I've got a file on you.

ค้นหา 5 ต้นเหตุแห่ง “ภูมิแพ้”



คัดลอกจากเวปไซด์ผู้จัดการ



“เป็นหวัดมานานรักษาไม่หายสักที ดิฉันเป็นโรคภูมิแพ้หรือเปล่าคะ”

“กินอาหารทะเลไม่ได้เลยครับคุณหมอ ต้องเป็นผื่นลมพิษขึ้นทุกที ผมคงเป็นโรคภูมิแพ้ใช่ไหมครับ”

และ “โรคหอบหืดคือโรคภูมิแพ้ใช่ไหม”

...เหล่านี้เป็นคำถามที่แพทย์โรคภูมิแพ้ได้ยินเป็นประจำในการทำการตรวจรักษา ปัจจุบันสถิติผู้ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นักวิจัยในหลายๆประเทศพยายามหาสาเหตุว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศนั้นๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างชัดเจนทั้งๆที่วิทยาการความรู้ต่างๆ ทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก

ภาวะภูมิแพ้หรืออัลเลอจี (Allergy) คือ ปฏิกิริยาผิดปกติหรือภาวะที่ร่างกายไวต่อสารบางอย่างมากผิดปกติ สารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยานี้เรียกว่า อัลเลอเจน (Allergens) คนที่มีภูมิแพ้ก็จะเกิดอาการเวลาสัมผัสสารที่ตนแพ้ ในขณะที่คนไม่แพ้จะสัมผัสได้อย่างสบาย โชคดีที่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิแพ้ แต่บางคนกลับโชคร้ายคือ แพ้มากขนาดคุกคามชีวิตเลยเวลาสัมผัสสารที่แพ้ เช่น ยาแอสไพรินหรือถูกผึ้งต่อย

เนื่องจากภาวะภูมิแพ้บางชนิดมีลักษณะของอาการคล้ายหวัด แต่สาเหตุกลับต่างกัน กล่าวคือ คนเป็นหวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ในขณะที่หวัดภูมิแพ้เกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ของคนๆ นั้น อาการที่พบคล้ายกัน อาทิ มีน้ำมูกไหล คันจมูก จาม น้ำตาไหลและคันตา

ศ.พญ.ฉวีวรรณ บุนนาค นายกสมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า มีสมมุติฐานหลายข้อที่นักวิจัยคิดว่าน่าจะมีผลต่อการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ได้แก่

1. ชีวิตในเมืองที่เปลี่ยนไป การย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ บ้านที่ปิดทึบในเมืองหลวงมีการปูพรมทั้งบ้านใช้วัสดุบางอย่าง เช่น หมอนขนเป็ด ทำให้เด็กได้รับสารก่อภูมิแพ้พวกไรฝุ่นตั้งแต่อายุน้อย

2. มลพิษในอากาศ ซึ่งเกิดจากมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

3. บุหรี่ ในควันบุหรี่ประกอบด้วยสารพิษหลายชนิด ซึ่งมีทั้งสารก่อมะเร็ง และสารก่อความระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ควันบุหรี่ที่ออกมาจากผู้สูบบุหรี่ที่เรียกว่า การสูบบุหรี่มือสอง ทั้งนี้ พบว่ามีปริมาณสารพิษในควันบุหรี่มากกว่า ควันที่ถูกสูดเข้าไปในตัวผู้สูบโดยตรงถึง 3-40 เท่า เด็กที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่ในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมารดาเป็นผู้สูบจะมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดมากกว่าเด็กปกติถึง 2 เท่า

4. นมแม่ เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดลมหดตัวในวัยเด็กน้อยกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมผสม แต่ปัจจุบันด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจหรือการขาดความรู้ความเข้าใจและความอดทน ทำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองลดลง

และ 5.อาหารที่ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การแช่แข็ง การปรุงแต่งสี กลิ่น รส การบริโภคอาหารจำพวกแป้ง ไขมันมากกว่าที่จะบริโภคพืช ผัก ผลไม้ ซึ่งจะทำให้ร่างกาย ได้รับปริมาณสารต่อต้านอนุมูลอิสระหรือแอนตี้ออกซิแดนซ์ลดลง

ซึ่งนักวิจัยกำลังพยายามพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือไม่

“โรคภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่โรคจมูกอักเสบจากการแพ้หรือโรคแพ้อากาศ มักพบในเด็กโตจนกระทั่งผู้ใหญ่ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ที่ผิวหนัง ซึ่งมักจะมีอาการตั้งแต่เด็ก ลมพิษ ซึ่งเกิดได้ทุกอายุ การแพ้ยา เป็นต้น”ศ.พญ.ฉวีวรรณกล่าว

ด้าน ศ.พญ.รูบี้ ปาวันการ์ หัวหน้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกขององค์การอนามัยโลก กล่าวถึงแนวทางใหม่ในการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ว่า ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคนป่วยด้วยโรคหอบหืดและมากกว่า 80 % ของผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการร่วมของเยื่อจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้ อีกทั้งยังพบว่าพันธุกรรมมีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดโรคดังกล่าว โดยโรคนี้มักพบร่วมกับโรคหืดและไซนัสอักเสบ และจากการศึกษายังพบว่า เด็กที่ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้มีโอกาสเป็นโรคหอบหืดถึง 3 เท่า อีกทั้ง เด็กที่เป็นโรคหืดจำนวน 80% มักเริ่มมีอาการก่อนอายุ 5 ปี

