ฌานของ อาฬารดาบสและอุทกดาบส ไม่ใช่ฌานในพระพุทธศาสนา

รูปฌาน ๔ คือ ๑.ปฐมฌาน ๒.ทุติยฌาน ๓.ตติยฌาน ๔.จตุตถฌาน
อรูปฌาน ๔ คือ ๕.อากาสานัญจายตนะ ๖.วิญญาณัญจายตนะ
๗.อากิญจัญญายตนะ ๘.เนวสัญญานาสัญญายตนะ

ที่ยกมากล่าวให้ทราบ ก็ว่ากันไปตามตำรา ที่ทราบกันอยู่แล้วว่า
อาฬารดาบสตั้งแต่ ๑ ถึง ๗ อุทกดาบสตั้งแต่ ๑ ถึง ๘

แต่เมื่อว่ากันถึงความเห็นตามรูปเรื่องที่วางไว้นั้นไม่น่าจะเชื่อถือ
เพราะเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าของเราเสด็จเข้าไปหาอาฬารดาบส ตรัสถามถึงทางปฏิบัติ
อาฬารดาบสแสดงเฉพาะอากิญจัญญายตนะในเลขที่ ๗ นั้นเท่านั้น
พระองค์ทรงศึกษาอากิญจัญญายตนะฌานแล้ว ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้

จึงเสด็จเข้าไปหาอุทกดาบสอีก ตรัสถามถึงทางปฏิบัติ
อุทกดาบสก็แสดงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ในเลขที่ ๘ นั้นเท่านั้น
พระองค์ทรงศึกษาแล้ว ไม่ทรงเห็นว่าเป็นทางตรัสรู้อีก

จึงเสด็จหลีกเลี่ยงออกไปเสียจากสำนัก ๒ ดาบสนั้น ปรากฏในบาลีเป็นอย่างนี้เท่านั้น

ผู้ศึกษา คงเข้าใจว่า ๒ ดาบสนั้น ต้องดำเนินมาตั้งแต่ รูปฌาน อรูปฌาน
คืออาฬารดาบส ตั้งแต่ ๑ ถึง ๗ อุทกดาบสตั้งแต่ ๑ ถึง ๘

แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ก็ไม่มีหลักฐาน เข้าใจว่าเดาสวดผิดมากกว่าถูก
๒ ดาบสนั้น อาจได้ฌานคนละอย่างเท่าที่ว่าไว้นั้นก็อาจเป็นได้
ถ้าท่านทั้ง ๒ มีฌานคนละอย่างเท่าที่ว่านั้นจริง ๆแล้ว
ฌานอีก ๖ ชั้นก็คงเอาไปเพิ่มเติมให้ ๒ ท่านนั้น เมื่อภายหลัง

ตั้งแต่ ปฐมฌาน ถึง จตุตถฌาน คือ ๑ ถึง ๔ นั้น
เข้าใจว่าเป็นของพระพุทธศาสนา อันมีอยู่ในมรรคอริยสัจจ์
ซึ่งมิได้ทรงจัด ว่าเป็นรูปฌานหรืออรูปฌาน


พวกนักพูดทั้งหลายอันปราศจากพินิจพิจารณ์
ตั้งแต่ ๑ ถึง ๔ เหตุใดเขาจึงเรียกว่า รูปฌาน
อธิบายว่าเพราะบริกรรมรูปกสิณหรือดวงกสิณต่างๆ
แล้วยึดอุคคหนิมิตที่เกิดแต่การบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์
เพ่งจนเกิดปฏิภาคนิมิตอีกต่อหนึ่ง ขยายส่วนให้ใหญ่เล็กได้ตามชอบใจ
จนบรรลุถึงฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้
เพราะฉะนั้นตั้งแต่ ๑ ถึง ๔ เขาจึงเรียกว่ารูปฌาน เพราะเพ่งรูปเป็นอารมณ์

