานั่งดูอย่างตั้งใจ เพื่อคอยตรวจสอบโน๊ต หรือความถูกต้องในการดีด เขาเพียงแต่บอกว่า ทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง และแนะนำว่าเพลงควรจะออกมาในรูปแบบไหน หรือแม้แต่การเหยียบ pedel ควรจะใช้ยังไง จุดมุ่งหมายของเขาคือต้องการสร้างบทเพลงที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความหมายให้กับผู้ฟัง


นอกจากนี้ การควบคุมเวลา เป็นอีกหนึ่งในเคล็ดลับของเขา Heifetz

“เวลา”เป็นศิลปะอย่างหนึ่งของดนตรี ที่สอนกันได้ยากมาก เพราะมันอยู่ที่จิตใต้สำนึก Heifetz รู้ว่า “เวลา” ที่จะปล่อยให้ผู้ฟังได้อิ่มเอิ่มกับเสียง ควรจะสั้น-ยาว แค่ไหน และ “เวลา” นานแค่ไหน ที่ผู้ฟังพร้อมจะรับเสียงต่อไป



Sight reading เป็น skill ทางดนตรีอย่างหนึ่ง ในการเล่นเพลงโดยที่มีการซ้อม ไม่เคยเล่น ไม่เคยเห็นโน๊ต ไม่เคยฟังมาก่อน

Pedal คือ ที่เหยียบเท้าของเปียโน เมื่อเหยียบแล้วจะเกิดเสียงหลากหลาย เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่ไม่มีหลักตายตัว แต่อาศัยหู และ เซน์ทางดนตรีเป็นหลัก นักเปียโนหลายท่านใช้เทคนิคนี้ในการสร้างความพิเศษให้กับดนตรีของตนเอง เช่น Horowitz และ Tureck







ในเวลาที่ Heifetz ไม่มีอารมณ์จะเล่นไวโอลิน เรามักจะเล่นเปียโน 4 มือด้วยกัน แม้ว่าเจ้าตัวจะบ่นว่าเขาขาดการฝึกซ้อมทุกครั้งก็ตาม


เขาเล่าว่าอันที่จริงแล้ว เปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่เขาชอบมากที่สุด แต่ต้องเล่นไวโอลินเพราะครอบครัวเขาต้องการให้เล่น ดังนั้นด้วยความที่เขาชอบเปียโนมากนี่เอง ที่ทำให้เขาศึกษาโน๊ตเปียโนของ accom อย่างละเอียด


น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้เห็น Heifetz เล่นเปียโน เพื่อนเก่าแก่ของเขาคนนึงเล่าให้ฉันฟังว่า ในสมัยยังเป็นเด็ก เธอเคยไปงานปารตี้กับครอบครัวเขา คืนนั้นวิทยุกำลังเปิดเพลงตามนิยมอยู่ Jascha ขอเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเต้นรำ แล้วหลังจากนั้นเมื่อเพลงจบลง เขาก็ไปที่เปียโน และดีดเพลงที่พึ่งจบไปนั้นอีกครั้งด้วยเปียโน

แต่ไม่ใช่ว่านักดนตรีทุกคนจะมีความสามารถในการจำแบบนี้

ครึ่งหนึ่งเขาเปิดเพลง Enigma Variation ของ Edward Elgar ให้ฉันฟัง แล้วจู่ๆก็นึกสนุกขึ้นมา

หลังจากเพลงจบลง เขาก็สั่งให้ฉันเล่นเพลงนี้ให้เขาฟังจากความจำ
ฉันไม่เคยฟังหรือเคยดีดเพลงนี้มาก่อน และไม่มีความสามารถในการจำทำนองได้แบบเขา จำต้องพยายามเล่นเพลงนี้ขึ้นมา ฉันจับได้แต่ทำนองหลัก และ variation อีกเล็กน้อยแบบมั่วๆ จนกระทั่งไปต่อไม่ได้แล้ว


“Pretty damn good imitation” คือคำชมของเขา


ตลอดช่วงเวลาหลายปีนี้ ที่ฉันได้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับ Heifetz การที่เราได้เล่นดนตรีด้วยกัน มีหนึ่งคำพูดของเขาที่ทำให้ฉันดีใจที่สุด