สำหรับสถิติโรคภูมิแพ้ในเด็กไทยนั้น พญ.ฉวีวรรณ ให้ข้อมูลว่า ความชุกของโรคภูมิแพ้ในเด็กไทยสูงถึง 38 % หรือเท่ากับประมาณ 7 ล้านคนของประชากรเด็กทั่วประเทศ ส่วนผู้ใหญ่พบว่าเป็นโรคดังกล่าวประมาณ 20 % อีกทั้งยังพบว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคหืดมีถึง 15 %มากกว่าผู้ใหญ่ที่มีเพียง 7 % ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีมากขึ้นถึง 3-4 เท่า และจากการศึกษายังพบว่า 80 %ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางจมูกมีอาการร่วมของโรคหืด และ 40%ของผู้ป่วยโรคหืดก็มีอาการร่วมของโรคภูมิแพ้ทางจมูกเช่นกัน

สำหรับอัตราการเสียชีวิตของโรคหืดในประเทศไทยมีประมาณ 3 ล้านคนต่อปี สำหรับโรคภูมิแพ้ แม้จะไม่ถึงขั้นเสียชีวิตแต่ก็มีผลต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน สำหรับสาเหตุของโรคภูมิแพ้มาจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม อาทิ ควันบุหรี่ มลภาวะทางอากาศ รวมถึงภาวะเครียด

“การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่ได้ผลดี คงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างแพทย์ผู้ดูแลตัวผู้ป่วยและผู้ปกครอง โดยแพทย์มีหน้าที่ให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคว่า ต้องใช้เวลาในการดูแลรักษานานให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องยาที่ใช้ เรื่องการป้องกัน โดยดูแลสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปราศจากสารก่อภูมิแพ้”

“ส่วนผู้ป่วยก็ต้องเข้าใจเรื่องโรค ยาที่จำเป็นต้องใช้ พยายามหลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ผู้ปกครองก็ต้องเข้าใจเรื่องโรคและโรคแทรกซ้อน คอยดูแลเรื่องการใช้ยา ในอนาคตนักวิจัยอาจจะค้นพบวิธีที่จะทำให้เซลล์ที่เกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้ ไม่มีปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ก็จะทำให้โรคภูมิแพ้ค่อยๆ ลดลงและหมดไปได้”

ในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลนั้น ศ.พญ.ฉวีวรรณ ให้รายละเอียดว่า มีจำนวนประมาณ 990 ล้านบาท และ 1,087 ล้านบาท ในปี 2546 และ 2547 ตามลำดับ นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่า ในประชากรทั่วประเทศ 65 ล้านคน มีผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้อากาศประมาณ 25 % หรือ16 ล้านคน ดังนั้น จะเสียค่าใช้จ่ายทางอ้อมเป็นการหยุดงานหรือหยุดเรียนมากกว่า 2.7 ล้านบาทต่อคนต่อเดือน

“สิ่งที่อยากจะย้ำคือ โรคภูมิแพ้ทางจมูก นอกจากจะมีโรคหืดร่วมด้วย ยังมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นไซนัสอักเสบ และโรคหู ดังนั้น สิ่งสำคัญควรป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ อาทิ ไรฝุ่น ซากแมลงสาบ ขนและรังแคของสัตว์เลี้ยง และเชื้อรา”




 

Create Date : 24 พฤศจิกายน 2548   
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2548 14:35:08 น.   
Counter : 538 Pageviews.  

สิว..เรื่องเก่าเล่าใหม่ (ก็มันยังไม่หายนี่นา)


ผู้เขียน: เอมอร คชเสนี
คัดลอกจากเวปไซด์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


สิว…ไม่ใช่ปัญหา “ขึ้นหน้าขึ้นตา” เท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาที่ขึ้นตามลำตัวได้ด้วย เช่น บริเวณไหล่ หลัง หน้าอก
สิว อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1.สิวไม่อักเสบ ได้แก่ สิวหัวปิดหรือสิวหัวขาว จะเห็นเป็นตุ่มเล็กๆ หัวขาวๆ ไม่มีรูเปิด ถ้ามีรูเปิดที่ผิวหนัง มองเห็นเป็นจุดดำอยู่ตรงกลาง เรียกว่า สิวหัวเปิดหรือสิวหัวดำ
2.สิวอักเสบ เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย คือสิวที่หัวแดง ๆ หรือเป็นหนอง เม็ดโตๆ เช่นที่เรียกกันว่า "สิวหัวช้าง"