ความมุ่งหมายอธิบายเช่นนี้ ผิดหลักธรรม
ฌานซึ่งเกิดขึ้นเพราะอาศัยนิมิตทั้ง ๒ นั้นเรียกว่า รูปฌานไม่ได้
บริกรรมนิมิตซึ่งเป็นรูปธรรมกลายเป็นสัญญาไปแล้ว ยังจะเรียกว่า รูปธรรมอีกหรือ

อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตทั้ง ๒ นั้นเป็นสัญญา
สัญญาเป็นนามธรรม หาใช่รูปธรรมไม่

ถ้าหากว่าอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตเป็นรูปธรรมแล้ว
อารมณ์ทุกประเภทของจิตก็เป็นรูปธรรมสิ้น จะหาอารมณ์ที่เป็นนามธรรมไม่ได้เลย

เข้าใจว่า นิมิต ๒ นั้น ไม่ได้ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์
คงเป็นความเห็นของผู้อื่นนอกมรรคอริยสัจจ์

รูปธรรมนั้นเป็นของแบ่งสรรปันกันได้แลเป็นสิ่งที่ดักได้ด้วย
แต่นามธรรมจะทำอย่างนั้นหาได้ไม่

อุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิต ๒ นั้น ยกให้แก่กันไม่ได้ แลดักไม่ได้มิใช่หรือ
เมื่อดักไม่ได้ก็ต้องเป็นนามธรรมซิ ตั้งแต่ ๑ ถึง ๔
แล้วเรียกว่ารูปฌานหมด ถือว่าเพราะเพ่งรูปธรรมมาก่อน

ก็เอาละ คราวนี้ เขายึดเมตตา ซึ่งเป็นอรูปแท้ๆ เป็นอารมณ์บริกรรมภาวนา
ผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่ในเมตตา อัปปมัญญา อกุศลวิตก หรือนิวรณ์ ๕ ก็ระงับดับสิ้นหมด
แล้วเขาผู้นั้นได้บรรลุฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เพราะยึดเมตตาขึ้นเป็นอารมณ์
ฌานเช่นนี้ จะเรียกว่า รูปฌาน หรือ อรูปฌานเล่า งงแล้วซิ (!!!)

ตั้งแต่ ๕ ถึง ๘ ซึ่งเรียกว่า อรูปฌานนั้น เป็นฌานที่ระบุชื่ออารมณ์
ยึดอารมณ์ชนิดไหนก็เรียกตามอารมณ์ชนิดนั้น เช่น อากาสานัญจายตนฌาน เป็นต้นนี้
เห็นได้ว่าเป็นของภายนอกพระพุทธศาสนา

ส่วน ปฐมฌาน จนถึง จตุตถฌาน คือ ๑ ถึง ๔ นั้น
ปรากฏอยู่ในสัมมาสมาธิแห่งมรรคอริยสัจจ์
ไม่ระบุชื่ออารมณ์ให้รู้ว่าเป็นฌานชนิดไหน
เรียงตามปูรณะสังขยาว่าที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นี้เป็นของพระพุทธศาสนาแท้ๆ
ซึ่งหมายความว่าจิตเปลื้องปลดจากอารมณ์ที่เป็นสังขตธรรม
สงบประณีตเข้าไป เป็นลำดับ เป็นชั้นๆ จนถึงขีดที่สุดเช่นนี้

เอามาประสมกันยุ่ง เลอะเทอะ
เอาฌานในมรรคอริยสัจจ์ซึ่งเป็นของสูง อันตัวนับถือยิ่ง
ไปไว้เป็นชั้นต่ำที่สุดด้วยอำนาจโมหะ

ความเสื่อมเสียยังมีต่อไปอีก เมื่อจัดฌานไว้ด้วยความเข้าใจเช่นนั้นแล้ว
จะรู้สึกว่า ๒ ดาบสนั้นมีฌานสูงเกินสมเด็จพระพุทธเจ้า
และพระองค์ตรัสรู้ด้วยฌาน๔ข้างต้นนั้นเท่านั้น และตรัสไว้ในมรรคอริยสัจจ์ ก็เท่านั้นเอง
จะเห็นว่าพระพุทธศาสนาด้อยไปกระมัง ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้ามีฌานต่ำ
จึงเกิดจัดฌานสูงสุด คือ สัญญาเวทยิตนิโรธ ขึ้นเป็นฌานชั้นที่ ๙ สูงกว่า ๒ ดาบสนั้นอีก

