บุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ...ภัทเทกรัตตสูตร

ภัทเทกรัตตสูตร

[๕๒๗] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง

ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆได้
บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด


พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่า ความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย

พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้
มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ



[๕๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร

คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า
เราได้มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว



[๕๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร

คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า
เราได้มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว



[๕๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร

คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า
ขอเราพึงมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ในกาลอนาคต


[๕๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร

คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า
ขอเราพึงมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ในกาลอนาคต



[๕๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร

คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ฯลฯ
ย่อมเล็งเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง
เล็งเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง


[๕๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร

คือ อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ ฯลฯ
ย่อมไม่เล็งเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง
ไม่เล็งเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง



[๕๓๔] บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง

ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆได้
บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆให้ปรุโปร่งเถิด


พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย

พระมุนีผู้สงบย่อมเรียก บุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้
มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ


จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค ภัทเทกรัตตสูตร

......................................

^
สรุป

ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร
คือ ปุถุชน ฯลฯ
ย่อมเล็งเห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาว่ามีขันธ์ ๕ บ้าง
เล็งเห็นขันธ์ ๕ ในอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาในขันธ์ ๕ บ้าง


ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร
คือ พระอริยสาวก ฯลฯ
ย่อมไม่เล็งเห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีขันธ์ ๕ บ้าง
ไม่เล็งเห็นขันธ์ ๕ ในอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาในขันธ์ ๕ บ้าง


พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่า ความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย

พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้
มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ



ความเพียรมีผล ความพยายามมีผล
ต้องทำความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้วว่า
รูป อุปมาด้วย กลุ่มฟองน้ำ
เวทนา อุปมาด้วย ฟองน้ำ
สัญญา อุปมาด้วย พยับแดด
สังขาร อุปมาด้วย ต้นกล้วย
วิญญาณ อุปมาด้วย กล


ทรงเปรียบ ขันธ์ ๕ กับสิ่งอันหาสาระอะไรมิได้เลย แปรปรวนเสื่อมสิ้นเกิดดับตลอดเวลา

เบญจขันธ์ เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง
เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีในเบญจขันธ์นี้

ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วมีสัมปชัญญะ มีสติ
พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน

ภิกษุเมื่อปรารถนาบทอันไม่จุติ (นิพพาน)
พึงละสังโยชน์ทั้งปวง พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน
พึงประพฤติ ดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้


^
พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน โดยการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔
เริ่มจากอานาปานสติ บรรพะแรกครับ

“อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ,
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ,
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสตินี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น
ทำให้บ่อยๆแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์,

สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์,

โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชาจิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์ ดังนี้”



ยินดีในธรรมทุกๆท่านครับ






 

Create Date : 29 ตุลาคม 2552   
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2552 9:12:22 น.   
Counter : 595 Pageviews.  

พรรณนาคุณพระขีณาสพ...นิคมคาถา...

พรรณนาคุณพระขีณาสพ

พระพุทธเจ้าข้า
ภูเขาล้วนแล้วด้วยศิลา ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันออก...
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันตก ....
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศเหนือ ....
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศใต้
ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหวสะเทือนสะท้านไม่ได้เลย
แม้ฉันใด.

พระพุทธเจ้าข้า
แม้หากรูปารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยจักษุ ผ่านมาสู่คลองจักษุ...
แม้หากสัททารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยโสต ผ่านมาสู่คลองโสต...
แม้หากคันธารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยฆานะ ผ่านมาสู่คลองฆานะ...
แม้หากรสารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยชิวหา ผ่านมาสู่คลองชิวหา...
แม้หากโผฏฐัพพารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยกาย ผ่านมาสู่คลองกาย...
แม้หากธรรมารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยมโน ผ่านมาสู่คลองใจ

ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้
ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย

จิตของภิกษุนั้นอันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้
เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว

และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นความเกิดและความดับของจิตนั้น
ฉันนั้นเหมือนกันแล.

นิคมคาถา

[๔] ภิกษุน้อมไปสู่บรรพชา ๑
ผู้น้อมไปสู่ความเงียบสงัดแห่งใจ ๑
ผู้น้อมไปสู่ความไม่เบียดเบียน ๑
ผู้น้อมไปสู่ความสิ้นอุปาทาน ๑
ผู้น้อมไปสู่ความสิ้นตัณหา ๑
ผู้น้อมไปสู่ความไม่หลงไหลแห่งใจ ๑

ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดยชอบ
เพราะเห็นความเกิด และความดับแห่งอายตนะ

ภิกษุมีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบ มีจิตสงบนั้น
ไม่ต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว กิจที่จำจะต้องทำก็ไม่มี

เปรียบเหมือนภูเขาที่ล้วนแล้วด้วยศิลาเป็นแท่งทึบอันเดียวกัน
ย่อมไม่สะเทือนด้วยลม ฉันใด

รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์
ทั้งที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนาทั้งสิ้น
ย่อมทำท่านผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉันนั้น

จิตของท่านตั้งมั่น หลุดพ้นแล้ว
ท่านย่อมพิจารณาเห็นความเกิด และความดับของจิตนั้นด้วย.


จากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรคภาค ๒
พรรณนาคุณพระขีณาสพ-นิคมคาถา


...............................................

^
โดยอธิบาย อารมณ์...
รูปารมณ์ (อารมณ์ คือ รูป)
สัททารมณ์ (อารมณ์ คือ เสียง)
คันทารมณ์ (อารมณ์ คือ กลิ่น)
รสารมณ์ (อารมณ์ คือ รส)
โผฏฐัพพารมณ์ (อารมณ์ คือ กายสัมผัส)
ธรรมารมณ์ (อารมณ์ คือ ความนึกคิดในใจ)

ทรงเปรียบ อารมณ์ (คือ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธรรมารมณ์)
เหมือน ลม

เปรียบอารมณ์เข้าสู่จิตได้ทางอายตนะทั้ง ๖(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
เหมือนลมพัดมากระทบภูเขาศิลาทางทิศต่างๆ(เหนือ ใต้ ออก ตก)

เปรียบจิตของพระภิกษุที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเมื่อกระทบอารมณ์
เหมือน ภูเขาศิลาไม่สะท้านสะเทิอนด้วยแรงลม

นั่นคือ อารมณ์ทั้งหลาย(รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธรรมารมณ์)
ไม่ว่าจะเข้ามาสู่จิตทางอายตนะใด (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
ก็ไม่สามารถทำให้จิตของพระภิกษุที่ตั้งมั่นหวั่นไหวได้


เหมือน ลม ไม่ว่าจะพัดมาจากทิศทางใด
ก็ไม่สามารถทำให้ภูเขาศิลาสะท้านสะเทือนได้
....ฉันใด ฉันนั้น...



ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดยชอบ
เพราะเห็นความเกิดและความดับแห่งอายตนะ

จิตของท่านตั้งมั่นหลุดพ้นแล้ว
ท่านย่อมพิจารณาเห็นความเกิดและความดับของจิตนั้นด้วย


^
(ข้อสังเกต :-
พระสูตรแทบทุกสูตรที่มีมา จะพูดย้ำ ๒ ครั้ง ตอนขึ้นต้นและลงท้าย
นั่นคือ ความหมายของส่วนตอนต้นและตอนท้ายนั้นจะเป็นทำนองเดียวกัน)


ณ ตรงนี้ ก็เช่นกัน ส่วนต้นและส่วนท้ายก็มีความหมายเดียวกัน
นั่นคือ หมายแสดงให้เห็นว่า

ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้น
ย่อมเห็นความเกิดดับของอารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะทั้ง ๖

จิตของท่านหลุดพ้น ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวแล้ว
ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดและความดับของจิตสังขาร
หรืออารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะ ๖ นั่นเอง


โดยอธิบาย
อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธรรมารมณ์
เมื่ออายตนะภายใน ๖ และภายนอก ๖ ผัสสะกันเป็นคู่
ทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นที่จิต (รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันทารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธรรมารมณ์)
ซึ่งอารมณ์เหล่านี้จะปรุงแต่งจิต ทำให้จิตหวั่นไหวไปตามอารมณ์(จิตสังขาร)
ทำให้เกิด เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามมา หรือก็คือ ขันธ์ ๕ นั่นเอง

แต่ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้น จิตของท่านตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ตั้งมั่นอยู่โดยลำพังตนเอง โดยไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ใดๆ


อารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะ ๖ ก็สักแต่ว่าเป็นอารมณ์
ไม่ได้เป็นอารมณ์ของจิต เพราะจิตท่านตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์แล้ว

ดังนั้นถึงอารมณ์จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
จิตของท่านก็ไม่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามอารมณ์เหล่านั้น
คงเป็นเพียงรู้สักว่ารู้ เห็นสักว่าเห็น
...โดยประการฉะนี้



ยินดีในธรรมทุกๆท่านครับ






 

Create Date : 24 กันยายน 2552   
Last Update : 9 ตุลาคม 2552 19:07:41 น.   
Counter : 815 Pageviews.  

