|
อัสสุตวตาสูตร...จิตเป็นต้นนั้น...จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง...
อัสสุตวตาสูตร

๑.ไฉนจึงทรงเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ???
รูปร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณธาตุ(ธาตุรู้ = จิต) ( อ้างอิงจาก วิภังคสูตร )
มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแห่ง รูปขันธ์ ผัสสะ เป็นปัจจัยแห่ง เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ รูปและนาม เป็นปัจจัยแห่ง วิญญาณขันธ์ ( อ้างอิงจาก มหาปุณณมสูตร )
มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแห่งรูป (รูปที่ไม่มีจิตครอง เรียก อนุปาทินกสังขาร เช่น ก้อนหิน ดิน ทราย) รูปชนิดนี้ประกอบด้วยธาตุ ๔ ไม่มีธาตุรู้(จิต) จึงรู้อะไรไม่ได้
มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแห่งรูปขันธ์ (รูปร่างกาย) (รูปที่มีจิตครอง เรียก อุปาทินกสังขาร) รูปร่างกายมนุษย์ ประกอบด้วยธาตุ ๔ + ธาตุรู้(จิต) ดังนั้นมนุษย์จึงรู้อะไรได้
รูปขันธ์ มีอายตนะภายใน ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นช่องทางของจิตในการติดต่อกับอารมณ์ (รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์)
อายตนะภายใน ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อผัสสะกับ อายตนะภายนอก ๖ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธัมมารมณ์ (เป็นคู่ตามลำดับ ) ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ หรือนามขันธ์ ๔ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
รูปขันธ์ ๑ และนามขันธ์ ๔ รวมเป็นขันธ์ ๕ หรือก็คือ อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ นั่นเอง หรือเรียกว่า จิตสังขาร (จิตที่ปรุงแต่งไปตามอารมณ์)
จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง หรือ จิตเป็นต้นนั้น ที่ทรงตรัสถึง ก็คือ จิตที่ผสมอารมณ์แล้วเกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ หรือ จิตสังขาร หรือ ขันธ์ ๕ นั่นเอง.
๒.ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่อาจเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิตเป็นต้นนั้นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะว่าจิตเป็นต้นนี้ อันปุถุชนมิได้สดับ รวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฐิ ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
นั่นก็คือ ปุถุชน จิตถูกอวิชชาครอบงำ เกิดตัณหา อุปาทาน ยึดถือขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน ปุถุชน ไม่อาจเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ได้เลย
แต่พระอริยสาวก เห็นขันธ์ ๕ ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ไม่ใช่ของเรา ขันธ์ ๕ไม่เป็นเรา ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตนของเรา
ย่อมเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตจึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในขันธ์ ๕

พระพุทธพจน์ส่วนนี้ ผู้ศึกษาจำนวนมาก ยึดเอาตามตัวหนังสือที่เห็น ที่พระองค์ตรัสว่า การยึดถือเอาร่างกายเป็นตนยังชอบกว่าการยึดถือเอาจิตเป็นตน โดยขาดความเฉลียวใจถึงความนัยที่ซ่อนไว้
โปรดสังเกตพระพุทธพจน์ที่มีมา เมื่อทรงตรัสถึง ปุถุชน(คนหนาด้วยกิเลส ) จะมีนัยที่ตรงกันข้ามกับพระอริยสาวกเสมอ
พระพุทธพจน์ส่วนนี้ก็เช่นกัน ทรงหมายให้เห็นว่า
ปุถุชนผู้มิได้สดับยึดถือเอาร่างกายเป็นตน ชอบกว่า... เพราะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่า ร่างกายนี้มีอายุ ๑ ปีบ้าง...๒ ปีบ้าง...ร้อยปีบ้าง...เป็นต้น
แต่พระตถาคตทรงเห็นมากกว่านั้น ทรงเห็นว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔+ธาตุรู้(จิต) เพราะมีจิตครอง จึงทำให้เกิดเป็นขันธ์ ๕ ขึ้น หรือก็คืออารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ หรือ จิตสังขารนั่นเอง
และขันธ์ ๕ เกิดขึ้นที่จิตและดับไปจากจิต ตลอดเวลาทั้งกลางคืนและกลางวัน