สัญญาเวทยิตนิโรธ แปลว่า ดับสัญญากับเวทนา
ถือว่าเป็นของสมเด็จพระพุทธเจ้า, ๒ ดาบสนั้นไม่ถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ

เวลาพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ตำราเรียนกล่าวไว้ว่า พระองค์ทรงเข้าฌานก่อนเบื้องต้นแห่งมรณกาล
ตั้งแต่ฌานที่ ๑ ตลอดถึงที่ ๙ คือ สัญญาเวทยิตนิโรธ
แล้วทรงถอยกลับลงมาจนกระทั่งปฐมฌาน คือ ฌานที่ ๑
แล้วทรงกลับขึ้นไปอีกจนฌานที่ ๔
เสด็จดับขันธปรินิพพานในระหว่างฌานชั้นที่ ๔ กับที่ ๕
คือ ในระหว่างหัวต่อแห่งรูปฌานกับอรูปฌาน

รูปเรื่องเช่นว่ามานี้ เอาประโยชน์อะไร เป็นที่น่าสงสัยมากทีเดียว เป็นเรื่องคนอื่นพูด
สมเด็จพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วทรงเข้าออกอยู่เช่นนั้นด้วยเหตุใด
ทำไมจึงต้องนิพพานในระหว่างฌานที่ ๔ กับฌานที่ ๕

ถ้าฌาน ๔ ข้างต้นบรรลุถึงพระนิพพานสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
และพระอรหันต์พุทธสาวกได้แล้ว
ฌาน ๕ ข้างบนนั้นมีไว้เป็นประโยชน์อะไร

ถ้าหากฌาน ๔ ข้างต้นไม่สำเร็จประโยชน์ได้ ต้องอาศัยฌานข้างบนอีก ๕ เล่า
ถ้าอย่างนั้นในประวัติตรัสรู้ที่ว่าพระองค์สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าด้วยฌาน๔ นั้นผิด
และที่ตรัสฌาน ๔ข้างต้นไว้ในสัมมาสมาธิแห่งมรรคอริยสัจจ์นั้นก็ผิด
เพราะยังมีฌานตกค้างอยู่อีกตั้งครึ่ง

และข้อว่าพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในระหว่างฌานที่ ๔ กับที่ ๕ นั้น
พูดละเมอเพ้อไป เป็นอาการของคนปราศจากสติ เชื่อถือไม่ได้
เมื่อซักถามเข้าว่าทำไมจึงต้องนิพพานในระหว่างฌานทั้ง ๒ นั้น
ก็ต้องตอบว่าเพื่อไม่ติดรูปไม่ติดนาม

( ด้วยฌานที่ ๔ เขาเข้าใจว่าเป็นรูปธรรมเสียแล้ว ฌานที่ ๕ เขาเข้าใจว่าเป็นนามธรรม )
กลัวจะติดรูปติดนามเท่านั้น

พระพุทธเจ้าของเรา เป็นผู้หลุดพ้นมาตั้งแต่วันตรัสรู้แล้ว
เวลาใกล้จะตายยังจะกลัวติดอีกหรือ


ครั้นซักต่อไปอีกว่า ผู้ติดนั้นเป็นรูปหรือเป็นนามเล่า
คราวนี้ชักงง ควรตอบว่าผู้ติดไม่ใช่รูปไม่ใช่นามซิ ...แต่จะตอบอย่างนั้นก็ไม่ได้
เพราะคำว่าไม่ใช่รูปไม่ใช่นามนั้น ไม่มีใครรู้จัก ผู้ตอบเอง ก็จะไม่รู้จักเหมือนกัน
ถ้าจะว่าไม่มีผู้ติดเล่า ก็ไม่ได้อีกเพราะ ถ้าไม่มีผู้ติดแล้ว
จะกล่าวไว้ทำอะไรว่าพระองค์นิพพานในระหว่างฌานที่ ๔ กับที่ ๕ (งงอีกแล้วซิ!!!)