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิว ได้แก่

1. ปริมาณไขมันที่สร้างจากต่อมไขมัน
การอักเสบของต่อมไขมันบริเวณรูขุมขนที่มีอยู่ตามผิวหนังของคนเรา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสิว ต่อมไขมันบริเวณรูขุมขนมีหน้าที่สร้างไขมันมาหล่อเลี้ยงผิวหนัง ทำให้ผิวหนังไม่แห้ง มีความชุ่มชื้น แต่บางครั้งก็สร้างไขมันออกมามากเกินไป ทำให้คั่งค้างอยู่ในรูขุมขนและเกิดการอักเสบ หากติดเชื้อแบคทีเรียด้วย ก็จะทำให้เป็นหัวสิวหรือตุ่มหนอง

การสร้างไขมันขึ้นอยู่กับฮอร์โมนแอนโดรเจนและเอสโตรเจน แอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชายจะกระตุ้นให้ต่อมไขมันในรูขุมขนผลิตไขมันออกมามากขึ้น โอกาสที่จะเกิดสิวจึงมีมากยิ่งขึ้นด้วย ขณะที่เอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิง จะยับยั้งการสร้างไขมัน วัยรุ่นชายจึงมักจะมีปัญหาเรื่องสิวมากกว่าวัยรุ่นหญิง สำหรับผู้หญิงจะเป็นสิวมากขึ้นในช่วงที่มีประจำเดือน

วัยรุ่นเป็นช่วงที่เป็นสิวกันมาก เนื่องจากวัยนี้มีระดับฮอร์โมนเพศสูง เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย หรือในช่วงอายุ 20 ปีเศษ สิวจะลดน้อยลงเอง แต่บางคนอายุเลยวัยรุ่นไปแล้ว ยังเป็นสิวอยู่ก็มี

2. ความผิดปกติของเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า
พบว่าหากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้ามีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากผิดปกติ และลอกหลุดง่ายกว่าปกติ อาจเกิดการอุดตันของรูขุมขน จนเกิดเป็นสิวขึ้นมาได้

3. เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Propionibacterium acnes หรือ P.acnes ในระยะแรกที่เริ่มเกิดหัวสิวมักจะตรวจไม่พบเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว แต่ในระยะท้ายๆ หรือระยะที่มีการอักเสบจะตรวจพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ทุกราย แต่ละคนจะมีความไวต่อเชื้อแบคทีเรีย P.acnes ไม่เหมือนกัน คนที่ไวมาก อาการก็จะรุนแรงมาก การรักษาสิวโดยใช้ยาปฏิชีวนะจึงไม่ได้ผลดีกับทุกราย
ความรุนแรงของสิวในแต่ละคนจะแตกต่างกันไป บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย องค์ประกอบที่ทำให้สิวเป็นมากหรือน้อย ได้แก่

1.กรรมพันธุ์ พ่อแม่ที่เป็นสิวมากในช่วงวัยรุ่น ส่วนหนึ่งจะมีลูกหลานที่เป็นสิวมากเช่นกัน
2.การทำงานของต่อมไขมัน ถ้าหน้ามันมาก ก็มีโอกาสเป็นสิวมาก
3.ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง เช่น ผู้หญิงช่วงใกล้มีประจำเดือน หรือหญิงตั้งครรภ์ จะเป็นสิวมากขึ้น
4.อารมณ์เสีย ความเครียด และการอดนอน ทำให้การอักเสบของสิวรุนแรงขึ้นได้
5.อากาศ บางคนเป็นมากในฤดูร้อน บางคนเป็นมากในฤดูหนาว
6.เครื่องสำอาง เช่น เครื่องแต่งหน้า ครีมบำรุงผิว สบู่ แชมพู รวมไปถึงการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มกับปลอกหมอนและผ้าปูที่นอน ก็ทำให้เกิดสิวได้
7.การระคายเคือง เช่น การถูหรือนวดแรงๆ การบีบหรือแกะสิว จะยิ่งทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น และมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นเมื่อสิวหายแล้ว
8.ยาบางอย่าง เช่น ยาที่มีสเตียรอยด์ผสมอยู่ ยากันชักบางตัว หรือยาคลายเครียด ก็ทำให้เกิดสิวได้
9.สิ่งแวดล้อมอื่นๆ ก็มีส่วนทำให้เกิดสิว เช่น ละอองไขมันจากการทำอาหาร น้ำมันเครื่อง เป็นต้น
10.อาหาร เช่น ช็อกโกcลต ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกิดสิว แต่หากสังเกตตัวเองแล้วพบว่ารับประทานอาหารชนิดใดแล้วสิวขึ้นอยู่เสมอ ก็ควรหลีกเลี่ยง
การดูแลรักษาสิว
1.ล้างหน้าด้วยสบู่อ่อนๆ วันละไม่เกิน 2 ครั้ง แล้วซับน้ำออกเบาๆ ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ยา เพราะอาจแรงเกินไป ทำให้ระคายเคืองผิว จนผิวแห้งและลอกได้ หากหน้ามันระหว่างวัน ล้างด้วยน้ำเปล่าก็เพียงพอแล้ว
2.งดใช้เครื่องสำอางทุกชนิด ทั้งครีมทาหน้าและเครื่องแต่งหน้า แต่ถ้าหากคุณผู้หญิงทำใจไม่ได้ ก็ควรเลือกเครื่องสำอางที่ระบุว่าไม่ทำให้เกิดสิว และล้างออกให้สะอาดหมดจดหลังการใช้
3.ไม่ควรถูหน้าแรงๆ เพราะจะทำให้เป็นสิวมากขึ้นได้
4.ไม่บีบหรือแกะสิว เพราะจะทำให้การอักเสบลุกลามหรือรุนแรงขึ้น และทำให้เกิดแผลเป็น
5.พักผ่อนให้เพียงพอ แม้การนอนดึกจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดสิว แต่ก็อาจทำให้การอักเสบรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะเชื้อแบคทีเรียถือโอกาสจู่โจมในช่วงที่ร่างกายกำลังอ่อนแอ