ทรงเปรียบ จิต เหมือน วานร
จิตมีดวงเดียว ท่องเที่ยวไปสู่ที่ไกลได้ (เอกจรํ) วานรตัวเดียว เที่ยวไปในป่าใหญ่
วานรจับกิ่งไม้ เปรียบเหมือน จิตผสมอารมณ์
ปล่อยกิ่งนั้น ยึดเอากิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่ยึดเดิม เหนี่ยวกิ่งใหม่ต่อไป เหมือนจิตปล่อยอารมณ์นั้น ผสมอารมณ์อื่น ปล่อยอารมณ์เดิม ผสมอารมณ์ใหม่ต่อไป ตลอดเวลาทั้งกลางคืนและกลางวัน
นั่นก็คือ จิตปรุงแต่งไปตามอารมณ์ ทำให้เกิดขันธ์ ๕ ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน จึงทรงให้พระสาวกพิจารณาขันธ์ ๕ ทั้งกลางวันและกลางคืน
ดังปรากฏใน เผณปิณฑสูตร ความว่า
พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้วว่า รูปอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ เวทนาอุปมาด้วยฟองน้ำ สัญญาอุปมาด้วยพยับแดด สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย และวิญญาณอุปมาด้วยกล.
ภิกษุย่อมเพ่งพิจารณาเห็นเบญจขันธ์นั้นโดยแยบคายด้วยประการใดๆ เบญจขันธ์นั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ฯลฯ
นี้เป็นความสืบต่อเช่นนี้ นี้เป็นกลสำหรับหลอกลวงคนโง่ เบญจขันธ์เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีในเบญจขันธ์นี้.
ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วมีสัมปชัญญะ มีสติ พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน.
ภิกษุเมื่อปรารถนาบทอันไม่จุติ (นิพพาน) พึงละสังโยชน์ทั้งปวง พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน พึงประพฤติดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้.

ปุถุชน จิตมีอวิชชาครอบงำ ทำให้หลงผิดยึดขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นที่จิต
ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิด เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ...ฯลฯ... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวง จึงมีด้วยประการ อย่างนี้
พระอริยสาวกปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ตามเสด็จพระบรมศาสดา จิตหลุดพ้นจากการยึดขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน เกิดวิชชาขึ้นที่จิตแทนที่ เพราะอวิชชาดับไปจากจิต ทุกข์จึงดับไปจากจิต
ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารจึงไม่มี เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ เมื่อสังขารไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ...ฯลฯ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการ อย่างนี้
อ่าน มหาศักยมุนีโคตมสูตร ปฏิจจสมุปบาทธรรมฝ่ายเกิด-ฝ่ายดับ

โดยทั่วไปที่มีมาในพระสูตรอื่นๆ จะเขียนไว้ชัดเจน และเป็นอันเข้าใจตรงกันว่า
พระอริยสาวก ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนด เพราะคลายกำหนัด จิตจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ฯลฯ
พระอริยสาวก จิตหลุดพ้นจากการถือมั่นว่าขันธ์ ๕ เป็นตน เพราะจิตรู้อยู่ เห็นอยู่ว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่ขันธ์ ๕ ถึงขันธ์ ๕ จะแปรปรวนไป จิตหาแปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไปไม่
(อ้างอิง นกุลปิตาสูตร)
ส่วนปุถุชน เมื่อขันธ์ ๕ แปรปรวนไป จิตก็แปรปรวนตามขันธ์ ๕ ที่แปรปรวนไป เพราะจิตมีอวิชชาครอบงำ ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง เพราะไม่ได้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามเสด็จพระบรมศาสดา
...................................................
ความเพียรมีผล ความพยายามมีผล
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้
จะมัวรีรออะไรกันอยู่ครับ...เริ่มต้นปฏิบัติสมาธิภาวนากันอย่างจริงจังนับแต่วินาทีนี้
ยินดีในธรรมทุกๆ ท่านครับ

Create Date : 22 สิงหาคม 2552 |
Last Update : 9 ตุลาคม 2552 19:10:56 น. |
|
3 comments
|
Counter : 1582 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: เออ นะ IP: 118.173.82.120 วันที่: 22 สิงหาคม 2552 เวลา:8:35:02 น. |
|
|
|
| |
|
 |
หนูเล็กนิดเดียว |
|
 |
|
พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล
อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)
เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(นิโรธ)
เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)
เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)
|
ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์
|
|
|