เขาบอกกับฉันว่า เขาน่าจะเกิดช้ากว่านี้อีกซักหน่อย หรือไม่งั้นฉันก็ควรจะเกิดเร็วกว่านี้ เรา 2 คนจะได้ออกทัวร์คอนเสิร์ตด้วยกัน สำหรับฉัน นี่คือคำพูดที่ฉันประทับใจที่สุดอย่างหาที่เปรียบไม่ได้


Enigma Variation ของ Elgar ค่ะ คลิปนี้ Var. 1-8




อันนี้คือ Var 9-12



Heifetz ตั้งชื่อ studio ของเขาว่า ” Sanctum Sactorum” แปลว่า สวรรค์ชั้นสูงสุด


ที่นี่เป็นสถานที่ ที่เขาใช้ซ้อมไวโอลินได้อย่างมีความสุข และปลอดภัยจากการถูกรบกวนจากผู้อื่น รวมถึงเสียงไวโอลินของเขาจะไม่ดังออกไปให้คนอื่นที่ไม่อยากให้ฟังได้ยินด้วย


ที่ studio มีห้องสมุดส่วนตัวของเขา ซึ่งเป็นที่เก็บโน๊ตเพลงต่างๆมากมาย, ใช้เก็บไวโอลิน และยังเป็นที่เก็บภาพสมัยก่อนของเขา

อาณาจักรส่วนตัวของเขาแห่งนี้ มีแต่เพียงคนที่ได้รับอนุญาตพิเศษไม่กี่คน และเลขาของเขาเท่านั้น ซึ่งเลขานั้นต้องทำหน้าที่ทำความสะอาดปัดฝุ่นในห้องนี้ด้วย


ลิ้นชักและตู้ทุกใบในห้องสมุดนี้ เต็มไปด้วยโน๊ตเพลง และเอกสารมากมาย ซึ่งถูกจัดเรียงตามตัวอักษร และ ตามประเภทไว้อย่างมีระเบียบเรียบร้อย ดังนั้นการจะค้นหาอะไร จึงสามารถทำได้อย่างง่ายดาย แต่หาเลขาของเขาคนไหนเกิดสะเพร่า เผลอเก็บเอกสารไม่ถูกต้อง Heifetz จะไล่ออกทันที


ในตอนที่ Heifetz เลิกสอนหนังสือแล้ว เลขาของเขาจะมาที่ห้องสมุดนี้เพียงเดือนละ 1-2 ครั้ง และนั่นทำให้ห้องไม่ได้รับการทำความสะอาด แต่ Heifetz ก็ยังยืนยันว่ายอมให้ฝุ่นหนากว่าเดิมหน่อยนึงดีกว่าจะยอมให้ใครเข้าไปในนั้น



เมื่อ Heifetz อนุญาตให้เข้าไปทำความสะอาด เขาจะให้เวลาเพียงจำกัด และตามไปดูตอนฉันปัดฝุ่นด้วยตลอดเวลา

ในห้องนั้น ฉันสังเกตุเห็นตู้อยู่ 6 ใบ ซึ่งที่ผ่านมาเขาไม่เคยสั่งให้ฉันหยิบอะไรในตู้นั้นเลย ฉันมองมันเหมือนกล่องปริศนา และถามเขาว่าข้างในนั้นมีอะไร


“ถ้าอยากรู้ ทำไมเธอไม่ลองเปิดมันดูด้วยตนเองหล่ะ มันไม่ได้ล็อกไว้หรอก”


เมื่อได้รับอนุญาต ฉันจึงเปิดดู และพบว่าสิ่งที่อยู่ในตู้นั่นคือ งาน transcription ที่ยังทำไม่เสร็จของ Heifetz รวมทั้งงานที่ทำเสร็จแล้วแต่ไม่ได้ตีพิมพ์ แถมยังมีงานที่เขาตั้งใจจะทำแต่ยังไม่ได้เริ่มลงมืออีกด้วย


นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งของตู้ยังมีงานที่มีคนแต่งให้เขา แต่เขาไม่เคยแสดงมัน, งานเพลงที่เขาแต่งเอง ทั้งที่ตีพิมพ์แล้วและแบบร่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานสไตล์สมัยนิยม ซึ่งมีจังหวะและสไตล์แบบเพลงแจ๊ส และบางเพลงเป็นงานเดี่ยวเปียโน


