หลงกลิ่นชาในเมืองดอกไม้ “นูวารา เอลิยะ”



ด้วยระยะทางเพียง 90 กิโลเมตรจากเมืองแคนดี้ (Kandy)
เพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทาง “นู วารา เอลิยะ
(Nuwara Eliya)
เมืองสีมรกตที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงที่สุดในตอนกลางของประเทศศรีลังกา
หรือซีลอนในอดีต เราได้ใช้เวลาเดินทางหมดเปลืองไปมากกว่าห้าชั่วโมง


   รถของเรายังคงเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขาอันคดเคี้ยวราวกับเขาวงกต
จากถนนเลนกว้างเริ่มแคบ ลงไปเรื่อยๆ
จากโค้งป้านเริ่มเป็นโค้งแบบหักศอกถี่ขึ้น ทางหลวงสายแคบๆ เส้นนี้
บางช่วงรถต้องจอด หลีกหลบกัน มีทิวเขาที่สูงๆ ต่ำๆ สลับกับ
ทุ่งชาอันกว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตา
ทิวทัศน์บางช่วงเป็นทุ่งโล่งกว้างสีเขียว อยู่ๆ
ก็มีธารน้ำตกขนาดมหึมาโผล่ตัวออกมาอวด ความงาม
สายน้ำขาวโพลนไหลหลั่งเสียงดังเซ็งแซ่
ตามแนวหน้าผาสูงชันบนเขาเทือกนี้มีการปลูกหญ้า
แฝกซ้อนทับหลายชั้นเพื่อกันดินถล่มไว้ด้วย
มีดงดอกไม้ป่านานาพันธุ์เกี่ยวเกาะห้อยอยู่ตามขอบผา
ทั้งดอกมอร์นิ่งกอรี่สีม่วงครามและดอกไอริสป่าสีส้มแจ๋น
แข่งกันผลิบานไปทั่วทั้งเขา


   หน้าไร่ชาริมทางหลายแห่งเป็นที่ตั้งของโรงผลิต
ชา หรือ โรงบ่มใบชา
ซึ่งมีขนาดใหญ่โตโอฬาร
ป้ายชื่อแต่ละแบรนด์ล้วนเป็นยี่ห้อคุ้นตาทั้งนั้น
บางโรงผลิตชายังเปิดเป็นร้านอาหารและมีห้องน้ำ สะอาดไว้บริการนักท่องเที่ยว
บางโรงบ่มชาอนุญาตให้เจาะเข้าไปชมการผลิตถึงภายในโรงงานเลย ทีเดียว
และเกือบจะทุกโรงบ่มชาต้องมีผลิตภัณฑ์จากใบชาจำหน่าย


   บางชนิดถูกแต่งรสด้วยเครื่องเทศ หรือ“Spice Tea”
จะมีกลิ่นหอมเร่าร้อน เช่น ชาผสมซินามอนหรือ อบเชย ชาผสมพริกไทยดำ
ชาผสมลูกจันทน์ และชาผสมกานพลูที่ช่วยให้ ปากและลมหายใจหอมที่สุด
นี่ยังไม่รวมชาที่ผสมเครื่องแกงต่างๆ อีก บางชนิดอร่อยลิ้นจนซู่ซ่า
ยังมีชาที่ประทับใจมากอีกแบบคือ “ชานม” หรือเรียกว่า “เมกที”
ซึ่งเป็นชาที่คนพื้นถิ่นนิยมดื่มกัน คือเขาจะชงชาดำแก่ๆ แล้วใส่
นมข้นหวานลงไป จากนั้นก็ใส่น้ำตาลทรายลงไปด้วย น้ำชาจะมีสีส้มนวลสวย
รสชาติหอมกรุ่นมีรส หวานนำ



