ความสัมพันธ์ระหว่าง ศีล สมาธิ ปัญญา

เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงมีพระสาวกครบ ๖๐ รูป
แล้วได้ทรงส่งพระสาวกออกไปประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก
ได้ตรัสแก่พระสาวกเหล่านั้นว่า:

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริก (อบรมสั่งสอน) ไป
เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนทั้งหลาย เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์และความสุขของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายเถิด

พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกัน ๒ รูป

จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น
(ศีล),
งามในท่ามกลาง (สมาธิ),
งามในที่สุด (ปัญญา)
จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะครบบริบูรณ์, บริสุทธิ์

สัตว์ทั้งหลาย
(ผู้ติดข้องอยู่ในอารมณ์) จำพวกที่มี กิเลสเบาบางมีอยู่
เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม, ผู้รู้ทั่วถึง ธรรมจักมี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราเองก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม”


ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า หลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน
และโปรดให้พระสาวก ออกไปเผยแพร่สั่งสอน ก็คือ
หลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง.

ในขณะที่พูดถึงหลักธรรม เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา นี้
เราจะเห็นว่าแต่ละข้อ มีหน้าที่สำคัญแตกต่างกันไปคนละอย่าง,ไม่เหมือนกัน คือ

ศีล มีหน้าที่ป้องกันผู้ปฏิบัติ ไม่ให้ประพฤติชั่วทางกาย,วาจา.
สมาธิ มีหน้าที่รักษาและทำจิตผู้ปฏิบัติให้สงบตั้งมั่น.
ปัญญา มีหน้าที่ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายออกไปได้โดยลำดับ.

แต่เมื่อนำมาปฏิบัติจริงๆแล้ว ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา เหล่านี้
ต่างก็จะเป็นเหตุปัจจัยเกื้อกูลผลักดันซึ่งกันและกัน
ให้ทำหน้าที่ที่กล่าวมาแล้วนี้ อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กล่าวคือ

เมื่อปฏิบัติศีลอย่างเคร่งครัดแล้ว
ก็ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้สมาธิเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้ว
ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้น
และเมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
ก็ย่อมเป็นปัจจัยส่งผลให้ผู้ปฏิบัติ
ประพฤติตนในสิ่งที่ถูกต้องไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคม
ซึ่งช่วยผลักดันส่งเสริมให้การรักษาศีลมั่นคงแข็งแรงและจริงจังยิ่งขึ้น
แล้ววนเวียนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้ปฏิบัติทำงานที่จิตเพียงแห่งเดียว

ในเมื่อมีอารมณ์ทั้งหลายผ่านเข้ามากระทบจิตในชีวิตประจำวันเท่านั้น
จนกระทั่ง ศีล สมาธิ ปัญญา รวมตัวกัน (มคฺคสมงฺคี)
ทำหน้าที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้จิตพ้นทุกข์ในที่สุด.

ดังนั้น จึงทวนกระแสจิตของผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ ซึ่งเคลื่อนออกจากสภาพเดิมอันผ่องใส
ไปเพลิดเพลินอยู่กับอารมณ์ภายนอกสืบต่อกัน
และถูกปรุงแต่งให้ซัดส่ายจนเป็นทุกข์ตลอดเวลา.

เมื่อปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา จนรวมตัวกันเช่นนี้แล้ว
จิตย่อมมีพลังปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ออกไป
ได้อย่างสิ้นเชิง จิตตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยตัวเอง สงบสันติถึงที่สุดเป็นจิตตัวใน

มีพระบาลีในมหาปรินิพพานสูตร
ยืนยันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนี้คือ:

“สีล ปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสงฺโส,
สมาธิ ปริภาวิโต ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสงฺสา,
ปญฺญา ปริภาวิโต จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ

สมาธิที่มีศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ปัญญาที่มีสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
จิตที่มีปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมอง เสียได้ ดังนี้
”.


เราจึงเห็นได้ว่าหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา
มีประโยชน์แก่ผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริงเท่านั้น
ผู้ใดลงมือปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น
พระสงฆ์ หรือ ฆราวาสก็ตาม...ไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องกั้นหรือขีดคั่นไว้เลย

ผู้ใดปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกันมาก ก็ย่อมได้รับพลังจิตสำหรับต่อต้านอิทธิพล
ของอารมณ์ได้ดี และมีความสุขในชีวิตประจำวันได้มาก

ผู้ใดปฏิบัติน้อย ก็ย่อมได้รับพลังจิตสำหรับต่อต้านอิทธิพลของอารมณ์ได้น้อย
และมีความสุขในชีวิตประจำวันน้อย

ผู้ใดไม่ปฏิบัติเลย ก็ย่อมไม่มีพลังจิตสำหรับต่อต้านอิทธิพลของอารมณ์เลย
คือยังถูกอารมณ์ทั้งหลายครอบงำให้หวั่นไหวตามไปด้วย
ทำให้ไม่มีความสุขในชีวิตประจำวันเท่าที่ควร

นั่นก็คือ ไม่รู้จักวิธีทำตนให้มีความสุข ทั้งๆที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว.

ดังนั้น ชาวพุทธจึงน่าจะได้ลงมือ ปฏิบัติสมาธิ และช่วยกันเผยแพร่การ
ปฏิบัติสมาธิออกไปให้กว้างขวางที่สุด เท่าที่จะกว้างขวางได้ โดยไม่ลังเลใจต่อไป
ยังไม่สายเกินไปที่จะนำหลักธรรมข้อนี้ มาแก้ปัญหายุ่งยากทางสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน,
ให้หมดไปตามลำดับ.


จากหนังสือ ธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์
๒๔ เมษายน ๒๕๕๑



Create Date : 24 เมษายน 2551
Last Update : 25 สิงหาคม 2553 8:18:33 น. 1 comments
Counter : 1509 Pageviews.  

 
ดีมากครับ


โดย: SS IP: 118.173.164.77 วันที่: 8 มิถุนายน 2552 เวลา:19:52:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]