*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 

การปรับตัวในการมาเรียนในประเทศสหรัฐ

การมาเรียนในสหรัฐฯ ทำให้เราได้รับวัฒนธรรมดี ๆ หลายประการ ประการแรก คือ การตรงต่อเวลา การตรงต่อเวลา และเอาจริงเอาจังในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะในการทำงานเป็นกลุ่มแล้ว การแลกเปลี่ยนทัศนคติ ความคิดเห็น เป็นเรื่องสำคัญมาก หากใครไม่เตรียมตัวมาก่อน และไม่ยอมพูดแสดงความคิดเห็นในการทำงานกลุ่มนี่ ก็อาจจะถูกดูถูกดูแคลนว่าไม่ฉลาด(โง่) โดยเฉพาะในการเรียนของพวก Business School หลายแห่ง ซึ่งจะมีระบบที่ให้นักเรียนที่ทำงานกลุ่มด้วยกัน ลงคะแนนลับเพื่อขับไล่บุคคลที่เป็นประเภท Free Rider ออกจากกลุ่ม ซึ่งย่อมมีผลต่อการเรียน เกรดที่จะได้รับ การสำเร็จการศึกษาด้วย

การตรงต่อเวลา เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่จะต้องระลึกถึงตลอดเวลา ชาวฝรั่งเขาตรงต่อเวลาดี นัดเวลาไหนเป็นเวลานั้น ไม่เหมือนคนเอเชีย โดยเฉพาะคนไทยเราด้วยกัน นัดกันแล้ว ไม่เคยเลยที่จะได้เป็นไปตามเวลา ต้องรอกันนานมาก จนเพื่อน ๆ อเมริกัน และชาวญี่ปุ่น ที่เขาเคร่งครัดต่อหน้าที่และเวลามาก เขาถามว่าทำไมคนไทยเป็นอย่างนี้ ผมอายจนแทบแทรกแผ่นดินหนี ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ตรงไหน (เลยเอาไว้บนบ่าเหมือนเดิม) ผมได้แก้ตัวน้ำขุ่น ๆ ไปว่า เขาคงติดธุระที่ไม่อาจก้าวล่วงได้

นอกจากไม่ตรงเวลาในการนัดหมายแล้ว การเข้าห้องเรียนสายเป็นข้อที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง หากสายแล้ว ก็ไม่ควรจะเข้าห้องเรียน เพราะเป็นการรบกวนสมาธินักเรียนและอาจารย์ที่กำลังสอนอยู่ ทางแก้ไข คือ ต้องไปก่อนเวลา แต่นักเรียนไทยเรา ก็มีชื่อเสียงเรื่องนี้อีก อันเป็นเรื่องที่ไม่สมควรมีชื่อเสียงเลย มันจึงเป็น “ชื่อเสีย”มากกว่าครับ

การคุยในห้องเรียนเป็นเรื่องที่เสียมารยาทอย่างร้ายแรง ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง ในโรงเรียนกฎหมายฯ นักเรียนจะพูดได้ เมื่อยกมือขออนุญาตและอาจารย์เรียกชื่อให้พูดหรือถามแล้วเท่านั้น แต่นักเรียนไทยบางคน อาจจะเคยชินมาจากสมัยอยู่เมืองไทย ในขณะที่นักเรียนไทยบางคนคุยกัน สายตานักเรียนคนอื่น ๆ นับสิบคู่ ก็มองหน้า ไม่รู้ว่าเขาจะด่าในใจว่า ไอ้พวกนี้ มันไร้วัฒนธรรมจริง ๆหรือเปล่า

