มรรค ๘ หรือสติปัฏฐาน ๔ เป็นการปฏิบัติทางจิต เพื่อสร้างสติให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มรรคมีองค์ ๘ หรือเรียกย่อๆว่า มรรค ๘
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนพระปัญจวัคคีย์ว่า
เป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ดังพุทธพจน์ คือ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสุดโต่ง ๒ ทางที่บรรพชิตไม่ควรนำมาปฏิบัติ คือ

๑.กามสุขขัลลิกานุโยค
การประพฤติตนย่อหย่อนไปในกามสุข ซึ่งเป็นเรื่องหยาบ
เป็นเรื่องที่นำไปสู่การสร้างบ้านเรือน เป็นเรื่องของคนมีกิเลสหนา
ไม่ใช่เรื่องนำไปสู่ความพ้นทุกข์ และไม่มีประโยชน์อันใด

๒.อัตตกิลมถานุโยค
การประพฤติไปในทางทรมานตนให้เหนื่อยเปล่า ซึ่งเป็นทุกข์
ไม่ใช่เรื่องนำไปสู่ความพ้นทุกข์ และไม่มีประโยชน์อันใด

ทางที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ คือ ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)
ซึ่งไม่ติดไปในทางข้างใดทั้งสอง ดังกล่าวข้างต้น อันประกอบด้วย


ปัญญา
๑.สัมมาทิฐิ รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
๒.สัมมาสังกัปปะ มีพลังปัญญาที่จะปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้

ศีล
๓.สัมมาวาจา วาจาชอบ
๔.สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
๕.สัมมาอาชีวะ หาเลี้ยงชีวิตชอบ

สมาธิ
๖.สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ
๗.สัมมาสติ ตั้งสติไว้ชอบ
๘.สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ

ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาธรรมะจะเห็นการจัดลำดับการสอนปฏิบัติโดยทั่วไปว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
แต่การที่ทรงจัดลำดับขององค์มรรคเป็น ปัญญา ศีล สมาธิ ดังกล่าวนี้
เพราะพระพุทธองค์ทรงเชิดหลักธรรมเรื่อง ปัญญา ว่าเป็นธรรมะสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา

ซึ่งปัญญาจะเกิดขึ้นได้ เพราะสติของผู้ปฏิบัติได้รับการอบรมไว้เป็นอย่างดี
จึงจะเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ปล่อยวางอารมณ์ที่มีอยู่ออกไปได้

สามัญชนที่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติฝึกสติ
ย่อมไม่มีพลังปัญญาปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้

ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)

ทางสายกลางเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญ
สำหรับชำระจิตให้หลุดพ้นจากการครอบงำของอารมณ์ทั้งหลาย

เป็นคำสอนที่ไม่มีอยู่ในคำสอนของศาสนาอื่น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนปีพุทธศักราช ๔๕ ปี

ดังนั้นจึงนับเป็นสัญลักษณ์สำคัญได้ว่า
ถ้ามีการปฏิบัติตามทางสายกลางอยู่ ก็แสดงว่ายังมีพุทธศาสนาอยู่ในโลกนี้


และโดยนัยตรงกันข้าม
ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามทางสายกลาง หรือปฏิเสธทางสายกลางทิ้งเสีย
ก็แสดงว่าตัวพระพุทธศาสนาได้สูญสิ้นไปแล้ว
คงเหลืออยู่แต่เพียงโบสถ์ วิหาร วัดวาอาราม
และผู้คนที่เข้ามาบวชและท่องจำตำราธรรมะกันตามธรรมเนียมเท่านั้น
ไม่ได้พัฒนาจิตใจให้ดีขึ้นแต่ประการใด

เพราะการปฏิบัติตามทางสายกลาง มีหลักสำคัญอยู่ที่
การฝึกสติให้ตั้งมั่นอยู่ ณ ฐานใดฐานหนึ่งอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดสาย
(หรือ ทุกลมหายใจเข้า-ออก) คือ ที่ฐานกาย เวทนา จิต หรือ ธรรม
เพื่อที่จะระมัดระวังควบคุมจิตใจไม่ให้ถูกอารมณ์ใดๆเข้ามาครอบงำให้เสียคุณภาพ
หรือเกิดความยินดี-ยินร้าย ยึดถืออารมณ์ไว้ได้เลย

ถ้าสติมีพลังตื่นอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมทำให้ความยึดถืออารมณ์หมดไปโดยลำดับ
ที่เรียกว่า มีสติตื่นอยู่อย่าง ชาคโร คือ สติวางอุเบกขาต่ออารมณ์ทั้งหลายเสีย
อารมณ์กระทบก็สักแต่ว่ากระทบเท่านั้น ไม่ทำให้จิตใจเศร้าหมองแม้แต่น้อย


นั่นก็คือ ทางสายกลาง ก็ดี มรรคมีองค์ ๘ ก็ดี ศีลสมาธิปัญญา ก็ดี
สติปัฏฐาน ๔ ก็ดี หรือ สมถะ-วิปัสสนา ก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะอันเดียวกัน
ที่มุ่งอบรมสติให้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้จิตสงบ
และปล่อยวางความยึดถืออารมณ์ออกไปเสียได้อย่างสิ้นเชิงในที่สุด

เพราะผู้ปฏิบัติย่อมสามารถแยกขันธ์ ๕
ซึ่งเป็นอาการของจิตที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยอารมณ์ ออกไปได้
ด้วยการวางเฉยที่เกิดขึ้น เพราะอำนาจปัญญาที่ฝึกฝนมา ดังกล่าวในเบื้องต้นนั่นเอง