ฉันนับงานที่ยังทำไม่เสร็จได้ทั้งหมดราว 50 ชิ้น งานทุกชิ้นจะถูกเก็บไว้คู่กับโน๊ตต้นฉบับเสมอ เพื่อที่เขาจะได้สามารถทำงานต่อได้ทันทีเมื่อมีอารมณ์



studio ของ Heifetz ที่บ้านที่ bevery hill จำลองไว้ที่ Colburn school สถาบันดนตรีที่ LA


เพลง Transcription เพลงแรกที่ Heifetz แต่งขึ้นชื่อว่า Estrellita ซึ่งเขาได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกที่ เมืองเม็กซิโก

เขาเล่าว่าตอนนั้นอยู่ในระหว่างทัวร์คอนเสิร์ต ที่เม็กซิโก Heifetz ได้ยินเพลงนี้ในคาเฟ่ เขาประทับใจเพลงนี้มากและประทับใจการต้อนรับของคนเม็กซิกัน


หลังจากเขากลับไปที่ห้องพัก ก็ลงมือเรียบเรียงเพลงนี้ทันที และนำมันออกแสดงในคืนถัดไป เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แด่ชาวเม็กซิโก

Heifetz ยังเล่าอีกว่า รู้สึกสงสาร accom ของเขาอย่างมาก เพราะต้องเล่นโน๊ตที่เขียนจากลายมือของเขา แถมยังเต็มไปด้วยเครื่องหมาย # มากถึง 6 ตัว ไม่นับเครื่องหมายอื่นๆอีก ซึ่งเขาบอกว่าใส่ทุกอย่างลงไปหมด เท่าที่คิดได้




Estrellita เป็นเพลงดังของ Manuel Ponce (1882-1948) คีตกวีชาวเม็กซิกัน

คลิปนี้คือฉบับดั้งเติม ร้องโดยนักร้องเสียง soprano ชาวเม็กซิกัน ชื่อว่า Ernestina Garfias



คลิปนี้คือ ฉบับ transcription ของ Heifetz เวอร์ชั่นนี้ไวโอลินเล่นกับ orchestra เสียงจะแตกต่างกับต้นฉบับเดิมที่ Ponce แต่งเล็กน้อย เพราะ Heifetz เปลี่ยน Key ที่ใช้ เพื่อให้เหมาะกับเสียงไวโอลินค่ะ






อีกหนึ่งใน Transcription ของ Heifetz ที่มีชื่อเสียง คือ Hora staccato
เพลงนี้ Heifetz ก็ได้ยินจากคาเฟ่เช่นกัน แต่เป็นที่โรมาเนีย


คำว่า Hora ในภาษาโรมาเนีย แปลว่า เต้นรำ ซึ่งเป็นการเต้นที่นิยมเต้นกันทั่วไปเหมือนเพลงพื้นบ้าน

ส่วนคำว่า Staccato Heifetz เพิ่มเข้าไปเพราะมันแสดงถึงสไตล์เพลงที่เขาต้องการให้เล่นเสียงสั้นๆและขาดจากกัน ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Staccato

Heifetz แต่งเพลงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เล่น เล่นเทคนิค Stacctato แบบ “Honest Staccato” หรือการเล่นStaccato อย่างแท้จริง


ในชั่วโมง master class เมื่อถึงเวลาของเพลง itsy bitsy นักเรียนของเขาหลายคนชอบเลือกเพลงนี้มาเล่นให้เขาฟัง
(หากท่านผู้อ่านนึกเพลง itsy bitsy ไม่ออก โปรดย้อนกลับไปอ่านตอนที่ 2)


Heifetz ไม่เคยว่าอะไร เพียงแต่เปรยว่า ถ้าไม่ได้เตรียมเพลงอื่นมา ก็เล่นไปเถอะ


ส่วนใหญ่แล้วนักเรียนที่เล่นเพลงนี้ มักจะเล่นด้วยความเร็วสูง เพื่อต้องการจะโชว์ความสามารถของตนเอง และต้องการทำให้ Heifetz ประทับใจ แต่ดูเหมือนว่า เขาจะไม่เคยประทับใจใครเลย


มีอยู่ครั้งหนึ่งที่นักเรียนของเขาเล่นเพลงนี้ด้วยความเร็วสูงสุด ชนิดที่คนฟังต้องอึ้ง

และเมื่อเพลงจบลง นักเรียนผู้นั้นมักจะได้รับเสียงปรบมืออันดังจากนักเรียนคนอื่นๆ ในขณะที่ Heifetz ยังคงนิ่งเฉย จากนั้นจึงสั่งว่าให้นักเรียนผู้นั้น เล่นเพลงนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ให้เล่นตามจังหวะที่เขาจะเคาะให้