ความจริงผู้ติดผู้พ้นนั้นมีแท้ และเป็นนามธรรม คือ อสังขตนามธรรม
ที่ว่าพ้นจากรูปธรรมนามธรรมนั้น
หมายเอาพ้นจากรูปนามส่วนที่เป็นสังขตธรรม อย่างนัยแห่งคำอันเป็นพุทธภาษิตนี้ว่า

"ยทา จ อตฺตนา เวทิ มุนี โมเนน พฺราหฺมโณ อถ รูปา อรูปา จ สุขทุกฺขา ปมุจฺจติ"
ดั่งนี้ ความว่า

เมื่อใดพราหมณ์ผู้มุนีมารู้จักตนด้วยปัญญาชื่อโมนะ เกิดจากความสงบ
เมื่อนั้นพราหมณ์นั้นย่อมพ้นจากรูปและอรูปจากสุขและทุกข์ ดั่งนี้


รูป อรูป สุข ทุกข์ ในพระพุทธภาษิตนี้
หมายเอาส่วนที่เป็นสังขตธรรมสิ้น พ้นด้วยการละตัณหา ๓
ผู้ติดผู้พ้นย่อมมีดั่งว่ามานั้น

แต่ที่ว่าพระองค์เสด็จขันธปรินิพพานในระหว่างฌานที่ ๔ กับที่ ๕ นั้นหาจริงไม่
ไม่ควรเชื่อถือ
พระองค์ทรงเห็นอมตธรรม ในที่สุดแห่งฌานที่ ๔
สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในฌานที่ ๔
ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในฌานที่ ๔ นั้นเอง


ในฌานที่ ๔ ไม่ใช่รูปนามที่เป็นสังขตะ
ในฌานที่๔ พ้นแล้วจากนามรูป เป็นวิสังขารไปแล้ว

ถ้าในฌานที่๔ ยังเป็นสังขตธรรมอยู่
ประวัติตรัสรู้ที่ว่าพระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในฌานที่ ๔ นั้นผิด
ใช้ไม่ได้ฟังไม่ขึ้น

ความจริงเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน
มิได้ทรงเข้าฌานเลยเถิดขึ้นไปจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธนั้นเลย
ทรงปรินิพพานสิ้นสังขตธรรมใน ฌานที่ ๔ นั้นเอง

ฌานที่ ๔ เป็นสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่แล้ว

ดังพระบาลีที่ปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร แสดงไว้
เวลาพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน

"นาหุ อสฺสาสปสฺสาโส ฐิตจิตฺตสฺส ตาทิโน
อเนญฺโช สนฺติมารพฺภ ยํ กาลมกรี มุนิ"

ดั่งนี้ แปลว่า

พระมหามุนีสิ้นลมอัสสาสะปัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้าออกแล้ว
จิตของพระองค์ตั้งมั่นคงที่ไม่หวั่นไหว สถิตเป็นสันติสงบอยู่
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ดังนี้

รูปเรื่องที่แสดงไว้นี้ ทางสันนิษฐานเห็นว่า
พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในฌานที่ ๔ ที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเอง
ในฌานที่ ๔ จิตสงบถึงขีดสุดไม่มีกิริยาอาการจิตที่เนื่องกับอารมณ์อย่างใด ๆ
ตรงคำว่า อปฺปวตฺตํ อนารมฺมณํ เอเสวนฺโตุ ทุกฺขสฺส
ไม่มีประวัตติกาล ไม่มีอารมณ์ นี่เป็นที่สุดแห่งทุกข์
( นอกโลก อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ )

ดังว่ามานี้ ไม่ควรเชื่อถือตำราเลอะเทอะที่แสดงไว้นั้น.