เนื่องจากโรงเรียนกฎหมายนั้น ผู้เรียนมักจะเป็นผู้ใหญ่มากแล้ว ไม่เคยคุยกันในห้องเรียน มีแต่เสียงพิมพ์คอมพิวเตอร์แข่งกันระงมไปหมดฯ รวมถึงมือที่ยกขึ้น เพื่อขออนุญาตแสดงความเห็น แทบจะไม่เคยได้ยินนักเรียนฝรั่งพูดว่า “ขอโทษครับ ผมไม่ได้เตรียมตัวมา” เลย ด้วยเหตุนี้ การเตรียมตัวก่อนไปเรียน อ่านหนังสือ (Assignment) ตามที่อาจารย์มอบหมาย ในแต่ละวิชา ประมาณ ๒๐ หน้าขึ้นไป ต่อวันต่อวิชาให้ทัน เพราะอาจารย์ จะไม่อธิบายอะไรมากมาย มีแต่คำถาม และการแสดงความเห็นของเพื่อนร่วมชั้นเป็นสำคัญฯ หากไม่เตรียมตัวไป จะไม่ได้อะไรเลย นอกจากนั่งตากแอร์เย็น ๆ ให้จบชั่วโมงหนึ่งไปเท่านั้น

เรื่องการคุยกันนี้ สำหรับนักเรียน Undergrad หรือพวกนักเรียนปริญญาตรี นั้น ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า มันคุยกันหรือเปล่า แต่ถ้าผมเป็นอาจารย์ ผมคงไล่นักเรียนที่คุยกันออกจากห้องเรียน แต่อาจารย์อเมริกันนี่ เขาก็ดีนะครับ ยังรักษาหน้านักเรียนที่คุยกัน ไม่ถึงกับไล่ออกจากห้องเรียนฯ

ตอนผมอยู่เมืองไทย เคยได้รับเชิญไปสอนวิชากฎหมายที่สถาบันราชภัฎสองแห่ง และสอนที่วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ เข้าใจความรู้สึกดีว่า ถ้านักเรียนคุยกันแล้ว อาจารย์รู้สึกอย่างไร ที่ราชภัฎฯ มีชื่อในกรุงเทพฯ นักเรียนคุยกันมาก อุตส่าห์เตรียมตัวอย่างดี จัดทำเอกสารไปให้ ฯลฯ ในห้องเรียน ๕๐ กว่าคน จะมีนักเรียนตั้งใจเรียนประมาณ ๓๐ คน ที่นั่งด้านหน้า ผมต้องเชิญนักเรียนที่คุยกันออกจากห้องเรียนไปฯ แต่ท้ายที่สุด ผมก็ต้องขอพิจาณาตัวเอง เพราะไม่มีความสามารถจะสอนนักศึกษาที่เคารพได้

นักศึกษาที่ราชภัฎฯ ต่างจากที่วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ (ภาคสมทบของ จุฬาฯ ) ผมทึ่งนักศึกษาพยาบาลตำรวจ (นศพต) มาก เขาเตรียมตัวมาดี มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนเป็นอย่างดี มีคำถามที่น่าสนใจ จึงสอนอย่างต่อเนื่องอยู่ประมาณ ๓ ปี น่าเสียดาย ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยุบวิทยาลัยพยาบาลตำรวจไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องผมจะไม่มีที่สอนนะครับ ผมเห็นว่า บุคลากรที่มาเรียนที่นี่มีคุณภาพสูง และเมื่อสำเร็จการศึกษาพยาบาลศาสตร์แล้ว พวกเขาเป็นที่ต้องการของตลาดมาก แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะไม่มีอัตราบรรจุฯ พวกเขา ก็สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพทางการแพทย์และพยาบาลให้สังคมไทยได้ ไม่น่าจะยุบเลย

ความจริง เด็กราชภัฎฯ เขาน่าเห็นใจไม่น้อย เขาถูกจัดเป็นพลเมืองชั้นสอง สำหรับนักเรียนชั้นอุดมศึกษาฯ รัฐลงทุนให้พวกเขาน้อยมาก เมื่อเทียบกับจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ผู้บริหารราชภัฎฯ เอง ผมก็ว่า มีส่วนทำให้สถาบันของตนเองไม่เจริญก้าวหน้าฯ ตอนผมไปสอนฯ ไม่มีแม้แต่เจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ มาดูแล ไม่มีห้องพักอาจารย์พิเศษฯ ไม่มีน้ำให้ดื่ม หากผมอยากจะดื่มน้ำ ต้องไปซื้อเอง ถ้าอยากจะใช้ไมค์ฯ ให้ไปเบิกเอาฯ โอ๊ย ผมไม่อยากบ่น แต่คิดในใจว่า แล้วคณาจารย์ดี ๆ ที่ไหน เขาจะมาอดทนกับสภาพแบบนี้วะ ผมขอลาไม่ไหวจริง ๆ