สำหรับยารักษาสิวมีทั้งยาทาและยารับประทาน ถ้าเป็นน้อย ใช้ยาทาเฉพาะที่ก็เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้รับยาที่เหมาะสม ซึ่งอาจหาซื้อใช้ได้เอง แต่ต้องอ่านวิธีใช้ให้เข้าใจก่อน

ยารักษาสิวมีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน เช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะชนิดทา ช่วยทำให้สิวอุดตันหลุดออก ลดการอักเสบและยุบไป แพทย์จะบอกวิธีใช้โดยละเอียด เพราะยาทาทุกชนิดอาจเกิดการระคายเคืองได้
ถ้าเป็นสิวอักเสบมาก แพทย์อาจให้ยารับประทานร่วมกับยาทาด้วย ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคนและดุลพินิจของแพทย์ ยารับประทานมักเป็นยาปฏิชีวนะ เพื่อไปลดจำนวนแบคทีเรีย ทำให้กรดไขมันลดลง ลดการอักเสบของสิว
ถ้าเป็นสิวชนิดรุนแรงที่เป็นถุงซีสต์ แพทย์อาจให้ยารับประทานกลุ่มกรดวิตามินเอ ซึ่งต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์ผิวหนังอย่างเคร่งครัด ไม่มีการซื้อมารับประทานเองโดยเด็ดขาด เพราะมีผลข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อทารกในครรภ์ หากมีข้อสงสัยควรถามรายละเอียดจากแพทย์ที่ให้การรักษา





 

Create Date : 21 ตุลาคม 2548   
Last Update : 21 ตุลาคม 2548 1:59:01 น.   
Counter : 367 Pageviews.  

อิ่มก็ปวด หิวก็ปวด


ผู้เขียน: เอมอร คชเสนี
คัดลอกจากเวปไซด์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ



โรคกระเพาะ นอกจากจะหมายถึงโรคแผลในกระเพาะอาหารแล้ว ยังรวมถึงโรคแผลที่ลำไส้เล็ก โรคกระเพาะอาหารอักเสบ และโรคลำไส้อักเสบอีกด้วย

แต่โรคกระเพาะที่จะพูดถึงวันนี้ จะกล่าวเฉพาะภาวะผิดปกติที่ทำให้เกิดกรดในกระเพาะ มีการหลั่งน้ำย่อยของกระเพาะอาหารมากเกินไป โดยมากมักจะเป็นเรื้อรัง มีระยะสงบของโรคที่ไม่แสดงอาการค่อนข้างนาน ดูเผินๆ เหมือนอาการจะไม่รุนแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษา หรือไม่ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อาการของโรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะ ทั้งชนิดที่เป็นแผลและไม่เป็นแผล อาการจะคล้ายคลึงกัน คือมีอาการปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือขึ้นไป หรือปวดใต้ชายโครงซ้าย บางรายปวดแน่นถึงหน้าอก ปวดแบบแสบๆ ร้อนๆ ปวดเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี โดยมากจะเป็นๆ หายๆ การปวดจะสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ปวดเวลาหิวหรือท้องว่าง ปวดเวลาอิ่ม หรือปวดกลางดึก

นอกจากนี้จะมีอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน อาการดังกล่าวสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา คือ

- เลือดออกในกระเพาะอาหาร อาการแสดงคือ อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ

- กระเพาะอาหารทะลุ อาการแสดงคือ ปวดท้องช่วงบนเฉียบพลัน รุนแรง หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บมาก

- กระเพาะอาหารอุดตัน อาการแสดงคือ รับประทานอาหารได้น้อย อิ่มเร็ว อาเจียนหลังอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก

หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะนอกจากภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวแล้ว ยังอาจเป็นไปได้ว่ามีเนื้องอก หรือมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร

1.เชื้อแบคทีเรีย ชื่อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobactor pylori) ซึ่งจะติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคเหล่านี้ปนเปื้อน เชื้อดังกล่าวทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และมะเร็งบางชนิดของกระเพาะอาหารได้

2.กระเพาะอาหารมีกรดมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น แผลหายช้า และเกิดเป็นแผลใหม่ได้ง่าย ทำให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผลดี ปัจจัยที่ทำให้มีกรดในกระเพาะอาหารมาก ได้แก่

- ความเครียด วิตกกังวล อารมณ์

- การสูบบุหรี่

- การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือรับประทานมากหรือน้อยเกินไป