ดังนั้น การเจริญทางสายกลางให้เกิดขึ้นนั้น ในด้านปฏิบัติจริง
ผู้ปฏิบัติจะต้องแยกจิตออกจากอารมณ์ ที่เข้ามากระทบ
ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และความนึกคิดทางใจ
ให้ออกไปตั้งอยู่ที่จุดลมหายใจกระทบภายในช่องจมูก
และเพ่งดูลมหายใจเข้าออกที่ผ่านจุดนี้ทันที
โดยไม่ตามลมหายใจเข้าไปในช่องจมูก หรือไม่ตามลมหายใจออกไปจากช่องจมูกเลย

จิตก็จะสงบเป็นสมาธิ ลมหายใจจะละเอียดแผ่วเบาลงๆตามลำดับของสมาธิที่เกิดขึ้น
จนกระทั่งผู้ปฏิบัติไม่สามารถจับความเคลื่อนไหวของลมหายใจได้ก็มี

ณ จุดนี้เป็นจุดที่จิตสงบเป็นสมาธิมากที่สุด
ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการปฏิบัติสมาธิ ที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ ในพระพุทธศาสนา
สำหรับแยกอารมณ์ออกไปจากจิตได้อย่างสิ้นเชิง


ดังพุทธพจน์ว่า
เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ
ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค
ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ


ที่นี่สงบหนอ (แม้กระทั่งลมหายใจ) ที่นี่ประณีตหนอ
ณ ที่นี้ สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงดับเงียบ คืนความยึดติดทั้งปวงออกไป
สิ้นตัณหา สิ้นความยินดี กิเลสดับ เป็นนิพพาน( สิ้นทุกข์ )


ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกให้มากๆจนชำนาญ สามารถทำได้ชั่วลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น
ถ้ายังมีการปฏิบัติเช่นนี้อยู่ ก็ย่อมแสดงว่า พระพุทธศาสนากำลังตั้งอยู่อย่างมั่นคง
ถึงแม้จะไม่มีวัดวาอารามตั้งอยู่ก็ตาม.


บทความโดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ เขียน ณ วันที่ ๕ พ.ค. ๒๕๕๑





 

Create Date : 12 พฤษภาคม 2551   
Last Update : 26 ตุลาคม 2552 16:39:20 น.   
Counter : 1779 Pageviews.  

ชั้นของพระอริยะ

ผู้ที่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ด้วยความพากเพียรจริงจังและไม่ท้อถอยเลยนั้น
ย่อมต้องบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยะ ๔ ชั้น ตามลำดับดังนี้ คือ
พระโสดาบัน ๑, พระสกทาคามี ๑, พระอนาคามี ๑, พระอรหันต์ ๑
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพลังปัญญาที่ปฏิบัติเพื่อถ่ายถอนความยึดถืออารมณ์
ออกไปได้มากน้อยเป็นสำคัญ

บางท่านมีพลังปัญญาสูงสุดเกิดขึ้นทันทีหลังจากได้พบกัลยาณมิตร
กล่าวสอน แนะนำ สะกิดใจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลเลย

เช่น พระองคุลิมาลย์ ซึ่งเป็นโจรฆ่าคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่เกรงขามโดยทั่วไป
ได้มารับคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงเล็กน้อย
แต่เป็นคำคมที่เป็นสัจธรรมว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านซิ! ยังไม่หยุดฆ่าคน”
คือ ยังไม่หยุดทำความเดือดร้อนให้แก่สังคมเท่านั้น

การบรรลุอรหัตตผลของพระองคุลิมาลย์
เพราะได้มาพบกับกัลยาณมิตร คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าโดยแท้

ส่วนพระอริยะรูปอื่น เช่นพระอานนท์ เป็นต้น ได้บรรลุพระโสดาบัน
ในสำนักของพระพุทธองค์ แต่ได้เนิ่นช้ามาตามกระแสภารกิจ
จนได้สำเร็จพระอรหันต์ ๑ วันก่อนทำสังคายนาคำสั่งสอน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ได้เสด็จล่วงลับไปแล้ว

การบรรลุเป็นพระอริยะชั้นต่างๆ ขึ้นอยู่กับการรวมตัว(สมังคี) ของมรรคมีองค์ ๘
ว่าปฏิบัติได้ จนมีพลังถอนความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ได้ระดับใด,มากเท่าไหร่

ตามปกติ มรรคจะสมังคีครั้งแรก ที่เรียกว่า พระโสดาบันนั้น
ย่อมเกิดปัญญาเห็นวิธีปฏิบัติที่นำไปสู่ความสงบได้ตามที่เป็นจริง
และรู้ว่าจิตที่สงบแล้วนี้ คือ ที่รองรับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ซึ่งตั้งอาศัยอยู่ภายในร่างกายนี้ชั่วคราวเท่านั้น

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอมตธรรม (ไม่ตาย)
แต่ร่างกายนี้เป็นมตธรรม (ตายตามอายุขัย)