เผณปิณฑสูตร ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕

เผณปิณฑสูตร (ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕)

[๒๔๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาใกล้อยุชฌบุรี.
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้ พึงนำกลุ่มฟองน้ำใหญ่มา
บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณากลุ่มฟองน้ำใหญ่นั้นโดยแยบคาย

เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย
กลุ่มฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่าหาสาระมิได้เลย

สาระในกลุ่มฟองน้ำ พึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้
ภิกษุย่อมเห็นเพ่ง พิจารณารูปนั้นโดยแยบคาย

เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย
รูปนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้

สาระในรูปพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเมล็ดหยาบตกอยู่ในสรทสมัย
ฟองน้ำในน้ำ ย่อมบังเกิดขึ้นและดับไป
บุรุษผู้มีจักษุ พึงเห็น เพ่ง พิจารณาฟองน้ำนั้นโดยแยบคาย

เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย
ฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย

สาระในฟองน้ำนั้นพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด.

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้
ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาเวทนานั้นอยู่โดยแยบคาย

เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย
เวทนานั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้

สาระในเวทนาพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่
พยับแดด ย่อมเต้นระยิบระยับในเวลาเที่ยง
บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณา พยับแดดนั้นโดยแยบคาย

เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย
พยับแดดนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย

สาระในพยับแดดพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด.

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้
ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาสัญญานั้นอยู่โดยแยบคาย

เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย
สัญญานั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้

สาระในสัญญาพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการด้วยไม้แก่น
เสาะหาไม้แก่น เที่ยวแสวงหาไม้แก่นอยู่
ถือเอาจอบอันคม พึงเข้าไปสู่ป่า

บุรุษนั้นพึงเห็นต้นกล้วยใหญ่ ตรง ใหม่ยังไม่เกิดแก่นในป่านั้น
พึงตัดโคนต้นกล้วยนั้นแล้วจึงตัดปลาย แล้วจึงปอกกาบใบออก
บุรุษนั้นปอกกาบใบออก ไม่พึงได้แม้กระพี้ในต้นกล้วยใหญ่นั้น
จะพึงได้แก่นแต่ที่ไหน
บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคายซึ่งต้นกล้วยใหญ่นั้น

เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย
ต้นกล้วยใหญ่นั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาแก่นมิได้

แก่นในต้นกล้วยพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด.

สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้
ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาสังขารนั้นโดยแยบคาย

เมื่อภิกษุนั้นเห็นเพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย
สังขารนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้

สาระในสังขารทั้งหลายพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๒๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักเล่นกลหรือลูกมือนักเล่นกล
พึงแสดงกลที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง
บุรุษผู้จักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณากลนั้นโดยแยบคาย

เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย
กลนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้

สาระในกลพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด[.

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้
ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย

เมื่อภิกษุเห็น เพ่งพิจารณาวิญญาณนั้นโดยแยบคาย
วิญญาณนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้

สาระในวิญญาณพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ฯลฯ
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้.

*
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

[๒๔๗] พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้วว่า

รูป อุปมาด้วย กลุ่มฟองน้ำ
เวทนา อุปมาด้วย ฟองน้ำ
สัญญา อุปมาด้วย พยับแดด
สังขาร อุปมาด้วย ต้นกล้วย
และ วิญญาณ อุปมาด้วย กล

ภิกษุย่อมเพ่งพิจารณาเห็นเบญจขันธ์นั้นโดยแยบคายด้วยประการใดๆ
เบญจขันธ์นั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ด้วยประการนั้นๆ


ก็การละธรรม ๓ อย่าง อันพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาดังแผ่นดินปรารภกายนี้
ทรงแสดงแล้ว ท่านทั้งหลายจงดูรูปอันบุคคลทิ้งแล้ว.

อายุ ไออุ่น และวิญญาณย่อมละกายนี้เมื่อใด
เมื่อนั้น กายนี้อันเขาทอดทิ้งแล้วย่อมเป็นเหยื่อแห่งสัตว์อื่น
หาเจตนามิได้ นอนทับถมแผ่นดิน.
นี้เป็นความสืบต่อเช่นนี้ นี้เป็นกลสำหรับหลอกลวงคนโง่

เบญจขันธ์ เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง
เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีในเบญจขันธ์นี้.

ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วมีสัมปชัญญะ มีสติ
พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน.

ภิกษุเมื่อปรารถนาบทอันไม่จุติ (นิพพาน)
พึงละสังโยชน์ทั้งปวง พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน
พึงประพฤติ ดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้.


จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ ปุปผวรรค เผณปิณฑสูตร

...........................................