   ชาซีลอนมีหลายเกรด เกรดชั้นดีเลิศหรือระดับเอลิสต์เรียกว่า B O P F
ย่อมาจากคำว่า Broken Orange Peko Fine ถือว่าเป็นชาชั้นเยี่ยมยอด
ให้รสชาติหอมละมุน รองลงมาคือ แบบ B O P ซึ่งยังถือว่า อยู่ในเกรดเดอะเบส
แต่รสชาติจะเข้มกว่าแบบแรก ต่อไปคือชาที่เป็นแบบเศษผง หรือเรียกว่า Dust 1
กับ Dust 2 ชาประเภท Dust นี้ จะทำขายในรูปของผงชาบรรจุซอง
หรือแบบถุงที่มีเชือกผูก ให้ชงดื่มใน น้ำร้อน แบบจุ่มใส่ถ้วยชา


  
ถ้าได้มาถึงศรีลังกาแล้วคุณจะต้องไม่พลาดที่จะต้องลองลิ้มชิมน้ำชาที่ใส่
น้ำตาลพื้นบ้านของเขา ด้วย แต่ไม่ใช่น้ำตาลพื้นๆ อย่าง น้ำตาลอัดก้อน
น้ำตาลกรวด หรือน้ำตาลทรายแดง แต่น้ำตาลที่ว่าคือ “น้ำตาลปึก”
เป็นน้ำตาลที่เคี่ยวมาจากน้ำตาลจาก“ต้นเต่าร้าง” (Plam Fish Tail)


   ต้นเต่าร้างของที่นี่ไม่เหมือนเต่าร้างบ้านเราที่ลำต้นมีหนามแหลมยาว
ใบและผลทำให้คันขะเยอ ต้นเต่าร้างเมืองนี้ไม่มีหนาม ลำต้นอวบอ้วนโต
ใบใหญ่หนานิ่มจนลู่ มีขึ้นพรึ้บให้เห็นผ่านตาตลอดสองข้างทางในหุบเขา
เขาจะกรีดน้ำตาลที่บริเวณลำต้นเหมือนการกรีดยาง พอได้น้ำตาลแล้วก็เอาไป
เคี่ยวจนงวด หยอดใส่ในกะลามะพร้าว
พอแห้งแล้วคว่ำออกมาจะได้น้ำปึกเป็นรูปครึ่งวงกลมก้อน เบ้อเริ่ม
สีสันเหมือนน้ำตาลคาราเมล สวยสดฉ่ำไม่ซีดขาวเหมือนน้ำตาลปึกจากน้ำตาลโตนด
หรือ น้ำตาลมะพร้าวบ้านเรา


   ต้นเต่าร้างที่นี่นอกจากให้ประโยชน์แก่มนุษย์แล้ว
สัตว์คู่บ้านคู่เมืองซีลอนอย่างช้างก็ได้กินต้น และใบเต่าร้างแทนอ้อย
เพราะน้ำตาลจากต้นเต่าร้างมีส่วนประกอบของน้ำตาลฟรุกโตส คือกินแล้ว
จะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่ม
ดังนั้นไม่ว่าคนหรือช้างเมืองนี้จึงปลื้มกับการกินน้ำตาลจากต้นเต่าร้าง
ตามโรงแรมระดับสี่ถึงห้าดาว
ในทุกมื้ออาหารเช้าคุณจะได้พบปะหน้าตาของน้ำตาลเต่าร้าง
บนโต๊ะบุฟเฟ่ต์เสมอๆ จะหั่นไว้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมเล็กๆ
รสชาติหอมหวานอร่อยลิ้น ชาร้อนทุกมื้อ
ควรหย่อนน้ำตาลปึกเต่าร้างลงไปสักก้อน การันตีเลยว่าชาถ้วยนั้นจะเป็นชาหอม
รสเลิศที่สุด