ดังนั้น พระโสดาบันจึงหมดความสงสัยในพระรัตนตรัย
และรู้จักกายที่แท้จริงของตนเอง โดยไม่มีโอกาสหวนกลับไปรู้ผิดดังแต่ก่อนอีก
แต่ปัญญายังไม่มีกำลังสูงพอที่จะสลัดความยึดถืออารมณ์กามคุณมากกว่าที่มีอยู่ได้
พระโสดาบันจึงยังคงร้องไห้บ้าง ดีใจบ้าง หัวเราะบ้างในเมื่อมีอารมณ์กามคุณเข้ามากระทบ
แต่ศีล ๕ นั้น สะอาดหมดจดดีเยี่ยม ชนิดที่ไม่มีขาดทะลุหรือด่างพร้อย ได้เลย

เมื่อพระโสดาบัน ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ต่อไปอีก
สติกับปัญญาย่อมมีกำลังตั้งอยู่อย่างมั่นคงดีขึ้น มรรคจะรวมตัวกันเป็นคำรบ ๒
จนสามารถละกามราคะ (ยินดี) และปฏิฆะ (เพ่งเล็งเพราะโกรธ) ให้เบาบางลง คือ
ทำให้กิเลสดังกล่าวนี้อ่อนตัวลงได้ แต่ยังไม่ขาดจากจิตใจ
เรียกว่า พระสกทาคามี

เมื่อพระสกทาคามี ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ต่อไปอีก
สติกับปัญญาจะมีพลังเพิ่มขึ้น ก็ย่อมทำให้มรรครวมตัวกันเป็นคำรบ ๓
ทำให้กามราคะและปฏิฆะขาดหายไปจากสันดานโดยเด็ดขาด
ดังนั้น จึงไม่คิดสร้างบ้านเรือนหรือมีภรรยาไว้สำหรับอาศัยครองต่อไปอีก
กล่าวคือ ไม่มีการกลับมานอนเกิดในครรภ์มารดาเหมือนสามัญชนอีกแล้ว
มีคติที่ไป คือ “สุทธาวาสพรหม”เท่านั้น ถ้ารูปร่างกายที่มีอยู่ ตายเสียก่อนบรรลุพระอรหัตตผล
เรียกว่า พระอนาคามี

เมื่อพระอนาคามี ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ต่อไปอีก
สติกับปัญญาจะมีพลังเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ มรรครวมตัวกันเป็นคำรบ ๔
ความยินดีในรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทัจจะกุกกุจจะ(ฟุ้งซ่านรำคาญ) อวิชชา
ดับเป็นสมุจเฉทะ (ไม่เหลือที่จิตอีกเลย) เรียกว่า พระอรหันต์

กายพระอรหันต์นั้นเป็นอมตธรรม (ไม่ตาย)
แต่กายเนื้อซึ่งเป็นที่รองรับกายพระอรหันต์นั้นเป็นมตธรรม (ตายเมื่อถึงอายุขัย)
เมื่อกายเนื้อตายลงเมื่อใด ก็จะไม่มีการจุติ-ปฏิสนธิอีกเลย
ชาตินี้จึงเป็นชาติสุดท้ายของพระอรหันต์ ซึ่งมีจิตบริสุทธิ์แล้ว

เมื่อยังมีชีวิตอยู่ พระอรหันต์ทำอะไรก็สักแต่ว่าทำ
เพราะไม่ประกอบด้วยเจตนากระทำกรรมนั้นเหมือนปุถุชน ซึ่งปรุงแต่งให้เป็นกิเลสขึ้น
อารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามากระทบ ก็สักแต่ว่ากระทบเท่านั้น คือ
ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นหลงเหลืออยู่ และส่งผลปรุงแต่งจิตให้เศร้าหมองได้เลย

ดังนั้น สิ่งที่เข้ามากระทบจึงไม่ใช่อารมณ์ปรุงแต่งจิตใจพระอรหันต์ได้ดังแต่ก่อน
เพราะมีคุณธรรมที่เกื้อกูลโลก เช่น เมตตา กรุณา รองรับอยู่

ถึงแม้ว่าในบางขณะ พระอรหันต์จะแสดงอาการยิ้มแย้มออกมาบ้างก็ตาม
แต่ก็ไม่ใช่เป็นเพราะชอบอกชอบใจซึ่งเป็นกิเลส
คงเป็นเพียงอาการยิ้มแย้มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตากรุณา เป็น หสิตุปปาทะ
( ความยิ้มแย้ม ) ซึ่งไม่ส่งผลให้เกิดกรรมใดๆได้อีกเลย.


บุคคลที่สมควรได้บรรลุมรรคผล (ภัพพะบุคคล)

บุคคลที่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ แล้วสำรวมระวังละเว้นธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า ๖ ประการ
ย่อมบังเกิดมรรคผลได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า ภัพพะบุคคล

ซึ่งตรงข้ามกับ อาภัพพะบุคคล คือ บุคคลที่ลงมือปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ แล้ว
แต่ไม่สำรวมระวังละเว้นธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า ๖ ประการอย่างต่อเนื่องเคร่งครัดไม่ขาดสาย

ธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า ๖ ประการ คือ

๑.ยังหมกมุ่นพอใจในการทำงานทางโลก
ที่ทำให้ร่างกายและสมองเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย (กัมมรามตา)
๒.ยังพอใจสนทนาเรื่องต่างๆกับผู้อื่นอยู่ คือไม่สังวรวาจา (ภัสสารามตา)
๓.เป็นคนเห็นแก่นอน โดยไม่หมั่นทำความเพียร (นิททารามตา)
๔.ชอบสังสรรค์ติดต่อกับผู้อื่น (สังคณิการามตา)
๕.ไม่สำรวมระวังอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อินทริยาคุตตทวารตา)
๖.ไม่รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหาร (โภชเนมัตตัญญุตา)


จากหนังสือ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์




 

Create Date : 25 เมษายน 2551   
Last Update : 26 ตุลาคม 2552 17:15:20 น.   
Counter : 545 Pageviews.  