^

เผณุปิณฑสูตร เป็นพระสูตรว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ดังข้อความในบาลีมีว่า

เผณุปิณฺฑูปมํ รูปํ
เวทนา ปุพฺพลูปมา
มริจิกูปมา สญฺญา
สงฺขารา กทลูปมา
มายูปมญฺจ วิญญาณํ
เทสิตาทิจฺจพนฺธุนา

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้วว่า
รูป อุปมาด้วย กลุ่มฟองน้ำ
เวทนา อุปมาด้วย ฟองน้ำ
สัญญา อุปมาด้วย พยับแดด
สังขาร อุปมาด้วย ต้นกล้วย
วิญญาณ อุปมาด้วย กล


ทรงเปรียบ ขันธ์ ๕ กับสิ่งอันหาสาระอะไรมิได้เลย แปรปรวนเสื่อมสิ้นเกิดดับตลอดเวลา

เบญจขันธ์ เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง
เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีในเบญจขันธ์นี้

ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วมีสัมปชัญญะ มีสติ
พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน

ภิกษุเมื่อปรารถนาบทอันไม่จุติ (นิพพาน)
พึงละสังโยชน์ทั้งปวง พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน
พึงประพฤติ ดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้


^
พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน โดยการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔
เริ่มจากอานาปานสติ บรรพะแรกครับ

“อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ,
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ,
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสตินี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น
ทำให้บ่อยๆแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์,

สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์,

โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชาจิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์ ดังนี้”



ยินดีในธรรมทุกๆท่านครับ







 

Create Date : 29 สิงหาคม 2552   
Last Update : 9 ตุลาคม 2552 19:09:26 น.   
Counter : 860 Pageviews.  

อัสสุตวตาสูตร...จิตเป็นต้นนั้น...จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง...

อัสสุตวตาสูตร



๑.ไฉนจึงทรงเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ ว่า
จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ???

รูปร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณธาตุ(ธาตุรู้ = จิต)
( อ้างอิงจาก “วิภังคสูตร” )

มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแห่ง รูปขันธ์
ผัสสะ เป็นปัจจัยแห่ง เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์
รูปและนาม เป็นปัจจัยแห่ง วิญญาณขันธ์

( อ้างอิงจาก “มหาปุณณมสูตร” )

มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแห่งรูป
(รูปที่ไม่มีจิตครอง เรียก อนุปาทินกสังขาร เช่น ก้อนหิน ดิน ทราย)
รูปชนิดนี้ประกอบด้วยธาตุ ๔ ไม่มีธาตุรู้(จิต) จึงรู้อะไรไม่ได้

มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแห่งรูปขันธ์ (รูปร่างกาย)
(รูปที่มีจิตครอง เรียก อุปาทินกสังขาร)
รูปร่างกายมนุษย์ ประกอบด้วยธาตุ ๔ + ธาตุรู้(จิต) ดังนั้นมนุษย์จึงรู้อะไรได้

รูปขันธ์ มีอายตนะภายใน ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เป็นช่องทางของจิตในการติดต่อกับอารมณ์
(รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์)

อายตนะภายใน ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อผัสสะกับ
อายตนะภายนอก ๖ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธัมมารมณ์ (เป็นคู่ตามลำดับ )
ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ หรือนามขันธ์ ๔ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูปขันธ์ ๑ และนามขันธ์ ๔ รวมเป็นขันธ์ ๕
หรือก็คือ อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ นั่นเอง
หรือเรียกว่า จิตสังขาร (จิตที่ปรุงแต่งไปตามอารมณ์)


จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง หรือ จิตเป็นต้นนั้น ที่ทรงตรัสถึง
ก็คือ จิตที่ผสมอารมณ์แล้วเกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์
หรือ จิตสังขาร หรือ ขันธ์ ๕ นั่นเอง.


๒.ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่อาจเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นได้เลย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะว่าจิตเป็นต้นนี้ อันปุถุชนมิได้สดับ รวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฐิ
ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา

นั่นก็คือ
ปุถุชน จิตถูกอวิชชาครอบงำ เกิดตัณหา อุปาทาน ยึดถือขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน
ปุถุชน ไม่อาจเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ได้เลย

แต่พระอริยสาวก เห็นขันธ์ ๕ ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงว่า
ขันธ์ ๕ไม่ใช่ของเรา ขันธ์ ๕ไม่เป็นเรา ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตนของเรา

ย่อมเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด จิตจึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในขันธ์ ๕




พระพุทธพจน์ส่วนนี้ ผู้ศึกษาจำนวนมาก ยึดเอาตามตัวหนังสือที่เห็น
ที่พระองค์ตรัสว่า
“การยึดถือเอาร่างกายเป็นตนยังชอบกว่าการยึดถือเอาจิตเป็นตน”
โดยขาดความเฉลียวใจถึงความนัยที่ซ่อนไว้

โปรดสังเกตพระพุทธพจน์ที่มีมา
เมื่อทรงตรัสถึง ปุถุชน(คนหนาด้วยกิเลส )
จะมีนัยที่ตรงกันข้ามกับพระอริยสาวกเสมอ


พระพุทธพจน์ส่วนนี้ก็เช่นกัน ทรงหมายให้เห็นว่า

ปุถุชนผู้มิได้สดับยึดถือเอาร่างกายเป็นตน ชอบกว่า...
เพราะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่า
ร่างกายนี้มีอายุ ๑ ปีบ้าง...๒ ปีบ้าง...ร้อยปีบ้าง...เป็นต้น