คัดลอกจากหนังสือธรรมประทีป ธรรมะภาคปฏิบัติ โดยเปมงฺกโร ภิกขุ







 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2551   
Last Update : 20 ตุลาคม 2552 6:06:50 น.   
Counter : 2809 Pageviews.  

คำปรารภของหลวงปู่เปรมจากหนังสือธรรมประทีป

เท่าที่ได้สังเกตมาโดยมาก
ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าจะว่าถึงธรรมชั้นต่ำ เพียงเป็นจรรยาความประพฤติ
ได้ประโยชน์ในโลกนี้ และทางสุคติภพแล้ว คงเข้าใจกันง่ายไม่สู้จะขัดข้อง
การประพฤติก็ติดจะคล่อง ทั้งไม่แก่งแย่งกันในทางความเห็นด้วย

แต่เมื่อถึงธรรมคำสอนชั้นสูง เป็นเรื่องจิตใจที่จัดว่าเป็นปรมัตถ์หรือนิพพานแล้ว
ทำท่วงทีจะอึดอัดขัดข้องไม่คล่องใจ ประหนึ่งว่าจะเกินวิสัยเป็นส่วนมาก
ยากที่จะจับเงื่อนเงา เหมือนเราแหงนดูพื้นฟ้าในอากาศอันโว่งว่างไม่มีที่หมายฉะนั้น
เพราะทางนี้มีธรรมและถ้อยคำที่ใช้ลึกละเอียดสุขุม
เป็นประโยชน์ที่สุดของความมุ่งแห่งมนุษย์ ดุจบันไดขั้นที่สุดแห่งทางขึ้นฉะนั้น
สมชื่อว่าทางปรมัตถ์แท้จริง

ผู้อ่อนบารมี อ่อนศึกษา อ่อนคิด ย่อมติดขัด
และเพราะได้คัดลอกถ่ายเทกันมาหลายทอดเป็นเวลานานสองพันปีเศษแล้ว
ต้องมีวิจิกิจฉาเข้าแอบแนบ เกรงว่าจะคลาดเคลื่อน
เพราะปรากฏว่าได้แต่งเพิ่มเติมเสริมต่อเข้าอีกมากมายในภายหลังอีกด้วย

ผู้ศึกษาปฏิบัติในทางนี้ โดยมากจึงเกิดแก่งแย่งกันในทางความเห็นเป็นพวกเป็นหมู่
ในที่ประชุมใดๆ เมื่อพูดกันขึ้นถึงเรื่องนี้ เป็นต้องขัดกันร่ำไป

เพราะฉะนั้นจึงมีความประสงค์ที่จะเขียนออกความเห็นในเรื่องนี้กับเขาบ้าง
อย่าให้ไร้ประโยชน์ในการศึกษาเสียเลย คงได้ประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย
เขียนไปตามความคิดเห็น แต่ก็ต้องชักพุทธภาษิตเข้ามาประกอบให้เป็นหลักฐาน

อันธรรมดาว่าความเข้าใจหรือความเห็นนั้น
ผู้เห็นก็ต้องเชื่อใจว่าตนเห็นถูก ที่รู้อยู่แน่ๆว่าตนเห็นผิดแล้วและพูดออกมา
เพื่อทำความฉิบหายให้แก่คนอื่นนั้น ย่อมมีไม่ได้
เว้นไว้แต่คนทุจริตที่คิดไม่ชอบ ตั้งใจหาประโยชน์อะไรของเขาอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น
เพราะฉะนั้นต้องขออภัยในข้อที่ไม่ถูกใจกับท่านผู้อ่านด้วยเทอญ.

เปมงฺกโร ภิกฺขุ
พ.ศ. ๒๔๗๔-๒๕๑๒

คัดลอกจากหนังสือธรรมประทีป ธรรมะภาคปฏิบัติ โดยเปมงฺกโร ภิกขุ






 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2551   
Last Update : 20 ตุลาคม 2552 6:00:48 น.   
Counter : 477 Pageviews.  


หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]