การรวมตัวของมรรค ( มคฺคสมงฺคี )

มคฺคสมงฺคี = มรรคสามัคคี

มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเรียกกันย่อๆว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น
ผู้ศึกษาธรรมะจะต้องทำความเข้าใจว่า “ มรรค”นี้เป็นเรื่องของ จิต ,
เป็นทางเดินของจิต ที่ทำให้เกิดปัญญา (แยกตัวหรือละเว้นสิ่งที่ผิด
ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ถูก ตามรายละเอียด ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น)
ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องอบรมให้เกิดขึ้นที่จิต
เพื่อสลัดอารมณ์ออกไปให้หมดอย่างสิ้นเชิงในที่สุด.

เมื่ออารมณ์แยกออกไปหมดแล้ว จิตก็ย่อมหลุดพ้น ไม่ถูกอารมณ์ครอบงำปรุงแต่ง
ให้ดิ้นรนกระสับกระส่ายอีกต่อไป จิตย่อมบริสุทธิ์ผ่องใสและอยู่เหนือโลก คือ
จิตก็อยู่ส่วนจิต อารมณ์ก็อยู่ส่วนอารมณ์ โดยไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน
ทั้งๆที่อยู่ด้วยกัน ดุจดังน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว แต่ไม่เปียกใบบัว ฉะนั้น

ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่นั้น ย่อมเห็นว่า มรรคแต่ละองค์ ต่างมีกิจหน้าที่ต่างกัน
และแยกกันอยู่เป็นคนละส่วน ซึ่งตนจะต้องศึกษาและจดจำไว้ให้แม่นยำ
ดังนั้น จึงสามารถละความรู้ผิดๆ เห็นผิดๆ ประพฤติผิดๆ ออกไปได้
ด้วยการข่มจิตใจไว้ แต่ยังไม่มีกำลังพอที่จะสลัดอารมณ์ละเอียดๆ ออกไปได้
ปัญญาในขั้นนี้ เรียกว่า สุตามยปัญญา

ต่อไป ผู้ศึกษาจะต้องฝึกรักษาศีลในมรรค( ศีล ๕ )
โดยตั้งเจตนาละเว้นสิ่งที่ผิดจากข้อบัญญัติห้ามไว้,ออกไปอย่างเคร่งครัด
ถ้าปฏิบัติจนคุ้นเคยแล้ว ก็ย่อมเป็นเสมือนรั้วกั้นจิต ไม่ให้วุ่นวายกระสับกระส่าย
จนเกินไป แล้วก็สงบตัวลง เหมาะแก่การปฏิบัติสมาธิได้ดีพอสมควร

ในการรักษาศีล ผู้ปฏิบัติจะต้องคิดแยกตัวออกจากสิ่งที่ผิดๆ
และเข้าหาสิ่งที่ถูกตลอดเวลา
เมื่อจะปฏิบัติสมาธิก็ต้องคิดสร้างสติขึ้นที่ฐานลมหายใจกระทบ
เพื่อยกจิตเข้าไปตั้งไว้ให้คุ้นเคยและชำนาญคล่องแคล่ว
รวมทั้งสร้างความชำนาญในการประคองจิตไม่ให้แลบหนีไปอยู่ที่อื่นได้ด้วย
ปัญญาในขั้นนี้ เรียกว่า จินตามยปัญญา

ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกปฏิบัติสมาธิ เพื่ออบรมจิตให้รวมตัวสงบลงจนถึงขีดสุดบ่อยๆ
เนืองๆ จนเกิดความชำนาญคล่องแคล่ว,หลังจากที่ได้สร้างฐานลมหายใจกระทบแล้ว
ถึงขนาดที่ว่า เมื่อคิดถึงฐานเมื่อใด จิตก็สงบถึงขีดสุดเมื่อนั้นทันที,
โดยไม่เสียเวลาเนิ่นนานเลย
ปัญญาในขั้นนี้ เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า เมื่อจิตสงบถึงขีดสุดแล้ว อารมณ์และความรู้สึกนึกคิด
รวมทั้งจุดนิมิตลมหายใจกระทบ ก็จะถูกสลัดปล่อยวางออกไปจนหมดสิ้น
จิตกับสติจะทำงานอยู่ด้วยกัน กล่าวคือ

จิตอยู่ที่ไหน สติก็จะอยู่ด้วยที่นั่น
สติอยู่ที่ไหน สมาธิก็จะอยู่ที่นั่น
สมาธิอยู่ที่ไหน ปัญญาก็จะอยู่ที่นั่น
และ ปัญญาอยู่ที่ไหน ศีล ( เจตนางดเว้น ) ก็จะอยู่ที่นั่นด้วย

ทั้งนี้หมายความว่าบรรดาคุณธรรมความดีหรือความถูกต้องทั้งหลาย ได้รวมตัวกันที่จิต
ดังที่เรียกว่า “มรรคสามัคคี หรือ มคฺคสมงฺคี” แล้วนั่นเอง

ในมหาจัตตารีสกสูตร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเชิดเอา สัมมาสมาธิ เป็นประธาน
ส่วนมรรคอื่นอีก ๗ ประการนั้น เป็นแต่เพียงบริวารห้อมล้อมสนับสนุนเท่านั้น
แสดงว่าสัมมาสมาธิเป็นเหตุปัจจัยที่ส่งผลให้มรรคสามัคคี รวมตัวกันดังกล่าว
โดยมี สัมมาสติ ทำกิจทั้งหลายควบคู่ไปด้วยกันเสมอ

