หลงเสน่ห์เมืองเก่าที่ภูเก็ต


นอก
เหนือจากทะเลสีมรกตอันเลื่องชื่อของภูเก็ตแล้ว
เมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ยังคงซุกซ่อนสถาปัตยกรรมที่งดงามเหนือกาลเวลาอยู่ ณ
ใจกลางเมือง มาเที่ยวภูเก็ตคราวนี้จึงขอเดินชมเมืองให้หนำใจเสียหน่อยดีกว่า
การเดินนั้นไม่ใช่เรื่องยาก
เพราะถนนในเมืองเส้นเล็ก และส่วนใหญ่เป็นทางวันเวย์ 

  
ถนนแรกที่ควรเดินชมคือถนนถลางต่อเนื่องไปจนถึงถนนกระบี่
เริ่มตั้งแต่หัวมุมถนนถลางตัดกับถนนมนตรีมีพิพิธภัณฑ์
ตราไปรษณียากรภูเก็ต
ตั้งอยู่ในที่ทำการไปรษณีย์ภูเก็ต
สร้างมาตั้งแต่ปี 2475 เป็นอาคารชั้นเดียว
ภายในจัดแสดงไปรษณียากรหลายยุคหลายสมัย เปิดทุกวันอังคาร-วันเสาร์ ตั้งแต่
9.30-17.30 น. ถัดไปไม่ไกลมี สำนักงานททท. ภาคใต้
เขต 4 จ.ภูเก็ต
อยู่ติดกับสวนเฉลิมพระเกียรติ
72 พรรษา มหาราชินี
แม้เป็นอาคารสร้างใหม่เลียนแบบตึกโบราณ
แต่เชื่อเถอะว่าคุณต้องสะดุดตากับตึกสีส้มหลังนี้
จนอดใจที่จะถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกไม่ได้แน่ๆ 

  
ถึงสี่แยกถนนถลางตัดกับถนนเทพกระษัตรีแวะกิน โรตีบัง
หมีด
โรตีกินกับแกงเจ้าอร่อย ที่ช่วงเช้าๆ
คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวถึงกับต้องเข้าคิวรอกินเลยนะคะ มีแกงเขียวหวาน
แกงกะหรี่ และมัสมั่น ทั้งเนื้อวัวและเนื้อไก่ พิเศษสุดๆ ต้องใส่ไข่ด้วย
รับรองว่าอิ่มอร่อยจริงๆ ที่สำคัญเมื่อมานั่งกินโรตีตรงนี้แสดงว่าคุณมาถึง PHUKET OLD TOWN แล้วล่ะค่ะ
บริเวณนี้เคยเป็นเขตการค้าเก่า ที่คนจากอำเภออื่นมาซื้ออุปกรณ์ทำเหมืองแร่
แต่ปัจจุบันกลายเป็นเขตที่พักอาศัย เพราะตลาดสดและคิวรถไปหาดต่างๆ
ย้ายไปอยู่แถววงเวียนน้ำพุ แถวนี้จึงเงียบๆ มีร้านค้าไม่มากนัก



   ข้ามถนนจากร้านโรตี มายืนหน้าร้านขายรถจักรยานยนต์หัวมุมถนน
แล้วมองเข้าไปในถนนถลาง คุณจะเห็นลักษณะของบ้านเรือนที่เปลี่ยนไป
ตั้งแต่ตัวตึกแถว มีโครงสร้างอาคารและสถาปัตยกรรมเป็นแบบฝรั่งมากขึ้น
แต่ยังคงตกแต่งประตูหน้าต่างแบบจีน
ด้านหน้ากันพื้นที่บางส่วนเป็นทางเท้าให้คนผ่านไปผ่านมาได้เดินหลบแดดหลบฝน
เชื่อมต่อกันตลอดทั้งแนวตึก เรียกว่า "อาเขต
และปูพื้นทางเดินด้วยกระเบื้องโมเสกอย่างสวยงาม 

 
 ต้นถนนถลางส่วนนี้เป็นร้านผ้าโสร่งปาเต๊ะของแขกปากีสถานและคนจีนค่ะ
มีตั้งแต่ตัวละไม่กี่สิบบาทจนถึงตัวละเป็นหมื่น
มีนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นมาซื้อกันเป็นประจำ
ผู้หญิงภูเก็ตยังนิยมนุ่งผ้าโสร่งอยู่
โดยเฉพาะผู้ใหญ่หน่อยต้องใส่เสื้อลูกไม้ด้วย ถือว่าเป็นชุดออกงานที่เป็น
เอกลักษณ์ก็ว่าได้ ถัดจากแหล่งขายผ้าโสร่งไม่ไกลมี ภูเก็ต อาร์ต แกลลอรี่
แสดงผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ สับเปลี่ยนกันไปทั้งภาพวาด ภาพถ่าย
และงานปั้น คุณสามารถเข้าไปเดินชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ซอยรมณีย์ อยู่กึ่งกลางถนนถลาง
อดีตของซอยนี้เคยเป็นแหล่งเริงรมย์ มีหญิงงามจากมาเก๊ามาขายบริการ
ในซอยมีตึกแบบชิโนโปรตุกีสให้เดินชมต่อเนื่องกันหลายหลัง
และมีร้านกาแฟเล็กๆ
ไว้ให้เข้าไปนั่งพักด้วย ซอยนี้ยังทะลุถึงถนนดีบุกได้ ซึ่งเป็นถนนอีกเส้น
ที่น่าเดินเที่ยวเพราะมีอาคารสไตล์ชิโนโปตุกิสให้ดูอีกหลายหลัง และมีแหล่งอาหารจีนฮกเกี้ยนให้กินตรงหัวมุมถนนด้านที่ตัด
กับถนนเยาวราช แต่ถ้าเดินย้อนกลับมาถนนถลาง
ข้ามสี่แยกไฟแดงไปจะเจอถนนกระบี่ เดินไปอีกไม่ไกลเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว
ตัวแทนสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่ยังสมบูรณ์ เดิมเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน
แห่งแรกของประเทศไทย สร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2477
แต่เดี๋ยวนี้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตชาวจีนใน
ภูเก็ต เมื่อเดินเข้าไปคุณจะสัมผัสได้ถึงความลึกลับของตึกหลังนี้
โดยเฉพาะรูปปั้นค้างคาวตรงหน้าจั่วที่ช่วยเพิ่มความขลังได้เป็นอย่างดี
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่เปิดเป็นประจำ
หากอยากเข้าชมควรโทรแจ้งล่วงหน้าที่เบอร์โทรศัพท์ 0-7623-4482