Heifetz เคาะจังหวะ ด้วยความเร็วที่ช้ามาก เขาต้องการทดสอบความสามารถในการสีเทคนิค staccato ของนักเรียนผู้นี้

ส่วนสาเหตุนั้นก็เนื่องมากจากว่า การสีเทคนิค staccato ในไวโอลินนั้น จะทำได้ยากมากโดนเฉพาะเวลาเล่นช้าๆ และยิ่งในเพลง Hora staccato นี้ แม้ว่าจะเป็นเพลงเร็ว แต่Heifetz ตั้งใจแต่งขึ้นมาเพื่อให้นักไวโอลินได้โชว์ความสามารถในการเล่น staccato ทั้งแบบสีโบว์ขึ้นและสีโบว์ลง

(staccato แบบสีโบว์ขึ้นทำได้ง่ายกว่าสีโบว์ลงมาก และนักไวโอลินหลายคน สีได้แต่ staccato แบบสีขึ้นเท่านั้น)


ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อนักเรียนผู้นั้นไม่สามารถสีเพลงนี้ได้เมื่อ ถูกกำกับให้เล่นเพลงนี้ช้าๆ และต้องอับอายเป็นอันมาก

นี่เป็นบทเรียนหนึ่งที่ทุกคนควรเรียนรู้ไว้ว่า การเล่นเพลงช้าๆนั้นยากกว่าเพลงเร็วๆ




Hora staccato by Heifetz



แต่ก็ใช่ว่า Heifetz จะเขียนแต่เพลง transcription ยากๆเท่านั้นนะคะ เพลงที่ทำแบบง่ายๆก็มีเหมือนกัน

Sonata for cello and piano Op.19 ของ Sergei Rachmaninoff เป็นหนึ่งในนั้น

Heifetz เพียงแค่เขียนให้โน๊ตในส่วนของ cello ให้สูงขึ้น 1-2 ขึ้น เพื่อให้ไวโอลินเล่นได้ เช่นเดียวกับโน๊ตในส่วนของ accom เขายังคงไว้เหมือนในต้นฉบับเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร


สำหรับตัว Heifetz เอง หนึ่งใน Transcription ที่เขาเล่นบ่อยที่สุดคือ Ave Maria ของ Schubert เวอร์ชั่น Arrange ของ August Wilhelmj ซึ่งเขาชอบให้ Accom เล่นโน๊ตเพิ่มเติมมากกว่าเดิมในท่อนที่อารมณ์ของเพลงถึงจุดสูงสุด ซึ่งดูเหมือนว่ามีผู้ฟังน้อยคนที่ฟังและสังเกตเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลง


Ave Maria คลิปนี้ บอกว่า อัดปี 1917 Heifetz เล่นตอนอายุ 16 ปี


หลังจากที่ฉันได้เข้าไปทำความสะอาดห้องสมุดของ Heifetz และได้เห็นผลงานที่ยังไม่เสร็จของเขามากมาย มันทำให้ฉันไม่สามารถตัดใจได้


วันนึงในหลังจากเราซ้อมดนตรีด้วยกันเสร็จแล้ว และ Heifetz ดูท่าทางกำลังอารมณ์ดี ฉันจึงถามเค้าถึงผลงานเหล่านั้น


“คุณเคยคิดถึงผลงานที่ยังไม่เสร็จในตู้ที่ เราเข้าไปดูด้วยกันวันก่อนไหม”


“งานพวกนั้นมันมีอะไรเหรอ”
เขาตอบฉันด้วยน้ำเสียงที่บอกเป็นนัยๆว่า อย่ามายุ่งเรื่องของฉันนะ


ฉันรวบรวมความกล้าแล้วถามเขาอีกครั้ง


“คุณจะปล่อยมันไว้อย่างนั้นหน่ะเหรอ?”


“มีแต่ฉันเท่านั้นที่รู้ ส่วนสำหรับเธอ มันคือสิ่งที่ต้องค้นหาคำตอบ”
อีกครั้งกับคำตอบที่เขามันพูดเสมอว่าเวลาที่ไม่อยากจะตอบอะไรตรงๆ

“ถ้าฉันอยากให้มันอยู่อย่างนั้น มันก็จะอยู่อย่างนั้น”


และเมื่อฉันพยายามจะบอกเขาว่า ฉันชอบผลงาน transcription ของเขามากแค่ไหน เขาก็รีบตัดบท และสั่งให้ฉันเลิกออกความเห็นเกี่ยวกับงานของเขา....