แต่ในวงการสนทนาธรรมและวงการเทศนาสั่งสอนจริยธรรมแก่สังคม
ในระยะหลังๆต่อมา ต่างก็เชิดเอาสัมมาทิฐิขึ้นหน้า
โดยละความสำคัญของสมาธิไว้ในฐานที่เข้าใจ
ทำให้ผู้ศึกษาธรรมะใหม่ๆหลงเชื่อตามไป
ด้วยความสำคัญผิดว่า สัมมาสมาธิไม่มีความสำคัญและไม่มีความจำเป็นอะไร
เพราะไม่เข้าใจแตกฉานดังกล่าวมานี้
จึงพากันละเลยการปฏิบัติสมาธิเสีย,อย่างน่าเสียดาย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมุ่งสั่งสอนสังคม และพระสาวกให้ปฏิบัติสมาธิตลอดเวลา
ดังพุทธพจน์ที่มีมาว่า

“สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้”


ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิจนบรรลุฌาน ๔ แล้ว
จิตย่อมสงบ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อ่อน ควรแก่การงาน
และย่อมรู้เห็นชัดด้วยตนเองว่า
อารมณ์และนิมิตหมายของอารมณ์ต่างๆที่เข้ามาปรุงแต่งจิตให้ซัดส่าย
วุ่นวายกระสับกระส่าย รวมทั้งรูปร่างกายและลมหายใจนั้น
ได้ถูกละวางออกจากความยึดถือหมดแล้ว
คงเหลือแต่ “ธาตุรู้” ทรงตัวรู้อย่างแจ่มใสอยู่เท่านั้น
ไม่มีความรู้สึกเสียดแทงจิตใจใดๆหลงเหลืออยู่

สภาวะดังกล่าวนี้ จะยังคงดำรงตัวอยู่ตลอดไป
ตราบที่ผู้ปฏิบัติยังมีเจตนาปฏิบัติสมาธิอยู่
และย่อมเกิด สัมมาทิฐิ รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า
“ธาตุรู้” หรือ “จิต” นี้ เป็น ธรรมกาย อันละเอียดที่สุด
ที่ดำรงตนอยู่ตลอดทุกกาลสมัย เป็นกายที่ไม่ตาย (อมตธรรม )
ตั้งซ้อนอยู่ในรูปร่างกายเนื้อที่เกิดและตายตามอายุขัย (มตธรรม) นี้เอง

ผู้ปฏิบัติย่อมเชื่อโดยปราศจากความลังเลสงสัยเลยว่า
จิตที่สงบหรือธรรมกายนี้ เป็นที่ตั้งของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในที่สุด
ถ้าใช้ความเพียรพยายามปฏิบัติมรรคมีองค์๘
จนกระทั่งเกิดพลังสติตื่นอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
ซึ่งสามัญชนทุกคนสามารถเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้
ด้วยการลงมือปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เองอย่างพากเพียรและต่อเนื่องเท่านั้น.

ส่วนรูปร่างกายที่ใช้เป็นที่อาศัยของจิตหรือธรรมกายนั้น
ผู้ปฏิบัติธรรมจึงเป็นเพียงแต่คอยบำรุงรักษาด้วยปัจจัย ๔
เท่าที่จำเป็นตามสมควรแก่สภาพ เพื่อให้ดำรงอยู่ได้ตลอดอายุขัย
และใช้ร่างกายสำหรับประกอบภารกิจที่ถูกต้องตลอดไป

เมื่อเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ จน มรรครวมตัวกัน ดีแล้ว
สติก็ย่อมเป็น มหาสติ ทำให้เกิด สัมมาทิฐิ รู้จักกายที่แท้จริง
และเกิด สัมมาสังกัปปะ ปล่อยวางรูปร่างกายที่อาศัยชั่วคราว
ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นตัวตนที่แท้จริงออกไปเสีย
คอยควบคุมการพูดจาให้เป็น สัมมาวาจา
และควบคุมความประพฤติทางกายด้วยความระมัดระวัง
มิให้ละเมิดศีล เป็น สัมมากัมมันตะ
รวมทั้งการหาเลี้ยงชีวิตร่างกายอย่างถูกต้อง(สัมมาอาชีวะ) โดยต่อเนื่อง

การรวมตัวทำหน้าที่เช่นนี้ เป็นอริยมรรคสมังคี
เพื่อให้เกิดเป็นพลังรักษาจิตให้บริสุทธิ์นั้น
อุปมาดังเกลียวเชือก ๘ เกลียวที่นำมาควั่นรวมเป็นเชือกเส้นใหญ่เส้นเดียวกัน
ย่อมมีกำลังรับแรงดึงต่างๆได้ดีกว่าเกลียวเชือกเล็กๆแต่ละเกลียว
ที่ยังไม่ได้ควั่นรวมกัน(สมาธิ) ฉะนั้น.


จากหนังสือ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์
๒๔ เมษายน ๒๕๕๑








 

Create Date : 24 เมษายน 2551   
Last Update : 26 ตุลาคม 2552 17:31:58 น.   
Counter : 484 Pageviews.  