 

Create Date : 20 มิถุนายน 2548    
Last Update : 11 มิถุนายน 2553 13:07:17 น.
Counter : 471 Pageviews.  

จะเรียนกฎหมายสหรัฐอเมริกา ไปทำไม

เพื่อนอเมริกัน มันจะถามผมเสมอว่า ทำไมมาเรียนกฎหมายในสหรัฐ ระบบกฎหมายเหมือนกันหรือ เรียนแล้วจะนำไปใช้ได้หรือ ผมก็ตอบไปง่ายว่า เนื่องจากประเทศอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี มีระบบกฎหมายที่ก้าวหน้า มีปัญหาทางกฎหมายที่ถกเถียงกันเยอะ จึงสามารถเรียนรู้ปัญหาและการแก้ไขปัญหาของสหรัฐอเมริกา เอาไปเป็นต้นแบบในประเทศไทยได้

ปัญหาเดียวกันนี้ ก็มีคนไทยด้วยกันถามอยู่บ่อย ๆ ครับ ผมเคยตอบคำถามไว้ในกระทู้หนึ่งของห้องศึกษาต่อต่างประเทศ จึงขอนำมาดัดแปลงและเขียนไว้ในที่นี้ ครับ

ความจริง สำนักกฎหมายของไทยที่มีการเรียนการสอนวิชานิติปรัชญา และประวัติศาสตร์กฎหมายไทย ก็จะเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ที่มาของกฎหมายของไทยว่า กฎหมายไทยแท้ ๆ แทบจะไม่มี จะมีที่เป็นรูปร่างชัดเจนหน่อย ก็อาจจะเป็นกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลที่ ๑ ที่รวมเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ พระราชสาน์ส และคำตัดสินของพระมหากษัตริย์ รวมถึงคำสอนของพราห์ม มารวม ๆ กัน ตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเราก็รับแนวคิดกฎหมายในรูปของคำสอนทางศาลมาจากทางประเทศอินเดีย ผ่านทางพม่าและมอญ กฎหมายตราสามดวงใช้มาจนถึงรัชกาลที่ ๔ ก็เริ่มถูกหลายประเทศเข้าครอบงำ โดยบังคับให้ทำสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และบังคับให้รัฐเลิกผูกขาดการเก็บภาษีแบบร้อยชักสาม เป็นอันว่า คนในบังคับอังกฤษฯ และ ประเทศตะวันตก ไม่ถูกบังคับด้วยกฎหมายไทย ไม่ต้องขึ้นศาลไทย เพราะกฎหมายเรา ถูกมองว่าโหดร้าย ป่าเถื่อน โดยเฉพาะ วิธีการสืบสวนแบบจารีตนครบาล ที่ค้นหาความจริงโดยการทรมานร่างกายฯ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้การค้าขายและเศรษฐกิจของไทย เจริญรุ่งเรืองขึ้นมากด้วย