แต่พระตถาคตทรงเห็นมากกว่านั้น
ทรงเห็นว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔+ธาตุรู้(จิต)
เพราะมีจิตครอง จึงทำให้เกิดเป็นขันธ์ ๕ ขึ้น
หรือก็คืออารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ หรือ จิตสังขารนั่นเอง

และขันธ์ ๕ เกิดขึ้นที่จิตและดับไปจากจิต ตลอดเวลาทั้งกลางคืนและกลางวัน




ทรงเปรียบ จิต เหมือน วานร

จิตมีดวงเดียว ท่องเที่ยวไปสู่ที่ไกลได้ (เอกจรํ)
วานรตัวเดียว เที่ยวไปในป่าใหญ่

วานรจับกิ่งไม้ เปรียบเหมือน จิตผสมอารมณ์

ปล่อยกิ่งนั้น ยึดเอากิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่ยึดเดิม เหนี่ยวกิ่งใหม่ต่อไป
เหมือนจิตปล่อยอารมณ์นั้น ผสมอารมณ์อื่น ปล่อยอารมณ์เดิม ผสมอารมณ์ใหม่ต่อไป
ตลอดเวลาทั้งกลางคืนและกลางวัน

นั่นก็คือ จิตปรุงแต่งไปตามอารมณ์
ทำให้เกิดขันธ์ ๕ ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
จึงทรงให้พระสาวกพิจารณาขันธ์ ๕ ทั้งกลางวันและกลางคืน


ดังปรากฏใน เผณปิณฑสูตร ความว่า

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้วว่า
รูปอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ
เวทนาอุปมาด้วยฟองน้ำ
สัญญาอุปมาด้วยพยับแดด
สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย
และวิญญาณอุปมาด้วยกล.

ภิกษุย่อมเพ่งพิจารณาเห็นเบญจขันธ์นั้นโดยแยบคายด้วยประการใดๆ
เบญจขันธ์นั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ฯลฯ

นี้เป็นความสืบต่อเช่นนี้ นี้เป็นกลสำหรับหลอกลวงคนโง่
เบญจขันธ์เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง
เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีในเบญจขันธ์นี้.

ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วมีสัมปชัญญะ มีสติ
พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน.

ภิกษุเมื่อปรารถนาบทอันไม่จุติ (นิพพาน) พึงละสังโยชน์ทั้งปวง
พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน พึงประพฤติดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้
.



ปุถุชน จิตมีอวิชชาครอบงำ ทำให้หลงผิดยึดขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน
ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นที่จิต


ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิด
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
...ฯลฯ...
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวง จึงมีด้วยประการ อย่างนี้


พระอริยสาวกปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ตามเสด็จพระบรมศาสดา
จิตหลุดพ้นจากการยึดขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน เกิดวิชชาขึ้นที่จิตแทนที่
เพราะอวิชชาดับไปจากจิต ทุกข์จึงดับไปจากจิต


ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ
เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารจึงไม่มี เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เมื่อสังขารไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
...ฯลฯ...
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ อย่างนี้


อ่าน มหาศักยมุนีโคตมสูตร ปฏิจจสมุปบาทธรรมฝ่ายเกิด-ฝ่ายดับ



โดยทั่วไปที่มีมาในพระสูตรอื่นๆ จะเขียนไว้ชัดเจน
และเป็นอันเข้าใจตรงกันว่า

พระอริยสาวก ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนด
เพราะคลายกำหนัด จิตจึงหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ฯลฯ

พระอริยสาวก จิตหลุดพ้นจากการถือมั่นว่าขันธ์ ๕ เป็นตน
เพราะจิตรู้อยู่ เห็นอยู่ว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่ขันธ์ ๕
ถึงขันธ์ ๕ จะแปรปรวนไป จิตหาแปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไปไม่


(อ้างอิง นกุลปิตาสูตร)

ส่วนปุถุชน เมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวนไป จิตก็แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป
เพราะจิตมีอวิชชาครอบงำ ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
เพราะไม่ได้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามเสด็จพระบรมศาสดา


...................................................

ความเพียรมีผล ความพยายามมีผล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้


จะมัวรีรออะไรกันอยู่ครับ...เริ่มต้นปฏิบัติสมาธิภาวนากันอย่างจริงจังนับแต่วินาทีนี้

ยินดีในธรรมทุกๆ ท่านครับ







 

Create Date : 22 สิงหาคม 2552   
Last Update : 9 ตุลาคม 2552 19:10:56 น.   
Counter : 1582 Pageviews.  

ยมกสูตร...พระขีณาสพตายแล้วไม่ดับสูญ

ยมกสูตร
ว่าด้วยพระขีณาสพตายแล้วสูญหรือไม่


[๑๙๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร อยู่ที่พระวิหารเชตะวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี.