ความสัมพันธ์ระหว่าง ศีล สมาธิ ปัญญา

เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงมีพระสาวกครบ ๖๐ รูป
แล้วได้ทรงส่งพระสาวกออกไปประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก
ได้ตรัสแก่พระสาวกเหล่านั้นว่า:

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริก (อบรมสั่งสอน) ไป
เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนทั้งหลาย เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์และความสุขของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายเถิด

พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกัน ๒ รูป

จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น
(ศีล),
งามในท่ามกลาง (สมาธิ),
งามในที่สุด (ปัญญา)
จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะครบบริบูรณ์, บริสุทธิ์

สัตว์ทั้งหลาย
(ผู้ติดข้องอยู่ในอารมณ์) จำพวกที่มี กิเลสเบาบางมีอยู่
เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม, ผู้รู้ทั่วถึง ธรรมจักมี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราเองก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม”


ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า หลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน
และโปรดให้พระสาวก ออกไปเผยแพร่สั่งสอน ก็คือ
หลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง.

ในขณะที่พูดถึงหลักธรรม เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา นี้
เราจะเห็นว่าแต่ละข้อ มีหน้าที่สำคัญแตกต่างกันไปคนละอย่าง,ไม่เหมือนกัน คือ

ศีล มีหน้าที่ป้องกันผู้ปฏิบัติ ไม่ให้ประพฤติชั่วทางกาย,วาจา.
สมาธิ มีหน้าที่รักษาและทำจิตผู้ปฏิบัติให้สงบตั้งมั่น.
ปัญญา มีหน้าที่ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายออกไปได้โดยลำดับ.

แต่เมื่อนำมาปฏิบัติจริงๆแล้ว ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา เหล่านี้
ต่างก็จะเป็นเหตุปัจจัยเกื้อกูลผลักดันซึ่งกันและกัน
ให้ทำหน้าที่ที่กล่าวมาแล้วนี้ อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กล่าวคือ

เมื่อปฏิบัติศีลอย่างเคร่งครัดแล้ว
ก็ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้สมาธิเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้ว
ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้น
และเมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
ก็ย่อมเป็นปัจจัยส่งผลให้ผู้ปฏิบัติ
ประพฤติตนในสิ่งที่ถูกต้องไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคม
ซึ่งช่วยผลักดันส่งเสริมให้การรักษาศีลมั่นคงแข็งแรงและจริงจังยิ่งขึ้น
แล้ววนเวียนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้ปฏิบัติทำงานที่จิตเพียงแห่งเดียว

ในเมื่อมีอารมณ์ทั้งหลายผ่านเข้ามากระทบจิตในชีวิตประจำวันเท่านั้น
จนกระทั่ง ศีล สมาธิ ปัญญา รวมตัวกัน (มคฺคสมงฺคี)
ทำหน้าที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้จิตพ้นทุกข์ในที่สุด.

ดังนั้น จึงทวนกระแสจิตของผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ ซึ่งเคลื่อนออกจากสภาพเดิมอันผ่องใส
ไปเพลิดเพลินอยู่กับอารมณ์ภายนอกสืบต่อกัน
และถูกปรุงแต่งให้ซัดส่ายจนเป็นทุกข์ตลอดเวลา.

เมื่อปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา จนรวมตัวกันเช่นนี้แล้ว
จิตย่อมมีพลังปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ออกไป
ได้อย่างสิ้นเชิง จิตตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยตัวเอง สงบสันติถึงที่สุดเป็นจิตตัวใน

มีพระบาลีในมหาปรินิพพานสูตร
ยืนยันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนี้คือ:

“สีล ปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสงฺโส,
สมาธิ ปริภาวิโต ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสงฺสา,
ปญฺญา ปริภาวิโต จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ

สมาธิที่มีศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ปัญญาที่มีสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
จิตที่มีปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมอง เสียได้ ดังนี้
”.


เราจึงเห็นได้ว่าหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา
มีประโยชน์แก่ผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริงเท่านั้น
ผู้ใดลงมือปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น
พระสงฆ์ หรือ ฆราวาสก็ตาม...ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องกั้นหรือขีดคั่นไว้เลย

ผู้ใดปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกันมาก ก็ย่อมได้รับพลังจิตสำหรับต่อต้านอิทธิพล
ของอารมณ์ได้ดี และมีความสุขในชีวิตประจำวันได้มาก

ผู้ใดปฏิบัติน้อย ก็ย่อมได้รับพลังจิตสำหรับต่อต้านอิทธิพลของอารมณ์ได้น้อย
และมีความสุขในชีวิตประจำวันน้อย

ผู้ใดไม่ปฏิบัติเลย ก็ย่อมไม่มีพลังจิตสำหรับต่อต้านอิทธิพลของอารมณ์เลย
คือยังถูกอารมณ์ทั้งหลายครอบงำให้หวั่นไหวตามไปด้วย
ทำให้ไม่มีความสุขในชีวิตประจำวันเท่าที่ควร

นั่นก็คือ ไม่รู้จักวิธีทำตนให้มีความสุข ทั้งๆที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว.

ดังนั้น ชาวพุทธจึงน่าจะได้ลงมือ ปฏิบัติสมาธิ และช่วยกันเผยแพร่การ
ปฏิบัติสมาธิออกไปให้กว้างขวางที่สุด เท่าที่จะกว้างขวางได้ โดยไม่ลังเลใจต่อไป
ยังไม่สายเกินไปที่จะนำหลักธรรมข้อนี้ มาแก้ปัญหายุ่งยากทางสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน,
ให้หมดไปตามลำดับ.