การรับกฎหมายสมัยแบบตะวันตกเกิดขึ้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ท่านต้องการปลดแอกไทย จากการสูญเสียอำนาจทางการศาล หรือ สิทธิสภาพนอกอาณาเขตดังกล่าว ท่านก็จ้างนักกฎหมายฝรั่งเศสมาร่างกฎหมายให้ประเทศไทยของเรา ซึ่งตอนนั้น อังกฤษก็ต้องการครอบงำแนวคิดทางกฎหมายของไทยด้วย จึงต้องรับแนวคิดทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษมาพร้อม ๆ กัน และในขณะเดียวกัน กรมหลวงราชบุรีฯ ซึ่งจบจากอังกฤษ ก็เข้ามาวางรากฐานกฎหมายของไทยเรา ตามแบบอังกฤษ เพราะท่านจบฯ มาจากอังกฤษ ซึ่งเป็นกฎหมายประเภทจารีตประเพณี หรือ Common law แต่รัชกาลที่ ๕ ท่านต้องการให้ประเทศไทยเป็นระบบประมวลฯ หรือ Civil law เพราะท่านเห็นว่าสอดคล้องกับรูปแบบ กฎหมายตราสามดวงเดิม ..ทำให้ กรมหลวงราชบุรีฯ ท่านน้อยใจรัชกาลที่ ๕ ที่ไม่เห็นตามด้วย ท่านจึงไม่เข้าร่วมประชุม..(.ดูรายละเอียดได้จากในหอสมุดแห่งชาติ ) รัชกาลที่ ๕ ท่านได้จัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น ซึ่งต่อมา กรมหลวงราชบุรีฯ ได้เป็นเจ้ากระทรวงฯ กฎหมายไทยจึงถูกพัฒนาแบบ ๒ ระบบ โดยกรมหลวงราชบุรีฯ ท่านก็เปิดสำนักและสอนกฎหมายตามแนวคิดของอังกฤษ ให้แก่ผู้พิพากษาทั้งหลาย ศาลซึ่งล้วนเป็นลูกศิษย์ของกรมหลวงฯ ก็ตัดสินคดี ฯลฯ โดยอ้างกฎหมายอังกฤษทั้งสิ้น .เช่น .คำพิพากษา ก็อ้างว่า เรื่องนี้มีหลักกฎหมายว่า.....ท่านว่า..... ฯลฯ แต่ไม่บอกว่าเป็นกฎหมายอังกฤษ ในขณะที่แนวคิดในระบบประมวลก็ถูกร่างสำเร็จในรัชกาลที่ ๕ คือ กฎหมายลักษณะอาญา รศ. ๑๒๗ หรือ พ.ศ.๒๔๕๑ อย่างไรก็ตาม ศาลไทยตีความตามแนวคิดระบบ common law มาโดยตลอด นักวิชาการ (โดยเฉพาะที่ธรรมศาสตร์) หลายท่าน จึงตั้งข้อสังเกตว่า บิดาแห่งกฎหมายไทย น่าจะเป็นล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ มากกว่า ท่านกรมหลวงราชบุรีฯ เพราะท่านไม่สนใจใยดีต่อการร่างกฎหมายในสมัยนั้นแม้แต่น้อย ฯ

ต่อมาเราร่างประมวลกฎหมายอาญา หลังปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ในเหตุผลของการร่างกฎหมายและบันทึกการประชุมก็แจ่มชัดว่า กฎหมายเรารับมาจากทั้งจีน เยอรมัน ญี่ปุ่น อินเดียฯลฯ สรุป ก็คือ เราไม่เคยสร้างกฎหมายเราเอง ยกเว้นบางเรื่องที่เป็นแนวคิดแบบไทย คือ กฎหมายลักษณะผัวเมีย ที่ชายไทยมีเมียได้หลายคนโดยไม่ต้องมีการจดทะเบียนสมรสตามแบบตะวันตก และเมียแต่ละคนก็มีสิทธิในมรดกฯ แตกต่างกันไป ซึ่งตอนนี้ ก็ยังปรากฎในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ แต่ในทางข้อเท็จจริง ไม่มีแล้ว เพราะคนที่เป็นผัวเมียกันก่อนประกาศใช้กฎหมายนี้ ก็คงตายไปหมดแล้ว