3.เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย ทำให้มีแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น หรือทำให้แผลอักเสบมากขึ้น การหายของแผลช้า ปัจจัยที่มีผล ได้แก่

- การใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ

- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน และน้ำอัดลม

- การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด

4.กรรมพันธุ์ พบว่าโรคกระเพาะอาหารสามารถเกิดกับคนในครอบครัวเดียวกันได้บ่อยๆ

การป้องกันโรคกระเพาะอาหาร

1.รักษาสุขอนามัย รับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด เพื่อลดอัตราการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และมะเร็งบางชนิดของกระเพาะอาหาร

2.รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่รับประทานมากหรือน้อยเกินไป

3.งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และน้ำอัดลม

4.งดสูบบุหรี่

5.งดอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด

6.หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก แต่หากจำเป็นต้องใช้ ควรรับประทานยาหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ

7.พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก

8.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

9.ทำอารมณ์ให้เบิกบานแจ่มใส ไม่เครียด

แนวทางการรักษา

ในผู้ป่วยที่มีอาการปวด จุกเสียด แน่นท้อง แสบท้อง มานานไม่เกิน 2 สัปดาห์ และไม่มีอาการเตือนที่สำคัญ คือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ให้รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร และปฏิบัติตัวตามแนวทางการป้องกันดังที่กล่าวมาแล้ว

แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการมานานกว่า 1 เดือน หรือมีอาการเตือนที่สำคัญตั้งแต่ต้น จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม คือ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร

ถ้าไม่มีแผลในกระเพาะอาหาร ให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกัน และอาจต้องรับประทานยานาน 4 สัปดาห์ แต่ถ้ามีแผลในกระเพาะอาหาร

1.ต้องตัดชิ้นเนื้อจากแผล เพื่อตรวจหาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่

2.ต้องตัดชิ้นเนื้อจากส่วนล่างกระเพาะอาหาร เพื่อดูว่ามีเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือไม่ ถ้ามีเชื้อโรคดังกล่าว ร่วมกับมีแผล ต้องให้ยากำจัดเชื้อโรค 1 สัปดาห์ และให้ยารักษาแผลอีก 4-6 สัปดาห์


แนวทางการรักษาโรคกระเพาะอาหาร

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดจุกเสียด แน่นท้อง แสบท้อง นานไม่เกิน 2 สัปดาห์ และไม่มีอาการเตือนที่สำคัญ คือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ จะรักษาด้วยยา ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย และการวินิจฉัยของแพทย์ ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร แบ่งเป็น
1.ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
2.ยายับยั้งการหลั่งกรด
3.ยาเพิ่มความต้านทานของชั้นเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร
4.ยาอื่นๆ ได้แก่ ยาเพิ่มการขับเคลื่อนในกระเพาะอาหาร ยาลดลมในกระเพาะอาหาร และยาปฏิชีวนะ
ยาลดกรดมักใช้เป็นลำดับแรกในการรักษาโรคแผลในกระเพาะและลำไส้ ได้แก่ โซดามินท์ หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต เกลือของอลูมิเนียม เช่น อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ เกลือของแมกนีเซียม เช่น แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ หรือเป็นตัวยาผสมระหว่างเกลืออลูมิเนียมและแมกนีเซียม นอกจากนี้ ยาลดกรดหลายตำรับมีการใส่ตัวยาซึ่งมีฤทธิ์ไล่ก๊าซ แต่ไม่มีฤทธิ์ลดกรด และไม่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
หากเป็นยาลดกรดที่มีเกลือของอลูมิเนียมผสมอยู่มาก อาจทำให้ท้องผูก หากมีเกลือของแมกนีเซียมผสมอยู่มาก อาจทำให้ท้องเดิน ดังนั้นยาลดกรดในกลุ่มนี้จึงนิยมใช้สูตรผสมเกลือของอลูมิเนียมและแมกนีเซียม เพื่อลดผลเสียของกันและกัน


ข้อควรระวังในการใช้ยาลดกรด

- การใช้ยาในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ ไต หัวใจ ความดันโลหิตสูง ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- ยาลดกรดสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น หรือทำให้ยาอื่นมีประสิทธิภาพในการรักษาลดลง ดังนั้นต้องบอกแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งหากใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย
- ควรรับประทานยาติดต่อกันตามแพทย์สั่ง และไม่ควรหยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น
- หากมีอาการของภาวะแทรกซ้อน ต้องรีบไปพบแพทย์
หากใช้ยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหารหรือให้กลืนแป้งแล้วเอ็กซเรย์ เพื่อดูร่องรอยของแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น จะทำให้วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าการใช้กล้องส่องตรวจทางเดินอาหาร ได้ผลชัดเจนแน่นอนกว่าการตรวจโดยวิธีเอ็กซเรย์กลืนแป้ง เนื่องจากสามารถมองเห็นพยาธิสภาพของพื้นผิวทางเดินอาหาร

การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร

ก่อนการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหารประมาณ 6-8 ชั่วโมง เพื่อกันการสำลัก ถ้ามีฟันปลอมถอดได้ ให้ถอดออก
ขั้นตอนต่อมาคือทำให้คอผู้ป่วยชา โดยให้กลืนยาชาและพ่นยาชาที่คอ ถ้าผู้ป่วยแพ้ยาชา ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน เมื่อคอผู้ป่วยชาแล้ว สังเกตได้ว่าจะรู้สึกกลืนไม่ลง แพทย์จะใส่กล้อง ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อยาวนิ่มๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8.6 มิลลิเมตร เข้าทางปาก ลงคอไปตามหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น
เนื่องจากการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารใช้เวลาสั้นๆ ประมาณ 5-10 นาที จึงมักทำในขณะผู้ป่วยรู้สึกตัว แต่ถ้าผู้ป่วยรู้สึกกลัวหรือเป็นผู้สูงอายุ ก็จะส่องกล้องตรวจในขณะผู้ป่วยหลับ โดยการฉีดยานอนหลับ ภาพการส่องกล้องจะปรากฏบนจอภาพ ซึ่งสามารถบันทึกภาพเก็บไว้ได้ ถ้าพบความผิดปกติระหว่างการส่องกล้องตรวจ แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อและส่งตรวจละเอียดต่อไป
เมื่อสิ้นสุดการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจะยังรู้สึกชาที่คอ และกลืนลำบากอีกประมาณ 30 นาที เพราะฤทธิ์ยาชา ถ้ายังชาที่คอ อย่าเพิ่งไอ ขาก หรือกลืนน้ำลาย เพราะอาจจะสำลักได้ ถ้ามีน้ำลาย ให้บ้วนทิ้ง เมื่อคอหายชา จึงเริ่มดื่มน้ำและรับประทานอาหาร ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อจะได้ไม่เจ็บคอ

ประโยชน์ของการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร

1.เพื่อดูหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ว่ามีลักษณะผิดปกติอะไรหรือไม่ เช่น ตีบ อุดตัน เป็นแผล อักเสบ เนื้องอก มะเร็ง จุดเลือดออก เส้นเลือดแตก
2.ถ้าพบลักษณะแผล เนื้องอก มะเร็ง แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจพิสูจน์ต่อไป ว่าเป็นแผลธรรมดาเป็นมะเร็ง หรือมีเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะอาหารหรือไม่
3.ถ้าพบจุดเลือดออก อาจฉีดยาห้ามเลือด หรือใช้ความร้อน กระแสไฟฟ้าห้ามเลือด หรือใช้ hemoclip ซึ่งมีลักษณะคล้ายเข็มเย็บกระดาษ ช่วยหยุดเลือด
4.หากมีการตีบตัน เช่นเนื่องมาจากมะเร็งของหลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบเนื่องจากกรดหรือด่าง ก็จะใช้กล้องส่องกระเพาะช่วยขยายได้บางส่วน
5.ในกรณีที่มีเส้นเลือดดำโป่งพองที่ส่วนปลายหลอดอาหาร ซึ่งพบในผู้ป่วยตับแข็ง มีอาการอาเจียนเป็นเลือด สามารถรัดเส้นเลือดดำที่แตกนี้ได้ โดยรัดผ่านกล้องส่องตรวจกระเพาะอาหาร
6.ใช้คีบสิ่งแปลกปลอมที่ตกลงไปในช่องทางเดินอาหาร เช่น ก้าง กระดูก สตางค์ เป็นต้น
7.เพื่อติดตามผลการรักษาด้วยยา ว่าแผลหายดีหรือไม่


ผลข้างเคียงของการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร

1.เลือดออกหรือทะลุ พบได้น้อยกว่า 1 ใน 1,000 ราย มักพบในรายที่จี้ตัดเนื้องอก หรือตัดชิ้นเนื้อหลายๆ แห่ง
2.การสำลัก เกิดปอดอักเสบได้ แต่พบได้น้อย
3.การติดเชื้อ พบได้น้อยเช่นกัน
4.อาจมีอาการเจ็บระคายคอ การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยได้
อาการบ่งชี้ที่สามารถใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหาร ได้แก่ ปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ ใต้ชายโครงซ้าย เหนือสะดือ เสียดท้อง ปวดแสบท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แน่นท้อง กลืนอาหารลำบาก กลืนอาหารเจ็บ น้ำหนักลดลง เบื่ออาหาร อาเจียนบ่อยๆ ซีด ภาวะโลหิตจาง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ มีก้อนในช่องท้องด้านบน






 

Create Date : 21 ตุลาคม 2548   
Last Update : 21 ตุลาคม 2548 1:57:09 น.   
Counter : 615 Pageviews.  

เผยรังนก 10 กระปุก ประโยชน์เท่าไข่ต้มใบเดียว!!!