  
ถ้าสนใจดู อั่งม้อหลาว หรือคฤหาสน์เก่า สุดถนนกระบี่มีบ้านชินประชา หรือจะไปบ้าน
หลวงอำนาจนรารักษ์

ที่ถนนดีบุกก็ได้ แต่บ้านเหล่านี้ยังมีคนอาศัยอยู่จึงควรชมความงามด้านนอก
เท่านั้น หรือหากต้องการเข้าไปในบริเวณบ้านควรขออนุญาตเจ้าของบ้านเสียก่อน

  
หากยังไม่เหนื่อยจะเดินต่อไปยังถนนเยาวราช ถนนพังงา ถนนกระบี่ และถนนรัษฎา
ก็มีตึกเก่าให้ดูเช่นกัน เช่น โรงแรมออน ออน ถนน
พังงา โรงแรมแห่งแรกในภูเก็ต เคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The
Beach ด้วย
ด้านหน้าโรงแรมมีร้านกาแฟโบราณเข้าไปนั่งจิบกาแฟชมตึกเก่าก็ได้อารมณ์ดี
หรือแวะดูของเก่าใน โรงแรมถาวร ถนนรัษฎา
ทั้งอุปกรณ์ทำเหมืองแร่ หัวแร่ดีบุก ตู้เซฟทำจากไม้ ถ้วยชาม
ธนบัตรและเหรียญเก่า รวมถึงใบปิดภาพยนตร์และอุปกรณ์ฉายหนัง
ที่สำคัญอย่าลืมไปดูลิฟต์ตัวแรกของภูเก็ตที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ตื่นลิฟต์ถึง
ขนาดชาวบ้านจากจังหวัดใกล้เคียงเหมารถมาดูกันเลยทีเดียว

  
นอกจากเดินชมสถาปัตยกรรมแล้ว
วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีนในภูเก็ตก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าศึกษา
ชาวจีนเหล่านี้อพยพมาจากสิงค์โปร์ ปีนัง
รวมถึงมณฑลฮกเกี้ยนในประเทศจีนตั้งแต่สมัยการทำธุรกิจเหมืองแร่ยังรุ่งเรือง
หล่อหลอมจนกลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ทั้งภาษา อาหาร
รวมถึงตึกสไตล์ชิโนโปรตุกีส 

  
สถานที่หลอมรวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนในภูเก็ตคือ อ๊าม
หรือศาลเจ้า
ค่ะ
วิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนในภูเก็ตเกี่ยวพันกับศาลเจ้าตั้งแต่แรกเกิด
เพราะชาวบ้านจะนำเด็กไปไหว้เจ้าเพื่อให้เทพเจ้าช่วยคุ้มครองสมาชิกใหม่
เมื่อโตขึ้นหน่อยพ่อแม่ก็มักพาลูกหลานไปช่วยงานหรือวิ่งเล่นที่ศาลเจ้าเป็น
ประจำ
เรื่องพิเศษอีกอย่างคือในวันแต่งงานบ่าวสาวจะพากันไปไหว้เจ้าเพื่อให้
เทพเจ้ารับทราบ ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้อาจหาไม่ได้อีกแล้วในท้องถิ่นอื่น 

  
งานประจำปีที่สำคัญที่สุดของภูเก็ตคือเทศกาลถือศีล
กินผัก หรือเทศกาลกินเจ
ทุกวันที่ 1-9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน
(ปีนี้ตรงกับวันที่ 22-30 ตุลาคม)
เป็นประเพณีอันโดดเด่นและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก
ชาวบ้านไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่จะมาช่วยงานกันอย่างแข็งขันทั้งทำความสะอาดศาล
เจ้า ทำอาหารเลี้ยงคนที่มาไหว้เจ้า
และทุกศาลเจ้าจะจัดงานร่วมกันหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน จึงถือได้ว่าเป็น
งานกระชับความสัมพันธ์ของชาวภูเก็ตครั้งใหญ่ที่มีเพียงปีละครั้ง
และไม่ควรพลาดชมเป็นอย่างยิ่ง

  
ลองเที่ยวภูเก็ตในมุมใหม่ดูบ้างแล้วจะพบว่าเมืองเก่าแห่งนี้มีดีมากกว่าที่
คุณคิด







Free TextEditor







































































































Create Date : 05 พฤษภาคม 2553
Last Update : 5 พฤษภาคม 2553 19:37:49 น. 0 comments
Counter : 186 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tongsehow
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add tongsehow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.