จากหนังสือ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์
๒๔ เมษายน ๒๕๕๑




 

Create Date : 24 เมษายน 2551   
Last Update : 25 สิงหาคม 2553 8:18:33 น.   
Counter : 1505 Pageviews.  

ศีล สมาธิ ปัญญา

มรรคมีองค์ ๘ นี้ พระพุทธองค์ทรงย่นย่อสงเคราะห์ ลงเหลือ ๓ ข้อ
เรียกว่า ไตรสิกขา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนี้คือ :

๑. สัมมาทิฐิ
๒. สัมมาสังกัปปะ
ทรงสงเคราะห์เป็น ปัญญาสิกขา

๓. สัมมาวาจา
๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ
ทรงสงเคราะห์เป็น ศีลสิกขา

๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ
๘. สัมมาสมาธิ
ทรงสงเคราะห์เป็น สมาธิสิกขา


ศีล

ในมรรคมีองค์ ๘ ท่านสงเคราะห์ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็น ศีล

ศีล เป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้
เพื่อห้ามปฏิบัติในสิ่งที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นในสังคม

เป็นการสำรวมกาย วาจา ให้เรียบร้อย ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบ( วีติกมะโทษ )
โดยมีศีล ๕ เป็นพื้นฐานสำคัญที่เปรียบเหมือนรากแก้วในพระพุทธศาสนา

ส่วนศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ บัญญัติเพิ่มขึ้นจากศีล ๕
เพื่อช่วยฝึกอบรมจรรยามารยาทให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น
ซึ่งเมื่อจรรยามารยาทละเอียดขึ้น ความคิดกังวลเรื่องกามารมณ์ก็ย่อมน้อยลง
การปฏิบัติธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้บรรลุธรรมเบื้องสูงขึ้นไป ก็ย่อมสะดวกขึ้น

แต่ถ้ามีศีลน้อยข้อ ความสำรวมระวังก็ย่อมมีน้อย จึงถึงจุดหมายได้ช้ากว่า
แต่การรักษาศีลมากข้อหรือน้อยข้อ ก็ย่อมถึงที่หมายเหมือนกัน
ต่างกันแต่ว่าช้าหรือเร็วกว่ากันเท่านั้น ถ้าต่างคนต่างปฏิบัติโดยไม่หยุดยั้ง.

การรักษาศีลในมรรคมีองค์ ๘ เป็นการรักษาศีลด้วยสติ
โดยสังเกตดูจิตของตนเองตลอดเวลา
เมื่อมีอารมณ์หรือเรื่องราวใดๆมากระทบเฉพาะหน้า แล้วเกิดความหวั่นไหว ฟุ้งซ่าน ฯ
ซึ่งผิดไปจากสภาพปรกติ ก็หยุด, ไม่ลงมือทำต่อไป
การรักษาศีลเช่นนี้เป็นวิธีการรักษาศีลของพระอริยะ เรียกว่า ปาริสุทธิศีล
มีอยู่ ๔ ประการคือ

๑. ปาฏิโมกข์สังวร สำหรับพระสงฆ์ ซึ่งรักษาศีล ๒๒๗
หรือ ศีลสังวร สำหรับฆราวาส ซึ่งรักษาศีล ๕ หรือ ศีล ๘.

๒. อินทรีย์สังวร
สำรวมระวังจิตไว้เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ซึ่งเปรียบเสมือนศีลพี่เลี้ยง
ที่คอยประคับประคองมิให้การรักษาศีลในข้อ ๑ ด่างพร้อย หรือทะลุ
ถ้าเห็นว่าขืนดำเนินการใดๆลงไปแล้วทำให้ศีลด่างพร้อยหรือทะลุแล้ว
ก็หยุดเสียไม่ทำต่อไป.

๓. โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภคอาหารแต่พอสมควร
ไม่บริโภคจนอิ่มจัดจนแน่นท้องเกินไป ซึ่งจะทำให้อึดอัด เกิดความง่วงนอนได้ง่าย
ทำให้ลดการสำรวมระวังศีล และลดการประกอบความเพียรทางจิตลงได้มาก.

๔. ชาคริยานุโยค ความเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอสำหรับประกอบความเพียรทางจิต
หรือที่เรียกว่า ประกอบสัมมาสมาธิ ในมรรคมีองค์ ๘
ซึ่งหมายความว่า นอนแต่น้อย ตื่นเพื่อปฏิบัติความเพียรให้มาก
ไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องนอนกัน เลยแต่อย่างใด
การไม่นอนย่อมเป็นการทรมานร่างกายให้เหนื่อยเปล่า ไม่ใช่พุทธบัญญัติ.


สมาธิ
ในมรรคมีองค์ ๘ ท่านสงเคราะห์สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็น สมาธิ
มีรายละเอียด ดังนี้คือ :

๑. ยกจิตขึ้นเพ่งดูที่ฐานกาย เวทนา จิต หรือ ธรรม อย่างใด อย่างหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔
เป็นสัมมาสติ
๒. เพียรประคองรักษาจิตไว้ ณ จุดดังกล่าวข้างต้น ด้วยอุบายอันแยบคาย
เพื่อไม่ให้จิตแลบออกไปสู่อารมณ์อื่น เป็นสัมมาวายามะ
๓. ความตั้งมั่นของจิต และความสามารถปล่อยวางความยึดถืออารมณ์ให้หมดไป,
ตามลำดับ จนหมดความยึดถืออารมณ์อย่างสิ้นเชิงที่ฌาน ๔ เป็นสัมมาสมาธิ

องค์ประกอบทั้ง ๓ นี้ ถ้ายังไม่ได้ลงมือปฏิบัติสติปัฏฐาน
ก็มีหน้าที่แตกต่างกัน และแยกกันอยู่คนละส่วน
แต่ถ้าลงมือปฏิบัติจริงแล้ว ก็จะทำงานสัมพันธ์กัน และส่งผลให้จิตตั้งมั่นทันที.