กมธ.คุ้มครองผู้บริโภคตั้งคณะทำงานศึกษารังนก ซุปสกัด มีประโยชน์จริงหรือ เทียบรังนก 10 กระปุกมีประโยชน์เท่ากับไข่ต้มใบเดียว พ่วงชาเขียว อย.เผยขอความร่วมมือไม่ตั้งตู้ขายในโรงเรียน

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่าที่ประชุมกรรมาธิการได้พิจารณาเครื่องดื่มประเภทรังนก เนื่องจากในเครื่องดื่มรังนกมีเปลือกไม้ลักษณะคล้ายวุ้นเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย แต่อัตราส่วนของรังนกมีอยู่ประมาณ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าน้อยมาก สิ่งที่กรรมาธิการมีความเป็นห่วงมากคือไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หากเปรียบเทียบจะพบว่ารังนก 10 กระปุก เท่ากับรับประทานไข่ต้มเพียงใบเดียว!

นายวิชาญ กล่าวว่า กรรมาธิการจึงมีมติตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยมี นพ.เฉลิมชัย เครืองาม เป็นประธาน เพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว รวมทั้งประเภทซุปไก่สกัดต่าง ๆ ด้วยว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายจริงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังได้ติดตามผลการศึกษาเครื่องดื่มประเภทชาที่มีราคาค่อนข้างสูง แม้ผู้ประกอบการจะลดขนาดของขวดให้เล็กลงแต่ราคายังคงเดิม

ทั้งนี้ จากการเชิญองค์การอาหารและยา (อย.) มาชี้แจงเรื่องดังกล่าวยังระบุว่าไม่บริโภคชาเขียว เพราะรู้ว่าชาเขียวไม่มีประโยชน์แต่ก็ยังให้ดื่ม พร้อมทั้งได้ทำหนังสือไปถึงโรงเรียนทุกแห่งเพื่อขอความร่วมมือไม่ให้ติดตั้งเครื่องเพื่อขายเครื่องดื่มดังกล่าวด้วย




 

Create Date : 21 ตุลาคม 2548   
Last Update : 21 ตุลาคม 2548 1:52:35 น.   
Counter : 339 Pageviews.  

“อดข้าว” ดอกนะเจ้าชีวาวาย



ผู้เขียน: เอมอร คชเสนี
คัดลอกจากเวปไซด์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


ไม่เกี่ยวกับเรื่อง “ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา” แต่อย่างใดค่ะ แต่วันนี้จะพูดถึงเรื่อง “อดข้าว”

มีรายงานการวิจัยที่ยืนยันว่า หากร่างกายอดอาหารอย่างต่อเนื่องกลับจะมีผลเสียต่อร่างกายน้อยกว่ากินแบบอดมื้อกินมื้อ ดังนั้นวันนี้จะพูดถึงผลเสียของการอดมื้อกินมื้อ

เหตุผลที่คนเราต้องกินอาหาร 3 มื้อ เพราะในแต่ละวันร่างกายต้องการพลังงานที่ได้จากการรับประทานอาหารประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ (มากน้อยต่างกันในแต่ละคน) ซึ่งคนเราไม่สามารถรับประทานอาหารปริมาณมากๆ ในมื้อเดียว เพื่อให้ได้พลังงานหรือสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการได้ จึงต้องแบ่งเป็นหลายมื้อ
อาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด แต่ก็เป็นมื้อที่หลายๆ คนละเลยมากที่สุดเหมือนกัน ด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป ส่วนใหญ่จะอ้างว่าไม่มีเวลา ต้องรีบฝ่าการจราจรเพื่อไปทำงานให้ทัน และอีกจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจอดอาหารเช้าโดยหวังว่าน้ำหนักจะลด

มีข้อมูลยืนยันว่าการอดอาหารเช้าไม่ได้ทำให้พลังงานที่ร่างกายได้รับตลอดทั้งวันลดลงเลย ร่างกายต้องอดอาหารมาแล้วทั้งคืนเป็นเวลาหลายชั่วโมง หากยังไม่ยอมกินอาหารเช้าอีก ร่างกายจะเข้าใจผิดคิดว่ากำลังอยู่ในสภาวะอดอยาก ทีนี้พอกินอะไรก็ตามในมื้อถัดไป ร่างกายจะเก็บเอาไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแป้ง ไขมัน น้ำตาล ฯลฯ

หลายคนอาจสงสัยว่าระยะเวลาตั้งแต่มื้อเย็นจนถึงมื้อเช้าห่างกันตั้งหลายชั่วโมง ร่างกายยังไม่เป็นไรเลย นั่นเป็นเพราะอาหารมื้อเย็นที่เรากินเข้าไปถูกย่อยและใช้ไปเมื่อเราพักผ่อนนอนหลับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายใช้พลังงานน้อยอยู่แล้ว อาหารมื้อเย็นจึงอยู่ได้หลายชั่วโมงกว่ามื้ออื่น แต่ในช่วงเช้าเป็นช่วงที่ร่างกายใช้พลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ มากกว่า ซึ่งต้องได้รับอาหารมาแปรรูปเป็นพลังงาน
รายงานการศึกษายังระบุว่า หากคนเรากินอาหารสามมื้อจะทำให้พลังงานที่ได้รับตลอดทั้งวันมีปริมาณน้อยกว่าคนที่กินอาหารแค่สองมื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่งดมื้อเช้า การกินอาหารเช้าจนเคยชินจะทำให้ท้องอิ่มและไม่กินมากในมื้อกลางวันและมื้อเย็น แต่คนที่อดอาหารเช้าจะกินมื้อต่อไปมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

การกินอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งหรือสองมื้อมากกว่าปกติ จะทำให้ร่างกายสะสมพลังงาน (ในรูปของไขมัน) ได้ง่ายกว่าการกระจายพลังงานไปไว้ในสามมื้อหรือหลายมื้อ ด้วยเหตุนี้เอง คนที่งดอาหารเช้าจึงมักจะไม่ผอมอย่างที่หวัง และอาจจะอ้วนกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการลดน้ำหนักหลายคนแนะนำให้กินให้ครบทั้งสามมื้อ หรือจะแบ่งเป็นมื้อย่อยๆ ถึง 6 มื้อก็ยังได้ โดยให้แต่ละมื้อมีปริมาณน้อยลง

นอกจากนี้ยังมีรายงานทางการแพทย์ว่า คนที่งดอาหารเช้าเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่างมากกว่าคนที่กินอาหารเช้าเป็นปกติ ได้แก่ หัวใจวาย หลอดเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

เมื่อตื่นนอนในตอนเช้า ระดับน้ำตาลในเลือดจะต่ำ ในขณะที่ร่างกายต้องการพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ หากเรายังไม่เติมพลังงานให้กับร่างกายด้วยการกินอาหารเช้า ร่างกายต้องไปดึงพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่สะสมไว้ในตับ ซึ่งร่างกายเก็บไว้เป็นเสบียงในยามจำเป็นมาใช้เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ
แต่ไม่นานพลังงานส่วนนี้จะถูกใช้จนหมดไปเพราะไม่มีพลังงานมาเติม ร่างกายต้องดึงไขมันมาใช้ทดแทน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นผลดี เพราะจะทำให้มีไขมันมาไหลเวียนอยู่ในเลือดบ่อยเกินไป โอกาสที่ไขมันจะหลงไปสะสมไว้ตามผนังหลอดเลือดก็มีมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า คนที่งดมื้อเช้าร่างกายจะสร้างสารตัวหนึ่งขึ้นมา สารตัวนี้ทำให้เลือดเป็นลิ่มได้ง่ายขึ้น ทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน

รายงานการวิจัยยังระบุด้วยว่า การงดอาหารเช้าอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เวียนหัว ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า การกินอาหารเช้ามีผลดีต่อการเรียน ในขณะที่ท้องหิวสมองก็ไม่รับรู้เรื่องที่ครูสอน ไม่มีสมาธิในการเรียน ไม่มีความสามารถในการทำข้อสอบ เช่นเดียวกับคนในวัยทำงาน ก็คงไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเช่นกัน

ผลดีของการกินอาหารเช้า จากผลการวิจัยหลายชิ้น พบว่า

- คนที่กินอาหารเช้าจะมีพลังงานในการทำงานได้นานกว่า และมีความอ่อนล้าในช่วงกลางวันน้อยกว่า

- การกินอาหารเช้าช่วยลดปริมาณการกินอาหารว่าง

- ถ้าเราปล่อยให้ร่างกายคอยนานเกินไปกว่าจะได้รับอาหารมื้อแรกของวัน ระบบการย่อยอาหารก็จะเฉื่อยชาในการทำงาน งานวิจัยพบว่าคนที่ไม่กินอาหารเช้ามีอัตราการเผาผลาญอาหารต่ำกว่าคนที่กินอาหารเช้าเป็นประจำ

- เด็กที่กินอาหารเช้ามีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า ให้ความร่วมมือดีกว่า และมีสมาธิในการเรียนดีกว่าเด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้า

แม้จะพูดถึงแต่ความสำคัญของมื้อเช้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามื้ออื่นไม่สำคัญ เพราะการอดอาหารมื้อใดก็แล้วแต่ นอกจากร่างกายจะได้พลังงานไม่ครบถ้วนแล้ว ยังอาจทำให้ได้สารอาหารไม่ครบ จนนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารได้

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รับประทานอาหาร แต่กระบวนการย่อยอาหารยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งหากกรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมาแล้วไม่มีอาหารในกระเพาะ กรดก็อาจกัดกระเพาะ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แสบท้อง ถ้าเป็นมากก็อาจเกิดแผลในกระเพาะ กระเพาะอักเสบ หรือกระเพาะทะลุได้

พึงระลึกไว้ว่าอย่าอดมื้อใดมื้อหนึ่ง แต่อาจให้ความสำคัญกับปริมาณอาหารในแต่ละมื้อแตกต่างกัน มีคำพูดไว้ว่า ให้กินอาหารเช้าแบบราชา อาหารกลางวันแบบสามัญชน และอาหารเย็นแบบยาจกค่ะ




 

Create Date : 21 ตุลาคม 2548   
Last Update : 21 ตุลาคม 2548 1:51:30 น.   
Counter : 445 Pageviews.  

1  2  3  4  

นายกลางคืน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ฉันกลับมาแล้ว
[Add นายกลางคืน's blog to your web]