บุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ...ภัทเทกรัตตสูตร

ภัทเทกรัตตสูตร

[๕๒๗] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง

ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆได้
บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด


พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่า ความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย

พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้
มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ



[๕๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร

คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า
เราได้มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว



[๕๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร

คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า
เราได้มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว



[๕๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร

คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า
ขอเราพึงมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ในกาลอนาคต


[๕๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร

คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า
ขอเราพึงมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ในกาลอนาคต



[๕๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร

คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ฯลฯ
ย่อมเล็งเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง
เล็งเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง


[๕๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร

คือ อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ ฯลฯ
ย่อมไม่เล็งเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง
ไม่เล็งเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง



[๕๓๔] บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง

ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆได้
บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆให้ปรุโปร่งเถิด


พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย

พระมุนีผู้สงบย่อมเรียก บุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้
มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ


จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค ภัทเทกรัตตสูตร

......................................

^
สรุป

ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร
คือ ปุถุชน ฯลฯ
ย่อมเล็งเห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาว่ามีขันธ์ ๕ บ้าง
เล็งเห็นขันธ์ ๕ ในอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาในขันธ์ ๕ บ้าง


ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร
คือ พระอริยสาวก ฯลฯ
ย่อมไม่เล็งเห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีขันธ์ ๕ บ้าง
ไม่เล็งเห็นขันธ์ ๕ ในอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาในขันธ์ ๕ บ้าง


พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่า ความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย

พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้
มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ



ความเพียรมีผล ความพยายามมีผล
ต้องทำความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้วว่า
รูป อุปมาด้วย กลุ่มฟองน้ำ
เวทนา อุปมาด้วย ฟองน้ำ
สัญญา อุปมาด้วย พยับแดด
สังขาร อุปมาด้วย ต้นกล้วย
วิญญาณ อุปมาด้วย กล


ทรงเปรียบ ขันธ์ ๕ กับสิ่งอันหาสาระอะไรมิได้เลย แปรปรวนเสื่อมสิ้นเกิดดับตลอดเวลา

เบญจขันธ์ เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง
เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีในเบญจขันธ์นี้

ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วมีสัมปชัญญะ มีสติ
พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน

ภิกษุเมื่อปรารถนาบทอันไม่จุติ (นิพพาน)
พึงละสังโยชน์ทั้งปวง พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน
พึงประพฤติ ดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้


^
พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน โดยการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔
เริ่มจากอานาปานสติ บรรพะแรกครับ

“อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ,
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ,
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสตินี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น
ทำให้บ่อยๆแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์,

สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์,

โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชาจิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์ ดังนี้”



ยินดีในธรรมทุกๆท่านครับ






Create Date : 29 ตุลาคม 2552
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2552 9:12:22 น. 2 comments
Counter : 547 Pageviews.  

 
มาทักทายค่า (^^')


โดย: onedermore วันที่: 29 ตุลาคม 2552 เวลา:9:56:38 น.  

 
มาทักทายค่า (^^')


โดย: onedermore วันที่: 29 ตุลาคม 2552 เวลา:9:56:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]