Group Blog
 
All blogs
 
พระราชอำนาจ (พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ)

แล้ว นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ลงนาม พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 84 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2554 นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คุณอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา บอกว่า บัญชีแนบท้าย คดีทุจริตคอรัปชัน และ คดียาเสพติด ยังมีอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ตัดออกไป

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เจ้าของเรื่อง ก็ออกมายืนยันว่า ไม่มีการตัดทอนหรือเพิ่มเติมสาระสำคัญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมอยู่ในรายชื่อผู้ขอรับพระราชทานอภัยโทษด้วย ขอเอาตำแหน่งเป็นประกัน

ใน ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ประธานในที่ประชุมครม.ลับ เพื่อพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ก็ยืนยันเหมือนกันว่า เป็นไปตามหลักการเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วเสนอเอาไว้ ไม่ได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ยังมีความคิดที่จะคืนความเป็นธรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าทำก็จะเสนอเป็น “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม” ผ่านทางสภาไปเลย กำลังรอดูวันเวลาอยู่

ก็เป็นอันว่า พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ให้นักโทษ 26,000 คน ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปีนี้ ไม่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างที่เป็นข่าว

การเมืองที่ทำท่าจะร้อนฉ่าขึ้นมาท่ามกลางน้ำท่วม ก็เย็นลงไปเรียบร้อย

ประเด็น ที่ผมจะยกขึ้นมาถกกันในวันนี้ก็คือ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เป็น “พระราชอำนาจ” ของ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ที่จะพระราชทานให้ใคร หรือไม่ให้ใคร ใช่หรือไม่ วันก่อน รองนายกฯเฉลิม ก็ออกมาแถลงว่า เรื่องนี้เป็นพระราชอำนาจ รัฐบาลยังเปิดเผยไม่ได้ พวกที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่รู้กาลเทศะ

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย แต่มีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอธิบายให้ผมฟังว่า พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ก็เหมือนพระราชกฤษฎีกาทั่วไป เช่น พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ฯลฯ เป็นความต้องการของรัฐบาลเอง เมื่อเสนอเป็นพระราชกฤษฎีกาทูลเกล้าฯถวายขึ้นไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ไม่ได้เป็น “พระราชทาน” ที่จะ ทรงอนุมัติ หรือ ไม่ทรงอนุมัติ

ตัวอย่าง เช่น พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน เพื่อเวนคืนไปสร้างสาธารณูปโภค เช่น ถนน รถไฟใต้ดิน เมื่อรัฐบาลนำ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ไม่ได้ใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยว่า ฉบับนี้ให้ ฉบับนี้ไม่ให้ ที่สำคัญ ใน พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินก็ไม่ได้มีการระบุว่าเป็นที่ดินของใคร

พระราช กฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อรัฐบาลเห็นชอบให้มีการเสนอพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธย เหมือนพระราชกฤษฎีกาทั่วไปทุกฉบับ ไม่ได้มีการใช้ “พระราชอำนาจ” วินิจฉัยว่า ฉบับนี้ให้ ฉบับนี้ไม่ให้ ส่วนรายละเอียด รายชื่อผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก็เป็น “หน้าที่ของรัฐบาล” เป็นผู้กำหนดรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามกฎเกณฑ์ ไม่ใช่เป็น “พระราชอำนาจ” ที่จะให้อภัยโทษคนนี้ และไม่ให้อภัยโทษคนนั้น

การบอกว่าเป็น “พระราชอำนาจ” จึงไม่ถูกต้อง

ฟัง ผู้หลักผู้ใหญ่ที่รู้เรื่องกฎหมายอธิบายมาชัดเจนอย่างนี้ ผมก็นำมาเล่าสู่กันฟังต่อเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อรัฐบาลต้องการขอพระราชทานอภัยโทษให้ใคร ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำหนดเอง พิจารณารายชื่อเอง พระองค์ท่านทรงมีแต่ความเมตตาต่อพสกนิกรทุกคน จึงไม่บังควรนำเรื่องที่เกี่ยวโยงกับการเมืองไปให้พระองค์ท่านรับผิดชอบแทน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

ที่มา: ไทยรัฐ ออนไลน์ โดย ลม เปลี่ยนทิศ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2554


Create Date : 24 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2554 8:59:24 น. 0 comments
Counter : 920 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

rangsitk4
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add rangsitk4's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.