วันนึงขณะที่ฉันกำลังซ้อมเปียโนอยู่ที่บ้านของเขา ส่วน Heifetz นั้นอยู่ที่ studio เขาเรียกฉันผ่าน intercom ด้วยน้ำเสียงที่ไม่ดี


“ฉันมีเรื่องสำคัญมาก อยากจะคุยกับเธอ”


ฉันหวั่นใจมากเมื่อได้ยินเสียงของเขา วันนั้นเป็นวันที่อากาศที่ไม่ดี ท้องฟ้ามืดสลัว และมีหมอก ซึ่งฉันรู้ว่านั่นทำให้เขาอารมณ์ไม่ดี เพราะ Heifetz เป็นคนที่ชอบอากาศแจ่มใส ท้องฟ้าสวยๆมากกว่า


และเมื่อฉันไปถึงห้อง เขาเปิดประตูเพียงเล็กน้อย และเผยให้เห็นแต่สีหน้าอันเคร่งเครียด เหมือนว่าเขากำลังผิดหวังอะไรซักอย่าง

ซักพักเมื่อเขาเห็นว่าฉันมีท่าทางเป็นห่วงเขามาก เขาก็เผยความจริง เปิดประตูและยิ้มอย่างมีความสุข ต้อนรับฉันเข้าไปในห้อง


“Surprise”


เขามีความสุขที่ได้แกล้งให้ฉันเป็นห่วงเสมอ





รูปนี้ถ่ายเมื่อ ปี ค.ศ. 1925 Heifetz ถ่ายกับนักเปียโนชาวรัสเซียชื่อ Irving Berlin (Israel Baline, 1888 - 1989)


เขาเชิญให้ฉันเข้าไปในห้อง แล้วสั่งให้หยิบโน๊ตในตู้ใบที่ฉันรู้ว่ามันคือตู้ที่เก็บผลงาน transcription ของเขา

หลังจากเราเล่นเพลง transcription ของเขาไป 3 เพลง เขาก็สั่งให้ฉันเล่นเพลงเปียโนฉบับ original ตามด้วยเล่นฉบับ transcription แล้วเปรียบเทียบให้ฉันเห้นถึงข้อแตกต่าง และอธิบายให้ฉันฟังถึงวิธีการทำงาน ว่าเขาทำอย่างไร ถึงได้เวอร์ชั่นใหม่ที่ยังคงเสียงเหมือนฉบับดั้งเดิม

เขาสอนให้ฉันรู้จักวิธีที่จะดึงไอเดียของผู้ประพันธ์ออกมา และสอนว่าควรจะทำเพลงใหม่ออกมาให้เหมาะกับไวโอลินและเปียโนได้อย่างไร


ในช่วงปี ค.ศ.1984 จนถึงตอนที่เขาเสียชีวิตไป เป็นช่วงเวลาที่ฉันและ Heifetz ได้ศึกษางาน transcription ด้วยกัน มากกว่า 150 ผลงาน ทั้งงานที่ตีพิมพ์แล้ว และยังไม่ได้ตีพิมพ์


Heifetz เล่าว่าแรงบันดาลใจในการทำเพลง transcription ของเขา มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เวลาที่ Heifetz ได้ฟังเพลงเปียโนที่ Pauline น้องสาวของเขา เพลงไหนที่เขาชอบ เขามักจะคิดอยู่เสมอว่า มันน่าจะเล่นด้วยไวโอลินได้นะ


ลักษณะเปียโนในเพลง transcription ของ Heifetz ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบการแต่งในส่วนเปียโนจาก Violin sonata ของ Mozart และ Beethoven โดยเพลงเหล่านั้นจะแต่งให้ไวโอลินและเปียโนมีความสำคัญเท่าๆกัน และไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้ไวโอลินโชว์ความสามารถอยู่คนเดียว


เพลง Transcription เพลงแรกที่ฉันร่วมทำงานกับเขา คือ เพลง Humoresque in G major Op.10 ของ Rachmaninoff ซึ่งมีถึง 3 เวอร์ชั่น


