อนัตตลักขณสูตร

อนัตตลักขณสูตร

[๒๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณเป็นอนัตตา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้ารูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ นี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว
รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ นี้ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ
และบุคคลพึงได้ในรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ว่า
รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด
รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย


ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็เพราะรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ เป็นอนัตตา
ฉะนั้น รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ว่า
รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด
รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย


---ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์---

[๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉน
รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?

ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.

---ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ---

[๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล
รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง

ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้

ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ

เธอทั้งหลายพึงเห็นรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ นั้น
ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า

นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา

[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่ อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด
เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น
เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว


อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี


[๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว
พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลินภาษิตของผู้มีพระภาค.

ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่
จิตของพระปัญจวัคคีย์ พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น


---อนัตตลักขณสูตร จบ---

ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์.

จาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔
มหาวรรค ภาค ๑ อนัตตลักขณสูตร


-------------------------------

ในตอนท้ายอนัตตลักขณสูตรได้สรุปความลงว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคย์ตรัสเรื่องราวนี้จบลง
จิตของพระปัญจวัคคีย์ ก็หลุดพ้นจากอุปาทานที่ทำให้เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕

ทั้งนี้แสดงว่า
บุคคลที่เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ และปล่อยวางขันธ์ ๕ เสียได้ในที่สุดนั้น
ก็คือ จิต นั่นเอง

ซึ่งย่อมเห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า
จิต กับ ขันธ์ ๕ นั้น เป็นคนละอย่างกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน.


อุปมาดัง คน ที่เข้าไปยึดถืออาศัย บ้าน อยู่
คนย่อมไม่ใช่บ้าน และบ้านย่อมไม่ใช่คน ข้อนี้ฉันใด
จิต กับ ขันธ์ ๕ ก็ฉันนั้น


ดังนั้นจึงแยกกล่าวให้ละเอียดได้ว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ จิต

แต่จิตเป็นผู้รู้ว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเกิดขึ้นที่จิต แล้วก็ดับไปจากจิต


จากธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ หน้า ๙๕

-------------------------------

คำว่า อนตฺตา ภาษามคธ เป็นคำปัดปฏิเสธ แปลเป็นภาษาไทยว่า ไม่ใช่ตัวตน

คำนี้ พระพุทธเจ้าตรัสมีในอนัตตลักขณสูตร คือ
ทรงแยกอัตตภาพร่างกายของคนออกแสดงเป็น ๕ หมวด ๕ กอง
เรียกว่า ปัญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

แล้วตรัสปฏิเสธ ด้วยคำว่า อนตฺตา ไม่ใช่ตัวตน

ซึ่งสามัญชนชาวโลกยึดถืออยู่ว่าเป็นอัตตาตัวตนโดยความสำคัญผิด
เพราะฤทธิ์อวิชชา ไม่เห็นอัตตาอื่นนอกจากขันธ์ ๕ นั้น


แต่พระองค์ทรงเห็นอื่นนอกจากขันธ์ ๕ นั้น
เป็นตัวธรรมลี้ลับอยู่ ณ ภายใน คือ วิมุตติจิต วิมุตติธรรม


จึงตรัสปัดปฏิเสธขันธ์ ๕ นั้น ด้วยคำว่า อนตฺตา ไม่ใช่ตัวตนได้
คือ ทรงรู้จักสิ่งที่ใช่แล้ว จึงตรัสว่า สิ่งที่ถืออยู่นั้นไม่ใช่

ทรงอธิบายขยายคำ อนตฺตา นั้นไว้ว่า
เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เมโส อตฺตาติ ดังนี้ แปลว่า
สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เราไม่เป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่เป็นอัตตาตัวตนของเรา ดังนี้

เพราะรูปขันธ์ คือ ร่างกาย ก็เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม
คุมกันเข้าเรียกสรีรยนต์กลไก มีทางดักจับอารมณ์อยู่ ๕ แห่ง คือ
ตาดักรูปภาพ หูดักเสียง จมูกดักกลิ่น ลิ้นดักรส ผิวหนังดักเย็นร้อนอ่อนแข็ง

ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๔ นี้
ก็เป็นกิริยาจิตที่รับสัมผัสกับอารมณ์ภายนอกจากทวารนั้นๆ หาใช่ตัวตนไม่

แต่เหล่าพุทธมามกชน ผู้ศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนาโดยส่วนมาก
เห็นว่า พระพุทธศาสนาถือว่าไม่มีตัวตน ยึดคำว่า อนตฺตา นั้นเป็นหลักอ้าง


คำว่า ไม่มี กับ ไม่ใช่ หมายความคนละอย่าง

คำปัดปฏิเสธว่าไม่มี หมายถึง สิ่งที่จำนงหวังจะได้ แต่สิ่งที่ต้องการนั้นไม่มี

ส่วนคำปัดปฏิเสธว่าไม่ใช่ นั้น หมายถึง สิ่งที่ยึดถืออยู่แล้ว
แต่หมายผิด ยึดผิด ถือผิด เข้าใจว่าถูกเพราะฤทธิ์อวิชชา


ผู้รู้ เช่น พระพุทธจ้าตรัสว่า ไม่ใช่ ... สิ่งที่ใช่มีอยู่ แต่สิ่งที่ยึดถืออยู่นั้นไม่ใช่

จากชุมนุมบทความ...เปมงฺกโร ภิกฺขุ

-------------------------------






Create Date : 23 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 9 ตุลาคม 2552 19:16:45 น. 0 comments
Counter : 725 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]