จากที่กล่าวมาพอสังเขป คงจะเห็นได้ว่า กฎหมายไทยเราไม่ได้คิดค้นเอง รัฐธรรมนูญฉบับแรก เราร่างตามแบบฝรั่งเศสเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคนปฎิวัติ จบปริญญาเอกทางกฎหมายจากฝรั่งเศส (ท่าน ดร. ปรีดีฯ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เราก็รับทั้งแนวคิดยุโรป อังกฤษและอเมริกา มารวมกัน ๆ เห็นอะไรดี เราก็เอามารวมกัน ตอนนี้ พอมีปัญหาทีหนึ่ง ก็งงกันไปหมดว่าจะเอาอย่างไรดี ส่วนใหญ่บอกให้ถามคนร่างว่าเห็นอย่างไร ซึ่งไม่ใช่วิธีการตีความกฎหมายที่ถูกต้อง เพราะขัดกับข้อเท็จจริง เช่นว่า สมมุติเกิดมีปัญหาต้องตีความหลังจากที่กฎหมายใช้ไปแล้วสัก ร้อยปีเศษ ถ้าใช้แนวคิดนี้ ก็ต้องจุดธูปถามคนร่างกฎหมาย ซึ่งถ้ามาจริง ๆ ก็คงตัวใครตัวมัน

จึงอาจกล่าวได้ว่า การมาเรียนในสหรัฐฯ นับว่าเป็นประโยชน์ เนื่องจากสหรัฐเป็นประเทศใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐประกาศเอกราชจากอังกฤษนั้น ก็เกลียดชังระบบอังกฤษ รับระบบอังกฤษมา แต่ดัดแปลงเกือบทั้งหมด เรียกได้ว่าระบบกฎหมายอเมริกา กับอังกฤษ มีระบบรากฐานที่เหมือนกัน คือ common law แต่พัฒนาแตกต่างกันมาก เมื่อมาเรียนที่สหรัฐฯ ก็จะได้รู้แนวคิดดั้งเดิมของอังกฤษ คิดอย่างไร สหรัฐคิดอย่างไร เป็นการเรียนรู้ที่มาของแนวคิด เมื่อศึกษากฎหมายตามแนวคิดนี้แล้ว จะทำให้เราเข้าใจกฎหมายไทยได้ดีขึ้นมาก และทำให้สามารถตีความและใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น

ปัญหาของคนที่มาเรียนกฎหมายในสหรัฐอเมริกา คือ การเรียนเพื่อไปสอบอัยการและศาล ....ที่บอกว่ามีปัญหา คือ สององค์กรนี้ จะกำหนดให้นักศึกษา ต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง ประมาณว่า จะต้องเรียนกฎหมายแพ่ง ๓ หรือ ๔ วิชา กฎหมายอาญา และวิธีพิจารณาความอาญา อีก ๓ หรือ ๔ วิชา เป็นต้น ทำให้คนที่เรียน ไม่ได้เรียนรู้ตัววิชาการอย่างแท้จริง ขอใช้คำว่า เรียนแบบเป็ด .คือ รู้มันไปทุกอย่าง แต่รู้ไม่จริงสักเรื่อง เพราะเรียนแบบนิด ๆ หน่อย ๆ ซึ่งแต่ละวิชาก็แตกต่างกันไปตามที่ ก.ต. หรือ ก.อ. กำหนด ซึ่งเป็นการเรียนแบบไม่เฉพาะเจาะจง ไม่เป็นผู้รู้เฉพาะทาง และท้ายที่สุด คือ ไม่รู้จริงสักเรื่องหนึ่ง การเรียนที่มุ่งเรียนเฉพาะทาง โดยลงทะเบียนหลายวิชา ที่มีเนื้อหาต่อเนื่องและสอดคล้องกัน เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายวาด้วยอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เช่นนี้ ผู้เรียนก็จะเข้าใจเนื้อหากฎหมายอย่างถ่องแท้ และสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง และเราก็ไม่ต้องเรียนถูกเรียนผิดของเราเอง แต่เราสามารถเรียนรู้ถูกผิดจากคนอื่นมาประยุกต์ใช้กับเราได้




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:23:41 น.
Counter : 908 Pageviews.  

1  2  3  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.