ตัว Rachmaninoff เขียนเพลงนี้เอาไว้ 2 เวอร์ชั่น แต่เขาแสดงเวอร์ชั่นที่ 2 ในคอนเสิร์ต
Heifetz สั่งให้ฉันไปศึกษาเพลงทุกเวอร์ชั่นอย่างละเอียด โดยให้จำและมาเล่นให้เขาฟังหลายครั้ง จนเขาซึมซับบทเพลงทุกเวอร์ชั่นเข้าไป จากนั้นจึงเริ่มทำงานอีกครั้งจากความรู้สึกที่รวบรวมได้จากทุกเวอร์ชั่น


ทุกครั้งที่ Heifetz จะนำเพลงไหนมาทำ transcription เขาจะศึกษาเพลงต้นฉบับอย่างละเอียด




Humoresque in G major Op.10 ของ Rachmaninoff
Piano by Arcadi Volodos


Heifetz มีวิธีการทำงานไม่เหมือนคนอื่น เขาจะใช้วิธีการเขียนโน๊ตแบบดั้งเดิม ที่ใช้กันในยุคกลาง คือมีปากกาที่มีหัวเป็นเหล็ก เอาไว้ขูดโน๊ตที่เขียนด้วยหมึก ซึ่งเขาไม่ต้องการออกไป แล้วเขียนโน๊ตใหม่ลงไปด้วยดินสอ ที่สำคัญคือ เขาไม่เคยทำกระดาษเป็นรูเลย


เขาจะเขียนโน๊ตด้วยความระมัดระวัง โดยใช้ดินสอตลอด เพื่อที่จะได้แก้ไขได้โดยง่าย และจะใช้หมึกต่อเมื่อมั่นใจแล้วว่าเพลงสมบูรณ์แล้ว และไม่ต้องการแก้ไขอีก


และเนื่องจากเขาใช้วิธีการทำงานแบบดั้งเดิม ดังนั้น เขาจึงเลือกใช้กระดาษเขียนโน๊ตที่มีคุณภาพดีที่สุด เพราะมันจะได้สามารถเขียนหมึกลงไปตรงบริเวณที่กระดาษถูกขูด โดยที่น้ำหมึกไม่กระจายเลอะเทอะ


หลังจากผลงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว เราจะนำเพลงดังกล่าวมาเล่นซ้ำๆอีกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานที่ออกมาดีที่สุด และเพื่อให้เขาตัดสินใจว่าจะเก็บผลงานนั้นไว้หรือไม่


และไม่ว่าผลงานนั้นจะใช้เวลาในการทำงานมานานแค่ไหนก็ตาม เมื่อใดที่นำมาลองเล่นแล้วเขาพบว่าผลงานชิ้นนั้น ไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือไม่ตรงตามที่เขาต้องการ
เขาจะจัดการฉีกมันอย่างช้าๆ ด้วยท่าทางที่เหมือนกับเด็กซนๆที่กำลังทำลายของเล่นที่รักของตนเอง



นอกจากการทำ transcription แล้ว Heifetz ยังชอบเปลี่ยนแปลงโน๊ตฉบับดั้งเดิมเสมอๆ
ดังที่เคยเล่าไปแล้วว่า เขาต้องการให้ accom เพิ่มโน๊ตเล็กน้อยลงไปในบทเพลง
นอกจากนี้เขายังเคยเปลี่ยนแปลงโน๊ต 2-3 ห้อง ของ violin concerto ชื่อดัง เพราะรู้สึกว่ามันทำให้บทเพลงไพเราะขึ้น

ครั้งหนึ่งที่ฉันกำลังเล่นเพลง El puero ของ Alberniz เขาบอกว่าเขาไม่ชอบตอนจบของเพลงนี้ และสั่งให้ฉันเล่นใหม่ในแบบฉบับของฉัน ฉันต้องแต่งตอนจบของเพลงนี้หลายต่อหลายครั้ง จนเขาพอใจ และบอกว่า เขาชอบฉบับที่ฉันแต่งมากกว่าต้นฉบับเดิม



El Puerto จาก Iberia, Book 1
แต่งโดย Issac Albeniz นักแต่งเพลงชาวสเปน


แม้ Heifetz จะมีผลงานบันทึกเสียงดนตรีแนวคลาสสิกมากมาย แต่อันที่จริงแล้วเขาเองก็ความสามารถในการเล่นดนตรีแจ๊สด้วยเช่นกัน เขาชอบดนตรีแจ๊ส และชอบการ improvise