   หลังจากได้ช็อปฯ กระหน่ำจนกระเป๋าแบนแฟ่บไปแล้ว เราจึงออกเดินทางต่อ
สักพักใหญ่ก็มาถึงใจกลางเมืองนูวารา เอลิยะ
ค่ำนี้เราจะพักในโรงบ่มชาโบราณสุดงามซึ่งมีประวัติยาวยืด ปัจจุบันถูก
ดัดแปลงเป็นโรงแรมสุดหรูชื่อ “The Tea Factory &
Spa Kanapola”
ตั้งอยู่กลางหุบเขา โอบล้อมด้วยทุ่งชาเขียวขจี
และยังการันตีด้วยรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางด้านสถาปัตยกรรมดีเด่นในภูมิภาค
เอเซีย แปซิฟิกแห่งองค์กรยูเนสโกประจำปี 2001 “The Unesco Asia –Pacific
Heritage 2001” อีกด้วย


   เรายังพอมีเวลาชิลๆ ที่จะไปเดินทอดน่องยืดเส้นขยับเอ็นกันในเมือง ตลาดวันนี้ละลานตาไปด้วยผลหมากรากไม้สีสันสดสวย
มะม่วงพื้นถิ่นผิวสีสดเหมือนสีขนนกมาคอร์ อะโวคาโดลูกยักษ์กองเท่าภูเขา
ผิวมันวาวอย่างกับเคลือบแว๊กซ์เอาไว้ ยังมีลูกตะขบป่าสีแดงเชอร์รี่
ที่กองอยู่ในตะกร้าผลใหญ่เกือบเท่าพุทรากลิ่นก็ห้อมหอม
ลิ้มลองแล้วหวานกรอบหอมอร่อยดั่ง ผลไม้ทิพย์ ยังมีกล้วยอีกหลากชนิด
ที่นี่ห้อยขายกันเป็นเครือ ถ้าจะซื้อเป็นหวีก็เฉือนแบ่งขายให้


   จากตลาดเราเดินไปชมสิ่งก่อสร้างกลางเมืองที่สะดุดตามาก นั่นก็คือ ที่ทำการไปรษณีย์
ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษจ๋าเลย
ยังมีแปลงดอกไม้ที่ถูกปลูกประดับไว้ทั่วทั้งเมือง
ดอกไม้บางชนิดเหมือนกับที่ขึ้นอยู่ในแถบยุโรป เช่น ดอกป๊อปปี้ป่าสีส้มแปร๋น
ดอกลิลลี่สีหวาน ส่วนกุหลาบบ้าน
กุหลาบป่ากอใหญ่สาดสีส่งกลิ่นหอมหวนไปทั่วบริเวณ


   เมื่อย้อนไปในช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครองศรีลังกา นูวารา เอลิยะ
เป็นเมืองที่ชาวอังกฤษนิยมสร้างบ้านพักตากอากาศเพื่อใช้ในช่วงฤดูร้อน
เพราะมีทัศนียภาพสวยงาม และอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี
ตึกรามบ้านช่องที่นี่นำแบบมาจากอังกฤษทั้งนั้น
และหลังจากศรีลังกาได้รับเอกราชแล้ว
ชาวอังกฤษยังได้ทิ้งวัฒนธรรมการดื่มชาไว้อีกด้วย


   ปัจจุบัน เมืองนูวารา เอลิยะ เป็นแหล่งปลูกชาส่งออก
และมีธุรกิจโรงผลิตชาที่ยิ่งใหญ่ และมากที่สุดในประเทศ โลกของ “ชา”
ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ ยังมีตำนานชาที่น่าสืบค้นอีกมากมาย และมีชาซีลอน
วิเศษอีกหลากหลายที่ชวนให้ผู้คนจากทั่วโลกแวะไปลิ้มลอง และด้วยเหตุนี้
นูวารา เอลิยะ จึงเป็นเมือง ที่ไม่เคยระเหิดหายไปจากกลิ่นหอมของดอกไม้
และใบชา







Free TextEditor







































































































Create Date : 05 พฤษภาคม 2553
Last Update : 5 พฤษภาคม 2553 7:37:13 น. 0 comments
Counter : 199 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tongsehow
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add tongsehow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.