ปัญญา
ในมรรคมีองค์ ๘ ท่านสงเคราะห์ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็น ปัญญา

กล่าวคือ เมื่อยกจิตเพ่งดูอารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ จน จิตเกิดสมาธิ (จิตตั้งมั่นชอบ) ขึ้น
ก็ย่อมได้ศึกษารู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง เกิดญาณ
( รู้ตามความเป็นจริง คือ รู้อริยสัจ ๔ ) คือ สัมมาทิฐิ ขึ้น
และเกิด ปัญญา ปล่อยวางความยึดถืออารมณ์ ต่างๆเสีย ได้ คือ
เกิดสัมมาสังกัปปะ ตามมาด้วย.

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ปัญญา ว่าเป็นองค์ธรรมสำคัญในพระศาสนานี้.

มีพระบาลีในพระธรรมบทกล่าวรับรองไว้ ดังนี้คือ:
“โยคาเว ชายเต ภูริ, อโยคา ภูริ สงฺขโย,
เอตํ เทฺวตปถํ ญตฺวา ภวาย วิภาวย จตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวทฺฒติ
แปลว่า
ปัญญาเกิดขึ้นเพราะความประกอบ ไม่ประกอบ ปัญญาก็หมดสิ้นไป
บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญและความเสื่อมทั้ง ๒ ทางนี้,แล้ว
พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ”.


ปัญญา ที่กล่าวนี้หมายถึง ความสามารถของจิตที่จะปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ
ที่มากระทบ ซึ่งจะเกิดมีขึ้นได้เพราะสัมมาสมาธิที่ได้ฝึกหัดไว้จนชำนาญแล้ว

กล่าวคือ เมื่อจิตมีพลังสมาธิขึ้นเมื่อใด ย่อมอบรมพลังปัญญาให้มีขึ้นตามมาด้วยเมื่อนั้น
เพราะจิตมีความชำนาญในการสลัดอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์
ตั้งแต่ฌาน ๑ ขึ้นไปโดยลำดับ จนถึงฌาน ๔
โดยจิตสามารถสลัดอารมณ์ และ อาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์
คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข ออกไปได้อย่างสิ้นเชิงที่ฌาน ๔ คงเหลืออยู่แต่จิตอันสงบ
ปราศจากการปรุงแต่งของอารมณ์ มีสติบริสุทธิ์วางเฉยอยู่.

ณ ตรงนี้ จิตกับสติจะทำงานอยู่ด้วยกัน กล่าวคือ

จิตอยู่ที่ไหน-สติก็อยู่ที่นั่น
สติอยู่ที่ไหน-สมาธิก็อยู่ที่นั่น
สมาธิอยู่ที่ไหน-ปัญญาก็จะอยู่ที่นั่นด้วย


ทำให้รู้จักเรื่องราวของอารมณ์ถูกต้องตามความเป็นจริง
เห็นว่าอารมณ์เป็นเพียงสิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบชั่วคราวแล้วก็ดับไป
ไม่มีแก่นสารสาระอะไร ไม่อาจยึดถือเอาว่าเป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรได้
เป็นเหตุให้เกิดสัมมาทิฐิ
และมีพลังปล่อยวางอารมณ์ทั้งปวงที่เข้ามากระทบได้
เกิดสัมมาสังกัปปะ พร้อมๆกันด้วย.


ปัญญา กับ สัญญา

ในทางโลก มักเข้าใจคำว่า ปัญญา แตกต่างไปจากที่กล่าวข้างต้น กล่าวคือ
ความเฉลียวฉลาดในการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
รวมทั้งความสามารถในการท่องจำวิชาความรู้ที่กำลังเล่าเรียนไว้ได้มากๆ
ใครท่องจำความรู้หรือวิทยาการไว้ได้มาก จนสามารถสอบได้ปริญญายาวๆ
ก็นับว่าเป็นผู้มีปัญญามาก.

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า
คำว่า ปัญญาในทางโลก หมายถึง การจำได้หมายรู้ ( หรือ สัญญา )
ในวิทยาการที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่
ยิ่งจำได้หมายรู้มากเท่าใด จิตก็ยิ่งยึดมั่นถือมั่นมากขึ้นเพียงนั้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีความรู้มาก
จึงไม่ใช่เครื่องหมายว่า มีพลังปัญญาในทางธรรมมากแต่ประการใด
ถ้าจิตใจยังเต็มไปด้วย ทิฐิ ตัณหา อุปาทานอยู่.

ปัญญาในทางธรรม เกิดได้จากการปฏิบัติสัมมาสมาธิเท่านั้น
สมาธิยิ่งมีพลังมาก ย่อมเกิดพลังปัญญาปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ได้มาก.


จากหนังสือ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์
๒๓ เมษายน ๒๕๕๑




 

Create Date : 23 เมษายน 2551   
Last Update : 25 สิงหาคม 2553 8:17:55 น.   
Counter : 541 Pageviews.  

1  2  

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]