เขามีจังหวะของดนตรีแจ๊สอยู่ในตัว และด้วยความสามารถในการควบคุมจังหวะอันยอดเยี่ยม จึงบอกได้เลยว่า Heifetz มีคุณสมบัติของนักเล่น percsstion ในวงแจ๊สอยู่เต็มเปี่ยม


Gershwin คือ composer ที่ Heifetz ชื่นชอบมาก และเขาก็ได้ทำ transcription เพลงของ Gershwin หลายเพลง

เขาหวังว่าเพลงเหล่านี้ จะบ่งบอกและแสดงให้เห็นว่าเขาชอบ Gershwin มากขนาดไหน แถมยังบอกอีกว่า อยากจะเก่งได้ซักครึ่งหนึ่งของ Gershwin อีกด้วย


ผลงานชิ้นสุดท้ายของ Heifetz คือ An American in Paris ของ Gershwin
ฉันหมั่นถามเขาอยู่เสมอๆว่าเมื่อไหร่ จะทำงานนี้ให้เสร็จเสียที ซึ่งทุกครั้งเขาจะบ่ายเบี่ยง และบอกว่า ให้รอไปก่อน

แต่ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อฉันถามว่าเขาต้องการให้เพลงนี้เป็นยังไง เขากลับยอมตอบคำถามของฉันแต่โดยดี แทนที่จะตอบแบบกวนๆเหมือนทุกครั้ง

เขาบอกทุกอย่างที่ต้องการจะทำในเพลงนี้ และยังเล่นเพลงนี้ในแบบฉบับของเขาให้ฉันฟังหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับไม่เคยเขียนโน๊ตขึ้นมาจนกระทั่งเขาจากไป


วันหนึ่งในฤดูร้อน ที่สวิซเซอแลนด์ 2 ปี หลังจาก Heifetz จากไปแล้ว ฉันหยิบเพลงนี้ขึ้นมา และจิตนาการถึงตอนที่เราอยู่ด้วยกัน นึกถึงช่วงเวลาดีๆที่เราทำงานร่วมกัน และนึกถึงเพลงนี้ที่เขาเคยเล่นให้ฉันฟังตอนที่ยังมีชีวิตอยู่


ฉันเขียนเพลงนี้โดยมีความรู้สึกเหมือนว่ามือของเขากำลังเขียนอยู่ และมีเสียงของเขากำลังกระซิบอยู่ข้างหูว่าเพลงนี้ควรจะเป็นอย่างไร


2 สัปดาห์ผ่านไป แล้วในที่สุดเพลงนี้ก็เสร็จสมบูรณ์ ....


An American in Paris by George Gershwin






-------------------------------------จบตอนที่ 7 -----------------------------------------------






Create Date : 21 เมษายน 2552
Last Update : 21 เมษายน 2552 9:16:14 น. 0 comments
Counter : 1054 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Vitamin_C
Location :
Pasadena United States

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




สวัสดีค่ะ อากาศดี ก็อารมณ์ดีเนอะ .......^-^

คิดถึงบ้านที่เมืองไทยเป็นที่สุด
ถ้าไม่นับห้องสมุดๆเจ๋งๆกับพิพิธภัณฑ์ดีๆ กับอาหารหลากหลายเชื้อชาติให้กินได้ไม่ซ้ำทุกวันแล้วหล่ะก็ เมืองไทยชนะขาดในทุกกรณี ว่าแต่เมื่อไหร่ ห้องสมุดกับพิพิธภัณฑ์ของบ้านเราจะพัฒนาซักทีน้อ....


ถึงแม้ว่าบล๊อกนี้จะไม่ค่อยมีสาระ แต่เนื้อหาและข้อความทั้งหมด
รวมไปถึงรูปภาพที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ถ่ายเอง ถือเป็นลิขสิทธิ์ ของสำนักพิมพ์บางกอกสาส์น จำกัด
ห้ามผู้ใดนำไปเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาติจากเจ้าของบล๊อก หรือ จากกองบรรณาธิการ

หากมีข้อสงสัยใดๆ กรุณาติดต่อหลังไมค์
หรือ
กองบรรณาธิการ สำนักพิมพ์บางกอกสาส์น 966/10 ซ.พระราม6 19 ถ.เพชรบุรี เขตราชเทวี กทม 10400
โทร 02-6137140
Email vitavitac@gmail.com
Friends' blogs
[Add Vitamin_C's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.