ก็โดยสมัยนั้นแล ยมกภิกษุ เกิดทิฏฐิอันชั่วช้า เห็นปานนี้ว่า
เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า
พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้วย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก


ภิกษุหลายรูป ได้ฟังแล้วว่า ได้ยินว่า
ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้า เห็นปานนี้ว่า
เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า
พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น จึงพากันเข้าไปหาท่านยมกภิกษุถึงที่อยู่
ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกภิกษุ
ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยชวนให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ครั้นแล้ว จึงถามท่านยมกภิกษุว่า

ดูกรท่านยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้า เห็นปานนี้ว่า
เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า
พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีกจริงหรือ?

ท่านยมกะกล่าวว่า อย่างนั้น อาวุโส.

ภิ. ดูกรอาวุโสยมกะ ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย

เพราะพระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ว่า
พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก


ท่านยมกะ เมื่อถูกภิกษุเหล่านั้นกล่าวแม้อย่างนี้
ยังขืนกล่าวถือทิฏฐิอันชั่วช้านั้น อย่างหนักแน่นอย่างนั้นว่า
เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า
พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

ภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่อาจเพื่อจะยังท่านยมกะให้ถอนทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้
จึงลุกจากอาสนะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่

ครั้นแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า
ข้าแต่ท่านสารีบุตร ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า
เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า
พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก

ขอโอกาสนิมนต์ท่านพระสารีบุตรไปหายมกภิกษุถึงที่อยู่ เพื่ออนุเคราะห์เถิด.
ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ.


[๑๙๙] ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้ว
เข้าไปหาท่านยมกะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกะ
ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านยมกะว่า

ดูกรอาวุโสยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า
เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า
พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ดังนี้จริงหรือ?


ท่านยมกะตอบว่า อย่างนั้นแล ท่านสารีบุตร.

สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ย. ไม่เที่ยง ท่าน ฯลฯ

สา. เพราะเหตุนี้นั้นแล ยมกะ พระอริยสาวกผู้ใดสดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก.

[๒๐๐] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ท่านเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

[๒๐๑] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

[๒๐๒] สา. ดูกรยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ท่านเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

[๒๐๓] สา. ดูกรท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ท่านเห็นว่า สัตว์บุคคลนี้นั้น
ไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ หรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

สา. ดูกรท่านยมกะ ก็โดยที่จริง โดยที่แท้
ท่านจะค้นหาสัตว์บุคคลในขันธ์ ๕ เหล่านี้ในปัจจุบันไม่ได้เลย
ควรแลหรือที่ท่านจะยืนยันว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า
พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.


ย. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร
เมื่อก่อนผมไม่รู้อย่างนี้ จึงได้เกิดทิฏฐิอันชั่วช้าอย่างนั้น
แต่เดี๋ยวนี้ ผมละทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้แล้ว
และผมก็ได้บรรลุธรรมแล้ว เพราะฟังธรรมเทศนานี้ ของท่านพระสารีบุตร


[๒๐๔] สา. ดูกรท่านยมกะ ถ้าชนทั้งหลาย พึงถามท่านอย่างนี้ว่า
ท่านยมกะ ภิกษุผู้ที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเป็นอะไร


ท่านถูกถามอย่างนั้น จะพึงกล่าวแก้ว่าอย่างไร?

ย. ข้าแต่ท่านสารีบุตร ถ้าเขาถามอย่างนั้น ผมพึงกล่าวแก้อย่างนี้ว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้


ข้าแต่ท่านสารีบุตร ผมถูกเขาถามอย่างนั้น พึงกล่าวแก้อย่างนี้.

[๒๐๕] สา. ดีละๆ ยมกะ ถ้าอย่างนั้น
เราจักอุปมาให้ท่านฟัง เพื่อหยั่งรู้ความข้อนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้น.

ดูกรท่านยมกะ
เปรียบเหมือนคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดีผู้มั่งคั่ง
มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขารักษาตัวกวดขัน

เกิดมีบุรุษคนหนึ่งประสงค์ความพินาศ ประสงค์ความไม่เป็นประโยชน์
ประสงค์ความไม่ปลอดภัย อยากจะปลงชีวิตเขาเสีย

เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า คฤหบดีและบุตรคฤหบดีนี้ เป็นคนมั่งคั่ง
มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขามีการรักษาอย่างกวดขัน
การที่จะอุกอาจปลงชีวิตนี้ ไม่ใช่เป็นการทำได้ง่ายเลย
อย่ากระนั้นเลย เราพึงใช้อุบายปลงชีวิต.

บุรุษนั้น พึงเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นแล้ว
พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอเป็นคนรับใช้ท่าน.

คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น พึงรับบุรุษนั้นไว้ใช้
เขาพึงรับใช้เรียบร้อยดีทุกประการ คือ มีปรกติตื่นก่อน นอนภายหลัง
คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่

คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น เชื่อเขาโดยความเป็นมิตร
โดยความเป็นสหาย และถึงความไว้วางใจในเขา.

เมื่อใด บุรุษนั้นพึงคิดว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีไว้ใจเราดีแล้ว
เมื่อนั้น บุรุษนั้นรู้ว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีอยู่ในที่ลับ
พึงปลงชีวิตเสียด้วยศาตราอันคม.

ท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

ในกาลใด บุรุษนั้นเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีโน้นแล้ว
กล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอรับใช้ท่านแม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว
ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น หารู้จักบุรุษผู้ฆ่าว่า เป็นผู้ฆ่าเราไม่.

ในกาลใด บุรุษนั้นตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ
กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่ แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว
ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น หารู้จักบุรุษผู้ฆ่านั้นว่า เป็นผู้ฆ่าเราไม่.

และในกาลใด บุรุษนั้นรู้ว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นอยู่ในที่ลับ
จึงปลงชีวิตเสียด้วยศาตราอันคม แม้ในกาลนั้น เขาเป็นผู้ฆ่านั่นเอง
ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น หารู้จักบุรุษนั้นว่าเป็นผู้ฆ่าเราไม่.

ย. อย่างนั้น ท่าน.


[๒๐๖] สา. ดูกรท่านยมกะ ข้ออุปมานี้ฉันใด

ปุถุชนผู้มิได้สดับ
ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในอริยธรรม
ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ย่อมเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน
ย่อมเห็น ตน มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ย่อมเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในตน
หรือย่อมเห็น ตนใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เขาย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยงว่า ไม่เที่ยง

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ว่า เป็นทุกข์

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตาว่า เป็นอนัตตา

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่งว่าอันปัจจัยปรุงแต่ง

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นผู้ฆ่าว่าเป็นผู้ฆ่า

เขาย่อมเข้าไปถือมั่น ยึดมั่น
ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตัวตนของเรา.

อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันปุถุชนนั้นเข้าไปถือมั่น ยึดมั่นแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน



[๒๐๗] ดูกรท่านยมกะ

ส่วนพระอริยสาวกผู้สดับแล้ว
ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในอริยธรรม
ได้รับแนะนำในอริยธรรมดีแล้ว ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย
ฉลาดในสัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรมดีแล้ว

ย่อมไม่เห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน
ย่อมไม่เห็น ตนมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ย่อมไม่เห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในตน
หรือย่อมไม่เห็น ตนใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เขาย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง
ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง

ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง
ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์

ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง
ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตาว่า เป็นอนัตตา

ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง
ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่งว่าปัจจัยปรุงแต่ง

ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง
ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอันเป็นผู้ฆ่า ว่าเป็นผู้ฆ่า

เขาย่อมไม่เข้าไปถือมั่น ยึดมั่น
ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เป็นตัวตนของเรา.

อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันอริยสาวกนั้น ไม่เข้าไปถือมั่น ยึดมั่นแล้ว
ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน


ย. ข้าแต่ท่านสารีบุตร
ข้อที่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้เช่นนั้น
เป็นผู้อนุเคราะห์ ใคร่ประโยชน์ เป็นผู้ว่ากล่าวพร่ำสอน ย่อมเป็นอย่างนั้นแท้

ก็แลจิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่น
เพราะได้ฟังธรรมเทศนานี้ของท่านสารีบุตร


จาก ยมกสูตร

..............................................

ขอนำ ยมกสูตร อีกสำนวนแปลหนึ่ง
รจนาโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เพื่อความเข้าใจในเนื้อหาแห่งธรรมชัดเจนขึ้นว่า

พระขีณาสพตายแล้วไม่ดับสูญ
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือขันธ์ ๕ ที่ไม่เที่ยง ต่างหากที่ดับ




ฯลฯ
มีคำยกย่องเรียกพระสารีบุตรอีกอย่างหนึ่งว่า พระธรรมเสนาบดี
นี้เป็นคำเลียนมาจากคำเรียกแม่ทัพ
ดังจะกลับความให้เห็นตรงกันข้าม

กองทัพทำยุทธ์ยกไปถึงไหน ย่อมแผ่อนัตถะถึงนั่น
กองพระสงฆ์ผู้ประกาศศาสนา ได้ชื่อว่า ธรรมเสนา
กองทัพฝ่ายธรรมหรือประกาศธรรม จาริกไปถึงไหน ย่อมแผ่หิตสุขถึงนั่น

พระศาสดาเป็นจอมธรรมเสนา เรียกว่า พระธรรมราชา
พระสารีบุตรเป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดาในการธุระนี้
ได้สมญาว่าพระธรรมเสนาบดี นายทัพฝ่ายธรรม

พระสารีบุตรมีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนาอย่างไร
พึงเห็นในเรื่องสาธกต่อไปนี้

มีภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ ยมกะ มีความเห็นเป็นทิฏฐิว่า พระขีณาสพตายแล้วดับสูญ
ภิกษุทั้งหลายค้านเธอว่าเห็นอย่างนั้นผิด เธอไม่เชื่อ

ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจเปลื้องเธอจากความเห็นนั้นได้ จึงเชิญพระสารีบุตรไปช่วยว่า

ท่านถามเธอว่า ยมกะ ท่านสำคัญความนั้นอย่างไร?
ท่านสำคัญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ นี้ว่าพระขีณาสพหรือ?

ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

สา. ท่านเห็นว่าพระขีณาสพในขันธ์ ๕ นั้นหรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

สา. ท่านเห็นว่าพระขีณาสพอื่นจากขันธ์ ๕ นั้นหรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

สา. ท่านเห็นพระขีณาสพว่าเป็นขันธ์ ๕ หรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

สา. ท่านเห็นพระขีณาสพไม่มีขันธ์ ๕ หรือ?
ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

สา. ยมกะ ท่านหาพระขีณาสพในขันธ์ ๕ นั้นไม่ได้โดยจริง อย่างนี้
ควรหรือจะพูดยืนยันอย่างนั้นว่า พระขีณาสพตายแล้วดับสูญ ดังนี้


ย. แต่ก่อนข้าพเจ้าไม่รู้ จึงได้มีความเห็นผิดเช่นนี้
บัดนี้ข้าพเจ้าได้ฟังท่านว่า จึงละความเห็นผิดนั้นได้ และได้บรรลุธรรมพิเศษด้วย


สา. ยมกะ ถ้าเขาถามท่านว่า พระขีณาสพตายแล้วเป็นอะไร?
ท่านจะแก้อย่างไร?


ย. ถ้าเขาถามข้าพเจ้าอย่างนี้ ข้าพเจ้าจะแก้ว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ไม่เที่ยงดับไปแล้ว


สา. ดีละๆยมกะ เราจะอุปมาให้ท่านฟัง เพื่อจะให้ความข้อนั้นชัดขึ้น

เหมือนหนึ่งคฤหบดีเป็นคนมั่งมี รักษาตัวแข็งแรง
ผู้ใดผู้หนึ่งคิดจะฆ่าคฤหบดีนั้น
จึงนึกว่า เขาเป็นคนมั่งมี และรักษาตัวแข็งแรง
จะฆ่าโดยพลการเห็นจะไม่ได้ง่าย จำจะต้องลอบฆ่าโดยอุบาย

ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงเข้าไปเป็นคนรับใช้ของคฤหบดีนั้น
หมั่นคอยรับใช้ จนคุ้นเคยกันแล้ว
ครั้นเห็นคฤหบดีนั้นเผลอ ก็ฆ่าเสียด้วยศัตราที่คม

ยมกะ ท่านจะเห็นอย่างไร
คฤหบดีนั้น เวลาผู้ฆ่านั้นเขามาขออยู่รับใช้สอยก็ดี
เวลาให้ใช้สอยอยู่ก็ดี เวลาฆ่าตัวก็ดี
ไม่รู้ว่าผู้นี้เป็นคนฆ่าเรา อย่างนี้ มิใช่หรือ?

ย. อย่างนั้นแล ท่านผู้มีอายุ


สา. ปุถุชน ผู้ไม่ได้ฟังแล้วก็ฉันนั้น

เขาเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตน บ้าง
เห็น ตน ว่ามี รูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ บ้าง
เห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในตน บ้าง
เห็น ตน ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ บ้าง

ไม่รู้จัก ขันธ์ ๕ นั้น อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน
ปัจจัยตกแต่งดุจเป็นผู้ฆ่า ตามเป็นจริงอย่างไร ย่อมถือมั่น ขันธ์ ๕ นั้น ว่าตัวของเรา

ขันธ์ ๕ ที่เขาถือมั่นนั้น
ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์และทุกข์สิ้นกาลนาน



ส่วน อริยสาวก ผู้ได้ฟังแล้ว
ไม่พิจารณาเห็นเช่นนั้น รู้ชัดตามความเป็นจริงแล้วอย่างไร

ท่านไม่ถือมั่น ในขันธ์ ๕ ว่าตัวของเรา
ขันธ์ ๕ ที่ท่านไม่ถือมั่นนั้น
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และสุขสิ้นกาลนาน.



คัดลอกจาก ประวัติแห่งพระสารีบุตร ( หน้า ๓๒-๓๕ )
จากหนังสืออนุพุทธประวัติ ( หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท)

ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ลิขสิทธิ์ เป็นของ มหามกุฏราชวิทยาลัย

..........................................





 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 9 ตุลาคม 2552 19:13:06 น.   
Counter : 1264 Pageviews.  

1  2  3  

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]